แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1891


    ครั้งที่ ๑๘๙๑


    สาระสำคัญ

    ม. มู. - ธรรมเครื่องเนิ่นช้า ๓ ประการ ประชุมธรรม ๓ ประการ จึงเกิดผัสสะ

    ขุ.ชตุกัณณีมาณวกปัญหานิทเทส - ความหมายของคำว่า วีระ

    วิริยะเกิดกับกุศล และอกุศล

    อธิบดี ๔ (ฉันทะ ๑ วิริยะ ๑ จิต ๑ วิมังสา คือปัญญา ๑)


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๓๒


    . ที่กล่าวว่า สภาพธรรมทั้งหลายที่ออกไปภายนอกจากอารมณ์ของ ภวังค์ ออกไปแล้วก็กลับมา ไม่มีสาระ สภาพธรรมนั้นรวมหรือไม่รวมรูปด้วย

    สุ. รวมไม่ได้ เพราะว่าธรรมทั้งหลายที่ออกไปภายนอกจากอารมณ์ภวังค์ สู่อารมณ์อื่น ต้องหมายความถึงขณะที่จิตเจตสิกรู้อารมณ์อื่น นอกจากอารมณ์ ของภวังค์

    . เครื่องเนิ่นช้า ตามความเห็นของผมนั้น พูดง่ายๆ ก็เหมือนกับว่า ตัณหา มานะ ทิฏฐิเป็นเครื่องเนิ่นช้า เพราะว่าทำนิพพานให้แจ้งช้าไป เกิดขึ้นครั้งใด ก็ช้าไปครั้งหนึ่ง ใช่ไหม

    สุ. คงไม่ใช่แต่เฉพาะนิพพานซึ่งแสนไกล แม้แต่กุศลธรรมในวันหนึ่งๆ ที่จะเกิด ตัณหา ทิฏฐิ มานะก็ทำให้ช้าที่จะเป็นกุศล

    เรื่องของความเพียรจะต้องเข้าใจอีกว่า ที่พูดว่าให้เพียร ให้เพียร เพียรอะไร คือ เปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศล เพราะว่าวิริยเจตสิกเป็นปกิณณกเจตสิก ซึ่งเกิดกับ จิตส่วนใหญ่โดยทั่วไป เว้นไม่เกิดกับจิตเพียงบางดวงเท่านั้น เพราะฉะนั้น วิริยเจตสิกเกิดกับอกุศลจิตด้วยและเกิดกับกุศลจิตด้วย

    สำหรับความเพียรในเรื่องที่เป็นอกุศลอาจจะไม่รู้สึกเลย เช่น ขณะที่ตื่นและเป็นอกุศล ขณะนั้นจะมีใครทราบไหมว่า มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพียรในอกุศล ทุกขณะที่เป็นโลภะ โทสะ โมหะ ขณะนั้นต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่วันหนึ่งๆ ที่กุศลจะเกิด จะเห็นได้ว่า บางท่านต้องอาศัยความเพียรจริงๆ เพราะว่าไม่ขยันที่จะเป็นกุศล เช่น ถ้าจะอ่านหนังสือธรรม จะเห็นได้เลยว่า ต้องอาศัยวิริยะ ความเพียร บางคนก็รู้ว่ามีประโยชน์ แต่อาจจะบอกว่าไม่มีเวลา แต่แล้วก็เห็นประโยชน์ และอ่าน ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้กล่าวว่าไม่มีเวลาแต่ก็ยังอ่าน ในขณะนั้นก็เห็นวิริยะซึ่งเป็นกุศล ที่เปลี่ยนจากวิริยะซึ่งเป็นอกุศล

    สำหรับวิริยะที่เป็นอกุศล มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่มีใครสังเกตเห็นเลย ถ้าดูโทรทัศน์ เหมือนกับไม่ต้องใช้วิริยะอะไรเลย เป็นไปในอกุศล แต่ความจริง ในขณะนั้นมีวิริยะเกิดกับอกุศลจิตแล้ว แต่ไม่เห็นลักษณะของวิริยะ ถ้าไม่เป็นความเพียรพิเศษทางกาย หรือทางวาจา แต่ให้ทราบว่า วิริยเจตสิกจะไม่เกิดกับจิตเพียง บางดวงเท่านั้น

    ขุททกนิกาย ชตุกัณณีมาณวกปัญหานิทเทส ข้อ ๓๘๙ มีข้อความว่า

    ท่านชตุกัณณีทูลพระผู้มีพระภาคว่า ท่านได้ฟังมาว่า พระผู้มีพระภาคทรงกล้า เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าวีระ ทรงมีความเพียร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าวีระ

    ตัว ว กับตัว พ ใช้แทนกันได้ เพราะฉะนั้น วิริยะ พิริยะ วีระ ความเพียร เหล่านี้หมายถึงวิริยเจตสิก

    สำหรับความหมายของคำว่า วีระ ที่เราเข้าใจว่าเป็นผู้กล้า ท่านชตุกัณณี ทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ได้ฟังมาว่า พระผู้มีพระภาคทรงกล้า เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าวีระ ทรงมี ความเพียร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าวีระ ทรงองอาจ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าวีระ ทรงให้ผู้อื่นมีความเพียร เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าวีระ ทรงเป็นผู้สามารถ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าวีระ ทรงเป็นผู้แกล้วกล้า ผู้ก้าวหน้า ผู้ไม่ขลาด ผู้ไม่หวาดเสียว ผู้ไม่สะดุ้ง ผู้ไม่หนี ละความกลัว ความขลาดแล้ว ปราศจากความเป็นผู้ขนลุกขนพอง เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงเป็นผู้แกล้วกล้า

    พระผู้มีพระภาคทรงเว้นแล้วจากบาปธรรมทั้งปวงในโลกนี้ ล่วงเสียแล้วซึ่งทุกข์ในนรก ทรงอยู่ด้วยความเพียร พระองค์ทรงมีวิริยะ มีปธาน ทรงแกล้วกล้า เป็นผู้คงที่ ท่านกล่าวว่ามีพระหฤทัยเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า พระองค์ทรงเป็นผู้แกล้วกล้า

    นี่คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่ทรงเป็นผู้แกล้วกล้าจะไม่สามารถ รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าการเจริญกุศล ทุกประการ แม้แต่การอบรมปัญญาด้วยการไตร่ตรองพิจารณาธรรม ก็ต้องอาศัยวิริยะ ความเพียรจริงๆ ก็จะเห็นได้ว่า แม้พระผู้มีพระภาค ทรงเป็นผู้แกล้วกล้า กว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เพราะฉะนั้น ทุกท่านต้องเป็นผู้แกล้วกล้าในการเพียรที่จะเปลี่ยนจากวิริยะในทางอกุศลให้เป็น วิริยะในทางกุศล มิฉะนั้นกุศลเจริญไม่ได้ และวิริยะจะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าทุกชาติๆ วิริยะเป็นไปในอกุศลทั้งนั้น

    แต่ถ้าสามารถเข้าใจลักษณะของวิริยะที่เป็นไปในกุศล และสามารถเพิ่มวิริยะในทางกุศลขึ้น ก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้ก้าวหน้า ไม่ขลาด ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง ไม่หนี

    เรื่องของวิริยะเป็นเรื่องใหญ่ และในชีวิตประจำวันไม่ทราบว่าแต่ละท่านสังเกตวิริยะบ้างหรือเปล่า

    เคยโกรธ ใช่ไหม ทุกคนจะต้องกระทบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจบ้างในวันหนึ่งๆ บางท่านอาจจะเป็นอารมณ์ที่รุนแรง บางท่านอาจจะนิดๆ หน่อยๆ ความขุ่นใจ หรือความไม่พอใจในบุคคลหนึ่งบุคคลใด ถ้าขณะนั้นสติสัมปชัญญะไม่เกิด ไม่มีการรู้สึกตัว ไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศลธรรม วิริยะก็ไม่มีโอกาสที่จะเปลี่ยนจาก อกุศลธรรมเป็นกุศลธรรม ก็ยังคงมีฉันทะ มีความพอใจ มีความยินดีที่จะให้เป็นอกุศลต่อไป

    แต่ผู้ที่ได้ฟังพระธรรม และเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน อบรมเจริญปัญญา ในขณะที่ขุ่นเคืองใจหรือไม่พอใจ สติสัมปชัญญะสามารถที่จะเกิดและระลึกได้

    เพราะฉะนั้น จะเข้าใจความหมายของสติสัมปชัญญะว่า ไม่ใช่เวลาที่เดินไปตามถนนแล้วไม่หกล้ม หรือข้ามถนนได้ รถไม่ชน ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เวลาที่อกุศลธรรมเกิดขึ้นและสติสัมปชัญญะมีการระลึกได้ในขณะนั้น และไม่ใช่เพียงแต่ระลึกได้ แต่ยังระลึกถึงพระธรรมที่จะพิจารณาว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลควรหรือที่จะให้เป็นอกุศลต่อไป ซึ่งย่อมขึ้นอยู่กับสติปัญญาของแต่ละท่าน ถ้าขณะนั้นมีปัญญาพอที่จะพิจารณาว่า ไม่ควรเลยที่จะมีความขุ่นเคืองใจ ไม่ว่าโดยประการใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นโกรธคนนั้นที่ทำไม่ดี โกรธคนนี้ที่พูดอย่างนั้น หรือเห็นสิ่งนั้นไม่ถูกต้อง หรืออะไร ก็ตามแต่

    และขณะใดที่อกุศลจิตเกิด เช่น โทสะ สติสัมปชัญญะระลึกได้ จะเห็นความเพียรว่า ในขณะนั้นเพียรที่จะไม่โกรธหรือเปล่า ถ้ายังโกรธต่อไปเรื่อยๆ ก็แปลว่า วิริยะทางฝ่ายอกุศลมีกำลังอยู่มาก แต่ถ้าวิริยะทางฝ่ายกุศลเพิ่มขึ้น การระลึกได้ จะทำให้จิตที่ขุ่นเคืองละคลาย เบาบาง และอาจจะมีเมตตาเกิดขึ้นทันที แปลงสภาพจากความขุ่นเคืองเป็นความผ่องใสทันทีได้

    นั่นคือสภาพของกุศลธรรมซึ่งเป็นสภาพที่ผ่องใส ไม่ใช่เป็นสภาพที่ขุ่นเคือง เศร้าหมอง เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของสติสัมปชัญญะ จะเห็นได้ว่า เป็นขั้นๆ เพราะเราไม่สามารถที่จะมีสติปัฏฐานเกิดได้ตลอดเวลา

    เพียงของสติสัมปชัญญะในชีวิตประจำวันที่จะเห็นลักษณะของวิริยเจตสิก ซึ่งเป็นกุศล เพราะเหตุว่าเวลาที่วิริยเจตสิกเป็นไปกับอกุศล ชินจนกระทั่งไม่สามารถรู้ลักษณะของวิริยเจตสิกที่เกิดกับอกุศลได้ เช่น ในขณะที่โกรธก็ต้องมีวิริยเจตสิกเกิดกับอกุศลจิต เกิดกับโทสมูลจิตในขณะนั้น แต่จะมีใครเห็นวิริยเจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิต

    ดูเหมือนกับเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นมาทันทีทันใด แต่ไม่ทราบเลยว่า ในขณะนั้นมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมกับโทสมูลจิตในขณะนั้นบ้าง แต่ต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย กับโทสมูลจิตในขณะนั้น

    โทสมูลจิต จะสังเกตได้ ขณะใดที่จิตใจไม่สบาย ถ้าใครไม่รู้ว่าโทสมูลจิต คือขณะไหนบ้าง ก็ให้ทราบจากเวทนาความรู้สึกว่า ขณะใดที่ความรู้สึกไม่สบาย ขณะนั้นทั้งหมดเป็นโทสมูลจิต จะเป็นความน้อยใจ จะเป็นความเสียใจ ความกลัว ความตื่นเต้น ความตกใจ อะไรก็ได้ ซึ่งเป็นลักษณะสภาพที่ไม่สบายใจ ขณะนั้น เป็นโทสมูลจิตซึ่งมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    แม้ว่าลักษณะของวิริยเจตสิกที่เกิดกับโทสมูลจิตจะไม่ปรากฏให้เห็น แต่เวลาที่โทสะเกิด สภาพของความไม่สบายใจมี และถ้าสติสัมปชัญญะเกิดระลึกรู้ในขณะนั้น ก็เป็นขณะที่วิริยะทางฝ่ายกุศลจะเกิดได้ ถ้ามีการฟังพระธรรม และเป็นผู้ที่ไม่เนิ่นช้าพร้อมที่จะละอกุศล

    เพราะฉะนั้น แต่ละคนจะรู้จักสภาพธรรมที่เกิดกับตนเองตามความเป็นจริง วันก่อนๆ เวลาโกรธ สติสัมปชัญญะไม่เกิด ผ่านมาแล้วมาก แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว โอกาสที่สติสัมปชัญญะจะเกิดย่อมมีเมื่อความไม่สบายใจเกิด ตามการ ฟังพระธรรม เข้าใจพระธรรม และเห็นประโยชน์ของพระธรรม

    ต่อไปนี้ทุกท่านคงจะสังเกตด้วยสติสัมปชัญญะเวลาที่อกุศลประเภทหนึ่งประเภทใดเกิด แม้ว่าจะไม่รู้ลักษณะของวิริยะที่เกิดกับอกุศลในขณะนั้น แต่สามารถเห็นวิริยะทางฝ่ายกุศลซึ่งเพียรที่จะไม่โกรธในขณะนั้น

    คิดดู การเพียรที่จะไม่โกรธ ไม่ใช่ขณะเดียวที่นึกได้แล้วจะไม่โกรธ แต่เมื่อรู้สึกตัว มีสติสัมปชัญญะ มีความเพียรเห็นว่าเป็นอกุศล และรู้ว่าธรรมที่ตรงกันข้ามกับโทสะคือเมตตา เพราะฉะนั้น ขณะนั้นย่อมมีวิริยะที่เพียรที่จะอภัย เพียรที่จะเมตตา เพียรที่จะรู้ว่า ทุกคนต้องทำผิด แม้แต่ท่านเองก็เคยทำผิดอย่างนั้นๆ มาแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ควรที่จะขุ่นเคืองใจในบุคคลอื่น หรือในสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและ ดับไปแล้ว แต่เวทนาทำให้เนิ่นช้า และสัญญาก็ทำให้เนิ่นช้า คือ ไม่ละทิ้งเรื่องนั้นๆ และทำให้เกิดอกุศล

    ไม่ทราบท่านผู้ฟังเคยสังเกตลักษณะของวิริยะที่เป็นไปในกุศลบ้างไหม ยากหรือง่าย เป็นไปได้ไหม ช้าหรือเร็ว แต่ความก้าวหน้าในทางธรรมเป็นวิริยะ เป็นวีระ เป็นบุคคลผู้กล้าที่จะละธรรมทางฝ่ายอกุศล

    สำหรับธรรมที่เป็นอธิบดี เป็นใหญ่ในสภาพนามธรรมที่เกิดร่วมกัน มี ๔ อย่าง คือ ฉันทะ ๑ วิริยะ ๑ จิต ๑ วิมังสา คือ ปัญญา ๑

    ธรรมที่เป็นอธิบดี ได้แก่ สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ในบรรดาสภาพนามธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกัน แต่ต้องทราบความละเอียดว่าไม่ใช่ทุกขณะจิต

    สำหรับสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ที่เป็นอธิบดี ได้แก่ ฉันทเจตสิก เป็นฉันทาธิปติ ๑ วิริยเจตสิก เป็นวิริยาธิปติ ๑ และจิตที่เป็นชวนจิต ๕๒ ประเภท เว้นโมหมูลจิตและ หสิตุปปาทจิต เป็นจิตตาธิปติ ๑ และปัญญา เป็นวิมังสาธิปติ ๑

    นี่คือชีวิตประจำวัน ซึ่งจะต้องเข้าใจจริงๆ ว่า สภาพธรรมที่เกิดร่วมกัน พร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน แต่ก็มีสภาพธรรมหนึ่งที่เป็นอธิบดีได้ในสภาพธรรม ๔ อย่างนั้น คือ บางขณะ ฉันทะ ความพอใจ อาจจะเป็นอธิบดี บางขณะ วิริยะ ความเพียร อาจจะเป็นอธิบดี บางขณะ จิตเป็นอธิบดี และบางขณะ ปัญญา คือ วิมังสา ก็เป็นอธิบดี

    สำหรับวิริยะในทางอกุศลมีมาก ซึ่งธรรมที่เป็นอธิบดีเกิดได้ทั้งฝ่ายกุศลและ ฝ่ายอกุศล ถ้าเป็นทางฝ่ายอกุศล ก็เว้นปัญญา เกิดไม่ได้ เป็นอธิบดีไม่ได้ เพราะฉะนั้น อธิบดี ๓ เท่านั้น เกิดได้กับทางฝ่ายอกุศลจิต คือ ฉันทาธิปติ วิริยาธิปติ และจิตตาธิปติ แต่ถ้าเป็นทางฝ่ายกุศล จึงจะมีวิมังสาธิปตีเกิดร่วมด้วยได้

    ที่กล่าวถึงอธิบดี ก็เพื่อให้เห็นความเป็นใหญ่ในขณะที่ลักษณะของวิริยะปรากฏ แต่ถ้าในขณะนั้นลักษณะของวิริยะไม่ปรากฏ ลักษณะของฉันทะก็อาจจะปรากฏ เป็นอธิบดีได้ หรือถ้าลักษณะของฉันทะและวิริยะไม่ปรากฏ จิตก็เป็นอธิบดีอยู่แล้ว ในขณะที่เป็นชวนวิถีจิต คือ ในขณะที่ไม่ใช่โมหมูลจิตและไม่ใช่หสิตุปปาทจิต

    เป็นเรื่องที่ละเอียด แต่ความจริงก็เป็นชีวิตประจำวันของทุกๆ ท่าน

    ถ้ากล่าวถึงจิตของทุกท่านในชีวิตประจำวัน อกุศลจิต ๑๒ ดวง คือ โลภมูลจิต ๘ ดวง โทสมูลจิต ๒ ดวง โมหมูลจิต ๒ ดวง โลภมูลจิตทั้ง ๘ ดวง มีธรรม ที่เป็นอธิบดีได้ คือ ฉันทะเป็นอธิบดีได้ วิริยะเป็นอธิบดีได้ เวลาที่เกิดความยินดี ความพอใจ มีฉันทะ มีความต้องการ แสดงให้เห็นถึงการสะสมของแต่ละบุคคล บางท่านก็มีฉันทะในการวาดรูป เขียนรูปได้สวย บางท่านก็มีฉันทะในการดนตรี แสดงให้เห็นว่า โลภมูลจิตในขณะนั้นมีฉันทะเป็นอธิบดี มีความสนุก มีความยินดี มีความเพลิดเพลิน ขณะนั้นจะเห็นลักษณะของวิริยะไหม ก็แล้วแต่ ถ้าท่านกำลังพากเพียรทำในสิ่งที่ท่านพอใจ ในขณะนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่า จะมีฉันทะเป็นอธิบดีหรือ มีวิริยะเป็นอธิบดี สำหรับโลภมูลจิต

    โทสมูลจิตก็มีอธิบดีได้ ๑ ใน ๓ เช่นเดียวกันกับโลภมูลจิต คือ อาจจะเป็นฉันทะ หรืออาจจะเป็นวิริยะ หรืออาจจะเป็นจิตนั่นเอง

    แต่สำหรับโมหมูลจิต ไม่มีธรรมที่เป็นอธิบดีเลย แม้ว่ามีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ไม่เป็นอธิบดี เพราะว่าไม่มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ถ้ามีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขยันมากได้ไหม ได้ และถ้ามีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขยันก็ได้เวลาที่มีโทสะ มีความพากเพียรที่จะประทุษร้าย มีการขวนขวายที่จะเบียดเบียน ซึ่งนั่นก็แสดงให้เห็นถึงวิริยะแล้ว

    เพราะฉะนั้น สำหรับสภาพธรรมแม้เพียงประการเดียว คือ วิริยเจตสิก ถ้าจะศึกษาโดยละเอียดก็กว้างขวางไปได้หมดตลอดทั้งจิตแต่ละประเภททีเดียวว่า ขณะใด มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล และเป็นอธิบดีหรือไม่ใช่อธิบดี เพราะว่าวิริยเจตสิกเกิดกับโมหมูลจิตได้ แต่เป็นอธิบดีไม่ได้

    นี่เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งดูเหมือนกับว่าไม่น่าสนใจ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว จะรู้ได้ว่า ในขณะที่เป็นโลภะ โทสะ ต่างกับขณะที่เป็นโมหะ เพราะว่าขาดธรรม ที่เป็นอธิบดี แม้ว่ามีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๐ ตอนที่ ๑๘๙๑ – ๑๙๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 133
    26 ต.ค. 2566