พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 55
ตอนที่ ๕๕
ที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
วันอาทิตย์ที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นในขณะที่จิตเกิดขึ้น ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย และ จิตก็เป็น "มนายตนะ" เจตสิกก็เป็น"ธัมมายตนะ" เพราะว่าเจตสิกมากมาย ผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก รวมเป็นธัมมายตนะ คือ ต้องมีในขณะที่จิตเกิด เพราะฉะนั้นในขณะเห็นเดี๋ยวนี้ ต้องมีจักขุปสาท ต้องมีสิ่งที่ปรากฏทางตา ภาษาบาลีใช้คำว่า "รูปายตนะ" และก็ต้องมีจิต และก็ต้องมีเจตสิกด้วย
เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ ถ้าศึกษาต่อไป ก็ไม่สงสัยเลยในเมื่อเข้าใจในเรื่องของความเป็นอายตนะ ก็คือว่า ที่ใดที่มีสภาพธรรมเกิดขึ้น ที่นั้นก็จะต้องมี "อายตนะ" มีการประชุมรวมกัน แล้วแต่ว่าที่นั้นมีอายตนะอะไรบ้าง เช่น ขณะเห็น ต้องมีจักขุปสาทเป็นจักขายตนะ คือเติมเข้าไปว่าอยู่ตรงนั้น มีอยู่ตรงนั้น ถ้าปราศจากสิ่งนั้นแล้วก็จิตเห็นเกิดขึ้นไม่ได้ เป็นที่ต่ออันหนึ่ง ขณะนั้นก็เป็น"จักขายตนะ" และก็ต้องมีสีสันวัณณะที่กำลังปรากฏเป็น"รูปายตนะ"ขาดไม่ได้ และก็ต้องมีจิตเป็น"มนายตนะ" และก็ต้องมีเจตสิกเป็น "ธัมมายตนะ" หมายความว่าถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ เมื่อได้ยินเกิดทางทวารอื่น ก็ต้องมีโสตปสาท ต้องมีเสียง และก็ต้องมีจิตได้ยิน และก็ต้องมีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย
เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังได้ยินนี้เอง ถ้าได้ยินแล้วเข้าใจ เวลาใครพูดเรื่องอายตนะ ไม่สงสัยเพราะเข้าถึงอรรถ เข้าใจความหมาย ไม่ใช่ไปติดอยู่ที่ชื่อ แล้วก็สงสัยว่าชื่อนี้คืออะไร แปลว่าอะไร ได้แก่อะไร แต่สภาพธรรมในขณะที่ได้ยินนั้นเอง จิตเป็นมนายตนะ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเป็นธัมมายตนะ และก็ต้องมีโสตปสาทรูป ขาดไม่ได้เลย ก็ต้องเป็น "โสตายตนะ" และก็ต้องมีเสียงซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่าสัททะ เพราะฉะนั้นเสียงที่กำลังปรากฏตรงนั้น ต่อตรงนั้น ประชุมตรงนั้น ก็เป็น "สัททายตนะ" ในเมื่อเสียงอื่นที่ไม่ได้ยินก็เกิดไปดับไปโดยไม่เป็นอายตนะ
เพราะฉะนั้นก็เข้าใจได้เลยถึงคำว่าอายตนะ และก็เข้าใจตัวสภาพธรรมที่เป็นอายตนะด้วย เพราะฉะนั้น "อนุบาล" ก็คือเข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แล้วชื่อตามมาทีหลัง เพราะเหตุว่าถ้าเข้าใจความหมายของ “อายตนะ” ก็รู้เลย หมายถึงสภาพธรรมที่ประชุมมีอยู่ต่อกันเป็นปัจจัยให้มีการได้ยิน หรือมีการเห็น หรือว่ามีสภาพที่รู้อารมณ์
ผู้ฟัง จิต เจตสิกเกิด และรู้ลักษณะของความเป็นโลภะ แสดงว่าขณะนั้นไม่ได้มีรูปเข้ามาเกี่ยวข้องเลยก็ได้ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้นเราถึงได้กล่าวถึงสภาพธรรมที่มีที่เกิด ในขณะนั้นรวมกันขาดไม่ได้เลย เป็นอายตนะอะไรบ้าง มีอายตนะอะไรบ้าง แต่ต้องมีสภาพธรรม
ผู้ฟัง ในแต่ละขณะของชีวิตคน มีจิตกับเจตสิกเกิดร่วมด้วยแน่นอน แต่รูปไม่จำเป็นต้องมาเกี่ยวข้องก็ได้
ท่านอาจารย์ แล้วแต่ว่าขณะนั้นมีรูปเป็นที่อาศัย เป็นที่ประชุม เป็นที่ต่อ หรือเปล่า
ผู้ฟัง ถ้าจะเกี่ยวข้องก็คือเป็นที่เกิด
ท่านอาจารย์ หมายความว่าปราศจากสิ่งนั้นไม่ได้ในขณะนั้นที่กำลังปรากฏเป็นอารมณ์ คือเรื่องธรรมเป็นเรื่องละเอียด แล้วเราก็เริ่มต้น และก็ค่อยๆ เข้าใจถูก เห็นถูกในสิ่งที่มีจริงโดยภาษาของเราก่อน แล้วภายหลังเราก็จะได้ใช้คำที่มีในภาษาบาลีเป็นเครื่องประกอบให้รู้ว่าใช้คำอะไรที่ตรงกัน ไม่คลาดเคลื่อน แต่ความไม่คลาดเคลื่อนคือความเข้าใจถูก
ผู้ฟัง การหายใจของมนุษย์ เกิดจากจิตดวงไหน
อ.วิชัย จิตสามารถจะเป็นปัจจัยให้เกิดรูปได้หลายประเภท แต่มีจิตเพียง ๑๖ ประเภทเท่านั้นที่ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดรูป เช่น ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องกระทบสัมผัส จิต ๑๐ ดวงนี้ไม่ได้เป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้น แต่จิตประเภทอื่นๆ ทั้งหมดที่เหลือเว้นจิต ๑๖ ดวงนี้สามารถเป็นปัจจัยให้เกิดรูป จิตบางประเภทสามารถเป็นปัจจัยให้เกิดรูปเพียงกลุ่มของรูป ๘ รูปเท่านั้น ที่เรียกว่าเป็นกลุ่มรูปที่เป็นลมหายใจ หรือว่าเป็นการไหวเพียงกระพริบตาเหล่านี้ ก็เป็นจิตนั้นเป็นปัจจัยให้รูปเกิด แต่จิตบางประเภทนอกจากที่จะเป็นปัจจัยให้รูปที่เป็นลมหายใจแล้ว ยังเป็นปัจจัยให้เกิดการไหวกาย หรือว่าให้เกิดวิญญัติรูปด้วย ก็เป็นส่วนละเอียด
ท่านอาจารย์ ถ้าทราบว่ารูป มีสมุฏฐาน ธรรมที่ก่อตั้งให้รูปนั้นเกิด ๔ อย่าง ต้องเป็น ๑ ใน ๔ ทีละกลุ่มของรูป ไม่ใช่ว่าทั้ง ๔ นั้นจะไปทำให้กลุ่มของรูปกลุ่มหนึ่งเกิดขึ้น แต่ไม่ว่ารูปกลุ่มใดที่เกิด เราก็พอจะทราบว่าเกิดจากสมุฏฐานใด เช่น รูปที่เกิดจากกรรม จิตก็ไม่สามารถที่จะทำให้รูปกลุ่มนั้นเกิดได้ แม้อุตุ ความเย็นความร้อน หรืออาหารที่บริโภคเข้าไปก็ไม่สามารถทำให้รูปนั้นเกิดได้ เพราะรูปนั้นต้องเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน
ก็ขอกล่าวรวมไปนิดหน่อยเพื่อที่จะให้เข้าใจเรื่องของ"จิตตชรูป" หรือรูปที่เกิดจากจิต รูปที่เกิดจากกรรม จักขุปสาท ตา บางคนก็ตาบอด บางคนก็มีตา มีตาแล้ววันหนึ่งก็อาจจะบอดขึ้นมาก็ได้ ถ้ากล่าวว่าตาบอดก็คือกล่าวว่าจักขุปสาทรูปไม่เกิด ไม่มีรูปที่สามารถจะกระทบกับสีสันวัณณะ ที่จะทำให้จิตเห็นเกิดขึ้น รูปนี้ใครก็ทำไม่ได้ นักวิทยาศาสตร์ หรือใครก็ทำไม่ได้ นอกจากกรรมของแต่ละบุคคลเป็นปัจจัยให้รูปนี้เกิดขึ้น
นอกจากจักขุปสาทก็มีโสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท เป็นรูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน และก็ยังมีภาวรูปด้วย อิตถีภาวรูปซึมซาบอยู่ทั่วกาย ปุริสภาวรูปก็ซึมซาบอยู่ทั่วกาย
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นสีสันวัณณะ แต่ว่าสีสันวัณณะเมื่อมีภาวรูปเป็นสมุฏฐาน ก็ทำให้สีสันวัณณะที่ปรากฏต่างกันได้ พอที่จะจำได้ว่าเป็นหญิง หรือเป็นชาย ส่วนรูปอื่นๆ ยังไม่ต้องกล่าวถึงก็ได้ เพียงแต่ให้ทราบว่าถ้ามีเพียงกัมมชรูปที่ตัว เคลื่อนไหวได้ไหม ไม่ได้เลย กระดุกกระดิกได้ไหม?ไม่ได้เลย ยิ้มได้ไหม ไม่ได้ เพราะว่าเป็นกัมมชรูปเท่านั้นที่เกิดจากกรรม แม้ว่ากายปสาทรูปจะซึมซาบอยู่ทั่วตัวเป็นปัจจัยให้เมื่อมีรูปใดมากระทบตรงกาย จิตก็เกิดขึ้นเป็นสุข หรือเป็นทุกข์จากรูปที่กระทบกาย แต่ก็เคลื่อนไหวไม่ได้เพราะเหตุว่าเป็นกายปสาทที่ซึมซาบอยู่ทั่วตัว
เพราะฉะนั้น ที่ตัวนอกจากกัมมชรูป แล้วก็ยังมีอุตุชรูป มีความเย็นความร้อนในตัวที่สามารถจะก่อตั้งให้มีรูปเกิดขึ้น มิฉะนั้นเราก็คงจะไม่มีการเป็นโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ แต่บางทีเราก็มีโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ จากอุตุจากความเย็นความร้อน หรือจากอาหารซึ่งเป็นสมุฏฐานให้เกิดรูปด้วย เพราะเหตุว่าเมื่อเกิดมามีกายปสาทรูป มีรูปร่างกาย มีตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ไม่บริโภคอาหาร รูปนั้นอยู่ไม่ได้ กรรมก็เพียงแต่ทำให้รูปนั้นเกิด แต่ต้องอาศัยกลุ่มรูปอื่นอุปถัมถ์ด้วย เพราะฉะนั้นอุตุ และอาหารจึงเป็นสมุฏฐานให้รูปเกิดขึ้น และอุปถัมถ์ร่างกาย ร่างกายของเราที่เกิดขึ้นเป็นมนุษย์จะมีทั้งรูปที่เกิดจากกรรม รูปที่เกิดจากอุตุ รูปที่เกิดจากอาหาร และขาดไม่ได้ก็คือต้องมีจิต จิตก็เป็นสมุฏฐานให้เกิดรูปด้วย แต่รูปที่มีจิตเป็นสมุฏฐานมีตั้งแต่กลุ่มที่ไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลย คือมีแต่ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม สี กลิ่น รส โอชา รูปกลุ่มหนึ่งๆ จะต้องมีอย่างน้อยที่สุดรวมกัน ๘ รูป แยกกันไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเล็กที่สุดจนมองไม่เห็น ถ้ามีธาตุดินที่ไหน ต้องมี ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม และสี กลิ่น รส โอชาด้วย ถ้ามีธาตุไฟตรงไหน ก็ต้องมีฐานที่อาศัยของธาตุไฟนั้น คือ ธาตุดิน และมีธาตุน้ำ ธาตุลม และเมื่อมีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม และก็จะมีรูปอีก ๔ รูป คือสี กลิ่น รส โอชา เกิดร่วมด้วย จะไม่มีรูปกลุ่มที่น้อยกว่า ๘ รูปเลย
เพราะฉะนั้น เวลาที่กล่าวถึงจิตตชรูปก็จะต้องมีอย่างน้อยที่สุด ๘ รูป ทุกครั้งที่เกิดสำหรับจิตที่เป็นสมุฏฐานก็จะมีรูป ๘ รูปเป็นอย่างน้อย และถ้ามีการที่จะมีอาการของกายที่เคลื่อนไหวไป หรือ มีการเปล่งวาจาจากจิตก็จะมีรูปเพิ่มขึ้น นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นรูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน
เพราะฉะนั้นสำหรับคำถามที่ว่าลมหายใจเป็นรูปที่เกิดจากจิตก็ต้องรู้ว่าขณะปฏิสนธิ คือขณะแรกที่เกิด ปฏิสนธิจิตยังไม่มีกำลังที่จะทำให้จิตตชรูปเกิด แต่ว่ากรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกัมมชรูป เพราะฉะนั้นขณะที่เกิดขณะแรกจะมีกัมมชรูปเท่านั้น ยังไม่มีรูปกลุ่มอื่นเลย แต่เมื่อขณะปฏิสนธิดับไปแล้ว จิตที่เกิดสืบต่อเป็นภวังคจิต ก็จะมีจิตตชรูปเกิด สำหรับอุตุกับอาหาร เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดจะมีอุตุที่เกิดกับกัมมชรูปที่เป็นรูป อุตุความเย็น หรือความร้อนก็จะทำให้เกิดรูปที่เกิดจากอุตุ นี่ก็เป็นเรื่องละเอียดแต่ให้ทราบเพียงคร่าวๆ ว่าลมหายใจเป็นรูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานในขณะไหน ไม่ใช่ในขณะปฏิสนธิ ไม่ใช่ในขณะที่เป็นจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จิต ๑๐ ขณะนี้เป็นจิตที่อ่อนมาก เกิดขึ้นเพราะการประจวบกัน เพราะกรรมเป็นปัจจัยที่จะทำให้ถึงกาละที่จะกระทบกับอารมณ์ โดยเป็นผลของกรรมนั้นๆ ว่าเป็นกุศลวิบาก อกุศลวิบาก เพียงขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดรูป ไม่เป็นสมุฏฐานให้เกิดรูป ก็ค่อยๆ ศึกษาไป และก็สำหรับอรูปวิบาก ผู้ที่เกิดเป็นอรูปพรหม ไม่มีรูปเลย เพราะฉะนั้นจิตนั้นก็ไม่เป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดรูปได้
ผู้ฟัง เวทนาที่เป็นอัพยากต รูปก็เป็นอัพยากต กิริยา และวิบากก็เป็นอัพยากต ต่างกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ คำถามที่ว่าเวทนาที่เกิดกับวิบากเช่นโสมนัส หรืออุเบกขาจะต่างกับเวทนาที่เกิดกับกุศลจิต อกุศลจิตอย่างไร เวลานอนหลับสนิทมีเวทนาไหม ทราบไหมว่าเป็นอะไร ไม่ทราบ เพราะฉะนั้นเวทนาที่เกิดกับวิบากเราจะทราบได้ไหม โดยเฉพาะเวลาที่ทำภวังคกิจ แต่เวลามีเวทนาที่เกิดกับกุศลจิต และอกุศลจิต ทราบได้ไหม นี่ก็คือความต่างกันของเวทนาที่เกิดกับกุศล อกุศล และวิบาก ถ้าเป็นภวังค์นี่ก็ยากที่จะรู้ว่าขณะที่หลับสนิทของแต่ละคน เวทนาของใครเป็นอุเบกขา เวทนาของใครเป็นโสมนัส แต่เวลาที่เป็นกุศล อกุศลพอทราบได้
ผู้ฟัง ในกรณีที่จิตที่เป็นชาติกุศล จะมีเจตสิกที่ประกอบคือตัตรมัชฌัตตตา เหมือนกับแปลว่าเป็นอุเบกขา ก็ไม่ทราบว่าถ้าเกิดกับจิตที่เป็นโสมนัสแล้ว จะสอดคล้องกันอย่างไร
อ.อรรณพ จิตที่ดีทุกประเภทต้องมีตัตรมัชฌัตตตาเป็นกลาง ไม่เอนเอียง เพราะถ้าเป็นอกุศลจะต้องเอนเอียง ไม่ตรง เพราะฉะนั้นเวทนาก็เรื่องหนึ่ง เช่น ในขณะที่เราทานอาหารที่รสปานกลาง ก็อาจจะมีโลภะติดในรสนั้นด้วยอุเบกขาเวทนา แต่ในขณะที่เรามีกุศลจิตเกิด ถ้าเป็นโสมนัส เช่นคำถามที่ถาม ขณะนั้นโสมนัสเพราะฟังธรรมแล้วเข้าใจมีสติ มีปัญญาด้วย แล้วก็เวทนาก็เป็นโสมนัส ตัตรมัชฌัตตตาก็เกิดร่วมด้วยอยู่แล้วที่จะเป็นกลางด้วยความเป็นกุศล เพราะนั่นเป็นลักษณะสภาพธรรมที่ต่างกัน
ท่านอาจารย์ ก็ขอเพิ่มเติมเพราะเหตุว่าโดยมากเมื่อพูดถึงโสมนัสเราคิดว่าต้องโสมนัสมากเลยใช่ไหม ดีใจใหญ่โต เพราะคิดว่านั่นคือโสมนัสเวทนา แต่ถ้าขณะนั้นเป็นความแช่มชื่นของจิต ลักษณะของความรู้สึกต่างกันแล้วกับอุเบกขาใช่ไหม เพราะปกติอุเบกขาก็มีเป็นประจำ วันหนึ่งๆ ก็เป็นอุเบกขามาก แต่ว่าขณะใดที่จิตใจรู้สึกแช่มชื่นแม้เพียงเล็กน้อย ขณะนั้นก็ต่างกับขณะที่เป็นอทุกขมสุข หรืออุเบกขา เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็เป็นโสมนัสเวทนาประกอบด้วยปิติ เป็นไปได้ไหมเช่นเวลาที่เรามีความเมตตา ไม่ตกไปในทางฝ่ายโลภะ หรือโทสะในบุคคลที่เรากำลังพบ และขณะนั้นจิตของเราก็แช่มชื่นด้วย ขณะนั้นไม่ถึงกับต้องโสมนัสมากมาย แต่ขณะนั้นก็ไม่ใช่อุเบกขา
เพราะฉะนั้น ที่เราเรียนเรื่องสภาพธรรม ก็คือให้รู้ ให้เข้าใจถูกว่า แม้ว่าเราจะเข้าใจว่าเป็นตัวตน แต่ความจริงก็คือสภาพธรรม ยิ่งเข้าใจเรื่องสภาพธรรมมากเท่าไหร่ เราก็จะเข้าใจความต่างของ ๖ ทวาร ว่า ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรม ส่วนทางใจแม้ในขณะนี้ก็คิดไปทุกเรื่อง เรื่องคำว่าเมตตา เรื่องคำว่าตัวตน เรื่องอะไรทั้งหมด สภาพธรรมที่ตรงข้ามกับโลภะคือปัญญา
ผู้ฟัง เมตตาที่ว่ามีสัตว์ บุคคลเป็นอารมณ์ ตัวที่เป็นอารมณ์เป็นสมมติ ไม่ใช่ปรมัตถ์ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เราก็ต้องกลับมาศึกษาปรมัตถธรรม คือ จิต มีหลายประเภททั้งกุศล อกุศล วิบาก กิริยา เจตสิกก็มีทั้งที่เป็นกุศล อกุศล วิบาก กิริยา และก็ยังจำแนกเจตสิกเป็นประเภทคือ เจตสิกที่เกิดกับจิตได้ทั้งกุศล อกุศล วิบาก กิริยา และเจตสิกที่เกิดได้กับอกุศลจิตเท่านั้น และเจตสิกที่เกิดกับโสภณจิตเท่านั้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องตรง แต่เรื่องตรงโดยการศึกษานี่จะยาก เพราะสภาพธรรมไม่ได้ปรากฏกับสติสัมปชัญญะในขณะนั้น และสภาพธรรมก็เกิดดับเร็วมาก หนทางเดียวคือรู้โดยการศึกษา แล้วก็จากความเข้าใจก็จะทำให้สติสัมปชัญญะเกิด แล้วรู้ตรงลักษณะเมื่อไหร่ เมื่อนั้นลักษณะนั้นไม่เปลี่ยน ไม่ผิดจากที่ทรงตรัสรู้ และทรงแสดง
ปัญหาทั้งหมดก็จะค่อยๆ น้อยลงไปเมื่อรู้ด้วยตัวเอง
ขณะที่ฟังต้องทราบว่าเราฟังเป็นเรื่องราว หรือว่าเรากำลังฟังธรรมเป็นปรมัตถธรรมคือเป็นขณะจิต เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป ไม่เช่นนั้นเราจะปนกันหมด เช่นถ้าใช้คำว่า “เข้าฌาณ” เราพูดถึงเรื่องราว อาจจะบอกว่าคนนี้กำลังเข้าฌาณ แต่ลักษณะจริงๆ ก็คือฌาณจิตเกิด กำลังเกิด เพราะว่าจิตเกิดดับสลับกันเร็วมาก ขณะใดที่ไม่ใช่ฌาณจิต ขณะนั้นก็เป็นกามาวจรจิต เพราะเหตุว่าไม่ใช่รูปฌาณ อรูปฌาณ และไม่ใช่โลกุตตระ
เพราะฉะนั้นเราจึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาเรื่องขณะจิตจริงๆ มิฉะนั้นถ้าเป็นเรื่องราว เราจะรู้ไหมว่าทันทีที่เห็นไม่ใช่ฌาณจิต ถ้าจะกล่าวว่าเห็นผู้หญิง หรือได้ยินเสียงเพลง ขณะนั้นไม่ใช่ฌาณจิต จะกล่าวว่าคนนั้นเข้าฌาณแล้วเห็นไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องศึกษาเรื่องจิตให้เข้าใจจริงๆ ว่ากำลังพูดเรื่องจิต เป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต ที่สำคัญก็คือว่าจิตไม่เปลี่ยน ถ้าจิตเป็นชาติใดก็เป็นชาตินั้นเปลี่ยนไม่ได้ จิตเป็นอกุศลเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน ในสวรรค์กับเทวดา นางฟ้า กับรูปพรหม หรืออรูปพรหม อกุศลเป็นอกุศล ฌาณจิตจะเกิดกับมนุษย์ ไม่ใช่กับพรหมบุคคลในพรหมโลก ฌาณจิตก็เป็นฌาณจิต
เพราะฉะนั้นจะเปลี่ยนแปลงชาติ จะเปลี่ยนแปลงภูมิของจิตไม่ได้เลย
เวลาที่ฟังต้องละเอียดที่จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นอะไร คำว่า ชา-ติ แปลว่าชาติ คือการเกิดขึ้น จิตต้องเกิดเราถึงรู้ว่าจิตนั้นเป็นอะไร ถ้าไม่เกิดจิตก็ไม่มี ไม่ปรากฏ ไม่รู้ว่าเป็นอะไร แต่เมื่อจิตเกิดแล้ว การเกิดปรากฏของจิตนั่นเอง เป็นกุศล เราถึงใช้คำว่าชาติอกุศล หรือจะใช้คำว่าอกุศลชาติ แต่ถ้าภาษาไทยธรรมดาก็คือจิตเกิดขึ้นเป็นกุศล จิตเกิดขึ้นเป็นอกุศล จิตเกิดขึ้นจิตนั้นเป็นวิบาก จิตนั้นเป็นกิริยา และจิตนั้นเป็นภูมิอะไร เป็นกามาวจรภูมิ หรือเป็นรูปาวจรภูมิ หรือเป็นอรูปาวจรภูมิ หรือเป็นโลกุตตรภูมิ ไม่ว่าที่ไหน เช่นโลกุตตรภูมิ คนที่เกิดเป็นมนุษย์ก็มี เมื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรม
เพราะฉะนั้นในภูมิมนุษย์นี่ก็จะมีขณะที่เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เป็นวิบากบ้าง และสำหรับกุศลก็มีหลายระดับ กุศลที่เป็นไปในทาน ในศีล ในการอบรมเจริญความสงบโดยที่ยังไม่ถึงฌาณจิต จึงไม่ใช่รูปาวจรจิต ยังคงเป็นกุศลที่เป็นกามาวจรจิต หรือขณะที่กำลังฟังธรรม แล้วก็มีสติสัมปชัญญะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่โลกุตตรจิตยังไม่เกิดตราบใด จิตนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นวิปัสสนาญาณระดับไหนก็คือกามาวจรจิต เพราะขณะนั้นไม่ใช่รูปาวจรจิต ไม่ใช่อรูปาวจรจิต ไม่ใช่โลกุตตรจิต เพราะฉะนั้นจิตเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แล้วเวลาศึกษาธรรมให้ทราบว่าศึกษาตามเรื่องราว แต่ว่าถ้าตามขณะจิตต้องรู้ว่าขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล และกุศลนั้นเป็นภูมิอะไรด้วย เป็นโลกุตตรภูมิ หรือว่าเป็นรูปาวจรภูมิ หรือเป็นอรูปาวจรภูมิ หรือเป็นกามาวจรภูมิ ก็จะทำให้เราไม่สับสน และเพิ่มความเข้าใจขึ้น เช่นถ้าถามว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามีจิตกี่ชาติ มีจิตเพียง๒ ชาติ ไม่มีกุศล ไม่มีอกุศล แต่มีวิบาก และมีกิริยา เพราะถ้ามีกุศลอยู่ก็ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหมดมีจิตกี่ชาติ ๒ ชาติ มีจิตกี่ภูมิ พระอรหันต์ที่มีรูปาวจรจิตมีไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ พระอรหันต์ที่มีอรูปาวจรจิตมีไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ และอรหัตตมรรคจิต และอรหัตตผลจิตเป็นโลกุตตรภูมิ เพราะ ฉะนั้นพระอรหันต์มีจิตได้กี่ภูมิ กามาวจรจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต โลกุตตรจิต ถ้าพูดถึงภูมิต้อง ๔ เพราะฉะนั้นพระอรหันต์มีจิตกี่ภูมิ ๔ ภูมิ ถ้าสามารถ เพราะพระอรหันต์บางท่านก็มีจิตเพียงแค่กามาวจรจิต โลกุตตรจิตนี่ท่านมีแน่ แต่รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต นี่ไม่มีก็ได้ เพราะฉะนั้นจึงต่างกัน
ผู้ฟัง เรื่องอเหตุกจิต วิบากจิต และกิริยาจิตที่อยู่ในอเหตุก ซึ่งวิบากจิตเราไม่รู้ และก็กิริยาจิต ๒ ดวงโดยเฉพาะอย่างยิ่งกามจิตทั้ง ๕๔ เน้นตรงนี้
ท่านอาจารย์ คือว่าจากการจำแนกจิต ซึ่งมากมายหลากหลายเป็นหมวดหมู่เป็นประเภท โดยการที่จะต้องรู้ว่าจิตทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นจำนวนเท่าไหร่อยู่ที่ไหน เกิดเมื่อไหร่ก็ตามแต่ ก็จะต้องเป็นชาติหนึ่งชาติใดในสี่ชาติ นอกจากนั้นก็ยังแบ่งตามระดับของจิตว่ามีภูมิที่ต่างกัน ภูมิต่ำสุดคือกามาวจรจิต จะมีใครที่จะผ่านภูมินี้ไปได้ไหม ไปถึงรูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต โลกุตตรจิต โดยที่ไม่เป็นกามาวจรจิตได้ไหม ไม่ได้เลย จะผ่านเมื่อไหร่ดี หวังได้ไหม
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 1
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 2
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 3
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 4
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 5
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 6
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 7
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 8
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 9
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 10
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 11
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 12
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 13
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 14
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 15
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 16
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 17
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 18
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 19
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 20
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 21
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 22
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 23
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 24
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 25
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 26
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 27
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 28
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 29
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 30
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 31
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 32
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 33
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 34
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 35
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 36
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 37
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 38
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 39
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 40
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 41
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 42
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 43
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 44
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 45
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 46
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 47
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 48
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 49
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 50
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 51
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 52
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 53
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 54
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 55
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 56
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 57
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 58
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 59
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 60