พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 38


    ตอนที่ ๓๘

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๖


    ท่านอาจารย์ (ข้อความซ้ำเดิมจากตอนที่ ๓๗ : เพราะฉะนั้นรูปธาตุก็เป็นรูปธาตุ นามธาตุก็เป็นนามธาตุ ใครจะไปทำอะไรกับนามธาตุ หรือ รูปธาตุ ไม่ได้เลยทั้งสิ้น) นามธาตุก็เป็นธาตุรู้ไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ เพราะว่าธาตุนี้มี และเมื่อเกิดแล้วก็ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ก็สามารถจะแยกได้ว่ารู้โดยอาศัยทวาร หรือโดยไม่อาศัยทวาร ถ้าทำปฏิสนธิกิจขณะแรกที่สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน กับภวังคกิจซึ่งดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น กับจิตขณะสุดท้าย คือ “จุติจิต” ทำจุติกิจ สามขณะนี้ไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลย ถ้าเรามีพื้นฐานความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็จะเข้าใจได้ถึงจิตว่าจะชื่ออะไรก็ตามก็จะรู้ว่า จิตที่อาศัยทวารเป็น "วิถีจิต" และ จิตที่ไม่อาศัยทวาร "ไม่ใช่วิถีจิต" เพราะฉะนั้น ตราบใดที่เป็นภวังค์จะชื่อต่างๆ ขณะนั้นไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใด และไม่ใช่วิถีจิตด้วย แต่เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับ ชื่อก็บอกแล้วว่า “ภวังคุปัจเฉทะ” ภวังค+อุปัจเฉทะ คือ ตัดกระแส สิ้นกระแส สิ้นสุดความเป็นภวังค์ หลังจากนั้นต้องเป็นวิถีจิต ภวังคจลนะยังเป็นภวังค์ ภวังคุปัจเฉทะก็เป็นภวังค์ เมื่อภวังค์คุปัจเฉทะดับแล้ว ภวังค์จะเกิดอีกไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นภวังค์ชื่ออะไรก็เกิดอีกไม่ได้เลย เพราะว่าต้องเป็นวิถีจิตที่อาศัยทวารหนึ่งทวารใด

    วิถีจิตเกิดขึ้น ๖ ทวาร วิถีจิตแรกที่จะจำไว้ทาง ๕ ทวาร คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ๕ ทวารนี้ ใช้คำว่า "ปัญจทวาร" กับ "อาวัชชนะ" ไม่ใช่ "ชวนะ" อาจจะสับสน "อาวัชชนะ" หมายความถึง "รำพึงถึง" ในภาษาไทยแปลศัพท์คำว่า รำพึงถึง อาจจะคิดถึงว่า ใครก็ตาม อยู่ที่ไหน และรำพึงถึง คงเป็นเรื่องยาว ไม่สั้นเลย รำพึงแต่ละเรื่อง แต่รำพึงถึงหนึ่งขณะ หมายความว่า ขณะจิตนั้นไม่ใช่ภวังค์แล้ว แต่รู้ว่าอารมณ์กระทบทางทวารใด มีอารมณ์ใหม่ทางทวารใด ก็มีจิตที่เป็นวิถีจิตแรก คือ "ปัญจทวาราวัชชนจิต" เกิดขึ้นรำพึง คือเพียงรู้ว่าอารมณ์กระทบทวารใด แต่ยังไม่เห็น เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นวิถีจิตแรก ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ลิ้มรส ยังไม่ได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพียงแต่รู้สึกตัว เหมือนรู้สึกตัวจากที่ไม่ได้รู้สึกตัวเลยขณะที่เป็นภวังค์ แล้วก็รู้สึกว่ามีอารมณ์กระทบ เช่น ทางตา ก็คือ "รูปารมณ์" กระทบกับ "จักขุปสาท" ปัญจทวาราวัชชนจิต (ปัญจะ หมายถึง ห้า) ซึ่งมีชื่อเรียกได้ตามทวารนั้นๆ เช่น ทางตา ก็เปลี่ยนคำว่า ปัญจะ เป็น จักขุ แทนที่จะเรียกว่าปัญจทวาราวัชชนจิต ก็เป็น จักขุทวาราวัชชนจิต คือ จักขุทวาร กับ อาวัชชนะ เกิดขึ้นรู้ว่าอารมณ์กระทบทางตา แต่ไม่ได้หมายความว่ารู้ว่าเป็นเรื่องราว เพียงรู้สึกตัวว่าอารมณ์กระทบทางตาแล้วก็ดับ เป็นต้น

    ผู้ฟัง สมมติเริ่มทางตา ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น ยังไม่มีปัญจทวาราวัชชนจิต จนกว่าคุปัจเฉทะดับก่อน แล้วถึงมาแยกเป็น ๕ ทางใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ หมายความว่า เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับ จิตอะไรเกิดต่อ ปัญจทวาราวัชชนจิตก็เกิดต่อทันที เราจะต้องศึกษาจิตทีละหนึ่งขณะที่เกิดดับสืบต่อ วิถีจิตแยกกันเพราะอารมณ์ต่างกัน เช่น ทางตา สีกระทบกับจักขุปสาท แล้ว "จักขุทวาราวัชชนะจิต" ก็เกิด ถ้าเป็นทางหู เสียงกระทบกับโสตปสาท แล้วจิตประเภทเดียวกัน มีเจตสิกประกอบเท่ากันก็เกิดขึ้น แต่เมื่ออาศัยโสตทวารก็เรียกชื่อว่า "โสตทวาราวัชชนะจิต" คือรำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบที่โสตทวาร เรียกชื่อเปลี่ยนไปตามทวารนั้นๆ แต่จิตนี้เป็นหนึ่งประเภท เป็นกิริยาจิต ที่ต้องเรียนเรื่องชาติของจิตเพื่อที่จะไม่สับสนระหว่างจิตที่เป็นเหตุกับจิตที่เป็นผล และให้ทราบว่า จิตไม่ว่าจะเกิดเมื่อไหร่ก็ตามจะไม่พ้นไปจากชาติหนึ่งชาติใดเลยใน ๔ ชาติ เรายังไม่ได้กล่าวถึงว่า กุศลจิตมีเท่าใด อกุศลจิตมีเท่าใด วิบากจิตมีเท่าใด กิริยาจิตมีเท่าใด ขณะนี้ ยังไม่กล่าวถึง แต่สามารถค่อยๆ เข้าใจไปพร้อมกับการศึกษาเรื่องชาติของจิตได้ ที่จะให้เข้าใจไปพร้อมๆ กัน เช่น ปฏิสนธิจิตนี้ต้องเป็นวิบากแน่นอน แล้วเมื่อปฏิสนธิจิตดับ กรรมก็ทำให้วิบากจิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อดำรงภพชาติยังไม่เปลี่ยนความเป็นบุคคลนี้ จะเป็นบุคคลอื่นยังไม่ได้เลย เป็นนกก็ต้องเป็นนก เป็นไก่ก็ต้องเป็นไก่ เป็นคนก็ต้องเป็นคน จนกว่าจะถึงจุติ แต่ก่อนจะจุติก็จะมีกรรมที่ทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น ทำให้รู้ได้ว่าเราเกิดมาเพราะกรรมแล้วก็ตลอดชีวิตก็ไม่พ้นผลของกรรม เป็นผลของกรรมที่ได้ทำแล้ว พร้อมกันนั้นก็สร้าง หรือมีเหตุใหม่ที่จะทำให้เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดต่อไปด้วย

    เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะได้ทราบคร่าวๆ ว่าจิต ๔ ชาติ แต่ละประเภททำกิจอะไร จะได้ทราบความจริงว่า ธรรมคือชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เกิดมา แม้กำลังหลับก็ไม่รู้ว่าเป็นวิบาก ต่อนี้ไปก็ทราบเลยว่า ขณะที่หลับสนิทเป็นภวังค์ไม่รู้อะไรเลยทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะกรรมที่ทำให้เป็นภวังค์ ยังไม่ทำให้เห็น ยังไม่ทำให้ได้ยิน และยังไม่ทำให้ตาย ยังไม่ทำให้พ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ จะได้ไม่ห่วงใยว่า อยากจะหลับแต่ยังไม่หลับ เพราะว่าจะหลับได้อย่างไรในเมื่อกรรมยังทำให้เห็น ทำให้ได้ยิน แต่เมื่อไหร่ที่จะทำให้ไม่ต้องเห็น ไม่ต้องได้ยิน ก็ทำให้หลับไป ก็เป็นผลของกรรมอีก การรู้เรื่อง เหตุ คือ กุศล และ อกุศล และ ผล คือ กุศลวิบาก อกุศลวิบาก จะทำให้เราเจริญกุศลเพิ่มขึ้น เพราะเห็นโทษของอกุศล ถ้าอกุศลที่เป็นเหตุได้กระทำแล้วพร้อมที่จะให้ผลเมื่อไหร่ก็เป็นปัจจัยทำให้อกุศลวิบากเกิดขึ้นยับยั้งไม่ได้เลย ไม่เช่นนั้นทุกคนก็ไม่ต้องป่วยไข้ได้เจ็บ ไม่ต้องเห็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ต้องได้ยินเสียงที่ไม่ดี แต่ความรู้นี้จะทำให้เรารู้ว่าไม่มีใครทำให้เลย เราได้กระทำแล้วทุกอย่าง ที่ผลนั้นจะเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น ใช้คำว่า วิถีจิตแรก เสมอ เพื่อที่จะให้ทราบว่าวิถีจิตเริ่มเมื่อไหร่ คือ เริ่มที่จิตที่ทำอาวัชชนะกิจต่อจากภวังคกิจ การเรียกชื่อจิตเรียกตามกิจก็ได้ เช่น ภวังคจิต เพราะทำภวังคกิจ และก็เป็นชาติวิบาก เมื่อถึงวิถีจิตแรกไม่ใช่วิบากแต่เป็นกิริยาจิตซึ่งยังไม่ทันได้รับผลของกรรมที่ทำให้รู้อารมณ์ต่างๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่เพียงกระทบกับทวาร จิตนี้ก็สามารถจะรู้อารมณ์ได้ทั้งอารมณ์ดี และอรมณ์ไม่ดี "เพียงแค่รู้ว่ากระทบ" เมื่ออารมณ์ที่ดีมากระทบ หรือ อารมณ์ที่ไม่ดีมากระทบ ปัญจทวาราวัชชนจิตก็รู้ได้ว่ามีอารมณ์มากระทบ เพราะฉะนั้นขณะนั้นจึงเป็นกิริยาจิต ยังไม่ใช่วิบากจิต

    ผู้ฟัง เป็นวิถีจิต ที่ไม่ใช่วิบากจิต แต่เป็นกิริยาจิต

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง และต่อไปนี้เราจะทราบว่า ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์จะมีกิริยาจิตเพียง ๒ ดวง หรือ ๒ ประเภท กิริยาจิตประเภทแรก นั้นรู้อารมณ์ที่กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จึงชื่อว่า “ปัญจทวาราวัชชนจิต” เป็นกิริยาจิต ถึงตรงนี้ก็ได้ทราบแล้วว่าตั้งแต่หลับจนตื่นจนถึงปัญจทวาราวัชชนจิต ขณะนี้ได้รู้จักจิตแล้ว ๒ ชาติแล้ว คือ วิบากจิต กับ กิริยาจิต

    ปัญจทวาราวัชชนจิตดับไหม ต้องดับ ใครจะไปบังคับให้ไม่ดับไม่ได้เลย เมื่อดับแล้วเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ เมื่อพูดถึงปัจจัยก็จะไม่ยากที่จะเข้าใจตั้งแต่ต้น เพียงบางปัจจัยให้รู้ว่าต้องเป็นไปตามปัจจัยนั้นคือ จิตทุกขณะเว้นจุติจิตของพระอรหันต์เป็น "อนันตรปัจจัย" หมายความว่าทันทีที่จิตนั้นดับก็จะทำให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ อนันตระโดยไม่มีระหว่างคั่นเลย เกิดสืบต่อทันที เหมือนจุติจิตของชาติก่อนดับเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตของชาตินี้เกิดโดยอนัตรปัจจัย ขณะนี้จิตกำลังเป็นอย่างนี้ไม่มีช่องว่างเลย และทันทีที่ภวังคุปัจเฉทะดับ เป็นปัจจัยให้ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิด ดังนั้น ภวังคุปัจเฉทะเป็นอนันตรปัจจัยให้ปัญจทวาราวัชนจิตเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ภวังคุปัจเฉทะจะใช้คำว่าวิบาก แทนได้ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ก็ได้ แต่ถ้าใช้คำว่าวิบากก็กว้างไป จะทำให้ไม่ทราบว่าเป็นภวังค์ หรือเป็นจักขุวิญญาณ หรือเป็นจิตอะไร แต่ถ้าใช้คำว่าภวังคุปัจเฉทะเป็นอนันตรปัจจัย ใช้คำว่า “อนันตระ” ก็ได้ เป็นอนันตรปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิด ที่เรียกว่าจักขุวิญญาณเป็นภาษาบาลี หรือจิตเห็นในภาษาไทย ซึ่งชื่อไม่ต้องเรียกก็ได้ แต่ถ้าไม่เรียกชื่อก็ไม่รู้ว่าหมายความถึงจิตอะไร ขณะนี้กำลังเห็น จิตนี้เกิดขึ้นแล้วทำกิจเห็น จิตทุกประเภทต้องทำกิจ ขณะนี้กำลังเห็น เพราะจิตนี้เกิดขึ้นทำทัศนกิจ (กิจเห็น) และจิตนี้เป็นวิบาก ขณะใดที่ไม่ใช่กุศล หรือ อกุศล และไม่ใช่กิริยาจิตทั้ง ๒ ดวง (สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์) ขณะนั้นต้องเป็นวิบาก เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินชื่อจิตอื่นที่ไม่ใช่กุศล อกุศล จิตนั้นต้องเป็นวิบากจิต แต่ถ้าไม่ใช่วิบากจิตก็ต้องเป็นกิริยาจิต ๑ ดวงทีละขณะ เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับไป จิตเห็นต้องเกิดขึ้น โดยอาศัยจักขุปสาทเป็นทวาร ซึ่งกำลังเห็นในขณะนี้ นี่คือการที่เข้าถึงความเป็นอนัตตา ในวันหนึ่งข้างหน้าที่สติสัมปชัญญะระลึก และพร้อมที่จะสละความเป็นเรา เมื่อได้ฟังจนกระทั่งเป็นสัจจญาณ เป็นปัญญาที่มั่นคงว่าขณะนี้เป็นธรรม ทุกขณะในชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายเป็นธรรมประเภทต่างๆ ซึ่งเกิดดับเป็นอนัตตา และเมื่อจักขุวิญญาณทำกิจเห็นแล้วดับไป ก็เป็นอนันตรปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น รับรู้ต่อแต่ไม่เห็นเพราะไม่ได้ทำทัศนกิจ ทัศนกิจในวาระหนึ่งๆ มีเพียง ๑ ขณะเท่านั้นคือขณะที่ทำทัศนะกิจ (ทัศนะ คือ เห็น กิจ คือ กิจหน้าที่ ดังนั้นทัศนกิจ คือ กิจเห็น) จักขุวิญญาณทำทัศนกิจ จักขุวิญญาณเป็นชาติวิบากเพราะว่าจิตใดก็ตามที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ต้องเป็นวิบาก หรือกิริยา แต่กิริยาก็มีเพียง ๒ ดวงเท่านั้นคือ ปัญจทวาราวัชชนะ กับ มโนทวาราวัชชนะ นอกจากนั้นแล้วก็ต้องเป็นวิบาก ฉะนั้น จักขุวิญญาณที่กำลังเห็นในขณะนี้เป็นวิบาก เป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นถ้ากรรมยังมีอยู่ก็ต้องเห็นจะไม่เห็นเป็นไปไม่ได้ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ คือ มีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีโผฎฐัพพะ (สิ่งที่กระทบกาย) เพราะฉะนั้น กรรมทำให้ต้องเห็น อดีตกรรมที่ได้กระทำแล้วทำให้ต้องเห็น อยากเห็น หรือไม่อยากเห็นก็ต้องเห็น เพราะว่าเป็นวิบากจิต นี่ทำให้เข้าใจถึงความเป็นธรรมว่า เมื่อเป็นวิบากก็ต้องเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย (กัมมปัจจัย) สำหรับวิบาก แต่สำหรับสภาพของจิตแล้วก็เป็นอนันตรปัจจัย ขอทบทวนอีกครั้งว่า ภวังคุปัจเฉทะเป็นปัจจัย หรือไม่

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เป็นอนันตรปัจจัยให้อะไรเกิด

    ผู้ฟัง วิถีจิต

    ท่านอาจารย์ วิถีจิตแรกคือ ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นชาติกิริยา โดยชาติกิริยาจะมีอยู่ก่อนจิตเห็น จิตได้ยิน ฯ ที่เป็นวิบาก เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นชาติกิริยาดับไป ปัญจทวาราวัชชนจิตก็เป็นอนันตรปัจจัยให้ "ทวิปัญจวิญญาณ" เกิดต่อ ถ้าเป็นทางตาก็เรียกว่า "จักขุวิญญาณ" ทำทัศนกิจ เป็นชาติวิบาก "ทวิ" คือ ๒ คือ กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ เพราะว่าจริงๆ แล้วการเห็น สิ่งที่ถูกเห็นมี ๒ อย่างคือ สิ่งที่น่าพอใจกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ถ้ารูปนั้นเป็นรูปที่ดีใช้คำว่า “อิฏฐารมณ์” ถ้าไม่ดีก็เป็น “อนิฏฐารมณ์” ก็แล้วแต่ว่ากรรมไหนจะให้ผลเมื่อไหร่ ถ้าเป็นกุศลกรรมให้ผล สิ่งที่จิตเห็นต้องเป็นอิฏฐารมณ์ ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมให้ผล สิ่งที่ถูกเห็น หรือจิตเห็นก็ต้องเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ คือ เป็นอนิฏฐารมณ์

    จักขุวิญญาณเป็นอนันตรปัจจัย หรือไม่ ตอบว่า เป็นแน่นอน (เว้นแต่จุติจิตของพระอรหันต์เท่านั้นที่ไม่เป็นอนันตรปัจจัย) เมื่อจักขุวิญญาณดับไปแล้วเป็นอนันตรปัจจัยให้จิตต่อไปเกิด ไม่ได้ทำทัศนกิจแต่รู้อารมณ์เดียวกัน คือรับต่อเพราะว่ารูปยังไม่ดับ จิตนี้ชื่อว่า “สัมปฏิจฉันนจิต” ทำกิจรับรู้อารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณ (ถ้าเกิดทางตา) หลังจากที่จิตเห็นดับไปแล้ว จิตขณะต่อไปไม่เห็นแต่ทำสัมปฏิจฉันนกิจรับรู้อารมณ์นั้นต่อหนึ่งขณะเป็นอนันตรปัจจัยให้จิตต่อไปเกิดขึ้นทำสันตีรณะกิจจึงเรียกชื่อจิตขณะนั้นว่า "สันตีรณจิต" เป็นชาติวิบาก เพราะเหตุว่าถ้าไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่กิริยาก็ต้องเป็นวิบาก เพราะฉะนั้นสัมปฏิจฉันนะก็เป็นวิบาก สันตีรณะก็เป็นวิบาก โดยกัมมปัจจัย เป็นปัจจัยให้สัมปฏิจฉันนะเกิด สันตีรณะเกิด แสดงว่าเมื่อกรรมให้ผล เราจะรู้จักจิตที่เราไม่เคยได้ยินชื่อ แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่ามี ขณะนี้ทุกคนก็เพียงรู้ว่าเห็นมี แต่จะไม่รู้ว่า มีปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน มีสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะเกิดต่อ เพราะฉะนั้นจะมีจิตซึ่งมีก็ไม่รู้ จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อทำทัศนกิจ หรือทำกิจเห็น กิจได้ยิน เป็นต้น เมื่อสันตีรณจิตเกิดทำสันตีรณะกิจ แปลว่า “พิจารณา” ไม่ได้ทำทัศนกิจ ไม่ได้ทำสัมปฏิจฉันนกิจ แต่ทำสันตีรณกิจ พิจารณา คือรู้ในอารมณ์นั้นต่อเท่านั้นแล้วก็ดับไป ต่อไปก็เป็นโวฏฐัพพนะ ชวนะ และ ตทาลัมพนะ ก็เท่านี้เอง ต่อไปนี้จะไม่ยากเลย ความยากอยู่ตรงที่ ชื่อก็ใหม่ กิจก็เป็นกิจซึ่งไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมีจิตประเภทนี้เกิดแต่ก็มีก่อนกุศลจิต และ อกุศลจิตจะเกิด นี่แสดงให้เห็นว่ากรรมทำให้จิตต้องเห็น และวิบากจิตอื่นๆ เกิดสืบต่อ แต่จะหยุดอยู่เพียงเท่านั้นไม่ได้เลย เพราะว่าเห็นแล้วจะต้องมีความรู้สึก หรือความชอบ หรือไม่ชอบ ที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ถ้าเป็นกุศลก็เป็นเรื่องของกุศล แต่ถ้าเป็นอกุศลก็ต้องเป็นโลภะ หรือโทสะ ถ้าเป็นโลภะก็ชอบติดข้อง ถ้าเป็นโทสะก็ไม่ชอบ ถ้าเป็นโมหะก็คือไม่รู้ นี่คือความละเอียดของจิตในวันหนึ่งๆ ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า ได้เกิดแล้วเป็นเช่นนี้ทุกชาติๆ แล้วก็เป็นอนัตตา

    เพราะฉะนั้นก็เริ่มรู้ว่า เมื่อสันตีรณะจิตดับเป็นอนันตรปัจจัยให้จิตขณะต่อไปทำ "โวฏฐัพพนกิจ" เรียกชื่อตามกิจ คือเป็นทางที่จะทำให้กุศลจิต หรืออกุศลจิตเกิดสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ เพราะว่ารูปยังไม่ดับ เห็นก็แล้ว รับก็แล้ว พิจารณาก็แล้ว เพราะฉะนั้นต่อจากนี้ไปก็จะเป็นกุศล หรืออกุศลในรูปที่ยังไม่ดับนั่นเอง เพราะฉะนั้น จิตที่ทำกิจนี้ไม่ใช่วิบากจิต และไม่ใช่กุศลจิต และอกุศลจิต แต่เป็นกิริยาจิต เพราะฉะนั้นเราที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็จะมีกิริยาจิต ๒ ประเภท หรือ ๒ ดวง คือปัญจทวาราวัชชนจิตทำอาวัชชนกิจ และ มโนทวาราวัชชนจิตทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร จิต ๒ ดวงนี้จะจำชื่อได้ถ้าจำทวาร ๖ ได้ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ แต่มโนทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นกิริยาจิต ทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร หมายความว่าเมื่อเกิดขึ้นก็เป็นจิตที่กระทำกิจเป็นทางให้กุศลจิต หรืออกุศลจิตที่ได้สั่งสมมาที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นๆ ในขณะนั้น ซึ่งใครก็ทำไม่ได้ นอกจากสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่ง เพราะฉะนั้นเมื่อสันตีรณจิตดับ จิตที่เกิดต่อเป็นจิตที่เป็นทางให้กุศลจิต และอกุศลจิตเกิดต่อ เพราะฉะนั้นจิตนี้ชื่อว่า "โวฏฐัพพนจิต" โดยศัพท์ที่แปลกันมาใช้คำว่า ตัดสินอารมณ์ เพราะว่าคงจะสั้นกระทัดรัด แต่ต้องทราบว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่ผู้พิพากษา ไม่ใช่ใครที่สามารถจะเปลี่ยนแปลง เพียงแต่ว่าเมื่อจิตนี้ดับแล้ว กุศลจิต หรืออกุศลจิตที่ได้สะสมมาแล้วก็เกิดตามกาละนั้นๆ ที่จะเป็นอย่างนั้นไม่เป็นอย่างอื่น

    ขณะนี้กำลังเป็นกุศล หรือ เป็นอกุศล ขึ้นอยู่กับการสะสม ไม่ใช่เพราะโวฏฐัพพนะตัดสิน แต่ว่าจิตที่เป็นกิริยาจิตที่เกิดก่อนทำกิจเป็นทางที่จะให้กุศลจิต หรือ อกุศลจิตเกิดต่อ เพราะว่า จากวิบากจิตที่จะไปสู่กุศลบ้าง อกุศลบ้าง หรือ กิริยาบ้าง ก็จะต้องมีจิตชาตินี้เกิดขึ้น กระทำกิจนี้ และหลังจากนั้น กุศลจิต หรืออกุศลจิตจึงเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ช่วงไหนที่จะเรียกว่าเป็นกิริยาจิต ช่วงไหนเป็นวิบากจิต เพราะเกิดคั่นกันอยู่ อะไรเป็นหลักเกณฑ์

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นวิบากที่ไม่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทางเป็นภวังค์ แต่วิบากที่รู้อารมณ์ก็มี นี่คือความต่างของวิบาก วิบากที่เป็นภวังค์ซึ่งไม่รู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดใน ๖ ทางเลย แต่วิบากที่รู้อารมณ์ใน ๖ ทางไม่ได้ทำภวังคกิจ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะสามารถทำกิจรู้อารมณ์ได้นั้น จิตต้องเปลี่ยนไป จะเป็นภวังค์ต่อไปอย่างเดิมไม่ได้ จึงมีกิริยาจิตเกิดคั่น ถ้าเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ถ้าเป็นทางใจ คิดนึกรู้อารมณ์ทางใจก็เป็น มโนทวาราวัชชนจิต กิริยาจิตมีเพียง ๒ ดวง สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่ถ้าผู้ที่เป็นพระอรหันต์ กุศลจิต และ อกุศลจิตไม่มีเลย

    ผู้ฟัง มีเพียง ๒ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต และ โวฏฐัพพนจิต

    ท่านอาจารย์ โวฏฐัพนจิตทำอาวัชชนกิจทางมโนทวารซึ่งเป็นกิริยา ไม่ใช่วิบาก และต่อไปจะใช้ชื่อว่ามโนทวาราวัชชนจิต เพราะว่าถ้าคิดถึงทวารจะทำให้สามารถรู้ได้ว่าจะใช้ชื่อใดในระหว่าง ๒ ชื่อ เพราะว่าทำ ๒ กิจ ทวารมี ๖ คือ จักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวารเป็นรูป แต่มโนทวารเป็นนาม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 135
    18 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ