พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 34
ตอนที่ ๓๔
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๖
ผู้ฟัง ที่บอกว่าเรายังไม่รู้ว่าเป็นนก ยังไม่รู้ว่าเป็นหน้าต่าง พัดลม จนกว่าจะมีมโนวิญญาณเข้ามาเกี่ยวข้อง
ท่านอาจารย์ สำหรับทางจักขุทวาร เข้าใจหมดแล้วใช่ไหม รูปดับ หรือยัง
ผู้ฟัง รูปดับ
ท่านอาจารย์ ดับเมื่อไหร่
ผู้ฟัง รูปดับต้อง ๑๗ ขณะก่อนใช่ไหม
ท่านอาจารย์ หมายความว่ารูปดับไปแล้วเมื่อจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ถ้าในขณะนี้ถ้าเราเริ่มต้นตั้งแต่ อตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ ปัญจทวาราวัชชนะ จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ ชวนะ ๗ ขณะ ตทาลัมพนะ ๒ ขณะ รูปดับเมื่อใด ดับพร้อมกันกับตทาลัมพนะ นี่คือจักขุทวารวิถีจิต หมายความว่า จิตทุกวิถีที่เกิดโดยอาศัยทวารเป็นวิถีจิตทั้งหมด นับได้ ๗ ประเภท ไม่ใช่ประเภทเดียว คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต หรือจะใช้คำว่าจักขุทวาราวัชชนจิตถ้าเป็นทางตา เป็นวิถีประเภทหนึ่ง มีหนึ่งขณะ หลังจากนั้นก็เป็นจักขุวิญญาณเป็นวิถีจิตอีกประเภทหนึ่ง กล่าวถึงประเภทก่อน อีกหนึ่งขณะ ต่อจากนั้นสัมปฏิจฉันนะก็เป็นวิถีจิตอีกประเภทหนึ่ง แต่ทั้งหมดนี้ต้องเป็นวิถีเพราะอาศัยทวารเดียวกัน เมื่อรูปดับแล้วจิตต่อไปเป็นอะไร
ผู้ฟัง มโนทวาร
ท่านอาจารย์ ยังไม่ถึงมโนทวาร คือต้องมีความเข้าใจที่ชัดเจนว่าขณะนี้เรากำลังกล่าวถึงจิตที่เป็นวิถีจิต คือ ต้องเกิดดับสืบต่อโดยอาศัยทวารหนึ่งทวารใดรู้อารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ เพราะว่าขณะที่เป็นภวังค์ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น หลับสนิทเลย สีไม่ปรากฏ เสียงไม่ปรากฏ กลิ่นไม่ปรากฏ นั่นคือไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใด
ผู้ฟัง แล้วกุศล อกุศล เกิดเมื่อใด
ท่านอาจารย์ เป็นวิบากก่อน ชาตินี้ตั้งต้นด้วยวิบากจิต คือปฏิสนธิ เป็นผลของกรรมหนึ่ง แต่กรรมไม่ได้ทำให้เพียงปฏิสนธิจิตเกิดขณะเดียวไม่พอ ดังนั้น เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมนั้นก็ยังทำให้วิบากจิตประเภทเดียวกันกับที่ทำปฏิสนธิ เพราะเป็นผลของกรรมเดียวกัน เกิดสืบต่อดำรงภพชาติ โดยไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจ เพราะว่าไม่ได้สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เพราะฉะนั้นจิตประเภทเดียวกันนี้ ที่เกิดจากกรรมเดียวกันนี้ เกิดขึ้นหลังจากปฏิสนธิจิต หรือปฏิสนธิกิจแล้ว จิตนั้นทำกิจอะไร
ผู้ฟัง ภวังค์
ท่านอาจารย์ ภวังคกิจ ทำกิจภวังค์ ยังไม่มีอะไรมากระทบเลย ต้องเป็นภวังค์ไปเรื่อยๆ เกิดดับไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเปลี่ยนจากอารมณ์ของภวังค์ ถ้าเป็นผลของอดีตกรรม ที่จะทำให้เห็น รูปารมณ์ คือ สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ แต่เกิดก่อนนี้ กระทบกับจักขุปสาท ถ้าคนนั้นไม่มีจักขุปสาท จะไม่มีการเห็นเลย หรือถ้าเป็นเสียงที่กำลังได้ยินในขณะนี้ เสียงก็ต้องเกิดก่อน และกระทบกับโสตปสาทจึงใช้คำว่า"อตีตภวังค์" แสดงว่าเสียง และโสตปสาทเกิดตรงนั้น คือ ตรงอตีตภวังค์ เพื่อที่จะแสดงว่ารูปอายุ ๑๗ ขณะจิต จะดับขณะใด เพราะฉะนั้นเมื่อเวลาที่จะต้องได้ยินจะเป็นภวังค์ต่อไปไม่ได้แล้ว กระทบแล้วก็เป็นอตีตภวังค์ อตีตภวังค์ดับแล้วอะไรเกิดต่อ ภวังคจลนะ "จลนะ" แปลว่าไหว ในที่นี้ไม่ใช่รูปไหว แต่หมายความว่า ไหว คือ ใกล้ที่จะสิ้นสุดความเป็นภวังค์ จะเป็นภวังค์ต่อไปอีกไม่ได้ จิตก็ไม่ไหวเพราะจิตไม่ใช่รูป แต่แสดงให้เห็นว่าเมื่อเป็นภวังค์อยู่ และก็มีอารมณ์กระทบจะเห็นทันทีไม่ได้ ต้องเป็นไปตามลำดับจริงๆ เพราะกำลังเป็นภวังค์อยู่ จากอตีตภวังค์ที่ดับไป ภวังค์ที่สืบต่อก็คือภวังคจลนะ แต่ยังเป็นภวังค์ ยังไม่มีอารมณ์ใหม่เลย ยังเป็นอารมณ์เดียวกับภวังค์ และเมื่อภวังคจลนะดับแล้ว อะไรเกิดต่อ
ผู้ฟัง ต้องเรียงตามลำดับอย่างนี้
ท่านอาจารย์ ต้องมีภวังค์ ๓ ขณะทางปัญจทวาร คืออตีตภวังค์๑ ภวังคจลนะ๑ ภวังคุปัจเฉทะ๑ ภวงฺค (ภวังค์) + อุปจฺเฉท (เข้าไปตัด) ตัดกระแสภวังค์ หรือสิ้นสุดกระแสภวังค์ หมายความว่า ถ้าได้ยินคำว่า ภวังคุปัจเฉทะเมื่อใด จะเป็นภวังค์ต่อไปไม่ได้เลยต้องเป็นวิถีจิตทางหนึ่งทางใด เพราะฉะนั้น ถ้าได้ยินคำว่าจักขุวิญญาณ เป็นภวังค์ หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่เป็น
ท่านอาจารย์ เป็นภวังคุปัจเฉทะ หรือไม่
ผู้ฟัง ก็ไม่เป็น
ท่านอาจารย์ เป็นอะไร ถ้าไม่ใช่ภวังค์
ผู้ฟัง ก็เรียกว่าเป็นปัญจทวาราวัชชนจิต
ท่านอาจารย์ เป็นวิถีจิต ถ้าไม่ใช่ ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ ๓ ขณะนี้แล้ว ต้องเป็นวิถีจิตทั้งหมด แล้วแต่ว่าจะเป็นทางไหน ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ดังนั้น ถ้ากล่าวถึง ๕ ทวาร ตั้งต้นจากอตีตภวังค์ รูปเกิดแล้ว ทั้งปสาทรูป และสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะที่เห็น แต่ขณะนั้นยังไม่เห็น แต่เกิดแล้วในขณะนั้น กระทบกัน เกิดตรงนั้นเป็นอตีตภวังค์ ต่อจากอตีตภวังค์ ทบทวนอีกครั้ง ภวังคจลนะดับไปแล้ว ภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว เป็นภวังค์ต่อไปได้ไหม ไม่ได้ ต้องเป็นวิถีจิตเพราะอาศัยทวาร เหตุที่ใช้คำว่าวิถีเพราะอาศัยทวาร ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นกิริยาจิตหมายความว่าไม่ใช่วิบาก ในขณะที่ปฏิสนธิเป็นวิบาก ภวังค์เป็นวิบาก อตีตภวังค์ ชื่อว่าภวังค์เป็นวิบากหมด และไม่รู้อารมณ์อื่นเลยนอกจากอารมณ์ของปฏิสนธิ เพราะฉะนั้น อตีตภวังค์เป็นวิบาก ภวังคจลนะเป็นวิบาก ภวังคุปัจเฉทะเป็นวิบากดับไปแล้ว จักขุทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตแรก เราต้องกล่าวถึงวิถีจิตแรกเสมอ เพราะถ้าวิถีแรกไม่เกิดวิถีหลังๆ จะเกิดไม่ได้เลย
ผู้ฟัง ตอนที่เป็นปัญจทวาราวัชชจิตนี่จริงๆ ก็คือจักขุทวาราวัชชนจิตใช่ไหม
ท่านอาจารย์ สำหรับทางตา
ผู้ฟัง ทำไมถึงเรียกจิตหนึ่งเป็นกิริยา อีกจิตหนึ่งเป็นวิบาก
ท่านอาจารย์ เราจึงต้องทราบเรื่องชาติของจิต คือ เราไม่รู้เรื่องจิตเลย เกิดมาดับไปวันหนึ่งๆ ไม่รู้ว่าเป็นอะไร ชาติ คือ การเกิดของจิต มี ๔ ชาติ เมื่อเกิดเป็นกุศล แล้วจะเป็นอกุศล หรือเป็นวิบาก หรือกิริยาไม่ได้ ต้องเป็นกุศลแล้วก็ดับ หรือจิตเกิดขึ้นเป็นอกุศล ขณะนั้นจะป็นกุศล เป็นวิบาก เป็นกิริยาก็ไม่ได้ นี่คือเหตุ ๒ เหตุซึ่งจะทำให้เกิดวิบากจิตซึ่งเป็นผล ข้อสำคัญก็คือ ต้องทราบว่า การศึกษาธรรมเพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งต้องกล่าวย้ำกันแล้วย้ำกันอีกเสมอๆ เพราะเหตุว่า มิฉะนั้นแล้ว เราก็จะหลงไปคิดเรื่องอื่นซึ่งไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วลืมว่าสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เป็นธรรม ที่จะศึกษา ที่จะฟัง ที่จะพิจารณาให้เข้าใจ เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ไม่ว่าเราจะศึกษามากสักเท่าใดก็ตาม ก็ไม่พ้นจากสิ่งที่กำลังปรากฏในชีวิตประจำวัน ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะว่ามี ๖ ทางเท่านั้นที่สภาพธรรมจะปรากฏได้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะเบื่อหน่ายว่าฟังแล้วก็ฟังอีก เรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนกว่าจะรู้ตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้ว วันทั้งวันก็มีสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ตลอดเวลา แต่ไม่เคยรู้ นี่เป็นสิ่งซึ่งเราจะได้พิจารณาว่าการฟังธรรมในครั้งโน้นกับในครั้งนี้จะต่างกันตรงที่ว่าเราจะไปสนใจเรื่องคำที่เรามองเห็นในหนังสือ แต่เราไม่ได้สนใจที่จะเข้าใจว่าสิ่งที่เราเห็นในหนังสือก็คือคำที่แสดงลักษณะความหมายของสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นการที่พระธรรมกว้างขวางมาก ก็เพราะเหตุว่าลักษณะของสภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้น หลากหลายมากจริงๆ ไม่รู้จบ หลากหลายตั้งแต่ ๒,๕๐๐ กว่าปี และต่อๆ ไปจนกระทั่งถึงพระศาสนาอันตรธานก็ไม่มีวันหยุด เพราะฉะนั้นความหลากหลายก็หลากหลายเมื่อเกิดขึ้นให้รู้ แต่ว่าสิ่งที่มีอยู่ในจิตใจซึ่งยังไม่ได้เกิดขึ้นเลย ใครจะรู้ ถ้าไม่เกิดขึ้น แม้แต่ความคิดนึก ซึ่งก็คิดต่างๆ กันไป วิจิตรต่างกันไป จุดประสงค์ก็คือให้ทราบว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน จึงจะเป็นการรู้ว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ด้วยพระปัญญาที่ได้ทรงบำพ็ญพระบารมีมาแล้ว และทรงพระมหากรุณาแสดงพระธรรมให้คนที่มีโอกาสได้ยินได้ฟัง เพราะมีปัจจัยที่สะสมมาแล้วที่จะได้พิจารณา และสะสมความเข้าใจถูก ความเห็นถูกในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ถ้าไม่มีจิตขณะแรกที่เกิดก็จะไม่มีใครมานั่งอยู่ตรงนี้เลย เพราะฉะนั้นจิตเกิดดับสืบต่อไม่ขาดสายเลย ไม่ใช่แต่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว ขณะจิตที่เกิดก็ผ่านไปแล้ว และก็ชาติหนึ่งก็มีเพียงขณะเดียวเท่านั้น จะไม่มีถึงสองสามขณะเลย จนกว่าจะจากโลกนี้ไปเมื่อใด จุติจิตเกิดแล้วดับ ทำให้สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อ แต่จะเป็นใครที่ไหนก็ไม่รู้ ถ้าชาติหน้าเกิดมาจะไม่รู้เลยว่าเคยนั่งอยู่ที่นี่ เคยได้ยินได้ฟังพระธรรมตรงนี้ ไม่มีการที่จะคิดได้ ถ้าจากโลกนี้ไปวันนี้ หรือพรุ่งนี้ แล้วก็ไปเกิดที่ไหน เป็นอะไร ก็ไม่สามารถที่จะย้อนระลึกถึงขณะที่กำลังเคยได้ยินได้ฟังธรรม
เพราะฉะนั้น ก็ขอตั้งต้นตั้งแต่ตอนหลับ วันนี้ทุกคนก็หลับมาแล้ว จิตที่หลับ จิตทุกประเภทต้องมีกิจการงาน มีหน้าที่ จิตที่เกิดขึ้นโดยไม่ทำหน้าที่อะไรเลยไม่ได้ จิตทำหน้าที่ต่างๆ แม้ว่าจิตจะหลากหลายอย่างไรก็ตาม แต่หน้าที่การงานของจิตจะมีเพียง ๑๔ กิจ (กิจจะ) คือ ๑๔ หน้าที่ จิตที่เกิดขึ้นทุกขณะต้องทำหน้าที่หนึ่งหน้าที่ใดใน ๑๔ กิจ และการทำหน้าที่เลือกทำตามใจชอบไม่ได้ วันนี้อยากจะทำหน้าที่นั้น พรุ่งนี้อยากจะทำหน้าที่โน้น เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง และก็เป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชา หรือเปลี่ยนแปลงได้เลย แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อที่จะตรัสรู้ความจริงของธรรม ไม่ใช่ไปเปลี่ยนธรรม ใครก็เปลี่ยนแปลงธรรมไม่ได้เลย แต่สามารถจะค่อยๆ เข้าใจธรรมที่เกิด กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ เพราะฉะนั้น ก็ให้ทราบว่าขณะนี้ไม่ใช่เรา ที่เคยเป็นเราทั้งหมด แต่เมื่อศึกษาธรรมก็มีความเข้าใจที่จะสะสมสืบต่อไปให้มีความเข้าใจถูกต้องจริงๆ ว่าขณะนี้เป็นธรรม เมื่อฟังธรรม ก็ให้เข้าใจให้ถูกว่าขณะนี้เป็นธรรม ทั้งหมดที่จะเกิดขึ้น กำลังเกิดในขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมด เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังหลับ เป็นธรรม หรือไม่ เป็น เป็นเรา หรือไม่ ถ้าตอบว่าเป็นธรรม คือ จะไม่ใช่เราเลย ธรรมก็คือธรรม คำพูดไหนกล่าวแล้วจริงก็จะต้องไม่เปลี่ยน กำลังหลับก็เป็นธรรม ขณะที่หลับเป็นจิต หรือเจตสิก เป็นจิต และเจตสิกใช่ไหม เพราะว่าจิตจะเกิดโดยไม่มีเจตสิกไม่ได้ ถึงแม้เราจะกล่าวชื่อของจิตขณะใดก็ตาม ให้ทราบว่าขณะนั้นกล่าวรวมถึงเจตสิกด้วย เช่นคำว่าจิตตุปาทะ มาจากคำสองคำ (จิตตะ กับ อุปาทะ) อุปาทะแปลว่าเกิด เพราะฉะนั้นจิตตอุปาทะคือจิตเกิดขึ้น แต่ในที่นั้นต้องรวมเจตสิกด้วย ทั้งจิต และเจตสิกที่เกิดขึ้นในขณะนั้นที่เป็นจิตตุปาทะ ถ้ามีความเข้าใจที่มั่นคงจริงๆ จะถามแบบไหนอย่างไร ก็สามารถที่จะตอบได้ว่า เป็นจิต และเจตสิกแน่นอน เจตสิกขณะนั้นหลับ หรือว่าเกิดขึ้นทำหน้าที่การงานของเจตสิก
ผู้ฟัง ถ้าจิตไม่หลับเจตสิกก็ต้องไม่หลับ
ท่านอาจารย์ คำตอบ ถ้าจิตไม่หลับเจตสิกก็ไม่หลับ เพราะฉะนั้นในขณะที่หลับ เจตสิกหลับ หรือว่าเกิดขึ้นทำกิจการงาน
ผู้ฟัง เกิดขึ้นทำกิจการงาน
ท่านอาจารย์ ถ้ามีจิตเกิด ก็ต้องมีเจตสิกเกิดด้วย จะมีแต่จิตเกิดโดยไม่มีเจตสิกเกิดไม่ได้เลย แต่ทั้งจิต และเจตสิกทำภวังคกิจ ที่เราใช้คำว่าหลับหมายความว่า ไม่รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่มีเลยที่อารมณ์ของโลกนี้จะปรากฏได้ เพราะขณะนี้ เห็น ไม่ใช่หลับ ได้ยิน ไม่ใช่หลับ ถ้าได้กลิ่น ไม่ใช่หลับ ได้ลิ้มรส ไม่ใช่หลับ รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายก็ไม่หลับ คิดนึกก็ไม่หลับ นอกจากนั้นแล้วขณะนั้นเป็นภวังคจิต เพราะว่าไม่มีการรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทางเลย ถ้ามีคำถามก็ขอเชิญ เพราะว่าเป็นเรื่องที่เราฟังเพื่อความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งถ้าฟังมากก็สามารถที่จะมีการระลึกคือสามารถรู้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้
ผู้ฟัง ในขณะที่หลับ และเป็นภวังคจิต เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยอย่างน้อย ๗ ดวง ก็เป็นเจตสิกตามปกติที่เกิดร่วมด้วยใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ใช่ แต่เนื่องจากจิตเป็นภวังค์ เพราะฉะนั้นเจตสิกในขณะนั้นก็ไม่สามารถที่จะรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตเป็นอย่างไรเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นอย่างนั้น
ผู้ฟัง ขณะที่หลับมีเจตสิกเกิดขึ้นมากกว่า ๗ ดวง หรือไม่
ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะว่าจิตที่จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ดวงมีเพียง ๑๐ ประเภท เพราะฉะนั้นก็ใช้ชื่อว่า ทวิ (สอง) ปัญจ (ห้า) ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ได้แก่ จิตเห็น กุศลวิบาก๑ อกุศลวิบาก๑ จิตได้ยิน กุศลวิบาก๑ อกุศลวิบาก๑ จิตได้กลิ่น กุศลวิบาก๑ อกุศลวิบาก๑ จิตลิ้มรส กุศลวิบาก๑ อกุศลวิบาก๑ จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กุศลวิบาก๑ อกุศลวิบาก๑ เมื่อกล่าวคำแรกจักขุวิญญาณ ทุกคนก็ต่อได้เลย แต่ในพระไตรปิฎก พระผู้มีพระภาคทรงแสดงครบ ไม่ได้เว้นไว้เลย เพื่ออะไร เพื่อถ้าสามารถที่จะรู้ได้ ในขณะที่รู้ตรงลักษณะของแม้แต่คำที่ได้ยิน เช่น จิตเห็น หรือขณะเห็น สามารถที่จะรู้ในสภาพ หรือสภาวะที่เห็น เป็นสภาพรู้ หรือเป็นธาตุรู้ เป็นนามธรรม ขณะนั้นก็เหมือนกับเป็นการที่ทรงแสดงถึงลักษณะของสภาพธรรมที่มี ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้ผู้ที่ได้สะสมความเห็นถูกมาแล้ว สามารถที่จะเกิด และเข้าใจตรงลักษณะนั้นได้ ซึ่งก็เป็นการศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนี้จริงๆ
วันนี้ทุกคนก็ตื่น ไม่ได้รู้เลย ไม่ได้คิดเลย ไม่ได้ใส่ใจเลย ว่าลักษณะของสภาพธรรมในขณะที่ตื่นต่างกับขณะที่หลับ นี่คือความละเอียด ที่ทรงแสดงเรื่องลักษณะของสภาพธรรมตั้งแต่เกิดจนตาย ในชีวิตประจำวันทุกขณะ แสดงให้เห็นว่าถ้าเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะ สามารถที่จะรู้ความต่างของขณะที่หลับกับขณะที่ตื่น เพราะว่ามีสภาพธรรมปรากฏทางหนึ่งทางใด เช่น อาจจะเป็นการได้ยินเสียง จิตได้ยินเกิดขึ้น หรือ จิตเห็นเกิดขึ้น จิตคิดนึกเกิดขึ้น หรือเกิดได้กลิ่น จิตได้กลิ่นเกิดขึ้น หรือขณะนั้นคงยากที่จะเป็นจิตที่ลิ้มรส แต่ก็จะมีจิตที่สามารถรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย เพียงเท่านี้ ก็แสดงความต่างของความละเอียดแล้ว ว่าถ้าเป็นปัญญาที่ไม่ละเอียด ฟังแล้วก็จำแล้วก็เข้าใจก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดก็จะรู้ว่าแม้ขณะนั้นปัญญาพร้อมสติสัมปชัญญะก็สามารถที่จะเกิดรู้ลักษณะของความต่างของธรรมคือลักษณะของจิตที่ต่างกัน ขณะที่เป็นจิตที่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ใช่ขณะที่หลับ เพราะฉะนั้น ขณะที่ไม่ใช่ภวังคจิตเป็นจิตประเภทที่ทำกิจหน้าที่อื่น นี้เป็นการศึกษาที่เรายังไม่กล่าวถึงละเอียดเป็นขณะจิต เพียงแต่ว่าในวันนี้ที่เราเกิดมา และเราก็หลับไป และเราก็ตื่นขึ้น ความรู้ของเรามีบ้างไหม มากน้อยแค่ไหน ฟังแล้ว ศึกษาแล้ว แต่ความรู้ของเรายังเป็นระดับที่ฟังเรื่องราว จำเรื่องราว แม้ว่าลักษณะของสภาพธรรมกำลังปรากฏ แต่ก็ไม่ได้รู้ความจริงของสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้นก็เป็นการที่เราจะเห็นว่า พระศาสนามี ๓ ระดับ ขั้นปริยัติ คือ ฟังเรื่องราวเข้าใจ เพราะบางคนจะฟังเรื่องราวก็ยังยากที่จะเข้าใจ ต้องมีการสะสมแม้การฟังที่จะเข้าใจเรื่องราวของสภาพธรรม และก็สามารถที่จะเข้าใจถูกต้องได้ว่า ขณะที่กำลังฟังเข้าใจเรื่องราว ไม่ใช่ขณะที่กำลังเข้าใจตัวจริงๆ ของสภาพธรรมที่กำลังทำหน้าที่ ทางหนึ่งทางใด ทางตา หรือ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้นก็ยังไม่ถึงกาลที่สามารถจะประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรม ซึ่งเป็นสัจจธรรม ซึ่งเมื่อประจักษ์แจ้งแล้วก็สามารถที่จะดับกิเลสเป็นสมุทเฉทถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้
นี่คือการที่เราจะเข้าใจถึงจุดประสงค์การศึกษาของเรา ว่าสิ่งที่เราจะศึกษาจริงๆ ไม่ได้อยู่ไกล มีอยู่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ต้องเข้าใจว่าที่เราศึกษาก็เพื่อให้ถึงการที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะเห็น จิตทำกิจทัศนกิจ "ทัศนะ" ก็คือ"เห็น"ในภาษาไทย ในขณะนี้จิตกำลังทำทัศนกิจ หรือไม่ เราเห็น หรือ คือการที่ฟังจนกระทั่งสามารถรู้จากการฟังว่า ไม่มีเราเมื่อไหร่ เวลาที่มีสติสัมปชัญญะระลึกลักษณะของสภาพธรรม รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมใดก็มีปัจจัย คือความเข้าใจถูกขั้นการฟัง ทำให้สามารถที่จะสละความเป็นเราได้ เพราะว่าความเป็นเราลึกมาก กี่ชาติมาแล้วที่เป็นเราโดยที่ไม่รู้ขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะลิ้มรส ขณะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ขณะคิดนึก ทุกขณะที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ ยังไม่ได้รู้ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น จากการศึกษาค่อยๆ เข้าใจ ก็คือสิ่งที่จะค่อยๆ โน้มไปสู่การที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่ไม่ใช่เราจะโน้ม แต่การฟัง และการเข้าใจเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่ง เพราะฉะนั้นเราก็จะมีความเข้าใจในพระธรรมที่ทรงแสดง แม้ว่าจะผ่านหูไปแล้วหลายครั้ง แต่เริ่มเห็นสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งว่าไม่ใช่เราแน่นอน จะไปทำอะไรตอนไหนก็ไม่ได้ นอกจากว่า เป็นสภาพธรรมที่เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น คือถ้าเป็นสังขารขันธ์ก็คือขันธ์ที่ปรุงแต่ง สะสมสืบต่อ แล้วก็ทำให้สภาพธรรมขณะนี้เกิดขึ้นเป็นอย่างนี้ไม่เป็นอย่างอื่น
ผู้ฟัง เรื่องภวังคจิตในขณะที่หลับ และก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นไม่มีสภาพธรรมที่สามารถจะตรึกนึกถึงภวังคจิตขณะนั้นได้เลย มีเพียงสนทนากันเรื่องหัวข้อตามพระธรรมคำสั่งสอนเพียงเท่านั้นใช่ไหม
ท่านอาจารย์ สนทนาให้รู้ว่าสภาพธรรมนั้นมีจริง ต่างกับสภาพที่กำลังเห็น
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 1
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 2
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 3
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 4
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 5
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 6
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 7
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 8
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 9
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 10
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 11
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 12
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 13
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 14
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 15
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 16
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 17
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 18
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 19
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 20
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 21
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 22
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 23
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 24
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 25
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 26
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 27
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 28
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 29
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 30
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 31
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 32
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 33
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 34
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 35
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 36
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 37
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 38
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 39
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 40
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 41
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 42
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 43
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 44
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 45
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 46
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 47
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 48
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 49
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 50
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 51
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 52
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 53
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 54
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 55
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 56
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 57
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 58
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 59
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 60