พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 45
ตอนที่ ๔๕
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖
ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นเรื่องเบาสบาย เป็นเรื่องที่เป็นปกติ และก็มีความเข้าใจขึ้น ถ้ามีความเข้าใจถูก เราก็รู้ตามความเป็นจริง แต่ถ้าเข้าใจผิด เริ่มหนักแล้วเพราะว่าไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ถูกต้อง
ผู้ฟัง จะจำแนกเลยได้ หรือไม่ว่า รูปาวจรภูมิ คือ รูปาวจรกุศล ๕ ประเภท รูปาวจรกิริยา ๕ ประเภท รูปาวจรวิบาก ๕ ประเภท
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง จิต ๘๙ ดวง จำแนกโดยชาติ เป็นชาติอกุศลจำนวนเท่าไร เป็นชาติกุศลจำนวนเท่าไร เป็นชาติวิบากจำนวนเท่าไร เป็นชาติกิริยาจำนวนเท่าไร ถ้าเพียงบอกไปโดยที่ยังไม่รู้ ก็เพียงแค่จำ แต่ขณะใดที่รู้ก็เข้าใจได้โดยจำนวนเป็นเท่านี้จริง เพราะฉะนั้น ขณะนี้เป็นหนึ่งในนั้น ถ้าจำแนกจิตเป็น ๘๙ ประเภทตามลำดับของภูมิ ก็เป็นกามาวจรจิต ๕๔ รูปาวจรจิต ๑๕ ได้แก่ กุศล ๕ วิบาก ๕ กิริยา ๕ และถ้าเป็นอรูปาวจรจิตก็มี ๑๒ เพราะเหตุว่าเป็นกุศล ๔ เป็นวิบาก ๔ เป็นกิริยา ๔ สำหรับโลกุตตรจิตมี ๘ ครบ ๘๙ ประเภท อย่างไรๆ ก็ไม่เกินกว่านี้ แต่ความจริงโดยประเภทที่ว่าไม่เกิน แต่โดยความหลากหลายนี้นับประมาณไม่ได้
ผู้ฟัง ที่อาจารย์กล่าวว่าอัปปนาสมาธิทำให้ถึงรูปาวจรกับอรูปาวจร
ท่านอาจารย์ อัปปมาสมาธินั้นเป็นฌาณจิต
ผู้ฟัง รูปาวจรวิบาก หรืออรูปาวจรวิบากไม่ได้เป็นฌาณ
ท่านอาจารย์ กล่าวถึงป็นวิบากต้องเป็นผล กุศลที่เป็นรูปาวจรจิตเป็น
รูปาวจรกุศลนั้นก็เป็นปัจจัยให้เกิดรูปาวจรวิบาก
ผู้ฟัง วิบากไม่ใช่ฌาณจิต ก็เป็นภูมิของจิตนั้นๆ ด้วย คือรูปาวจรภูมิ และอรูปาวจรภูมิ
ท่านอาจารย์ ต้องเหมือนเหตุ มีอารมณ์เดียวกัน เจตสิกที่ประกอบเป็นฝ่ายโสภณเจตสิก แต่เกิดที่ไหน รูปาวจรวิบากเกิดที่ภูมิไหน
ผู้ฟัง เกิดที่รูปาวจรภูมิ
ท่านอาจารย์ เกิดที่รูปพรหมภูมิ จะไม่มีรูปพรหมภูมิที่จะเกิดในโลกมนุษย์ แต่ใครก็ตามที่เกิดที่โลกมนุษย์ ที่สวรรค์ หรือในอบายภูมิ เป็นกามบุคคล เพราะเหตุว่าเป็นผลของกุศลถ้าเป็นสุคติภูมิ ถ้าเป็นผลของอกุศลก็เป็นทุคติภูมิ เพราะฉะนั้น ถ้าใครได้อบรมเจริญฌาณ ขณะนี้ ในโลกนี้ หรือในสวรรค์ก็ตามที่เป็นสุขติภูมิ เมื่อสิ้นชีวิตแล้วเกิดที่ไหน รูปพรหมภูมิ แสนไกล แต่ก็ยังเป็นภูมิที่เกิดของบุคคลเหล่านั้น
ผู้ฟัง เรียนอย่างพิสดาร เรียนอย่างไร
ท่านอาจารย์ ฟังมากๆ แล้วเข้าใจ ก็ขอถามคุณจำนงค์ กลิ่นนี่เป็นธรรมดา หรือไม่
ผู้ฟัง ถ้าเรารู้กันเบื้องต้น ก็ธรรมดาครับ
ท่านอาจารย์ รสเป็นธรรมดา หรือไม่
ผู้ฟัง เหมือนกัน นัยเดียวกัน
ท่านอาจารย์ รสอยู่ที่ไหน
ผู้ฟัง รสเกิดได้ที่ลิ้น ต้องสัมผัสลิ้น ตามที่ได้ศึกษา
ท่านอาจารย์ ลองคิดดู รสก็เป็นรสที่มีอยู่ทุกแห่งที่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ก็ต้องมีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชา รสต้องมี น่าอัศจรรย์ หรือไม่ แม้มีแต่ทำไมปรากฏให้รู้ได้ว่ามี ดูเป็นเรื่องเหมือนธรรมดาๆ สิ่งที่มี ก็มี แต่ทำไมถึงสามารถปรากฏให้รู้ได้ว่ามี ถ้าไม่มีสภาพรู้ ไม่มีทวาร ไม่เป็นอายตนะ รสปรากฏไม่ได้ เแม้มี ฉะนั้น ถ้าจะคิดถึงความน่าอัศจรรย์ของธรรม ไม่ใช่เรา ถ้าเราลิ้มรสก็ธรรมดา ทุกคนที่มีลิ้นก็ลิ้มรสใช่ หรือไม่ แต่ถ้าเป็นธรรม แม้แต่แข็ง แข็งก็แข็ง แต่แข็งปรากฏได้เฉพาะเมื่อมีสภาพที่รู้แข็ง ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นรู้แข็งในขณะนั้นทั้งๆ ที่แข็งก็มี แต่ไม่ได้ปรากฏเลย รสก็มีเป็นปกติธรรมดา แต่ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นที่ลิ้น รสนั้นก็ไม่ปรากฏเลย เพราะฉะนั้นการที่สิ่งที่มี จะปรากฏได้ก็น่าอัศจรรย์ว่า ทำไมมี แล้วปรากฏได้ด้วย ปรากฏให้รู้ว่ามี ก็ต่อเมื่อมีธาตุรู้ หรือสภาพรู้ๆ สิ่งนั้นเท่านั้น เท่านั้นคือจากนั้นแล้วไม่มีอีก ทั้งสภาพรู้ และสิ่งที่ปรากฏให้รู้ นี่คือการฟัง และการพิจารณาว่าเป็นความจริงอย่างนี้ หรือไม่ และก็เป็นจริงอย่างนี้ทุกขณะจิต ไม่ใช่เพียงขณะเดียว ก็จะเห็นความน่าอัศจรรย์ของความเป็นธาตุ ความเป็นธรรมทุกอย่างว่า แม้ว่าเป็นธรรมก็จริงแต่ต้องสมควรกับการเกิดแล้วจะมีการรู้สิ่งนั้น หรือไม่รู้สิ่งนั้น ในเมื่อรส หรือรูปทั้งหลายไม่สามารถจะรู้อะไรได้ และก็ไม่สามารถจะปรากฏให้ใครรู้ได้ด้วยถ้าจิตไม่เกิดขึ้นแล้วก็รู้สิ่งนั้นในขณะนั้น ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ความเป็นเราจะอยู่ที่ไหน มีแต่ธรรม ซึ่งเป็นไปได้แต่ละทางในแต่ละขณะ
ผู้ฟัง ขณะที่ท่านอาจารย์กล่าวว่าสภาพธรรมปรากฏ ท่านอาจารย์ถึงกล่าวถึงอายตนะ เพราะอะไร
ท่านอาจารย์ เพราะว่าต้องมีอยู่ในขณะนั้น ที่ปรากฏ และก็ต้องมีจิตในขณะนั้น มีเจตสิกในขณะนั้น มีปัจจัยในขณะนั้น สภาพนั้นจึงปรากฏ
ผู้ฟัง ถ้ากล่าวถึงขันธ์ห้า ก็ยังไม่ได้หมายถึงว่าสภาพธรรมขณะนั้นปรากฏ หรือ
ท่านอาจารย์ เรากล่าวถึงขันธ์ห้า เรากล่าวอย่างไร
ผู้ฟัง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ท่านอาจารย์ เหตุใดรูปเป็นขันธ์ รูปก็เป็นรูป เป็นสภาพปรมัตถธรรม แล้วทำไมเป็นขันธ์ ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ความหลากหลายของรูปจะปรากฏแต่ละอย่าง หรือไม่ อย่างเสียง เสียงไม่ได้มีเสียงเดียว หยาบก็มี ละเอียดก็มี สูงต่ำก็มี มีทุกอย่าง ซึ่งเกิดจริงๆ แต่ไม่ได้ปรากฏถ้าไม่มีสภาพรู้ที่กำลังรู้ในขณะนั้น เพราะฉะนั้นสิ่งใดๆ ก็มีตามเหตุตามปัจจัย แต่ที่จะปรากฏว่ามีก็ต่อเมื่อจิตกำลังรู้สิ่งนั้น และสิ่งนั้นก็ดับ
เพราะฉะนั้นคำว่า "ขันธ์" ก็คือสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง เมื่อดับไปแล้วเป็นอดีต อนาคตคือยังมาไม่ถึง เมื่อถึงก็เป็นปัจจุบัน แล้วก็ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้รูปก็หลากหลายมากจึงตรัสว่ามีทั้งภายใน ภายนอก หยาบ ละเอียด เลว ประณีต ก็สภาพธรรมนั้นเป็นอย่างนั้น แต่ไม่ใช่ว่าเราเอาตำรามากาง แล้วจะเจริญขันธ์ เจริญอายตนะ ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะทั้งหมดเป็นธรรม เมื่อสภาพธรรมนั้นเกิดเป็นอย่างไร สั้นมากทั้งนามธรรม และรูปธรรม เพราะฉะนั้นเมื่อปรากฏอย่างไร ก็เห็นความหลากหลายของรูปขันธ์ ของเวทนาขันธ์ ของสัญญาขันธ์ ของสังขารขันธ์ ของวิญญาณขันธ์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่กล่าวแล้วทั้งหมดไม่ใช่อยู่ในหนังสือ หรือไม่ใช่เราเรียนชื่อ และสามารถที่จะบอกได้ว่า ถ้ากล่าวโดยขันธ์ ก็คือสภาพนั้นสามารถจำแนกได้โดยนัยของหยาบ ละเอียด ใกล้ ไกล เลว ประณีต นั่นเป็นคำพูดที่สติสัมปชัญญะไม่ได้รู้ความหลากหลายนั้นจริงๆ แต่ถ้ารู้ความหลากหลายเพราะสติสัมปชัญญะเกิดก็จะรู้ว่า ไม่ว่าจะเป็นรูปหยาบ ภายใน ภายนอก ใกล้ไกล อย่างไรก็ตามแต่ ก็เป็นรูปเท่านั้นจึงเป็นกองของรูป เป็นสิ่งอื่นไม่ได้ เป็นรูปทั้งหมด ในอดีต หรืออนาคต หรือปัจจุบัน ลักษณะของสภาพธรรมนั้นจะหลากหลายอย่างไรก็ตาม ก็เป็นเพียงรูป เป็นรูปขันธ์ อยู่ในประเภทของรูป
ซึ่งเราก็จะเข้าใจธรรมแม้แต่คำที่เราใช้ แต่ถ้ามีใครมาบอกว่าจะเจริญอะไร สติปัฏฐาน คนนี้จะเจริญขันธ์ คนนั้นจะเจริญอายตนะ คนนั้นจะเจริญธาตุ เป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อขณะนี้เป็นธรรม และจะรู้ความเป็นธรรมยิ่งขึ้นต่อเมื่อสามารถที่จะรู้ลักษณะของธรรมนั้น ถ้าลักษณะของธรรมนั้นเกิดแล้วก็ดับไป โดยสติสัมปชัญญะไม่รู้จริงๆ ในลักษณะนั้น การกล่าวว่าขันธ์ก็เลื่อนลอย คือเป็นการกล่าวตาม แต่ว่าไม่ได้เข้าถึงความหมายของคำว่า "ขันธ์"
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงรส ขณะนี้เองก็มีรสปรากฏ
ท่านอาจารย์ ในห้องนี้มีทั้งนั้น ทุกแห่งที่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ต้องมีรสอยู่ด้วย
ผู้ฟัง แต่ไม่รู้ลักษณะ
ท่านอาจารย์ เพราะไม่ปรากฏ เกิดแล้วดับแล้วทั้งนั้น
ผู้ฟัง คือจะพูดว่าไม่ปรากฏ
ท่านอาจารย์ รสปรากฏ หรือ ปรากฏเมื่อไร
ผู้ฟัง ปรากฏรวมๆ
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ ปรากฏไม่ได้ รสจะปรากฏไม่ได้เลยถ้าชิวหาวิญญาณไม่เกิดขึ้นลิ้ม รสนั้นปรากฏไม่ได้ เกิดแล้วดับไปแล้วด้วย
ผู้ฟัง ในขณะนี้เองเหมือนรวมๆ อยู่ว่ารสมันเฉยๆ
ท่านอาจารย์ รสอะไร ในโต๊ะก็มี ที่ไหนก็มี ทุกแห่งที่มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม มีรส แต่ไม่ปรากฏ และจะปรากฏได้นั้นน่าอัศจรรย์ไหมว่าทำไมปรากฏได้
ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์บอกว่าถ้าธรรมปรากฏได้ไม่มีชื่อ มีแต่สภาพลักษณะ ซึ่งไม่ต้องใส่ชื่อก็มีลักษณะอย่างนั้น ลักษณะอย่างนี้ที่ยังไม่ปรากฏ หัวข้อ หรือธรรมอื่นๆ ที่ได้ศึกษามานั้นเป็นเพียงการศึกษาตามพระไตรปิฎกเท่านั้นเองใช่ หรือไม่
ท่านอาจารย์ ค่อยๆ เห็นพระปัญญาคุณว่าพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้อย่างนี้ ทรงแสดงอย่างนี้ ละเอียดอย่างนี้มากมายอย่างนี้ด้วยพระปัญญา แต่ว่าผู้ที่ศึกษาต้องรู้ตัวเอง ปัญญาอยู่ตรงไหน แค่ไหน อย่างไร
ผู้ฟัง เท่าที่รู้ รู้สึกว่าช้ามาก
ท่านอาจารย์ ช้าแต่จริง หรือต้องการเร็วแต่ไม่จริง
ผู้ฟัง เหมือนไม่รู้สึกเลยว่าเข้าใจ
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ต้องเป็นอย่างนั้น อย่าลืมทั้งหมดที่ฟังเพื่อให้คลายโลภะ ความต้องการผล ความยึดมั่นในตัวตน ซึ่งถ้าไม่อาศัยปัญญาที่ไตร่ตรองจะมองไม่เห็นเลยว่าขณะนี้เจตสิกทั้งหลายกำลังเกิดขึ้นทำกิจการงาน แม้วิริยเจตสิกก็มีแล้วในขณะนี้ ใครจะไปทำให้เกิดขึ้นได้ แต่ด้วยความไม่รู้ก็จะทำ เพราะว่าทรงแสดงไว้ว่าให้เพียร แต่ไม่ได้ทรงแสดงเพียงเท่านี้ พระอภิธรรมมี หรือไม่ มีจำนวนพระธรรมขันธ์เท่าไรในพระไตรปิฎก มากกว่าพระสูตร และพระวินัย ก็แสดงให้เห็นว่าต้องประกอบกันจนกระทั่งเข้าใจจริงๆ ว่าขณะนี้มีทุกอย่างที่ทรงแสดงแต่ไม่รู้ จนกว่าสติสัมปชัญญะจะเกิด และจะค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น และขณะที่ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จะไม่มีความคิดว่าจะทำ เพราะรู้ว่าทำไม่ได้ เกิดแล้วทั้งหมด จะทำขณะไหน เกิดแล้วหมดเพราะปัจจัยปรุงแต่ง
ผู้ฟัง ต้องฟังอย่างพิสดาร และพิสดารก็หลายรูปแบบ จิต๘๙ จำแนกไปเป็นหลายๆ นัย เช่น นัยของชาติ นัยของภูมิ นัยของโสภณ อโสภณ หลายนัย และมาจำแนกโดยขันธ์ห้า อายตนะ ธาตุ ต้องฟังให้รู้เรื่อง ใช่ หรือไม่
ท่านอาจารย์ ขอเหตุผลด้วยว่า ทำไมจึงต้องฟัง
ผู้ฟัง เพื่อทางเดียวทางเอกที่ท่านอาจารย์กล่าวไว้แล้ว
ท่านอาจารย์ เพราะว่าเราไม่สามารถที่จะให้สติสัมปชัญญะเกิดรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏได้อย่างที่เราหวัง หรือคิด หรือพยายาม หรือต้องการ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เพราะเหตุว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สังขารขันธ์เป็นสังขารขันธ์ เพราะฉะนั้นการที่เราต้องฟังก็เพราะเหตุว่าไม่สามารถจะอยากให้สติสัมปชัญญะเกิด อยากจะให้วิปัสสนาเกิด อยากจะให้รู้แจ้งสภาพธรรม เป็นไปไม่ได้เลย แต่ฟังเพื่อที่จะมีความเข้าใจขึ้นในความไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน แล้วสิ่งที่เราได้เข้าใจก็จะปรุงแต่งให้มั่นคงขึ้นจนสติสัมปชัญญะระลึก และจากนั้นก็คือความรู้ที่เคยเข้าใจมาทั้งหมดจะสามารถเข้าใจลักษณะนั้นได้แค่ไหน ไม่ใช่จากการที่เรียน ที่ฟังมาเป็นสิบปี ยี่สิบปี สามสิบปี ชาติก่อนๆ นี้ จะทำให้ทันทีที่สติสัมปชัญญะเกิดก็สามารถจะรู้ และเข้าใจจนละได้ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย อาศัยสิ่งนั้นทำให้สติสัมปชัญญะเกิด เมื่อเกิดแล้วก็รู้ตามความเป็นจริงว่าเข้าใจแค่ไหน แล้วก็จะรู้ว่าการที่จะเข้าใจขึ้น เพราะเหตุว่าถ้าไม่อาศัยที่เคยเข้าใจมาก่อนเลย แล้วไม่อาศัยการที่สติสัมปชัญญะเกิดบ่อยๆ ก็ไม่มีทางที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้
ผู้ฟัง สังขารขันธ์ที่อาจารย์กล่าวก็คือสุตตะ กับจินตา ใช่ หรือไม่
ท่านอาจารย์ เจตสิก ๕๐ แม้ขณะที่กำลังฟัง
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ได้กล่าวว่าการศึกษาธรรมเพื่อคลายการยึดมั่นในตัวตน เพราะเนื่องจากเป็นรูปกับนาม ในขณะที่ฟังใหม่ๆ สติก็ไม่ได้เกิด แต่การเข้าใจที่ว่าจะเป็นลักษณะของรูปกับนามในขณะนี้คิดว่าเข้าใจได้ และถ้าสติปัฏฐานเกิดในขั้นแรกๆ ปัญญายังอ่อน การที่จะรู้ลักษณะสภาพธรรมตรงนั้นอย่างกว้างขวางคงเป็นไปไม่ได้ หลังจากที่สติเกิดไปแล้ว แล้วเราได้ฟังอย่างที่ท่านอาจารย์ได้บรรยายลักษณะของธรรมเป็นอย่างนั้น ขณะนั้นเราคิดต่อจากเรื่องราว เราไม่ได้รู้ตรงๆ นั้น ถ้าเป็นอย่างนั้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งปัญญาแข็งแรง แกร่งกล้าก็จะรู้ตามตรงด้วยปัญญาจริงๆ ใช่ หรือไม่
ท่านอาจารย์ บุคคลนั้นจะรู้ด้วยตนเองทุกอย่าง อ่อนแค่ไหน จะคิดแค่ไหน จะกั้นแค่ไหน บางคนถึงกับว่าตัวเองว่าทำไมถึงโง่อย่างนี้ คือธรรมก็ได้ยินได้ฟังก็แล้ว แล้วทำไมไม่รู้อย่างนั้น ทำไมรู้ไม่ได้ ก็แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่การที่คนหนึ่งคนใดจะหวังว่าจะรู้ได้ทันที จากการฟัง แล้วก็มีสภาพธรรมปรากฏ และเมื่อสติสัมปชัญญะเกิดจริงๆ คนๆ นั้นก็จะรู้ได้ทันทีถึงระดับของความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าไม่ใช่อาศัยการฟังมาประจักษ์แจ้ง แต่เป็นการระลึกรู้สภาพธรรมนั้นจนกว่าจะรู้ขึ้น
ผู้ฟัง แต่ลักษณะนั้นก็จะผสมปนเปกัน
ท่านอาจารย์ แน่นอน เป็นของธรรมดา จนกว่าปัญญาจะรู้จริงๆ ว่าขณะนั้นก็คือคิด ธรรมทั้งหมดทั้งวัน ปัญญาจะต้องรู้ตามความเป็นจริงถึงจะละคลายได้ตามปกติ
ผู้ฟัง กามาวจรจิตของคน กามาวจรจิตของสัตว์เดรัจฉาน คือเห็นเหมือนกัน ได้ยินเหมือนกัน ได้กลิ่นเหมือนกัน ลิ้มรสเหมือนกัน มีความแตกต่างกันตรงไหน
อ.ธิดารัตน์ ถ้ากล่าวถึงจิต หรือเจตสิก หรือรูป ปรมัตถธรรม ก็จะไม่มีความแตกต่างกันเลย ไม่ว่าจะเกิดกับบุคคลใด ไม่ว่าจะเป็นจิตเห็นของมนุษย์ จิตเห็นของนก จิตเห็นของสัตว์อะไรก็ตามก็เป็นลักษณะเดียวกันก็คือ ลักษณะรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาเหมือนกัน แม้กระทั่งลักษณะของโลภะ หรือโทสะ ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน ลักษณะของโลภะขณะที่เกิดขึ้นก็จะต้องมีความติดข้อง ยินดี ซึ่งเป็นลักษณะที่เหมือนกันทุกบุคคล ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่เกิดในภูมิใดก็ตาม ลักษณะของโทสะก็เป็นความหยาบกระด้าง ประทุษร้าย ไม่ว่าจะเกิดกับคน หรือจะเกิดกับสุนัข เวลาสุนัขโกรธก็จะกัดกัน เพราะฉะนั้นสภาพของการโกรธก็จะประทุษร้ายซึ่งกัน และกัน แต่จะมีความแตกต่างกันตามการสะสมของบุคคลนั้น จะมีกำลังมากน้อยแตกต่างกันโดยความละเอียดต่อไป
อ.อรรณพ ถ้าพูดถึงจิตต่างๆ กับภูมิที่เกิดที่ว่าต่างกัน จิตจะเหมือนกัน หรือต่างกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ จิตเห็นจะมีเสียงเป็นอารมณ์ได้ หรือไม่ ไม่ได้ ต้องมีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ ใครสามารถจะรู้ได้ว่าจิตเห็นในขณะนี้มีผัสสเจตสิก มีเวทนาเจตสิก มีสัญญาเจตสิก มีเจตนาเจตสิก มีเอกัคคตาเจตสิก มีมนสิการเจตสิก ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ แต่จากการที่ทรงแสดง จิตเห็นจะมีเจตสิกเกิดเกิน ๗ ดวงไม่ได้ ไม่ว่าเกิดที่ไหนเมื่อไร ถ้าเราไม่คิดถึงรูปร่างนก ไม่คิดถึงรูปร่างช้าง ไม่คิดถึงรูปร่างคน ไม่คิดถึงรูปร่างเทพ ไม่คิดถึงรูปร่างพรหม และไม่คิดถึงรูป จิตเห็นเกิดขึ้นเมื่อไร ต้องเห็น จิตเห็นจะทำบุญกุศลอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น มีหน้าที่เดียวคือเห็น และมีเจตสิกประกอบเท่ากันทั้งหมด ไม่ว่าจะเกิดกับใคร ที่ไหน เมื่อไร นี้คือแสดงให้เห็นว่าเราศึกษาสภาพธรรม จิตที่เป็นกามาวจรจิตมี ๕๔ ประเภท ๕๓ ได้ หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ๕๖ ได้ หรือไม่ ไม่ได้ แต่เรามีครบ ๕๔ หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ครบ
ท่านอาจารย์ ก็แสดงให้เห็นว่าถ้ากล่าวโดยประเภทของจิต ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ จิตที่เป็นกามาวจรจิต ๕๔ ก็คือ ๕๔ แต่บุคคลจะมีจิตทุกประเภทครบ หรือไม่ครบ เพราะว่า ๕๔ นี้รวมจิตของพระอรหันต์ด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเราแยกกามาวจรจิต ๕๔ ก็เป็นอกุศลจิต ๑๒ ใครมีเท่าไร พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ก็ต่างกันไปแล้วใช่ไหม สำหรับกามาวจรจิตที่เราคุ้นหู ก็คือ อกุศลจิต ๑๒ และอเหตุกจิต ๑๘ ถ้าเราพูดถึงอเหตุกจิต เราต้องกล่าวถึงจิตอีกนัยหนึ่ง คือโดยนัยที่ประกอบด้วยเหตุเจตสิก หรือไม่ประกอบด้วยเหตุเจตสิก มิฉะนั้นเราจะกล่าวถึงอเหตุกจิตชื่อต่างๆ แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร เมื่อไร ใช่ หรือไม่
เพราะฉะนั้นต่อจากนัยของภูมิ ก็จะได้กล่าวถึงนัยของเหตุ คือ จิตที่ประกอบด้วยเหตุก็มี จิตที่ไม่ประกอบด้วยเจตสิกที่เป็นเหตุก็มี จึงมีจิตประเภทที่เป็นอเหตุกจิต หมายความว่าจิต ๑๘ ดวงไม่ประกอบด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดใน ๖ เหตุเลย คือไม่ประกอบด้วยโลภะ โทสะ โมหะ หรือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ จึงเป็นอเหตุกจิต นี่คือความเข้าใจคร่าวๆ ว่า กามาวจรจิตที่มี ๕๔ ตามประเภท คือที่เป็นอกุศลมี ๑๒ เกินได้ หรือไม่ ไม่ได้ ใครจะมีมากมีน้อยก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่รวมประมวลแล้วอกุศลจิตทั้งหมดมี ๑๒ ประเภท อเหตุกจิตทั้งหมดมี ๑๘ ประเภท เหลืออีกเท่าไร ๒๔ ประเภท เป็นโสภณจิตซึ่งเป็นกุศล ๘ เป็นวิบาก ๘ เป็นกิริยา ๘ แต่เมื่อเป็นระดับของกามาวจร ก็เป็นกามาวจรกุศล ๘ กามาวจรวิบาก ๘ กามาวจรกิริยา ๘ หรืออีกชื่อหนึ่งตามความหลากหลาย เพราะเหตุว่าเป็นไปในทานก็ได้ เป็นศีลก็ได้ เป็นต้น ก็กล่าวว่า มหากุศล ๘ มหาวิบาก ๘ มหากิริยา ๘
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 1
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 2
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 3
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 4
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 5
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 6
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 7
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 8
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 9
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 10
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 11
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 12
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 13
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 14
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 15
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 16
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 17
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 18
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 19
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 20
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 21
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 22
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 23
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 24
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 25
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 26
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 27
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 28
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 29
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 30
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 31
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 32
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 33
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 34
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 35
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 36
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 37
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 38
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 39
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 40
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 41
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 42
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 43
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 44
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 45
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 46
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 47
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 48
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 49
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 50
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 51
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 52
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 53
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 54
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 55
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 56
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 57
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 58
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 59
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 60