พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 21


    ตอนที่ ๒๑

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๖


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะมีจิตอีกชาติหนึ่ง ซึ่งจะต่างกับกุศล อกุศล และวิบาก คือชาติกิริยา ถ้าใช้คำว่า "กิริยาจิต" หมายความว่าขณะนั้นไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่วิบากด้วย สำหรับกิริยาจิตต่อไปก็จะทราบได้ว่าเป็นจิตของพระอรหันต์ส่วนใหญ่ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์จะมีกิริยาจิตเพียง ๒ ประเภทเท่านั้นเอง ซึ่งน้อยมากเลยเมื่อเทียบกับอกุศลเท่าไหร่ กุศลเท่าไหร่ แต่ก็ยังมีกริยาจิตที่ไม่ใช่กิริยาจิตประเภทเดียวกับที่เป็นจิตของพระอรหันต์ซึ่งไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ไม่มีกิเลสที่เป็นอนุสัยเลย ดังนั้นขณะนี้ควรทราบว่า ชาติคือการเกิดของจิตจะต้องเกิดขึ้นเป็น ๑ ใน ๔ คือเป็นกุศล เป็นอกุศล เป็นวิบาก หรือเป็นกิริยา


    ผู้ฟัง ฟังเทปท่านอาจารย์ทุกวันก็มีคำถามที่จะถามท่านอาจารย์หลายประการ เมื่อมาถึงที่นี่ก็ลืมหมดเลย

    ท่านอาจารย์ ถามว่า "ลืม" เป็นกุศลจิต หรือ เป็นอกุศลจิต

    ผู้ฟัง เป็นอกุศลจิตใช่ หรือไม่ สงสัยมีมาก

    ท่านอาจารย์ ได้รู้คร่าวๆ แล้วว่า "วิบากจิต" ก็คือ ขณะที่เป็นปฏิสนธิจิตขณะแรก และขณะที่เป็นภวังค์ดำรงภพชาติ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก ขณะที่เป็นภวังค์ดำรงภพชาตินั้นเป็นวิบาก เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตเป็นวิบาก ภวังค์จิตเป็นวิบาก จุติจิตก็เป็นวิบาก แต่ระหว่างที่ยังไม่สิ้นชีวิตวิบากจิตอย่างคร่าวๆ ก็คือกำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังรู้รส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ๕ ทาง ๕ ทวาร เป็นวิบาก เพราะฉะนั้น"ลืม"เป็นจิตชาติอะไร

    ผู้ฟัง เป็นชาติกุศล ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไรถึงกล่าวว่าเป็นกุศล เพราะอยากมีกุศล หรือเลือกเป็นกุศลเพราะอะไร หรือเดาว่าเป็นกุศล ลืมเป็นกุศล หรือ จำอะไรก็ไม่ได้เป็นกุศล หรือ

    ผู้ฟัง ผมคิดว่าเป็นชาติอกุศล ก็เรื่องนี่ลืมเป็นกิจวัตร เมื่อสักครู่นึกคิดได้ว่าจิตกับเจตสิกเกิดพร้อมกันดับพร้อมกัน เช่น โทสเจตสิกที่เกิดขึ้นกับจิต ขณะที่เกิดมีอาการที่ร้อนเร่ามาก ขณะนั้นเมื่อมีสติระลึกรู้ว่าโทสะจิตเกิดขึ้นแล้ว ขณะนั้นก็ยังมีอาการร้อนเร่าอยู่ ขณะนั้นเจตสิกดับไป หรือยัง หรือว่าเกิดขึ้นสืบเนื่องต่อกันเป็นระยะๆ

    ท่านอาจารย์ ธรรมไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงได้เลย เป็นปรมัตถธรรม จิตเกิดจะมี"อนุขณะ" ซึ่งเป็นอายุของจิต คือขณะที่เกิดเป็นอุปาทขณะ ขณะที่ดับเป็นภังคขณะ ระหว่างเกิดกับดับคือขณะที่ยังไม่ได้ดับเป็นฐีติขณะ สั้นมาก แต่จิตไม่ว่าจะเป็นจิตของรูปพรหม จิตของสัตว์เดรัจฉาน จิตของเทวดา หรือจิตของมนุษย์ ชื่อว่าจิต หรือสภาพที่เป็นจิตแล้วอายุเท่ากันหมด คือ ๓ อนุขณะ คือ อุปาท ฐิติ ภังคะเท่านั้น เหมือนกันหมด เพราะว่าจิตขณะนี้เกิดแล้วดับก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดแล้วก็ดับสืบต่อ ไม่มีอะไรที่ยั่งยืน ไม่มีอะไรที่เป็นของใครเพราะว่าเกิดแล้วดับหมดเลยไม่กลับมาอีก

    ผู้ฟัง อาจารย์พอจะอุปมาได้ หรือไม่ ลักษณะขณะที่เกิดขึ้นมา

    ท่านอาจารย์ "เห็น" ขณะนี้ มี หรือไม่

    ผู้ฟัง มีครับ

    ท่านอาจารย์ แล้วจะสามารถรู้การเกิดของ "เห็น" โดยที่ไม่รู้ว่า"เห็น" นี่ไม่ใช่เรา เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ปัญญาต้องอบรมเจริญตามลำดับ ถ้ายังเป็นเราเห็น จะประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรมไม่ได้ เพราะต้องรู้ถึงความเป็นธรรม ประจักษ์ในความเป็นธาตุก่อน

    ผู้ฟัง กิริยาจิต พวกเราส่วนมากก็มีกันทุกคน

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์มีกิริยาจิต ๒ ประเภท ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ปัญจ (คือ๕) ทวารา (ทวาร) วัชชน รำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบทวาร หมายความว่า เวลาที่จิตเป็นภวังค์ ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยินเหล่านี้เลย จะมีการเห็น ก็ต่อเมื่อมีอารมณ์เฉพาะทาง กระทบเฉพาะทวาร เช่น ถ้าเป็นเสียงก็กระทบโสตปสาท จะกระทบตาไม่ได้ เพราะฉะนั้น เวลาที่เสียงกระทบหู จิตได้ยินก็ยังไม่เกิด จิตจะรู้อารมณ์อื่นไม่ได้ยังเป็นภวังค์อยู่ เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะถึงวิถีจิตที่จะมีอารมณ์อื่นได้ก็จะต้องมีภวังค์ แล้วก็มีกิริยาจิตเกิดก่อน ซึ่งต่อไปคงจะทราบ แต่ตอนนี้ให้ทราบว่ามีกิริยาจิต ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์มีกิริยาจิต ๒ ประเภท คือ ก่อนจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จิตคิดนึก หมายความว่าทั้ง ๖ ทวารเป็นทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์เดียวกับภวังคจิต และก่อนที่จิตอื่นใดจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ได้ จิต ๒ ประเภทคือ ประเภทหนึ่งรู้อารมณ์ได้ ๕ อารมณ์ทาง ๕ ทวาร อีกประเภทหนึ่งรู้ได้เฉพาะทางใจ เพราะฉะนั้น ดวงหนึ่ง หรือประเภทหนึ่งก็คือ "ปัญจทวาราวัชชนจิต" รู้อารมณ์ที่กระทบทวารหนึ่งทวารใดใน ๕ ทวารได้ และ "มโนทวาราวัชชนจิต" เป็นกิริยาจิตที่เกิดก่อนกุศลจิต และอกุศลจิตที่คิดนึกทางใจ ตอนนี้คิดจริงๆ ก็ได้ใช่ หรือไม่ คุณสุกิจเมื่อครู่นี้คิดเล่นๆ ที่คุณธีรพันธ์กำลังเขียนกระดาน เป็นจิตชาติอะไร

    อ.ธีรพันธ์ เป็นจิตที่เป็นไปในกุศล

    ท่านอาจารย์ ขณะที่เขียนกระดานมีจิตกี่ชาติ ทีละหนึ่งชาติถูกต้อง เพราะว่าเกิดพร้อมกันไม่ได้ มีชาติอะไรบ้าง

    อ.ธีรพันธ์ มีชาติวิบาก กำลังเขียนเห็นสีคือปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ มีวิบากจิต แล้วมีชาติอะไรอีก

    อ.ธีรพันธ์ ก่อนการเห็น มีปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นมีวิบากจิต มีกิริยาจิต มีกุศลจิต ไม่มีอกุศลจิตเลย หรือ

    อ.ธีรพันธ์ มีครับ อาจจะมีมานะแทรกขึ้นมาเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเร็วมาก การเกิดดับสืบต่อของจิตเร็วมาก การศึกษาธรรมต้องเป็นผู้ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรม ต่อเหตุ ต่อผล ต่อทุกอย่างตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นแม้เพียงชั่วขณะที่เขียน วิบากจิตต้องมี และเวลาก่อนที่จิตเห็นจะเกิดก็ต้องมีกริยาจิต ตามที่คุณเด่นพงศ์ถาม ต้องมีปัญจทวาราวัชชนจิต ขณะกำลังเขียนคุณธีรพันธ์ ก็ต้องมีการคิด มีมโนทวาราวัชชนจิต และมีจิตที่คิดด้วย มีกุศลจิตแน่นอน สงเคราะห์ อนุเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่น แล้วก็มีอกุศลด้วย เร็วมาก

    "เมื่อย"เป็นจิตชาติอะไร

    ผู้ฟัง เป็นวิบาก

    ท่านอาจารย์ เป็นวิบาก ถ้าไม่มีรูป ไม่มีกายปสาทรูป จะไม่มีความรู้สึกเป็นทุกข์ทางกาย เมื่อยนี่คือทุกข์ทางกาย แต่พอเมื่อยแล้วเป็นอกุศลต่อ หรือไม่ เพราะฉะนั้นรวดเร็วมาก ชีวิตวันหนึ่งๆ มีทั้งกุศล อกุศล วิบาก กิริยา เพียงแต่ว่าส่วนใหญ่จะเป็นอะไร ซึ่งแต่ละคนก็เป็นผู้ตรงที่จะรู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นวันหนึ่งๆ กุศลมาก หรือว่าอกุศลมีมาก ถ้าจะกล่าวถึงเรื่องจิตบ่อยๆ ก็คงไม่เบื่อ เพราะว่าจริงๆ แล้วถึงจะมีจิตอยู่ตลอดวัน ตลอดคืน ตลอดชีวิต แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราสามารถที่จะระลึกถึงจิต และก็เข้าใจจิตที่มีอยู่ได้บ่อยๆ เป็นเรื่องที่เราจะต้องฟังซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะเหตุว่า ถ้าเรายิ่งเข้าใจจิตเท่าไหร่ ก็จะทำให้เราไม่ลืมที่จะเข้าใจว่าขณะนี้เองที่กำลังเห็นเป็นจิต

    เพราะฉะนั้นจุดสูงสุดของการฟังพระธรรม ไม่ใช่ให้จำเรื่องราว แต่ให้เข้าใจจริงๆ จนกระทั่งสามารถที่จะรู้ว่าไม่ใช่เราที่กำลังเห็น ไม่ใช่เราที่กำลังได้ยิน ไม่ใช่เราที่กำลังคิดนึก ทุกสิ่งทุกประการตลอดชีวิต เช่น จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ หรือว่าวิจิตรด้วยอารมณ์ ก็เพราะเหตุว่าขณะนี้เองจะไม่รู้เลยว่าทางตาเป็นสภาพธรรมที่วิจิตรเพราะรู้อารมณ์ที่ต่างๆ กัน เราไม่ได้รู้อย่างเดียวใช่ หรือไม่ หรือเสียงที่ได้ยินในขณะนี้ก็มีต่างๆ กันไป เพราะว่าจิตเป็นสภาพที่วิจิตรด้วยอารมณ์ เพราะรู้แจ้งอารมณ์ และเพราะการเกิดดับสืบต่อ ก็เป็นปัจจัยที่กรรม กิเลส สั่งสมวิบาก ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับชาติซึ่งเราได้กล่าวถึงในคราวก่อน ว่า จิตมี ๔ ชาติคือ กุศล๑ อกุศล๑ เป็นเหตุ วิบากเป็นผล และ กิริยาซึ่งไม่ใช่กุศล อกุศล และไม่ใช่วิบาก เพราะฉะนั้นการสั่งสมของจิตจาก ๑ ขณะไปอีก ๑ ขณะ ก็จะเห็นได้ว่าไปสั่งสมจิตของคนอื่นไม่ได้เลย ต้องเป็นการสั่งสมของจิตที่ได้เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง เมื่อถึงกาลที่จะสั่งสมเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ก็ไม่หายไปไหนเลย ทำให้กุศลแต่ละขณะที่เกิด หรืออกุศลแต่ละขณะก็สะสมเป็นอุปนิสัยที่ทำให้แต่ละคนต่างกันไปตามการสะสม

    ผู้ฟัง ในฐานะผู้ฟัง จะต้องมีความเข้าใจตามที่ท่านอาจารย์ได้ช่วยกรุณาเพิ่มเติมนี้ ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ คือเรื่องราวทั้งหลายจะไม่ติดตามเราไปในภาษาที่เราได้ยิน แต่ความเข้าใจธรรมจะติดตามเราไปได้ ทันทีที่เราจะได้ยินคำพูดที่เกี่ยวกับจิตไม่ว่าในภาษาใด แต่ความที่เราเคยเข้าใจมาแล้วก็จะทำให้เราสามารถเข้าใจได้ว่าจิตเป็นนามธรรมล้วนๆ เลย มืดสนิทไม่มีอะไรแล้วก็กำลังเป็นธาตุรู้ที่กำลังเห็น หรือได้ยิน ซึ่งจะถึงความเข้าใจถูกต้องว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล นี่คือจุดประสงค์ของการศึกษาธรรม

    ผู้ฟัง ถามคุณรุ่งอรุณว่า จิตของคนอื่นจะไปเกิดในตัวคุณรุ่งอรุณ ได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้ค่ะ

    ผู้ฟัง วันข้างหน้า คุณรุ่งอรุณ มีครอบครัว มีบุตร จะมีจิตคนอื่นเข้าไปเกิด ได้ หรือไม่ แต่ไม่เกี่ยวข้องกัน

    ผู้ฟัง เป็นแหล่งที่จะให้จิตอีกจิตหนึ่งมาจุติได้ แต่จิตมีลักษณะที่แยกจากกันโดยเด็ดขาด ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เมื่อกล่าวถึงบัญญัติ มีคน แล้วก็มีครรภ์ แต่ว่าสภาพของจิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ รู้อารมณ์ทีละหนึ่งอย่าง ทีละ ๑ ขณะ เพราะฉะนั้นต้องไม่ลืมว่าในขณะที่เห็นต้องไม่มีอะไรเลย แต่ว่าขณะนี้เห็นแล้วก็ยังมีหลายๆ อย่าง เพราะเหตุว่าจิตเกิดดับสืบต่อเร็วมาก เห็นแล้วก็ยังคงเป็นคุณจำนง คงเป็นสุกิจ เป็นคุณแก้วตา ก็เพราะเหตุว่า จิตเกิดดับสลับเร็วมาก ไม่ใช่ให้ไปยับยั้ง ไม่ใช่ให้ไปเปลี่ยน หรือไม่ใช่ให้ไปพยายามจงใจไม่ให้ปรากฏ แต่ความเข้าใจคือปัญญาที่จะรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างหนึ่งจริงๆ เป็นเพียงรูปธรรม แล้วอาศัยความทรงจำก็เป็นเรื่องราวที่มีคนมีสัตว์ในโลกของเรา ในความคิดของเราไม่เสื่อมคลายเลย แต่ทั้งหมดก็คือว่าต้องแยกลักษณะของรูปธรรมที่มีจริงๆ กับความทรงจำในเรื่องราวของคนนั้น เพราะฉะนั้น ที่มีคนกับมีครรภ์เป็นเรื่องราว แต่ถ้าเป็น ๑ ขณะจิต ก็แสดงให้เห็นว่าขณะนั้นต้องไม่มีอะไรเลย ขณะที่จิตเห็นยังไม่ต้องนึกถึงแขน ขา ฟัน สมอง หรืออะไรเลยทั้งสิ้น มีสิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้นจริงๆ เราถึงจะเข้าถึงอรรถของคำว่า “อนัตตา” ได้ ไม่ใช่อัตตาเลย แต่เพราะความไม่รู้ สักกายทิฏฐิ การรวมกันของสภาพธรรมที่เกิดดับอย่างเร็วก็ทำให้มีความสำคัญว่ากายที่ประชุมรวมกันเป็นของเรา เป็นสักกายทิฏฐิ มีความเห็นว่าในสิ่งที่ประชุมรวมกันว่าเป็นเรา เป็นคุณรุ่งอรุณ เป็นครรภ์ของคุณรุ่งอรุณ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีครรภ์เลย ก็คิดไปจนกระทั่งถึงว่าคุณรุ่งอรุณมีครรภ์ และก็มีจิตที่อยู่ในครรภ์ของคุณรุ่งอรุณ นี่ก็เป็นเรื่องราวทั้งหมด แต่ที่จะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตนจริงๆ จากผู้ที่ทรงบำเพ็ญบารมี ทรงตรัสรู้ ต้องเป็นความจริงที่เปลี่ยนไม่ได้เลย และมีผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งดับกิเลสเป็นพระอริยบุคคลตามลำดับขั้นถึงความเป็นพระอรหันต์ แม้แต่พระโสดาบันก็ต้องเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าไม่เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงจะเป็นปัญญาที่ดับกิเลสไม่ได้ อย่างไรก็ดับกิเลสไม่ได้เลย เพราะเหตุว่ามีสภาพธรรมปรากฏ แล้วไม่รู้ตามความเป็นจริงของสิ่งนั้น

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่ฟังก็ต้องไม่ลืมถึงความเป็นอนัตตา แม้ว่าขณะนี้สภาพธรรมไม่ได้ปรากฏเพียงทีละอย่าง เกิดดับสืบต่อเร็วมาก แต่ต้องเข้าใจถูกต้องว่าตามความเป็นจริงก็คือต้องเป็นอย่างนี้ จึงจะเข้าถึงความเป็นอนัตตาได้ เพราะฉะนั้นถ้าโดยปรมัตถธรรมก็คือขณะใดที่จิตใดเกิดขึ้น ก็ต้องมีรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตนั้นในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ไม่ต้องเรียกว่าครรภ์ ไม่ต้องเรียกว่าอะไรเลย แต่ขณะนั้นก็มีรูปซึ่งเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานพร้อมปฏิสนธิจิต และเป็นที่เกิดของจิต ซึ่งเรื่องของจิตก็เป็นเรื่องที่ละเอียด แล้วก็เป็นอย่างนี้มานานแสนนาน แต่ไม่รู้ จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม และค่อยๆ เข้าใจขึ้นตั้งแต่ขั้นของการฟัง

    อ.ธิดารัตน์ ท่านอาจารย์ ในพระสูตรก็มีอุปมาว่า รูปนี่เหมือนกับฟองน้ำใหญ่ แล้วก็เป็นที่อาศัยของหมู่หนอน ๘๐ ชนิด แสดงว่ารูปร่างกายของเราก็มีสิ่งมีชีวิตอื่นอาศัยอยู่มากมาย แล้วหนอนแต่ละตัวก็มีขันธ์ ๕ ครบ ก็คงจะมากไปหมด

    ท่านอาจารย์ ก็คงไม่ใช่แต่รูปในครรภ์ ตอนนี้ก็เต็มตัวเลย เพราะว่าเหมือนฟองน้ำเพราะเหตุว่ามีอากาศธาตุแทรกคั่นละเอียดมาก พระไตรปิฎกทั้งหมดควรแก่การที่จะอ่านประกอบด้วย เพื่อความเข้าใจ และความเข้าใจที่เป็นพื้นจริงๆ จะไม่พ้นจากพื้นฐานพระอภิธรรม คือ ถ้ามีความรู้ความเข้าใจในปรมัตถธรรม ๔ หรือปรมัตถธรรม ๓ ที่มีจริงๆ ให้พิสูจน์ได้ก็สามารถที่จะทำให้เราเข้าใจข้อความอื่นๆ ในพระไตรปิฎกได้ถูกต้อง แต่ถ้าเราไม่ได้เข้าใจปรมัตถธรรมจริงๆ เวลาอ่านพระไตรปิฎกจะสับสน แล้วก็จะเกิดการเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ ซึ่งทุกคนควรจะทราบว่าการศึกษาต้องเป็นความรู้ความเข้าใจของเราเอง ซึ่งค่อยๆ เกิดขึ้นเพิ่มขึ้นตามลำดับอย่างถูกต้องจริงๆ

    ผู้ฟัง สิ่งที่กำลังปรากฏ สติ หรือปัญญาไม่เกิด ก็เพราะว่าเราไม่ได้ระลึกที่สติ ระลึกที่ลักขณาธิจตุกะ ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้ากล่าวถึงลักขณาธิจตุกะ มีลักษณะเป็นต้น มีรสะ คือกิจ มีอาการที่ปรากฏ มีเหตุใกล้ให้เกิดของสภาพธรรมไม่ว่าจะเป็นปรมัตถธรรมอะไร แต่ว่าจริงๆ แล้วเราสามารถจะรู้อะไรได้ เราสามารถจะรู้เหตุใกล้ให้เกิดได้ หรือไม่ เราสามารถจะรู้อาการเกิดดับสืบต่อที่ปรากฏได้ หรือไม่ เราสามารถจะรู้กิจได้ หรือไม่ ทั้งๆ ที่เราฟังเข้าใจว่า จิตมีลักษณะที่รู้แจ้งอารมณ์ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่เรากำลังศึกษาพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และผู้ที่เป็นพระอริยสาวกก็สืบทอดความเข้าใจสืบต่อกันมา เพราะฉะนั้น เวลานี้เดี๋ยวนี้เรากำลังฟังเรื่องของจิต แต่ว่าลักษณะของจิตจริงๆ แม้ว่าเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ เราก็ได้ยินนับครั้งไม่ถ้วนจนกว่าจะเริ่มที่จะเข้าใจเดี๋ยวนี้ว่าสภาพรู้ขณะนี้มี จึงมีสิ่งที่ปรากฏ อย่างนี้ก็ยังเข้าใจยากใช่ หรือไม่ แต่เป็นการเริ่มต้นของสติระดับหนึ่ง ซึ่งถ้าจะใช้คำก็คือ "สติปัฏฐาน" หรือ "สติสัมปชัญญะ" ระดับที่กำลังรู้ความเป็นจริงของจิตเห็นว่ามีจริงๆ แล้วก็เป็นสภาพซึ่งไม่มีรูปร่างเลย แล้วพอได้ยินก็มีสภาพของจิตซึ่งมีจริงไม่มีรูปร่างแต่กำลังได้ยิน เพราะฉะนั้น จะรู้จิตได้ก็ต่อเมื่อระลึกได้ว่าขณะนี้มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตาที่กำลังปรากฏขณะนี้ ก็เริ่มที่จะเข้าใจแต่ว่าเล็กน้อยมาก เพราะว่าเพียงการฟัง เราก็ฟัง แต่ก็ยังไม่เข้าถึงธาตุที่เกิดขึ้นเห็น และก็ดับไป หรือว่าธาตุที่เกิดขึ้นได้ยินแล้วก็ดับไป แต่รู้ว่าวันหนึ่งสิ่งที่มีจริงจะปรากฏจริงๆ แต่ต้องปรากฏกับปัญญาที่อบรมแล้ว ตั้งแต่ขั้นการฟัง โดยไม่ถูกล่อลวงด้วยโลภะ เพราะว่าโลภะจะเข้ามาเร็วมาก เพียงแค่นี้ แล้วเมื่อไหร่เราจะรู้ "แล้วเมื่อไหร่" ขณะนั้นไม่ได้เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏจริงๆ มีลักษณะที่สั้นมาก เล็กน้อยมาก ถ้าขณะใดไม่มีการระลึกตรงทันที ขณะนั้นก็คือสิ่งนั้นดับแล้ว

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าเราชินกับความคิดนึกเรื่องต่างๆ มากมาย คิดแม้แต่ว่าเมื่อไหร่จะรู้ลักษณะของจิต นี่ก็คือคิด อย่างนี้จะไม่มีการรู้ลักษณะของจิตเลย เพราะว่าขณะที่คิดนั้นจิตเป็นสภาพที่กำลังคิดคำว่าเมื่อ-ไหร่-จะ-รู้-ลักษณะ-ของ-จิต เพราะฉะนั้นทั้งหมดไม่พ้นไปจากจิตเลย ไม่ว่าอะไรก็ตาม จะเป็นคำ จะเป็นเรื่อง จะเป็นเสียง จะเป็นสิ่ง ก็คือว่าเป็นสภาพที่จิตกำลังรู้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นการฟังจะอุปการะไม่ให้เราใจร้อน และก็มีการที่ระลึกเมื่อใด คือเข้าใจเมื่อใด ทีละเล็กทีละน้อยว่าขณะนี้มีสิ่งนี้ปรากฏแล้ว สภาพรู้คือกำลังเห็น ยากใช่ไหม ยาก แต่เริ่มต้นได้ ถ้ามีปัจจัย

    ผู้ฟัง ที่ผมพร่ำกล่าวอยู่ อาจารย์กล่าวว่าไม่รู้ ไม่รู้ว่าไม่รู้ ก็คือตรงนี้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะต้องฟังมากจนค่อยๆ รู้ขึ้น คือชาติหนึ่งชาติใดที่เกิด มีโอกาสได้ยินได้ฟังพระธรรม ชาตินั้นก็เป็นชาติที่จะได้สะสมความเข้าใจที่ค่อยๆ มั่นคงขึ้นเพราะว่าเป็นอนัตตา จะไม่เป็นไปอย่างที่เราต้องการเลย ต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

    ผู้ฟัง ความเข้าใจก็คือจากการเรียนเท่านั้น หรือจากการฟังเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดเลย จากการสนทนาก็ได้เรื่องของสิ่งที่มีจริงๆ

    ผู้ฟัง เร็วมากๆ สติสัมปชัญญะที่จะไประลึก ไม่เกิดเลย

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจว่ายังไม่มีเหตุปัจจัยที่จะเป็นอย่างนั้น แต่มีเหตุปัจจัยอื่นที่จะเป็นอย่างอื่น

    ขณะนี้ ใครมีจิตไม่ครบ ๔ ชาติบ้าง เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงชาติของปรมัตถธรรม ชาติของจิต และเจตสิก มีลักษณะที่ต่างกันเป็น ๔ อย่าง ไม่พ้นจาก ๔ อย่างเลย ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ที่ไหน อย่างไรก็ตามแต่ จิตเกิดขึ้นเป็นกุศล ดีงาม จิตเกิดขึ้นเป็นอกุศล ทั้งสองอย่างนี้เป็นเหตุ ต้องมีผลคือจิตเกิดขึ้นเป็นวิบาก ต้นไม้ที่อยู่ข้างนอกเป็นวิบากใช่ หรือไม่ ไม่ใช่ เมื่อตัวเหตุคือจิตก็ต้องเป็นจิตนั่นแหล่ะซึ่งเป็นสภาพรู้จะต้องรับผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้นจิตที่รับผลของกรรมจะเปลี่ยนชาติไม่ได้เลย แล้วก็ไม่ได้เป็นของชาติที่เรากล่าว ชาติไทย ชาติจีน ชาติญี่ปุ่น ชาติอะไรเลย แต่ต้องเป็นวิบาก จิตเป็นกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลวิบากจิต จิตเป็นอกุศล กรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลวิบากจิต เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่ใครจะเข้าใจถูกต้องว่าขณะนี้เป็นผลของกรรม เช่น เห็นเป็นผลของกรรม ได้ยินเป็นผลของกรรม เลือกได้ หรือไม่ ว่าจะเห็นอะไร เลือกที่จะได้ยินได้ หรือไม่ ไม่ได้ เพราะเหตุว่าแล้วแต่กัมมปัจจัย คือกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นเหตุทำให้จิตที่เป็นวิบากคือเป็นผลเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงวิบากให้ทราบว่า หมายความถึงจิต แต่จิตอีกประเภทหนึ่งไม่ใช่จิตที่เป็นเหตุ แต่เป็นจิตที่เป็นผลของเหตุที่ได้กระทำแล้ว

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 135
    17 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ