พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 23
ตอนที่ ๒๓
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๖
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ความต่างไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ ถ้ามีพระอรหันต์รูปหนึ่ง อยู่ในห้องนี้ท่ามกลางผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ทั้งหลาย เวลาที่ท่านเห็น กับคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์เห็น จิตเห็นเหมือนกัน เป็นวิบากจิตคือเป็นผลของกรรม แต่หลังจากนั้นแล้ว จิตที่เกิดสืบต่อเป็นกุศล หรืออกุศล สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์จะเป็นกิริยาจิตอย่างพระอรหันต์ไม่ได้เลย แต่พระอรหันต์จะเป็นกุศล หรืออกุศลเหมือนคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็ไม่ได้ ต้องเป็นกิริยาจิต
เพราะฉะนั้น พระอรหันต์จะมีจิตกี่ชาติ ชาติทั้งหมดมี ๔ ชาติ กุศล ๑ อกุศล ๑ วิบาก ๑ กิริยา ๑ กุศล และอกุศลเป็นเหตุ ถ้าตราบใดยังเป็นกุศลต้องเป็นเหตุให้เกิดกุศลวิบากข้างหน้า ถ้ายังมีอกุศลจิตเกิด ซึ่งเป็นอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็จะเป็นปัจจัยให้อกุศลวิบากจิตเกิดข้างหน้า
สำหรับพระอรหันต์จะมีจิตกี่ชาติ
ผู้ฟัง มี ๒ ชาติ คือ วิบากจิตกับกิริยาจิต
ท่านอาจารย์ มี ๒ ชาติ คือ วิบากจิตกับกิริยาจิตไม่ต้องท่องเลย แต่ว่าเป็นสิ่งที่เป็นชีวิตประจำวัน และเป็นสิ่งที่สำคัญมากด้วย ถ้าเราไม่รู้เรื่องชาติของจิต เราก็ไม่สามารถจะรู้ได้ว่าขณะไหนเป็นเหตุที่จะให้เกิดผล และขณะไหนเป็นผลที่มีเหตุในอดีตที่ได้กระทำแล้ว
เพราะฉะนั้น เรื่องชาติของจิตเป็นเรื่องสำคัญ จิตทุกประเภทที่เกิดขึ้นต้องเป็นชาติหนึ่งชาติใดใน ๔ ชาติ จิตที่กำลังเห็นขณะนี้ เป็นชาติอะไร เฉพาะจิตเห็น เป็นชาติวิบาก ก่อนจิตเห็นเป็นจิตอะไร ขณะใดที่ไม่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเลย ไม่คิดนึก ไม่ฝัน ไม่อะไรทั้งหมด ถ้าจิตเกิดขึ้นขณะนั้นจะต้องทำภวังคกิจ ถ้าไม่เกิดจะเป็นอย่างไร
ผู้ฟัง เป็นพระอรหันต์
ท่านอาจารย์ เมื่อปรินิพพานแล้วไม่มีการเกิดอีกเลย แต่เป็นไปได้สำหรับขณะที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ เวลานี้มีจิตเห็น ก่อนจิตเห็นเป็นปัญจทวาราวัชชนจิต ก่อนปัญจทวาราวชนจิตต้องมีจิตเกิด ไม่ใช่ว่างไปเลย โดยไม่มีจิตเกิดเลย และจิตที่เกิดนั้นเป็นภวังค์ ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ ยังไม่จุติ ยังไม่จากโลกนี้ไป ต้องมีภวังคจิตเกิดก่อนเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ภวังคจิตเป็นชาติอะไร เป็นชาติวิบาก จิตที่เกิดก่อนภวังคจิตมีไหม ตอบได้ ๒ อย่าง ก็คือ ก่อนภวังคจิต ก็คือภวังคจิตที่เกิดก่อนก็ได้ และก่อนจริงๆ ก็คือปฏิสนธิจิต ถ้าไม่มีปฏิสนธิจิตเลย ภวังคจิตเกิดไม่ได้
เพราะฉะนั้น ชีวิตตั้งต้นด้วยจิตขณะแรกคือปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมหนึ่งซึ่งได้กระทำแล้ว
ชาติหน้าใกล้เข้ามาทุกที ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้เลย ว่ากรรมไหนจะเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิด แต่ชาตินี้รู้แน่ว่ากรรมหนึ่งได้กระทำให้เกิดเป็นบุคคลนี้ ไม่เป็นบุคคลอื่น แต่หลังจากเป็นบุคคลนี้แล้ว ก็จะต้องเป็นบุคคลอื่น และถึงแม้ว่าชาติหน้าเกิดแล้วก็ต้องตายอีก ก็ต้องเป็นบุคคลอื่นต่อไปอีก แต่ทั้งหมดนี้ก็คือสภาวธรรมซึ่งเป็นจิต เจตสิก รูป และสำหรับจิตมี ๔ ชาติ จิตที่เป็นวิบากเป็นผลของกรรม จิตที่เป็นกุศล และอกุศลเป็นเหตุ และกิริยาจิตก็ไม่ใช่ทั้งกุศล และอกุศล และวิบาก จะเลือกให้จิตขณะนี้เป็นอะไรได้ไหม ไม่ได้เลย ต้องเกิดดับสืบต่อตามลำดับด้วย
ผู้ฟัง ปัญจทวาราวัชชนจิตทำหน้าที่รู้อารมณ์กระทบกับปัญจทวารหนึ่งทวารใด ซึ่งเปรียบเสมือนแขกที่มาอยู่หน้าบ้าน เราทราบว่าแขกมาอยู่หน้าบ้านแต่ยังไม่เปิดให้แขกเข้ามา แขกเปรียบเสมือนกุศล และอกุศล เราสามารถเลือกแขกได้ไหม เหมือนเราคบกัลยาณมิตร
ท่านอาจารย์ ก็เป็นเราไปหมดเลย ทั้งๆ ที่การศึกษา หรือการฟังพระธรรมเพื่อให้เข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรม คำว่า “ธรรม” หมายถึงสิ่งที่มีจริง ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เลือกไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ แต่สามารถจะฟัง และพิจารณาจนค่อยๆ เข้าใจขึ้นได้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา
เมื่อคืนนี้ทุกคนก็นอนหลับดีไหม เวลาที่กำลังหลับ เห็น หรือไม่ คิดนึก หรือไม่ หลับสนิท ขณะนั้นยังไม่ตาย แต่จิตกิดดับสืบต่อไม่มีใครยับยั้งได้ แสดงให้เห็นว่าทั้งหมดไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงได้เลย กำลังหลับสนิท จิตก็เกิดดับดำรงภพชาติ เป็นจิตชาติอะไร ชาติของจิตขณะที่กำลังหลับสนิทซึ่งเกิดดับ จิตที่เกิดดับสืบต่อขณะที่ไม่เห็นไม่ได้ยินเป็นชาติอะไร เป็นชาติวิบาก ถ้าใช้คำว่าในขณะที่หลับสนิทแทนที่จะกล่าวว่าขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก จะกล่าวว่าขณะนั้นหลับสนิทได้ หรือไม่ ขณะที่กำลังหลับสนิท ไม่เพียงแต่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ยังไม่ฝันด้วย ขณะนั้นเป็นวิบาก ไม่ให้วิบากจิตเกิดได้ หรือไม่ ให้เป็นจุติจิตเกิดได้ หรือไม่ ไม่ได้ วิบากจะต้องเกิดตามกำลังของวิบากก่อนที่จะตื่น
ขณะที่ฝันเห็นอะไรจริงๆ หรือไม่ แต่เหมือนเห็น ได้ยินอะไรจริงๆ หรือไม่ แต่เหมือนได้ยิน เหตุใดจึงว่าเหมือน เพราะเสียงไม่ได้กระทบกับหู ก็เหมือนเดี๋ยวนี้ที่กำลังได้ยินเสียง มีเสียงกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นในขณะที่ฝันจะเหมือนเห็น เหมือนได้ยิน แล้วก็อาจจะฝันเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ตกใจได้ หรือไม่ในขณะที่ฝัน เพราะฉะนั้นให้ทราบว่าในขณะที่ฝัน ไม่ใช่ขณะที่มีสภาพธรรมกระทบปสาทแล้วปรากฏจริงๆ อย่างในขณะนี้ แต่ฝันไม่ใช่วิบากจิต ไม่ใช่ภวังคจิต เพราะเหตุว่าถ้าเป็นภวังคจิตหมายความว่าขณะนั้นไม่รู้อารมณ์ใดๆ ทั้ง ๖ ทาง ทางตาไม่เห็น ทางหูไม่ได้ยิน ทางจมูกไม่ได้กลิ่น ทางลิ้นไม่ลิ้มรส ทางกายไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางใจก็ไม่ได้คิดนึก ไม่ฝันใดๆ ทั้งสิ้น ขณะนั้นก็เป็นชาติวิบากซึ่งบังคับไม่ได้ว่าจะให้ตื่นเมื่อไหร่ จะให้รู้อารมณ์ทางไหน
คนที่ป่วยไข้เวลาที่นอนหลับสนิท เจ็บไหม คนที่เป็นโรคร้ายแรง กลางวันก็ทั้งเจ็บทั้งปวดสารพัด แต่เวลานอนหลับสนิทปวดเจ็บไหม ไม่ปวดเจ็บเพราะไม่ใช่จิตที่รู้สิ่งที่กระทบกาย แต่ขณะนั้นจะต้องมีจิตที่เกิดดับดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นไว้จนกว่าจะจุติ ยังตายไม่ได้ ไม่ว่าจะป่วยเจ็บ หรือไม่ป่วยไม่เจ็บอย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับว่าขณะนั้นจุติจิตไม่ได้เกิด เพราะฉะนั้น ขณะที่นอนหลับสนิท ความต่างของคนเป็นกับคนตายก็คือว่า สำหรับคนที่ตายไม่เห็น ไม่ได้ยินอะไรทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่มีจิตใดๆ เกิดในซากศพนั้นเลย แต่สำหรับคนเป็น ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก แต่ไม่ตาย เพราะฉะนั้นก็มีจิตที่เกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติทำภวังคกิจ
ต่อไปจะทราบว่า จิตทุกชนิดจะเกิดขึ้นทำกิจการงาน เราคิดว่าเราทำ แต่ความจริงไม่ใช่เลย จิตแต่ละชนิดทำกิจของจิตซึ่งใครก็จะไปเปลี่ยนแปลงหน้าที่ของจิตแต่ละอย่างให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้น ในขณะที่เป็นภวังคจิตทำภวังคกิจ มีเรา หรือไม่ รู้สึกว่าเป็นเรา หรือไม่ ไม่มีความรู้สึกใดๆ เลย ไม่มีเห็น ไม่มีได้ยิน ขณะที่จะฝันเลือกได้ไหมว่า คืนนี้จะไม่ฝัน นี่คือความเป็นอนัตตา แม้แต่คิดระหว่างที่ยังไม่ฝันก็เลือกไม่ได้ เวลาที่นอนหลับสนิทอยากฝันเรื่องสนุกๆ ก็ไม่ฝัน อาจจะฝันเรื่องที่น่าตกใจ น่ากลัวก็ได้ นี่คือความเป็นอนัตตา แต่ให้ทราบว่าฝันไม่ใช่ภวังค์ เพราะว่าภวังค์ไม่รู้อะไรเลย ไม่มีอะไรปรากฏเลย ชื่ออะไร อยู่ที่ไหน มีญาติพี่น้อง มีบ้านช่องอยู่ที่ไหนไม่รู้เลยขณะที่เป็นภวังค์ แต่ขณะที่ฝัน ฝันด้วยกุศลจิต หรืออกุศลจิต เพราะเหตุว่าพระอรหันต์ไม่ฝัน เพราะฉะนั้น ผู้ที่ฝันขณะที่กำลังฝันต้องเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต ทุกคนคิดแต่ไม่รู้ว่าขณะที่คิดเป็นกุศลจิตที่คิด หรือเป็นอกุศลจิตที่คิด คิดสงสารเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต คิดไม่ชอบ โกรธ เป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าฝันทั้งหมดต้องเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต แต่ก่อนฝันกำลังเป็นภวังค์ จะเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิตทันทีไม่ได้ จิตที่จะเปลี่ยนจากชาติหนึ่งไปสู่อีกชาติหนึ่ง หรือจะเปลี่ยนจากอารมณ์หนึ่ง คือ สิ่งที่จิตกำลังรู้ไปสู่อีกอารมณ์หนึ่งโดยไม่มีจิตอื่นคั่นเลยนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ระหว่างที่กำลังเป็นภวังค์อยู่ตลอดเวลา แล้วก็จะเกิดฝันขึ้น ขณะนั้นต้องมีกิริยาจิต ซึ่งไม่ใช่ชาติวิบาก และไม่ใช่กุศล และอกุศล แต่เป็นจิตที่นึก หรือคิดถึงอารมณ์ทางใจ เพราะขณะนั้นไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเลย เพราะฉะนั้นเวลาฝันไม่ใช่ภวังคจิต ต้องมีจิตแรกที่เกิดต่อจากภวังคจิต เพราะว่าจิตจะรู้อารมณ์ได้ ๖ ทาง คือ ทางตา๑ ทางหู ๑ ทางจมูก ๑ ทางลิ้น ๑ ทางกาย ๑ ทางใจ ๑ จิตที่รู้อารมณ์ได้ ๕ อารมณ์ ต่อจากภวังค์เป็นวิถีจิตแรก เพราะเราทราบแล้วว่า "ภวังคจิต" หมายความถึงจิตที่เกิดโดยไม่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และก็มีอารมณ์ ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของโลกนี้ เพราะว่าการที่จะรู้อารมณ์ของโลกนี้ต้องอาศัยทางหนึ่งทางใด คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น หรือกาย หรือใจ
แต่ก็มีจิต ๓ ขณะซึ่งไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลย คือปฏิสนธิจิต ๑ ขณะ ภวังคจิต ๑ ขณะ จุติจิต ๑ ขณะ ทั้ง ๓ ขณะนี้ไม่ใช่วิถีจิต นอกจากนั้นเป็นวิถีจิตทั้งหมด เพราะต้องอาศัยทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง "การเห็น" เป็นวิถีจิตต้องอาศัยตา "การได้ยิน" เป็นวิถีจิตต้องอาศัยหู
เพราะฉะนั้น วิถีจิตแรกต้องเป็นอาวัชชนจิต ถ้าเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ต้องเป็น "ปัญจทวาราวัชชนจิต" เรียกชื่อรวม แต่ถ้าเป็นทางใจก็เป็นกิริยาจิตอีกหนึ่งประเภทคือ "มโนทวาราวัชชนจิต" ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์จึงมีกิริยาจิต ๒ ประเภท คือมี ปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเกิดก่อนจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และมโนทวาราวัชชนจิต หลังจากที่ภวังคจิตดับแล้ว และจะรู้อารมณ์อื่นซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ ถ้าเป็นทางใจ เช่น คิดนึก หรือ ฝัน ก็จะต้องมีจิตขณะแรกที่เกิดชื่อว่า “มโนทวาราวัชชนจิต” เกิดก่อน หลังจากนั้นก็เป็นกุศล หรืออกุศลที่ฝัน แต่กุศล และอกุศล ท่านคงจะไม่ทราบว่า สั้นมาก เพียงชั่ว ๗ ขณะจิต ก็เป็นภวังค์อีกแล้ว แล้ววิถีจิตก็เกิดขึ้น โดยจะต้องเป็นวิถีจิตแรก คือ ไม่ว่าจะเป็นทางปัญจทวาร หรือมโนทวาร ก็จะต้องเป็นกิริยาจิตซึ่งเกิดต่อจากวิถีจิต
เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังฝันเรื่องยาวให้ทราบว่ามีจิตที่คิดนึกเรื่องที่ฝัน และกุศลจิต และอกุศลจิตก็เป็นไปในสิ่งนั้น ๗ ขณะ แล้วก็เป็นภวังค์ และก็นึกอีกเป็นเรื่องต่อไปเหมือนขณะนี้เลย แล้วก็เป็นภวังค์อีก ๗ ขณะๆ เแต่ปรากฏเหมือนเรื่องยาว หรือไม่ปรากฏลักษณะของภวังคจิตเลย เหมือนขณะนี้เหมือนนั่งอยู่ แล้วก็เห็นตลอดเวลา
แต่ให้ทราบว่า เมื่อเห็นแล้วต้องเป็นกุศล หรืออกุศล กล่าวย่อๆ ไม่กล่าวถึงว่าจะต้องมีจิตชาติอื่นด้วย หลังจากที่เห็นแล้วก็เป็นกุศล หรืออกุศลสั้นมากในขณะนี้ ๗ ขณะแล้วก็เป็นภวังค์ และก็เห็นอีก ซ้ำไปซ้ำมาจนกระทั่งความรวดเร็วไม่รู้เลยว่ามีภวังคจิตคั่น นี่คือประโยชน์ของการที่จะศึกษาให้เข้าถึงความเป็นอนัตตา ให้รู้จริงๆ ว่าเป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป ซึ่งเกิดขึ้นทำกิจการงาน แล้วแต่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือว่าไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ผู้ฟัง ในขณะที่หลับสนิท จักขุวิญญาณ จนถึงกายวิญญาณไม่เกิด ใช่ หรือไม่
ท่านอาจารย์ ขณะใดที่ไม่เห็น ก็ไม่ใช่จักขุทวารวิถี หมายความว่าจิตไม่ได้เห็น ไม่ได้รู้อารมณ์ที่ปรากฏทางตา เพราะว่าไม่ได้อาศัยตา การที่จะรู้อะไรปรากฏทางตาต้องมีตาที่สามารถกระทบสิ่งนั้น
ผู้ฟัง ขณะที่เราหลับตา จักขุวิญญาณเกิดขึ้นได้ หรือไม่
ท่านอาจารย์ ขณะที่หลับตา มีการเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือไม่
ผู้ฟัง มีการเห็นสี
ท่านอาจารย์ ขณะที่มีการเห็นสี ขณะนั้นจริง หรือไม่ คือธรรมเป็นสิ่งที่ตรงมากเลย บิดเบือนไม่ได้ ถ้าขณะนี้หลับตา มีแสงสว่าง หรือมีสีปรากฏ หรือไม่
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ มี หมายความว่าต้องมีจิตเห็น ถ้าไม่มีจิตเห็นสิ่งนั้นปรากฏไม่ได้ ถูกต้อง หรือไม่
ผู้ฟัง ถูกต้อง
ท่านอาจารย์ นั่นคือคำตอบ
ผู้ฟัง เวลาหลับสนิทเราทราบได้อย่างไรว่าจักขุวิญญาณไม่เกิด กายวิญญาณไม่เกิด โสตวิญญาณไม่เกิด
ท่านอาจารย์ ถ้าใช้คำว่าหลับสนิท ให้เข้าใจความหมายว่า ไม่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดเลย แต่ว่าขณะนี้ที่สีจางๆ ปรากฏเวลาที่หลับตาก็เพราะเหตุว่า มีจิตเห็น เพราะฉะนั้นเรารู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่หลับสนิท ถ้าหลับสนิทต้องไม่มีอะไรปรากฏเลยทั้งสิ้น โลกทั้งโลก เรื่องราวทั้งหมด ทั้งวันไปทำอะไรมาบ้าง สนุกสนานอย่างไร เมื่อถึงเวลาที่หลับสนิทไม่มีอะไรเหลือเลย ไม่มีความคิดด้วย ไม่มีความฝันด้วย ไม่มีการเป็นบุคคลหนึ่งบุคคลใดด้วย เวลาที่เราใช้คำว่า "หลับสนิท" หมายความว่า ขณะนั้นไม่มีการเห็นใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีเสียงใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีการรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเลย จึงเป็นหลับสนิท
ผู้ฟัง สมมติว่าจักขุวิญญาณ ทั้งหมด เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย
ท่านอาจารย์ เมื่อไหร่
ผู้ฟัง ขณะหลับสนิท
ท่านอาจารย์ ไม่ได้เลย นี่คือเราศึกษาเรื่องจากความคิดของเรา แต่ว่าจากความเป็นจริง จิตขณะหนึ่งเกิดดับเร็วมาก และจำแนกออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือเป็นวิถีจิต หรือไม่ใช่วิถีจิต ประเภทใหญ่จริงๆ ของจิตจะมี ๒ อย่างคือ จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต กับจิตที่เป็นวิถีจิต "จิตที่ไม่ใช่วิถี" หมายความว่า ไม่ได้อาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่น ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ และปฏิสนธิจึงเป็นการหลับสนิท เพราะเหตุว่า ขณะที่หลับสนิทขณะนั้นมีจิต หรือไม่ มี ถ้ามีจิตต้องมีอารมณ์ หรือไม่ เมื่อจิตเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ อารมณ์ของจิตขณะที่หลับสนิทปรากฏ หรือไม่
ผู้ฟัง อารมณ์ต้องปรากฏ
ท่านอาจารย์ ถ้าอารมณ์ปรากฏ แปลว่า ไม่ใช่ภวังคจิต ผู้ถามเคยหลับสนิท หรือไม่
ผู้ฟัง เคยหลับสนิท
ท่านอาจารย์ ขณะที่หลับสนิทไม่ใช่ขณะเห็น ขณะได้ยิน ไม่ใช่ขณะฝัน
ผู้ฟัง ใช่ เป็นอย่างนั้นจริงๆ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะที่หลับสนิท หมายความว่า ขณะนั้นไม่ใช่วิถีจิต มีจิตจริง รู้อารมณ์จริง แต่ไม่ใช่วิถีจิต ไม่ได้อาศัยตาเห็น ไม่ได้อาศัยหูได้ยิน ไม่ได้อาศัยจมูกได้กลิ่น ไม่ได้อาศัยลิ้นลิ้มรส ไม่ได้อาศัยกายกระทบสัมผัส ใจก็ไม่ได้คิดนึก ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จึงใช้คำว่า"หลับสนิท" ไม่อย่างนั้นจะใช้คำว่าหลับสนิทไม่ได้
ผู้ฟัง หลับสนิทก็เป็นทีละขณะ จะบอกว่าทั้งหมดไม่ได้
ท่านอาจารย์ ขณะใด เรากล่าวถึงขณะหนึ่งขณะใด แม้แต่ชาติของจิตหนึ่งขณะ ขณะใดเป็นกุศลก็เป็นกุศล เป็นวิบากไม่ได้ ขณะใดเป็นวิบาก จะเป็นกุศล อกุศล กิริยาไม่ได้ เพราะฉะนั้น เรากำลังศึกษาเรื่องจิตซึ่งมีจริงๆ เกิดดับทีละ ๑ ขณะ
ผู้ฟัง ถ้ากล่าวว่า คืนนี้เราหลับสนิท หรือไม่ ถ้าเราตอบว่าหลับสนิท
ท่านอาจารย์ หมายความว่าถ้าตอบอย่างนั้นมีช่วงซึ่งไม่รู้อารมณ์ใดๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เลย
ผู้ฟัง แสดงว่าเราเอาที่เด่นชัดที่สุดมาตอบ
ท่านอาจารย์ แล้วแต่
ผู้ฟัง แต่ไม่ได้บอกว่าช่วงทั้งหมด ...
ท่านอาจารย์ ไม่ได้บอก เพราะฉะนั้นเรากล่าวถึงขณะที่หลับสนิทเป็นภวังคจิต ไม่รู้อารมณ์ใดๆ เลย ไม่ได้อาศัยอารมณ์ใดๆ เพื่อที่จะเข้าใจประเภทใหญ่ๆ ของจิตว่าแยกเป็น ๒ ประเภท คือ จิตที่อาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์เป็นวิถีจิต ส่วนขณะที่ไม่ได้อาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นไม่ใช่วิถีจิต ให้เข้าใจ ๒ อย่างนี้ก่อน ว่า ๑ ขณะเป็นชาติอะไร เป็นวิถี หรือไม่ใช่วิถี
ผู้ฟัง คนหลับทั้งคืนจะบอกว่าถึงแม้ว่าเขาหลับแล้ว จักขุวิญญาณก็เกิดขึ้นได้ กายวิญญาณก็เกิดขึ้นได้
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ ต้องหมายความว่าขณะใดไม่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด จะใช้ว่าหลับ หรือไม่หลับก็ได้แต่เป็นภวังคจิต
ผู้ฟัง รู้อารมณ์แต่จำไม่ได้
ท่านอาจารย์ ขณะที่ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เลย ขณะนั้นจิตทำภวังคกิจดำรงภพชาติ และอารมณ์ที่เป็นสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แม้แต่เรื่องราวความคิดนึกก็ไม่ปรากฏ เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่อาศัยทางหนึ่งทางใดที่จะเกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่นซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของภวังคจิต
ผู้ฟัง ถ้าจักขุวิญญาณปรากฏ ...
ท่านอาจารย์ จักขุวิญญาณเกิดแล้วดับ หรือไม่
ผู้ฟัง ดับ
ท่านอาจารย์ จิตที่รู้อารมณ์นั้นดับแล้ว อารมณ์นั้นยังปรากฏได้ไหม ไม่ได้แน่นอน เพราะว่าจิตเป็นสภาพรู้ ที่ขณะนี้สิ่งต่างๆ ปรากฏเพราะจิตเกิดขึ้นกำลังรู้
ผู้ฟัง ถ้าอารมณ์ปรากฏต้องไม่ใช่ขณะหลับ แต่จิตทุกดวงต้องมีอารมณ์ เพราะฉะนั้นขณะที่เป็นภวังค์ก็ต้องมีอารมณ์ด้วย
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง คือคำหนึ่งคำใดที่ได้ฟังแล้วเข้าใจแล้วทิ้งไม่ได้ ลืมไม่ได้ เพราะเหตุว่าเป็นสัจจธรรม เป็นความจริงที่ต้องเข้าใจให้ตรง จิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เพราะฉะนั้นจะมีจิตเกิดโดยไม่รู้ไม่ได้ และสิ่งที่จิตรู้ ใช้คำว่า "อารัมมณะ" หรือ"อารมณ์" ในภาษาไทย หรือใช้คำว่า "อาลมฺพน" ก็ได้ เป็นความหมายอย่างเดียวกัน เป็นที่มายินดีของจิต เพราะจิตจะต้องรู้อารมณ์นั้นแน่นอน ไม่รู้อารมณ์นั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขณะที่จิตเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นที่ไหน ทำหน้าที่อะไรก็ตามต้องรู้อารมณ์ แต่จะใช้คำว่าหลับ หรือไม่หลับก็ตามแต่ นี่เป็นคำที่เราใช้ แต่ถ้าพูดถึงลักษณะ และกิจหน้าที่ของจิต ก็จะรู้ว่าขณะนั้นจิตเป็นชาติอะไร และก็ทำกิจอะไร เพราะว่าเรากำลังเรียนเรื่องของชาติของจิต ซึ่งขณะนี้เราจะได้ทราบว่า เรื่องของจิตมี ๔ ชาติ เริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิจิตเป็นชาติอะไร
ผู้ฟัง วิบาก
ท่านอาจารย์ ปฏิสนธิจิตเป็นชาติวิบาก อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้อารมณ์อะไรในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดใช่ หรือไม่ ไม่ เพราะฉะนั้นเป็นจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต เวลาที่ปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว มีจิตเกิดสืบต่อเพราะเหตุว่าอาการปรากฏของจิตก็คือการเกิดดับสืบต่อ ขณะนี้ไม่ได้ขาดจิตเลยสักขณะเดียว ทำให้สามารถที่จะเข้าใจได้ว่ามีจิต ไม่มีช่วงว่างที่จิตหายไป แต่ว่ามีการเกิดดับสืบต่อทำให้ปรากฏ สามารถจะรู้ได้ว่าจิตแต่ละขณะแม้ว่าดับไปแล้วก็เกิดสืบต่อ เช่น จิตเห็น ดับไปแล้วก็มีจิตได้ยิน หรือดับไปแล้วก็มีจิตคิดนึก เกิดดับสืบต่อตลอดเวลา
ผู้ฟัง ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วมีจิตเกิดต่อ ที่ฟังมาเหมือนเรียกว่าปฐมภวังค์ ก็มีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิตอย่างนั้น หรือ
ท่านอาจารย์ ภวังคจิต จุติจิต ปฏิสนธิจิตมีอารมณ์เดียวกัน กรรมหนึ่งทำให้วิบากจิตประเภทนี้เกิดขึ้นทำปฏิสนธิจิต ยังเปลี่ยนสภาพไม่ได้ จะเกิดเป็นนก เป็นช้าง เป็นลิง เป็นคน เป็นเทวดา ก็ยังเปลี่ยนสภาพไม่ได้
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 1
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 2
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 3
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 4
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 5
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 6
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 7
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 8
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 9
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 10
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 11
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 12
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 13
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 14
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 15
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 16
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 17
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 18
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 19
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 20
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 21
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 22
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 23
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 24
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 25
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 26
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 27
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 28
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 29
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 30
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 31
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 32
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 33
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 34
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 35
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 36
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 37
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 38
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 39
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 40
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 41
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 42
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 43
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 44
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 45
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 46
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 47
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 48
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 49
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 50
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 51
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 52
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 53
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 54
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 55
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 56
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 57
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 58
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 59
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 60