พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 35
ตอนที่ ๓๕
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๖
ผู้ฟัง ขณะนั้นไม่มีสภาพธรรมที่สามารถจะตรึกนึกถึงภวังคจิตนั้นได้เลย เป็นเพียงการสนทนากันเรื่องราวจากหัวข้อตามพระธรรมคำสั่งสอนเพียงเท่านั้นใช่ไหม
ท่านอาจารย์ สนทนาให้รู้ว่าสภาพธรรมนั้นมีจริงต่างกับสภาพที่กำลังเห็น
ผู้ฟัง จะต้องรู้จักตัวเองดีพอสมควรใช่ไหมว่า ส่วนไหนของพระไตรปิฎกควรเข้าใจได้ ส่วนไหนที่ยังไม่สามารถเข้าใจได้ เป็นความเข้าใจที่ตรง หรือท่านอาจารย์จะแนะนำอะไรเพิ่มเติม
ท่านอาจารย์ คือขณะใดที่กำลังฟังธรรมให้เข้าใจธรรมเรื่องที่ได้ยินได้ฟัง เช่น การที่พูดถึงภวังคจิต คงไม่มีใครสงสัยอีกแล้วในคำนี้ใช่ไหม มีภวังคจิตไหม มีแน่นอน เพราะอะไรที่ว่ามีแน่นอน
ผู้ฟัง เพราะว่าขณะที่หลับสนิทนั้นไม่รู้อารมณ์ในชาตินี้เลย ก็เพียงแต่รู้แค่นี้
ท่านอาจารย์ เพียงคำธรรมดาที่เราใช้ว่า หลับกับตื่น หลับก็มีจริงๆ ตื่นก็มีจริงๆ แต่ขณะนั้นเป็นเราที่ไม่รู้เลยว่าหลับคืออะไร แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมก็รู้ว่าเป็นจิต ขณะนั้นไม่ใช่คนตาย คนตายเราไม่ใช้คำว่าหลับ เพราะฉะนั้นหลับก็คือจิตที่ทำกิจหนึ่ง จิตเกิดขึ้นแล้วต้องทำกิจหนึ่ง และเมื่อทำกิจนั้นแล้วจะไม่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และไม่มีการคิดนึกเลย เพราะฉะนัันขณะนั้นไม่คิดถึงว่าเรารู้อะไร แต่คิดว่าขณะนั้นเป็นสภาพของจิตซึ่งทำกิจนั้น เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เป็นจิต และเจตสิกซึ่งทำกิจนั้น ฟังก็เพื่อเข้าใจ แล้วก็เข้าใจ แล้วก็เข้าใจ เพื่อที่จะเข้าใจว่าเป็นธรรมเพิ่มขึ้น
เริ่มเห็นความเป็นธรรม และความเป็นอนัตตาไปเรื่อยๆ เพิ่มความเข้าใจในความเป็นธรรม และเป็นอนัตตายิ่งขึ้น
ขณะนี้ทราบ ๒ กิจ แล้ว คือ ปฏิสนธิกิจ และ ภวังคกิจ อีกกิจหนึ่ง คือ จุติกิจ มีแน่นอน ต้องเกิดขึ้นแน่ๆ แต่ตอนนี้ยังไม่เกิดเท่านั้นเอง เกิดเมื่อไหร่ทำกิจอื่นได้ไหม ทำภวังคกิจก็ไม่ได้ ทำกิจเห็นก็ไม่ได้ ทำกิจอื่นไม่ได้เลย นอกจากเกิดขึ้นเพื่อทำกิจสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ พรากจากความเป็นบุคคลนี้ไม่กลับมาอีกเลย สักหนึ่งขณะจิตก็ไม่ได้โดยสิ้นเชิง
ทางตาขณะนี้เป็นอย่างนี้ รู้ได้ตอนไหน ตอนปัญจทวาราวัชชนะ หรือจักขุทวาราวัชชนะรู้ได้ไหม ไม่ได้ ตอนที่เป็นจักขุวิญญาณ (เห็น) รู้ได้ไหม เห็นมี แต่กล่าวเจาะจงไม่ได้เลย เพราะเป็นความรวดเร็วมากไม่รู้ว่าเห็นกี่วาระ ฉะนั้นจะกล่าวเจาะจงทีเดียวก็ยาก แต่ให้ทราบว่าลักษณะที่เห็น ธรรม หรือ ธาตุที่สามารถเห็นได้ก็คือขณะที่กำลังเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏทางตาแม้ไม่ต้องเรียกชื่อ แต่ไม่สามารถที่จะรู้ความละเอียดถึงขนาดที่ว่าปัญจทวาราวัชชนะ หรือว่าสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ ขณะนี้ก็จะมีเพียงลักษณะที่เห็นปรากฏ ซึ่งความจริงก็หลายวาระมาก เพราะว่าเหมือนกับเห็นไม่ได้ดับ แต่ความจริงเมื่อรูปดับต้องเป็นภวังค์คั่นทุกครั้ง ไม่ได้แสดงว่ามีเห็นสืบต่อไปได้ตลอดเวลา
เพราะฉะนั้น ถ้าคำถามมีว่า กุศลจิต เช่น อโลภะ หรือ อโทสะ หรือ อกุลจิต เช่น โลภะ หรือ โทสะ เห็น หรือไม่ ไม่เห็นแต่มีอารมณ์นั้น ชอบในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แต่ลักษณะของชวนะไม่ใช่เห็น จิตที่เห็นก็เห็น จิตอื่นจะเห็นไม่ได้ จักขุวิญญาณเท่านั้นที่เห็น แต่จิตอื่นที่เกิดต่อนั้นมีอารมณ์เดียวกัน เห็นอะไรก็ชอบ หรือไม่ชอบในสิ่งนั้น แต่ว่าไม่ได้ทำทัศนกิจ คือไม่ได้ทำกิจเห็น นี่ก็แสดงให้เห็นว่าตามความเป็นจริงของสภาพธรรม เราก็ไม่ได้รู้อะไรมากมาย แล้วเราสามารถที่จะเริ่มรู้เริ่มเข้าใจอะไรได้บ้างตามสมควรกับสติปัญญา จากการฟังก็จะรู้ได้ว่าเป็นการศึกษาพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการที่พระองค์ทรงประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ
ผู้ฟัง ในขณะที่เห็น กับในขณะที่ชอบ หรือไม่ชอบ ตามความเป็นจริงแล้วต้องเกิดสลับกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ เกิดสืบต่อกัน ชอบ หรือไม่ชอบในสิ่งที่เห็น
ผู้ฟัง เพราะขณะนี้เหมือนเห็นอยู่ตลอดเวลา
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้นมีหลายวาระมากเลยของจักขุทวารวิถีจิต ไม่ใช่มีจิตเห็นขณะเดียว ขณะนี้ที่กำลังเห็นไม่ใช่มีจิตเห็นหนึ่งขณะ ก็แสดงให้เห็นว่ากี่วาระ เพราะว่าวาระหนึ่งมีจิตเห็นหนึ่งขณะเท่านั้น
ผู้ฟัง แล้วในขณะที่หลายๆ วาระ นั้นก็มีลักษณะของชวนจิตที่ชอบ หรือไม่ชอบ ตามความเข้าใจ รู้สึกว่าน้อยกว่าจิตเห็น ในขณะนี้มีแต่เห็นๆ นานๆ ถึงจะรู้สึกว่าชอบ หรือไม่ชอบ
ท่านอาจารย์ เพราะว่าตามความเป็นจริงให้ทราบว่า ๗ เท่า เห็นขณะหนึ่ง โลภะเกิด ๗ เท่า โทสะเกิด ๗ เท่าของ ๑ ขณะ เพราะชวนจิตเกิดดับสืบต่อกัน ๗ ขณะ เวลาโกรธไปสนใจในสิ่งที่เห็น หรือลักษณะที่โกรธ เห็นก็เห็นไปไม่เหมือนว่าเกิดดับเลย แต่ลักษณะที่โกรธก็ปรากฏให้รู้ว่ายังไม่หายโกรธ เพราะฉะนั้นก็แสดงว่าต้องโกรธมากเหมือนกันใช่ไหม ไม่ใช่ว่าโกรธน้อย
อ.ประเชิญ เรื่องนี้เป็นความจริงที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงตรัสรู้ และได้ทรงแสดงความจริงไว้ ถ้าเราไม่ได้ฟังความจริงจากพระผู้มีพระภาค ความเป็นไปของจิต ซึ่งเป็นนามธรรมเป็นไปในลักษณะนี้ คือความเป็นไปของนามธรรมที่เป็นจิตพร้อมทั้งเจตสิกในทวารตา เมื่อรูปารมณ์ หรือรูปสีที่มาปรากฏกับจักขุทวาร จิตเดิมเป็นภวังค์ ทุกครั้งที่จะมีวิถีจิตเกิดขึ้นก็จะเป็นวิถีวิมุตติ และมีชื่อหลากหลายตั้งแต่อตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ เป็นลักษณะนี้ที่จะให้รู้ถึงความเป็นไปของจิต ที่จะเป็นลักษณะนั้นเมื่อรูปมากระทบ ในทวารตาที่เป็นไปทั้งตลอดวิถี ตลอดวาระ จะหาความเป็นอัตตา หรือสัตว์ บุคคล ในภายในขณะจิตที่เป็นไปก็ไม่มี
ทางหูก็เหมือนกัน จะต่างกันที่อารมณ์คือเสียง หรือสัททารมณ์มากระทบทางโสตทวาร จิตที่เกิดขึ้นก็จะมีลักษณะเดียวกับทางตา แต่ว่าจะมีชื่อที่เปลี่ยนไปบ้างตามทวาร และอารมณ์ เมื่อเสียงมากระทบภวังค์ก็จะเป็นชื่อตั้งแต่อตีตภวังค์ เป็นการแสดงอายุของรูปว่ากระทบตรงนั้น ภวังคจลนะเริ่มที่จะไหว ภวังคุปัจเฉทะก็มีการเปลี่ยนที่จะเป็นวิถีจิต ต่อมาก็จะเป็นอาวัชชนะจิต เป็นจิตประเภทแรกของวิถีจิตซึ่งตามศัพท์ก็รำพึง หรือนึกถึง ซึ่งก็อธิบายได้ว่าจิตที่รู้อารมณ์เป็นขณะแรกในวิถีทางโสตทวารก็คือ โสตทวาราวัชชนะ เป็นจิตที่เกิดขึ้นรำพึง หรือนึกถึงอารมณ์นั้น จริงๆ ก็คือรู้นั่นเอง รู้เสียงที่มากระทบตรงนั้น คือรู้อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งตามทวาร ขณะที่เป็นโสตทวาร ก็มีชื่อว่าโสตทวาราวัชชนะ ซึ่งต่อมาจิตที่เกิดรับอารมณ์ต่อจากอาวัชชนะทางหูก็จะเปลี่ยนชื่ออีกเป็นวิญญาณที่รู้ทางหู คือ โสตวิญญาณ (วิญญาณ – รู้, โสต – หู) จิตที่รู้ทางหู คือรู้เสียงนั่นเอง
ต่อมาก็จะเป็นจิตที่ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สัมปฏิจฉันนะ รับอารมณ์ต่อจากทางโสตวิญญาณ ชื่อเหมือนกับทางจักขุทวาร สันตีรณะ ก็เหมือนกันชื่อไม่เปลี่ยน พิจารณา โวฏฐัพพนะเป็นการกระทำทางให้ชวนจิตเกิดขึ้น ซึ่งทั่วไปก็จะแปลว่าตัดสิน ชื่อเหมือนเดิม จิตก็จิตประเภทเดียวกัน ถ้าเป็นลักษณะที่เป็นอารมณ์ดีก็จะเป็นชื่อเดียวกัน จิตประเภทเดียวกัน หลังจากโวฏฐัพพนะดับไปแล้ว ก็จะมีชวนจิตเกิดขึ้นแล่นไปในอารมณ์ถึง ๗ ครั้ง ๗ ขณะ เป็นกุศล หรืออกุศล หรือกิริยาจิตของพระอรหันต์ นี่คือภาวะปกติของผู้ที่เป็นกามบุคคลอย่างเช่นพวกเราที่เป็นกามภูมิก็เป็นลักษณะนี้ หลังจากนี้เมื่อชวนจิตแล่นไปจนครบ ๗ ครั้งแล้ว ก็จะมีตทาลัมพนะจิตเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ที่ยังเหลืออีก ๒ ขณะจิต หลังจากนั้นก็กลับเป็นภวังค์อีก นี่ก็คือความเป็นไปของจิตที่เรียกว่า “วิสยัปปวัตติ” (วิสย แปลว่า อารมณ์, ปวัตติ แปลว่า ความเป็นไป) จิตเป็นไปในทวารต่างๆ นี้ก็เป็นเรื่องของโสตทวาร ซึ่งก็จะหาความเป็นอัตตา ความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลที่เป็นไปในทวารหูก็ไม่มีเหมือนกัน เป็นเพียงจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์เท่านั้น และก็มีอารมณ์ที่ถูกรู้ ซึ่งก็เป็นความจริงที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเพื่อจะให้เราได้เข้าใจความจริงที่จะถ่ายถอนความยึดถือเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ความเป็นกลุ่มเป็นก้อนของธรรมที่เกิดขึ้น แยกขยายออกมาแล้วหาความเป็นคน หรืออัตตาที่อยู่ภายในไม่มีเลย
อ.ธิดารัตน์ ทางจมูกก็คือกลิ่น ในขณะที่เป็นภวังค์เกิดอยู่ ก็จะยังไม่มีการรู้กลิ่น จนกระทั่งมีลักษณะของรูป ก็คือกลิ่น กระทบกับฆานปสาท ขณะที่มีกลิ่นซึ่งเป็นรูป และกระทบกับฆานปสาทซึ่งเป็นขณะแรก ภวังค์ในขณะนั้นก็เป็นอตีตภวังค์ จนกระทั่งภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะก็ยังรู้อารมณ์เดิมอยู่ และวิถีจิตขณะแรกก็เกิดขึ้นทางฆานทวาราวัชชนะเพราะว่าเป็นวิถีจิตทางจมูกคือทางฆาน และลำดับต่อไปก็เป็นฆานวิญญาณ ซึ่งเป็นชาติวิบาก ซึ่งก็เป็นผลของกรรมในอดีตซึ่งได้กระทำแล้ว จะทำให้ขณะนั้นได้กลิ่นซึ่งเป็นกลิ่นที่น่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจ เพราะฉะนั้นฆานวิญญาณก็จะมี ๒ ประเภท คือ เป็นกุศลวิบาก หรืออกุศลวิบากตามลักษณะของอารมณ์ที่มากระทบฆานปสาทนั่นเอง
ผู้ฟัง ขณะที่ฝัน คือไม่ได้หลับสนิท มีวิถีจิตเกิด คิดนึกนี่เป็นทางใจ ท่านกล่าวว่าเป็นวิปลาสใช่ไหม เพราะว่าพระอรหันต์ไม่ฝัน
ท่านอาจารย์ จะเข้าใจสภาพธรรมชัดเจนเมื่อเรากล่าวถึงจิตทีละหนึ่งขณะ และหนึ่งประเภท ไม่อย่างนั้นเราก็จะสับสนกัน เพราะฉะนั้นถ้าเราพูดถึงจิตที่เราใช้คำว่า “ภวังค์” หมายความว่าขณะนั้นไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่ได้กลิ่น ไม่ใช่ลิ้มรส ไม่ใช่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และขณะนั้นไม่ได้คิดนึกด้วย เพราะฉะนั้นเราจะยังไม่กล่าวชื่อว่าเป็นหลับ หรือเป็นตื่น แต่ว่าขณะใดก็ตามที่จิตไม่ได้รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง จิตเกิดทำภวังคกิจ เพราะว่ายังไม่ตายต้องเกิด และก็ทำภวังคกิจไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงกาลที่จิตที่เป็นวิถีจิต หมายความว่าต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์เฉพาะทางนั้นๆ ก้าวก่ายสับสนไม่ได้ เช่น เสียง ต้องกระทบกับโสตปสาทรูป จะกระทบกับจักขุปสาทรูปไม่ได้เลย คนนั้นต้องมีโสตปสาทรูป และเสียงก็ต้องกระทบกับโสตปสาทรูป แล้วจิตที่จะรู้ก็ต้องรู้รูปที่เป็นเสียง จะรู้รูปอื่นไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้น ขณะที่เสียงเกิดกระทบปสาท ซึ่งขณะนั้นยังเป็นภวังค์ แต่เพื่อที่จะได้แสดงว่ารูปจะดับเมื่อไหร่ และมีจิตที่จะเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นได้ กี่ประเภท กี่กิจ ก็กล่าวเพื่อจะให้เข้าใจการเกิดขณะนั้นว่า หมายความว่าเมื่อรูปเกิดขณะนั้นเป็นอตีตภวังค์ ไม่ใช่เกิดเท่านั้น แต่กระทบด้วย ถ้ารูปเกิดแต่ไม่ได้ไปกระทบกับปสาทก็ไม่ต้องไปเรียกอตีตภวังค์ ภวังค์ของใครก็ภวังค์ไปเรื่อยๆ แต่เวลาที่วิถีจิตจะเกิดก็ต้องมีรูปเกิด และกระทบกับปสาทเพื่อจิตที่เป็นโสตทวารวิถีจะเกิดขึ้นได้ยินเสียง แต่ขณะที่เป็นภวังค์ไม่ได้ยินอะไรเลย เพียงแต่ว่ารูปเกิดแล้วกระทบโสตปสาท อตีตภวังค์ขณะนั้น เป็นเครื่องหมายให้รู้ว่ารูปเกิด จิตที่เป็นอตีตภวังค์ก็ดับ จะเป็นอื่นไม่ได้เลย จะเป็นวิถีจิตทันทีไม่ได้ แสดงถึงการเกิดดับสืบต่อเร็ว แต่ต้องเป็นไปตามลำดับว่าเมื่ออตีตภวังค์ดับแล้ว จิตขณะต่อไปเป็นภวังคจลนะ จะไม่มีอารมณ์ของภวังค์ เริ่มที่จะทิ้งอารมณ์ของภวังค์ ไม่มีอารมณ์นั้นอีกต่อไป แต่ก็ยังมีอารมณ์อื่นทันทีไม่ได้ ต้องมีจิตที่เป็นขณะสุดท้ายของภวังค์ สิ้นสุดกระแสของภวังค์เมื่อใด เมื่อนั้นวิถีจิตทางหนึ่งทางใดจึงเกิดได้ เพราะฉะนั้นก็เริ่มตั้งแต่อตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ
เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับ วิถีจิตต้องเกิด ไม่เกิดไม่ได้เลย ถ้าเป็นทางหู เสียงกระทบกับโสตปสาท จิตที่เป็นวิถีจิตแรกไม่ทันจะได้ยิน ยังได้ยินไม่ได้เลย เพราะจากภวังค์ กำลังภวังค์ไม่รู้อะไรเลย แล้วก็จะรู้อารมณ์อื่นซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ เมื่อภวังค์ดับแล้วจิตที่เกิดสืบต่อจะรู้อะไร ยังไม่ทันเห็น แต่เพียงรู้ว่าอารมณ์กระทบ มีการรู้สึกตัวแล้วแต่ว่าจะเป็นทางทวารใด ถ้าเป็นทางหูก็รู้เสียงกระทบ รู้ว่าขณะนั้นมีเสียงที่กระทบโสตปสาท แต่ยังไม่ได้ยิน แต่รู้เลยว่ามีรูปกระทบกับโสตปสาท ถ้าเป็นทางตาก็รู้ว่ามีรูปกระทบกับจักขุปสาท แต่ไม่เห็น เพียงแต่รู้ เริ่มรู้สึกตัวหนึ่งขณะว่า มีสิ่งที่กระทบกับปสาทแล้วก็ดับไป หลังจากนั้นถ้าเป็นทางหู โสตวิญญาณ จิตได้ยินจึงเกิด ขณะนี้ไม่หลับ ต้องรู้ว่าขณะที่จิตได้ยิน ต้องไม่หลับ เพราะฉะนั้นเวลาพูดถึงหลับ ฝัน ตื่น ต้องรู้ความต่างกันว่าขณะที่หลับไม่ได้รู้อารมณ์อะไรเลยทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่เมื่อเป็นจิตเกิดต้องรู้อารมณ์ แต่รู้อารมณ์โดยไม่ได้อาศัยทวารจึงเป็นทวารวิมุตตจิต เพราะเหตุว่าไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้นเลย ที่จะรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดทางทวารใน ๖ ทวาร
เพราะฉะนั้นหลังจากที่ภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว หลังจากนั้นเป็นวิถีจิตหมดเลย เพราะว่าจิตที่เกิดสืบต่อจะต้องเกิดตามลำดับสืบต่อกันตามลำดับ และจะต้องรู้อารมณ์เดียวกัน โดยที่เป็นอารมณ์เดียวยังไม่ดับเลย เพราะว่าอารมณ์ที่เป็นรูปจะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เมื่อตั้งต้นที่อตีตภวังค์ แม้อตีตภวังค์ดับรูปยังไม่ดับ ภวังคจลนะดับรูปยังไม่ดับ ภวังคุปัจเฉทะดับรูปยังไม่ดับ โสตทวาราวัชชนจิตเกิด และดับรูปก็ยังไม่ดับ หลังจากนั้นโสตวิญญาณเกิดขึ้นได้ยิน เกิดที่โสตปสาท รูปก็ยังไม่ดับ เพราะฉะนั้นจิตอื่นก็จะเกิดต่อจากนั้นไม่ได้เลย นอกจากสัมปฏิจฉันนะจิตซึ่งเป็นวิบาก กรรมเป็นปัจจัยให้วิบากจิตต้องเกิดขึ้นรู้อารมณ์ต่อจากโสตวิญญาณ มีเสียงเป็นอารมณ์จริง แต่ไม่ได้ยิน เพราะว่าไม่ได้ทำสวนกิจ
เพราะฉะนั้นเวลาที่พูดถึงฝัน ขณะฝันไม่ได้มีจิตทำหน้าที่เห็น ไม่มีจักขุวิญญาณเกิดขึ้นทำทัศนกิจ ไม่ได้มีโสตวิญญาณเกิดขึ้นทำสวนกิจ ไม่ได้มีจิตลิ้มรสเกิดขึ้นลิ้มรส ไม่ได้มีจิตที่รู้กลิ่น ไม่ได้มีจิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายเกิดขึ้นเลย แต่เป็นจิตที่คิดนึก จำทุกอย่างในขณะนี้ สิ่งที่ปรากฏทางตากำลังปรากฏ แต่จำว่าเป็นคุณสุรีย์ สิ่งที่จำในขณะนี้ รูปร่างสัณฐานอย่างนี้ เมื่อจำทางตาก็ผ่านไปถึงการนึกคิดทางใจ แล้วก็จำไว้อีกจนฝัน คืนนี้ฝันถึงคุณสุรีย์ ฝันได้แน่ถ้ามีปัจจัยที่จะฝันเพราะจำแล้ว เพราะฉะนั้นจิตที่ฝันทั้งหมดเป็นวิถีจิต ทางใจทางเดียว ไม่ใช่ทางตาที่กำลังเห็นอย่างนี้ ไม่ใช่ทางหูที่กำลังได้ยินอย่างนี้ ไม่ใช่ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ต้องเป็นทางใจ แม้แต่การคิดนึกในขณะนี้ก็เป็นทางใจ เพราะขณะที่คิดไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน นี่เป็นการเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมากจนกระทั่งไปถึงขณะที่ฝัน ก็เป็นการคิดนึกถึงสิ่งที่ได้จำไว้แล้วทั้งหมด
ผู้ฟัง ถ้าฝันก็ต้องมโนทวารอย่างเดียว แต่ว่าเป็นเหตุปัจจัยที่จะให้คิดนึกทางมโนทวารนี่คิดนึกได้
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ขณะที่หลับไม่สนิทจะมีความฝันทางมโนทวาร แต่ไม่ใช่เห็น ในฝันเหมือนเห็น ฝันเห็นงู จำได้ใช่ไหม ตื่นขึ้นมาก็บอกว่าฝันเห็นงู แต่ในขณะฝันไม่ได้เห็นงูเลย ขณะที่กำลังหลับสนิท ก็จะมีวิถีจิตแต่ทวารเกิดสลับกันได้ ขณะใดมีวิถีจิตเกิดขณะนั้นไม่ใช่หลับ แล้วแต่ว่าจะเป็นวิถีจิตทางตา หรือทางใจ ทางหู ทางใจก็แล้วแต่
ผู้ฟัง ถ้าไม่หลับสนิทโอกาสที่จะเกิดทางทวารเกิดได้ แล้วก็เอาไปฝันด้วย แต่ว่าเวลาฝันนั้นต้องเป็นทางจิตอย่างเดียว
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
ผู้ฟัง เหตุใดปุถุชนจึงฝันแล้วพระอรหันต์ไม่ฝัน
ท่านอาจารย์ เรามีเยื่อใยในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาไหม เป็นคนโน้น เป็นคนนี้ ยังจำไว้มั่นคง เวลาที่คิดถึงใคร เราอาจจะไม่ทราบว่าขณะนั้นเราคิดด้วยจิตประเภทใด ต้องรู้ด้วยว่าขณะที่คิดเป็นจิตอะไร ถ้าเป็นไปในขณะที่กำลังศึกษาไตร่ตรอง มีความเข้าใจ มีการเห็นพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ ขณะนั้นกุศลจิตคิด เพราะฉะนั้นขณะที่จิตที่คิดก็ต้องทราบว่าเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต ประเภทไหน แต่พระอรหันต์ไม่มีเลยทั้งกุศลจิต และอกุศลจิต เป็นกิริยาจิต ไม่มีเยื่อใยใดๆ เหลือเลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจึงไม่ฝัน ไม่มีกิเลส ดับกิเลสหมด
ผู้ฟัง เหตุใดคุณภาพของภวังค์แต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน
ท่านอาจารย์ ชื่อว่าจิต เป็นสภาพที่กรรม กิเลส สั่งสมวิบาก จิตขณะหนึ่งเกิด ดับแล้ว ไม่ได้หมดไปเลย อนันตรปัจจัย ตัวจิตนั่นแหละเป็นปัจจัย ที่จะทำให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น ใครก็ไปยับยั้งไม่ได้ เพราะฉะนั้นจิตที่เกิดสืบต่อจะต่าง หรือว่าจะรับทุกสิ่งทุกอย่างที่จิตขณะนั้นได้มี เพราะฉะนั้น แต่ละขณะ เช่นการฟังวันนี้ การฟังอาทิตย์ต่อไป ครั้งต่อไป เป็นปัจจัยที่จะเห็นได้ว่า มีการสืบต่อของความคิดความเข้าใจในสิ่งที่ได้เคยฟังแล้ว เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า จิตขณะหนึ่งซึ่งดับแล้วเป็นปัจจัยไปให้จิตขณะต่อไปเกิด จิตขณะต่อไปที่เกิดต่อ ต้องรับทุกอย่างสะสมสืบต่อจากขณะหนึ่งไปอีกขณะหนึ่งในแสนโกฎกัปมาแล้ว ถ้าคิดถึงเมื่อวานนี้กับวันนี้ประสบการณ์ต่างๆ ซึ่งแต่ละคนมี ก็สะสมสืบต่อปรุงแต่งให้มีการคิดถึงเรื่องนั้นให้คิดถึงสิ่งที่ได้ยินได้ฟังด้วยความแยบคาย ความถูกต้อง เป็นความคิดที่ถูก เป็นกุศล หรือเป็นความคิดที่เป็นอกุศล
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 1
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 2
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 3
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 4
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 5
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 6
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 7
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 8
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 9
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 10
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 11
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 12
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 13
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 14
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 15
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 16
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 17
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 18
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 19
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 20
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 21
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 22
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 23
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 24
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 25
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 26
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 27
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 28
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 29
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 30
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 31
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 32
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 33
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 34
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 35
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 36
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 37
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 38
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 39
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 40
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 41
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 42
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 43
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 44
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 45
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 46
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 47
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 48
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 49
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 50
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 51
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 52
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 53
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 54
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 55
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 56
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 57
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 58
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 59
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 60