พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 44


    ตอนที่ ๔๔

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖


    ท่านอาจารย์ กามาวจรจิตต่ำที่สุด แล้วจะสามารถขึ้นไปถึงจิตอื่นได้ หรือไม่ นี้คือต่ำสุด แต่สูงกว่านี้มี คือจิตที่ไม่ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะเห็นโทษ เพราะฉะนั้น จึงอบรมเจริญความสงบซึ่งต้องเป็นกุศล ไม่ใช่เป็นไปด้วยโลภะ ด้วยความจดจ้อง ให้สมาธิมั่นคง นั้นไม่ใช่ แต่เพราะต้องประกอบด้วยปัญญาที่สามารถรู้ขณะจิตที่ต่างว่าขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล ซึ่งการที่จะให้จิตมั่นคงในความสงบ จนกระทั่งลักษณะของสมาธิปรากฏเป็นขั้นอุปจาระก่อน แล้วถึงขั้นอัปปนาซึ่งใช้คำว่าฌาณจิต แล้วขณะนั้นจึงเป็นรูปาวจรจิต เป็นจิตอีกระดับหนึ่งซึ่งขณะนั้นไม่ใช่เห็นขณะนี้ ไม่ใช่ได้ยินอย่างนี้ ไม่ใช่ได้กลิ่น ไม่ใช่ลิ้มรส ไม่ใช่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่ใช่คิดนึกอย่างที่เราคิดนึกทุกวัน แต่ขณะนั้นเป็นจิตที่มั่นคงแนบแน่นในกุศลสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์ก็เป็นกิริยาจิต

    ก็แสดงให้เห็นว่าระดับของจิตแม้จะไม่ปรากฏ แต่บุคคลที่ถึงระดับนั้นมี อานิสงค์ หรือผลก็คือว่า ถ้าเป็นผลของรูปาวจรจิต ไม่เกิดในภูมิมนุษย์ ไม่เกิดในสวรรค์ ๖ ชั้น แต่เกิดในพรหมโลก พรหมโลกอยู่สูงขึ้นไปจากเทวโลก เทวโลกเป็นผลของกุศลขั้นกามาวจร เป็นไปในทาน ในศีล แต่ถ้าเป็นผลของรูปาวจรจิต ก็จะเกิดในพรหมโลก และสูงไปกว่านั้นอีกก็จะเกิดในอรูปพรหมภูมิ ซึ่งเราคงไม่ต้องกล่าวถึง แต่ให้ทราบว่ามี และเพื่อเราจะได้ไม่คิดว่าใครก็ถึงง่ายๆ ใครบอกว่าคนนั้นได้ฌาณ แล้วเราเชื่อ หรือไม่ ถ้าเขาไม่ได้แสดงเหตุผลว่าอบรมเจริญอย่างไรจึงบอกว่าฌาณ หรือเป็นฌาณจิต เพราะว่าส่วนใหญ่จะใช้คำ แต่ไม่ตรงกับความจริง เช่น ใช้คำว่า ฌาณ หรืออุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิไม่ตรงตามความเป็นจริง คิดเอง เข้าใจเองว่าขณะนั้นเป็นฌาณจิต เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมจะทำให้เราเข้าใจในเหตุผล และในหนทาง แม้ว่าฌาณจิตไม่เกิด แต่ก็จะรู้ว่าความสงบที่เกิดจากกุศลจิตเพิ่มขึ้นขณะไหน เมื่อไร อย่างไร ด้วยสติสัมปชัญญะ แต่ก็ต้องเป็นผู้ที่ตรงว่าขณะนั้นก็ไม่ใช่ฌาณจิต เพราะฉะนั้นก็จะมีการเข้าใจถูกในทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นจริง

    เรื่องของโลภะก็เป็นสภาพจิตซึ่งมีเป็นปกติซึ่งยากที่จะรู้ได้ แม้ในขณะนี้ที่กำลังนั่งอยู่ที่นี่ เราก็เรียนเรื่องธรรม เรื่องชาติของจิต เรื่องกุศล อกุศล และเรื่องโลภะด้วย แต่แม้อย่างนั้นถ้าขณะนั้นสติสัมปชัญญะไม่เกิด จะไม่มีการเข้าใจลักษณะสภาพจิตขณะนั้นว่าจิตขณะนั้นเป็นอย่างไร เพราะเหตุว่าการศึกษาธรรม เราศึกษามาก แต่ว่าการศึกษามากทั้งเรื่องจิต เจตสิก รูป เพื่อจุดประสงค์ให้เข้าใจจิต เจตสิก และรูปที่กำลังมีอยู่แต่ละขณะตามความเป็นจริง และเวลาที่กุศลเกิดขึ้นสลับจะรู้ หรือไม่ว่าขณะไหนเป็นกุศล และขณะไหนเป็นโลภะ ขอยกตัวอย่างดอกไม้ที่บูชาพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อเห็นแล้วจิตเป็นอะไร ซึ่งก็ต้องใช้ความไตร่ตรอง แต่ว่าไม่ใช่จะรู้ลักษณะของจิตในขณะนั้น ถ้าเห็นดอกไม้สวยขณะนั้นเป็นอะไร ตอบได้ แล้วจะเป็นกุศลบ้างได้ หรือไม่ ยาก เป็นได้ แต่ไม่ใช่จะเป็นบ่อย แล้วก็ไม่ใช่จะเป็นได้โดยง่าย แต่การที่จะระลึกถึงการได้บูชาพระรัตนตรัย ขณะนั้นจิตที่เลื่อมใส ผ่องใสเป็นกุศลจิต แต่ขณะนั้นก็ยังมีเห็นดอกไม้สวยที่ยังสลับอยู่

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมทำให้เป็นผู้ที่ตรงที่จะรู้ว่าเราศึกษาสิ่งที่มีจริงๆ เพื่อให้รู้ความจริงที่มีอยู่จริงๆ จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง แต่ถึงจะกล่าวอย่างนี้ ก็คงจะไม่มีใครที่จะสามารถแยกขณะที่เป็นโลภมูลจิตกับขณะที่เป็นกุศลจิต ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด และเมื่อสติสัมปชัญญะเกิดแล้วไม่ใช่รู้ได้ทันที ต้องรู้ลักษณะที่ไม่ใช่เรา เมื่อเพิ่มความรู้ว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม หรือรูปธรรมเพิ่มขึ้น จะไม่สนใจเลยว่าขณะนั้นเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล เพราะเหตุว่าเร็วมาก แทนที่เราจะไปรู้ขณะที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม แล้วจะไปคิดว่าขณะนั้นกุศล หรืออกุศล กับขณะนั้นเข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง สิ่งนั้นก็หมดแล้ว

    เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าแม้ว่าสภาพธรรมเป็นอย่างนั้น แต่ความรู้ของเราต้องตามลำดับจริงๆ ลำดับแรกคือรู้ว่าเป็นธรรม คือสิ่งที่มีจริง โดยสติระลึก จึงรู้ว่าขณะนั้นมีจริงๆ และเข้าใจว่าเป็นลักษณะนามธรรมกับรูปธรรม ซึ่งดับไปเร็วมาก เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปสนใจ จะไปพยายามรู้ว่าเป็นกุศลที่ประกอบไปด้วยปัญญาเป็นอสังขาริก มีกำลัง หรือไม่มีกำลัง เพราะความที่เรารู้ว่าเป็นนามธรรมจะทำให้เราสามารถระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดต่อจนกระทั่งคลายการยึดถือว่าเป็นเราได้

    ผู้ฟัง สรุปสิ่งแรกที่เราควรจะละคือให้รู้สึกตัวจริงของสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมทั้งหมดเพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ เรียนเรื่องจิต ก็เพื่อเข้าใจจิตในขณะนี้ด้วยสติสัมปชัญญะ เรียนเรื่องเจตสิกก็มีเจตสิกในขณะนี้ที่ควรจะต้องระลึกรู้ เรียนเรื่องรูปก็มีรูปปรากฏ เพื่อทั้งหมดจะได้เป็นสังขารขันธ์ที่จะเจริญขึ้น และทำให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ได้ถูกต้อง

    เมื่อวานนี้ก็มีข้อความในพระสูตรที่พูดถึงเรื่องขยันหมั่นเพียร ซึ่งก็น่าคิดสำหรับคนที่ผ่านพยัญชนะนั้นแล้วก็มีข้อความเหมือนกับให้ขยันหมั่นเพียร สิ่งใดที่ดี พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ทำได้ หรือไม่ เมื่อบอกว่าให้ขยันหมั่นเพียร ใครจะทำได้ ให้เป็นกุศลทุกประการ ใครทำได้ แต่ทั้งหมดที่ทรงแสดงเป็นสังขารขันธ์ซึ่งจะค่อยๆ ซึม และมีความมั่นคงขึ้นในการกระทำ ซึ่งจะทำให้การที่ได้ยินได้ฟังเหล่านั้นจะปรุงแต่งให้มีการน้อมไปในกุศลเพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่หมายความว่าเมื่อได้ยินอย่างนี้ก็ชวนกันมาขยันหมั่นเพียร หรือคิดว่าเราต้องขยันหมั่นเพียร วันนี้เราต้องทำอย่างนี้ เราต้องทำอย่างนั้น นั่นคือความเป็นเรา

    แต่ขยันหมั่นเพียรในพระสูตร ในพระวินัย และทรงแสดงไว้ในพระอภิธรรมว่าอย่างไร ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นสภาพธรรม เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้ที่ไตร่ตรองจะรู้ว่าทรงแสดงให้ละอกุศลแล้วเจริญกุศล แล้วขณะนี้ใครละอกุศล แล้วใครเจริญกุศล แล้วใครขยันที่จะเจริญกุศล ไม่ใช่เป็นเรื่องให้แต่ละคนไปทำด้วยความเป็นตัวตน แต่ให้รู้ความเป็นจริงในเหตุ และในผล ซึ่งเมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นก็จะปรุงแต่งให้เป็นความเพียรในกุศล โดยที่ไม่ใช่ตัวเราไปเพียร แต่ความเพียรในกุศลจะเกิดขึ้น เช่นวันนี้แต่ละท่านตื่นมาก็คงจะเพียรในกุศลพอสมควรใช่ หรือไม่ ฟังธรรม และก็ทำหลายๆ อย่างนั่นก็คือความเพียร ซึ่งจากการที่ได้ฟังก็จะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้ค่อยๆ เกิด และค่อยๆ เป็นไป แต่ไม่ใช่เมื่อได้ยินเช่นนี้ก็กล่าวว่าพระไตรปิฎกบอกว่าเพียรก็เลยต้องมาเพียรกันใหญ่ นั่นก็เพียรด้วยความเป็นตัวตน

    อ.อรรณพ เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์ก็กล่าวแล้วว่าแม้พระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงสรรเสริญกุศลธรรมทั้งหลาย แล้วก็ตรัสให้ละอกุศล กุศลควรเจริญ แต่อกุศลควรละ แต่ไม่ใช่ด้วยตัวตน เพราะถ้ามีตัวตนที่คิดว่าจะต้องทำกุศล จะต้องทำการละอกุศล ขณะนั้นก็เป็นตัวตน ขณะนั้นเป็นอกุศลแล้ว และไม่รู้ด้วย เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็ไม่ใช่ปัญญา และก็ไม่มีทางที่จะละคลายในอกุศล หรือว่าเจริญกุศลได้เลย แต่ต้องมีความเข้าใจถูกโดยเฉพาะความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นกามาวจรจิต จะเป็นระดับของจิตที่สูงกว่านี้ไม่ได้ จะเป็นรูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต หรือโลกุตตรจิตไม่ได้ แต่เวลาที่กุศลเกิดในขณะนี้ก็ต้องทราบว่าเป็นเพียงกามาวจรกุศล กุศลที่เป็นไปเพียงตา หู จมูก ลิ้น กาย ในเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    เมื่อได้ศึกษาเข้าใจ และก็เริ่มเข้าใจขึ้น ขณะนี้กำลังเพียร หรือไม่ เพียร และไม่ใช่เราด้วย ใช่ หรือไม่ ขณะใดที่ฟังธรรมขณะนั้นเป็นกุศลจิต มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาเข้าใจแล้วไม่ใช่เราไปทำความเพียรต่างๆ และความเพียรนี้ที่เราเพียรฟังขณะนี้ เพียรมา มาจากไหน ถ้าไม่มีการเคยฟังมาก่อนว่าพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ก็เป็นขณะที่กำลังปรากฏในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นเมื่อได้ยินอย่างนี้แล้วก็รู้ว่ายังไม่ได้ประจักษ์ความจริงอย่างนี้ก็เพียรต่อไปที่จะได้เข้าใจขึ้นๆ โดยไม่ใช่ตัวเราที่ตั้งหน้าตั้งตาคิดว่าจะต้องทำความเพียร แต่มีความเข้าใจถูกต้องว่าทุกขณะแล้วแต่ว่าเพียรนั้นจะเพียรทางกุศล หรือเพียรทางอกุศล โดยที่ไม่มีเรา แต่มีสภาพธรรมที่อาศัยการปรุงแต่ง การเข้าใจ ก็เป็นปัจจัยให้ความเพียรเกิดขึ้นบ่อยๆ และเป็นไปบ่อยๆ ในทางกุศลด้วย ให้เข้าใจจริงๆ ว่าการศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจถูกต้องว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง ที่ยังมีความเป็นเราอยู่ตรงนั้นเป็นอกุศลใช่ หรือไม่

    อ.อรรณพ จริงๆ แล้วลืมไม่ได้เลยว่า " สัพเพ ธัมมา อนัตตา" ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใด รูปไม่รู้อะไร รูปก็เป็นอนัตตา เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัย จิตไม่ว่าจะเป็นกุศลชาติ อกุศลชาติ วิบากชาติ หรือกิริยาชาติก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นจิต และเจตสิกที่เกิดขึ้นพร้อมกัน ก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แม้ในขณะที่ให้ทาน หรือในขณะที่เป็นอกุศล โลภะ โทสะ โมหะ ขณะนั้นก็มีเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ใช่ตัวตน

    อ.ธิดารัตน์ เราก็เป็นผู้ที่ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้นจิตของเราก็ข้องเกี่ยวอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส จึงเป็นจิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในกามภูมิ เพราะฉะนั้นถ้าเรายังมีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่ว่าจะเจริญกุศลถึงระดับใดก็ตาม ก็ยังคงติดข้องอยู่ในรูป เสียง ก็จะเกิดอยู่ในภูมิที่เป็นกามาวจรภูมิ แล้วก็เกิดได้ในสวรรค์ ยังไม่ไปถึงขั้นพรหมเพราะว่าไม่ได้เจริญความสงบในอย่างอื่น ก็จะเกิดได้สูงสุดคือในสวรรค์

    ท่านอาจารย์ ขอสนทนาด้วยคำถาม ขอถามว่าถ้าเข้าใจเรื่องระดับของภูมิ ระดับของจิตว่ามี ๔ ขั้น คือขั้นต่ำสุดได้แก่จิตที่เป็นไปใน รูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้น ส่วนจิตที่สูงกว่านั้นหมายความว่าพ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มีความสงบที่พ้นจากความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ถึงขั้นระดับของอัปปนาสมาธิ แนบแน่นในอารมณ์เป็นฌาณจิต ซึ่งไม่ง่ายเลย ต้องยากมาก กว่าเราจะค่อยๆ ละความติดข้องในระดับที่สงบ แม้ว่ายังไม่รู้ลักษณะนั้นเป็นนามธรรม หรือรูปธรรม เมื่อเป็นรูปฌาณจิตก็เป็นจิตอีกระดับหนึ่งไม่ใช่กามาวจรจิตแล้ว เพราะสงบถึงระดับนั้น และภูมิที่สูงกว่านั้นคืออรูปาวจรจิต สงบยิ่งกว่าจิตระดับขั้นรูปาวจร เพราะเหตุว่าไม่มีรูปเป็นอารมณ์ จิตที่สงบประณีตที่สุดก็คือโลกุตตรจิตซึ่งมีนิพพานเป็นอารมณ์ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ยังเป็นไปในรูป

    ก็ขอถามว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามีกามาวจรจิต หรือไม่ มี คือต้องมีความมั่นใจจริงๆ เราศึกษาร่วมกันเพื่อที่จะมีความเข้าใจที่ถูกต้อง และถ้ามีการสนทนากันในเรื่องของการถามให้คิดก็จะทำให้เราเข้าใจว่า เราเข้าใจถูกระดับไหน ทำไมว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามีกามาวจรจิต ต้องมีเหตุผลด้วย

    ผู้ฟัง เพราะพระพุทธเจ้าก็ยังเห็น ยังได้ยินอยู่

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ส่วนรูปพรหม ไม่ใช่กามาวจรภูมิ เพราะว่ากามาวจรภูมิที่เกิดของผู้ที่ยังเป็นไปในกาม กามภูมิจะมีอยู่ทั้งหมด ๑๑ ภูมิ เป็นอบายภูมิ ๔ คือนรก ๑ เปรต ๑ อสูรกาย ๑ เดรัจฉาน ๑ นี้เป็นอบายภูมิเป็นผลของอกุศลกรรม ต้องมีกามาวจรจิตแน่นอน มนุษย์๑ และในสวรรค์ ๖ ชั้น สำหรับอบายภูมิ ๔ เป็นทุกขติ สำหรับสุขติภูมิที่เป็นกามาวจรมี ๗ คือ มนุษย์ ๑ สวรรค์ ๖ มีกามาวจรจิต หรือไม่

    ผู้ฟัง มีค่ะ

    ท่านอาจารย์ มีแน่นอน

    ถ้าเกิดเป็นรูปพรหมบุคคลในรูปพรหมภูมิมีกามาวจรจิต หรือไม่ ตาไม่บอด หูไม่หนวก มีรูปก็ยังเห็น ยังได้ยิน แต่ว่าไม่มีความติดข้องในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้นพรหมไม่มีฆานปสาท ไม่มีชิวหาปสาท ไม่มีกายปสาท สบายไหม

    ผู้ฟัง สบาย แต่ไปไม่ถึง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นรูปพรหมมีกามาวจรจิต หรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ถึงอรูปพรหมภูมิ มีกามาวจรจิต หรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มีท่านผู้ใดจะให้เหตุผล หรือไม่ว่าแม้อรูปพรหมภูมิ เป็นอรูปพรหมบุคคล ไม่มีรูปเลย ไม่มีตา ไม่มีหู ไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น ไม่มีกาย แล้วมีกามาวจรจิต หรือไม่

    ผู้ฟัง ยังมีใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็มีมโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งไม่ว่าจะเกิดที่ไหนก็ตาม ไม่ใช่รูปาวจรจิต ไม่ใช่อรูปาวจรจิต ไม่ใช่โลกุตตรจิต เพราะฉะนั้นมโนทวาราวัชชนจิตก็เป็นกามาวจรจิต นี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องเข้าใจเรื่องจิต ซึ่งมีระดับขั้นต่างๆ กัน โดยความถูกต้อง ไม่ใช่เมื่อเกิดเป็นอรูปพรหม มโนทวาราวัชชนจิตของอรูปพรหมก็เลยกลายเป็น อรูปาวจรจิต ไม่ใช่เลย จิตที่เกิด เกิดแล้วโดยชาติเป็นอะไร โดยภูมิเป็นอะไร เปลี่ยนไม่ได้

    เพราะจริงๆ แล้วเวลาที่เรากล่าวถึงสถานที่ๆ เกิด กับสภาพของจิตต่างกัน จิตนั้นจะเกิดที่ไหนก็ตามแต่ เราไม่คำนึงถึงสถานที่ เวลาที่กล่าวถึงภูมิระดับขั้นของจิต จะต้องคิดถึงลักษณะ หรือฐานะ หรือสภาวะ หรือภูมิของจิตนั้นเป็นระดับไหน ถ้าเป็นจิตที่เป็นกามาวจรจิต เกิดที่ไหนก็ต้องเป็นกามาวจรจิต ถ้าเป็นรูปาวจรจิต เกิดที่ไหนในโลกมนุษย์ หรือว่าในสวรรค์ รูปาวจรจิตก็เป็นรูปาวจรจิต จะเปลี่ยนสภาพของจิตระดับนั้นให้เป็นกามาวจรจิตไม่ได้ นี่คือการเข้าใจเรื่องภูมิของจิต ที่จะต้องเข้าใจเป็นพื้นฐานว่า ถ้าจะศึกษาเรื่องจิต ก็จะต้องรู้เรื่องชาติของจิต และก็ต้องรู้เรื่องภูมิของจิตด้วย มิฉะนั้นก็จะสับสนในเรื่องของความเข้าใจได้

    ผู้ฟัง จากการศึกษาก็ทราบเรื่องภูมิทั้ง ๔ ฉะนั้นในภูมิ ๓ เบื้องบน คือ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ และโลกุตตรภูมิ ภูมิของจิตทั้ง ๓ จะเกิดได้ก็ต้องอาศัยการเจริญกามาวจรจิตคือมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ๔ การรู้อย่างนี้มีประโยชน์อย่างไร

    ท่านอาจารย์ มีประโยชน์มาก เพราะเราจะได้รู้ว่าสำหรับจิตประเภทกามาวจรจิตที่ยังเป็นขั้นกามภูมิสามารถที่จะสูงสุดได้ถึงระดับไหน อกุศลจิตทุกประเภท โลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต เป็นรูปาวจรภูมิได้ หรือไม่ ไม่ได้ แต่สำหรับรูปพรหมบุคคลมีอกุศลจิตได้ หรือไม่ ได้ เพราะฉะนั้นอกุศลจิตไม่ว่าจะเกิดในสวรรค์ หรือว่าในพรหมภูมิก็เป็นกามาวจรจิต ไม่เปลี่ยนสภาพ ยังคงเป็นกามาวจรจิตอยู่ นี้พูดถึงอกุศลไม่ว่าจะเกิดที่ไหนก็ตามก็เป็นกามาวจรจิต ทีนี้ถ้ากล่าวถึงกุศลซึ่งขณะนี้ก็เป็นกุศลระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นกุศลที่เป็นกามาวจรกุศล กุศลที่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ที่ยังไม่ถึงขั้นความสงบของขั้นฌาณจิต จะเป็นไปสูงสุดได้แค่ไหน สำหรับกามาวจรกุศล เบื้องต้นเป็นไปในทาน การให้ สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น เป็นกุศลระดับกามาวจร คือกามาวจรจิต เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่ใช่ฌาณจิต ไม่ใช่ความสงบที่มั่นคงจนถึงขั้นอัปปนาสมาธิ

    เพราะฉะนั้น ทานกุศลก็เป็นกามาวจรกุศล เกิดขึ้นขณะไหนโดยฐานะก็คือกามาวจรจิต ในขณะที่รักษาศีล หรือเป็นไปในศีล ทางกาย ทางวาจา มีการวิรัตทุจริต หรือมีการกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ขณะนั้นก็เป็นความประพฤติที่เป็นศีลทางกาย ทางวาจา ก็เป็นกามาวจรจิต แม้ว่าจะสูงขึ้นมาในระดับศีล หรือแม้ขณะที่กำลังฟังธรรม เพื่อที่จะได้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงก็เป็นกามาวจรจิต เป็นกามาวจรกุศล กุศลนี้ก็ยังเป็นระดับของกามาวจร หรือในขั้นที่อบรมเจริญความสงบ ก่อนการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็มีผู้ที่อบรมเจริญความสงบ ก่อนที่ฌาณจิตจะเกิด กามาวจรกุศลก็เกิด ถ้ากามาวจรกุศลไม่เกิด สงบขึ้นๆ ก็จะเปลี่ยนจากกามาวจรกุศลถึงระดับของอัปปนาสมาธิไม่ได้ เพราะว่ามีความสงบขั้นที่เริ่มสงบขึ้นเป็นกามาวจรจิตถึงขั้นอุปจารสมาธิใกล้ต่อการเป็นฌาณจิตก็ยังเป็นกามวจรจิต ต่อเมื่อใดที่เป็นขณะอัปปนาสมาธิแนบแน่นในอารมณ์นั้นทางมโนทวาร ขณะนั้นจึงเป็นรูปาวจรจิต ซึ่งก็จะมีระดับขั้นด้วย ความสงบนั้นก็จะเพิ่มจากปฐมฌาณ ใช้คำว่าฌาณสำหรับอัปปนาสมาธิ จากปฐมฌาณเป็นทุติยฌาณ เป็นตติยฌาณ เป็นจตุตถฌาน เป็นปัญจมฌาณ พวกนี้ไม่ใช่กามาวจรจิต เพราะฉะนั้นถ้าถึงอัปปนาสมาธิจึงไม่ใช่กามาวจรจิต

    สำหรับการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ซึ่งไม่ใช่เป็นการอบรมเจริญความสงบ แต่ละขณะที่สติสัมปชัญญะเกิด รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏก็เป็นกามาวจรจิต ไม่ใช่โลกุตตรจิต ตราบใดที่ยังไม่ใช่ขณะจิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์แล้วดับกิเลส ขณะนั้นจะไม่ใช่โลกุตตรจิต เพราะฉะนั้นกุศลที่จะเจริญ ที่เป็นกามาวจรจิตกุศล ก็เจริญได้จากทาน ศีล ภาวนา คือสมถภาวนาที่ยังไม่ถึงอัปปนาสมาธิ และวิปัสสนาภาวนาที่ยังไม่ถึงโลกุตตรจิต

    เป็นอย่างไร เหน็ดเหนื่อย หรือไม่ ธรรมเป็นเรื่องเบาสบาย เป็นเรื่องที่เป็นปกติ แล้วก็มีความเข้าใจขึ้น ถ้ามีความเข้าใจถูก เราก็รู้ตามความเป็นจริง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 135
    18 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ