พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 19


    ตอนที่ ๑๙

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๖


    ท่านอาจารย์ ถ้ายังมีโลภะ โทสะ โมหะ ไม่สงบเลย แม้แต่เพียงโมหะก็ไม่สงบ แต่เราเรียกว่าสงบ เพราะว่าขณะนั้นเราเฉยๆ เหมือนกับว่าไม่มีโลภะ ไม่รัก ไม่มีโทสะ ไม่ชัง ก็เลยเข้าใจว่าขณะนั้นเราสงบ แต่ปัญญาอยู่ที่ไหน ถ้าไม่มีปัญญาอบรมเจริญความสงบไม่ได้เลย เพราะคำว่า “สมถภาวนา” คือการอบรมความสงบของจิต ต้องเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาเท่านั้น ถ้าขณะนั้นไม่ประกอบด้วยปัญญา สงบไม่ได้แน่ จะให้ใครมานั่งสักสิบคน ยี่สิบคน แล้วเพ่งจ้องอะไรก็ตามแต่ แล้วบอกว่าถึงขั้นฌาณบ้าง หรืออะไรบ้างต่างๆ แต่ไม่รู้อะไรเลยสักอย่างเดียว แล้วก็บอกว่าสงบ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย

    พระธรรมที่ทรงแสดงไว้เป็น “สรณะ” ธรรมรัตนะ ไม่ใช่มีแต่พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ สรณะที่พึ่งสาม คือพระรัตนตรัย แล้วเราพึ่งอะไร ถ้าเราไม่ศึกษาธรรมจะเข้าใจพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไหม ว่าทรงตรัสรู้ความจริงเดี๋ยวนี้ที่กำลังปรากฏ ซึ่งเหมือนไม่มีอะไรเลย แต่ความจริงเป็นธาตุซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ มีปัจจัยปรุงแต่งก็เกิดแล้วก็ดับ นี้คือแสดงให้เห็นว่าเราจะต้องศึกษา ถ้าไม่ศึกษาก็ไม่มีใครจะช่วยเราได้เลย เพราะเหตุว่าเราเกิดมาด้วยความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม และเวลาที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรมก็เต็มไปด้วยความไม่รู้ ไม่เข้าใจสภาพธรรม จนกว่าจะได้ศึกษา

    เริ่มเข้าใจพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ ถ้าไม่ทรงพระมหากรุณา เราไม่มีโอกาสจะได้ยินคำที่แสดงให้เราเข้าใจลักษณะของจิต หรือเจตสิก หรือรูป ซึ่งมีอยู่จริง แต่เราไม่สามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมใดๆ ได้เลยทั้งสิ้น แต่ด้วยพระมหากรุณาที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งต้องบำเพ็ญพระบารมีมากกว่าพระปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์สาวก ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ดังนั้น ตราบใดที่มีการศึกษาธรรม บุคคลทั้งหลายก็ยังได้ประโยชน์จากพระธรรม หากได้คิดถึงจำนวนของบุคคลที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่ได้ทรงตรัสรู้ และทรงแสดง ขณะนี้สองพันห้าร้อยกว่าปี ก็ยังมีข้อความในพระไตรปิฎกที่ทำให้เราสามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ ที่จะเป็นปัญญาของเราเอง ถ้าจะเป็นทายาทคือผู้รับมรดกก็คือเกิดปัญญาจึงจะได้รับ ถ้าไม่เกิดปัญญาจะรับอะไร จะเอามรดกอะไร จากที่ไหน เพราะฉะนั้นต้องศึกษาจริงๆ จะได้เข้าใจถูกต้องว่า ถ้าตราบใดที่ยังไม่ใช่ปัญญาของเรา และยังไม่ใช่ความรู้จริงๆ ขณะนั้นก็ไม่ใช่ปัญญา เป็นแต่เพียงชื่อซึ่งได้ยินได้ฟังมา แต่ชื่อนั้นใครบอก ผู้ที่มีปัญญาทรงแสดงไว้จริง แต่ผู้ที่รับสืบทอดกันมาสามารถเข้าถึงอรรถความหมายของพยัญชนะนั้นถูกต้องแค่ไหน เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบ ลึกซึ้ง และไม่ผลีผลาม

    ผู้ฟัง จิตเกิดในกายเรา ระหว่างตาสองตากับไปพรหมโลก เวลานั้นเท่ากันเป็นอนันตรปัจจัย

    ท่านอาจารย์ จิตมีปัจจัยที่จะเกิดตามกำลังของจิต ถ้าเป็นอกุศลกรรมหนัก มีกำลังถึงกับเกิดที่อเวจีมหานรก ไม่ต้องมีใครพาไปเลย แต่เพราะกำลังของเจตนานั้นเอง ซึ่งเป็นกรรมทำให้สภาพของจิตซึ่งเป็นวิบากเกิดที่นั่น ไม่ใช่หมายความว่ามีใครจะต้องพาจิตไป

    ผู้ฟัง จิตดวงใหม่ไปเกิดที่นั่น

    ท่านอาจารย์ ด้วยกำลังของกรรม ไม่มีกำลังใดที่จะเสมอเท่ากับกำลังของกรรม จะเกิดในพรหมโลกเป็นอรูปพรหม หรือเกิดในอเวจีมหานรก ก็ด้วยกำลังของกรรม

    ผู้ฟัง จุติที่นี่ แล้วไปปฏิสนธิ ไกลแสนไกล เวลาเท่ากัน

    ท่านอาจารย์ เคยกล่าวถึงแล้ว เรื่องจิตเห็น เกิดที่จักขุปสาทกลางตา ร่างกายทั้งหมดสามารถเป็นที่เกิดของจิตได้ แล้วแต่ว่าเป็นจิตประเภทใด จิตบางประเภทก็เกิดที่จักขุปสาท เช่น จิตเห็นต้องเกิดที่จักขุปสาท จิตได้ยินต้องเกิดที่โสตปสาท ตากับหูห่างกันไหม ลองคิดดู

    ผู้ฟัง ไม่ห่าง

    ท่านอาจารย์ ไม่ห่าง ติดกัน หรือ

    ผู้ฟัง เราเห็นว่ามันไม่ห่าง

    ท่านอาจารย์ มีอากาศธาตุแทรกคั่น ไม่ต้องไปนับว่าประมาณเท่าไหร่ แต่เมื่อมีปัจจัยของจิตเห็นจะเกิด จิตเห็นก็เกิดเห็น มีปัจจัยของจิตได้ยินจะเกิดได้ยิน จิตก็เกิดได้ยิน ไม่ต้องไปคำนึงว่าความห่างนั้นจะแค่ไหน จิตเกิดแล้วก็ดับแล้วก็เกิดสืบต่อ เพราะฉะนั้นสืบต่อสะสมสิ่งที่ผ่านมาแล้วทั้งหมด ทำให้เรามีอัธยาศัยต่างกัน มีความสามารถต่างกัน มีความคิดต่างกัน มีกุศลจิต อกุศลจิตต่างกัน

    ผู้ฟัง คนจบปริญญาเอกแล้ว พอไปเกิดใหม่ต้องเรียนประถมหนึ่งใหม่ เหตุใดถึงเป็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ จากคนหนึ่งเป็นอีกคนหนึ่ง ไม่ใช่คนเก่าแล้ว

    ผู้ฟัง แต่ว่าความรู้ก็น่าจะยังติดไปด้วย

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ว่าจะมีปัจจัยที่จะทำให้รู้อะไร เมื่อไหร่ คงเคยได้ยินอัจฉริยะเด็กที่อ่านหนังสือพิมพ์ได้ตั้งแต่ชั้นอนุบาลสาม ก็ไม่น่าสงสัย หมายความว่าเปลี่ยนแปลงเพียงสภาพของรูปด้วยกำลังของกรรม และก็ภูมิที่เกิด แต่สิ่งที่สะสมอยู่ในจิตก็สะสมสืบต่อไป แล้วแต่ว่ามีปัจจัยอะไรที่จะทำให้ขณะใดเกิดขึ้นเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง ในกรณีที่เป็นเด็กอัจฉริยะ ก็มีน้อยมาก

    ท่านอาจารย์ แม้จะส่วนน้อย แต่มี แสดงว่าต้องมีที่เห็นได้เป็นตัวอย่าง

    อ.วิชัย ก็คงจะมีเด็กอีกหลายคนที่มีความสามารถพิเศษ เช่น บางคนจำชื่อจังหวัดต่างๆ ได้

    ท่านอาจารย์ ในพระไตรปิฎก อายุเจ็ดขวบบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้

    ศึกษาพระธรรมตลอดชีวิต และไม่เพียงชาตินี้ชาติเดียว เพราะว่าไม่ใช่ศึกษาเพียงตัวหนังสือ เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่จะกล่าวถึงธรรมก็ให้ทราบว่า คือ ในขณะนี้เอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังแล้วๆ เล่าๆ จากชาติหนึ่งไปอีกชาติหนึ่ง จนกว่าจะสามารถรู้จริง ประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นในขณะนี้ถ้าจะกล่าวคำว่า"จิต" เครื่องพิสูจน์ก็คือว่าเรามีความรู้ความเข้าใจในคำที่ได้ยินขณะนี้มากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่เพียงแต่ได้ยินแล้วก็ทราบว่า จิตเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพรู้เป็นธาตุรู้ ถ้าขณะนี้ไม่มีจิต อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏเลย แต่ขณะใดก็ตามตลอดชีวิตที่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งปรากฏทั้งหมดเพราะมีจิตที่กำลังรู้สิ่งนั้น เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าทั้งๆ ที่ทุกคนก็มีจิต และสภาพของจิตในขณะนี้ก็มี แต่ประจักษ์แจ้งในสภาพที่เป็นธรรมไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ซึ่งเกิดดับ หรือยัง นี่แสดงให้เห็นว่าธรรมเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งมาก แม้มีจริง และยิ่งลักษณะของจิตจะเห็นได้ว่าสิ่งที่เรากล่าวถึง เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ทุกคนไม่สงสัยเลยใช่ไหม เมื่อกล่าวถึงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ มีแน่นอน แต่ถ้ากล่าวว่าสิ่งนี้มีปรากฏเพราะจิตเกิดขึ้นเห็น ตอนนี้ก็เพียงแต่เข้าใจคร่าวๆ ว่ามีจิตเห็นเกิดขึ้น และขณะนี้เห็นสิ่งที่ปรากฏเพราะจิตกำลังเห็น แต่จิตเป็นสภาพที่เป็นนามธรรม เพราะฉะนั้นทุกคำที่ได้ยิน ก็ควรที่จะเข้าถึงความหมายอรรถว่า ขณะนี้มีรูปคือสิ่งที่ปรากฏทางตา มีเสียงที่ปรากฏทางหู แต่จิตเป็นนามธรรม นี่แสดงความต่างโดยสิ้นเชิง ถ้าไม่คิดก็ไม่ละเอียด ก็ผ่านไป จิตเป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ไม่มีรูปร่างสัณฐานใดๆ เลยทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้น เรากำลังกล่าวถึงสภาพธรรมอย่างหนึ่งคือ "จิต" ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ลึกล้ำละเอียด เพราะเหตุว่าไม่มีรูปร่างสีสันวรรณะใดๆ เลย จะไปหาจิตที่ไหนดี มีสีสันปรากฏ หรือไม่ มีเสียงปรากฏ หรือไม่ ไม่มีเลย แต่ว่ามีสภาพที่สามารถเห็น เพราะฉะนั้นก็เหมือนกับสิ่งซึ่งไม่มีรูปร่าง แต่ว่าเกิดขึ้นทำหน้าที่โดยที่ไม่ต้องอาศัยตัวรูปร่างใดๆ เลย เพราะว่าลักษณะของนามธรรมเป็นสภาพธรรมที่สามารถรู้เท่านั้นเอง รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เช่น ขณะนี้ที่กล่าวว่ารู้ก็คือเห็น จึงสามารถรู้ว่ามีสิ่งนี้ที่กำลังปรากฏทางตา เพราะว่ามีเห็น ถ้าไม่มีเห็นจะกล่าวว่ามีสิ่งนี้ที่กำลังปรากฏทางตาก็ไม่ได้ แต่ที่กล่าวว่าขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตาเพราะมีเห็น เพราะฉะนั้นตัวจิตไม่มีรูปร่างเลย วันหนึ่งๆ ก็มีจิตหลายประเภท เวลาที่จิตเกิดขึ้นก็ต้องมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป นี้ก็แสดงให้เห็นถึงสภาพธรรมที่ละเอียด และเป็นสิ่งซึ่งกว่าจะประจักษ์ในสภาพซึ่งเป็นนามธรรมได้ ไม่ใช่เพียงขั้นการฟัง แต่ขั้นที่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพรู้ หรือธาตุรู้ จากการเริ่มฟัง แล้วเริ่มเข้าใจ ซึ่งต่อไปก็จะได้กล่าวถึงจิตโดยละเอียดขึ้น ซึ่งในคราวก่อนก็ได้กล่าวถึงชื่อต่างๆ ของจิต

    ผู้ฟัง จิตมี ๘๙ แบ่งเป็น วิบาก กุศล อกุศล กิริยาจิต ขอความกระจ่างในส่วนนี้

    อ.อรรณพ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนามธรรมไว้ ๕๓ ประเภท คือเจตสิก ๕๒ ประเภท ส่วนจิตแม้ว่าจะหลากหลายเป็น ๘๙ หรือ ๑๒๑ แต่เฉพาะจิตจริงๆ มีสภาพเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ จิตไม่ได้ทำหน้าที่ของเจตสิกแต่ละอย่าง แต่เพราะเจตสิกที่เกิดประกอบกับจิตนั้นมีความหลากหลาย และเจตสิกนั้นปรุงแต่งจิตในลักษณะต่างๆ ให้จิตนั้นหลากหลายไปเป็น ๘๙ เป็น ๑๒๑ ประเภท ในขณะที่อกุศลเจตสิกปรุงแต่งจิต ก็ปรุงแต่งให้จิตนั้นให้เป็นอกุศล อกุศลประเภทโลภะ ก็ต่างจากโทสะ และโมหะ หรือแม้จะเป็นกุศลประเภทต่างๆ เช่น กุศลขั้นทาน ขั้นศีล กุศลขั้นความสงบ หรือกุศลที่สูงขึ้นที่รู้ลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริง จิตก็หลากหลายไปเป็นกุศล อกุศล วิบาก กิริยา ประการต่างๆ

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมที่มีจริง ทรงแสดงโดยการตรัสรู้ สภาพธรรมที่มีจริงแต่ละอย่าง ก็จะมีลักษณะของสภาพธรรมนั้น แล้วก็ยังมีกิจการงานหน้าที่ของสภาพธรรมนั้น มีอาการที่ปรากฏให้รู้ได้ว่ามีสภาพธรรมนั้น และมีเหตุใกล้ให้เกิดมีลักษณะ ๔ อย่าง จึงมีคำว่า “ลักขณาทิจตุกะ” หมายความว่าเป็นลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ที่แสดงไว้ว่าสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมแต่ละลักษณะจะมีทางที่จะให้เราเห็นความต่างโดยลักษณะ โดยกิจ โดยอาการที่ปรากฏ และโดยเหตุใกล้ให้เกิด

    อ.วิชัย ลักขณาทิจตุกะของจิต คือมีการรู้แจ้งอารมณ์เป็นลักษณะ มีการเป็นหัวหน้าเป็นรสะ คือ เป็นกิจ มีการเกี่ยวข้องกัน คือการเกิดสืบต่อกันเป็นอาการปรากฏ ส่วนเหตุใกล้ คือ นาม และรูป

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้จิตกำลังมีอะไรเป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง มีเสียง มีสี

    ท่านอาจารย์ มีเสียงเป็นอารมณ์ มีสีที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง มีความรู้สึกทางกาย เย็น ร้อน อ่อน แข็ง

    ท่านอาจารย์ รู้สึกทางกาย เย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง เป็นอารมณ์ แล้วมีอะไรอีกไหม

    ผู้ฟัง ขณะนี้กำลังอมยาอยู่ ก็มีรสเย็น

    ท่านอาจารย์ มีรสเป็นอารมณ์อีกหนึ่ง สำหรับผู้ที่อมยา ก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า มีรส มีตา มีหู มีลิ้น มีกาย มีอะไรอีกไหม

    ผู้ฟัง มีกลิ่น

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่กำลังได้กลิ่น ขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่เห็น ไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน ต้องเป็นทีละหนึ่งขณะ นี่คืออาการที่ปรากฏสืบต่อ ปรากฏให้เห็นว่าไม่ขาดเลย เพราะฉะนั้นเราจะรู้ลักษณะของจิตได้ นอกจากจะมีการรู้แจ้งอารมณ์เป็นลักษณะ ยังเป็นประธานเป็นใหญ่ที่สามารถจะรู้ลักษณะของอารมณ์โดยการรู้แจ้ง แล้วก็มีการเกิดดับสืบต่อเป็นอาการปรากฏ คือขณะนี้เองจากทางตาที่เห็น เป็นทางหูที่ได้ยิน ต่อกันสนิทเลยไม่เห็นว่าดับเลย แต่ความจริงต้องดับ จิตที่เกิดแล้วไม่ดับไม่มีเลย แต่สืบต่อกันจนกระทั่งมองไม่เห็นความเกิดดับของจิต ยังมีอีกไหม

    ผู้ฟัง มีทางความคิด มโนทวาร

    ท่านอาจารย์ ต้องมีคิดนึกด้วย เพราะฉะนั้นโดยมากจะลืมคิดว่ามีทางตาเห็น ขณะนี้เห็นจริงๆ ทางหูได้ยินจริงๆ หรือบางคนทางจมูกก็กำลังได้กลิ่นดอกบัว หรือกลิ่นสะอาด ขณะที่สภาพธรรมปรากฏ จำเป็น หรือไม่ที่จะต้องใช้คำอธิบายอารมณ์ ซึ่งบางคำไม่สามารถจะใช้ให้เข้าถึงลักษณะของอารมณ์นั้นได้เลย เช่น ลักษณะของอารมณ์ เราจะบรรยายอย่างไรถึงลักษณะลื่นๆ เหนียวๆ เหนอะๆ ทางกาย อย่างมากเราก็อาจจะบอกได้ว่าอ่อน หรือแข็ง เย็น หรือร้อน ตึง หรือไหว บางคนก็ถามว่า ลื่นเป็นอะไร เหนียวเหนอะหนะเป็นอะไร นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้ไม่ใช้คำพูดใดเลย แต่จิตกำลังรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ และที่ขาดไม่ได้คือ "คิดนึก" ไม่มีใครสักคนในที่นี่ที่ไม่ได้คิด แต่การคิดนึกจะสลับเร็วมาก ในขณะที่เห็น แล้วก็คิด ในขณะที่ได้ยิน แล้วก็คิด แล้วแต่ว่าจะคิดเป็นเรื่องราว หรือไม่ ถ้าคิดเป็นเรื่องราวก็พอที่จะบอกได้ว่า ขณะนั้นมีจิตที่คิดนึกด้วย เพราะฉะนั้นก็เป็นการรู้อารมณ์ ๕ ทวาร หรือ ๕ ทางในขณะที่ไม่ใช่หลับสนิท พอจะรู้ลักษณะของจิตในขณะนี้บ้างไหม มีจิตขณะใดที่พ้นจากลักขณาทิจตุกะ หมวด ๔ ของจิตที่กล่าวถึง ๔ อย่าง ซึ่งจะทำให้เข้าใจจิตขึ้น

    ผู้ฟัง ผมยังไม่เข้าใจข้อ ๔ ข้อสุดท้าย

    ท่านอาจารย์ ข้อสุดท้ายกล่าวถึงเหตุใกล้ให้เกิด เพราะว่าสภาพธรรมทุกอย่างต้องมีปัจจัยที่จะทำให้เกิดขึ้น เหตุใกล้หมายความถึงว่าในขณะนั้นที่ใกล้ที่สุดที่จะกล่าวถึงก็คือ มีนาม และรูป นามที่นี่ได้แก่ เจตสิก และรูป เพราะในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตจะเกิดนอกรูปไม่ได้เลย จิตต้องเกิดที่รูปหนึ่งรูปใด

    ผู้ฟัง จิตหยาบ จิตประณีต มีลักษณะอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขณะที่โกรธ หยาบไหม ขณะที่เป็นกุศลกับเวลาที่โกรธ ต่างกันแล้วใช่ไหม ต่อไปจะได้ศึกษาเรื่องจิตโดยละเอียดขึ้น ตั้งต้นด้วยการจำแนกจิตโดยชาติ คือการเกิดขึ้น

    อ.กุลวิไล จิตมีการรู้แจ้งอารมณ์เป็นลักษณะ ในอรรถสาลินีท่านก็อุปมาเหมือนผู้รักษาพระนครนั่งอยู่ทาง ๔ แพร่ง จะรู้ว่ามีผู้ใดมาทางทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก คือ เป็นผู้ที่รู้แจ้งในอารมณ์ คือรู้อารมณ์หลากหลาย และในกรณีที่สอง คือ มีการเป็นหัวหน้าเป็นกิจ ขอท่านอาจารย์กรุณาขยายความ

    ท่านอาจารย์ นามธรรมไม่ได้มีแต่จิต นามธรรมที่เกิดมีทั้งจิต และเจตสิก แต่ลักษณะของการรู้แจ้งอารมณ์ต้องเป็นลักษณะของจิต และเจตสิกก็ทำหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ ไป ด้วยเหตุนี้เวลากล่าวถึงนามธรรมจึงอาจจะกล่าว หรือสามารถจะกล่าวได้ว่ามี ๕๓ เพราะเหตุว่าเจตสิกแต่ละเจตสิก ๕๒ ประเภท และมีจิตซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์อีก ๑

    อ.กุลวิไล เป็นหัวหน้าในที่นี้ คือ เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ และมีความเกี่ยวข้องกันเป็นอาการปรากฏ หมายถึงการสืบต่อของจิตในแต่ละขณะไม่ขาดสายเลย

    ท่านอาจารย์ ไม่ขาดสายเลย จากขณะหนึ่งดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้ขณะต่อไปเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจิตที่เกิดในขณะนี้ไม่ใช่ว่าอยู่ลอยๆ ก็โผล่ขึ้นมาจากไหนไม่รู้ แต่ต้องมาจากจิตซึ่งดับไปก่อน ทุกๆ ขณะ

    อ.กุลวิไล ที่แสดงว่ามีนามรูปเป็นเหตุใกล้ให้เกิด ในที่นี้นามก็หมายถึงเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตนั้น รูปก็คือวัตถุรูปที่จิตนั้นเกิดที่รูปนั้น

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    อ.ธีรพันธ์ จิตเป็นสภาพธรรมที่จะเกิดโดยลำพังตัวเองไม่ได้ ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย อาศัยซึ่งกัน และกัน เพราะฉะนั้น ขณะที่จิตเกิดขึ้น เจตสิกก็เกิดร่วมด้วย มีการดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็อาศัยวัตถุรูปเดียวกันเกิด เพราะฉะนั้นจิต และเจตสิกเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปพร้อมกัน จะไม่แยกจากกัน

    ท่านอาจารย์ จากคำถามที่ว่า เมื่อจิตเกิดแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น เจตสิกที่เกิดพร้อมจิตก็ดับพร้อมจิต แล้วเจตสิกนั้นจะเป็นปัจจัยให้ขณะต่อไปเกิดขึ้น หรือไม่นั้น ก็ต้องทราบว่านามธรรมเป็นสภาพที่วิจิตรมาก เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเป็นธาตุรู้ ซึ่งทั้งจิต และเจตสิกเป็นอนันตรปัจจัย ไม่ใช่เฉพาะจิตเท่านั้นที่เป็น เพราะเจตสิกที่เกิดร่วมกันก็เป็นอนันตรปัจจัยด้วย แต่จิตที่จะเกิดต่อไปจะเป็นอย่างไร ก็ต้องมีปัจจัยที่กำกับด้วยว่าจะเป็นกิจประเภทใด มีปัจจัยมากมายที่จะทำให้จิตแต่ละขณะเกิดขึ้น เพียงหนึ่งขณะที่เกิดแล้วดับไปอย่างเร็วมาก ผู้ไม่รู้ก็ไม่สามารถที่จะรู้ถึงปัจจัยที่จะทำให้จิตแต่ละขณะเกิดขึ้นได้ แต่ทั้งจิต และเจตสิกเป็นอนันตรปัจจัย ทันทีที่ดับไปก็เป็นปัจจัยให้จิต และเจตสิกขณะต่อไปเกิดขึ้น แต่จะเกิดขึ้นเป็นประเภทไหน อย่างไรก็แล้วแต่ปัจจัยอื่นอีกมาก

    ผู้ฟัง ที่กล่าวว่าเหตุใกล้ให้เกิด หมายถึง เกิดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เจตสิกขันธ์ ๓ และรูปเป็นเหตุใกล้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เหตุใกล้ได้แก่เจตสิก และรูป ถ้าปราศจากเจตสิกก็เกิดไม่ได้ และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็ปราศจากรูปไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง ในอรูปภูมิ คืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ อรูปภูมิก็ต้องทิ้งรูป ไม่มีรูป มีแต่นามเท่านั้นที่เป็นปัจจัยให้เกิด เพราะว่าในภูมินั้นไม่มีรูป เหตุใกล้ของอรูปพรหมภูมิ หรืออรูปาวจรจิตในอรูปพรหมภูมิต้องเป็นนามธรรมคือเจตสิกเท่านั้น ไม่มีรูปเลย

    ก่อนศึกษาธรรม รู้จักชาติของจิต หรือไม่ ทุกคนมีจิต ครั้งที่ยังไม่ได้ศึกษาธรรม ได้ยินคำว่าอะไรบ้างที่เกี่ยวกับจิต ไม่เคยได้ยินคำอะไรที่เกี่ยวกับจิตเลยใช่ไหม “กุศล” เคยกล่าวคำนี้ หรือไม่ ก่อนศึกษาธรรมเคยกล่าวว่า "กุศล" และคำว่า “อกุศล” เคยพูดไหม ไม่ค่อยได้พูดว่าอกุศล หรือ พูดแต่กุศลเท่านั้น หรือ คุณธิดารัตน์บอกว่าพูดแต่บุญกับบาป ก็อาจจะคุ้นหูมากกว่าคำว่ากุศล และอกุศล แต่ก็คือความหมายเดียวกัน "กุศล" หมายถึงสภาพธรรมที่ดีงาม "อกุศล" หมายถึงสภาพธรรมที่ไม่ดีงาม เพราะฉะนั้นจะใช้คำว่า "กุศล" หรือ "บุญ" ก็ได้ หรือจะใช้คำว่า "อกุศล" หรือ "บาป" ก็ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวันเราก็ไม่ใช้คำว่ากุศล ไม่ใช้คำว่าอกุศลก็ได้ แต่เคยเห็นคนทำดีทำชั่วใช่ไหม เพราะฉะนั้นเราก็แปลได้อีกอย่างหนึ่งว่า กุศลก็คือดีงาม อกุศลก็คือไม่ดีไม่งาม หรือจะใช้คำว่าชั่วก็ได้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 135
    17 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ