พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 25


    ตอนที่ ๒๕

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๖


    ท่านอาจารย์ ถ้ามีมโนทวารเกิดสลับกับภวังค์ ก็ยังเรียกว่าฝันอยู่ เพราะเหตุว่าไม่มีสิ่งที่เป็นปรมัตถธรรมกระทบกับปสาทจริงๆ แต่เมื่อตื่นเหตุใดจึงกล่าวว่าตื่น ทั้งๆ ที่ตื่นก็คิด หลับ แล้วฝัน ก็คิด แต่เวลาที่ตื่นมีสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย สลับอย่างเร็วเหมือนเห็นตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ก็ไม่ได้กล่าวว่าหลับ แต่ว่ามีมโนทวารวิถีคั่นแทรกน้อยกว่าเวลาที่หลับ ดังนั้น การที่เข้าใจว่าฝัน หรือว่าหลับสนิท หรือ ไม่สนิท ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า แท้ที่จริงจิตเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดมาก หรือน้อย ก็แล้วแต่เราจะบัญญัติเรียกว่าหลับสนิท หลับไม่สนิท หรือกำลังตื่น แต่ความจริงก็คือ จิตนั้นเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ทวาร หรือทำกิจภวังค์ซึ่งไม่รู้อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งทาง ๖ ทวารนั่นเอง

    ผู้ฟัง หลับกับไม่หลับต่างกัน ก็คือว่าขณะที่ไม่หลับมีวิถีจิตทางปัญจทวารเกิดสลับด้วย

    ท่านอาจารย์ หลับไม่สนิทก็มีวิถีจิตปัญจทวารเกิดแต่น้อยกว่า จนกระทั่งไม่ปรากฏเหมือนอย่างกับเวลาที่ตื่น ความหลากหลายของสภาพของจิตไม่ซ้ำกันเลย ตั้งนานแสนนานมาแล้วจิตที่เกิดดับของแต่ละคนแต่ละชาติไม่ซ้ำ แล้วก็ยังจะปรุงแต่งต่อไปอีก ซึ่งก็จะรู้ได้ว่าความฝันของแต่ละภพแต่ละชาติ ก็เกินความคิดของเราว่าจะไปฝันอย่างนั้นได้ เพราะฉะนั้น ประโยชน์สำหรับผู้ที่ท่านเห็นว่าท่านยังมีกิเลสอยู่จึงฝัน ท่านก็อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ว่า ถ้าตราบใดที่ยังมีกิเลส จึงฝัน และผู้ที่มีกิเลสเมื่อฝันแล้วก็จะมีอาการต่างๆ กัน เช่น บางคนฝันแล้วตื่นขึ้นมา ก็คิดต่อว่า เมื่อครู่นี้ ฝันอะไร กิเลสก็ยังพาให้ไปทบทวน ให้ไปพยายามคิดให้ออกว่า เมื่อครู่นี้ฝันว่าอะไร หรือบางครั้งฝันกำลังสนุกมากเลย ตื่นเสียแล้ว ก็ยังอยากจะนึกถึงเรื่องที่สนุกต่อ นี่คือเรื่องของกิเลสทั้งนั้นเลย ที่ความละเอียดจะทำให้เห็นความหลากหลายของจิต ก็แล้วแต่การสะสมมา

    ผู้ฟัง ขณะฝันกับละเมอ ...

    ท่านอาจารย์ ถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องจิตที่เป็นวิถีจิต และจิตที่ไม่เป็นวิถี จะมีคำถามมาก แต่ถ้าเข้าใจว่า ขณะไหนที่มีการรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๕ ทวาร ขณะนั้นเป็นวิถีจิตทาง ๕ ทวาร แต่ถ้าเกิดคิดนึก ไม่ว่าจะเรียกว่าฝัน หรือไม่ฝัน ก็ตามแต่ ก็เป็นการรู้อารมณ์ทางใจเท่านี้เอง ขณะละเมอ ขณะนั้นมีเห็น มีได้ยิน มีคิดนึก หรือไม่ ถ้าเห็นจริงๆ เป็นทางทวารไหน ถ้าไม่เห็นเลยขณะนั้นเป็นทางทวารไหน แต่เหมือนเห็น เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่จะรู้ได้ด้วยตัวเอง

    ผู้ฟัง ถ้าละเมอแล้วรู้สึกตัว

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นขณะไหนอีกใช่ หรือไม่

    ผู้ฟัง ขณะที่ตัวเองคิดนึกรู้เรื่องราวที่ละเมอ อย่างนี้ก็คือฝัน แต่ถ้าละเมอแล้วตื่นขึ้นมาไม่รู้ว่าทำอะไรไป ตื่นขึ้นมาไปอยู่ที่นั่นแล้ว

    ท่านอาจารย์ เป็นไปได้ เพราะเหตุว่าถ้ามีการเคลื่อนไหว ภวังคจิตเคลื่อนไหวไม่ได้ จิตขณะที่กำลังเป็นภวังค์ จะลุกจะนั่ง จะเดินไป ไม่ได้ จะพูดจะทำอะไรก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะต้องรู้ต่อไปว่า จิตที่ทำภวังคกิจจะไม่มีการเคลื่อนไหวทางกาย ทางวาจาเลย จะพ้นทวารได้ไหม ถ้าไม่ใช่ภวังคจิต ก็ต้องรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทวาร

    ผู้ฟัง ก็เหมือนคิดนึกทางใจ ถ้าหากมีโมหเจตสิกมากก็ไม่รู้ว่าไปทำอะไรไว้

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องมีอีกหลายเหตุที่ทำให้รู้ว่าขณะนั้นเหตุใดเรียกว่า ละเมอ เหตุใดเรียกว่า ฝัน เหตุใดเรียกว่า หลับ เหตุใดเรียกว่า หลับไม่สนิท หรืออะไรต่างๆ

    ผู้ฟัง คนเราเลือกฝันไม่ได้ แต่เวลาคิดนึกดูเหมือนจะเลือกได้ เหตุที่ความฝันกับความคิดนึกต่างกัน อาจจะเป็นเพราะว่าความคิดนึกสลับกับปรมัตถธรรมที่ปรากฏทางปัญจทวาร

    ท่านอาจารย์ ความคิดนึกเลือกได้ หรือ

    ผู้ฟัง ตอนนี้คิดถึงนิ้วก้อยข้างขวา

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้น ขณะนี้จิตเกิดแล้วดับแล้ว บังคับอะไร เลือกอะไร

    ผู้ฟัง แล้วขณะต่อไป

    ท่านอาจารย์ ขณะต่อไป ก็เป็นขณะที่กำลังรู้แจ้งอารมณ์ ลืมลักษณะของจิตไม่ได้เลย คิดว่าสั่ง คิดว่าบอก คิดว่าทำ แต่ความจริงขณะนั้น จิตกำลังรู้แจ้งอารมณ์ คือแต่ละคำแล้วก็ดับ คิดอีก ก็คือจิตกำลังรู้แจ้งอารมณ์นั้นที่กำลังคิดแล้วก็ดับ จิตมีลักษณะเดียว เพราะฉะนั้นการประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมต้องอบรมเจริญปัญญา รู้ตรงตามความเป็นจริง ถ้าปริยัติผิด เข้าใจผิด การประพฤติปฏิบัติก็ผิด

    ผู้ฟัง แสดงว่าคิดได้ แต่ผลจะเป็นอย่างที่คิดนั้นเป็นไปไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นจิตที่คิด ไม่ใช่เรา เลือกไม่ได้ ก่อนนั้นจะทำอย่างไรให้จิตเกิดคิดขึ้น จะไปบอก หรือ จิตนั้นก็ดับแล้ว

    เรื่องที่สำคัญที่สุดก็คือจิต เพราะเหตุว่าความยุ่งยาก ความสุข หรือความทุกข์ทั้งหลาย ถ้าไม่มีจิตแล้วจะไม่มีเลย ดี หรือไม่ ถ้าไม่มีจิตเกิดขึ้น ต้องเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง คือไม่เที่ยงเลย จะสุขตลอดไปก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีจิตเลย ก็คงจะปลอดภัยทุกประการ ลองคิดถึงขณะนี้ เพราะมีจิตจึงต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องเป็นสุข ต้องเป็นทุกข์ ต้องดีใจ เสียใจ แต่ถ้าไม่มีเลย เป็นความสงบอย่างแท้จริง คือไม่ต้องมีอะไรมาให้เห็น ไม่ต้องมีอะไรมาให้ได้ยิน ไม่ต้องคิดเป็นห่วง เป็นทุกข์เป็นกังวล แต่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าเป็นธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริง แล้วก็ไม่มีใครที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมได้เลย แต่ว่าสามารถที่จะเข้าใจถูก เห็นถูกในสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ซึ่งเป็นจิต

    ซึ่งในคราวก่อนเราก็ได้กล่าวถึงชาติของจิต "ชาติ" คือการเกิด (ชา+ติ) คือการเกิดขึ้นของจิต เมื่อจิตเกิดขึ้นแล้วต้องเป็นชาติหนึ่งชาติใดใน ๔ ชาติ คือเกิดขึ้นเป็นกุศล ๑ เกิดขึ้นเป็นอกุศล๑ เกิดขึ้นเป็นวิบาก ๑ เกิดขึ้นเป็นกิริยา ๑ ในขณะนี้ที่กำลังมีชีวิตอยู่ดำเนินไป จะมีจิต ๔ ชาติ คือ บางกาลก็เกิดขึ้นเป็นชาติกุศล ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดวิบากซึ่งเป็นผล ถ้าเป็นเหตุที่ดี กุศลจิต หรือ กุศลกรรม ก็เป็นปัจจัยที่จะให้ผลของกุศลที่เกิดขึ้นเป็นจิตประเภทต่างๆ สำหรับอกุศลก็เช่นเดียวกัน เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ดับไปแล้วก็จริง แต่ก็ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้จิตอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นวิบากจิตเกิดขึ้น เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว สำหรับกิริยาจิต เป็นจิตซึ่งไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต และไม่ใช่วิบากจิต

    การศึกษาเรื่องจิต เป็นการศึกษาเรื่องสภาพธรรมที่มีในชีวิตประจำวันตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ว่าจะโดยชาติ โดยภูมิ โดยเหตุ โดยอะไรอีกมากมายซึ่งเราไม่เคยรู้เลย ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรม แต่เมื่อศึกษาพระธรรม ก็เพื่อให้เข้าใจให้ถูกต้องว่า กำลังศึกษาสภาพที่มีจริง ซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นเรา แต่ความจริงก็เป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นอนัตตา ซึ่งต่างกันเป็นสองอย่าง คือ นามธรรม กับ รูปธรรม นามธรรมคือ จิต และเจตสิกซึ่งได้กล่าวถึงแล้วว่า เป็นสภาพที่รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นแล้วต้องรู้ ไม่รู้ไม่ได้ แม้แต่ขณะที่นอนหลับสนิท มีจิตเกิดขึ้นก็ต้องรู้อารมณ์ที่เป็นอารมณ์ของจิตในขณะที่หลับด้วย สำหรับกิริยาจิตก็ไม่ใช่ทั้งกุศลจิต อกุศลจิต และวิบากจิต เพราะฉะนั้น ก็ควรจะพิจารณาเรื่องชาติของจิตตั้งแต่เกิด ซึ่งคราวก่อนเราก็ได้กล่าวถึงแล้วว่า ขณะที่เกิด จิตขณะแรก เป็นชาติอะไร ชาติวิบาก เลือกได้ หรือไม่ เลือกไม่ได้เลย ต้องเป็นคนนี้ชาตินี้ เป็นคนอื่นไม่ได้ ส่วนชาติก่อนเคยเป็นใครก็ไม่ทราบ ชาติหน้าต่อไปจะเป็นใครก็ไม่รู้ แต่สามารถจะรู้ความจริงว่า กรรมทำให้แต่ละบุคคล หรือแต่ละสิ่งที่มีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ เป็นคน เป็นเทพ เป็นเทวดาทั้งหลาย เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ซึ่งเป็นอนัตตา เลือกไม่ได้ ถ้าเลือกได้อยากจะเป็นคนนี้ หรือ มีคนส่ายหน้า เพราะอะไรไม่อยากเป็นคนนี้

    ผู้ฟัง คือที่ไม่อยากเป็นคนนี้ เพราะว่าชีวิตนี้ลำบากมากตั้งแต่เล็ก คือ คุณพ่อก็เสียชีวิต แต่งงานแล้วก็ไม่มีอิสระ ถูกอบรมมาให้เชื่อฟัง เป็นเด็กก็ต้องอยู่ในโอวาทของผู้ใหญ่ มีสามีแล้วก็ต้องอยู่ในโอวาทของสามี เวลานี้มีลูก ก็ต้องอยู่ในโอวาทของลูก

    ท่านอาจารย์ ชาติก่อนคงไม่ใช่ชีวิตแบบนี้ ก็เป็นอีกแบบหนึ่ง แล้วชาติหน้าก็จะต่างกับชาตินี้ แต่ชาตินี้ได้มีโอกาสฟังพระธรรม ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าชาติก่อนๆ ก็ต้องมีความสนใจ มิฉะนั้นแล้วก็คงไม่ได้มานั่งอยู่ตรงนี้ที่จะได้ฟังธรรม

    เพราะฉะนั้น การที่ได้มีกุศลในขณะนี้เป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผล ซึ่งเป็นวิบากข้างหน้า แล้วแต่ว่าจะเป็นขณะที่จากโลกนี้ไปแล้วก็ปฏิสนธิ คือเกิดด้วยกรรมนี้จะให้ผล หรือว่ากรรมอื่นจะให้ผล แต่ความเข้าใจจากการฟังพระธรรมทำให้เราสามารถจะรู้ว่าไม่ใช่เรา และไม่มีเรา แต่เป็นสภาพของจิตที่เป็นเหตุ และจิตที่เป็นผล

    ขณะนี้ ยอมรับ หรือไม่ว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่เราเลย ชั่วขณะหนึ่งซึ่งจิตเกิดขึ้นเป็นอกุศลเป็นเหตุแล้วที่จะสะสมสืบต่อ ลองคิดถึงจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ เป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่างเลย และขณะใดที่เป็นโลภะ หรือว่าโทสะ หรือโมหะ ชั่วขณะสั้นๆ ก็ดับ แต่การดับไปของจิตดวงก่อนซึ่งจะไม่มีวันกลับมาเกิดอีกเลย ดับไปแล้วก็จริง แต่คราบ หรือสิ่งที่เคยเกิดแล้วที่เป็นอกุศล ก็สะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกๆ ขณะตั้งแต่แสนโกฏิกัปป์มาแล้ว เพราะฉะนั้น จึงมีทั้งการสะสมทั้งฝ่ายกุศล และฝ่ายอกุศล ที่ทำให้บุคคลแต่ละบุคคลมีอัธยาศัยต่างกัน ถ้าเห็นคนอื่นซึ่งไม่ดี กายก็ไม่ดี วาจาก็ไม่ดี เป็นอย่างไร ขณะนั้น กุศลจิตจะเกิด หรืออกุศลจิตจะเกิด ถ้าเห็นโทษก็ไม่อยากจะเป็นอย่างนั้น แต่บางกาลก็เป็น เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องของอนัตตา ซึ่งปัญญาเท่านั้นที่จะเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ต้องสะสมความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ในเรื่องของสภาพธรรม และกุศลทั้งหลายก็จะเจริญขึ้น

    ในชาติหนึ่งๆ จะมีปฏิสนธิจิตสองขณะได้ หรือไม่ ไม่ได้ เพียงขณะเดียวเกิดขึ้นแล้ว จะให้เกิดอีกหนในชาติเดียวกันก็เป็นไปไม่ได้เลย เกิดมาแล้วเป็นอย่างไร ก็จะต้องเป็นอย่างนั้น เป็นบุคคลนั้นจนกว่าจะสิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้น เพราะกรรมหนึ่งซึ่งทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น แต่เมื่อปฏิสนธิจิตดับแล้วเป็นอนันตรปัจจัย ให้เข้าใจว่าจิตทุกดวงที่เกิดแล้วก็ดับไปจะเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นสืบต่อ ปัจจัยนี้ชื่อว่า อนันตรปัจจัย ไม่มีระหว่างคั่นเลย จนถึงจุติจิตของพระอรหันต์เท่านั้น ที่จะไม่มีจิต และเจตสิกเกิดขึ้นอีกเลย เพราะฉะนั้น ขณะนี้สืบต่อมาจากขณะก่อนๆ ถอยไปกี่ชาติๆ ก็สืบต่อมา ไม่ได้หยุดทำงานเลย ระหว่างชาติหนึ่งๆ จากไปแล้วก็กลับมาเห็นอีก ได้ยินอีก ได้กลิ่นอีก ลิ้มรสอีก รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสอีก

    เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจความต่างกันของชาติของจิต ว่าขณะปฏิสนธิเป็นวิบากจิต

    ซึ่งกรรมไม่ได้ให้ผลเพียงปฏิสนธิขณะเดียว เท่านั้นไม่พอ แต่กรรมนั้นยังทำให้เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดต่อ

    ที่ใช้คำว่า “ภวังค์” ก็เพราะเหตุว่า เป็นขณะจิตที่ดำรงภพชาติโดยที่ว่ายังไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ได้ลิ้มรส ยังไม่ได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ยังไม่ได้คิดนึกเลย ทั้งปฏิสนธิจิต และภวังคจิตเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย โดยชาติเป็นวิบากจิต เพราะฉะนั้น จิต และเจตสิกที่เกิดร่วมกันเป็นชาติวิบาก เป็นผลของกรรมหนึ่งที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาที่กรรมให้ผลทำให้จิต และเจตสิกซึ่งเป็นวิบากเกิดขึ้นร่วมกันในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็จะมีรูปเกิดด้วย เพราะรูปเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นสมุฏฐานในขณะแรก

    หลังจากที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นภวังค์ ไม่รู้อะไรเลย ไม่ว่าจะเกิดเป็นนก เป็นช้าง เป็นคน เป็นเทพ เป็นรูปพรหม อรูปพรหม ไม่มีการรู้ขณะที่เป็นปฏิสนธิ และภวังค์

    ต่อจากนั้น ก็จะเป็นวาระอื่นซึ่งจะกล่าวถึงวาระแรกซึ่งจิตเริ่มที่จะไม่เป็นภวังค์ จิตทุกประเภทเป็นมโน หรือไม่ หรือจิตบางประเภทเท่านั้นที่เป็นมโน จิตทุกประเภทไม่เว้นเลย เพราะว่าชื่อของจิตมีหลายชื่อ ชื่อจิตก็ได้ ชื่อมโน ชื่อหทย ชื่อปัณฑระก็ได้ ก็มีหลายชื่อแต่ให้ทราบว่าคำว่า “มโน” หมายความถึงจิต ไม่ได้หมายความถึงปรมัตถธรรมอื่น เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตเป็นมโน จุติจิตขณะสุดท้ายก็เป็นมโน แต่ที่เราใช้ชื่อต่างๆ กันก็ตามความหมายต่างๆ กัน ต่อจากนั้นจะมีคำว่า “มโนทวาร” ทวารเข้ามาเกี่ยวข้องกับมโน เพราะเหตุว่า “ทวาร” หมายความถึง"ทาง" ภาษาไทยนำมาใช้หมายความถึงประตู เป็นทางเข้าออก แต่จริงๆ แล้ว จิตไม่ได้เข้า จิตไม่ได้ออกเลย จิตเป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วรู้อารมณ์ แล้วดับ จิตทุกชนิดเกิดขึ้นรู้อารมณ์แล้วก็มีกิจเฉพาะด้วย เกิดขึ้นทำกิจรู้อารมณ์เหมือนกัน แต่ต่างกันโดยกิจของจิตเฉพาะแต่ละอย่าง แล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น เมื่อได้ยินคำว่า "มโน" คือ จิตทุกประเภท แต่เมื่อได้ยินคำว่า "มโนทวาร" เป็นจิต หรือไม่ เพราะทวารหมายความถึงประตู หรือ ทางที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางใจ

    เพราะเหตุว่า ทางทวารที่จะรู้อารมณ์มี ๖ จักขุทวารขณะนี้ ได้แก่ จักขุปสาท ๑ คือทวารที่ทำให้เห็น โสตทวารกำลังได้ยิน ต้องมีโสตปสาทรูปเป็นโสตทวาร ถ้าขณะใดที่กลิ่นปรากฏ มีฆานทวารเป็นรูปที่สามารถกระทบกับกลิ่น เวลาที่ลิ้มรสขณะที่รับประทานอาหาร รสปรากฏ ขณะที่รสปรากฏโดยต้องมีชิวหาทวารคือ ลิ้น เป็นปสาทรูป๑ ที่อยู่ตรงกลางลิ้นที่ทำให้สามารถกระทบกับรสต่างๆ ได้ แล้วจิตจึงเกิดขึ้นที่ลิ้นรู้รสที่ปรากฏ ทวารทั้ง ๕ นี้เป็นรูป ได้แก่ จักขุทวารคือจักขุปสาทรูป โสตทวารคือโสตปสาทรูป ฆานทวารคือฆานปสาทรูป ชิวหาทวารคือชิวหาปสาทรูป กายทวารซึมซาบอยู่ทั่วตัวที่สามารถรู้ว่าเย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็งเพราะมีกายปสาทรูป ทั้ง ๕ ทวารนี้ เป็นรูป

    ต้นไม้มีรูป แต่ไม่มี ๕ ทวาร เพราะ ๕ ทวารนี้ ต้องเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน

    เพราะฉะนั้น ที่ใดที่มีจักขุปสาทรูป หมายความต้องมีกรรมเป็นปัจจัย เป็นสิ่งที่มีชีวิต จะเป็นคน เป็นสัตว์ สัตว์เล็ก สัตว์น้อย สัตว์ใหญ่อย่างไรก็ตามแต่ ต้องมีกรรมเป็นปัจจัยทำให้รูปต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้น

    “มหาภูตรูป” คือ รูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน มีเพียง ๔ รูป คนไทยก็อาจจะชินหูกับ ๔ รูป ซึ่งเป็นมหาภูตรูป ธาตุดินมีลักษณะอ่อน หรือแข็ง ธาตุน้ำมีลักษณะซึมซาบ หรือไหล ธาตุไฟมีลักษณะเย็น หรือร้อน ธาตุลมมีลักษณะตึง หรือไหว เรากล่าวในภาษาไทยว่าธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม แต่ภาษาบาลีอีกชื่อหนึ่ง ดินคือปฐวี น้ำคืออาโป ไฟคือเตโช ลมคือวาโย จะกล่าวภาษาอะไรก็ได้ แต่ให้ทราบว่ารูป ๔ รูป เป็นใหญ่เป็นประธาน ๔ รูปนี้ต้องมี ถ้ารูป ๔ รูปนี้ไม่มี รูปอื่นๆ อีก ๒๔ รูปจะมีไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จักขุปสาทรูป เป็นรูปที่สามารถกระทบสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา รูปนี้กระทบเสียงไม่ได้ กระทบกลิ่นไม่ได้ กระทบรสไม่ได้ เรามีการเห็นโดยที่เราไม่เคยรู้เลยว่าต้องอาศัยปัจจัย คือจักขุปสาทรูปซึ่งเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานทำให้ขณะนี้เห็นได้ มิฉะนั้นก็เห็นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นมหาภูตรูป ๔ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมไม่ใช่ทวาร เฉพาะรูปที่เป็นทวารในบรรดารูปทั้งหมดมีแค่ ๕ รูป เท่านั้นที่สามารถจะเป็นทวารได้จึงชื่อว่า "ปัญจทวาร" คำว่า"ทวาร" หมายความถึงสภาพธรรม ๖ ประเภท จำแนกเป็นรูปธรรม ๕ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย คือ ปสาทรูป ๕ และเป็นนามธรรม ๑ คือ จิต เป็น มโนทวาร ดังนั้น คำว่า “มโน” ต้องเป็นนามธรรมจะเป็นรูปธรรมไม่ได้ ทุกคนมีครบ หรือไม่

    ผู้ฟัง บางคนก็ไม่ครบ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เพราะว่ากรรมป็นปัจจัยไม่ให้จักขุปสาทรูปเกิดก็มี ไม่ให้โสตปสาทรูปเกิด ก็มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าเมื่อมีการรู้สี หรือสิ่งที่ปรากฏทางตาเมื่อใด ให้ทราบว่ากรรมยังทำให้จักขุปสาทรูปเกิด แล้วจักขุปสาทรูปดับ หรือไม่

    ผู้ฟัง เกิดดับอยู่ตลอดเวลา

    ท่านอาจารย์ ต้องเกิดดับ เพราะฉะนั้นขณะที่เห็นมีจักขุปสาทรูปที่ยังไม่ดับ ถ้าดับแล้วก็ไม่สามารถทีjจะทำให้จิตเห็นเกิดขึ้นได้ ขณะที่ได้ยินมีจักขุปสาทรูป หรือไม่

    ผู้ฟัง ต้องมี เพราะว่าเกิดจากกรรม กัมมชรูปจะต้องเกิด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขณะที่ได้ยินต้องมีจักขุปสาทรูป เพราะใครจะไปยับยั้งกรรมไม่ให้จักขุปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป พวกนี้เกิดไม่ได้เลย เมื่อกรรมเป็นปัจจัยให้เห็นแรงของกรรม สามารถจะทำให้กัมมชรูปเกิดทุกอนุขณะของจิต

    เพราะจิต ๑ ขณะจะมี ๓ อนุขณะย่อย คือ ขณะเกิดขึ้นยังไม่ดับ ขณะที่ตั้งอยู่ยังไม่ดับ และขณะที่ดับ เพราะฉะนั้น จิตไม่ว่าจะเป็นจิตของพรหมบุคคล ของพระอรหันต์ ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือจิตของผู้ใดก็ตาม จะมีอายุเพียง ๓ อนุขณะจิต คือ อุปาทขณะ (เกิด) ฐีติขณะ (ยังไม่ดับ) ภังคขณะ (ดับ) แรงของกรรมทำให้กัมมชรูปเกิดทุกอนุขณะของจิต

    เพราะฉะนั้น กำลังนอนหลับอยู่ยังไม่ตาย ยังมีกรรมที่ทำให้เป็นบุคคลนี้อยู่ แม้ขณะนอนหลับก็มีจักขุปสาทรูปเกิด โสตปสาทรูปเกิด ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูปเกิด ทั้ง ๕ รูปต้องเกิด ตอนที่เป็นภวังค์ ไม่ได้ยินอะไรเลย ไม่เห็น ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก เมื่อนั้นเป็นภวังคจิตดำรงภพชาติ

    แต่ขณะใดก็ตามที่มีการเห็น การได้ยิน ฯ เหล่านี้เป็นวิถีจิต หมายความว่า ต้องอาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดดับสืบต่อ เพื่อรู้อารมณ์หนึ่งทางทวารหนึ่ง ต้องไม่ลืมว่า ทางทวารหนึ่งก็มีวิถีจิตซึ่งเกิดดับสืบต่อไม่ใช่ขณะเดียว การเกิดดับสืบต่อรู้อารมณ์ที่กระทบทวารนั้น จึงเป็นวิถีจิต แต่ละขณะที่ไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่จุติจิต ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต เป็นวิถีจิตทั้งหมด แล้วแต่ว่าจะเป็นวิถีจิตทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง

    เพราะฉะนั้น "มโน" คือ จิตทุกประเภท ถามว่า มโนทวาร เป็นรูป หรือไม่

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 135
    24 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ