พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 39
ตอนที่ ๓๙
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๖
ท่านอาจารย์ ทวารมี ๖ คือ จักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวารเป็นรูป แต่มโนทวารเป็นนาม จึงใช้คำว่า มโนทวาร แล้วอะไรที่เป็นมโนทวาร สภาวธรรมอะไรเป็นมโนทวาร ก็ต้องได้แก่ ภวังคุปัจเฉทะ เพราะเมื่อจิตต่อไปเป็นวิถีจิตโดยอาศัยภวังคุปัจเฉทะที่ดับไป ภวังคุปัจเฉทะจึงเป็นทวารของวิถีจิตทางใจ เพราะว่าวิถีจิตจะเกิดได้ต้องมีทวาร และมโนทวารนั้นเป็นนาม ไม่ใช่รูป ดังนั้นจึงได้แก่ภวังคุปัจเฉทะ และภวังคุปัจเฉทะนี้ก็ไม่ใช่วิถีจิตแต่เป็นมโนทวาร เพราะเมื่อเป็นภวังค์จะเป็นวิถีจิตไม่ได้เลย แต่เมื่อเป็นภวังค์สุดท้ายของกระแสภวังค์จึงเป็นมโนทวารสำหรับมโนทวารวิถีจิตเท่านั้นที่จะเกิดต่อ จะเป็นมโนทวารของตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ได้ เพราะว่า ๕ ทางนั้นมีปัญจทวารเป็นรูป
ผู้ฟัง แสดงว่ามโนทวารที่เป็นภวังคุปัจเฉทะก็เกิดก่อนปัญจทวาร
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ เพราะถ้าเกิดวิถีจิตทางมโนทวาร ก็จะเกิดวิถีจิตทางปัญจทวารไม่ได้เลย เช่น จิตเห็น จิตได้ยินนี้จะไม่เกิด สัมปฏิจฉันนะไม่เกิด สันตีรณะไม่เกิด ต้องศึกษาจิตทีละหนึ่งขณะที่เกิดดับสืบต่อกัน ทางตาที่เห็นรู้รูป จึงต้องอาศัยทวารที่เป็นรูป แต่ทางใจไม่ได้รู้รูป ก็จึงไม่ได้อาศัยทวารที่เป็นรูป แต่อาศัยทวารที่เป็นนาม ก็คือภวังคุปัจเฉทะนั้นเองที่เป็นทวาร เพราะว่าถ้าภวังคุปัจเฉทะไม่เกิดมโนทวารวิถีก็เกิดไม่ได้
ผู้ฟัง ไม่ได้เรียงลำดับใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เป็นอนันตรปัจจัย เรียงลำดับตามปัจจัยโดยสมนันตรปัจจัย ซึ่งปัจจัยนี้ยังไม่ได้กล่าวถึง
ผู้ฟัง เมื่อถึงโวฏฐัพพนะจิตแล้วต่อไปก็เป็นชวนจิต
ท่านอาจารย์ โวฏฐัพพนจิตเป็นกิริยาจิตซึ่งเมื่อเกิดแล้วก็เป็นทางที่จะให้กุศลจิต หรืออกุศลจิตเกิดสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ และสำหรับพระอรหันต์ก็ไม่ใช่กุศล หรืออกุศลแต่เป็นกิริยา ซึ่งกุศลจิต หรืออกุศลจิตที่เกิดขึ้นจะเกิดซ้ำกันถึง ๗ ขณะ เพราะฉะนั้นจิต ๗ ขณะที่เกิดซ้ำกันหลังจากที่โวฏฐัพพนะดับไปแล้วทำชวนกิจ เมื่อกล่าวถึงจิตที่ทำชวนกิจก็จะได้แก่ กุศลจิต อกุศลจิต และกิริยาจิตของพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นจะกล่าวถึงชวนกิจก็หมายความถึงกุศลจิต อกุศลจิต หรือกิริยาจิตของพระอรหันต์ ถ้ากล่าวถึงกุศล อกุศล หรือกิริยาจิตของพระอรหันต์ทำกิจอะไร ก็คือทำชวนกิจ เพราะฉะนั้นจึงต้องกล่าวถึงชาติ และ กิจด้วยเพื่อให้ทราบถึงความต่างกัน และรูปก็ยังไม่ดับเพราะรูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เมื่อถึงชวนกิจจึงเป็นกุศล หรืออกุศลในขณะที่เกิดต่อจากโวฏฐัพนะ
ผู้ฟัง แล้วก็มีตทาลัมพนะตามมา
ท่านอาจารย์ เมื่อรูปยังไม่ดับก็จะมีวิบากจิตเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ต่ออีก ๒ ขณะ และเมื่อรูปดับจิตต้องเป็นภวังค์ เมื่อนั้นจึงสิ้นสุดวิถีจิตแต่ละทวาร
ผู้ฟัง เมื่อพูดถึงเรื่องตา มีความเกี่ยวข้องกับตทาลัมพนะอย่างไร
ท่านอาจารย์ มีรูปเป็นอารมณ์ รูปยังไม่ดับยังเหลืออีก ๒ ขณะ ถ้านับตั้งแต่ขณะที่ ๑ คืออตีตภวังค์ ขณะที่ ๒ คือภวังคจลนะ ขณะที่ ๓ คือภวังคุปัจเฉทะ ขณะที่ ๔ คือปัญจทวาราวัชชนะ ขณะที่ ๕ คือจักขุวิญญาณ ขณะที่ ๖ คือสัมปฏิจฉันนะ ขณะที่ ๗ คือสันตีรณะ ขณะที่ ๘ คือโวฏฐัพพนะ และชวนะอีก ๗ ขณะ รวมเป็น ๑๕ ขณะ เหลืออีก ๒ ขณะก็คือ ตทาลัมพนะจิตซึ่งเป็นชาติวิบาก และจะมีเฉพาะในภูมิที่เป็นกามภูมิ ในกามบุคคล และในกามชวนะ คือเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เมื่อยังไม่ดับก็มีจิตที่เป็นวิบากอีก ๒ ขณะเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์นั้นต่อจากชวนะ
ผู้ฟัง เราจะรู้ หรือยังว่าเห็นอะไรเมื่อถึงตทาลัมพนะ
ท่านอาจารย์ ยังไม่รู้ เพียงแต่ว่ามีรูป จะรู้ได้เมื่อมีมโนทวารวิถี โดยหลังจากตทาลัมพนะดับไปแล้วต้องเป็นภวังค์ เมื่อภวังค์ดับไปจึงจะมีมโนทวารวิถีเกิดสืบต่อรับรู้อารมณ์เดียวกับทวารที่เพิ่งดับไป
ผู้ฟัง แต่กรณีนี้เราจะนับรวมกับ ๑๗ ขณะ หรือไ่ม่
ท่านอาจารย์ ๑๗ ขณะ หมายความถึงอายุรูป เราจะนับเพื่อให้รู้ว่ารูปดับเมื่อไหร่ เช่น เมื่อกำลังนอนหลับขณะนั้นเป็นภวังค์ รูปใดที่เกิดพร้อมภวังค์ใดก็มีอายุต่อไป ๑๗ ขณะแล้วก็ดับไป ถ้ารูปเกิดพร้อมจักขุปสาทะ รูปอื่นๆ มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ
เวลาที่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสแล้ว ถ้าไม่มีมโนทวารวิถีรับรู้ต่อ ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย ไม่มีเรื่องราวต่างๆ เพราะว่าสิ่งที่กำลังปรากฏก็เป็นแต่เพียงลักษณะของปรมัตถธรรม ไม่มีการคิดนึกตรึกถึงรูปร่างสัณฐานใดๆ ทั้งสิ้น แต่เมื่อวิถีจิตที่เป็นปัญจทวารวิถีดับไปแล้ว และมีภวังคจิตเกิดคั่นแล้วจากที่เคยได้เห็น หรือได้ยินก็ตาม จะเป็นเหตุให้ภวังค์ไหว เมื่อภวังค์ไหวแล้วก็เป็นอนันตรปัจจัยให้ภวังคุปัจเฉทะเกิดต่อ เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับแล้วปัญจทวาราวัชชนจิตจะเกิดอีกไม่ได้ เพราะปัญจทวาราวัชชนจิตจะเกิดเฉพาะทางปัญจทวารทีละทวาร
ท่านอาจารย์ ต่อไปนี้ให้เข้าใจว่าถ้าจะเข้าใจธรรม ต้องเข้าใจจริงๆ อย่าไปเพียงจำ แม้แต่ชื่อก็ต้องรู้ว่าเป็นจิต หรือเป็นเจตสิก หรือว่าเป็นรูป เช่น ธาตุดินจะเป็นนามธรรมไม่ได้ ให้มีความเข้าใจเป็นของเราเองเพิ่มขึ้น ชัดเจนขึ้น
เห็นกับได้ยินขณะนี้ ตามความเป็นจริงเกิดไม่พร้อมกัน และรูปซึ่งมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ สีสันวรรณะที่ปรากฏทางตา และทางหูที่เหมือนกับมีเสียงกำลังปรากฏทางหูด้วย จิตเห็นกับจิตได้ยินห่างกันเกิน ๑๗ ขณะจิต เพราะฉะนั้นลองคิดดูว่ารูปที่ปรากฏทางตากับจักขุทวารวิถีจะสั้น และรวดเร็วสักแค่ไหน แต่ก็คือรูปที่ยังไม่ดับ
ผู้ฟัง ถ้าเกิดวิปัสสนาญาณเกิดก็สามารถเห็นได้ใช่ หรือไม่ สามารถประจักษ์ว่าเป็นแค่สิ่งที่เห็นทางตา
ท่านอาจารย์ เราคงไม่ต้องไปพูดถึงวิปัสสนาญาณ แต่พูดถึงความเข้าใจที่ถูกต้องว่าความเล็กน้อยของรูปที่ปรากฏทางตายังไม่ดับจะสั้นแค่ไหน เพราะฉะนั้นเวลาที่เรากำลังเห็นเป็นคน เป็นสิ่งต่างๆ ก็ต้องรู้ว่ามีจักขุทวารวิถี สิ่งนี้จึงยังปรากฏ และก็ต้องดับไปโดยอาศัยความรวดเร็วเวลาที่จิตคิดนึกสลับทางใจไม่ปรากฏว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาดับเลย เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงรูปที่ปรากฏทางตาจริงๆ ก็จะเป็นคนเป็นสัตว์อะไรไม่ได้เลย จะมีการคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ก็ไม่ได้
เพราะฉะนั้นต้องแยก ๖ ทวารออกจากกัน
ถ้าเข้าใจจริงๆ ว่าขณะนี้มีจิต และก็มีทวาร และก็มีการเกิดดับเร็วจนกระทั่งทำให้เห็นเหมือนกับว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็แสดงให้เห็นว่าหลายวาระเหลือเกิน และก็รูปที่ปรากฏจริงๆ ที่ยังไม่ดับทางจักขุทวารต้องเล็กน้อย และสั้นสักแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นรูปใดก็ตาม สภาวรูปทั้งหมดจะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ และจิตแต่ละขณะที่เกิดจะต้องเกิดดับสืบต่อตามลำดับโดยที่ใครก็ไปเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย แต่ด้วยพระปัญญาที่ทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพื่ออนุเคราะห์ผู้ที่มีปัจจัยที่จะได้ฟัง ได้พิจารณาว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เราสามารถจะรู้เท่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือไม่ เช่น ปัญจทวาราวัชชนจิต สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต เป็นต้น แต่เมื่อทรงแสดงเราจึงค่อยๆ สะสมความรู้ ความเข้าใจว่าสภาพธรรมที่เป็นจริงไม่มีใครที่สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้เลย ต้องเป็นอย่างนี้ ค่อยๆ เข้าใจความเป็นอนัตตากับความเป็นธรรม เพื่อที่จะได้สะสมความเห็นถูกจนกว่าจะสามารถละกิเลสได้
เพราะว่าความเป็นจริงแล้ว รูปที่ปรากฏก็จะไม่พ้นจากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ยังมีรูปอื่นอีกซึ่งไม่ใช่รูปที่สามารถจะรู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่สามารถจะรู้ได้เฉพาะทางใจ เมื่อกล่าวว่ามโนทวารสามารถรู้รูปที่ดับไปแล้ว และรูปที่ยังไม่ดับ รูปที่ยังไม่ดับที่กล่าวถึงนี้ไม่ได้หมายความถึงรูปที่ปรากฏให้รู้ถึงทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่หมายถึงรูปอื่นที่ไม่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่สามารถจะรู้ได้ทางมโนทวาร ซึ่งจะมีความแตกต่างที่จะกล่าวอีกต่อไปข้างหน้า
ขณะนี้กำลังกล่าวถึงทวาร ๖ ทวาร เป็นรูป ๕ ทวาร และเป็นนาม ๑ ทวาร เพราะฉะนั้นสำหรับรูปที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จะต้องรู้ได้ทางทวาร ๕ หากจะไปรู้ทางทวารอื่นได้ก็ต่อเมื่อรูปนั้นดับไปแล้ว เช่น สีที่ปรากฏทางตา หรือเสียงที่ปรากฏทางหู ทางจักขุทวารวิถีจิตดับ โสตทวารวิถีจิตดับ ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารรับรู้รูปคือสิ่งที่ปรากฏทางตา และเสียงที่ดับแล้ว เพราะรูปเหล่านี้ต้องกระทบกับปสาทรูป แต่สำหรับรูปอื่นที่ไม่ใช่รูปที่กระทบกับปสาทรูป ๕ มโนทวารสามารถจะรู้ได้ แต่ในชีวิตประจำวันจริงๆ เราจะรู้ได้ก็เพียงรูปที่กระทบกับทางปสาทรูป ๕ ซึ่งเมื่อกล่าวถึงตรงนี้คงจะทำให้มีความเข้าใจได้ว่าทางมโนทวารสามารถจะรู้รูปที่ยังไม่ดับได้ แต่ต้องเพิ่มความหมายว่าต้องเป็นรูปที่ไม่ได้ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย
ผู้ฟัง จากการศึกษาก็รู้แล้วว่ารูปในกายคนมี ๔ สมุฏฐาน ก็เกิดดับ รูปนอกกายจะเป็นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ก็เกิดดับ ซึ่งเกิดแล้วก็ดับอยู่ตลอด แม้แต่ในกายก็เกิดดับ๔ สมุฏฐาน เกิดดับ ๑๗ ขณะ จะกระทบ หรือไม่กระทบก็เกิดดับ เข้าใจแบบนี้ใช่ หรือไม่
ท่านอาจารย์ สภาวรูปต้องมีอายุ ๑๗ ขณะ แต่ว่ารูปที่ปรากฏเป็นอารมณ์ในชีวิตประจำวันมี ๗ รูป มีใครรู้รูปอื่นไหมนอกจาก ๗ รูปนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อกล่าวถึงทวาร ๖ ก็แยกให้รู้ว่าเมื่อรูปปรากฏทางแต่ละทวารใน ๕ ทวารดับไปแล้ว ทางมโนทวารจะรับรู้รูปนั้นต่อแต่ต้องเป็นรูปที่ดับแล้ว ส่วนมโนทวารจะไปรู้รูปอื่นที่ยังไม่ดับก็ต้องเป็นรูปที่ไม่ปรากฏทางทวารทั้ง ๕
ผู้ฟัง ให้เข้าใจตรงนี้ก่อนว่า รูปจะกระทบ หรือไม่กระทบรูปก็เกิดดับอยู่ตลอดเวลา
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง รูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เราไม่สามารถนำอะไรมาวัดอายุของรูปได้ แต่ก็ทราบว่ารูปเกิดดับช้ากว่าจิต แล้วจะนับอย่างไรจึงจะทราบได้ว่าเมื่อไหร่รูปจะดับ จึงต้องนำสิ่งที่ดับเร็วกว่านั้นคือ จิต มานับว่าจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปๆ หนึ่งก็ดับ
ผู้ฟัง ทั้ง ๔ สมุฏฐานมีอายุเท่ากันทั้งที่เป็นสภาวรูปกระทบ หรือไม่กระทบ จะมีจิตมาเกิด หรือไม่เกิด รูปก็เกิดดับอายุ ๑๗ ขณะ
ท่านอาจารย์ อายุของรูปต้อง ๑๗ ขณะ บางคนคิดว่าต้องไปตั้งต้นที่อตีตภวังค์ และก็ดับที่ตทาลัมพนะ แต่ความจริงรูปอื่น ๑๗ ขณะก็ดับ เพราะแม้แต่กำลังเป็นภวังค์หลับสนิท รูปใดเกิดที่ภวังค์ใดก็นับไป ๑๗ ขณะ
ผู้ฟัง ตรงนี้มีคนสับสนมาก เท่าที่รู้คือสภาวรูปจะภายนอก หรือภายในกาย อายุก็เท่ากับ ๑๗ ขณะ กระทบ หรือไม่กระทบ อายุรูปก็ ๑๗ ขณะ
ท่านอาจารย์ หากรูปใดเกิดพร้อมกับจักขุวิญญาณ แม้เมื่อถึงตทาลัมพนะแล้วรูปก็ยังไม่ดับ ถึงแม้จะถึงภวังค์แล้วรูปก็ยังไม่ดับ เพราะว่ารูปจะต้องมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เมื่อจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะแล้วไม่ว่าจะตรงขณะจิตดวงใดก็ตาม รูปก็จะดับลง
ผู้ฟัง องค์ธรรมของปสาทรูปก็คือรูป ๕ จิต ๑ ช่วยขยายความตรงนี้ด้วย
ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นควรทราบว่าทำไมเราพูดถึงจิตที่เรารู้ไม่ได้เช่นภวังค์ แต่ก็สามารถจะรู้ความต่างขณะที่เป็นภวังค์ว่าไม่ใช่ขณะที่กำลังเห็น และเช่นปัญจทวาราวัชชนะ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ เป็นต้น ทำไมเราต้องศึกษา ก็เพื่อที่จะได้รู้ว่าเรากำลังศึกษาพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าทรงตรัสรู้อย่างไร ก็ทรงแสดงอย่างนั้น ซึ่งคนธรรมดาก็ไม่สามารถที่จะรู้อย่างนั้นได้ และอีกประการหนึ่งก็เพื่อที่จะให้เข้าถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมว่าเรารู้หยาบมาก เพราะเพียงแต่เห็นแล้วก็ชอบไม่ชอบ แต่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย ยังจะมีจิตอื่นที่เกิดในระหว่างนั้นด้วย สำหรับผู้ที่รู้ก็จะเห็นความเป็นอนัตตาว่าจริงๆ แล้วธรรมไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้เลย
เพราะฉะนั้นการศึกษาจริงๆ แล้วก็คือ ศึกษาเพื่อเข้าใจสิ่งที่เราสามารถเข้าใจได้ด้วยตัวของเรา และสิ่งที่ผู้ตรัสรู้ทรงแสดงธรรมตามที่ทรงตรัสรู้อย่างไร
การศึกษาธรรมเป็นเรื่องตามลำดับซึ่งละเอียดมาก จึงจำเป็นต้องมีพื้นฐานความเข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่ได้ยินตามลำดับด้วย เช่น ถ้าได้ยินคำว่าธรรมก็ให้เข้าใจ ว่าหมายความถึงสิ่งที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จึงใช้คำว่าธรรม และไม่มีใครเป็นเจ้าของด้วย ค่อยๆ พิจารณาจนกระทั่งเห็นว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ และเมื่อกล่าวว่าสิ่งที่มีจริงเป็นธรรม ก็เพิ่มความรู้ของเราได้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่มีจริง และอะไรเป็นธรรม เช่นเห็นกำลังมีจริงๆ ไม่เคยรู้มาก่อนว่าเป็นธรรม ก็รู้ว่าเป็นธรรมเพราะมีจริงๆ เสียงมีจริงก็เป็นธรรมเพราะเหตุว่าเสียงปรากฏ และเมื่อรู้ว่าเป็นธรรมแล้วยังสามารถที่จะเข้าใจความต่างของธรรม ๒ อย่าง คือสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม และ นามธรรม
แต่ถึงจะรู้เช่นนี้ก็ยังไม่ได้ละความเป็นเรา จึงจะต้องมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น เป็นผู้ที่ฟังมากไตร่ตรองมาก เข้าใจขึ้นจนกว่าจะถึงกาละที่สามารถจะรู้ความเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ไม่ใช่เพียงแต่ฟังเรื่องราวของสภาพธรรมแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจนามธรรม และรูปธรรม ก็จะเข้าใจต่อไปอีกว่านามธรรมที่เกิดไม่ใช่มีแค่จิตแต่ยังมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย
สิ่งใดก็ตามที่ได้ยินได้ฟัง ขอให้เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังชัดเจนตามลำดับ ซึ่งตามลำดับนี้ต่อไปก็จะมีความละเอียดแยกออกไปอีก แต่คร่าวๆ ในเบื้องต้นตอนนี้ก็คือให้เข้าใจว่าถ้าเป็นเรื่องของนามธรรมก็เป็นเรื่องชาติ คือต้องทราบว่าจิต เจตสิก มี ๔ ชาติ จะได้ไม่สับสนระหว่างสภาพธรรมที่เป็นเหตุกับสภาพธรรมที่เป็นผล และสภาพธรรมที่แม้ไม่ใช่เหตุ แม้ไม่ใช่ผลก็มี และก็เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันด้วย ให้ค่อยๆ ศึกษาไป หากกล่าวถึงรูปต้องเข้าใจว่า ไม่ว่าจะที่ไหน อย่างไร หยาบ ละเอียด ปรากฏ ไม่ปรากฏก็ตาม เมื่อเป็นรูปแล้วไม่ใช่สภาพรู้ ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น นี่เป็นประการแรก และประการต่อไปคร่าวๆ เช่นที่เราเคยรู้ตอนที่เป็นเด็กก็จะมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ทั้งหมดก็คือรูป แต่ละรูปเป็นรูปที่เป็นรูปใหญ่ เป็นประธาน รูปใดๆ ก็ตาม จะเกิดไม่ได้ถ้าปราศจากมหาภูตรูป ๔ คือปราศจากธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมไม่ได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่กล่าวถึงรูปอื่นที่ต่างจากนี้ เช่น ปสาทรูป เป็นต้น ก็ต้องรู้ว่าไม่ใช่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ไม่ใช่รูปที่เป็นใหญ่ ๔ รูปนี้ และรูปที่เป็นใหญ่ ๔ รูปนี้เรียกว่า "มหาภูตรูป" ส่วนรูปอื่นๆ ทั้งหมดต้องอาศัยมหาภูตรูป ๔ นี้จึงมี จึงเกิดขึ้นได้ รูปนั้นเรียกว่า "อุปาทายรูป"
เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจตามลำดับอย่างนี้เมื่อได้ยินชื่อรูปหนึ่งรูปใดเช่น ปสาทรูป ก็รู้ว่าไม่ใช่มหาภูตรูป ถ้าได้ยินคำว่าเสียงก็รู้ว่าไม่ใช่มหาภูตรูป ต้องเป็นอุปาทายรูป และเมื่อได้ยินคำว่า ปสาทรูป ก็เข้าใจได้ว่าหมายถึงรูปอะไร
ปสาทรูปมีเพียง ๕ เป็นรูปที่ใช้คำว่า “ใส” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงว่าใสอย่างที่เราจะเอาอะไรมาเปรียบเทียบว่าอะไรใสกว่าอะไร "ใส"ในที่นี้หมายถึงว่าเป็นรูปที่ไม่ใช่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แต่เป็นอีกรูปหนึ่งต่างหากที่สามารถกระทบกับรูปอื่นได้ เช่น โสตปสาทรูป สามารถกระทบเสียง เสียงมีแต่ใครจะรู้เสียง ถ้าไม่มีปสาทรูปที่สามารถกระทบเสียง แต่ปสาทรูป และเสียงไม่รู้อะไรเลย แต่จิตอาศัยการกระทบกันของปสาทรูป และเสียง จึงเกิดจิตได้ยินขึ้น เพราะฉะนั้นจิตได้ยินอาศัยทวาร และก็เป็นวิถีจิต เพราะขณะนั้นสามารถรู้รูปที่กระทบได้ ไม่ใช่ภวังคจิต จิตใดก็ตามที่ไม่ใช่ภวังคจิตเป็นวิถีจิต เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจเรื่องปสาทรูป ๕ จริงๆ จะไม่สับสน แม้จะได้ยินคำอื่นที่เกี่ยวกับปสาทรูปก็ไม่สับสน เช่น ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ รูปเป็นที่เกิดของจิต จิตจะเกิดนอกรูปไม่ได้เลย ในขณะนี้กำลังกล่าวถึงที่เกิด ไม่ได้กล่าวถึงปสาทซึ่งเป็นทางที่จิตจะรู้อารมณ์ แต่กล่าวถึงที่เกิดของจิตว่าในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตจะเกิดนอกรูป หรือพ้นจากรูปไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นในสวรรค์ ในนรก หรือในรูปพรหมก็ตาม ที่ใดที่มีรูปในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตต้องเกิดที่รูปหนึ่งรูปใดใน ๖ รูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตไม่เกี่ยวกับทางรู้อารมณ์ แม้แต่ขณะแรกที่จิตเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัยในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ปฏิสนธิจิตก็ต้องเกิดที่รูป เกิดนอกรูปไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้น ในขณะแรกที่จิตเกิด กรรมทำให้จิต เจตสิก ซึ่งเป็นนามธรรมเกิดที่หทยวัตถุซึ่งเป็นกัมมชรูป รูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน เพราะฉะนั้นรูปที่เป็นที่เกิดทั้งหมดมีเพียง ๖ รูป ได้แก่ จักขุปสาทรูปเป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ โสตปสาทรูปเป็นที่เกิดของโสตวิญญาณ ฆานปสาทรูปเป็นที่เกิดของฆานวิญญาณ ชิวหาปสาทรูปเป็นที่เกิดของชิวหาวิญญาณ กายปสาทรูปเป็นที่เกิดของกายวิญญาณ จิตอื่นนอกจากนี้ทั้งหมดเกิดที่หทยวัตถุ
เพราะฉะนั้น ให้เข้าใจว่าเมื่อกล่าวถึงวัตถุคือ ที่เกิด มี ๖ แต่เมื่อกล่าวถึงถึงปสาทรูปซึ่งเป็นทวารมี ๕ ถึงแม้ทวารมี ๖ ก็จริง แต่เป็นรูป ๕ เป็นนาม ๑ ค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้นว่า รูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตมี ๖ รูป จักขุปสาทรูปกลางตาเป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ จิตอื่นจะเกิดที่นั่นไม่ได้เลยทั้งสิ้น โสตปสาทรูปเป็นที่เกิดของโสตวิญญาณกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ จิตอื่นจะเกิดที่นั่นไม่ได้เลย
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 1
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 2
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 3
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 4
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 5
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 6
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 7
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 8
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 9
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 10
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 11
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 12
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 13
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 14
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 15
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 16
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 17
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 18
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 19
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 20
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 21
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 22
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 23
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 24
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 25
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 26
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 27
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 28
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 29
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 30
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 31
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 32
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 33
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 34
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 35
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 36
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 37
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 38
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 39
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 40
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 41
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 42
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 43
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 44
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 45
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 46
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 47
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 48
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 49
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 50
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 51
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 52
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 53
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 54
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 55
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 56
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 57
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 58
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 59
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 60