พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 31


    ตอนที่ ๓๑

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๖


    ท่านอาจารย์ ในขณะนี้กำลังเห็นเป็นจิตชาติอะไร จิตเห็นเป็นชาติวิบาก และจิตที่คิดเป็นวิบาก หรือไม่ จิตคิด เป็นกุศล หรืออกุศล ไม่ใช่วิบาก เพราะฉะนั้นจิตมี ๔ ชาติ กุศลเป็นจิตที่ดีงาม ซึ่งเป็นเหตุ อกุศลเป็นจิตที่ไม่ดี เป็นเหตุ วิบากเป็นจิตที่เป็นผลของกรรมซึ่งเกิดจากกุศลจิต และอกุศลจิต และกิริยาจิต คือจิตที่ไม่ใช่กุศล และอกุศล สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ จะมีกิริยาจิต ๒ ประเภท คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นวิถีจิตแรกต้องเกิดก่อนวิถีจิตอื่นๆ วิถีจิตหมายความถึงจิตที่ต้องอาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้น ซึ่งทางทั้งหมดมี ๖ ทาง คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น จิตใดที่ไม่ได้อาศัยตา ไม่ได้อาศัยหู ไม่ได้อาศัยจมูก ไม่ได้อาศัยลิ้น ไม่ได้อาศัยกาย จิตนั้นเป็นอะไร เป็นมโนทวารวิถีจิต คือ อาศัยใจเกิดขึ้น และจิตใดที่ไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตนั้นเป็นจิตอะไร เป็นภวังคจิต ทำกิจดำรงภพชาติ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่เราจะเห็นได้ว่าเป็นชีวิตประจำวัน แต่ด้วยความไม่รู้จึงยึดถือว่าเป็นเรา แต่กว่าจะหมดการยึดถือว่าเป็นเรา ต้องมีความเข้าใจขั้นฟัง ถ้าไม่มีความเข้าใจขั้นฟังโดยละเอียด ก็ไม่มีทางเลยที่จะทำให้สามารถระลึกลักษณะที่ได้ยินได้ฟัง จนกว่าจะเป็นการที่มีสภาพธรรมแต่ละอย่างที่มีจริงๆ ในขณะนั้นกำลังเป็นอารมณ์ปรากฏให้เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง รูปนั้นก็มีอายุมากกว่า ๑๗ ขณะจิตได้ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เวลาที่รูปๆ หนึ่งเกิด วิธีที่จะรู้ว่ารูปๆ นั้นดับเมื่อไหร่ ไม่สามารถจะนำสิ่งอื่นใดมาวัดได้ ต้องนำสิ่งที่สั้นกว่านั้น คืออายุของจิตมานับว่ารูปๆ หนึ่งจะมีอายุยืนยาวเท่าไหร่ เพราะรูปมีอายุมากกว่าจิต จิตต้องดับไปก่อน แม้จะเกิดพร้อมกัน แต่จิตต้องดับไปก่อน และรูปนั้นยังคงไม่ดับ จิตเกิดดับไป ๑๗ ขณะ รูปๆ นั้นจึงดับ ไม่ต้องเรียกภวังค์ ไม่ต้องเรียกสัมปฏิจฉันนะ ไม่ต้องเรียกอะไร รูปๆ นั้นก็มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ แต่ในการที่จะมีการเห็นแต่ละครั้ง หมายความว่าในขณะของรูป ๑๗ ขณะที่ยังไม่ดับ จะมีจิตอะไรเกิดบ้างที่จะทำให้มีจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสได้ โดยอาศัยรูปซึ่งสามารถกระทบทวาร หรือปสาทแต่ละอย่าง เมื่อกระทบแล้ว รูปเกิด แล้วกระทบทันที และรูปนั้นจะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ถ้าเป็นภวังค์ไปเรื่อยๆ จนหมด แล้วแต่ว่าจะถึงขณะไหนก็ตาม ก็ต้องดับ ซึ่งโดยปกติชวนะจะไม่เกิดเพียง ๑ หรือ ๒ หรือ ๓ หรือ ๔ ขณะ เพราะฉะนั้น อายุของรูปที่ต้องเหลือถึง ๗ ขณะ ชวนจิตจึงจะเกิดได้ มิฉะนั้นก็เป็นโวฏฐัพพนะ ซึ่งก็ต้องไม่ถึง ๗ ขณะแน่นอน เป็นการแสดงให้เห็นว่า เมื่อรูปกระทบปสาทหนึ่งปสาทใด วิถีจิตจะเกิดมาก หรือน้อยตามอายุของรูป ถ้ารูปดับไปแล้ววิถีจิตก็เกิดไม่ได้ แต่ขณะที่จักขุวิญญาณเกิด รูปยังไม่ดับ สัมปฏิจฉันนะจิตเกิด รูปยังไม่ดับ สันตีรณะจิตเกิด รูปยังไม่ดับ ถ้าใกล้จะดับไม่ถึง ๗ ขณะ โวฏฐัพพนะก็เกิด แล้วก็เกิดอีก แล้วก็เกิดอีกก็ได้ จนกว่ารูปจะดับ ก็เป็นเรื่องที่แสดงอายุของรูป กับแสดงกิจของจิตว่า จิตใดสามารถจะเกิดขึ้นเมื่อมีการกระทบทางตาหนึ่งทวารแล้ว จะเป็นปัจจัยทำให้จิตเกิดขึ้นทำกิจอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง ๑๗ ขณะ เรานับโดยรูปเกิด ขอเรียนถามว่า จากอตีตภวังค์ไปจนกระทั่งถึงตทาลัมพนะ ๑๗ ขณะ นี้ เราเรียกว่า ๑ วิถี หรือ ๑ วาระ

    ท่านอาจารย์ วิถีจิต หมายความถึงจิตที่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด ไม่ใช่ภวังคจิต เพราะฉะนั้นปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิต เพราะอาศัยจักขุทวารเกิดขึ้นรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา จิตเห็น จักขุวิญญาณเป็นวิถีจิต เพราะอาศัยจักขุปสาทรูป เกิดขึ้นทำกิจเห็น เพราะฉะนั้นในวาระ๑ จะมีวิถีจิตเกิด ๗ วิถี หรือ ๖ วิถี หรือ ๕ วิถี ก็แล้วแต่ เพราะวิถีหนึ่งๆ ก็ใช้ชื่อๆ หนึ่ง ปัญจทวารวิถี ๑ ขณะ จักขุวิญญาณวิถี ๑ ขณะ เป็น ๒ วิถี สัมปฏิจฉันนะจิตเป็นวิถีจิตอีก ๑ ขณะเป็น ๓ วิถี สันตีรณะจิตอีก ๑ ขณะเป็น ๔ วิถี โวฏฐัพพนะจิต ๑ ขณะเป็น ๕ วิถี ชวนจิต ๗ ขณะเป็น ๑ วิถี เพราะเป็นจิตประเภทเดียวกัน และตทาลัมพนะจิตอีก ๒ ขณะเป็น ๑ วิถี เป็น ๗ วิถีจิต หรือ ๗ ประเภทของวิถี

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นคำว่า “วิถี” เราจะต้องซอยลงไป แต่วาระนี่ทั้งหมดเลยตั้งแต่ปัญจะไปจนถึงตทาลัมพนะ

    ท่านอาจารย์ จนกว่ารูปๆ หนึ่งจะดับ จึงจะบอกได้ว่าเป็นตทาลัมพนะวาระ หรือเป็นชวนะวาระ เพราะฉะนั้น ภวังค์ที่มีรูปกระทบปสาทเป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นรู้รูปนั้นภายหลัง เริ่มจากที่จิตที่เป็นภวังค์ถูกกระทบด้วยรูป และรูปก็มีอายุ ๑๗ ขณะจิต เพราะฉะนั้น ถ้ารูปดับไปแล้ว ไม่มีทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้รูปนั้นได้ ต้องรูปเกิดแล้วยังไม่ดับ จักขุทวารวิถีจิต คือ จิตที่อาศัยตา คือจักขุปสาท จิตเห็นจึงได้เกิดเห็นรูปที่กระทบตา หรือถ้าเป็นเสียง วิถีจิตที่อาศัยเสียงก็อาศัยเสียงที่กระทบกับโสตทวารวิถีเกิดขึ้นรู้เสียงที่ยังไม่ดับ เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า ที่เราใช้คำนี้แสดงอายุของรูป ให้รู้ว่า เมื่อกระทบกับปสาทแล้วมีอะไรเกิดขึ้น ที่จิตจะเกิดขึ้นโดยอาศัยจักขุปสาทนั้น ถ้าเป็นทางตาก็เห็นรูป ถ้าเป็นทางหูก็ได้ยินเสียง ถ้าเป็นทางจมูกก็ได้กลิ่น ถ้าเป็นทางลิ้นก็ลิ้มรส ถ้าเป็นทางกายก็รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส นี้เป็นเรื่องของ ๕ ทวาร เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้ยินคำว่า “อตีตภวังค์” หมายความว่าอย่างไร เข้าใจว่าอย่างไร ไม่ใช่ชื่อเปล่าๆ แล้วไปท่อง ไปจำว่าต้องมีอตีตภวังค์ก่อนแล้วถึงจะเป็นภวังค์ต่อไป แต่ทันทีที่ได้ยินรู้ว่าทางทวารหนึ่งทวารใดใน ๕ ทวารจึงใช้คำว่า อตีตภวังค์ แสดงว่าทั้งปสาทรูป และรูปที่กระทบเกิดพร้อมกัน ทั้งปสาทรูป และรูปที่กระทบมีอายุเท่ากันคือ ๑๗ ขณะจิต เพื่อจิตจะอาศัยทวารนั้นที่ยังไม่ดับ และรูปนั้นที่ยังไม่ดับ เกิดขึ้น และรู้รูปที่กระทบ ถ้าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เห็น และก็ตลอดไปจนถึงวิถีจิตอื่นๆ ถ้าเป็นทางหูก็ได้ยิน และไม่ใช่มีเพียงแค่ได้ยิน ต้องมีจิตที่อาศัยปสาทนั้นเป็นทางเกิดขึ้น และทำหน้าที่รู้รูปนั้นโดยกระทำกิจต่างๆ เพราะฉะนั้น ถ้าได้ยินคำว่าอตีตภวังค์ ต้องหมายถึงปัญจทวาร และมีรูปกระทบกับปสาท และเกิดพร้อมกัน แล้วกระทบทันที

    ผู้ฟัง หมายความว่าในขณะนั้นมีรูป ต้องเป็นทางปัญจทวารใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ รูปใดรูปหนึ่งกระทบทวารหนึ่งทวารใด ซึ่งต้องกระทบปสาทรูป เช่น เสียง จะไปกระทบดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่ได้ เพราะไม่ใช่ปสาทรูป กระทบก็ไม่เกิดอะไรขึ้น รูปที่เป็นทวารมี ๕ รูป จักขุปสาทรูปเป็นทวารสำหรับจิตที่จะรู้รูปที่กระทบ คือ สีสันวรรณะต่างๆ โสตปสาทรูปก็เป็นทวารที่จะกระทบกับเสียง และจิตก็เกิดขึ้นรู้เสียงหลายๆ วิถีจิตไม่ใช่วิถีจิตเดียว เพราะทุกจิตที่อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเป็นวิถีจิตทั้งหมด จักขุทวารก็เป็นวิถีจิต สัมปฏิจฉันนะก็เป็นวิถีจิต จิตใดๆ ที่อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์ จิตนั้นเป็นวิถีจิต เหตุที่กล่าวทบทวนซ้ำๆ เพื่อให้ทราบว่า ถ้าแบ่งประเภทจิตเป็นประเภทใหญ่ๆ ก็เป็นภวังคจิต คือจิตที่ไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลย และส่วนวิถีจิตต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดทุกครั้งที่เกิดขึ้น แล้วแต่ว่าจะอาศัยทวารใด

    ดังนั้น ถ้าได้ยินคำว่า “อตีตภวังค์” เป็นทวารใดบ้าง หมายความถึงทวารใดถูกกระทบ ต้องเป็นปัญจทวาร แล้วแต่ว่าจะเป็นทวารหนึ่งทวารใด เวลาที่เป็นภวังค์ไม่ได้กล่าวถึงการที่กระทบกันเลย ไม่ได้กล่าวถึงทางที่จะเป็นทวารให้วิถีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น แต่ถ้าพูดถึงอตีตภวังค์ก็แสดงว่ามีอารมณ์กระทบกับทวาร อตีตภวังค์จะรู้ หรือไม่ว่ารูปกระทบทวารหนึ่งทางใด ไม่รู้เพราะเป็นภวังค์ และเมื่ออตีตภวังค์เกิดแล้วดับ หรือไม่ ต้องดับ อตีตภวังค์เป็นผลของกรรมอะไร เป็นผลของกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด กรรมมีหลายกรรม กรรมบางกรรมก็ไม่ได้ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด แต่กรรมใดที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด เมื่อปฏิสนธิจิตดับแล้ว กรรมเดียวกันนั้นก็ทำให้วิบากจิตเกิดสืบต่ออีก จะให้ผลเพียงแค่ปฏิสนธิเท่านั้นไม่พอที่เกิดมาแล้วดับไปแล้วไม่ให้ผลอะไรเลย แต่เมื่อเกิดมาแล้วต้องยังไม่ตาย ต้องดำรงภพชาติ เพราะฉะนั้น ต่อจากปฏิสนธิจิตต้องเป็นภวังคจิต จะมีปฏิสนธิจิตดับไปแล้วไม่มีภวังค์เกิดสืบต่อมี หรือไม่ ไม่มี กรรมอะไรจะให้ผลเพียงเท่านั้น เป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่วิสัย เพราะฉะนั้นเมื่อปฏิสนธิจิตดับแล้ว กรรมก็ทำให้จิตประเภทเดียวกันนั้นเกิดสืบต่อ แต่เมื่อไม่ทำปฏิสนธิกิจ ก็ทำภวังคกิจ แต่เป็นจิตประเภทเดียวกัน เป็นผลของกรรมอะไร จิตที่เกิดสืบต่อจะเปลี่ยนไม่ได้ ถ้าอกุศลกรรมให้ผล อกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิดับไป อกุศลวิบากประเภทเดียวกันนั้นก็ทำภวังคกิจ หรือถ้าเป็นผลของกุศลกรรมใด เช่น ถ้าเกิดเป็นเทวดา เป็นผลของกุศลกรรมใด ทาน หรือ ศีล หรือ ภาวนา หรืออะไรก็แล้วแต่ ทำให้ปฏิสนธิจิตในสวรรค์เป็นเทพดับไป กรรมเดียวกันนั้นที่ทำให้เกิด ก็เป็นปัจจัยให้จิตที่เกิดสืบต่อทำกิจภวังค์ ประเภทเดียวกันเลย แต่เมื่อไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจซึ่งเป็นขณะเดียวในชาติหนึ่งดับไปแล้ว ภวังคกิจ คือจิตที่เกิดต่อก็เป็นวิบากประเภทนั้น แต่ทำกิจภวังค์ดำรงภพชาติสืบต่อ

    ผู้ฟัง สมมติว่าสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ นี่เป็นอกุศลวิบาก เมื่อเป็นโวฏฐัพพนะ เหตุที่ต้องเป็นกิริยา เพราะว่าในชวนจิตต่อไปก็อาจจะเป็นทั้งกุศลจิต อกุศลจิต และกิริยาจิต ถ้าหากว่าโวฏฐัพพนะเป็นชาติอกุศล ชวนะก็ต้องเป็นอกุศลตลอดอย่างนั้นใช่ หรือไม่ ถ้าเป็นกิริยาก็จะเป็นทางให้เกิดกุศลจิต และอกุศลจิต หรือกิริยาจิต

    ท่านอาจารย์ ลองคิดอย่างนี้ว่า เมื่อจักขุวิญญาณเป็นวิบากดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนะเป็นวิบากดับไปแล้ว สันตีรณะเป็นวิบากดับไปแล้ว จะให้อะไรเกิดในเมื่อรูปยังไม่ดับ จะให้วิบากเกิดต่อไปนั้น ไม่ได้ เพราะเหตุว่าจะต้องมีวิบากที่ทำกิจต่างๆ เหล่านี้จำนวนเท่านั้นเอง ต่อไปจะทราบว่าอกุศลวิบากมีแค่ ๗ นี่ก็กล่าวเกือบจะครบแล้ว แต่ก็ยังไม่กล่าวถึงจำนวน เพียงแต่ว่าเมื่อวิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรมเกิดขึ้นทำหน้าที่เห็น เกิดขึ้นทำหน้าที่สัมปฏิจฉันนะ เกิดมาทำหน้าที่สันตีรณะแล้วดับไปแล้ว แล้วรูปก็ยังไม่ดับ แล้วจะให้จิตอะไรเกิดขึ้น เพราะว่าวิบากหมดหน้าที่แล้ว หลังจากที่โสตวิญญาญเป็นวิบากดับไป สัมปฏิจฉันนะซึ่งเป็นวิบากดับไป สันตีรณะซึ่งเป็นวิบากดับไป หมดหน้าที่ของวิบากในรูปนั้นเพราะเห็นแล้ว รับแล้ว พิจารณาแล้ว แต่รูปยังไม่ดับ เพราะจริงๆ แล้วจิตที่จะเกิดดับสืบต่อกัน ต้องเป็นอนันตรปัจจัย และ สมนันตรปัจจัย "อนันตรปัจจัย" หมายความถึงจิตเป็นธาตุที่ไม่มีใครสามารถที่จะไปเปลี่ยนแปลงปัจจัยของจิตนั้นได้เลยที่ทันทีที่จิตนั้นดับ อนันตรปัจจัยคือจิตนั้นที่จะทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นแต่ต้องดับ หรือปราศไปก่อน เพราะฉะนั้นมีปัจจัยอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งกำกับคือ “วิคตปัจจัย” หมายความว่า ทันทีที่จิตนี้ปราศไป ทันทีเลย จิตขณะต่อไปต้องเกิดขึ้น หรือ “นัตถิปัจจัย” อีกปัจจัยหนึ่ง คือทันทีที่ไม่มีจิตนั้นโดยปราศไปแล้ว เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด แต่ว่าจิตขณะต่อไปจะเกิดเป็นอะไร จะเป็นเพราะ"สมนันตรปัจจัย" อีกปัจจัยหนึ่งซึ่งทำให้ไม่สามารถที่จิตจะเกิดก้าวก่ายสับสนกันได้เลย ทันทีที่สันตีรณะจิตดับเป็นอนันตรปัจจัย และสมนันตรปัจจัยให้โวฏฐัพพนะจิตเกิด เพราะว่าเราสั่งสมมาที่จะยินดีไม่ยินดีในสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่เพียงแค่เห็น เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนะดับไปแล้ว สันตีรณะดับไปแล้ว การที่จิตจะเป็นกุศล หรืออกุศลเกิดขึ้นทันที จะเปลี่ยนชาติทันทีนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่จะยินดีพอใจ จึงมีโวฏฐัพพนะจิตเกิดขึ้นตามการสะสม ที่จะใช้คำว่ากระทำทางก็ได้ คือ เป็นปัจจัยที่เป็นบาทเฉพาะของกุศลจิต และอกุศลจิตที่จะเกิดต่อ ใช้คำว่า “ชวนะปฏิปาทกะ” เป็นบาทเฉพาะของชวนจิตที่จะเป็นกุศล หรืออกุศลเพราะการสะสมมา ถ้าสะสมมาที่จะเป็นโลภะในสีนี้ที่ปรากฏ เมื่อโวฏฐัพพนะจิตดับไปก็เป็นบาทเฉพาะให้โลภมูลจิตพอใจในสีนั้น ถ้าไม่ใช่สีนั้นอาจจะไม่พอใจก็ได้ เป็นโทสะก็ได้ เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นถึงการที่ชีวิตเราในวันหนึ่งเป็นไป เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ไม่ใช่แค่นั้น แต่จะต้องมีกุศลจิต และอกุศลจิตต่อทุกครั้งหลังจากที่วิบากจิตดับไปแล้ว ก็จะเป็นกิริยาจิต กุศลจิต หรือ อกุศลจิตสืบต่อ เมื่อรูปยังไม่ดับ

    ผู้ฟัง เป็นไปโดยธรรมชาติของจิตที่เป็นไปตามนี้

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นอย่างนี้

    ผู้ฟัง ในขณะที่เป็นโวฏฐัพพนะ เพราะในขณะที่เป็นวิบากมาเรื่อยๆ ตอนที่จะเป็นกุศลจิต อกุศลจิต กิริยา ที่จะเปลี่ยนไปโดยทันทีคงเป็นไปไม่ได้ ก็จะต้องมีการสะสมซึ่งเป็นโวฏฐัพพนะ เป็นกิริยาจิตเพื่อที่จิตขณะต่อไปจะเป็นกิริยาก็ได้ เป็นกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ และด้วยเหตุนี้โวฏฐัพพนะจึงเป็นจิตพิเศษที่จะเป็นทางที่จะแยก ...

    ท่านอาจารย์ เป็นจิตที่ไม่ใช่วิบากจิต ไม่ใช่กุศลจิต และไม่ใช่อกุศลจิต แต่เป็นกิริยาจิตเพราะเกิดขึ้นทำหน้าที่เฉพาะขณะนั้นเท่านั้น ไม่ใช่ผลของกรรมหนึ่งกรรมใด

    ผู้ฟัง เพื่อต่อไปจะเป็นจิตใดจิตหนึ่งซึ่งไม่ใช่วิบาก

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าเป็นวิบากก็ต้องเป็นผลของกรรมหนึ่งกรรมใด

    ผู้ฟัง ที่อตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ สามารถที่จะบอกได้ หรือไม่ ว่าเป็นวิบากประเภทไหนคือจะเป็นอกุศลวิบาก หรือกุศลวิบาก

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นไปตามปฏิสนธิจิต ถ้าเกิดเป็นนกเป็นผลของกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม

    ผู้ฟัง เป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ เป็นผลของอกุศลกรรม ต่อไปนี้ต้องกล่าวให้เต็ม กุศลเป็นเหตุ อกุศลเป็นเหตุ กุศลวิบากเป็นผล อกุศลวิบากเป็นผล จะใช้วิบากสั้นๆ เป็นกุศลไม่ได้ กุศลวิบากก็ต้องกุศลวิบาก คือ แสดงให้เห็นว่าเป็นผลของกุศล ถ้ากล่าวสั้นๆ เป็นกุศล ก็แสดงถึงตัวเหตุ
    ปฏิสนธิจิตของนกเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นอกุศลวิบาก

    ท่านอาจารย์ ภวังคจิตของนก

    ผู้ฟัง เป็นอกุศลวิบาก

    ท่านอาจารย์ จิตเห็นของนก

    ผู้ฟัง ไม่แน่

    ท่านอาจารย์ ใช่

    ผู้ฟัง เรียนถามคุณวิชัย รูปในชาตินี้ขณะแรกที่เกิดได้แก่รูปอะไรบ้าง

    อ.วิชัย รูปที่จะเกิด ต้องเกิดในภูมิที่มีรูป คือ ปัญจโวการภูมิ หรือ เอกโวการภูมิที่เป็นภูมิของอสัญญสัตตาพรหม ปัญจโวการภูมิ หมายถึงภูมิที่มีขันธ์ ๕ แต่มีอีกภูมิหนึ่งเป็นอรูปพรหมจะไม่มีรูปเลยในภูมินั้น สำหรับขณะแรกที่ปฏิสนธิ ขณะนั้นมีกรรมหนึ่งเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น เป็นจิตที่เกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติที่แล้ว ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตที่จะเกิดต้องอาศัยที่เกิด จิตจะเกิดลำพังโดยที่ไม่มีที่อาศัยคือรูป เป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้น รูปที่เกิดพร้อมปฏิสนธิก็เพราะกรรมนั้นเป็นปัจจัยให้เกิดรูป เรียกว่า กัมมชรูป แต่รูปที่เป็นกัมมชรูปก็แล้วแต่ว่าเกิดในภูมิใด ถ้าเกิดในภูมิมนุษย์ที่เป็นคัพภเสยยกะ คือ บุคคลที่นอนในครรภ์ จะมีรูปที่เกิดจากกรรม ๓ กลุ่ม เพราะเหตุว่ารูปที่จะเกิดได้ต้องเกิดเป็นกลุ่ม หรือ ภาษาบาลีเรียกว่าเป็นกลาป (กะ-ลา-ปะ) กลุ่มของรูปที่เล็กที่สุดจะมี ๘ รูป มีมหาภูตรูป ๔ คือธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ สี กลิ่น รส โอชา อย่างน้อยที่สุดรูปที่เกิดต้องมี ๘ รูปนี้ แต่รูปที่เกิดจากกรรมต้องมีชีวิตตินทริยรูปเกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่าเป็นรูปที่เกิดจากกรรม แต่รูปที่เกิดในบุคคลที่นอนในครรภ์ สามกลุ่มนี้ คือ ต้องเป็นรูปที่เป็นหทยทสกรูป เพราะเหตุว่า จิตที่จะเกิดต้องอาศัยหทยรูปเกิด แต่หทยรูปเกิดจะเกิดเพียงลำพังรูปเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยรูปอื่นๆ ด้วย ดังนั้น กลุ่มของรูปที่เป็นหทยจึงมีทั้งหมด ๑๐ รูป คืออวินิพโพครูป ๘ ชีวิตินทริยรูป ๑ และหทยรูป ๑ นี้คือกลุ่มรูปหนึ่ง ซึ่งปฏิสนธิจิตต้องอาศัยหทยรูปเกิด อีกกลุ่มหนึ่ง คือ “กายทสก” เป็นกลุ่มของรูป ที่มีกายปสาทเกิดร่วมด้วย และอีกกลุ่ม มี ภาวรูป ได้แก่ รูปหญิง หรือ รูปชาย เกิดร่วมด้วย เรียกว่า “ภาวทสก” ต้องเกิดรูปใดรูปหนึ่ง สำหรับผู้หญิง คือ อิตถีภาวรูป สำหรับผู้ชาย คือ ปุริสภาวรูป นี้ คือรูปสำหรับบุคคลที่เกิดในครรภ์ แต่ถ้าเป็นโอปปาติกะ จะมีกลุ่มรูปเกิดมากกว่านั้น อาจจะมีปสาทรูป ครบ ทั้ง ๕ ในขณะแรกคือขณะปฏิสนธิ

    ผู้ฟัง กลุ่มของหทยรูปก็ต้องมีอายุด้วยเช่นกันใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ สภาวรูปที่เกิดขึ้นทุกรูปไม่ว่าจะเมื่อไหร่ ขณะไหน มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ จะเรียกชื่อจิต ๑๗ ขณะ หรือไม่เรียกชื่อก็ได้ ขณะที่กำลังเป็นภวังค์นอนหลับสนิท รูปใดที่เกิดพร้อมกับภวังค์ขณะไหนก็นับต่อไปอีก ๑๗ ขณะก็ดับไป ก็ยังคงเป็นภวังค์ๆ อยู่จนถึง ๑๗ ขณะก็ดับ

    ผู้ฟัง ปฏิสนธิจิตก็กระทบกับหทยรูป ๑ ขณะ

    ท่านอาจารย์ เหตุใดใช้คำว่ากระทบ

    ผู้ฟัง เพราะว่าเป็นที่เกิดของจิต

    ท่านอาจารย์ เป็นที่เกิด ไม่ได้กระทบ อาศัยเกิดพร้อมกันเป็นสหชาตปัจจัย

    ผู้ฟัง หลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ภวังคจิตก็เกิดต่อ

    ท่านอาจารย์ เกิดที่หทยรูป แต่ไม่ได้หมายความว่ากระทบ

    ผู้ฟัง ซึ่งมีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง หลังจากนั้นแล้ว ก็ภวังคุปัจเฉทะ ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถ้ายังไม่มีอารมณ์อื่นก็ยังเป็นภวังค์ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้อารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์เมื่อใด เมื่อนั้นจึงไม่ใช่ภวังค์ ถ้าเป็นทางใจไม่ได้มีอารมณ์ที่เป็นรูปมากระทบเลย เพราะฉะนั้นไม่มีอตีตภวังค์ที่จะต้องไปนับอายุของรูป ก็มีภวังคจลนะก่อน ไหว เพื่อที่จะรู้อารมณ์ใหม่ที่ไม่ใช่อารมณ์ของปฏิสนธิ เมื่อภวังคจลนะดับก็เป็นปัจจัยให้ภวังค์อีกหนึ่งขณะเกิดสืบต่อเป็นภวังคุปัจเฉทะ คือ สิ้นสุดกระแสภวังค์ จะเป็นภวังค์อีกต่อไปไม่ได้เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 135
    6 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ