แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1892


    ครั้งที่ ๑๘๙๒


    สาระสำคัญ

    วิริยะมีกำลังต่างกัน

    อธิบดี ๔ และ อิทธิบาท ๔ องค์ธรรมเหมือนกัน

    โลกว่างเปล่าจากสาระ


    ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย

    วันอาทิตย์ที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๓๒


    สำหรับอเหตุกจิต ๑๘ ดวง ไม่มีธรรมที่เป็นอธิบดีเลย ไม่ว่าฉันทะ ก็ไม่เกิดกับ อเหตุกจิตทั้ง ๑๘ ดวง และแม้วิริยเจตสิกเกิดกับหสิตุปปาทจิตซึ่งทำชวนกิจและ มโนทวาราวัชชนจิต แต่ก็ไม่เป็นอธิบดี

    สำหรับกามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง ซึ่งทุกคนคงทราบแล้วว่า ขณะที่เป็น มหากุศลจิตเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา มีปัญญาเกิดร่วมด้วยหรือไม่มีปัญญาเกิด ร่วมด้วย เป็นอสังขาริกหรือเป็นสสังขาริก และบางขณะก็เกิดกับอุเบกขาเวทนา มีปัญญาเกิดร่วมด้วยหรือไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย เป็นสสังขาริกหรือเป็นอสังขาริก ซึ่งกามาวจรกุศลจิต ๘ ดวง มีธรรมที่เป็นอธิบดีได้ คือ บางขณะอาจจะมีฉันทะ เป็นอธิบดี บางขณะอาจจะมีวิริยะเป็นอธิบดี บางขณะอาจจะมีปัญญาเป็นอธิบดี ซึ่งท่านผู้ฟังทำกุศลแต่ละครั้งอาจจะไม่ได้สังเกตเลยว่า ในขณะนั้นทำด้วยฉันทะ หรือทำด้วยวิริยะ

    ถ้าฉันทะเป็นอธิบดี วิริยะจะไม่ปรากฏลักษณะของความเป็นอธิบดี เพราะ ถ้ามีความโสมนัส มีความพอใจที่จะกระทำสิ่งนั้นๆ เช่น ท่านที่มีทานุปนิสัย มีฉันทะในการให้วัตถุเพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น รู้สึกเป็นความพอใจที่ท่านกระทำ ได้โดยง่าย แต่สำหรับบางท่านจะสังเกตเห็นได้ว่า ต้องอาศัยวิริยะจริงๆ จึงจะสละได้ มิฉะนั้นก็สละไม่ได้ แสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมที่เป็นอธิบดีแม้ว่ามี ๔ ก็จริง แต่เฉพาะธรรมหนึ่งเท่านั้นที่เป็นอธิบดี ธรรมอื่นจะเป็นอธิบดีด้วยไม่ได้

    อธิบดี คือ สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ ในขณะที่จิตและเจตสิกเกิดร่วมกัน ถ้าขณะนั้นจิตเป็นใหญ่ เป็นจิตตาธิบดี ฉันทะ วิริยะ ปัญญา ไม่เป็นใหญ่ แต่ถ้า ในขณะนั้นฉันทะเป็นใหญ่ แม้ว่ามีวิริยะ มีปัญญาเกิดร่วมด้วย วิริยะและปัญญา ก็ไม่เป็นใหญ่ แสดงให้เห็นว่า วิริยะเกิดกับกามาวจรกุศล ๘ และเป็นอธิบดีได้ แต่เวลาใดที่วิริยะเป็นอธิบดี ฉันทะ จิตตะ และปัญญา จะไม่เป็นอธิบดี ถ้าเป็นอธิบดีต้องเป็น ๑ ใน ๔ จะเป็นพร้อมกันทั้ง ๔ ไม่ได้

    สำหรับกามาวจรวิบากจิตซึ่งเป็นปฏิสนธิจิตของทุกท่านที่นี่ และเป็นภวังคจิตด้วย เพราะว่าขณะใดที่ไม่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส จิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิตจะเกิดดับทำภวังคกิจ เป็นมหาวิบากดวงหนึ่งดวงใดใน ๘ ดวง ขณะที่เป็นมหาวิบากทำภวังคกิจ หรือแม้ทำตทาลัมพนะกิจก็ตาม โดยชาติที่เป็นวิบาก วิริยะไม่เป็นอธิบดี มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยจริง แต่โดยสภาพ โดยฐานะที่เป็น เพียงผลของกรรมที่ทำให้จิตนี้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น วิริยะในขณะนั้นไม่ได้ทำกิจของวิริยะที่จะเป็นหัวหน้า ที่จะเป็นอธิบดี ที่จะเป็นใหญ่ ด้วยเหตุนี้วิบากจิตทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกามาวจรวิบาก หรือรูปาวจรวิบากจิต อรูปาวจรวิบากจิต ทั้งฉันทะ วิริยะ จิตตะและวิมังสาไม่เป็นอธิบดี

    สำหรับกามาวจรกิริยาจิต ทุกท่านไม่มีแน่ เพราะไม่ใช่พระอรหันต์ แต่แม้เป็นจิตของพระอรหันต์ เป็นมหากิริยาจิต ๘ ดวง ก็แล้วแต่ว่าสภาพธรรมใดใน ๔ นั้น สภาพธรรมใดจะเป็นอธิบดี และเมื่อสภาพธรรมใดเป็นอธิบดี สภาพธรรมอื่นก็ไม่เป็นอธิบดี

    รูปาวจรกุศลจิต โดยนัยเดียวกัน ต้องมีอธิบดีแน่นอน

    รูปาวจรวิบาก ไม่มีธรรมที่เป็นอธิบดี มีวิริยะเกิดร่วมด้วยแต่ไม่เป็นอธิบดี

    รูปาวจรกิริยาก็โดยนัยเดียวกัน คือ เช่นเดียวกับรูปาวจรกุศล เพราะว่า ทำชวนกิจ เพราะฉะนั้น มีวิริยะเป็นอธิบดีได้ หรือมีฉันทะเป็นอธิบดีได้ หรือมีจิตเป็นอธิบดีได้ หรือมีปัญญาเป็นอธิบดีได้

    อรูปาวจรกุศลจิต ๔ ดวง ก็โดยนัยเดียวกัน เมื่อทำชวนกิจ สภาพธรรม ๑ ใน ๔ นั้น เป็นอธิบดีได้

    อรูปาวจรวิบากจิต ๔ ดวง ไม่มีสภาพธรรมที่เป็นอธิบดี

    อรูปาวจรกิริยาจิต ๔ ดวง มีสภาพธรรมที่เป็นอธิบดี

    โลกุตตรกุศลจิต มีอธิบดีได้เช่นเดียวกับกุศลจิตอื่นที่ทำชวนกิจ โลกุตตรกุศลจิต มีสภาพธรรมที่เป็นอธิบดี และโลกุตตรวิบากจิตก็มีสภาพธรรมที่เป็นอธิบดี

    นี่เป็นการชี้ให้เห็นถึงวิริยเจตสิกว่ามีกำลังต่างกัน ทางฝ่ายอกุศลเกิดบ่อย ดูเสมือนว่ามีกำลัง แต่ขอให้คิดถึงขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดและเปลี่ยนวิริยะที่เป็นไปในอกุศลเป็นวิริยะที่เป็นไปในกุศล กำลังจะมากกว่าไหม

    ถ้ามีกำลังน้อยกว่า เปลี่ยนไม่ได้ ก็ยังคงเป็นวิริยะที่เป็นไปในอกุศลเรื่อยๆ แต่เพราะการที่กุศลจิตจะเกิดแต่ละขณะ ต้องมีสภาพธรรมที่เป็นโสภณเจตสิก เกิดร่วมด้วย ทำให้มีกำลังสามารถเปลี่ยนลักษณะของวิริยะที่เป็นไปในอกุศลเป็น วิริยะที่เป็นกุศล แม้ในเรื่องของทาน แม้ในเรื่องของศีล แม้ในเรื่องความสงบของจิต แม้ในเรื่องของสติปัฏฐานที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นปกติในชีวิตประจำวัน

    เพราะฉะนั้น ทุกคนจะเข้าใจลักษณะของสติสัมปชัญญะที่ต้องเป็นฝ่ายกุศล และก็แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลขั้นใด เช่น ตัวอย่างความโกรธที่ได้กล่าวถึงแล้วเป็นวิริยะ ที่เป็นไปในอกุศล เมื่อสติสัมปชัญญะเกิดระลึกถึงเมตตา ขณะนั้นถ้าเปลี่ยนเป็นกุศล คือ เป็นเมตตา ขณะนั้นก็เป็นวิริยะที่เป็นไปในกุศล ยังไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่เริ่มเห็นลักษณะของสติสัมปชัญญะว่าคือขณะนั้นเอง คือ ขณะที่รู้สึกตัวและสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง และถ้าเป็นสติปัฏฐาน แม้ขณะที่กำลังระลึกอย่างนั้น ก็รู้ในลักษณะสภาพนามธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น สติสัมปชัญญะจึงมีหลายระดับขั้น ตั้งแต่ในขั้นของทาน ขั้นของศีล ขั้นความสงบของจิต และขั้นสติปัฏฐาน ซึ่งวิริยะนั้นจะเป็นอิทธิบาท จะเป็นวิริยินทรีย์ จะเป็นสัมมาวายามะ แต่ถ้าไม่เป็นไปในทางฝ่ายกุศล เป็นอธิบดีได้ แต่ไม่เป็น อิทธิบาท ไม่เป็นอินทรีย์ ไม่เป็นพละ ไม่เป็นสัมมาวายามะ

    ธรรมที่เป็นอธิบดีก็มี ๔ ธรรมที่เป็นอิทธิบาทก็มี ๔ และองค์ธรรมเหมือนกัน คือ ฉันทเจตสิก วิริยเจตสิก ชวนจิต (เว้นหสิตุปปาทจิตและโมหมูลจิต) และ ปัญญาเจตสิก แต่สภาพธรรมที่เป็นอิทธิบาทต้องเป็นไปทางฝ่ายกุศลเท่านั้น สำหรับสภาพธรรมที่เป็นอธิบดี เป็นทางฝ่ายกุศลก็ได้ เป็นทางฝ่ายอกุศลก็ได้

    มีศัพท์ธรรมที่คล้ายคลึงกัน จึงต้องเข้าใจให้ถูกต้อง เช่น อธิบดีมี ๔ อิทธิบาทมี ๔ แต่อินทรีย์มี ๕

    สำหรับอธิบดี คือ สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ในสภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกัน ซึ่งสภาพที่จะเป็นใหญ่ในสภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกันมีได้เพียง ๔ ประเภท คือ ฉันทะ ๑ วิริยะ ๑ จิต ๑ ปัญญา ๑ ธรรมอื่นนอกจากนี้ เช่น หิริก็ดี โอตตัปปะก็ดี เป็นอธิบดีไม่ได้ ไม่ใช่สภาพธรรมที่เป็นใหญ่ในขณะที่จิตเกิดขึ้นเป็นไปในอารมณ์ ซึ่งจะต้องเป็นเฉพาะบางประเภทด้วย ไม่ใช่ทุกประเภท

    และสำหรับอิทธิบาทก็มี ๔ เช่นเดียวกัน มีฉันทะเป็นอิทธิบาท มีวิริยะ เป็นอิทธิบาท มีจิตเป็นอิทธิบาท มีปัญญาเป็นอิทธิบาท แต่อิทธิบาทต้องเป็นไปทางฝ่ายกุศล และโดยเฉพาะเจาะจงจริงๆ ต้องเป็นไปเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    บางแห่งใช้คำว่า อิทธิ ได้แก่ ฌานจิต และอิทธิบาท ได้แก่ ธรรมที่เป็นบาทซึ่งจะดำเนินไปถึงอิทธินั้นก็ตาม แต่ตอนจบของสูตรหรือข้อความนั้นจะมีข้อความว่า เพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม และมีข้อความที่แสดงชัดว่า ต้องเป็นไปเพื่อการ รู้แจ้งอริยสัจจธรรมจึงจะเป็นอิทธิบาท เพราะคำว่า อิทธิ หมายความถึงฤทธิ์ หรือความสำเร็จ ซึ่งไม่ได้หมายความถึงความสำเร็จในทางโลก แต่หมายความถึงความสำเร็จในทางธรรม และเป็นความสำเร็จใหญ่ด้วย ไม่ใช่เล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นไป ในกุศลธรรมดา ต้องเป็นไปกับการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ซึ่งเป็นส่วนของโพธิปักขิยธรรม ๓๗ เพราะว่าโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ได้แก่ อิทธิบาท ๔ สัมมัปปธาน ๔ ซึ่งได้แก่ วิริยเจตสิก สติปัฏฐาน ๔ อินทรีย์ ๕ ซึ่งได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรค ๘ รวมเป็นโพธิปักขิยธรรม ๓๗

    . ที่บอกว่า อิทธิบาทหมายความว่าเป็นบาทที่จะให้ถึงฌาน แต่ ในพระสูตรตอนท้ายมุ่งไปสู่โลกุตตรธรรม คำถาม คือ ต้องผ่านฌานหรือเปล่า

    สุ. ไม่จำเป็น เพราะแยกกันได้ ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมโดยไม่บรรลุฌานก็มี

    . คือ อยากจะเน้นว่า ไม่จำเป็นต้องมีฌาน

    สุ. ข้อความในพระสูตรจะแสดงธรรมโดยละเอียดซึ่งแยกแม้แต่เรื่องของอินทรีย์ ๕ ก็ต้องแสดงว่า จะเห็นสัทธินทรีย์ในธรรมไหน วิริยินทรีย์ในธรรมไหน สตินทรีย์ในธรรมไหน สมาธินทรีย์ในธรรมไหน ปัญญินทรีย์ในธรรมไหน ละเอียด ไปเรื่อยๆ แต่ก็เป็นชีวิตประจำวันที่จะต้องเริ่มเข้าใจและรู้สภาพธรรมที่ปรากฏ กับตนเอง ให้เข้าใจชีวิตประจำวันจริงๆ ในขณะใดที่เป็นกุศล ในขณะใดที่เป็นอกุศล และจะเข้าใจความหมายของวิริยะซึ่งเจริญขึ้นจากวิริยะที่เป็นอกุศลเป็นกุศลแต่ละขั้นๆ จนถึงสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเกิดร่วมกับมรรคจิตผลจิตได้

    การรู้ความจริงคือสัจจธรรมมีหลายขั้น ซึ่งจะต้องเริ่มจากขั้นฟังพระธรรม และพิจารณาพระธรรมที่ได้ยินได้ฟังละเอียดขึ้น บ่อยขึ้น จนกระทั่งสามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้เพียงโดยขั้นการฟัง เช่น พระธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า โลกว่างเปล่าจากสาระ ทุกอย่างที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ดับไปหมด ไม่เหลือเลย

    ฟังดูเป็นสัจจธรรมแน่นอน แต่ถ้าจะให้ละเอียดก็ควรจะได้พิจารณาว่า ในวันหนึ่งๆ สามารถที่จะพิจารณาให้รู้ ให้เข้าใจ สัจจธรรมความจริงนี้ได้เมื่อไร

    โลกว่างเปล่าจากสาระ ทุกอย่างที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ดับไปหมด ไม่เหลือเลย

    เมื่อไรที่จะเข้าใจอย่างนี้ได้ เพราะว่าขณะนี้เห็น ยังไม่ดับ กำลังได้ยินนิดหนึ่ง และได้ยินอีก ทางตาก็เห็นอีก ทางใจก็นึกคิดอีก เพราะฉะนั้น ขอให้พิจารณาว่า ขณะไหนพอที่จะเข้าใจความหมายของพระธรรมที่ว่า โลกว่างเปล่าจากสาระ ไม่มีอะไรเหลือเลย

    ขณะนี้ ไม่เห็นอย่างนี้ แต่เวลาที่เป็นภวังคจิต ตอนที่กำลังหลับ ขณะที่หลับ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในวันหนึ่งๆ ไม่เหลือเลย เสียงที่กำลังได้ยินทางหู กลิ่น ที่รู้ทางจมูก รสต่างๆ ที่ลิ้มทางลิ้น สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย เรื่องราวต่างๆ ที่คิดนึก ไม่มีเหลือเลยในขณะที่กำลังหลับสนิท

    เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณาจริงๆ จะเห็นได้ว่า ถ้ายังไม่หลับ ทุกอย่างยังอยู่ครบ ทรัพย์สมบัติ ญาติพี่น้อง แต่แท้ที่จริงแล้ว จะปรากฏเพียงชั่วขณะที่เห็น ที่สั้นมาก ทุกอย่างที่กำลังปรากฏทางตา ปรากฏแล้วก็ดับ และก็เป็นภวังค์ เพราะฉะนั้น เมื่อ ไม่สามารถประจักษ์ลักษณะของภวังคจิตที่คั่นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ กับเสียงที่กำลังได้ยินในขณะนี้ กับเรื่องราวทางใจที่คิดนึกในขณะนี้ ก็มีทางที่จะรู้ได้ ในขณะที่นอนหลับและตื่นขึ้น จะเห็นความต่างกันว่า ขณะที่หลับไม่มีอะไรเหลือจริงๆ ฉันใด ขณะที่เป็นภวังค์ แม้ยังไม่หลับ สภาพธรรมที่เกิดปรากฏก็ต้องดับไม่เหลือ ในขณะที่ภวังคจิตกำลังคั่นวิถีจิตแต่ละวาระทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ก็จะทำให้เข้าใจในความหมายที่ว่า เวลาที่ภวังคจิตเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติไว้เป็นปัจจัยให้จิตอื่นออกไปภายนอกจากอารมณ์ภวังค์สู่อารมณ์อื่นเพียงชั่วขณะที่สั้นมาก และก็กลับเป็นภวังค์อีก

    นี่เป็นเพียงการเตือน ซึ่งจะเกื้อกูลให้สติระลึก และจะรู้ได้ว่า ทุกอย่างที่ กำลังปรากฏ ปรากฏเพียงสั้นๆ

    อย่างทางตาในขณะนี้เห็น ทางหูได้ยินเสียงแล้ว ฉะนั้น ทางตาที่ปรากฏ ต้องสั้น และเสียงที่ปรากฏก็ต้องสั้น และคิดนึกก็ต้องสั้น ทุกอย่างที่ปรากฏสั้นจริงๆ

    วันหนึ่งๆ ก็ควรที่จะได้เริ่มรู้ความจริงว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ปรากฏ ชั่วขณะที่เห็น ว่างเปล่าจากสาระไหม ปรากฏเพียงชั่วขณะที่เห็น พอเป็นภวังค์เท่านั้น ไม่ปรากฏแล้ว และขณะนี้ภวังค์ก็กำลังคั่นอยู่ ปัญญาจะต้องอบรมจนกว่าจะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดดับอย่างรวดเร็ว

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญา ต้องเป็นวีระ ผู้กล้า ผู้สามารถ ผู้องอาจ ผู้แกล้วกล้าที่จะรู้ความจริงของลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งไม่มีหนทางอื่นที่จะรู้ได้เลย นอกจากฟังเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้เข้าใจจริงๆ ว่า เป็นอย่างนี้แน่นอน สติปัฏฐานจึงจะมีปัจจัยที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม และพิจารณาจนกว่าจะเห็นลักษณะที่เป็นนามธรรมซึ่งต่างกับลักษณะที่เป็นรูปธรรม จนกว่าจะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมในขณะนี้

    แต่ต้องเป็นปัญญา ไม่ใช่ด้วยความต้องการที่อยากจะนั่งและคิดว่า สงบนิ่งแล้วจะประจักษ์สภาพธรรมที่กำลังเกิดดับ แต่ให้ทราบว่า ถ้าไม่รู้เรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เลย สติปัฏฐานก็ไม่เกิด

    ไม่ใช่ว่าใครก็ตามจะให้สติปัฏฐานเกิด โดยไม่มีพื้นความรู้ความเข้าใจ ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ และแม้สติจะระลึก ปัญญาก็ไม่พอ ที่จะรู้ความจริงว่า ลักษณะของสภาพธรรมขณะใดก็ตามที่ปรากฏ สภาพธรรมนั้น สั้นและเกิดดับด้วย

    เพราะฉะนั้น ท่านที่เคยเป็นผู้กล้าในทางโลก เป็นวีรชน หรือเป็นวีรบุรุษ เป็นผู้องอาจ เป็นผู้สามารถ เป็นผู้มีความเพียร เป็นผู้ขยันในอกุศลธรรม ก็ควรที่จะเริ่มเป็นผู้กล้าในทางธรรม โดยการพิจารณาธรรมให้เข้าใจจริงๆ แม้ว่าเป็นสิ่งที่ยาก ที่จะรู้ได้ ที่เข้าใจได้ แต่ก็ไม่พ้นความสามารถของวิริยเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่ประคองสหชาตธรรมที่เกิดร่วมกันให้สำเร็จกิจ แล้วแต่ว่าจะเป็นไปในทางฝ่ายอกุศล หรือเป็นไปในทางฝ่ายกุศล

    ถ้าเป็นไปในทางฝ่ายอกุศล ก็ทำมามากแล้วจนชิน ตั้งแต่ลืมตาตื่นก็มีวิริยะ ทุกขณะที่ไม่ใช่อเหตุกจิต ๑๖ ดวง เพราะว่าวิริยเจตสิกจะเกิดกับจิตอื่นทั้งหมด นอกจากอเหตุกจิต ๑๖ ดวงเท่านั้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๐ ตอนที่ ๑๘๙๑ – ๑๙๐๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 133
    28 ธ.ค. 2564