แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1949
ครั้งที่ ๑๙๔๙
สาระสำคัญ
เรื่องกิเลสของตัวเองที่อาศัยพระธรรมทั้ง ๓ ปิฎก
ปรารภแล้วปรารภอีก ชีวิต คืออะไร ทุกชีวิต ก็คือ การเกิดขึ้นของปรมัตถธรรม
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๓
ข้อความต่อไป
ว่าด้วยประโยชน์แห่งสูตรเป็นต้น
ท่านผู้ฟังก็ศึกษาพระไตรปิฎกทั้ง ๓ ส่วน คือ พระสูตร พระวินัย และ พระอภิธรรม เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ได้ศึกษามา คือ ว่าด้วยประโยชน์แห่งสูตรเป็นต้น
สูตรเพื่อประโยชน์แก่การเทียบเคียง
เพราะว่าเป็นเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น และเป็นเรื่องของโลภะ โทสะ โมหะ มานะ ริษยา กิเลสทั้งหลาย และกุศลทั้งหลายด้วย เพราะฉะนั้น สูตร เพื่อประโยชน์แก่การเทียบเคียง คือ ในอดีตอย่างไร ปัจจุบันก็อย่างนั้น และในอนาคตต่อไป ก็ต้องเป็นอย่างนี้
ข้ออุปมาเพื่อประโยชน์แก่การชี้ความ เนื้อความเพื่อประโยชน์ที่ให้เขาเข้าใจ การย้อนถามเพื่อประโยชน์แก่การดำรงอยู่ การขอโอกาสเพื่อประโยชน์แก่การ กล่าวโจท การโจทเพื่อประโยชน์แก่การให้จำเลยระลึกโทษ การให้ระลึก เพื่อประโยชน์แก่ความเป็นผู้มีถ้อยคำอันจะพึงกล่าว ความเป็นผู้มีถ้อยคำอันจะ พึงกล่าวเพื่อประโยชน์แก่การกังวล
กังวลที่นี่ หมายความถึงเรื่องที่จะต้องคิดหนักหรือพิจารณา
การกังวลเพื่อประโยชน์แก่การวินิจฉัย การวินิจฉัยเพื่อประโยชน์แก่ การพิจารณา การพิจารณาเพื่อประโยชน์แก่การถึงฐานะและมิใช่ฐานะ การถึงฐานะและมิใช่ฐานะเพื่อประโยชน์ข่มบุคคลผู้เก้อยาก เพื่อประโยชน์ยกย่องภิกษุมีศีล เป็นที่รัก สงฆ์เพื่อประโยชน์แก่การสอดส่องและรับรอง บุคคลที่สงฆ์อนุมัติแล้ว ตั้งอยู่ในตำแหน่งผู้ใหญ่ ตั้งอยู่ในตำแหน่งผู้ไม่แกล้งกล่าวให้ผิด
ข้อความต่อไป
ประโยชน์แห่งวินัยเป็นต้น
เป็นเรื่องของวินัย เป็นเรื่องของกาย วาจาทั้งนั้น
วินัยเพื่อประโยชน์แก่การสำรวม ความสำรวมเพื่อประโยชน์แก่ความ ไม่เดือดร้อน ความไม่เดือดร้อนเพื่อประโยชน์แก่ความปราโมทย์ ความปราโมทย์ เพื่อประโยชน์แก่ความปีติ ความปีติเพื่อประโยชน์แก่ปัสสัทธิ ปัสสัทธิเพื่อประโยชน์แก่ความสุข ความสุขเพื่อประโยชน์แก่สมาธิ สมาธิเพื่อประโยชน์แก่ความรู้เห็นตาม ความเป็นจริง ความรู้เห็นตามความเป็นจริงเพื่อประโยชน์แก่ความหน่าย ความหน่ายเพื่อประโยชน์แก่ความสำรอก ความสำรอกเพื่อประโยชน์แก่วิมุตติ (การพ้นจากกิเลส) วิมุตติเพื่อประโยชน์แก่วิมุตติญาณทัสสนะ (ปัญญาที่รู้ว่าพ้นแล้วจากกิเลส) วิมุตติญาณทัสสนะเพื่อประโยชน์แก่ความดับสนิทหาปัจจัยมิได้ การกล่าววินัย มีอนุปาทาปรินิพพานนั้นเป็นประโยชน์ การปรึกษาวินัยมีอนุปาทาปรินิพพานนั้น เป็นประโยชน์ เหตุมีอนุปาทาปรินิพพานนั้นเป็นประโยชน์ ความเงี่ยโสตสดับ มีอนุปาทาปรินิพพานนั้นเป็นประโยชน์ คือ ความพ้นวิเศษแห่งจิต เพราะไม่ยึดมั่น
ทุกขณะที่ฟังพระธรรม จะเห็นประโยชน์ทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งในที่สุด ความเงี่ยโสตสดับมีอนุปาทาปรินิพพานนั้นเป็นประโยชน์ คือ จะถึงการดับกิเลสทั้งหมดเป็นสมุจเฉท ไม่เกิดอีกเลย
เรื่องกิเลสของตัวเอง อาศัยพระธรรมทั้ง ๓ ปิฎกจะทำให้เข้าใจละเอียดขึ้น ถึงระดับกิเลสขั้นต่างๆ ที่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ว่ากิริยาอาการที่จะยกนิ้ว แสดงปลายนิ้วก็จะเห็นได้ว่า ต้องเป็นผู้ที่กำลังมีกิเลสอย่างนั้นๆ จึงกระทำอย่างนั้นๆ ในการวินิจฉัยคดี
การศึกษาพระธรรม การเข้าใจพระธรรม ทำให้เข้าใจความเป็นรัตนะของ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ และผู้ที่มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริงนั้น คือ เป็นที่พึ่งให้เกิดปัญญาของตนเองเพื่อที่จะละคลาย และดับกิเลสของตนเอง
ก่อนที่จะมีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ก่อนที่จะเข้าใจพระธรรม ไม่มีความรู้เลย สักนิดเดียวว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลอย่างไร เป็นธรรม เป็นปรมัตถธรรมอย่างไร ไม่สามารถรู้ได้เลย ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรม
เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นผู้ศึกษาพระธรรมเข้าใจแล้ว ก็เหมือนเป็นผู้ที่ลืมตา และเริ่มที่จะเห็นทุกอย่างที่ปรากฏถูกต้องตามความเป็นจริง เป็นสัมมาทิฏฐิที่จะรู้ว่า ชีวิตคืออะไร
ขอเชิญท่านผู้ฟังแสดงความคิดเห็นว่า ท่านมีความรู้สึกว่าชีวิตคืออะไร หลังจากที่ได้ศึกษา ได้ฟังพระธรรมมาแล้ว
ผู้ฟัง ชีวิตคืออะไร ถ้าตอบทั่วๆ ไป ก็ตอบว่า ชีวิตคือการต่อสู้ แต่นั่นคงจะไม่ใช่ชีวิตหลังจากการศึกษาพระธรรมแล้ว
สุ. ทางธรรมก็ได้ ต่อสู้กับกิเลส
ผู้ฟัง ก็คงต้องต่อสู้กับกิเลส และต้องมีความอดทนต่างๆ ที่จะต่อสู้กับกิเลส อย่างเมื่อวานนี้พระคุณเจ้าถามผมว่า เมื่อฟังธรรมแล้วและมีสติเริ่มระลึกรู้รูปธรรมบ้างนามธรรมบ้าง เวลานี้ ผ่านไป ๑๐ ปีแล้ว ปัญญาในการเจริญสติปัฏฐานมีอะไรแตกต่างกันไหม ก็ตอบยาก
หลังจากศึกษาธรรมแล้ว ก็มีชีวิตที่ขัดเกลากิเลสได้มากขึ้น ส่วนปัญญาจะ คมกล้าถึงขั้นปหานกิเลส คงยังไม่ถึง ช่วงที่สติเริ่มระลึกรู้บ้าง กับต่อมาได้เริ่มระลึกหลายๆ ทาง ทั่วๆ ขึ้น อย่างที่อาจารย์พูดในเทปหลายครั้งว่า ปรารภแล้ว ปรารภอีก ซึ่งเป็นคำที่น่าสนใจ ปรารภแล้ว ปรารภอีก ก็คือปรารภรูปนามนั่นเอง สังเกตรูปนาม สังเกตว่าสภาพธรรมในขณะนี้เป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องปรารภแล้ว ปรารภอีก ซึ่งใกล้เคียงกับการจดจ้องมาก ถ้าไม่เข้าใจก็จะกลายเป็นจดจ้องแล้วจดจ้องอีก ซึ่งแตกต่างกันมากกับปรารภแล้วปรารภอีก
การจะสังเกตธรรม ปรารภรูปธรรมนามธรรม เมื่อ ๒ วันนี้ผมฟังเทปเก่า ของอาจารย์ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผม ผมก็อยากจะมาฝากไว้ที่นี้ด้วย อาจารย์ได้พูด ตอนหนึ่งว่า ให้กลับไปฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐานใหม่ๆ ที่อาจารย์ได้พูดไว้ ผมเอง มีเทปของอาจารย์พูดเมื่อครั้งที่ ๗๐ – ๑๐๐ กว่า ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องสติปัฏฐาน โดยปกติ ก็ฟังเทปเก่าๆ อยู่แล้ว ชอบฟังมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสติปัฏฐาน ฟังแล้วเกิดความเข้าใจเพิ่มขึ้น และติดใจคำที่อาจารย์พูดว่า ปรารภแล้ว ปรารภอีก ทำให้เตือนสติเรา ซึ่งเหตุที่เราไม่ระลึกในรูปธรรมนามธรรม ไม่สังเกตในสภาวธรรม ก็เพราะเราไม่คุ้นเคยกับเขา เราคุ้นเคยแต่บัญญัติธรรม เห็นอะไรก็เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ หรือได้ยินอะไรก็เป็นเรื่องเป็นราว ไม่ได้ปรารภที่รูปธรรม หรือนามธรรม
การที่จะปรารภในรูปธรรมหรือนามธรรม คือ การฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน และเทปเก่าๆ ของอาจารย์ครั้งแรกๆ ผมจำได้ว่า รู้สึกตัวทางตาเป็นอย่างไร รู้สึกตัวทางหูเป็นอย่างไร ช่วยทำให้สติระลึกรู้ได้ สติที่ไม่เคยเกิดสำหรับบุคคลอื่นก็คงจะเกิด ถ้าได้ฟังเทปเรื่องสติปัฏฐานที่เป็นการบรรยายตอนแรกๆ ซึ่งอาจารย์บอกให้ฟัง ผมเองได้เหตุปัจจัยจากการฟังตอนนั้นอย่างมาก และซ้ำเที่ยวที่ ๒ เที่ยวที่ ๓ ผมเห็นว่า เป็นเหตุเป็นปัจจัยอย่างยิ่ง ก็อยากจะฝากให้เพื่อนสหายธรรมที่สติยังไม่เกิด จะได้เกิดขึ้น
สุ. และต้องระลึกให้ทั่ว ไม่ใช่แต่เฉพาะทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทุกขณะที่กิเลสเกิดขึ้นทำกิจการงานตลอดวัน หลังจากที่ เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ได้กลิ่นแล้ว ลิ้มรสแล้ว รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสแล้ว ให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ผู้ที่เป็นปุถุชนที่ว่ากิเลสหนาแน่นมากคืออย่างนี้ เพราะความจริงก็คือ ความจริง จนกว่าปัญญาจะเพิ่มขึ้น
ผู้ฟัง กลับมาประเด็นที่ว่า ชีวิตภายหลังการศึกษาธรรม สำหรับผมเอง ผมได้ประโยชน์มาก ทำให้การขัดเกลาได้ดีขึ้นมาก ศีลก็ดี ทานก็ดีขึ้น ถึงแม้จะละเว้นไม่ทั่วในศีล ๕ แต่ก็เริ่มขัดเกลาแล้ว ทำให้ดีขึ้น ทำให้มั่นใจว่า ถ้าสติเริ่มระลึกรู้จนกระทั่งได้นามรูปปริจเฉทญาณ หรือได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบัน ศีล ๕ คงจะละได้เป็นสมุจเฉท คงจะไม่ละเมิดแน่ ถ้าถึงเวลานั้น
จากการที่ศึกษาธรรมแล้ว ชีวิตมีศีล อย่างเวลานี้จะพูดเท็จสักคำหนึ่ง เกิดหิริโอตตัปปะ บางครั้งจำเป็นต้องพูดเท็จ ก็พยายามหาคำพูดที่เป็นความจริง และขัดเกลาต่อไป คือ ให้เขาไม่สะเทือนใจด้วย ซึ่งยากมาก
เมื่อจำเป็นต้องโกหก เพราะถ้าไม่โกหกเขาจะเดือดร้อนทีเดียว ก็พยายาม พูดความจริงออกไปก่อน หลังจากพูดความจริงไปแล้ว หาเหตุผลเพื่อสนับสนุนความจริงนั้น เป็นชีวิตที่ภายหลังศึกษาธรรมแล้ว ได้ประโยชน์มากๆ ทีเดียว
เรื่องพูดเท็จเวลานี้เกิดความละอายมาก ซึ่งเมื่อก่อนมีทุกวัน กับลูก กับภรรยา หรือกับญาติพี่น้อง เช่น มายืมเงิน อย่างอาจารย์เคยบอกว่า ไม่มีพอจะให้ยืม แต่มีเอาไว้ใช้ ก็เป็นความจริง เราไม่ได้เตรียมไว้ให้ยืม เราเตรียมไว้ใช้ในชีวิตของเรา
สำหรับผมในการศึกษาธรรม ถือศีล ๕ เป็นหลัก เมื่อศึกษาธรรมแล้วศีล ๕ ควรจะบริสุทธิ์ขึ้นๆ ไม่ทราบอาจารย์จะมีอะไรเพิ่มเติมไหม
สุ. ไม่ทราบท่านผู้อื่นมีความคิดอย่างไร เรื่องชีวิตคืออะไร
ผู้ฟัง ความเห็นจากคนบ้านนอก นานๆ จะเข้ามาสักทีหนึ่ง ซึ่งก็เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ ผมยังติดใจความหมายของชีวิตว่า ชีวิตคือขณะจิต ผมสนใจตรงนี้มาก ถ้าเรายังไม่เข้าใจชีวิตจริงๆ ยังไม่รู้ชีวิตจริงๆ ก็คือเรายังไม่รู้ขณะจิตที่แท้จริง ของเรา คงจะเพียงสั้นๆ เท่านี้
สุ. ไม่ทราบท่านผู้อื่นมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างไหม
ผู้ฟัง ผมอายท่านทั้งสองเหลือเกิน เพราะท่านทั้งสองจิตใจสูง ท่านพูดเข้าหาธรรมเบื้องสูง ผมคนเดินดิน ความจริงผมไม่ควรมาบอกใครว่าชีวิตคืออะไร แต่ด้วยความกตัญญูกตเวทีต่อท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์ให้ผมทำอะไร ผมทำทุกอย่าง ท่านจะเล่นเกมส์นี้ ให้มาบอกว่าชีวิตคืออะไร ผมก็ต้องเล่น
สำหรับชีวิตผมเอง ผมรู้สึกเบา สบาย เหมือนกับที่คุณอดิศักดิ์พูด ผมค่อยๆ ขัดเกลาไป ไม่มาก ทีละนิดๆ ผมก็รู้สึกเบาขึ้นมาก และค่อยๆ เบาไปเรื่อย นี่อย่างหนึ่ง
นอกจากนั้น สันตานหรือสันดานผม ผมชอบทำประโยชน์ให้แก่คนอื่น เพราะฉะนั้น ผมมีความสุขมากถ้าผมสามารถไปพูดอะไร เล่าอะไร อธิบายอะไร ซึ่งผมศึกษาอะไรมาจากท่านอาจารย์ ผมก็เที่ยวไปบอกเขา นี่เป็นชีวิตของผมอีกอย่างขาดไม่ได้เลย
และสุดท้ายอย่างที่ ๓ แย่เลย ดิรัจฉานแท้ๆ เลย ผมชอบความสนุก บันเทิง อะไรที่บันเทิงกับตัวเองและผู้อื่น โดยไม่กระทบกระเทือนใคร มีความสบายใจ ผมชอบที่สุด ชีวิตผมชอบอยู่ ๓ อย่างนี้
สุ. ไม่ทราบชีวิตของท่านผู้อื่นเป็นอย่างนี้หรือเปล่า แต่ทุกชีวิตก็คือ การเกิดขึ้นของปรมัตถธรรม สภาพธรรม คือ จิต เจตสิก รูป ซึ่งไม่มีใครสามารถยับยั้งได้เลย และถ้าสติเกิดจริงๆ ระลึกจริงๆ จะรู้ได้ทันทีว่า กิเลสหรืออกุศลธรรมเกิดขึ้นทำกิจของกิเลสและอกุศลธรรมนั้นๆ อยู่ตลอดเวลาที่วิบากจิตหรือกุศลจิตไม่เกิด
นี่จึงจะเป็นผู้เห็นธรรมตามความเป็นจริง เห็นตัวเองชัด มีอะไร นอกจาก กิเลสเกิด ทำกิจการงานของกิเลสตลอดเวลาที่ไม่ใช่วิบากและไม่ใช่กุศล เพราะว่า วิบากเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายกระทบสัมผัส หลังจากนั้นคืออะไร ก็คือกิเลสเกิดขึ้นทำกิจการงานของกิเลสตลอดเวลา นี่คือผู้ที่รู้จักตนเองตามความเป็นจริง ขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิด ขณะนั้นเป็นกิเลสระดับขั้นต่างๆ จริงๆ ที่ระลึกขณะใด จะเห็นกิเลสในขณะนั้น
แม้แต่ความสนุกที่ว่า ก็เป็นชีวิตจริงของทุกท่าน ซึ่งก็คือกิเลสเกิดขึ้นทำ กิจการงานของกิเลสนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาทางโลกก็คือกิเลสเกิดขึ้นทำกิจ ของกิเลส จะปรุงอาหารให้อร่อย กิเลสก็เกิดขึ้นทำกิจของกิเลส จะคิดนึกเรื่องราว ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสนุกสนานก็กิเลสเกิดขึ้นทำกิจของกิเลส ขณะใดที่เป็น กุศลเท่านั้น เช่น เป็นไปในทานหรือเป็นไปในศีล เป็นไปในความสงบของจิต หรือการอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ที่จะคั่นกิเลสในชีวิตประจำวันชั่วครั้ง ชั่วขณะ ซึ่งจะเห็นได้จริงๆ ว่า ถ้ารู้ชัดในสภาพของธรรมแล้ว จะเห็นแต่กำลังของกิเลสที่มีมากเหลือเกิน
เมื่อเห็นกิเลสแล้ว จึงเป็นผู้ที่กระทำกิจที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมเพื่อที่จะละคลายกิเลส มิฉะนั้นแล้วไม่มีทางอื่น จะใช้หนทางอื่น วิธีอื่น ที่จะดับกิเลส เป็นไปไม่ได้เลย
ต้องอาศัยการฟัง การศึกษาพระธรรมให้เข้าใจจนกระทั่งรู้ว่า หนทางเดียว ที่จะดับกิเลสได้ คือ ปัญญาที่เจริญจนกระทั่งสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ โดยสภาพที่เป็นนามธรรมหรือ เป็นรูปธรรม จึงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน มิฉะนั้นแล้วกิเลสก็จะมีปัจจัยเกิดขึ้นทำกิจการงานหน้าที่ของกิเลสอย่างสนุกสนาน อย่างเพลิดเพลินตลอดวัน ซึ่งก็เป็นเรื่องของผู้ที่รักในความสนุก หรือในความเพลิดเพลิน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
เพราะฉะนั้น เริ่มจากไม่เข้าใจชีวิต ไม่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรม ต่อเมื่อ ได้อาศัยการฟังพระธรรมเข้าใจแล้ว ก็เป็นผู้ที่เปิดจิตให้ออกจากกิเลสทั้งหลายที่ หุ้มห่อไว้มิดชิด คิดดู กิเลสหุ้มห่อห้อมล้อมปกปิดไว้มิดชิดขณะที่ไม่รู้ว่าสภาพธรรม คืออะไร และไม่ได้ศึกษาพระธรรมเลย
แต่ชั่วขณะที่มีการศึกษา มีการฟัง มีการเข้าใจ ก็เหมือนกับผู้ที่เปิดกิเลส ที่หุ้มห่ออยู่ออกไป ให้ออกมาเห็นความจริงของสภาพธรรมชั่วคราว และก็กลับไป ถูกกิเลสหุ้มห่อไว้มิดชิดอีก และก็มีการฟังพระธรรม มีการพิจารณา มีการเข้าใจ ก็เปิดจิตออกมาให้พ้นจากการหุ้มห่อของกิเลสทีละเล็กทีละน้อย
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า วันหนึ่งๆ ที่จะออกมาจากการหุ้มห่อของกิเลส มารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงในขั้นการฟังบ้าง หรือในขั้นที่สติเริ่มระลึกลักษณะของสภาพธรรมบ้าง น้อยเพียงไร จึงต้องอบรมต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่ท้อถอย ต้องเป็น ผู้ที่ตั้งต้นใหม่ เกิดใหม่ทุกขณะ ไม่ว่ากิเลสจะทำให้เป็นผู้ที่เห็นผิด หลงผิด เข้าใจผิด ประพฤติผิดทางกายทางวาจาไปมากน้อยอย่างไรก็ตาม แต่ก็เป็นผู้ที่สามารถเริ่มต้น ตั้งต้นใหม่ และอบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม
นี่คือชีวิตประจำวันจริงๆ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๕ ตอนที่ ๑๙๔๑ – ๑๙๕๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1884
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1885
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1886
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1887
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1888
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1889
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1890
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1891
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1892
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1893
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1894
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1895
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1896
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1897
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1898
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1899
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1900
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1901
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1902
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1903
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1904
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1905
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1906
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1907
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1908
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1909
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1910
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1911
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1912
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1913
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1914
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1915
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1916
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1917
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1918
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1919
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1920
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1921
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1922
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1923
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1924
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1925
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1926
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1927
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1928
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1929
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1930
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1931
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1932
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1933
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1934
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1935
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1936
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1937
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1938
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1939
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1940
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1941
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1942
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1943
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1944
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1945
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1946
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1947
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1948
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1949