พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 43


    ตอนที่ ๔๓

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖


    ท่านอาจารย์ ยังมีเรา แต่ถ้าเรียน และเข้าใจจริงๆ ว่าไม่มีเรา แต่มีจิต และเจตสิก แล้วอะไรปฏิบัติ ถ้าไม่ใช่จิตกับเจตสิก ก็ลืมไปใช่ หรือไม่ ฟังตอนหนึ่งก็เป็นตัวเราตอนหนึ่ง ที่ฟังอีกตอนหนึ่งแล้วปฏิบัติก็อีกตอนหนึ่ง ก็แสดงว่ายังไม่ได้เข้าถึงอรรถ หรือความหมายของคำว่าธรรม

    ผู้ฟัง ความเป็นเรานั้นแน่นหนา

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้นต้องฟังมากๆ ค่อยๆ อบรมเจริญปัญญาตามลำดับ ตั้งแต่ขั้นฟัง ขั้นพิจารณา ขั้นเข้าใจ ขั้นตรึกจนกระทั่งถึงขั้นอบรม เป็นเรื่องยาวไม่ใช่เรื่องสั้นเพราะว่าเราอยู่ในโลกนี้มานานเท่าไรแล้วใครทราบ นับไม่ถ้วน แล้วก็สะสมมาแต่ความไม่รู้ การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เรามีโอกาสได้ฟังเล็กน้อย ความเป็นเราจะทำก็ไม่ได้ ไม่ทำก็ไม่ได้ จะปล่อยบ้าง จะทำบ้าง วุ่นวายไปหมด แต่จริงๆ แล้วเพียงเข้าใจให้ถูกต้อง ไม่ใช่ให้ไปทำ แต่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    ผู้ฟัง ก็หมายความว่าควรสะสมสิ่งที่ถูก

    ท่านอาจารย์ และคำแรกกับคำหลังต้องตรงกัน เมื่อเป็นธรรมเราทำ หรือว่าสภาพธรรมเกิดขึ้นแล้วก็ทำกิจของธรรมนั้นๆ จึงจะไม่ใช่เรา

    อ.ธิดารัตน์ คำว่า "ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม" ที่อ่านพบก็จะมีแสดงว่า ไม่ว่าจะเป็นขั้นศีลก็เพื่อเป็นไปให้ถึง เพื่อสมควรแก่โลกุตตรธรรม ๙ ประเด็นนี้ ขอเรียนถามท่านอาจารย์ว่า แม้กระทั่งบารมีต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าท่านบำเพ็ญเพื่อให้ถึงโลกุตตรธรรม แม้แต่ในพระชาติต่างๆ นั้นท่านก็ต้องเป็นการปฏิบัติธรรมด้วย

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องเป็นบริวารของปัญญา เพราะว่าถ้าไม่มีปัญญา จะรักษาศีลเพื่ออะไร ก็เพื่อเรา แต่ถ้ารู้ว่ากุศลธรรมทั้งหลายไม่ใช่เพื่อเรา บางท่านก็จะทนไม่ได้ ด้วยความเป็นเราทุกอย่างเพื่อเราหมด เคยคิด หรือไม่ ว่าให้ทานทำไม ยังคิดอย่างนั้น หรือไม่ ว่าให้เพื่ออะไร จะได้ขึ้นสวรรค์ จะได้ผลของบุญ จะต้องไม่ลำบาก หรืออะไรอย่างนี้ ก็เป็นเรื่องของความคิดทั้งหมด จริงๆ แล้วการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมต้องทราบความหมายซึ่งก็คงจะมีหลายระดับ เช่นปฏิบัติธรรมที่สมควรแก่ธรรมนั้นๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้เพียงด้วยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนั้นๆ เช่นศีล หรือการวิรัตทุจริต ใครๆ ก็วิรัต ได้ แต่ว่าสมควรแก่อะไร สมควรแก่ผลที่จะเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่หมายความว่าจะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเพียงโดยการที่รักษาศีลไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง ขอเรียนถามความต่างกันของปรมัตถสัจจะ และสมมติสัจจะ แม้กระทั่งชื่อที่เป็นจิต เจตสิก รูป ก็เข้าใจว่าเป็นสมมติสัจจะ ไม่ใช่ปรมัตถสัจจะ

    อ.ธิดารัตน์ ถ้ากล่าวถึงปรมัตถสัจจะ ท่านจะหมายถึงการแสดงพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ข้อความในพระสูตรมัชฌิมนิกายมูลปัณณาสก์ ท่านได้แสดงว่าเทศนาของพระพุทธเจ้ามี ๒ ประการ คือสมมติเทศนาซึ่งหมายถึง การเทศนาเกี่ยวกับสมมติๆ นี้ก็เป็นสมมติบัญญัติที่ทางโลกสมมติกัน เป็นบุคคลเมื่อมีการกล่าวถึงบุคคล สัตว์ ผู้หญิง ผู้ชาย กษัตริย์ พราหมณ์ เทพ หรือมาร ที่มีมาในพระสูตรต่างๆ อย่างนี้ เมื่อกล่าวถึงบุคคลจะใช้คำว่า "สมมติเทศนา" และ "ปรมัตถเทศนา" ก็หมายถึงการเทศนาที่เกี่ยวกับอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือลักษณะของขันธ์ ธาตุ อายตนะ สติปัฏฐาน เป็นต้น

    พระคุณเจ้า เกี่ยวกับบัญญัติมีสองอย่าง ปรมัตถ์บัญญัติ และสมมติบัญญัติ เช่น พ่อ แม่ นี้เป็นบัญญัติก็จริง แต่เป็นบัญญัติที่มีสภาวะรับรองจึงเรียกว่าสมมติสัจจะ

    อ.วิชัย สัจจะมี ๒ ประการ พระผู้มีพระภาคทรงเทศนาด้วยสัจจะ ๒ สัจจะ ไม่มีสัจจะที่ ๓ คือ ปรมัตถสัจจะประการหนึ่ง และสมมติสัจจะอีกประการหนึ่ง ก็น่าคิดว่าเราจะกล่าว หรือสื่อสารให้เข้าใจกัน ถ้ากล่าวโดยที่เป็นปรมัตถ์อย่างเดียวก็ไม่เข้าใจกันว่าบุคคลขันธ์โน้น ขันธ์นี้ ก็ไม่สามารถจะให้เข้าใจกันได้ ดังนั้นเทศนาของพระองค์ทรงแสดงสัจจะ ๒ ประหาร คือด้วยปรมัตถสัจจะ คือทรงแสดงถึงธรรมที่มีจริงๆ เป็นจิต เจตสิก รูป นิพพาน มีสภาวะเป็นของตนไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น และทรงตรัสไม่ละทิ้งสมมติสัจจะด้วย เพราะเหตุว่าทรงแสดงเพื่อให้บุคคลนั้นเข้าใจ เพื่อแสดงอะไร เช่น หิริโอตตัปปะ ถ้าพระองค์ตรัสว่าขันธ์โน้นมีความละอาย จิตนี้มีความละอายต่างๆ สัตว์บุคคลที่ฟังก็ไม่เข้าใจ ถ้าทรงแสดงถึงบุคคลนั้น บุคคลนี้ ก็สามารถเข้าใจได้ และทรงแสดงสมมติสัจที่เป็นไปด้วยเรื่องของกรรม ว่าสัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตน แสดงถึงบุคคลโน้นว่าได้รับผลของกรรมอย่างนี้ๆ คือ ทรงไม่ละสมมติสัจจะ โดยโวหารของชาวโลกด้วย เป็นเทศนาของพระผู้มีพระภาคเพื่อให้บุคคลที่ฟังสามารถเข้าใจได้

    ท่านอาจารย์ อย่างไรก็ตามธรรมมีจริงแน่นอน แล้วเราจะรู้ได้ขณะไหนว่าขณะนั้นเรากำลังเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ หรือว่าไม่ใช่สิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้นก่อนที่จะถึงสมมติ ก็จะกล่าวถึง"ปรมัตถ์"กับ"บัญญัติ" สภาพธรรมที่มีจริงคือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน นอกนั้นแล้วไม่ใช่ปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้นในขณะนี้ที่กำลังเห็น เราจะสามารถที่จะรู้ได้ หรือไม่ว่าขณะไหนเป็นปรมัตถ์ หรือว่าขณะไหนที่กำลังได้ยินเป็นปรมัตถ์ ไม่ใช่เพียงชื่อ แต่ให้เรามีความเข้าใจในปรมัตถธรรมว่า ถ้าเราสามารถเข้าใจปรมัตถธรรม เข้าใจบัญญัติ และเราเข้าใจอย่างอื่นด้วย เพราะว่าเราคุ้นเคยกับอย่างอื่น แต่เราไม่เคยรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมเลย ได้ยินแต่ชื่อเหมือนแว่วๆ แต่ว่าตัวจริงๆ ก็อยู่ไกล หรืออยู่ใกล้ แล้วแต่ว่าขณะนั้นปัญญาของเราสามารถที่จะมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ หรือไม่ หรือเพียงแต่ได้ฟังเรื่องของปรมัตถธรรม ทั้งๆ ที่ขณะนี้เป็นปรมัตถธรรมทั้งหมด ก็แสดงให้เห็นว่าเราต้องอบรมความรู้ความเข้าใจในปรมัตถธรรม แล้วถึงจะเห็นความต่างกันจริงๆ แม้จะกล่าวว่าปรมัตถธรรมมี ๔ คือจิต เจตสิก รูป นิพพาน ก็แค่จำชื่อ แต่ว่าลักษณะที่เป็นปรมัตถ์นั้น รู้ หรือไม่ แต่ถ้าไม่รู้ ก็แค่จำไว้ก่อน ถึงอย่างไรใครมาถามเรา เราก็แค่ปรมัตถธรรม ๔ และก็สามารถที่จะรู้ได้ว่าถ้าขณะใดที่ไม่ใช่มีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์ นี่คือความรู้ที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น มีสภาพธรรมที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรม และขณะใดที่ไม่มีปรมัตถธรรมหนึ่งใน ๔ เป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์

    เพราะฉะนั้นบัญญัติคืออะไร บัญญัติ คือ สิ่งที่ไม่ใช่ปรมัตถ์ ไม่ต้องเอ่ยมาสักคำ สมมติอะไรก็ไม่มีทั้งนั้น แต่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ เพราะเหตุว่ามีสิ่งที่เราจำได้ทางตาในขณะนี้ เราก็จำได้เป็นดอกไม้อย่างนี้ ทั้งๆ ที่ก็เป็นเพียงสีสัน แต่จำลักษณะนั้นว่าเป็นดอกไม้ เพราะฉะนั้นดอกไม้เป็นบัญญัติ หรือเป็นปรมัตถ์ ถ้าเป็นปรมัตถ์ก็คือสิ่งใดก็ตามที่ปรากฏทางตา สิ่งนั้นแม้ไม่เรียกชื่อเลยก็มีจริงๆ เป็นปรมัตถธรรม ๑ ใน ๔

    เพราะฉะนั้น เราต้องคุ้นเคย และเข้าใจปรมัตถธรรม จึงจะสามารถแยกปรมัตถธรรมกับบัญญัติ แล้วก็จะรู้ว่าเมื่อมีปรมัตถธรรมกับบัญญัติ ก็มีการนึกคิด ไม่ใช่เฉพาะทางตา แต่ว่ามีการนึกคิดถึงเสียงต่างๆ สูงๆ ต่ำๆ เช่นเดียวกับที่ทางตา เวลาเห็นหลายๆ สี และก็มีการทรงจำว่าสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ทำไมเป็นคน และก็ไม่ใช่คนเดียวกันด้วย แต่ละคนๆ ก็สามารถที่จะจำบัญญัติของสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ นี่คือการที่เราจะค่อยๆ เข้าใจว่าแท้ที่จริงแล้ว แม้ว่าปรมัตถธรรมมีจริง และเกิดดับเร็วมากแต่เราก็อยู่ในโลกของบัญญัตินั่นเอง จนกว่าจะรู้ว่าแท้ที่จริงแล้วบัญญัติไม่ใช่สภาวธรรมที่มีจริง แต่เป็นเพียงความจำ และก็เรื่องราวต่างๆ ที่คิดนึกต่อมา เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว ต่อมาเราก็รู้ว่าแม้ไม่ใช้คำ ไม่มีสัททบัญญัติ แต่อรรถบัญญัติ ความหมายของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ก็มีหลังจากที่เห็น ก็จะทำให้เข้าใจว่าปรมัตถธรรมต่างกับบัญญัติ และก็มีคำภาษาต่างๆ เพื่อที่จะสมมติให้เข้าใจว่าหมายความถึงอย่างไร ก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่สำคัญก็คือต้องให้เข้าใจลักษณะของปรมัตถธรรมว่าเป็นธรรม ไม่อย่างนั้นก็ต้องเป็นเรา เป็นเขา เป็นวัตถุ เป็นสิ่งต่างๆ ต่อไปอีก

    ขณะนี้เราก็กำลังสนทนาเรื่องสภาพธรรม และก็มีสภาพธรรมปรากฏ และก็รู้ว่าสภาพธรรมที่มีจริงๆ เป็นปรมัตถธรรม เกิดปรากฏแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ก็จะต้องมีหนทางที่จะทำให้รู้ความจริงว่า ปรมัตถธรรมไม่ใช่บัญญัติ เพราะว่าเพียงแต่ฟังอย่างนี้ เราก็บอกว่าขณะใดที่ไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์ นี้ถูกต้องแน่นอน แต่หนทางที่ปัญญาของเราจะรู้จริงๆ ว่าขณะไหนมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ ขณะไหนเป็นบัญญัติเป็นอารมณ์

    อ.อรรณพ ถ้าไม่มีการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่รู้ลักษณะสภาพธรรม ก็อยู่ในโลกที่ปนเปไประหว่างบัญญัติที่จิตเกิดขึ้น เราก็ต้องรู้บัญญัติบ้าง รู้ปรมัตถ์บ้าง ก็ปนไป และเราคุ้นเคยในบัญญัติ เห็นก็เป็นคน เป็นชื่อ ทั้งอรรถบัญญัติคือไม่ต้องใส่ชื่อแต่ก็รู้รูปร่างรูปทรง หรือถ้าโตขึ้นมาแล้ว รู้บัญญัติด้วยภาษาหนึ่งภาษาใด ก็คิดถึงภาษานั้นเป็นชื่อต่างๆ ที่ติดข้องมากมาย และก็ปกปิดลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้นถ้ารู้ในลักษณะของปรมัตถธรรมในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นๆ ก็จะรู้ว่าบัญญัติ ไม่มี มีแต่ลักษณะสภาวธรรมที่กำลังคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ก็คือรู้ในลักษณะของความคิดนึก

    ผู้ฟัง จิต เจตสิก จับต้องก็ไม่ได้ แต่รู้ได้ เข้าใจได้ ถ้าเรารู้ปรมัตถ์ สติระลึกรู้ปรมัตถ์ จะละคลายกิเลส หรือตัณหาได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็ละความไม่รู้ ความไม่รู้ก็เป็นกิเลส ขณะที่รู้ก็ละความไม่รู้

    ผู้ฟัง เท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ มาก หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่มาก

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มาก ถูก หรือผิด

    ผู้ฟัง ถูก

    ท่านอาจารย์ ก็อยู่ในทางถูกตลอดไป หมายความว่ารู้ตามความเป็นจริง เราก็พูดเรื่องคำ เรื่องชื่อมามากเลย ลองจริงๆ ในห้องนี้มีคุณอรรณพ หรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องตรง ไม่ใช่เราไปพูดชื่อตั้งมากมายแล้วไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วเมื่อไร ถ้าถามว่าในห้องนี้มีคุณอรรณพ หรือไม่ มี มีคุณแก้วตา หรือไม่ มีคุณเรือนแก้ว หรือไม่ มีคุณอารี หรือไม่ มีคุณแสงจันทร์ หรือไม่ มีทั้งนั้นเลยใช่ หรือไม่ เพียง" ชื่อ" ใช่ หรือไม่ เพราะเราเรียนแล้วว่าที่จริงเป็นปรมัตถธรรม เพราะมีจิต มีเจตสิก มีรูป แต่จำรูปร่างสัณฐานจากสิ่งที่เห็น เพราะว่าถ้าหลับตาแล้วจับ จะรู้ หรือไม่ว่าเป็นคุณอรรณพ หรือใครก็ไม่รู้ ใช่ หรือไม่ แต่ว่ามีลักษณะที่แข็งกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นที่บอกว่าปรมัตถธรรมไม่ใช่ชื่อ แต่ว่ามีลักษณะจริงๆ เช่น แข็ง รู้เมื่อไร ต่อเมื่อกระทบสัมผัส ถ้าไม่กระทบสัมผัสลักษณะแข็งจะไม่ปรากฏ แต่รู้ว่าแข็งมี จำว่ามี เคยกระทบ เคยสัมผัส แต่ลักษณะแข็งไม่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ที่รู้ว่าเป็นปรมัตถ์ หรือเป็นบัญญัติ ก็คือเมื่อลักษณะนั้นปรากฏให้เข้าใจถูกต้อง เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตามี แล้วทำไมบอกว่ามีคุณอรรณพ เพราะจำ เมื่อเห็นเมื่อไรก็จำทันที รูปร่างหน้าตาอย่างนี้เป็นคุณอรรณพ แรกๆ ก็ไม่รู้จักชื่อใช่ หรือไม่ คนที่ห้องนี้ก็มากมาย เห็นกันก็บ่อย จำชื่อหมด หรือไม่ แต่รู้ใช่ไหมว่าคนนี้เคยเห็น และก็อาจจะจำได้ว่ามากี่ครั้ง หรือว่าไม่ได้มาบ่อยๆ แต่ที่จริงมีสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ไม่ได้ลืมรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏทางตาเลย ยังจำได้

    เพราะฉะนั้นความจำ จำเรื่อง นิมิต ตามเครื่องหมาย ตามรูปร่าง ตามลักษณะ ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นเกิดแล้วดับแล้วทุกๆ ขณะ ไม่มีอะไรเหลือ เพราะฉะนั้นเห็นได้จริงๆ ว่าเราจำสิ่งที่ปรากฏ เป็นบัญญัติ ไม่ใช่เป็นปรมัตถ์ แต่ขณะใดก็ตามที่เป็นปรมัตถ์ก็คือไม่ต้องเรียกชื่อ เช่น เสียง มีจริงๆ ปรากฏแล้ว ลักษณะจริงๆ ถ้าสติสัมปชัญญะรู้ตรงลักษณะนั้น จะมีแต่ลักษณะของปรมัตถธรรม แล้วก็คั่นด้วยความคิดนึกเพราะว่าคนที่ไม่คิดไม่มี อย่างไรๆ ก็ต้องคิด จะคิดยาว คิดสั้น คิดถูก คิดผิด คิดมาก คิดน้อยอย่างไรก็คิด คิดเรื่องไร้สาระ หรือเรื่องมีสาระก็คิด ซึ่งสลับกับปรมัตถธรรมที่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นี้ก็แสดงให้เห็นว่าต้องเข้าใจก่อน แล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏจริงๆ ให้ไม่ลืมที่จะต้องรู้ว่าปรมัตถธรรมคืออย่างนี้ อย่างน้อยที่สุด “ฟัง” แล้วก็รู้ว่าอะไรเป็นปรมัตถธรรม ส่วนชื่อเรื่องราวต่างๆ ก็เป็นบัญญัติ ไม่ใช่ปรมัตถ์ แล้วก็จำได้เข้าใจว่ามีเรา มีบัญญัติตลอด ทั้งๆ ที่เห็นเป็นปรมัตถ์ ก็ไม่ได้รู้ในลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ แต่มีหนทาง แต่หนทางนี้ต้องเป็นปัญญา เป็นทางอื่นไม่ได้เลย

    แม้แต่ขั้นการฟัง ฟังแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็จะค่อยๆ เข้าใจว่าขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตา ลักษณะจริงๆ ก็คือแค่เป็นสิ่งที่ปรากฏเท่านั้นเอง จำไปทีละเล็กทีละน้อย ทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งรู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าขณะนั้นเราไม่ได้มีการคิดนึกเรื่องยาวๆ ก็จะมีเสียงปรากฏ ก็จะรู้ลักษณะของเสียงโดยที่ไม่ต้องเรียกชื่อเลยเป็นปรมัตถ์ หรือแข็งที่กำลังมี ไม่ต้องเรียกอะไรเลยก็เป็นปรมัตถ์ แต่ต้องอาศัยความรู้ เพราะเราก็เห็นมาตลอด ได้ยินมาตลอด กระทบสัมผัสตลอดโดยไม่รู้ว่าเป็นปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้นเมื่อได้ฟังก็สามารถที่จะเข้าใจได้ว่าปรมัตถธรรมมีจริง และก็มีลักษณะแต่ละทางซึ่งไม่ใช่เรา อยากจะรู้ หรือไม่ หรือว่าฟังแล้วก็อีกนาน หรือไม่ หรือว่านานก็ไม่เป็นไร จะรีบไปไหน ถ้าไปผิดๆ

    ผู้ฟัง ปัญญาเท่านั้นที่จะลดละกิเลส

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ ละคลายความไม่รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ พอเริ่มเข้าใจแล้ว ถึงคิดว่าเป็นอะไร อย่างไรก็ตาม ลักษณะจริงๆ ก็เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง แต่ถ้าเป็นปัญญาของเราก็ลดละไม่ได้อีกใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ก็จะดับความเป็นเราก็ต้องรู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ทั่ว จนกระทั่งคลายความไม่รู้ คลายความสงสัย คลายความติดข้อง

    อ.อรรณพ ประโยคที่คุณสุกิจกล่าวเมื่อสักครู่คือว่า สติทำหน้าที่เพียงระลึก แล้วปัญญารู้ แล้วก็ปัญญาเป็นสภาพธรรมที่จะละ จะเป็นเหตุผลที่ท่านแสดงในการอบรมเจริญปัญญา เริ่มตั้งแต่การเจริญสติปัฏฐาน ซึ่ง ขณะที่สติปัฏฐานเกิดก็จะต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วย แต่ปัญญายังไม่ชัดเจน ยังไม่มีกำลังเท่ากับวิปัสสนา เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานจึงเป็นขั้นหนึ่ง วิปัสสนาจึงเป็นขั้นหนึ่ง เพราะว่าแม้จะมีสติเกิดร่วมด้วย แต่กำลังของปัญญาชัดเจนขึ้นจึงจะค่อยๆ ละคลายกิเลส จนกว่าจะถึงปัญญาที่เป็นโลกุตตระปัญญาที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุทเฉท เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่าปัญญาเป็นสภาพธรรมที่รู้ตามความเป็นจริงที่จะละคลายดับกิเลส ประกอบกับโสภณธรรมอย่างอื่น เช่น สติ วิริยะ ความตั้งมั่นคือสมาธิ และสภาพของโสภณธรรมอื่นๆ แต่สภาพที่จะเจริญ และมีกำลังยิ่งขึ้น ปัญญาต้องเป็นประธานใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เป็นการอบรมเจริญปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาแล้วจะรู้อะไรได้ จะเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงก็ไม่ได้

    เหตุที่เรากล่าวถึงเรื่อง "ภูมิ" ก็เพื่อที่จะให้เข้าใจสภาพจิต เพราะว่าจิตมีถึง ๘๙ ประเภท เหมือนกันหมด หรือไม่ ถ้าเหมือนก็ไม่ต้องจำแนก ความต่างโดยประการใหญ่ๆ นอกจากที่เรากล่าวถึงแล้วโดยชาติ จิตที่เป็นกุศลก็มี จิตที่เป็นอกุศลก็มี จิตที่เป็นวิบากก็มี จิตที่เป็นกิริยาก็มี ถ้ากล่าวโดยชาติจะลืม ๔ คำนี้ไม่ได้ ก็หมายความเฉพาะจิต และเจตสิก รูปมีชาติ หรือไม่ รูปเป็นอกุศลมี หรือไม่ ไม่มี เป็นกุศล เป็นวิบาก เป็นกิริยา ไม่มี

    เพราะฉะนั้น รูป จะไม่มีชาติเป็นกุศล อกุศล วิบาก หรือกิริยา แต่สำหรับปรมัตถธรรมไม่ได้มีแต่จิต และ เจตสิก เพราะรูปก็มี นิพพานก็มี เพราะฉะนั้น ถ้าจะกล่าวถึงภูมิของจิต เพราะว่าจิตหลากหลาย จิตขั้นต่ำที่สุดก็คือขั้นกามาวจรจิต ในนรก มีเห็น หรือไม่ ได้กลิ่น หรือไม่ เจ็บ หรือไม่ ก็ต้องอาศัยตาเห็นสิ่งต่างๆ อาศัยหูได้ยินเสียงต่างๆ อาศัยจมูกได้กลิ่น อาศัยลิ้นลิ้มรส อาศัยกายกระทบสัมผัส ยังเป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งความหมายของ"กาม" ก็คือรูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จริงๆ ก็มีความหมายตามที่ได้กล่าวถึงแล้ว ถ้าหมายความถึง"กิเลสกาม" ก็คือความใคร่ ความยินดี ความติดข้อง ได้แก่โลภเจตสิก ซึ่งเป็นหนึ่งใน ๕๒ ประเภทไม่ได้หมายความถึงเจตสิกอื่น หมายเฉพาะโลภเจตสิก และวัตถุกามกว้างกว่านั้นมาก คือ อะไรก็ตามที่เป็นที่พอใจของโลภะเป็นวัตถุกามทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรูป ไม่ว่าจะเป็นจิต ไม่ว่าจะเป็นเจตสิก เป็นที่พอใจของโลภะขณะใด สิ่งนั้นก็เป็นวัตถุกามขณะนั้น

    เมื่อกล่าวถึงจิต จะต้องรู้ว่าจิตของเรา จิตของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามีความต่างกันอย่างไร ไม่อย่างนั้นบางคนก็คิดว่าพระองค์ก็เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เหมือนคนที่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ธรรมดา แต่สิ่งที่ต่างเป็นการต่างด้วยระดับของจิต เพราะพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มีจิตที่เป็นกามาวจรจิต เพราะฉะนั้น "กามาวจรจิต" ความหมายกว้าง และตรงที่สุดก็คือ จิตที่มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นอารมณ์ หรือจิตที่ยังวนเวียนอยู่คิดนึกไปในเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นระดับที่ต่ำสุด พิสูจน์ได้ด้วยตัวของเรา จิตมีทั้งหมด ๔ ระดับ กามาวจรจิตต่ำที่สุด แล้วเราจะสามารถขึ้นไปถึงจิตอื่นได้ หรือไม่ นี้คือต่ำสุด แต่สูงกว่านี้มี คือจิตที่ไม่ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะเห็นโทษ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 135
    18 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ