พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 3
ตอนที่ ๓
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๖
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ยิ่งศึกษายิ่งเห็นว่า ขณะจิตหนึ่งก็คือโลกขณะหนึ่ง ซึ่งแต่ละคนก็เป็นโลกแต่ละใบ เต็มไปด้วยความคิดถึงสิ่งที่กระทบตา จำไว้มากมาย เรื่องราวต่างๆ เสียงกระทบหู จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายกระทบสิ่งซึ่งสัมผัส ใจคิดนึกปรุงแต่งจากสิ่งที่เห็น ที่ได้ยินทั้งหมด ไม่ลืมเลย จำไว้เป็นอัตตสัญญามากมายกว่าการได้ยินได้ฟังธรรมที่เป็นอนัตตา แล้วจะค่อยๆ ลบความเป็นอัตตสัญญาลงไป จากการที่ได้รู้ลักษณะสภาพธรรมจนกว่าจะหมดสิ้น ไม่เหลือความเป็นเรา หรือความเป็นอัตตา
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การตั้งต้นที่ถูกต้อง รู้ว่าศึกษาอะไร ธรรมคืออะไร ขณะนี้เป็นธรรม จะทำให้เราไม่หลงผิด ถ้ามีความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรม ยิ่งฟังยิ่งเข้าใจในสิ่งที่เราได้ยินวันนี้เพิ่มขึ้น และจะได้ยินวันต่อๆ ไปเพิ่มขึ้นด้วย คือไม่เป็นเรื่องอื่นนอกจากเป็นเรื่องของธรรม เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งซึ่งต้องอดทนมาก ที่จะต้องฟัง และรู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นเรื่องขั้นฟัง หรือเป็นเรื่องที่ค่อยๆ เข้าใกล้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ จนกว่าจะประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมนั้น
ผู้ฟัง เมื่อสักครู่นี้ เราก็พูดถึงในสิ่งที่มีจริงเป็นธรรม สิ่งที่ไม่มีจริงก็ต้องมี
อ.อรรณพ ที่ท่านอาจารย์เน้นให้เข้าใจถึงสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง เพื่อเป็นพื้นฐานของการที่วันหนึ่งเราจะรู้สิ่งที่มีจริง ซึ่งกำลังปรากฏ และเราก็จะรู้ว่าสิ่งที่เราเคยคิดว่ามีจริงนั้นไม่มีจริง นี่คือประโยชน์ของการมุ่งที่จะเข้าใจในสิ่งที่มีจริง เพราะเมื่อขณะใดเป็นขณะที่เข้าใจในขณะที่เป็นสิ่งที่มีจริง ขณะนั้นเป็นขณะที่ปัญญาเกิด ก็จะรู้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่เราเคยยึดว่าเป็นสัตว์บุคคล เป็นชื่อ เป็นรูปร่างสัณฐานเหล่านี้ไม่มี แต่จริงๆ แล้วมีเพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทีละอย่างเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นประโยชน์ก็คือ ศึกษาถึงสิ่งที่มีจริง แล้วจะเข้าใจตามความเป็นจริงว่าสิ่งที่เราถูกปกคลุมมาตลอด คือชื่อ และก็ความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนนั้น ไม่มีด้วยความที่ประจักษ์ในความที่สิ่งที่มีจริงกำลังปรากฏ
อ.ธีรพันธ์ สิ่งที่ไม่มีจริงไม่ได้หมายความว่า เราต้องมีความเห็นผิดเสมอไป อย่างเช่นวันอาทิตย์ บางคนอาจมีความเห็นว่าเป็นเพียงบัญญัติเท่านั้นเอง บัญญัติเรื่องราวใ ห้รู้ว่ากำหนดวันนี้เป็นวันที่เรามาฟังพระธรรม ถ้าไม่มีคำว่าวันอาทิตย์ วันจันทร์ ก็คิดว่าคงจะดำเนินชีวิตไปด้วยความไม่สะดวก
ท่านอาจารย์ คุณจำนงหาวันอาทิตย์ ว่าอยู่ที่ไหนได้ไหม
ผู้ฟัง วันอาทิตย์ก็อยู่ที่จิต กำลังมีจริงขณะนี้ จิตที่คิดว่าวันอาทิตย์ จิตนั้นน่ะ มีจริง
ท่านอาจารย์ วันอาทิตย์มีจริง หรือไม่
ผู้ฟัง วันอาทิตย์ไม่มีจริง
ท่านอาจารย์ ตอนนี้จะลำบากไหม ถ้าวันอาทิตย์ไม่มีจริง
ผู้ฟัง มีจิตที่คิด
ท่านอาจารย์ ถ้าจิตไม่คิดคำว่า “วันอาทิตย์” จะมีความเข้าใจในคำนั้นไหมว่า “วันอาทิตย์” เพราะฉะนั้น ถ้าจิตไม่คิดถึงวันอาทิตย์ ไม่คิดถึงวันจันทร์ วันอาทิตย์ และวันจันทร์อยู่ที่ไหน ไม่มีเลย นี่ก็เป็นเรื่องต่อไปที่เราจะได้ทราบว่าทั้งหมดนี้ เราจะแยกออกเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และเรื่องราวทั้งหมดที่เคยมี และก็คิดว่าจริง อะไรจริง ในขณะนั้น
ผู้ฟัง สิ่งที่มีจริงขณะนั้น คือจิต แต่สตางค์ก็ไม่มีจริง
ท่านอาจารย์ ยอมรับไหมว่า ฟังเรื่องสิ่งที่มีจริง ฟังเรื่องธรรม และตอนนี้กล่าวว่าสตางค์ไม่มีจริง สตางค์ไม่ใช่สิ่งที่มีจริง ยอมรับ หรือไม่ ไม่ยอมรับใช่ หรือไม่ จนกว่าจะยอมรับด้วยการพิจารณาของเรา ว่าอะไรจริง ในขณะที่กำลังคิดว่า “สตางค์” จิตเห็นขณะนี้ มีสิ่งที่กำลังปรากฏ กำลังเห็น คิดได้ หรือไม่ วันนี้ขอให้มีความมั่นใจ เพราะเมื่อครู่นี้ ถามว่าสตางค์มีจริงๆ หรือ ก็กล่าวว่าสตางค์ไม่มี ก็ยังสงสัยอยู่ แสดงว่ามีความเข้าใจในปรมัตถธรรม สามารถที่จะรู้ความต่างในสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะไหน ถ้าจะกล่าวว่าสิ่งที่มีจริงต้องในขณะไหน ขณะเห็น เฉพาะเห็น ชั่วขณะที่เห็น คิดนึกมีจริงๆ หรือ นี่คือแยกละเอียดไปแล้ว ว่าในขณะที่เห็น ไม่ใช่ในขณะที่คิด คิดมีจริงต่อเมื่อขณะนั้นไม่ใช่เห็น แล้วเป็นคิด ขณะนั้นคิดจึงมีจริง นี่เริ่มเป็นปัญญาของเรา ที่จะต้องคิดพิจารณา มีอย่างเดียว หรือว่ามีหลายอย่าง หลากหลาย สิ่งที่ปรากฏจริงๆ ในชีวิตแต่ละขณะ แต่ว่ายังไม่ได้มีความเข้าใจจริงๆ ว่าสิ่งที่ปรากฏคืออะไร จนกว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงแสดงพระธรรม เมื่อนั้น ก็จะมีผู้ที่สามารถเข้าใจ และเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ตามควรแก่การสะสม ผู้ที่ฟังในครั้งโน้นเป็นผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญามามาก เช่น ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ เพียงท่านได้ฟังเมื่อจบเทศนา ท่านก็สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงๆ จนกระทั่งเป็นพระอริยบุคคล เป็นสาวกรูปแรก เพราะการที่ท่านได้สะสมความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมมามาก ที่จะเข้าใจว่า เมื่อตรัสถึงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ท่านก็มีความเห็นถูก ความเข้าใจถูกจนกระทั่งประจักษ์ความจริงเป็นอริยสัจจธรรม สามารถรู้ความจริงของสภาพธรรมได้
เพราะฉะนั้น ถ้าเปรียบเทียบเรากับบุคคลในครั้งโน้น ขณะนี้ก็ได้ยินได้ฟังเรื่องธรรม เพราะฉะนั้นก็เป็นเครื่องวัดด้วยปัญญาความเข้าใจของเราเอง ไม่ต้องอาศัยคนอื่นบอกเลยว่า ขณะนี้เรามีความรู้มาก หรือน้อย หรือว่ายังไม่รู้ หรือเพิ่งเริ่มที่จะสนใจ ที่จะรู้ว่าสัจจธรรมความจริงแท้ที่สุด ก็คือลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เอง และก็ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็จะต้องมีลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งวันนี้เริ่มจะได้ทราบว่าทุกอย่างเป็นธรรม แต่ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องคิดด้วยความเข้าใจของเราเองว่า ธรรมที่ปรากฏมีเพียงลักษณะเดียวอย่างเดียว หรือว่ามีความหลากหลายมากมายหลายอย่างตามความเป็นจริง
ผู้ฟัง ก็มีลักษณะแต่ละอย่าง แต่ธรรมนั้นมากมาย หลายอย่าง หลากหลาย
ท่านอาจารย์ สิ่งที่มี ที่ปรากฏจริงๆ ลักษณะต่างกัน เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ เป็นสภาพธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่ง เริ่มรู้แล้วว่า เราเข้าใจสิ่งนี้แค่ไหน หรือว่ายังไม่ได้เข้าใจเลย ทั้งๆ ที่ก็มองเห็นอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นให้ทราบว่าขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตามีจริงๆ เป็นลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งลักษณะ ได้ยินเสียง เสียงก็มีจริงๆ ในขณะนี้เองที่กำลังได้ยินเสียง เสียงก็เป็นธรรมอีกอย่างหนึ่ง ลักษณะของเสียงต้องต่างกับสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ไม่มีอะไรพ้นจากธรรมเลย ไม่ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นธรรม เสียงก็เป็นธรรม ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม คิดมีจริง หรือไม่
ผู้ฟัง คิด มีจริง
ท่านอาจารย์ คิดมีจริง เป็นธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งต่างจากสิ่งที่ปรากฏทางตา และต่างกับเสียงที่ปรากฏทางหู เพราะฉะนั้นความรู้สึกโกรธมีจริง เป็นธรรม เพราะฉะนั้น ธรรมมีหลากหลายมากมาย แต่ประมวลลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ก็จะต่างกันเป็น ๒ อย่างใหญ่ๆ แต่ว่าถ้าต่างกันโดยละเอียดก็มากมายกว่านั้น นี่ก็เป็นสิ่งที่เราฟังไป คิดไป และเข้าใจไป เพราะถ้าเราจะใช้คำว่าสิ่งนี้เป็นนาม สิ่งนั้นเป็นรูป เรารับฟังได้ แต่ว่าเราพิจารณาในความเป็นจริงของสิ่งนั้นด้วยความเข้าใจของเรามากน้อยแค่ไหน เช่น ถ้ากล่าวถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ ขณะนี้ และก็มีลักษณะหลากหลายต่างกัน แต่ประมวลโดยประเภทใหญ่ๆ ก็จะรู้ได้ว่า มีธรรมที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น เช่น เสียง ปรากฏ ลักษณะของเสียงเป็นลักษณะที่ดัง จะมากจะน้อยก็ตามแต่ แต่ที่เราใช้คำว่า"เสียง" บ่งถึง ลักษณะของสภาวธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถปรากฏทางหูได้ ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่รู้ คือ เสียง ไม่หิว ไม่จำ ไม่โกรธ ขอถามว่า เสียงหิว เสียงโกรธ เป็นไปได้ไหม ก็ไม่ได้
เพราะฉะนั้น เสียงก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ประเภทหนึ่ง คือประเภทของธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งมีจริง คำว่า "ธาตุ" กับคำว่า"ธรรม" ความหมายเหมือนกัน หมายความถึงสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น เมื่อเป็น"ธรรม"เป็น"ธาตุ" แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ภาษาบาลีใช้คำว่า “รูป” หรือว่า “รูปธาตุ” หรือ“รูปธรรม” คือธรรมที่ไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลย ถ้าเป็นอย่างนี้ วันนี้เราตอบได้ว่า รูปธรรม หรือรูปธาตุที่มีจริงๆ ที่เรารู้เดี๋ยวนี้ ยังไม่ต้องไปตามตำราว่ามีจำนวนเท่าไหร่ แต่ที่มีจริงๆ ที่ปรากฏให้รู้ ในวันหนึ่งๆ ลองคิดว่ามีอะไรบ้าง ที่เป็นรูปธรรม หรือ รูปธาตุ สิ่งที่ไม่สามารถจะรู้อะไร แต่มีลักษณะที่ปรากฏให้รู้ได้ทุกวันๆ มีอะไรบ้าง
ผู้ฟัง มีรูปที่เกิดทางตา เสียงทางหู กลิ่นทางจมูก รสทางลิ้น แล้วก็โผฏฐัพพะทางกาย
ท่านอาจารย์ พิสูจน์ได้ใช่ไหมที่คุณปรเมศว์กล่าวว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็น ๑ รูป คนที่ไม่เห็น คือคนที่ตาบอด แต่คนตาไม่บอดต้องมีสิ่งที่ปรากฏทางตาให้เห็น เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตามีจริงเป็นรูปๆ หนึ่ง คนที่หูไม่หนวกก็มีเสียงปรากฏให้รู้ได้ เป็นรูปที่ ๒ คนที่กำลังได้กลิ่นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นกลิ่นมีจริงๆ ปรากฏ เป็นรูปที่๓ ขณะที่กำลังรับประทานอาหารก็มีการลิ้มรสต่างๆ รสหวานจะกระทบกับตัวไม่มีทางจะรู้ได้เลย แต่ต้องถึงลิ้นจึงสามารถที่จะมีการรู้รส ว่ารสนั้นหวาน รสนั้นเค็ม รสนั้นเปรี้ยว เพราะฉะนั้น รส ก็เป็นอีกรูปหนึ่งที่รู้ได้ทางลิ้น ส่วนทางกายก็มี เย็น หรือ ร้อน ขณะนั้นก็เป็นรูป อ่อน หรือ แข็ง ขณะนั้นก็เป็นรูป ตึง หรือไหว ขณะนั้นก็เป็นรูปที่สามารถจะรู้ได้ในขณะที่กระทบสัมผัสกาย
เพราะฉะนั้น ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย รูปจริงๆ ที่ปรากฏไม่ขาดเลย ก็มีเพียง ๗ รูป ทางตา ๑ รูป ทางหู ๑ รูป ทางจมูก ๑ รูป ทางลิ้น ๑ รูป ทางกาย ๓ รูป คือ เย็น หรือ ร้อน ๑ อ่อน หรือ แข็ง ๑ ตึง หรือ ไหว ๑ เป็นรูป นอกจากนั้นเป็นสภาพธรรมอื่นทั้งหมดซึ่งไม่ใช่ ๗ รูปนี้ เพราะฉะนั้น การที่จะมีรูปหนึ่งรูปใดปรากฏจะต้องปรากฏกับสิ่งที่มีจริงอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเราไม่เคยคิดเลย เพราะว่าเป็นเราหมด ที่เห็น เราเห็น เราได้ยิน เราคิดนึก เราได้กลิ่น เราโกรธ เราขยัน เราทุกอย่างหมด แต่ว่าความจริงสิ่งต่างๆ เหล่านั้นไม่ใช่ว่าไม่มี เป็นสิ่งที่มีแต่ว่าเป็น “นามธรรม” ไม่มีรูปร่าง ไม่มีหน้าตา ไม่อ่อน ไม่แข็ง ไม่หวาน ไม่เค็ม แต่ว่าธาตุชนิดนี้เป็นธาตุซึ่งเป็นสภาพที่สามารถจะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏให้รู้ ซึ่งเคยเป็นเรา แต่จริงๆ แล้วก็เป็นธาตุแต่ละอย่าง ซึ่งถ้าเป็นนามธาตุ ก็คือเป็นธาตุที่ต่างจากรูปธาตุโดยสิ้นเชิง
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นในโลกนี้ หรือในโลกไหน บนสวรรค์ หรือที่ในนรก ในน้ำ บนบก ก็จะมีธรรมที่ต่างกันเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือนามธรรมกับรูปธรรม แล้วอะไรที่ทำความเดือดร้อนให้เรา นามธรรม หรือรูปธรรม
ผู้ฟัง เป็นนามธรรม เป็นกิเลสที่เราได้สะสมมา
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่านามธรรม เป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ถ้ามีแต่รูปธรรมเท่านั้น ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีการเดือดร้อนใดๆ เลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เพราะเหตุว่านามธรรมเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งมีปัจจัยก็เกิดขึ้น เช่นเดียวกับรูปธรรมก็ต้องมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้น แต่ว่าลักษณะของสภาพธรรม ๒ อย่างที่เกิดขึ้นนี้ต่างกัน คือลักษณะของรูปธรรมนั้นไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ส่วนนามธรรมก็เป็นสภาพรู้ นี่คือการทรงแสดงธรรมทั้งหมด ก็เพื่อให้สามารถประจักษ์ความจริงของธรรม ๒ อย่างนี้ ถ้าประจักษ์ความจริงว่าเป็นเพียงธาตุ หรือว่าเป็นแต่เพียงธรรม ก็ไม่มีการที่จะเป็นทุกข์อีกต่อไป เพราะเหตุว่า ใครจะไปยับยั้งการเกิดขึ้นของธาตุแต่ละอย่างได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยนามธาตุ นามธาตุก็เกิด เมื่อมีเหตุปัจจัยของรูปธาตุ รูปธาตุก็เกิด
เพราะฉะนั้น เราก็จะเข้าถึงความหมายของคำว่า “อนัตตา” หมายความว่าสภาพธรรมมีจริง แต่ว่าสภาพธรรมนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของใครเลย บังคับบัญชาไม่ได้ แต่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งสิ้น นี่คือความหมายของ “อนัตตา” ซึ่งอนัตตาสำหรับธรรมทุกอย่าง สัพเพ ธัมมา อนัตตา เคยเป็นตัวเราทั้งหมดแต่ว่าเมื่อศึกษาธรรมแล้วก็จะรู้ว่า เป็นธรรมแต่ละอย่างซึ่งเป็นอนัตตา คงไม่มีใครอยากมีจิตใจที่ไม่ดี ริษยา มานะ ต่างๆ แต่ธาตุชนิดนี้มี เพราะฉะนั้น การสั่งสมของธาตุแต่ละอย่าง ก็ปรากฏเป็นอาการของบุคคลซึ่งมีอุปนิสัยต่างๆ กัน แต่เราเรียกชื่อ ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ชอบชื่อนั้น เพราะเป็นคนนั้น แต่ความจริงอกุศลธรรมต่างหากที่ไม่มีใครชอบเลย
เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ก็รู้จักสิ่งที่มีจริงๆ เอาชื่อออกก็เหลือแต่ธรรมทั้งหมด เมื่ออกุศลธรรมประเภทไหนเกิดขึ้น เราก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า จริงๆ แล้วไม่มีคนนั้น แต่มีธรรมซึ่งกำลังปรากฏ โดยการที่เราใช้ชื่อ นี่คือการที่เราจะค่อยๆ เข้าใจว่า จริงๆ แล้ว โลกนี้ไม่ใช่คน สัตว์ใดๆ ที่เราเคยยึดถือว่า เป็นสิ่งที่มีจริงแล้วก็เที่ยง แล้วก็ไม่แตกดับเลย แต่ก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป พอจะคล้อยตามได้ หรือยัง ต้องฟังอีกนานไหมกว่าจะรู้จริงๆ ว่า ที่เราฟังมาแล้วเราเข้าใจถึงตรงนี้จริงๆ หรือใม่ หรือว่าเพียงแต่ว่าได้ยินได้ฟัง แล้วก็ค่อยๆ เริ่มที่จะเข้าใจว่า สิ่งที่ปิดบังเรา ก็คือสิ่งที่ปรากฏ แต่ไม่รู้ความจริง รู้ความจริงเมื่อไหร่ ก็เริ่มที่จะเห็นตามความเป็นจริง ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดง ขอถามว่า ขณะนี้ เห็นอะไร
อ.วิชัย เห็นสิ่งที่ปรากฏได้ทางตา
ท่านอาจารย์ ขอถามผู้ฟังท่านอื่นว่า เหตุใดจึงทราบว่าเป็นคุณวิชัย
ผู้ฟัง เพราะคิด
ท่านอาจารย์ เห็นคุณวิชัย เห็นคุณวีณา เห็นคุณแก้วตา เห็นคุณไพน่า เพราะอะไรจึงเห็นอย่างนั้น นี้คือสิ่งที่น่าสนใจมาก เพราะว่าพอลืมตาขึ้นมา เราเห็น แล้วก็ส่วนใหญ่ทีเดียว เราก็จะมีการรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร เพราะฉะนั้นน่าใคร่ครวญ น่าคิดว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาตามที่ได้ยินได้ฟัง เป็นความจริงที่ถูกต้อง ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ เป็นรูปชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถจะกระทบกับจักขุปสาท ซึ่งอยู่ตรงกลางตา สิ่งใดก็ตามที่มีหมายความว่าสิ่งนั้นเกิด ต้องเกิดแน่นอนจึงมีในขณะนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อจักขุปสาทมี จึงสามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ แล้วจึงเห็น นี่เราจะไม่ใช้คำธรรมอะไรเลย กล่าวธรรมดาๆ ให้เข้าใจว่า ขณะนี้เป็นอย่างนี้
เพราะฉะนั้น ให้ทราบความจริงว่า สิ่งที่ปรากฏทางตากระทบกับจักขุปสาท คือสิ่งที่อยู่ตรงกลางตา สำหรับคนที่ตาไม่บอด จึงสามารถมีธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นนามธรรม เป็นธาตุรู้ที่กำลังเห็นในขณะนี้เกิดขึ้น เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ชั่วหนึ่งขณะที่มีการเห็นเกิดขึ้น แต่ชีวิตประจำวันจริงๆ ของเรา เราไม่ได้รู้ เราไม่ได้เข้าใจอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เราก็จะต้องตั้งต้นจากความที่เราไม่เคยรู้อย่างนี้มาเลย แล้วก็ได้ยินได้ฟัง แล้วก็พิจารณาต่อไป ให้เข้าใจได้ว่าทำไมเห็น และมีสิ่งที่ปรากฏเท่านั้นจริงๆ แต่ทำไมความรู้สึกของเราซึ่งไม่เคยหมดไป เห็นคน แล้วก็รู้จักชื่อด้วย เมื่อกี้ก็กล่าวหลายชื่อ เพราะว่าถ้าจะกล่าวชื่อของท่านผู้ฟังทั้งหมดในที่นี้ ก็กล่าวได้ อะไรเป็นเหตุให้เห็นอย่างนั้น ต้องมีเหตุใช่ไหม
อ.วิชัย ถ้าเป็นคนที่เคยรู้จัก ก็พอที่จะนึกถึงชื่อ หรือ รูปร่างหน้าตาได้ แต่ถ้าเป็นบุคคลใหม่ซึ่งไม่เคยรู้จักเลย ก็เป็นเพียงเห็น แต่ว่าไม่รู้จักชื่อ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น หากกล่าวตั้งแต่แรกเกิด เมื่อคลอดออกมาแล้วเราไม่รู้อะไรเลย แต่ขณะนั้น ต้องมีสิ่งที่ปรากฏทางตาแน่นอน สัจจธรรมต้องเป็นสัจจธรรม จะเป็นอื่นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขณะที่เห็น ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏกับจิตที่เห็น ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีสิ่งของ ไม่มีอะไรๆ ในนั้นเลย ขอให้พิจารณาไตร่ตรอง ว่าลักษณะที่แท้จริงของสิ่งที่ปรากฏ หามีคน สัตว์ สิ่งหนึ่งสิ่งใดในวัตถุนั้นๆ ไม่ แต่ทำไมปรากฏเป็นคน เป็นห้องประชุม เป็นอะไรมากมาย เพราะฉะนั้น ก็ต้องทราบว่า ที่เรารู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น ในขณะนี้ คุณวีณารู้สึกจะสนใจมาก กำลังฟังว่าเพราะอะไร ถ้าไม่จำว่านี่คือคุณวิชัย ถ้าไม่จำว่ารูปร่างอย่างนี้ สันฐานอย่างนี้ การคิดถึงสิ่งนั้นในการที่ทรงจำเป็นเรื่องเป็นราวจะไม่มี จะมีแต่เพียงสภาพเห็น แล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น
เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะศึกษาธรรม คือศึกษาตรง และจริงในลักษณะของสภาพธรรม เช่น รูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ แต่ขณะที่รูปธรรมปรากฏ ต้องปรากฏกับนามธรรม หรือ กับสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อเกิดแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ แล้วจะบอกว่าไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็นสิ่งนั้น สิ่งนั้นปรากฏไม่ได้ แต่เสียงปรากฏต้องมีผู้ที่กำลังได้ยินเสียง หรือมีขณะที่ได้ยินเสียง สิ่งต่างๆ กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ก็ต้องหมายความว่า มีสภาพธรรมที่เห็นสิ่งนั้น มิฉะนั้นสิ่งนั้นก็ปรากฏไม่ได้ เช่น รสหวาน ถ้าบอกว่าหวาน ก็ต้องมีสภาพธรรมที่กำลังรู้รสหวาน รสหวานขณะนั้นจึงจะปรากฏได้ เพราะฉะนั้น การที่เราได้ยินคำหนึ่งคำใด ไม่ต้องรีบร้อนไปไหนเลย มีสิ่งที่ปรากฏให้ศึกษา ให้พิจารณา ให้ไตร่ตรอง จนกว่าจะเป็นความรู้ของเราเพิ่มขึ้นจริงๆ
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 1
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 2
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 3
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 4
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 5
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 6
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 7
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 8
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 9
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 10
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 11
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 12
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 13
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 14
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 15
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 16
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 17
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 18
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 19
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 20
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 21
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 22
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 23
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 24
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 25
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 26
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 27
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 28
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 29
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 30
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 31
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 32
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 33
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 34
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 35
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 36
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 37
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 38
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 39
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 40
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 41
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 42
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 43
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 44
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 45
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 46
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 47
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 48
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 49
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 50
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 51
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 52
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 53
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 54
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 55
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 56
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 57
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 58
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 59
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 60