พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 54
ตอนที่ ๕๔
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖
อ.ธีรพันธ์ เพราะขณะที่กุศลเกิดขณะนั้นมีกำลังมากกว่าอกุศล เพราะกุศลเกิดยาก ถ้าเป็นอุเบกขาเวทนาแล้ว ต่อไปมีการฟังพระธรรม มีการพิจารณา โสมนัสเวทนามีความยินดีในการให้ เป็นผู้สละ ยินดีในการสละ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดได้
ท่านอาจารย์ ถึงแม้ว่าจะเป็นทาน ก็ไม่ได้หมายความว่าเวทนาจะต้องเป็นโสมนัสทุกครั้งใช่ไหม เพราะว่าผู้ที่รับมีหลายบุคคล สมมติว่าเป็นผู้ที่ชอบไปเลี้ยงเด็กกำพร้า บุคคลนั้นสะสมมาก็รู้สึกโสมนัสมากที่ได้ไปอยู่ใกล้ชิดเด็ก ได้ป้อนอาหาร ได้ช่วยเหลือ แต่บางคนไปร่วม ก็เฉยๆ แม้ว่าจะเป็นกุศลที่เป็นทานก็จริง ที่เดียวกันก็จริง แต่ยังต่างกันด้วยความรู้สึกซึ่งแต่ละคนก็ต่างกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เห็นอานิสงค์ ก็รู้ว่ากุศลทุกประเภทก็เป็นสิ่งที่ดีทำให้เกิดกุศลวิบาก แต่เราจะไปฝืนใจเราให้เป็นโสมนัสตรงนั้นตรงนี้ก็ไม่ได้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็ต้องแล้วแต่อัธยาศัย เคยเป็นอย่างนี้ไหม แม้แต่การให้ทานด้วยกัน ก็ยังต่างไปตามขณะ และตามวัตถุ บุคคล
คุณนิคมก็คงจะรู้ลักษณะของโสมนัสที่เกิด กับ อุเบกขาที่เกิดกับคุณนิคมเองใช่ไหม ว่า เหตุใดเวลาที่เป็นอกุศล รู้สึกจะโสมนัสมาก และก็เวลาที่กุศลจิตเกิดก็เป็นโสมนัส เกิดกับใครคนนั้นก็รู้ แต่คุณนิคมต้องการทราบว่า เหตุใด สำหรับคุณนิคมเอง เมื่อเป็นอกุศล โสมนัสรู้สึกจะมาก แต่เมื่อเป็นกุศล โสมนัสไม่ค่อยจะเกิด ใช่ไหม ขอเชิญคุณวิชัย
อ.วิชัย เพราะสั่งสมความยินดีพอใจ ความติดข้องในนั้นมาก ดังนั้นการที่จะเริ่มแม้สละวัตถุสิ่งของภายนอกก็เป็นสิ่งที่กระทำได้ยาก แต่ผู้ที่แม้ในครั้งก่อนสามารถจะสละวัตถุสิ่งของซึ่งมีผ้าเพียงผืนเดียวที่ต้องใช้ แต่ก็สามารถจะสละให้ได้ มีความยินดีโสมนัสเปล่งคำว่า “เราชนะแล้ว” และก็เป็นบุคคลที่เห็นประโยชน์จริงๆ เห็นว่าการที่มีความยากจนในชาตินี้เพราะเหตุว่าไม่ได้กระทำกุศลที่จะให้ทานในครั้งก่อน ฉะนั้นการฟังพระธรรมในเรื่องของการที่จะให้ของ การคิดการพิจารณาของบุคคลในครั้งโน้นที่สามารถสละให้ได้ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดโสมนัส แต่ก็ไม่ใช่ทุกครั้ง ดังนั้นการศึกษาเรื่องของสภาพธรรมก็ให้เข้าใจว่าทุกอย่างเป็นอนัตตา แม้ขณะนี้เองจะให้โสมนัสเกิดก็ไม่ได้ มีจิตเกิดดับเป็นไป ขณะที่เห็น จะเปลี่ยนขณะที่เห็นให้เป็นโสมนัสก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าจิตเห็นเมื่อเกิดต้องประกอบด้วยอุเบกขาเวทนา ฉะนั้นจิตแต่ละประเภทต้องประกอบด้วยเวทนา แต่แล้วแต่ว่าจะมีเหตุปัจจัยอะไรให้กุศลจิตเกิดพร้อมกับอุเบกขาเวทนา หรือโสมนัสเวทนา ฉะนั้นก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัย ถ้าสั่งสมการให้ที่โสมนัสเวทนาเกิด ก็เป็นปัจจัยให้การให้หลังๆ ประกอบไปด้วยโสมนัสเวทนา แต่ว่าก็เกิดจากหลายปัจจัย เพราะเหตุว่า การให้ทุกครั้งไม่ใช่ว่าจะประกอบด้วยอุเบกขาเวทนาทุกครั้ง หรือโสมนัสเวทนาทุกครั้ง ต้องแล้วแต่เหตุปัจจัยว่าจะให้กุศลจิตนั้นเกิดประกอบด้วยเวทนาอะไร
อ.ธิดารัตน์ แต่ก่อนไม่ได้ศึกษาธรรม ก็จะไม่ค่อยได้รู้สึกถึงกุศลจิตที่กำลังมากๆ การให้ทาน หรือรักษาศีล ก็จะมีกุศลเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งการศึกษาธรรม เมื่อเข้าใจธรรมมากขึ้น มีโอกาสที่จะน้อมนำให้เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กุศลซึ่งมีกำลังเกิดได้มากขึ้น ซึ่งคุณนิคมก็คงต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป และพิจารณาตัวเองก็จะเห็นว่า เมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อมกุศลที่ประกอบด้วยโสมนัสเวทนาก็เกิดขึ้นได้
ท่านอาจารย์ ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป นี่จะค่อยๆ ให้เป็นโสมนัส หรือแบบไหน
อ.ธิดารัตน์ หมายถึงว่า ถึงอยากจะให้เป็นโสมนัสก็เป็นไม่ได้
ท่านอาจารย์ อยาก หรือเปล่า
ผู้ฟัง ใช่
ท่านอาจารย์ ก็ตกลงไปในหลุม
ผู้ฟัง รู้สึกว่าจะเป็นอุเบกขาไปหมดเลย
อ.อรรณพ คุณนิคมสะท้อนให้เห็นว่าโลภะมีมาก และมีกำลังมากเพียงใด จึงเป็นโลภะโสมนัส แล้วก็ให้เห็นถึงว่าการสะสมกุศลมาน้อยกว่าอกุศลแน่นอน ประการที่สองก็คือ สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อเราฟังธรรมแล้ว เราเริ่มที่จะเห็นแล้วแม้ว่าก็จะโดยลางๆ ว่าอกุศลมีกำลังเหลือเกิน เช่น คุณนิคมเมื่อฟังธรรมแล้ว ก็เริ่มที่จะเทียบเคียงได้ว่าโลภะโสมนัสมากกว่ากุศลโสมนัส แล้วก็จะเป็นประโยชน์ในการที่เราจะศึกษาธรรมต่อ จนกว่าจะรู้ถึงความที่โสมนัสในโลภะนั้นแปรเปลี่ยนไป และแม้แต่โสมนัสในกุศลก็แปรเปลี่ยนไป เพราะเป็นวิปรินามทุกข์
ท่านอาจารย์ สำคัญที่สุดคือแน่ใจ หรือว่าขณะนั้นเป็นกุศลโสมนัส หรือ เป็นโลภะโสมนัส ถ้าเกิดร่วมกันใกล้เคียงกัน เพราะบางครั้งเราคิดว่าเป็นกุศล แต่ความจริงเป็นโลภะ เช่น เวลาที่เห็นเด็กกำพร้า เราไปช่วยป้อนอาหาร หรือช่วยเหลืออื่นๆ มีโลภะร่วมด้วย หรือไม่ หรือว่ามีแต่เฉพาะเมตตากรุณา คุณจำนงค์บอกว่า เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด ก็ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ว่า เป็นจิตประเภทไหน ถูกต้องใช่ หรือไม่
ผู้ฟัง บางครั้งอยากให้สติปัฏฐานเกิด มันเป็นโลภะ ตรงนี้ พิจารณาละเอียดจริงๆ ผมรู้ตนเองว่าไม่ใช่สติของผม แต่เป็นอกุศล เป็นโลภะ แล้วเราเข้าใจว่าเป็นกุศลมาตั้งนาน
ท่านอาจารย์ นี่คือปัญญาที่เริ่มเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ยังเป็นเรา เพราะฉะนั้นจะเห็นได้จริงๆ ว่าที่สำคัญที่สุด ที่เราศึกษาทั้งหมดไม่ควรจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราเกิดความอยากจะให้เป็นอย่างนี้ หรืออยากจะให้เป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นกุศลก็อยากจะให้เป็นโสมนัส ไม่ว่าจะเป็นกุศลโสมนัส หรือโทมนัสก็ตาม อกุศลใดๆ หรือ กุศลใดๆ ก็ตาม ก็ไม่ใช่เรา ต้องมีความมั่นคง ที่กล่าวอย่างนี้ก็จะเห็นความละเอียดว่าข้ามอะไรไป หรือไม่ คือข้ามเวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด รู้ว่าเป็นธรรม เป็นลักษณะหนึ่ง ลักษณะนั้นเปลี่ยนไม่ได้อยู่แล้ว และสติสัมปชัญะก็กำลังรู้ตรงนั้นอยู่แล้ว ความสงสัยทุกคนไม่เคยเห็นเลย เวลาที่ศึกษาโมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ แต่ตรงไหนล่ะ ตรงนั้นใช่ไหม ที่พอสติสัมปชัญญะที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้นดับไป สงสัยแล้วว่าเป็นนามธรรมประเภทไหน หรือว่าเป็นรูปธรรมอย่างไร แต่ตามความจริงต้องละเอียด
เพราะเหตุว่า ขณะนั้นเปลี่ยนลักษณะนั้นไม่ได้ประการที่หนึ่ง แต่ปัญญายังไม่สามารถที่จะเข้าใจจริงๆ ถึงลักษณะที่ต่างของนามธรรม และรูปธรรม และไปคิดถึงว่าขณะนั้นเป็นนามธรรมประเภทใด และเป็นจิตอะไร ตามมาได้อีกมากมาย เพราะฉะนั้นที่จะไม่ข้ามก็คือว่า มีความเข้าใจจริงๆ กับสิ่งที่กำลังปรากฏว่าเป็นธรรมลักษณะนั้น แล้วก็ต้องค่อยๆ คุ้นเคยชินกับลักษณะนั้น และลักษณะอื่นๆ ซึ่งลักษณะนั้นบ่งบอกอยู่แล้วว่า ลักษณะของรูปธรรมเป็นรูปธรรมนั่นแหล่ะ ไม่ว่าเราจะต้องไปคิด หรือไม่คิดก็ตาม ลักษณะของรูปเป็นแข็งก็คือแข็ง ไม่ใช่ว่าต้องไปเน้นว่าไม่ใช่สภาพรู้ หรืออะไร นี่ก็ประการหนึ่ง
เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริง อย่างท่านหนึ่งท่านไปเลี้ยงเด็กกำพร้า ก็ได้ไปป้อนอาหาร เด็กก็น่ารักในความรู้สึกของทุกคนที่มีกุศล และอกุศลสลับกัน ป้อนไปป้อนมาเด็กก็ค่อยๆ เอียงตัวแล้วก็หลับปุ๋ย น่ารักใช่ไหม กุศลจิต หรืออกุศลจิต นี่เป็นสิ่งที่เราจะต้องมีความละเอียดที่จะรู้ว่า แม้ขณะที่ทำกุศล อกุศลเกิดเมื่อใด ขณะไหน ความกรุณากับโลภะเกิดสลับกัน หรือไม่ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ว่าไปเลี้ยงเด็กกำพร้า แล้วก็ได้ป้อนอาหารเด็กก็เป็นความกรุณา แต่ว่ามีโลภะบ้างไหมในขณะหนึ่งขณะใด
ผู้ฟัง ก็เพราะผมรู้ว่าเป็นโลภะของผม ก็เกิดปิติเหมือนกัน แต่มันเล็กๆ
ท่านอาจารย์ ปิตินั้นประกอบด้วยปัญญา ไม่ใช่ปิติที่ประกอบด้วยโลภะก็มีความต่างกัน
เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ที่สำคัญที่สุดก็คือการเข้าใจถูก ความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม โดยเฉพาะเราก็คงได้เคยอ่านพระวินัย หรือว่าพระสูตรมาบ้างแล้ว แต่การที่จะเข้าใจธรรมจริงๆ ต้องเป็นพระอภิธรรม เพราะเหตุว่าแม้พระสูตรก็เป็นธรรมที่เป็นอภิธรรม หรือแม้วินัยก็ตามแต่ การที่อาบัติแตกต่างกันไปก็เพราะว่าจิตหลากหลายที่แตกต่างกันไป เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องของการเข้าใจพระอภิธรรม ก็จะทำให้เข้าใจสภาพธรรมในชีวิตประจำวันได้ถูกต้องว่าไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล แต่มีธรรม ซึ่งกว่าจะถึงความเข้าใจถูกในระดับนี้ ก็ต้องอาศัยการฟัง และก็ค่อยๆ พิจารณาเข้าใจขึ้น
ทุกคนเมื่อเป็นธรรมแล้วก็ไม่มีตัวตน และมีความหลากหลายกันไปตามจิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้น เพราะว่าเมื่อเกิดแล้วไม่ว่าจะเป็นโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ หรือธรรมที่เป็นฝ่ายกุศลก็คือสภาพธรรมทั้งหมดนั่นเอง แต่กว่าจะรู้ว่าไม่ใช่เรา ก็ต้องอาศัยกาลเวลาที่นาน เพราะเหตุว่าถ้าคิดถึงอวิชชา ขณะที่กำลังไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ และก็ไม่ใช่เพียงชาตินี้ด้วย ก็ไม่ทราบจะอุปมาอย่างไรให้เห็นถึงความจริง เพื่อที่จะได้ไม่ท้อถอย เพราะเหตุว่าเป็นความจริง ถ้าเราเห็นก้อนหิน น้ำหยดลงไปทีละหยด เช่น ในถ้ำ จนกระทั่งเป็นก้อนหินใหญ่โตมาจากไหน มาจากทีละหยดใช่ไหม และทีละหยดของอวิชชา ลองคิดดู ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มากมายสักแค่ไหน มหาศาลสักแค่ไหน และเราก็คิดว่าเป็นเราที่อยากจะให้กิเลสหมดเร็วๆ อยากจะรู้ อยากจะปฏิบัติทันที เป็นไปไม่ได้เลย เพราะทั้งหมดนั้นคือเรา แต่ถ้าเป็นการฟัง และมีความเข้าใจ ถ้าจะพูดถึงเรื่องจำนวน เช่น ถ้าจะคิดถึงว่าโลภมูลจิตมี ๘ ประเภท แค่นี้อยากจะเข้าใจ หรืออยากจะจำว่าโลภมูลจิตมี ๘ ประเภท ก็จะได้เท่านี้เอง ถ้าไม่ได้สนใจ และรู้ว่าโลภะมีลักษณะอย่างไร และขณะที่เกิดต่างกันอย่างไร
บางขณะเกิดร่วมกับความรู้สึกเฉยๆ อทุกขมสุข จริง หรือไม่ คือ ทุกคนพิสูจน์ธรรม และเข้าใจธรรมที่มี และบางขณะโลภะก็เกิดร่วมกับความดีใจโสมนัสก็มี นี่ก็หลากหลายกันไปโดยความรู้สึก แล้วสิ่งหนึ่งซึ่งมีอยู่เป็นประจำ แต่ไม่รู้ ก็คือความเห็นผิด คือ การไม่เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่มี และบางครั้งก็ทำให้เราเกิดความคิดในเรื่องโลก ในเรื่องตัวตน ในเรื่องลัทธิต่างๆ หลากหลาย และก็มีความยึดมั่นในความเห็นนั้น เพราะว่าถ้าไม่ยึดมั่น ความเห็นนั้นก็ไม่มีใช่ไหม เพราะฉะนั้นขณะใดที่มีความเห็นผิด และลักษณะของโลภะก็ไม่ได้ปรากฏ แต่ว่าความเห็นผิดนั้นเกิดกับโลภะ ไม่เกิดกับจิตประเภทอื่นเลย เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เข้าใจว่าได้ฟังความเห็นผิด สามารถที่จะเข้าใจได้ว่าขณะนั้น บุคคลนั้นมีความติดข้องในความเห็นนั้น และถ้าเขามีความรู้สึกปิติยินดีมากที่เขาเข้าใจว่าที่เขาเห็นนั้นถูกแล้ว ขณะนั้นเราก็จะเห็นได้ว่า เวลาที่มีความเห็นผิดจะประกอบกับโสมนัสเวทนา หรือ อุเบกขาเวทนา
นี้คือสิ่งที่เราค่อยๆ เข้าใจตามความเป็นจริงที่มีจริงกับตัวเรา จนกระทั่งเมื่อฟังต่อไปก็จะรู้ว่า บางครั้งโลภะก็มีกำลังอ่อน และบางครั้งก็มีกำลังกล้า สังเกตุได้จากเวลาที่มีกำลังกล้า เราพอใจโดยไม่มีการชักชวนเลย โดยไม่ต้องมีใครมาบอก ไม่ต้องมีใครมาชวน เราก็เกิดความติดข้องในสิ่งนั้น แต่บางครั้งเราก็อาศัยคนอื่นชักชวน หรืออาจจะเกิดความลังเลของเราเองก็ได้ ขณะนั้นก็เป็นอีกประเภทหนึ่ง ถ้ามีความเข้าใจเช่นนี้ แล้วได้ยินชื่อว่าโลภะมี ๘ ประเภท เราก็สามารถที่จะเข้าใจได้ ไม่ใช่เพียงจำ เพราะว่าเรื่องจำก็คือสัญญาเจตสิก ก็จำอยู่แล้ว แต่ถ้าเรื่องจำนวนอยากจะคิดเมื่อไหร่ก็ได้ และท่านที่มีความกรุณาต่อพุทธบริษัทในครั้งหลัง เช่น ท่านพระอนุรุธทาจารย์ ท่านก็มีความกรุณาที่จะรวบรวมประเภทของจิต และเจตสิกไว้ให้ และมีคำอธิบายเป็นอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา นี่ก็เป็นเรื่องที่ทั้งหมดเพื่อความเข้าใจในชาติหนึ่งๆ ที่จะสะสมความเข้าใจถูก ความเห็นถูกก็จะทำให้ไม่ว่าจะได้ยินอะไร ก็คิดพิจารณา ไตร่ตรอง เข้าใจสิ่งนั้นก่อนที่จะคิดว่าเราจะต้องไปจำจำนวนมากมาย เพราะว่าจำแล้วก็ไม่รู้ว่าที่จำแล้วคืออะไร แต่สิ่งที่เราเข้าใจเราสามารถที่จะรู้ได้ว่ามีเท่าไหร่ นี่ก็คงจะเป็นการสะสมของแต่ละคน ซึ่งทำให้เราสามารถที่จะรู้ได้ว่า ไม่ว่าใครจะคิดอย่างไร ก็ต้องมีเหตุปัจจัยที่สะสมมาที่จะปรุงแต่งให้เกิดความคิดอย่างนั้น
คุณนีน่า เป็นสติเท่านั้น ที่คิดว่าไม่มีตัวตน อยากจะช่วยคนอื่นอธิบายเรื่องนี้ แต่ไม่ต้องท้อถอย ต้องมีวิริยะ และกล้าต่อไปๆ
ท่านอาจารย์ ผู้ที่ฟังธรรมแล้วไม่ท้อถอยก็เพราะเหตุว่าก็มีธรรมอยู่ แล้วก็กำลังปรากฏ แล้วก็ไม่เข้าใจ จะไม่เข้าใจต่อไป หรือว่าจะฟัง ค่อยๆ ฟังจนกระทั่งเข้าใจขึ้นเพราะเหตุว่ามีผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้ และทรงแสดงให้บุคคลอื่นสามารถเข้าใจได้ และเราก็มีโอกาสที่จะฟัง และก็พิจารณาเกิดความเห็นถูก และเป็นปัญญาของเราเอง แล้วจะไม่มีความเห็นถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏทุกชาติ หรือ เพราะว่าบางชาติอาจจะไม่มีโอกาสได้ฟัง และก็ไม่รู้ด้วยว่าขณะนี้ก็เป็นธรรมทั้งหมดเลย แต่ว่าชาติไหนที่มีโอกาสได้รู้ว่าขณะนี้เป็นธรรมแล้วไม่เข้าใจ ยังไม่รู้ยังไม่ประจักษ์ ก็ฟังต่อไป เพื่อที่จะได้วันหนึ่งประจักษ์ก็เป็นสิ่งซึ่งไม่น่าท้อถอยเลย และยิ่งรู้ว่าเป็นสิ่งที่ยากจะรีบร้อนไปไหน ก็ในเมื่อกว่าจะได้รู้ความจริงแต่ละท่านที่ได้อบรมเจริญปัญญามาแล้วก็ลดหลั่นตามลำดับ แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากว่าจะถึงพระคุณเช่นนั้น ก็ต้องอย่างน้อย ๔ อสงไขยแสนกัปป์หลังจากที่ได้ทรงพยากรณ์
เพราะฉะนั้นทุกคำจริง และสภาพธรรมก็มีจริงๆ และปรากฏให้รู้ว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังก็จริง เพราะฉะนั้นการที่จะอบรมเจริญปัญญาจนรู้จริง ก็ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเองว่ารู้แค่ไหน เข้าใจแค่ไหน หนทางนั้นตรงแค่ไหน หรือว่าจะเป็นหนทางที่ทำให้ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ถ้าเป็นหนทางที่ทำให้ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ฟัง เผ็ด เป็นรสารมณ์ หรือโผฏฐัพพารมณ์
ท่านอาจารย์ เผ็ดแล้วรู้สึกอย่างไร หรือ ว่าเผ็ด
ผู้ฟัง ก็รสเผ็ด
ท่านอาจารย์ ถ้ารสเผ็ด ก็ตอบแล้วว่ารสเผ็ด
ผู้ฟัง ทีนี้มันก็ต้องสัมผัสกับชิวหาปสาทไม่ใช่กายปสาทใช่ไหม
ท่านอาจารย์ แต่ว่าเผ็ดแล้วรู้สึกแบบไหน
ผู้ฟัง เผ็ดแล้วมันก็ร้อนด้วย
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นร้อนไม่ใช่เผ็ดแน่ๆ ก็แสดงให้เห็นว่าแต่ละทวารสืบต่อกันเร็วมาก ซึ่งถ้าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ รู้เผ็ดก็เป็นเรา รู้ร้อนก็เป็นเรา เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า จะรู้จริงๆ ว่าไม่ใช่เรา ก็คือว่า เข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น ว่าไม่ต้องเรียกชื่อ เพราะว่าเวลานี้ทุกคนหาชื่อ เมื่อมีรสเกิดขึ้นมา ก็สงสัยว่า นี่อะไร ชื่ออะไร เรียกว่า เผ็ด แล้วยังสงสัยต่อไปอีกว่าเผ็ดนี่ทวารไหน แต่จริงๆ ถ้าเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏ ปัญญาที่รู้ในขณะที่สติสัมปชัญญะกำลังมีลักษณะหนึ่งเป็นอารมณ์จะรู้เฉพาะลักษณะนั้น เช่นเผ็ดก็ปรากฏแต่เพียงเผ็ด ไม่ใช่ร้อน ต้องแยกกัน และขณะนั้นที่เผ็ดกำลังปรากฏ ปัญญาไม่ใช่ไปเรียกชื่อ แต่จะต้องรู้ว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งกว่าจะละคลาย และไปสู่สภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งได้ ตัวตนก็แทรกเข้ามาแล้ว เพราะเหตุว่ายังรู้ไม่ทั่วในลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกัน เพราะฉะนั้นผู้นั้นก็เป็นผู้ที่รู้จริงๆ ว่า หนทางนี้เกิดแต่ยังน้อยมาก เพราะเหตุว่ายังไม่รู้ทั่วในลักษณะของสภาพธรรมจึงสงสัย แต่เมื่อสงสัยว่าทวารไหน นั่นคือความเป็นตัวตนแล้วใช่ไหม แล้วยังอยากจะรู้ ซึ่งถ้ามีคนบอกเหมือนพอใจว่าเราได้รู้ตามคำที่เขาบอก แต่ว่าจริงๆ แล้วถึงใครบอกก็ยังไม่ใช่ปัญญาของเราเอง เพราะฉะนั้นก็จะต้องเป็นปัญญาของเราเองที่สามารถที่จะรู้ว่า ขณะที่รู้ลักษณะของเผ็ดจริงๆ ขณะนั้นไม่มีเรา ไม่มีชื่อ แต่มีลักษณะของสภาพที่กำลังรู้เผ็ดที่กำลังปรากฏ
แต่ถ้ามีความเข้าใจก่อน ว่า นี่คือ ธรรม จะใช้ภาษาอะไรก็ได้ แม้ว่าไม่ต้องใช้คำว่าอายตนะ แต่ว่ามีความเข้าใจในภาษานั้น คือเข้าใจลักษณะสภาพธรรมในภาษานั้น ต่อไปได้ยินคำไหนก็สามารถที่จะเข้าใจได้ เช่น ในขณะนี้มีเห็น ใช่ไหม แล้วก็มีสิ่งที่ทำให้จิตเห็นเกิดขึ้นด้วย เพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีจักขุปสาท คือ ตา แล้วก็ไม่มีสิ่งที่กระทบตา เห็นก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า แม้ในขณะที่กำลังเห็นนี้ขณะนี้ ก็จะต้องมีธรรม ไม่ใช่แต่เฉพาะเห็นอย่างเดียว ต้องมีจักขุปสาทแล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา เรายังไม่พูดถึงภาษาบาลีเลย แต่ว่าให้เข้าใจในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ว่าจะต้องมีจักขุปสาท คือ สิ่งที่สามารถกระทบกับสีสันวัณณะในขณะนี้ได้แน่นอน แล้วก็ต้องมีจิตเห็นด้วย สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้จึงปรากฏได้
ทั้งหมดเป็นอายตนะ หมายความว่าเป็นที่ประชุม ที่ต่อ ที่ทำให้จิตเกิดขึ้นแล้วก็รู้อารมณ์ คือมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะเหตุว่าจะมีสภาพธรรมที่ปรากฏเกิดขึ้นอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องมีสภาพอื่นเกิดร่วมด้วยเช่น เวลาที่จิตเกิดขึ้น เกิดตามลำพังจิตอย่างเดียวได้ไหม ธรรมทั้งหลายที่เกิดต้องมีปัจจัยปรุงแต่งอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตเกิดขึ้นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตกับเจตสิกจะแยกจากกันได้ไหม จิตเกิดตรงนี้ เจตสิกไปเกิดตรงโน้น ไม่ได้เลย แต่ที่ใด ขณะใดที่จิตเกิด ที่นั่นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ต้องมีเจตสิก และจิตต่ออยู่ด้วยกัน หรือว่าเป็นที่เกิด ทั้งจิต และเจตสิกเป็นอายตนะ แต่เรียกชื่อต่างกันไป คือ สำหรับจิตเป็นมนายตนะ เพราะว่าเราสามารถที่จะใช้คำหลายคำเรียกชื่อจิตได้ มนะก็ได้ มโนก็ได้
เพราะฉะนั้นเวลาที่กล่าวถึงอายตนะ ใช้คำว่า “มนายตนะ” สำหรับธรรมทุกอย่างที่เกิดแล้วก็ดับ แต่ขณะที่เกิดต้องมีสภาพธรรมเกิดร่วมด้วย แล้วเราก็จำแนกอายตนะออกไปเป็นส่วนๆ แต่ส่วนที่ไม่ได้จำแนกก็เป็นธัมมายตนะ เพราะเหตุว่าทุกอย่างเป็นธรรมอยู่แล้ว แม้เจตสิกก็เป็นธัมมายตนะ เพราะเจตสิกไม่ใช่จิต เพราะฉะนั้นในขณะที่จิตเกิดขึ้น ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย และจิตก็เป็นมนายตนะ เจตสิกก็เป็นธัมมายตนะ เช่น ผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก รวมเป็นธัมมายตนะ คือต้องมีในขณะที่จิตเกิด
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 1
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 2
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 3
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 4
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 5
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 6
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 7
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 8
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 9
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 10
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 11
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 12
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 13
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 14
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 15
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 16
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 17
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 18
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 19
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 20
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 21
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 22
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 23
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 24
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 25
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 26
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 27
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 28
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 29
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 30
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 31
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 32
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 33
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 34
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 35
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 36
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 37
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 38
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 39
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 40
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 41
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 42
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 43
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 44
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 45
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 46
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 47
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 48
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 49
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 50
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 51
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 52
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 53
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 54
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 55
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 56
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 57
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 58
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 59
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 60