พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 50


    ตอนที่ ๕๐

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖


    อ.อรรณพ ภูมิมี ๒ ความหมาย "ภูมิคือที่เกิดของสัตว์" เช่น ภูมิที่เป็นมนุษย์ เป็นอบายภูมิ เป็นสวรรค์ เป็นพรหมโลก นี่คือภูมิ ซึ่งประมวลแล้วจะมี ๓๑ ภูมิ ส่วนภูมิในความหมายที่เรากำลังพิจารณากันอยู่ ก็คือ "ระดับของจิต" มีอยู่ ๔ ระดับ หรือ ๔ ภูมิ "กามาวจรภูมิ " คือภูมิที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ "รูปาวจรภูมิ" คือ ภูมิของจิตในขั้นที่เป็นอัปปนาสมาธิแล้วมีความแนบแน่น "อรูปาวจรภูมิ" เป็นอรูปฌาณจิต และ "โลกุตตรภูมิ" มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ถ้าเราจะกล่าวถึงภูมิที่จะพิจารณาโดยสงเคราะห์กับชาติ กามาวจรภูมิ หรือกามาวจรจิตมีชาติอะไรบ้าง จิตที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่นรส โผฏฐัพพะ จิตที่คิดนึกในขณะนี้ จิตของเราก็คงไม่มีใครมีรูปาวจรจิต หรืออรูปาวจรจิต หรือโลกุตตรจิตที่เกิดขึ้นในขณะนี้

    อ.ธิดารัตน์ ขณะที่เห็นประโยชน์ของการฟังธรรม เป็นการน้อมนำให้กุศลจิตเกิดได้มาก แต่แม้ขณะที่มาฟังธรรมก็จะต้องมีอกุศลจิตตามมาคอยปรากฏให้เห็นอยู่ แล้วแต่ท่านผู้ใดจะระลึกรู้ได้มากน้อยแค่ไหน

    ผู้ฟัง จิตก็เกิดดับสลับกัน กุศลบ้าง อกุศลบ้าง เพราะฉะนั้นประโยชน์ในการศึกษาก็คือได้พิจารณาตนเองด้วย

    อ.กุลวิไล ชา-ติ ก็คือการเกิดนั่นเอง จิตไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนเกิด แต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ก็ไม่พ้นจิต เจตสิก และ รูป ชาติของจิต มี ๔ ชาติ ถ้าเป็นอกุศลชาติ เจตสิกที่เกิดขึ้นกับจิตก็ต้องเป็นชาติอกุศลด้วย เพราะฉะนั้นชาติของจิตเป็นอกุศล เจตสิกที่เกิดรวมด้วยก็ต้องเป็นอกุศล และชาติของจิตขณะที่เป็นกุศล เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็ต้องเป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ ฟังมาแล้วทั้งหมดก็จะได้ทราบว่าเรามีกุศลจิต อกุศลจิต และวิบากจิตเมื่อไร ส่วนกิริยาจิตนั้นไม่มีทางที่จะรู้ได้เลย แต่ทราบว่ามีด้วย สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็มีเพียง ๒ ประเภทเท่านั้น แต่ข้อสำคัญที่สุดก็คือ ถ้าเราสามารถที่จะมีความมั่นใจว่าขณะนี้ที่เห็นเป็นผลของกรรมหนึ่งที่ได้กระทำแล้ว เมื่อไรก็ตาม สถานการณ์ใดๆ ก็ตาม จะสุข จะทุกข์ จะชอบไม่ชอบอย่างไรก็ตาม ขณะใดก็ตามที่มีการเห็น ขณะนั้นเป็นผลของกรรม

    เพราะฉะนั้นเราก็สามารถที่จะรู้วิบากจิต เพราะว่าวิบากจิตคือผลของกรรมในขณะที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง ชาตินี้เป็นอย่างนี้ ชาติก่อนก็เป็นอย่างนี้ ชาติหน้าผิดจากนี้ได้ หรือไม่ ทุกขณะที่เห็นมีแล้วเพราะเคยหวังที่จะเห็น แต่ไม่รู้ว่าถ้าเราเข้าใจอย่างนี้จริงๆ เราจะมีความมั่นคงในเรื่องกรรมเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะเหตุว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นที่กำลังเห็นขณะนี้ ต้องเข้าใจว่าเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ทั้งกรรมที่เป็นกุศลกรรม และอกุศลกรรม ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่ดีต้องเป็นผลของอกุศลกรรม ถ้าเห็นสิ่งที่ดีต้องเป็นผลของกุศลกรรม และในขณะเดียวกันก็จะรู้ด้วยว่าจะหวังอย่างไรก็ตาม สิ่งที่ได้ก็เพียงเท่านี้ จะหวังปีใหม่ วันเกิด วันพิเศษ วันอะไรก็ตาม แต่ผลที่ได้ก็คือสิ่งที่กำลังเหมือนขณะนี้คือเห็น มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นนิดเดียวแล้วก็หมดไป ไม่ต่างไปจากนี้ เพราะฉะนั้นจะหวัง หรือไม่ หวังอย่างไรก็ได้แค่นี้ คือเห็นมีสิ่งที่ปรากฏทางตา ได้ยิน มีเสียงที่ปรากฏทางหู ได้กลิ่นก็มีกลิ่นที่ปรากฏ ลิ้มรสก็มีรสปรากฏ และขณะนี้กายที่กำลังกระทบสัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็คือผลของความหวัง จะหวังมากสักเท่าไรสิ่งที่ได้ก็คือเท่านี้ น่าสนใจไหม สิ่งที่ได้เพียงเท่านี้เอง แต่ก็หวังต่อไปอีก ก็ได้เพียงแค่นี้อีก

    อ.วิชัย สำหรับการเกิดขึ้นของมนุษย์ แต่ละท่านก็มีจิตปฏิสนธิในภูมิที่เป็นมนุษย์ จิตที่เป็นปฏิสนธิเป็นชาติอะไร

    ผู้ฟัง ชาติวิบาก

    อ.วิชัย หลังจากที่ทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังทรงเห็น หรือไม่

    ผู้ฟัง เห็น

    อ.วิชัย จิตเห็นของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นชาติอะไร

    ผู้ฟัง ชาติวิบาก

    อ.วิชัย เป็นภูมิอะไร

    ผู้ฟัง เป็นกามาวจรภูมิ

    อ.วิชัย ดังนั้นจิตเห็นของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นภูมิอะไร

    ผู้ฟัง เป็นกามาวจรภูมิ

    ท่านอาจารย์ มี ๒ คำ ชาติ (ชา-ติ) แปลว่าการเกิด และภูมิก็คือระดับขั้นของจิต เพราะฉะนั้นเวลาที่เรากล่าวถึงจิต เราไม่ได้กล่าวถึงบุคคลหนึ่งบุคคลใด เราจะกล่าวถึงเฉพาะจิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้น ไม่ว่าบุคคลนั้นเราจะสมมติเรียกว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือท่านพระสารีบุตร หรือใครก็ตามแต่ เรากล่าวเฉพาะจิต เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงเรื่องชาติ (ชา-ติ) การเกิด ก็จะมีต่างกันเป็น ๔ ประการ คือเป็นกุศล ๑ เป็นอกุศล ๑ เป็นวิบาก ๑ เป็นกิริยา ๑ จะเกิดที่ใด กับพรหมบุคคล หรือใครๆ ก็ตามแต่ จิตที่เกิดขึ้นต้องเป็นชาติหนึ่งชาติใดเสมอ ถ้าเป็นกุศลในขณะนั้นจะเป็นวิบากซึ่งเป็นผลไม่ได้ และถ้าเป็นวิบากขณะนั้นจะไปเป็นเหตุซึ่งเป็นกุศล และอกุศลไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องกล่าวเต็ม กุศลวิบากเป็นผลของกุศลกรรม และอกุศลวิบากก็เป็นผลของอกุศลกรรม เป็นสิ่งที่เตือนย้ำให้เรารู้ว่าคำว่า " วิบาก หมายความถึงจิต และเจตสิก" เพราะเหตุว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้ รูปไม่สามารถจะรู้อะไรได้ รูปของแต่ละท่านที่นั่งอยู่ที่นี่ เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐานด้วย ทำให้รูปร่างหน้าตาต่างกันหมดเลย สูง ต่ำ ดำ ขาว แต่รูปไม่ใช่สภาพรู้ รูปจะเป็นอย่างไร รูปขาว รูปสีต่างๆ ก็แล้วแต่ ก็เป็นเพียงแต่สิ่งที่เป็นผลของกรรมที่ทำให้รูปนั้นเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น แต่รูปไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้นรูปจะเป็นวิบากเป็นผลโดยตรงจริงๆ ไม่ได้ เพราะเหตุว่าอกุศลเป็นเรื่องของจิต เวลาที่มีเจตนาที่เบียดเบียนคนอื่นต้องการให้บุคคลอื่นเดือดร้อน เพราะฉะนั้นเมื่อมีเจตนาอย่างนั้น ผลไม่ใช่คนอื่นจะเดือดร้อนเพราะความคิด หรือการกระทำของเรา แต่เจตนาของบุคคลนั้นเองต่อไปข้างหน้าก็จะเป็นปัจจัยให้จิตประเภทหนึ่งซึ่งเป็นวิบากที่ไม่ดี เป็นผลของกรรมคือเจตนาที่ได้กระทำไปแล้วเกิดขึ้น ผลของกรรมก็คือว่าหลังจากที่ปฏิสนธิแล้ว เพราะว่ากรรมให้ผลตั้งแต่ปฏิสนธิ คือขณะแรกที่เกิดถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมจะเกิดเป็นคนไม่ได้ จะเกิดในสวรรค์ก็ไม่ได้ ต้องไปเกิดเป็นเปรต หรืออสูรกาย เกิดในนรก หรือเกิดเป็นเดรัจฉาน นั่นคือปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นอกุศลวิบาก แต่ถ้าเป็นกุศลวิบาก ก็จะไปเกิดในอบายไม่ได้ ไปเกิดในนรก เป็นเปรต เป็นอสรูกาย เป็นเดรัจฉานก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่กุศลกรรมให้ผล ทำให้กุศลวิบากทำกิจขณะแรกคือปฏิสนธิเกิดขึ้น นั่นคือผลของกรรม แต่ก็ยังไม่พอ ไม่เพียงแต่ทำให้ปฏิสนธิ แต่ยังทำให้บุคคลนั้นไม่สิ้นชีวิตระหว่างยังที่ไม่เห็น ไม่ได้ยินอะไร เช่นขณะที่หลับสนิทเป็นต้น ขณะนั้นก็เป็นผลของกรรมที่ทำให้ต้องเป็นบุคคลนี้อยู่ แม้ว่าจะทำกุศลมหาศาล จะเปลี่ยนให้คนนั้นเป็นเทวดา นางฟ้าทันทีในชาตินั้นได้ หรือไม่ ไม่ได้ ต้องตายก่อน ต้องหมดสิ้นกรรมนั้นก่อน และกุศลกรรมที่จะทำให้เกิดในภพอื่นจึงจะให้ผลได้

    เพราะฉะนั้นในชาตินี้ต้องเป็นผู้ที่มั่นคงจริงๆ ในเรื่องกรรม และผลของกรรม เพราะว่าเมื่อผลของกรรมทำให้เกิด และทำให้ดำรงภพชาติแล้วก็ยังไม่พอ ยังทำให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็น เพราะฉะนั้นขณะนี้รู้ได้เลย เป็นผลของกรรม กรรมทำให้จักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาทเกิด เพื่อเป็นทางที่จะให้ผลของกรรมเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นบางคนจะหนีไฟไหม้ หรือว่าจะหนีโรคภัยต่างๆ หรือว่าทุกข์กายบาดแผลต่างๆ ก็หนีไม่ได้ เมื่อถึงกาละที่กรรมนั้นจะให้ผล กายวิญญาณก็เกิดขึ้นรู้สิ่งที่กระทบกาย หลีกเลียงไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นทำให้ทุกคนมีความมั่นใจ เข้าใจถูก เพราะขณะนี้มีผลของกรรมแล้ว มาจากไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ต้องมาจากเหตุที่สมควร ถ้าเป็นกุศลวิบากก็มาจากกุศลกรรม ถ้าเป็นอกุศลวิบากก็มาจากอกุศลกรรม

    การเข้าใจอย่างนี้จะทำให้กุศลจิตเพิ่มขึ้น คือไม่เบียดเบียนใคร ไม่หวังร้ายใคร เพราะเหตุว่าเขาไม่มีทางที่จะได้รับผล ถ้าไม่ใช่เป็นกรรมของเขาเอง แต่เราผู้คิดจะต้องได้รับผลของกรรมนั้นวันหนึ่งวันใดข้างหน้า เพราะฉะนั้น จึงได้กล่าวถึงว่าแม้ขณะนี้เราก็ได้แล้ว ซึ่งผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม เพราะฉะนั้นถ้าเราหวังในผลเช่นลาภยศ สรรเสริญ สุข ซึ่งคนส่วนใหญ่จะอดหวังไม่ได้ เพราะไม่เข้าใจเรื่องกรรมจึงหวังสิ่งข้างหน้าที่ยังไม่เกิดด้วยความติดข้อง แต่หารู้ไม่ว่าขณะนี้กำลังได้รับผลที่หวังแล้วจากอดีตที่เคยหวัง เพราะฉะนั้นจะหวังอะไรอีกในเมื่อขณะนี้เป็นผลของความหวังที่ได้เคยหวังมาแล้ว เท่านั้นเอง หวังอีก หวังจะได้อีก ก็แค่เห็นอย่างขณะนี้แล้วก็หมดไป ถ้าหวังจะได้สิ่งที่ดีอีกก็จะได้ยินเหมือนขณะนี้แล้วก็หมดไป ไม่มีอะไรเหลือเลย นอกจากความติดข้องกับความหวังในสิ่งที่เป็นเพียงรูปที่ปรากฏทางตา เป็นเสียงที่ปรากฏทางหู เป็นกลิ่นที่ปรากฏทางจมูก เป็นรสที่ปรากฏทางลิ้น เป็นโผฏฐัพพะที่ปรากฏทางกายเท่านี้

    เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ก็จะมีความมั่นคงไปจนกระทั่งถึงสติสัมปชัญญะ ที่จะรู้ว่าขณะนี้มีสิ่งที่เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย จะหวังรู้อะไรที่ยังไม่เกิดขึ้น นี้ก็แสดงให้เห็นว่าถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ความสัมพันธ์ของความเข้าใจทั้งหมดก็จะเป็นสังขารขันธ์ที่ทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่มั่นคงขึ้น และถ้ายังคงมีความไม่รู้ลักษณะของความติดข้องจะออกจากสังสารวัฏฏ์ได้ หรือไม่ หรือแม้เพียงแต่คิดที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าถูกปิดบังไว้ด้วยความติดในสิ่งที่กำลังปรากฏ และด้วยการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา นี้เป็นเรื่องของชาติซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เอาชื่อออกหมด สภาพของจิตที่เกิดขึ้นเป็นอกุศลก็ยังคงเป็นอกุศล อรูปพรหมบุคคลไม่ได้เกิดในภูมิมนุษย์ เวลาที่ทำฌาณจิตขั้นสูงจนกระทั่งถึงไม่มีรูปเป็นอารมณ์ เวลาเกิดก็มีแต่นามธรรมคือจิต และเจตสิกเกิดในอรูปพรหมภูมิ มีอกุศลจิต หรือไม่

    ผู้ฟัง มีอกุศลจิต

    ท่านอาจารย์ นี้ก็คือความละเอียดซึ่งเราจะเห็นความต่างของภูมิ มิฉะนั้นก็ไม่มีความต่างเลย แต่ทรงแสดงระดับขั้นของจิต ซึ่งเราก็จะทราบว่าจิตที่เกิดจะให้มี ๕ ภูมิก็ไม่ได้ ๖ ภูมิก็ไม่ได้ เพราะว่าภูมิแรก ภูมิต้น ภูมิต่ำที่สุดก็คือกามาวจรจิตเป็นกามภูมิ ระดับไหน ระดับที่เป็นธาตุที่เกิดขึ้น แล้วก็รู้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เมื่อรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จะติดในอะไร ติดอย่างอื่นได้ หรือไม่ ต้องติดในสิ่งที่กำลังปรากฏ เห็นรูปจะไปติดในเสียงได้ หรือไม่ในขณะที่กำลังเห็นรูป ไม่ได้ ในขณะที่ได้ยินเสียงจะไปติดในกลิ่นได้ หรือไม่ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราไม่เคยรู้เลย อย่างละเอียดแล้ว แม้หนึ่งขณะที่มีการเห็นเกิดขึ้น และดับไป หลังจากนั้นก็คืออกุศลจิตประเภทหนึ่งประเภทใดคือจะเป็นโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือโมหมูลจิต เป็นปกติธรรมดา นี่คือภูมิต่ำที่สุดคือกามภูมิต้องเป็นอย่างนี้ และก็ชาติอกุศลก็มากมายเหลือเกิน เพราะว่าถ้าไม่เข้าใจจริงๆ วันหนึ่งๆ ก็มีแต่อกุศลจิตมากกว่ากุศลจิตแน่นอน เพราะฉะนั้นต้องทราบว่านี้เป็นเรื่องชาติ ถ้ากล่าวถึงชาติคือ ๔ ชาติ กุศล ๑ อกุศล ๑ เป็นเหตุ วิบากเป็นผล กิริยาคือไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่วิบาก

    เรื่องของจิตเป็นเรื่องที่ตรง และก็ตายตัวเปลี่ยนไม่ได้ ต้องใช้คำนี้ และก็ต้องทราบว่าสำหรับเรื่องชาติ เราก็จำเพียงแค่เหตุกับผล และไม่ใช่เหตุไม่ใช่ผล คือ กุศล ๑ อกุศล ๑ เป็นเหตุ วิบาก ๑ เป็นผล วิบากทั้งหลายต้องมาจากเหตุคือกุศล และอกุศลเท่านั้น แต่สำหรับกิริยาคือไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศลซึ่งเป็นเหตุ และไม่ใช่วิบากด้วย เพราะฉะนั้นก็เป็นชาติพิเศษอีกหนึ่งชาติ ซึ่งเราจะไม่ได้ยินบ่อยถ้าเราไม่ศึกษาธรรม แต่ถ้าเราศึกษาธรรมเราจะแปลกใจ ว่ามีชาติกิริยาด้วย แต่เดิมก็คิดว่ามีแต่กุศล อกุศล และวิบาก แต่ก็มีกิริยา สำหรับสภาพธรรมที่ไม่ใช่เหตุที่ทำให้เกิดผล พระอรหันต์ท่านดับกิเลสหมดแล้ว จิตของท่านดับทั้งกุศล และอกุศล เพราะฉะนั้นพระอรหันต์จะมีจิตเพียง ๒ ชาติ ซึ่งก่อนเป็นพระอรหันต์มีกุศล อกุศล มีวิบาก มีกิริยา ครบ ๔ ชาติ แต่เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วไม่มี กุศล อกุศล เพราะฉะนั้นก็จะมีเพียงแต่วิบากของอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว และกิริยา แทนที่จะเป็นเหตุคือกุศล อกุศลเหมือนผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ก็เป็นเพียงกิริยาจิต ซึ่งจะไม่เป็นเหตุให้เกิดวิบาก ก็ต้องมีความชัดเจนในเรื่องของชาติ

    สำหรับในเรื่องของภูมิ ก็ต้องทราบว่าในบรรดาจิต ๔ ชาติ กุศล ๑ อกุศล ๑ วิบาก ๑ กิริยา๑ อกุศลเป็นกามภูมิเท่านั้น ระดับต่ำมากเป็นอกุศล คิดดูจะไปไหน จะไปรูปพรหม จะไปอรูปพรหมไม่ได้ ไม่ใช่ภูมิ หรือระดับขั้นนั้น เพราะฉะนั้นขณะใดที่อกุศลประเภทใดเกิดที่ไหน เมื่อไร อย่างไร ระดับของจิต ไม่ใช่ระดับของความสงบขั้นฌาณที่เป็นรูปาวจรจิต หรือว่าเป็นอรูปาวจรจิต หรือไม่ใช่ขั้นที่ดับกิเลสเป็นโลกุตตรจิต เพราะฉะนั้นอกุศลอยู่ที่ไหน เกิดเมื่อไร ต้องเป็นภูมิต่ำสุดคือกามภูมิเท่านั้นอย่างเดียว เป็นภูมิอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่เทวดาเกิดโลภะ โลภะของเทวดาเป็นชาติอะไร ชาติอกุศล ภูมิอะไร กามภูมิ พอถึงรูปพรหมบุคคล โลภะเกิด ขณะนั้นเป็นจิตชาติอะไร ชาติอกุศล เป็นภูมิอะไร กามภูมิ แสดงว่าตัวจิตของเขาไม่เปลี่ยน เปลี่ยนชาติเปลี่ยนภูมิไม่ได้เลย

    สำหรับโลกุตตรจิตในกามภูมิมี หรือไม่ พระพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในโลกมนุษย์ซึ่งเป็นกามภูมิ เพราะฉะนั้นโลกุตตรจิตเกิดในกามภูมิได้ที่เป็นสุคติภูมิ เพราะฉะนั้นโลกุตตรจิตจะเกิดในสุขติภูมิเว้นทุกขติภูมิ ความละเอียดเราก็ต้องค่อยๆ ศึกษาไป แต่ให้ทราบว่าเวลาที่เราพูดถึงเรื่องชาติกับภูมิ ต้องเข้าใจว่าแม้ชาติมี ๔ ชาติ กุศลเกิดในภูมิใดก็ได้ วิบากเกิดในภูมิใดก็ได้ กิริยาก็เกิดในภูมิใดก็ได้ แต่อกุศลเกิดได้ภูมิเดียว คือกามภูมิเท่านั้น จะเป็นรูปภูมิคือรูปาวจรจิตไม่ได้ จะเป็นอรูปภูมิไม่ได้ จะเป็นโลกุตตรภูมิไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อกล่าวถึงอกุศลก็อยู่ต่ำสุดแล้ว คือแค่เป็นกามภูมิ หรือกามาวจรจิตเท่านั้น

    ผู้ฟัง หสิตุปปาทจิตอยู่ในกลุ่มกิริยาจิต หรือไม่

    ท่านอาจารย์ หสิตุปปาทจิตเป็นกิริยา ถ้าเป็นกิริยาจิตของพระอรหันต์ไม่มีกุศล ไม่มีอกุศล เป็นวิบาก ก่อนเป็นพระอรหันต์เป็นกุศล แต่เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วกุศลจิตไม่มีแล้ว เป็นกิริยาจิต เป็นโสภณ เพราะว่าอกุศลนั้นดับหมดแน่นอน แต่ว่ากุศลก็ไม่มีด้วย เพราะฉะนั้นแทนที่จะเป็นกุศลก็เป็นกิริยาจิต

    ผู้ฟัง พระพุทธเจ้าท่านก็มีกามาวจรจิตได้เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง คือไม่เปลี่ยนภูมิ เห็นอย่างนี้ เห็นไม่ใช่รูปาวจรจิต ไม่ใช่ฌาณจิต ไม่ใช่โลกุตตรจิต

    ผู้ฟัง ทำไมเราไม่ได้เห็นท่านหัวเราะ

    ท่านอาจารย์ ท่านไม่หัวเราะ

    ผู้ฟัง นั่นสิครับ ถ้าหัวเราะก็น่าจะเป็นกามาวจรจิต

    ท่านอาจารย์ ยิ้มได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง แต่นั่นก็เป็นหสิตุปปาทจิต

    ท่านอาจารย์ จิตยิ้มของพระอรหันต์ไม่ได้มีแต่หสิตุปปาท โสมนัสกิริยาจิตก็มี เพราะฉะนั้นจิตยิ้มของพระอรหันต์มี ๕ ดวง ๕ ประเภท

    ผู้ฟัง แต่ท่านไม่หัวเราะเหมือนพวกเรา

    ท่านอาจารย์ คงไม่สนุกถึงระดับหัวเราะ

    ผู้ฟัง ได้ยินแต่ว่า ท่านมีแต่แย้ม เท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ก็ลองคิดดู เราหัวเราะเมื่อไร

    ผู้ฟัง หัวเราะทุกวัน

    ท่านอาจารย์ นั่นสิ เมื่อไร สนุกใช่ หรือไม่ เพราะฉะนั้นพระอรหันต์ยังมีจิตที่สนุกที่จะหัวเราะ หรือ

    ผู้ฟัง ก็ในเมื่อท่านมีกามาวจรจิตอยู่ด้วย ปนอยู่ด้วย

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง มีโสมนัสด้วย แต่โสมนัสเพียงขั้นแย้ม หรือยิ้ม

    ผู้ฟัง คือมีระดับอยู่

    ท่านอาจารย์ แน่นอน แต่ว่าเป็นเหตุที่ทำให้เราสามารถที่จะเข้าใจได้ว่า เมื่อไรเราหัวเราะก็รู้เลยว่า ขณะนั้นเป็นอะไร ใช่ หรือไม่

    ผู้ฟังสิตุปปาทจิตจะเกิดกับบุคคลที่เป็นรูปพรหม กับเทวดาทั้ง ๖ ชั้นได้ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าเป็นผู้ที่พิจารณาในเหตุผล สำหรับในภูมิที่มีรูป และมีพระอรหันต์ด้วย จะมีโสมนัสเวทนา หรือไม่ มี เพราะฉะนั้นโสมนัสเวทนาของพระอรหันต์ ไม่ว่าจะในภูมิไหนก็ตาม ในมนุษภูมิ หรือในสวรรค์ก็ตามแต่ โสมนัสเวทนาเมื่อเกิดแล้วก็สามารถที่จะกระทำให้รูปนั้นเป็นอาการที่เบิกบาน เพราะฉะนั้นบางทีไม่ต้องถึงกับแย้ม หรือยิ้ม แต่นัยน์ตาบาน หมายความว่าเป็นลักษณะของโสมนัสที่เกิดขึ้นแล้วก็มีการเปลี่ยนแปลง ขณะนั้นรูปนั้นเกิดขึ้นเพราะกิริยาจิต ไม่ใช่เพราะกุศลจิต และอกุศลจิต

    ผู้ฟัง อย่างนั้นก็กล่าวว่า มี

    ท่านอาจารย์ แน่นอน คือศึกษาธรรมต้องเป็นผู้ที่มั่นคงในเหตุผล แล้วก็ไตร่ตรอง เช่น พรหมที่เป็นสหายของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มีใช่ หรือไม่ ในครั้งพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อน

    ผู้ฟัง ก็ด้วยเหตุนี้ กระผมได้ฟังมาก็ไม่มีใครกล่าวให้ฟังมาสักที ผมก็เลยต้องถาม

    ท่านอาจารย์ ก็คงจะกล่าวแล้วในเรื่องของจิตประเภทต่างๆ ซึ่งเวลาที่กล่าวถึงพระสูตร เราก็จะเห็นได้ว่าเวลาที่มีการสาธุการ หรือว่าเวลาที่มีการยินดีด้วย เวลาที่บุคคลอื่นได้บรรลุมรรคผล

    ผู้ฟัง ก็จะกล่าวเฉพาะมนุษย์ แล้วเทวดากับพรหม

    ท่านอาจารย์ จิตไม่เปลี่ยน

    ผู้ฟัง ก็ด้วยเหตุนี้ผมก็ต้องมีวิจิกิจฉาสงสัยไปว่าเทวดามี หรือไม่ รูปพรหมมี หรือไม่ เพราะไม่เคยได้ยินใครกล่าวมาก่อน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเวลาที่เรียนปรมัตถธรรม หรืออภิธรรม จะกล่าวถึงเรื่องจิตโดยละเอียด ในขณะที่พระสูตรจะไม่ได้กล่าวถึงจิตโดยละเอียด แต่เมื่อเข้าใจพระอภิธรรมแล้ว อ่านพระสูตรก็สามารถจะให้ความเข้าใจที่เกิดจากพระอภิธรรมไปเข้าใจสภาพธรรมที่แม้ไม่ได้กล่าวในพระสูตรก็มี


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 135
    18 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ