พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 57


    ตอนที่ ๕๗

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ เจตสิกใดที่เกิดร่วมด้วยกับเหตุ จิตนั้นจะไม่เกิดร่วมกับเหตุได้ หรือไม่ ไม่ได้ เพราะว่าจิตกับเจตสิกเกิดพร้อมกัน เพราะฉะนั้น ถ้าจิตนั้นมีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็หมายความว่าเจตสิกที่เกิดกับจิตนั้นต้องมีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น นี่คือคร่าวๆ ต่อไปก็จะแบ่งละเอียดอีก แต่ให้ทราบความหมายของอเหตุกจิต หรืออเหตุกเจตสิก


    รูปเป็นอเหตุกะ หรือไม่ เมื่อรูปเป็นนเหตุไม่ใช่เหตุ เพราะฉะนั้น ถามว่า รูปเป็นอเหตุกะ หรือไม่

    อ.วิชัย รูปเป็นอเหตุกะ เพราะเหตุว่าไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นความหมายของการเกิดร่วมคือความเป็นสัมปยุตตธรรม คือต้องเกิดกันพร้อมดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน เกิดที่วัตถุเดียวกัน แม้รูปที่เกิดจากเหตุก็มี แต่ว่ารูปก็เป็นอเหตุกะ รูปที่เกิดจากเหตุนั้นเป็นอเหตุกะ หรือ สเหตุกะ เป็น อเหตุกะ

    ผู้ฟัง อเหตุกะกับสเหตุกะใช้เฉพาะเรียกจิตกับเจตสิก ไม่ได้เรียกรูปใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจความหมาย ไม่ใช่เรียกตามใจชอบว่า สองอย่างเรียก อีกอย่างไม่เรียก แต่ต้องเข้าใจว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้นจะเกิดร่วมกับโลภเจตสิก โทสเจตสิกไม่ได้ เพราะรูปไม่รู้อะไร เมื่อเหตุเป็นเจตสิกก็ต้องเกิดกับจิต และเมื่อจิตนั้นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เจตสิกอื่นๆ ทั้งหมดที่เกิดร่วมกับจิตก็ต้องมีเจตสิกนั้นเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่มีเหตุเกิดร่วมด้วยก็ต้องเป็นจิตกับเจตสิกเท่านั้น

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นรูปก็เป็นสเหตุกะ กับอเหตุกะไม่ได้ ต้องเป็นนเหตุ

    ท่านอาจารย์ เพราะรูปไม่ใช่สภาพรู้ คือต้องเข้าใจเหตุผล นี่คือพื้นฐานของพระอภิธรรม เราต้องการให้มีความเข้าใจที่มั่นคงจริงๆ ในเรื่องของสภาพธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรม แต่ละคำก็ต้องเข้าใจด้วยถึงสภาวธรรม เชิญคุณวิชัยอธิบายเรื่องอเหตุกะที่สงสัยว่ารูปเป็นอเหตุกะ

    อ.วิชัย เพราะเหตุว่ารูปจะเกิดร่วมกับเหตุไม่ได้ เพราะว่ารูปไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ได้เป็นนามธรรม และจะเกิดร่วมกับเหตุไม่ได้

    ท่านอาจารย์ จิตกับเจตสิกเป็นสภาพรู้ รูปไม่สามารถจะรู้อะไรได้ เพราะฉะนั้นจิตกับเจตสิกมีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็ได้ มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็ได้ มีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็ได้ หรือมีอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็ได้ แต่รูปไม่ใช่เหตุ และรูปก็ไม่มีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วยเลย ก็จะไม่มีคำที่ใช้ว่าอเหตุกรูป เหมือนอย่างสเหตุกจิตกับอเหตุกจิต เพราะเหตุว่าได้แสดงไว้แล้วตั้งแต่ต้นว่ารูปไม่ใช่เหตุ และรูปก็ไม่ใช่สภาพธรรมที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    อ.กุลวิไล ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยขยายความเรื่องของการจำแนกจิตโดยเหตุ ที่เราจะพิจารณาในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ โดยขั้นการฟังก็สามารถที่จะคิดว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังที่เข้าใจแล้วนั้น เมื่อคิดโดยละเอียดต่อไป เราก็เข้าใจถูกต้องยิ่งขึ้น หรือไม่ เป็นลำดับ ไม่ใช่ว่าเราจะไปสามารถพิจารณาเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เรากล่าวถึงได้โดยทันที และรู้โดยทันทีว่าเป็นอย่างนั้นๆ ซึ่งไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นก็ขอถามง่ายๆ เลยว่า กุศลจิตมีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วย หรือไม่ ต้องมี กล่าวแล้วว่ากุศลต้องเป็นอโลภเจตสิก อโทสเจตสิกที่เป็นโสภณเจตสิก ถ้าเป็นอกุศลจิตก็ต้องประกอบด้วยเจตสิกฝ่ายไม่ดีที่เป็นเหตุ และถ้าเป็นกุศลจิตก็ต้องประกอบด้วยเหตุเจตสิกที่เป็นฝ่ายดี

    อกุศลจิตมีเหตุอะไรเกิดร่วมด้วย โมหเจตสิก เมื่อเข้าใจแล้วก็จะคิดเองได้ อกุศลจิตมีอกุศลเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วย หรือไม่ ต้องมี อกุศลเจตสิกที่เป็นเหตุ คืออะไร ก็ต้องเป็นอวิชชา หรือโมหเจตสิกแน่นอนซึ่งต้องเกิดกับอกุศลจิตทุกประเภท โลภมูลจิต มีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วย หรือไม่ ต้องมี เหตุอะไรที่เกิดร่วมด้วยกับโลภมูลิจิต มี ๒ เหตุ คือโมหเจตสิกขาดไม่ได้เลย และก็ยังเพิ่มโลภเจตสิกอีกหนึ่ง เพราะฉะนั้นโลภมูลจิตก็จะมี ๒ เหตุคือ โมหเหตุ ๑ โลภเหตุ ๑ ชื่อว่าทวิเหตุ หรือทวิเหตุกะก็ได้ สำหรับเจตสิกที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ๒ เหตุ เช่น โลภมูลจิตเป็นจิตที่มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย และก็มีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย สภาพของโมหะคือสภาพที่ไม่สามารถเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ทำให้มีความติดข้องเพราะโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น สภาพธรรมนี้เกิดกับสัตว์เดรัจฉานได้ หรือไม่ ได้ เกิดกับคนได้ หรือไม่ ได้ เกิดกับคนยากจนได้ หรือไม่ เกิดกับเศรษฐีได้ หรือไม่ เกิดกับพระราชาได้ หรือไม่ นี้คือความจริงที่เราพูดถึงสภาพของจิต ขณะใดเกิดขึ้นก็เป็นปรมัตถธรรม ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ เพราะฉะนั้นขอถามว่าคนยากจนจะมีกุศลจิต หรือไม่ หรือคนที่มั่งมีเศรษฐีจะมีโลภมูลจิต หรือไม่

    ผู้ฟัง อยากจะทำบุญให้มากกว่านี้ สิ่งนี้นับเป็นโลภะ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่มีการนับ ขณะใดที่มีโลภะคือสภาพที่ติดข้องเกิดร่วมกับจิต ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิตไม่ว่าเป็นใคร ที่ไหน เมื่อไร นั่งอยู่ขณะนี้มีโลภมูลจิต หรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ติดข้องในอะไร

    ผู้ฟัง คืออยากจะรู้

    ท่านอาจารย์ นี้คือการที่สามารถจะเข้าใจลักษณะสภาพของอกุศลจิตประเภทหนึ่งที่มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นแทนที่เราจะเอาชื่อมาก่อนแล้วก็เรียนตามชื่อ สิ่งใดที่มีอยู่ และเราสามารถที่จะเข้าใจได้โดยพื้นฐานตามลำดับ ต่อไปจะรู้ว่าอกุศลจิตมีกี่ประเภท จากที่ได้ทราบเรื่องอกุศลเจตสิกที่เป็นเหตุแล้วว่ามี ๓ ประการ จิตใดที่มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตนั้นจะมีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยได้ หรือไม่ ไม่ได้ นี่ก็เป็นเหตุที่อกุศลจิตต่างกันไปอีกแล้วใช่ไหม และก็จะได้รู้ว่าอกุศลจิตทั้งหมดมีเท่าไร แต่ขณะนี้เรากำลังพูดถึงเรื่องเหตุ เพราะฉะนั้นต่อไปก็จะทราบว่าจิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วยมีมากกว่าจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ถ้าศึกษาก็รู้ได้ว่า เมื่อไร ที่ไหน ขณะไหน แต่ถ้ายังไม่ได้ศึกษาก็อาจจะไปพลิกหนังสือก็ไม่ถูกต้อง เพราะที่จริงจะต้องเข้าใจว่าขณะไหนเป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ

    ผู้ฟัง อาจารย์จะกรุณายกตัวอย่างได้ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ โดยเหตุ ๖ ก็จะมีจิต ๒ ประเภท คือ อเหตุกจิต กับ สเหตุกจิต อเหตุกจิตมี ๑๘ ประเภท จิตทั้งหมดมี ๘๙ ประเภท เพราะฉะนั้นจิตที่ไม่ใช่อเหตุกะมีเท่าไร ๗๑ ประเภท เป็นสเหตุกะ ๗๑ เป็นอเหตุกะ ๑๘ เพราะฉะนั้นถ้าจำส่วนน้อยไว้ก็จะไม่ยาก จิตทั้งหมดที่ไม่ประกอบด้วยเหตุเจตสิกมีเพียง ๑๘ ประเภท ที่เหลือทั้งหมดต้องประกอบด้วยเหตุเป็นสเหตุกจิต เพราะฉะนั้นถ้ารู้ว่าอเหตุกจิตมีอะไรบ้าง ก็จะรู้ว่าจิตอื่นนอกจากนี้ต้องเป็นสเหตุกะ การศึกษาธรรมก็เพื่อที่จะเข้าใจ แต่ไม่ใช่ท่อง พอเข้าใจแล้วก็สามารถที่จะจำได้

    ตามได้กล่าวถึงเรื่องของชาติกับเรื่องของภูมิ จิตทุกประเภทต้องเป็นภูมิหนึ่งภูมิใดใน ๔ ภูมิ และก็ต้องเป็นชาติหนึ่งชาติใดใน ๔ ชาติ ๔ ชาติคือเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล หรือเป็นวิบาก หรือเป็นกิริยา จิตที่เป็นกุศลจะเป็นอกุศลด้วยไม่ได้ แต่ต้องเป็นชาติหนึ่งชาติใด และภูมิก็เช่นเดียวกัน ต้องเป็นภูมิหนึ่งภูมิใดใน ๔ ภูมิ ตามระดับขั้น ขั้นต้นก็คือกามาวจรจิต สูงขึ้นไปอีกต้องเป็นกุศลที่เป็นไปในความสงบของจิตจึงจะประณีตขึ้นได้ เป็นรูปาวจรจิตได้แก่กุศลที่อบรมความสงบจนถึงระดับขั้นฌาณ และถึงขั้นอรูปภูมิ และขั้นโลกุตตรภูมิ เพราะฉะนั้นในระดับต้นๆ ก็จะเป็นเรื่องของกามาวจรจิต สำหรับจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุโดยภูมิเป็นกามาวจรจิต จิตนี้ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน ถ้ารู้ว่าได้แก่จิตอะไรบ้าง เปลี่ยนชาติไม่ได้ และก็เปลี่ยนภูมิไม่ได้ด้วย สำหรับอเหตุกจิตมี ๒ ชาติ เกิดได้ในภูมิเดียว คือ ต้องเป็นกามาวจรภูมิเท่านั้น เป็นไปในรูปเสียงกลิ่น รส โผฏฐัพพะ และก็เป็น ๒ ชาติ ก็คือเป็นวิบาก และกิริยา ไม่เป็นกุศล และไม่เป็นอกุศล เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าถ้าเป็นอกุศล มีอกุศลเจตสิกที่เป็นเหตุคืออกุศลเหตุเกิดร่วมด้วย ถ้าเป็นกุศลก็ต้องมีโสภณเหตุที่เป็นเหตุฝ่ายดีเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นสำหรับอเหตุกจิต จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุจึงเป็นอกุศลไม่ได้ และเป็นกุศลไม่ได้ ก็จะมีจิตเพียง ๒ ชาติเท่านั้นคือวิบากจิตกับกิริยาจิต

    ก็แสดงให้เห็นว่ากรรมที่ได้กระทำแล้ว เช่น การฟังธรรมในขณะนี้เป็นกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นเหตุที่จะให้เกิดผลคือวิบากจิต แต่วิบากซึ่งเป็นผลของกรรมจะมี ๒ ประเภทคือ เป็นวิบากที่ไม่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วยเป็นอเหตุกวิบากประเภทหนึ่ง และเป็นวิบากที่มีเหตุเจตสิกฝ่ายดีเพราะว่าเป็นผลของกุศลเกิดร่วมด้วยจึงเป็นสเหตุกวิบาก เพราะฉะนั้นให้ทราบว่าไม่ว่าจะเป็นกรรมใดๆ ที่ได้กระทำแล้ว ใครยับยั้งไม่ให้ผลเกิดได้ไหมในเมื่อมีเหตุ เพียงแต่ไม่สามารถจะรู้ได้ว่าวันไหน ขณะไหน กรรมใดจะสุกงอมพร้อมที่จะให้วิบากจิตเกิด ไม่มีใครรู้ล่วงหน้า ต่อเมื่อใดผลของกรรมเกิด เมื่อนั้นก็รู้ว่าต้องมีกรรมซึ่งเป็นเหตุในอดีตที่ได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้นก่อนอื่นก็ให้ทราบว่ากรรมที่ได้กระทำแล้วทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรมจะทำให้เกิดผลที่เป็นวิบาก ๒ ประเภท คือวิบากประเภทหนึ่งไม่ประกอบด้วยเจตสิกที่เป็นเหตุ ๖ และวิบากอีกประเภทหนึ่งประกอบด้วยเจตสิกฝ่ายดี เพราะเหตุว่าอกุศลเหตุเกิดกับอกุศลจิตเท่านั้น จะไม่เกิดกับวิบากจิตเลย เวลาที่อกุศลกรรมที่ประกอบด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ดับไปแล้ว เช่นกรรมที่กระทำด้วยจิตที่ประกอบด้วยโลภะกับโมหะ กับกรรมที่กระทำด้วยจิตที่ประกอบด้วยโทสะกับโมหะ แม้ดับไปแล้วก็ให้ผลเป็นอกุศลวิบาก ๗ ประเภทเท่านั้น ลองคิดดู นี่คือการที่เราจะรู้ว่าเวลาที่กรรมให้ผลจะให้ผลต่างกัน ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ให้ผลไม่มากประเภท แต่เวลาที่เป็นผลของกุศลกรรมจะประณีตขึ้นไปตามลำดับขั้น เพราะฉะนั้นสำหรับอกุศลกรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอกุศลกรรมที่หนักเบาประการใดก็ตาม เมื่อถึงกาละที่จะทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นจะมีผลของกรรมคือวิบากจิตซึ่งไม่มีเหตุใดๆ เกิดร่วมด้วยเลย แม้อกุศลเหตุก็เกิดไม่ได้ เพราะเหตุว่าถ้าอกุศลเหตุ คือ โลภะ โทสะ โมหะเกิดร่วมด้วยเมื่อไรต้องเป็นเหตุ จะเป็นผลไม่ได้ เพราะฉะนั้นผลของอกุศลวิบากเป็นอเหตุกจิต จะให้เจตสิกที่เป็นเหตุฝ่ายดีมาเกิดร่วมด้วยก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าเป็นผลของอกุศลกรรม เพราะฉะนั้นอกุศลวิบากทั้งหมดก็จำตั้งแต่วันนี้ก็ได้ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องว่าไม่ว่าจะเป็นกรรมที่หนักเบาประการใดก็ตาม ทำให้เกิดอกุศลวิบาก ๗ ประเภท หรือ ๗ ดวงเท่านั้น ซึ่งเป็นอเหตุกะด้วย ค่อยๆ ทำความเข้าใจไปจากอกุศลกรรมจะได้รู้ว่าเป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบากมี ๗ เพราะฉะนั้นวิบากที่เหลืออื่นเป็นกุศลวิบากซึ่งประณีตขึ้น

    ผู้ฟัง เรียนถามว่า โมหมูลจิตเป็นสเหตุกะ แต่โมหเจตสิกในโมหมูลจิตเป็นอเหตุกะเพราะเหตุใด

    อ.วิชัย อเหตุกธรรม ไม่ใช่เฉพาะรูปอย่างเดียว แต่รวมถึงจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย และเจตสิกที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย รวมถึงนิพพานด้วยเป็นอเหตุกธรรม คือ ธรรมที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย โมหมูลจิตเป็นจิตที่เกิดขึ้นประกอบด้วยเพียงเหตุเดียวเท่านั้นก็คือโมหเหตุ

    เหตุเจตสิกมี ๖ คือ โลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ แต่เมื่อโมหมูลจิตเกิดขึ้น คือจิตที่มีโมหเหตุ มูลก็มีความหมายกับเหตุเหมือนกัน ดังนั้นเมื่อเกิดขึ้นจิตนั้นก็มีเหตุเกิดร่วมด้วยคือโมหมูลจิตเป็นสเหตุกจิตเพราะเหตุว่ามีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่โมหเจตสิกเมื่อเกิดขึ้นเป็นอเหตุกะ เพราะเหตุว่าไม่มีเหตุอื่นที่เกิดร่วมด้วยกับโมหเหตุนั้น ถ้าพูดถึงโลภมูลจิตเกิดขึ้น มีกี่เหตุ โลภมูลจิต มีสองเหตุ ดังนั้นโลภมูลจิตเป็นอเหตุกะ หรือสเหตุกะ เป็นสเหตุกะ มีเหตุเกิดร่วมด้วยกี่เหตุ มีสองเหตุก็คือ โลภะเหตุ และก็โมหะเหตุ ดังนั้นถ้าจะกล่าวต้องกล่าวโดยจำแนกว่าโมหะเหตุเป็นอเหตุกะก็ได้ เป็นสเหตุกะก็ได้ ที่เป็นอเหตุกะต้องหมายถึงที่เกิดกับโมหมูลจิต เพราะเหตุว่าไม่มีเหตุอื่นเกิดร่วมด้วย แต่ถ้ากล่าวถึงโมหะที่เกิดกับโลภมูลจิต หรือว่าโทสมูลจิต เมื่อเกิดขึ้นกับโลภมูลจิตมีโลภะเหตุคือโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย ดังนั้นโมหะที่เกิดกับโลภมูลจิตจึงเป็นสเหตุกะเพราะเหตุว่ามีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย หรือโมหะเกิดกับโทสมูลจิตมีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย โมหะที่เกิดกับโทสมูลจิตนั้นก็เป็นสเหตุกะเพราะเหตุว่ามีโทสะเหตุเกิดร่วมด้วย ฉะนั้นโมหะเหตุที่เกิดกับโมหมูลจิตจึงเป็นอเหตุกะเพราะเหตุว่า ไม่มีเหตุอื่นเกิดร่วมด้วย

    ท่านอาจารย์ ถามไม่ใช่เพื่อให้งง แต่ว่าเพื่อให้เราแน่ใจจริงๆ ว่าที่เราเข้าใจทั้งหมดมั่นคง แม้แต่ในเรื่องของเหตุซึ่งมีเจตสิก ๓ ดวงที่เป็นอกุศลเหตุก็จะต้องมั่นคงจริงๆ ว่านอกจากนี้แล้วที่เป็นอกุศลเหตุนั้นไม่มี แต่ว่าทางฝ่ายโสภนเหตุก็มี อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก ก็ต้องมั่นคง ใช้คำว่า “โสภณ” เพราะว่าเกิดกับกุศลจิตก็ได้ แต่จะต้องเป็นฝ่ายดี เพราะว่ามีเหตุที่ดีเกิดร่วมด้วย และเกิดกับวิบากก็ได้ เกิดกับกิริยาก็ได้ เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ว่าเราพอใจว่าเราได้รู้ชื่อ รู้จำนวน แต่ว่าเราต้องมีความเข้าใจที่มั่นคงจริงๆ ที่ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะเหตุว่าธรรมเป็นจริงอย่างไร พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงว่าเปลี่ยนไม่ได้ เป็นลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ เช่นผัสสเจตสิกเป็นเหตุ หรือนเหตุ เป็นนเหตุ เป็นอเหตุกะ หรือสเหตุกะ ไม่ว่าเจตสิกนั้นจะเกิดกับจิตประเภทใดทั้งสิ้น ถ้าเกิดร่วมกับเจตสิกที่เป็นเหตุก็เป็นสเหตุกะ ถ้าไม่เกิดร่วมกับเจตสิกที่เป็นเหตุก็เป็นอเหตุกะ เพราะฉะนั้นนอกจากจะกล่าวถึงจิตแล้วยังกล่าวถึงเจตสิกได้ด้วยว่าเจตสิกใด มีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วย เจตสิกนั้นจะเกิดกับจิตไหน เมื่อไร อย่างไรก็ตามแต่ ก็ต้องเป็นสเหตุกะเพราะเหตุว่ามีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วย แต่เจตสิกใดจะเกิดกับเจตสิกใดก็ตามแต่ ถ้าเจตสิกนั้นไม่เกิดร่วมกับเจตสิกที่เป็นเหตุ ก็เป็นอเหตุกะ

    โลกุตตรจิต เป็นเหตุ หรือ นเหตุ เป็น นเหตุ เพราะว่าไม่ใช่เจตสิก ๖ จิตที่เป็นอกุศลไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยได้ หรือไม่ ไม่ได้ ถ้าไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยแล้วจะเป็นอกุศลได้อย่างไร โลภะก็ไม่มี โทสะก็ไม่มี โมหะก็ไม่มี แล้วก็จะให้เป็นอกุศลเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเป็นทางฝ่ายกุศล ก็จะต้องมีโสภณเหตุเกิดร่วมด้วย ผัสสเจตสิก เป็นเหตุ หรือ นเหตุ เป็น นเหตุ คือไม่ใช่เหตุ เป็นสเหตุกะ หรืออเหตุกะ ถ้าเกิดร่วมกับเหตุเป็นสเหตุกะ ถ้าไม่เกิดร่วมกับเหตุเป็นอเหตุกะ

    โมหะเหตุที่เกิดร่วมกับโมหเจตสิกเป็นเหตุ หรือ นเหตุ เป็นเหตุ เป็นนเหตุได้ หรือไม่ ไม่ได้ เป็นอเหตุกะได้ หรือไม่ ได้ เมื่อเกิดกับโมหมูลจิตเพราะว่าไม่มีเหตุอื่นเกิดร่วมด้วยเลย แต่เป็นสเหตุกะเมื่อเกิดกับโลภมูลจิต และโทสมูลจิต เพราะมีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย และมีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย ผัสสเจตสิกที่เกิดกับโมหมูลจิตเป็นสเหตุกะ หรืออเหตุกะ เป็นสเหตุกะ โมหเจตสิกที่เกิดกับโมหมูลจิตเป็นเหตุ หรือนเหตุ เป็นเหตุ โมหเจตสิกที่เกิดกับโมหมูลจิตเป็นสเหตุกะ หรืออเหตุกะ ถ้าใครว่าเป็นอเหตุกะ กรุณายกมือ ถูกต้อง เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมที่มุ่งคือให้เข้าใจความเป็นอนัตตา ทั้งหมดนี้เราต้องทราบว่าสิ่งที่มีปรากฏรอบตัวทุกวันเป็นธรรมทั้งหมด และก็เป็นอนัตตาทั้งหมด เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะเรียนอะไรเพื่อความเข้าใจในความเป็นอนัตตา ถ้าสามารถที่จะเข้าใจยิ่งขึ้นในความละเอียดของสภาพธรรม ก็ยิ่งเห็นความเป็นอนัตตา กว่าจะสามารถสละความเป็นอัตตา หรือว่าความที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้นต้องทราบจุดประสงค์ด้วย ศึกษาเพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรมที่เป็นอนัตตา จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง นี่คือจุดประสงค์ วันหนึ่งถ้ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้นต้องประจักษ์แจ้งได้ แต่ต้องมีเหตุที่สมควรคือไม่ใช่เพียงขั้นฟัง แต่ต้องถึงขั้นเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจนกระทั่งประจักษ์ความจริง

    อ.กุลวิไล ส่วนใหญ่ก็เคยสังเกตุตนเองเหมือนกัน เพราะว่าถ้าเราเรียนโดยความจำ เราจะไม่ค่อยคิด แต่ถ้าเรามีการคิดพิจารณา เราจะมีความเข้าใจด้วย เพราะฉะนั้นเราจะมีทั้งความเข้าใจ และความจำในเวลาเดียวกัน

    ผู้ฟัง เจตนาเจตสิกที่เกิดร่วมกับโมหมูลจิตเป็นเหตุ หรือ นเหตุ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 135
    19 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ