พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 17
ตอนที่ ๑๗
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖
ท่านอาจารย์ ถ้าฟังต่อไป ก็มีสภาพธรรมให้เข้าใจขึ้นว่า เรากำลังศึกษารู้ความจริงของสิ่งที่มีทุกภพทุกชาติไม่ขาดเลย ให้เพิ่มความรู้ในลักษณะนั้นว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจคำว่าธรรม จะรู้ว่ามีธรรมตลอดเวลา ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ แต่มีธรรม และธรรมก็จำแนกเป็นนามธรรมกับรูปธรรม อย่างหนึ่งอย่างใด รูปธรรมจะเป็นนามธรรมไม่ได้ นามธรรมจะเป็นรูปธรรมไม่ได้ และนามธรรมก็มีสองอย่าง คือจิตกับเจตสิก จิตก็จะเป็นเจตสิกหนึ่งเจตสิกใดไม่ได้เลย เจตสิกก็จะเป็นจิตไม่ได้เลย แม้เจตสิกที่มี ๕๒ ประเภท แต่ละหนึ่งก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่งไม่ได้ เช่น สติเจตสิกจะเป็นปัญญาเจตสิกไม่ได้ ความรู้สึกคือเวทนาเจตสิกจะเป็นสัญญาเจตสิกไม่ได้ ทั้งหมดมีอยู่ที่ตัวเราทั้งหมด
เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจธรรมก็คือ สามารถที่จะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง แล้วก็จะเห็นจริงตามพระธรรมที่ทรงแสดงทุกประการ แม้แต่เพียงเราพูดสั้นๆ ว่า ทุกอย่างเกิดแล้วดับ แต่ทรงแสดงโทษว่าสิ่งที่เกิดแล้วดับไม่ใช่สิ่งที่เป็นสาระที่เราจะยึดถือ เพราะเหตุว่า ถ้าเรายึดถือในสิ่งนั้นก็คือด้วยความไม่รู้ เพราะฉะนั้นในชีวิตของเรา เราอาจจะคิดว่ามีอะไรเป็นสาระตั้งหลายอย่าง แต่ความจริงสิ่งที่เป็นสาระจริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดดับ เพราะฉะนั้นทรงแสดงธรรมที่จะให้ปัญญาของผู้ที่ได้ฟังไตร่ตรองเข้าใจ จนกระทั่งเจริญขึ้น สามารถที่จะดับกิเลสได้ด้วยปัญญาที่เจริญแล้ว
ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้น ปัญญาระดับทั่วๆ ไป ถ้าจะใช้คำว่า “จะทำอะไรคิดอะไรก็ให้มีสาระ” ความหมายของคำว่า “สาระ” กว้างมาก
ท่านอาจารย์ ก็เป็นภาษาของคนที่ยังไม่ได้ฟังธรรม แต่เมื่อฟังธรรมแล้วก็จะรู้ว่าเข้าใจถูก หรือเข้าใจผิดในคำนั้น หรือว่าคำนั้นใช้ในภาษาหนึ่งภาษาใด แต่ไม่ได้หมายความถึงสภาวธรรม
อ.วิชัย จิตโดยประการที่ ๑ คือเป็นธรรมชาติที่วิจิตร ด้วยภูมิ ด้วยชาติ ด้วยอารมณ์ต่างๆ ประการที่ ๒ คือ จิตเพราะกระทำให้วิจิตร ก็จะมีหลากหลายแต่ขอกล่าวตรงนี้ก่อน จิตเพราะกระทำให้วิจิตร ทุกท่านก็คงจะพิจารณาเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นอาคารบ้านเรือน หรือว่าจิตรกรรมต่างๆ ดังนั้น การที่จะกระทำสิ่งต่างๆ ได้เพราะเหตุว่ามีจิตที่คิดในการไตร่ตรองที่จะกระทำต่างๆ อีกประการหนึ่งก็คือจิตเมื่อเกิดขึ้นก็เป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกายกรรม วจีกรรม หรือมโนกรรม เพราะมีจิตเป็นปัจจัยที่จะกระทำต่างๆ และเมื่อผลของกรรมให้ผล ก็ให้เกิดเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเปรตอสุรกายต่างๆ ก็เพราะมีจิตเป็นปัจจัยที่จะทำให้วิจิตรเป็นบุคคลต่างๆ นี่ก็คือจิต เพราะธรรมชาติของจิตเองเป็นธรรมชาติที่วิจิตรอย่างหนึ่ง และเพราะจิตกระทำให้วิจิตรอีกอย่างหนึ่ง
ท่านอาจารย์ ถ้าจิตวิจิตรแล้วจะกระทำให้ไม่วิจิตรเป็นไปได้ หรือไม่ คิดอย่างไรพูดอย่างนั้น หรือเปล่า และคำพูดหลากหลายมากเลย พูดอย่างไพเราะน่าฟังด้วยเมตตาก็ได้ พูดอย่างไม่น่าฟังก็มี เพราะฉะนั้นจะเห็นได้จริงๆ ว่า จิตทำให้เกิดการกระทำที่หลากหลายทั้งกาย และวาจา อาคารนี้เป็นอย่างไรบ้าง หลากหลายไม่เหมือนอาคารอื่นใช่ไหม แต่ละบ้านแต่ละแห่งตามความวิจิตรของจิต ซึ่งเกิดจากการที่จิตเกิดแล้วก็ดับ แล้วสะสมสืบต่อปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นโลกนี้ไม่ว่างจากการที่จะมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้วยการกระทำทางกาย ทางวาจา ถ้าดูดอกไม้ที่บูชาพระบรมสารีริกธาตุ วิจิตร หรือไม่ ด้วยการจัด ก่อนที่จะอยู่ในแจกันก็วางๆ อยู่ แต่เมื่อใส่ดอกไม้ลงไปในแจกัน ที่จัดวันนี้กับเมื่อวานนี้ก็ไม่เหมือนกัน เพราะจิตหลากหลายต่างกัน กระทำให้มีการวิจิตรต่างๆ เพราะความหลากหลายของจิตนั่นเอง
เมื่อจิตเกิด จิตเกิดเองไม่ได้ ต้องมีปัจจัยปรุงแต่งให้จิตเกิด ศึกษาต่อไปจะทราบว่าในวันหนึ่งๆ มีจิตหลายชาติ “ชาติ” คือการเกิดขึ้นของจิต จิตที่เกิดขึ้นเป็นกุศลก็มี จิตที่เกิดขึ้นเป็นอกุศลก็มี ทั้งกุศล และอกุศลเป็นเหตุ ไม่ใช่เกิดขึ้นมาลอยๆ แล้วก็ไม่เกิดอะไรหลังจากนั้น เมื่อเหตุมีสะสมสืบต่อในจิต ก็จะทำให้เกิดผล คือจิตที่เป็นวิบากเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้วซึ่งก็จะได้กล่าวต่อไป การศึกษาธรรมก็จะได้ทราบว่า แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ได้ทรงแสดงว่าพระองค์สามารถที่จะบันดาลให้จิตซึ่งเป็นลักษณะอย่างนี้เปลี่ยนไปเป็นลักษณะอื่นได้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมตามความเป็นจริงเป็นอย่างไร ก็ทรงแสดงสภาพธรรมตามความเป็นจริงนั้นๆ เพราะฉะนั้น เมื่อจิตมีลักษณะที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้น จิตต้องเกิด และเมื่อเกิดแล้วจะให้จิตเห็นอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเหตุว่า จิตสามารถที่จะรู้ได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรเลยซึ่งจิตรู้ไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นทางตาเห็น มีสิ่งที่ปรากฏเพราะจิตเห็น รู้ได้ คือรู้ว่า สีสันวัณณะขณะนี้กำลังเป็นอย่างนี้ คือเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา หรือเสียง กลิ่น รส
ทางที่จะรู้อารมณ์ของจิตมี ๖ ทาง เพราะฉะนั้นจะยับยั้งไม่ให้จิตเกิดขึ้นแล้วก็รู้สิ่งที่ปรากฏทางนั้นๆ ไม่ได้เลย เมื่อรู้แล้วดับไป จะห้ามไม่ให้มีการสะสมการทรงจำสิ่งที่ได้รู้แล้วไม่ได้เลย เมื่อเห็นแล้ว สัญญาเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยกับจิตทุกขณะ แต่ไม่ใช่สัญญาเก่า สภาพธรรมทั้งหมดไม่มีสภาพธรรมเก่าเลย ขณะนี้มีปัจจัยปรุงแต่งให้จิตขณะหนึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่กลับมาอีก แต่ว่ามีเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งให้สภาพธรรมที่เป็นจิต และเจตสิกขณะต่อไปเกิดขึ้น และก็ดับไป เพราะฉะนั้นจะเปลี่ยนไม่ให้วิจิตร ไม่ให้หลากหลายด้วยเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยไม่ได้ จะให้ไม่วิจิตรไม่หลากหลายด้วยอารมณ์ที่จิตรู้ก็ไม่ได้
ผู้ฟัง คำว่า “วิจิตร” ได้ทั้งทางบวก และทางลบใช่ หรือไม่ครับ
ท่านอาจารย์ ทั้งหมดค่ะ
ผู้ฟัง อย่างบางคนทำอะไร ผลิตอะไรขึ้นมาสักชิ้นนึง เขาก็ไม่รู้ว่าเขาทำขึ้นมาได้อย่างไร อันนี้จะเป็นอย่างไร ไม่เข้าใจจิตเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ มีตาเห็น หรือไม่ มีหูได้ยิน หรือไม่ สามารถที่จะจำสิ่งที่เห็นได้ หรือไม่ และสามารถที่จะคิดนึกหลากหลายเป็นความวิจิตรต่างๆ หรือไม่ นี่คือความวิจิตร
ผู้ฟัง จิตบางครั้งคิดดีก็มี คิดไม่ดีก็มี
ท่านอาจารย์ เพราะเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย มีการปรุงแต่ง ซึ่งเป็นสังขารขันธ์
ผู้ฟัง แต่ส่วนมากจะกล่าวถึงเรื่องจิตเพียงอย่างเดียว ไม่กล่าวถึงเรื่องเจตสิกเลย
ท่านอาจารย์ จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งในสิ่งที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด
ผู้ฟัง เมื่อจิตไม่ดีก็ไปโทษจิต
ท่านอาจารย์ ถ้าจิตไม่ดีหมายความว่ามีเจตสิกที่ไม่ดีเกิดร่วมด้วย แต่ตัวจิตไม่ใช่อย่างนั้น ตัวจิตโดยสภาวะแล้วมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ปัณฑระ” หมายความถึงจิตล้วนๆ เป็นสภาพซึ่งไม่ได้มีอกุศลธรรมใดๆ มาเจือปนเลย
อ.กุลวิไล เราควรจะต้องไม่ประมาทในชีวิตประจำวัน ถ้าหากว่าในชีวิตประจำวันเราเป็นไปกับโลภะบ้าง โทสะบ้าง ขณะนั้นมีการสั่งสมทางฝ่ายอกุศลแล้ว แต่ถ้าเรามีการอบรมเจริญปัญญา มีการศึกษาธรรม มีการฟังพระธรรม ก็จะเป็นเหตุปัจจัยให้เราสั่งสมใหม่ แต่สั่งสมทางฝ่ายดีที่เป็นกุศล
ท่านอาจารย์ คุณธีรพันธ์ได้ยินคำว่า “สันดาน” ในภาษาไทย หรือไม่
อ.ธีรพันธ์ เหมือนกับว่าเป็นนิสัยที่ไม่ค่อยดี ในสมัยเด็กๆ ได้ยินคำว่าสันดาน เช่น สันดานไม่ดี
ท่านอาจารย์ ถ้าดี เป็นสันดาน หรือไม่
อ.ธีรพันธ์ เป็นสันดาน
ท่านอาจารย์ ตอนเป็นเด็กทราบ หรือไม่ว่า ที่ดี ก็เป็นสันดานด้วย
อ.ธีรพันธ์ จะทราบน้อยมาก แต่ส่วนใหญ่ที่ทราบ คือ จะเป็นสันดานที่ไม่ดี
ท่านอาจารย์ ถ้าได้ยินคำว่า “สันตานะ” หรือคำอื่นอีกที่มีความหมายว่า “สืบต่อ” จะมีคำอื่นอีก เช่น “สันตติ” คำที่คล้ายๆ กัน แต่อย่าเพิ่งด่วนสรุปรวมทั้งหมดทุกกรณี ไม่คิดเอง อาจจะพลาดได้ เพียงแต่ว่าถ้าได้ยินคำภาษาไทย แล้วก็ได้ฟังธรรม ก็สามารถที่จะเข้าใจ ตัวอย่างเช่น ภาษาไทยใช้คำว่า "สันดาน" ที่เราเข้าใจเดี๋ยวนี้คือ จิตเกิดดับสืบต่อ ไม่ใช่ว่าจิตเกิดดับแล้วหมดเลย แต่การดับไปของจิตขณะก่อนเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น แต่ละคนจะมีการเกิดดับสืบต่อของจิตตามการสะสม ว่าใครสะสมทางตา เห็นอะไรบ้าง ก็คิดถึงสิ่งนั้น หรือว่าเป็นวิชาการต่างๆ ก็ตามที่ได้ยินได้ฟังประกอบด้วย ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็มีจิตเกิดดับเป็น "สันตานะ" ของแต่ละคน แต่ในภาษาไทยใช้สำหรับความหมายที่ไม่ดีว่า เด็กคนนี้สันดานไม่ดีตามที่คุณธีรพันธ์กล่าว แต่ความจริงกำลังพูดความหมายในภาษาบาลีว่า เพราะการสะสม หรือ การสั่งสมไม่ดี คือ สั่งสมอกุศลไว้มาก เพราะฉะนั้น เวลาที่จะเห็น จะได้ยิน อะไรก็ตาม จะมีการกระทำทางกาย ทางวาจาที่ไม่ดีเพราะ"สันตานะ" เรากำลังใช้เหตุผล ใช้คำที่ถูกต้อง ไม่ได้ว่าใครเลย เพราะเหตุว่าตามความจริง เพราะการเกิดดับสืบต่อของจิตของแต่ละบุคคลนั่นเอง ที่ทำให้แต่ละบุคคลมี"สันตานะ"ที่ต่างกัน ถ้าได้ยินคำว่า "สันดาน" ต่อไปก็คงจะไม่รู้สึกอะไร ใช่ หรือไม่ ถ้าไม่มีคำว่า ดี หรือ ไม่ดี
อ.วิชัย ในข้อความอรรถกถาท่านกล่าวว่าเป็นการสั่งสมสันตานะด้วยสามารถชวนวิถี (ชะ-วะ-นะ-วิ-ถี)
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ชวนวิถีก็มาจากเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวถึงการเกิดดับสืบต่อใช้คำว่า "สันตติ" ได้ แต่ถ้ากล่าวถึง"สันตานะ" จะหมายความถึงกุศล และ อกุศล ซึ่งถ้าเราเข้าใจจริงๆ ว่าจิตเกิดแล้วดับ แล้วก็สืบต่อทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ละเอียดกว่านั้นอีก คือ จิตมีชาติต่างๆ กัน ซึ่งศึกษาต่อไป จะทราบว่าจิตที่เป็นเหตุไม่ใช่จิตที่เป็นผล และก็ยังมีจิตที่ไม่ใช่เหตุไม่ใช่ผลด้วย นี่คือภาษาไทย ก็จะเริ่มใช้ภาษาบาลีเป็นบางคำ แต่ให้ทราบว่า "สันตานะ" เป็นการสืบต่อที่สั่งสมทำให้แต่ละคนมีอัธยาศัยที่ต่างกัน แม้ว่าจะเห็นสิ่งเดียวกัน แต่สันตานะคือการเกิดดับสืบต่อของกุศล และอกุศลที่ผ่านมาก็ทำให้อัธยาศัยขณะนั้นต่างๆ กันไปได้
ผู้ฟัง จิตชอบคิดไม่ดีส่วนมาก เพราะเราปล่อยจิต ใช่ หรือไม่
ท่านอาจารย์ ตามความจริงขณะนี้ที่เข้าใจธรรมแล้ว เรามี หรือไม่ หรือมีแต่จิตที่เกิดดับสืบต่อ ถ้าคิดดีเพราะสะสม หรือสั่งสมกุศลจิตไว้มาก แต่ละคนมีอัธยาศัยต่างกัน การทำกุศลของแต่ละคนก็ต่างกัน บางคนชอบทอดกฐิน บางคนก็ชอบเลี้ยงพระ บางก็ชอบศึกษาธรรม สนทนาธรรม บางคนก็ชอบบริจาคเงินให้โรงพยาบาล ก็แล้วแต่ตามอัธยาศัยซึ่งหลากหลายที่แต่ละคนก็จะได้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่าเหตุใดต่างกัน เหตุใดจึงไม่เห็นเหมือนๆ กัน เหตุใดจึงไม่ชอบอย่างเดียวกัน ก็เพราะเหตุว่าสะสม"สันตานะ" มาต่างๆ กัน เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะว่าเป็นลักษณะของจิตที่จะต้องเป็นอย่างนี้ เมื่อจิตเกิดขึ้นเป็นอย่างไร ก็จะต้องสะสมสืบต่อไป
ผู้ฟัง ที่กล่าวว่า เราทำอะไรมาก็จะสะสมสืบต่อไปเรื่อยๆ แต่เมื่อถึงชาติที่เป็นมนุษย์ ขณะนี้กำลังฟังพระธรรม แล้วปัญญาสามารถเกิดได้ไหมว่า สิ่งที่สะสมมาไม่ถูก เราควรจะละ แล้วมาสะสมสิ่งที่ถูก เป็นปัญญา หรือไม่
ท่านอาจารย์ ขณะที่เข้าใจถูกต้อง ขณะนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็น"เจตสิก" ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงใช้คำว่า “ปัญญาเจตสิก” ซึ่งไม่ใช่ใครเลย เพราะเป็นสภาพธรรม ปัญญาเจตสิกเกิดแล้วดับ ถ้ามีปัญญาทั้งวันก็คงดี แต่เมื่อปัญญาดับแล้ว อะไรเกิด ก็เป็นไปตามการสั่งสมอีก เพราะฉะนั้นเราสามารถที่จะเข้าใจธรรม เห็นธรรม รู้ว่าเป็นธรรม เมื่อสภาพธรรมใดเกิดขึ้น แต่ถ้าสภาพธรรมนั้นยังไม่เกิด จะรู้ได้ไหม คนที่กำลังนอนหลับสนิทตื่นขึ้นมาจะรู้ได้ หรือไม่ว่าอะไรจะเกิด จะคิดอะไร จะรู้ต่อเมื่อสิ่งนั้นเกิดแล้ว เพราะฉะนั้น การที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดแล้ว ผู้ที่เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงก็รู้ว่าตามปัจจัย ใครจะทำอะไรได้ ตัวอย่างเช่น ที่คิดเรื่องไม่ดีบ่อยๆ คิดแล้ว เกิดแล้ว จะไปเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดแล้วได้อย่างไร ในเมื่อสิ่งนั้นถูกปรุงแต่งเป็น" สังขต" เกิดแล้ว ปรากฏแล้ว ดับไปเลย แต่เพราะความเป็นเราก็ยังห่วงใย ก็ยังยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน
เพราะฉะนั้นหัวใจของพระพุทธศาสนา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเข้าถึงความเป็นอนัตตา ให้เข้าใจจริงๆ ว่าไม่มีใครสามารถจะดลบันดาลได้ ไม่ว่าแต่ละขณะจิตที่เกิดเป็นอย่างนี้ เพราะมีปัจจัยที่จะเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น เมื่อไหร่ เมื่อปรุงแต่งแล้วเกิด จึงรู้ แต่ถ้ายังไม่เกิด ก็ไม่รู้ เช่นเมื่อวานนี้ ที่บอกว่าเราไม่ได้เป็นเจ้าของสภาพธรรมเลย สภาพธรรมเป็นธรรมไม่มีใครเป็นเจ้าของ จิตยังไม่เกิดจะเป็นเจ้าของจิตได้ หรือไม่ จิตดับไปแล้วยังจะตามไปเป็นเจ้าของจิตที่ดับได้ หรือไม่ ก็ไม่ได้ แต่เมื่อสภาพธรรมใดเกิดแล้ว ไม่รู้ จึงเข้าใจว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นของเรา แต่ต้องเมื่อเกิดขึ้น ไม่ใช่เมื่อยังไม่เกิด
ผู้ฟัง ก็หมายความว่าถึงจะสั่งสมอะไรมาก็แล้วแต่ ก็ควรจะศึกษาคำสอนที่ถูกต้อง แล้วมีปัญญาเกิดขึ้น ขณะนั้นปัญญาก็ทำหน้าที่จะให้รู้ว่านี้ควรละ นี้ควรเจริญใช่ หรือไม่
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เป็นหน้าที่ของปัญญา ปัญญาจะนำมาซึ่งกุศลทั้งปวง
ผู้ฟัง ต้องศึกษา ต้องฟัง
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่อย่างนั้นก็ไม่ใช่พุทธศาสนา เพราะว่าไม่รู้ต่อไป แต่เมื่อเป็นพุทธศาสนา คำสอนของผู้ที่ตรัสรู้ให้คนอื่นได้รู้ตามด้วย
ผู้ฟัง แล้วในกรณีที่ทั้งๆ ที่เป็นคำสอน เป็นความจริง และก็ให้เห็นหลายๆ อย่าง แต่ก็ยังดื้อไม่เชื่อ นั่นก็คือสั่งสมสันดานที่ไม่ดีมา
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง นี่คือพื้นฐานพระอภิธรรม ที่เราจะต้องมีความเข้าใจในขั้นต้น มิฉะนั้นต่อไปเราก็จะมีความสับสน เวลาอ่านได้ยินคำว่า “ให้เจริญกุศล” ก็คิดว่ามีตัวตน มีผู้บอก แต่ความจริงให้เข้าใจให้ถูกต้องว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร และปัญญาที่เข้าใจถูกก็จะทำหน้าที่ของปัญญานั้น
ผู้ฟัง หมายความว่าต้องฟังให้ปัญญาเจตสิกเกิดเอง
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ฟัง ไม่มีปัจจัยที่ปัญญาจะเกิด เพราะเหตุว่าเป็นเพียงสาวก จนกว่าจะเป็นอริยสาวก
ผู้ฟัง พระพุทธองค์ท่านตรัสว่า “ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา” เราจะเข้าใจพระธรรมแค่ไหน ถึงจะเข้าใจว่าเราได้เห็นพระพุทธเจ้า
ท่านอาจารย์ ก็เป็นไปตามกำลังของปัญญา ขั้นแรกไม่รู้ว่าธรรมคืออะไร และเมื่อรู้ การที่เรารู้มาจากไหน ใครเป็นผู้ตรัสรู้ ว่าไม่มีสัตว์ไม่มีบุคคลแต่มีธรรม โลกทั้งโลกคือนามธรรม หรือรูปธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดเท่านั้นเอง และต้องเกิดด้วยจึงปรากฏ และเมื่อเกิดแล้วก็ดับด้วย แต่เมื่อไม่ประจักษ์การเกิดดับ เพราะอวิชชาความไม่รู้ก็จะมีการปรุงแต่งเป็นสังขารเป็นความคิดที่วิจิตรต่างๆ เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง แต่ก็ไม่ได้ออกจากสังสารวัฏฏ์ เพราะว่าจะต้องเป็นอย่างนี้ตามสภาวะของจิตซึ่งเป็นอนันตรปัจจัย ทันทีที่จิตขณะหนึ่งดับก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด จนกว่าจะถึงกาละที่เป็นจุติจิตของพระอรหันต์เท่านั้นที่จะไม่มีจิตเกิดต่อจากจิตนั้นได้
ผู้ฟัง คำว่า “พุทธะ” แปลว่าอะไร
ท่านอาจารย์ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ที่เราเบิกบานทุกวันเพราะรู้ หรือว่าเพราะไม่รู้ ที่จะใช้คำว่าเบิกบาน จริงๆ เรามีความรู้สึกที่เป็นสุขหลายวาระ เห็นสิ่งที่ดี ได้ยินเสียงที่ดี ได้กลิ่นที่ดี ลิ้มรสที่ดี กระทบสัมผัสสิ่งที่สบาย และก็คิดเรื่องที่ดีๆ ทั้งนั้น ก็รู้สึกเหมือนกับว่าเป็นสุข แต่ไม่ใช่เบิกบานด้วยความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ซึ่งก่อนนั้นไม่เคยเบิกบานเพราะว่าไม่รู้
ผู้ฟัง ไม่ทราบว่าจะกล่าวถูก หรือเปล่า ที่ว่า เข้าใจพระอภิธรรมจะเข้าใจเรื่องปฏิบัติดีกว่า
ท่านอาจารย์ ดีกว่า หมายความว่าอย่างไร
ผู้ฟัง คือเข้าใจปรมัตถธรรม สภาพธรรมในด้านการปฏิบัติ และก็เข้าใจเรื่องอภิธรรม เรื่องจิต เจตสิก รู้หมด จำได้หมด แต่ในเรื่องปฏิบัติ เข้าใจตรงนี้ให้มากที่สุด อันนี้เป็นประโยชน์กว่าทางด้านพระอภิธรรมใช่ไหม
ท่านอาจารย์ หมายความว่า เพียงขั้นฟัง และก็จำได้มากมาย ไม่เป็นประโยชน์เท่ากับการที่สามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งคำว่า ”ปฏิปัตติ” ปฏิ แปลว่า เฉพาะ ปัตติแปลว่า ถึง เพราะฉะนั้น ปฏิปัตติ แปลว่าถึงเฉพาะ ถ้าเราไม่เข้าใจเราอาจจะคิดถึงภาษาไทย ปฏิบัติ คือทำ แต่ตามภาษาบาลีไม่ใช่อย่างนั้น “ปฏิ คือ เฉพาะ” “ ปัตติ แปลว่า ถึง” ถึงเฉพาะด้วยสติสัมปชัญญะ เพราะว่าขณะนี้มีนามธรรม และรูปธรรม กำลังฟังเรื่องราวของนามธรรม และรูปธรรม และขณะใดที่ถึงเฉพาะ หมายความว่า สติสัมปชัญญะรู้ตรงลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม ที่เป็นลักษณะที่แท้จริงของสิ่งนั้น แล้วอบรมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ว่าเป็นธรรม ที่ใครเปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นไม่ได้ เช่น แข็งในขณะนี้ มีใครบ้างที่ไม่รู้แข็ง ไม่มี เพราะอะไร เพราะมีกายปสาท สภาพธรรมเป็นรูปชนิดหนึ่งซึมซาบอยู่ทั่วกายส่วนที่สามารถกระทบกับเย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ตึง หรือไหว เพราะฉะนั้นเมื่อมีกายปสาท และมีสิ่งที่กระทบ จิตเกิดขึ้นเป็นจิตที่กำลังรู้แข็ง เป็นสภาพรู้แข็งจึงได้ปรากฏ
เพราะฉะนั้น ขณะนี้เองมีสภาพธรรมแต่ถึงเฉพาะลักษณะหนึ่งของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ หรือไม่ ถ้าขณะนั้นไม่ถึง จะกล่าวว่าเป็นปฏิปัตติไม่ได้ เพราะเหตุว่าเป็นเพียงความรู้ขั้นฟังเรื่องราวของแข็ง หรือของสี หรือของจิต หรือของเจตสิก แต่ยังไม่มีการถึงลักษณะที่เป็นจริงๆ ในขณะนี้ ต่อเมื่อใดที่มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นที่จะรู้ตรงลักษณะ ซึ่งเป็นปกติ อย่าคิดว่ายากเกินไป การอบรมเจริญสติปัฏฐาน อบรมไปเพื่อที่จะเข้าใจถูก เห็นถูก จนประจักษ์แจ้งในสภาพซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จากลักษณะที่มีจริงๆ และก็จะรู้ว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่เหมือนกันหมด ถ้ากระทบปรากฏทางหนึ่งทางใดเช่น ลักษณะที่แข็ง เราเคยยึดถือว่าเป็นคน เป็นเก้าอี้ เป็นแจกัน เป็นอาหาร เป็นช้อนส้อม เป็นอะไรก็ตามทางกาย ลักษณะที่แข็งจริงๆ คือแข็ง ซึ่งสามารถจะรู้ได้เฉพาะเมื่อมีกายปสาทกระทบ และจิตก็เกิดขึ้น
ผู้ฟัง ความเข้าใจ และพิจารณานี้ต้องควบคู่กันไปใช่ หรือไม่
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นได้ จะเป็นประโยชน์สูงสุด ถ้ามีการเข้าใจเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วสติเกิดระลึกเป็นการพิสูจน์ธรรมทันที
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 1
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 2
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 3
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 4
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 5
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 6
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 7
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 8
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 9
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 10
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 11
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 12
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 13
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 14
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 15
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 16
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 17
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 18
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 19
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 20
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 21
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 22
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 23
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 24
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 25
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 26
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 27
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 28
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 29
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 30
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 31
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 32
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 33
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 34
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 35
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 36
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 37
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 38
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 39
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 40
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 41
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 42
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 43
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 44
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 45
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 46
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 47
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 48
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 49
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 50
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 51
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 52
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 53
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 54
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 55
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 56
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 57
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 58
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 59
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 60