พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 59


    ตอนที่ ๕๙

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ ถ้าศึกษาแล้วก็มีความตรงที่จะรู้ว่าที่วิบากไม่ใช่เรา ก็เพราะเหตุว่าวิบากเป็นผลของกรรม กรรมคือการกระทำซึ่งมีทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรม ที่กล่าวอย่างนี้เพื่อที่จะไปถึงอเหตุกจิต แต่ให้เข้าใจก่อนจากชีวิตประจำวันว่าเรามีกรรม และก็รู้ว่ากรรมไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรม หรืออกุศลกรรมต้องให้ผล เพราะเหตุว่ากรรมเป็นเหตุที่จะให้เกิดผล แต่เราเลื่อนลอย ไม่รู้ว่าให้ผลเมื่อไร พอศึกษาขณะที่เกิดเป็นผลของกรรมซึ่งขณะนั้นโลกนี้ไม่ปรากฏ ถ้าศึกษาต่อไปอีกเป็นชาติวิบาก ถ้าศึกษาต่อไปอีกจะทราบว่าขณะนั้นเป็นสเหตุกะ หรืออเหตุกะ คือค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้น จากสิ่งที่เข้าใจทีละเล็กทีละน้อย

    ขณะนี้เรากำลังจะกล่าวเรื่องผลของกรรม เวลาที่ปฏิสนธิจิตดับ จิตที่เกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติเป็นภวังค์ก็เป็นชาติวิบาก ซึ่งเป็นผลของกรรม นี้ก็แสดงว่าเรารู้จักวิบากจิตบางอย่างแล้ว แต่ว่าไม่หมด เช่น ขณะ ปฏิสนธิจิตรู้ว่าเป็นวิบาก ตอนที่เป็นภวังค์ก็เป็นวิบาก แต่ก็ไม่ใครที่จะเป็นภวังค์อยู่ได้ตลอดกาลใช่ไหม ผลของกรรมคือให้ปฏิสนธิแล้วก็ดับไปภวังคจิตเกิดสืบต่อ ถ้าไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ผลของกรรมจะอยู่ตรงไหน ไม่ว่ากรรมดีกรรมชั่วทั้งหมด เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าต้องมีความเข้าใจในเรื่องของจิตที่เป็นเหตุที่เป็นกุศล และอกุศล ซึ่งจะทำให้จิตที่เป็นวิบากเป็นผลเกิดขึ้น และผลไม่ต้องขอ อย่างไรก็ต้องมี ได้ทุกอย่างตามที่อยากจะได้ จะมาก หรือน้อยตามควรแก่เหตุ ไม่ใช่ว่าเมื่ออยากได้อะไรก็ได้ตามที่อยาก ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่ใช่อนัตตา แต่ถ้าเป็นอนัตตาก็ต้องเป็นอนัตตาตั้งแต่ต้นจนตลอดซึ่งไม่มีอัตตาที่จะเข้ามาแทรกได้ เพราะฉะนั้นกรรมก็ให้ผลทันทีที่ไม่ใช่ภวังคจิต นี้กล่าวโดยคร่าวๆ เพราะว่าจากการที่ฟังมาแล้ว เราก็ทราบว่าวิถีจิตแรกยังไม่ใช่วิบากแต่เป็นกิริยาจิต เป็นจิตที่สามารถที่จะรู้ว่ามีอารมณ์กระทบทวารหนึ่งทวารใด เพราะฉะนั้นจิตขณะแรกต่อจากภวังคจิตซึ่งเพียงรู้ว่าอารมณ์กระทบ ขณะนั้นจะมีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย หรือไม่ ขณะนั้นจะมีโลภะเกิดร่วมด้วย หรือไม่ ยังไม่รู้ ยังไม่เห็นอารมณ์นั้น เพียงแต่จากภวังค์ จากการที่ไม่มีอารมณ์ใดปรากฏทั้งสิ้นมาสู่การที่เริ่มรู้สึกว่ามีอารมณ์กระทบ ถ้าเป็นทางปัญจทวาร จิตนี้ก็จะรู้ว่าอารมณ์กระทบทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ๕ ทาง ขณะนั้นจะมีเหตุเจตสิกคือโลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก หรืออโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้ เพราะฉะนั้นขณะนั้นจิตอะไรถ้าจำแนกโดยเหตุ ต้องเป็น "อเหตุกจิต"

    การที่เราจะเข้าใจไม่ใช่เข้าใจเพียงชื่อว่าอเหตุกะ มีจำนวนเท่าไร แบ่งเป็นอะไร แต่ถ้าเข้าใจจริงๆ ต้องมีเหตุผลด้วย เช่น ขณะแรกที่เป็นวิถีจิตแรก ต้องเป็นอเหตุกจิต และเมื่อเป็นทางใจ ไม่มีอารมณ์กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่จะมีการเริ่มนึกถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ได้ที่เป็นอารมณ์ทางใจ ทุกคนคิดใช่ไหม แต่ไม่รู้ว่าก่อนนั้นเป็นภวังค์ที่ยังไม่ได้คิด และตอนที่ก่อนจะเป็นเรื่องหนึ่งเรื่องใด ก็จะต้องมีจิตที่รู้อารมณ์ทางใจที่กระทบ และทำให้มโนทวาราวัชชนจิตที่เป็นวิถีจิตแรกที่มีขณะนั้นเป็นอารมณ์ แล้วแต่ว่าขณะไหนก็ได้ เช่น ขณะนี้มีการคิดนึก หรือไม่ แต่ว่าจะคิดนึกด้วยกุศลจิต หรืออกุศลจิตถ้าไม่ใช่พระอรหันต์ เพราะฉะนั้นถ้ามโนทวาราวัชชนจิตคิดเรื่องอะไร คำอะไรก็แล้วแต่ที่ทุกคนกำลังคิดอยู่ เมื่อมโนทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นอเหตุกจิตเพราะเหตุว่ายังไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ หรืออโลภะ อโทสะ อโมหะ เกิดร่วมด้วยเลย เมื่อมโนทวาราวัชชนจิตดับแล้วทางใจ กุศลจิต หรืออกุศลจิตก็มีอารมณ์นั้น เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ก็จะเห็นได้ว่าเราคิดมากใช่ไหม บางขณะคิดดีเป็นกุศล คิดจะให้คนนั้น สงเคราะห์คนนี้ ช่วยเหลือคนอื่น บางขณะก็คิดขุ่นเคืองใจไม่ชอบบุคคลนั้นบุคคลนี้ ขณะนั้นเป็นธรรมทั้งหมด และก็ทรงแสดงไว้ด้วยว่าถ้าเป็นการคิดนึก วิถีจิตแรกคือมโนทวาราวัชชนจิตเป็นอเหตุกจิต ต่อจากนั้นไม่ใช่ เป็นกุศลมีเหตุเกิดร่วมด้วยไหม โดยนัยของเหตุชื่ออะไร จิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย "สเหตุกจิต" จะเห็นได้เลยว่าธรรมดาแล้วจะเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิตซึ่งเกิดต่อสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่ถ้าขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นจะปราศจากเจตสิกที่เป็นอกุศลได้ หรือไม่?ไม่ได้ ถ้าปราศจากเจตสิกซึ่งเป็นอกุศล จิตนั้นไม่เป็นอกุศล ที่จะเป็นอกุศลได้ก็ต้องมีโมหเจตสิก ๑ ที่เป็นเหตุ ถ้ามีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียงเหตุเดียว จิตนั้นเป็นสเหตุกะ หรืออเหตุกะ สเหตุกะ ถึงแม้เหตุเดียวก็ต้องเป็นสเหตุกะ เพราะเหตุว่ามีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย และต่อไปเราก็เรียกตามจำนวนได้เป็นเอกเหตุกะ เพราะเหตุว่ามีเหตุเกิดร่วมด้วยเพียงเหตุเดียว

    เพราะฉะนั้น สำหรับเจตสิกซึ่งเป็นเหตุ คือ โมหเจตสิก ถ้าจะเกิดเพียงเหตุเดียว ไม่มีเหตุอื่นเกิดร่วมด้วย จิตขณะนั้นจึงเป็นโมหมูลจิต เพราะเหตุว่าไม่มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างเดียวจึงเป็นโมหมูลจิต เราก็เรียนมาแล้ว พอที่จะทราบว่าอกุศลจิตมีโลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต แต่ถ้าเราเข้าใจโดยนัยของเหตุ เราก็สามารถที่จะรู้ละเอียดขึ้นถึงความวิจิตรของจิตซึ่งไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลง หรือจะบังคับบัญชาก็ไม่ได้ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งหมด ถ้ากล่าวอย่างนี้เราก็ค่อยๆ ผสมผสานสิ่งที่ได้เข้าใจมาแล้วเพิ่มขึ้น

    ขอทบทวนเรื่องรูปว่า โดยเหตุ รูป เป็นเหตุ หรือ นเหตุ รูปเป็น นเหตุ ไม่ใช่เหตุ ๖ ต้องเป็น นเหตุ แล้วเป็นสเหตุกะ หรืออเหตุกะ แม้ทบทวนนิดหนึ่งก็ทำให้มั่นคงขึ้นอีกทีละเล็กทีละน้อย รูปไม่รู้อะไรเลย ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก เจตสิกทั้งหมดเกิดร่วมกับจิต และก็เจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกันทั้งหมดเท่านั้นที่จะเป็นสเหตุกะ หรืออเหตุกะที่มีโลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก หรืออโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก ถามว่า ผัสสเจตสิกเกิดกับรูปได้ไหม ไม่ได้ สัญญาเจตสิกเกิดกับรูปได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ชัดเจนว่ารูปทั้งหมดเป็นนเหตุ คือ ไม่ใช่เหตุ เพราะฉะนั้นเป็นสเหตุกะได้ไหม ไม่ได้แน่นอน ใครจะมาบอกว่าได้ ก็ต้องบอกว่าเป็นไปไม่ได้ รูปต้องเป็นอเหตุกะคือไม่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    กำลังฟังอย่างนี้เป็นอเหตุกะ หรือสเหตุกะ ถ้าพูดถึงปรมัตถธรรมไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลเลย กำลังฟังมีจิตกี่ประเภทเกิดร่วมด้วย ภวังคจิตไม่ได้ยินเสียงอะไรเลยทั้งสิ้น ก่อนที่จะได้ยินเสียง วิถีจิตแรกต้องเกิดคือ ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นจิตที่รู้ว่าอารมณ์ใดกระทบทวารใดทำอาวัชชนกิจ หมายความถึงรำพึงถึง จะใช้ภาษาอะไรก็ได้ นึกถึง หรืออะไรก็ตามแต่ คือรู้ว่าขณะนั้นกระทบอารมณ์ทางทวารหนึ่งทวารใดแล้วแต่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทวารคืออะไร สำหรับทางนี้เป็นปรมัตถ์อะไร เป็นรูปปรมัตถ์ จักขุปสาทเป็นทวาร เป็นทางที่จะให้รูปที่เป็นสีสันวัณณะต่างๆ เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นวัณณะธาตุกระทบ สัททรูป สัททธาตุคือเสียงกระทบจักขุปสาทไม่ได้ ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าเมื่อศึกษาธรรมก็ต้องเข้าใจว่า สิ่งที่เป็นตา หู จมูก ลิ้น กายที่เราพูดบ่อยๆ ต้องหมายความถึงรูปพิเศษที่เป็นปสาทรูปที่เกิดจากกรรมเป็นปัจจัย เป็นอเหตุกะ หรือสเหตุกะ อเหตุกะ มั่นใจเลย เป็นเหตุ หรือนเหตุ จักขุปสาทรูป เป็นนเหตุ คือไม่ใช่เหตุ

    เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังฟังไม่ใช่ภวังคจิต จิตแรกเป็นวิถีแรกคือปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งหมายความถึงทางหนึ่งทางใด จะเป็นจักขุ ก็เป็นจักขุทวาราวัชชนะ ถ้าเป็นเสียง ก็เป็นโสตทวาราวัชชนะเป็นกิริยาจิตโดยเหตุ เป็นอเหตุกะ เพราะว่าเพียงขณะที่เพิ่งรู้ว่าอารมณ์กระทบ ขณะนั้นยังไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ หรือ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นเรารู้จักจิตที่เป็นอเหตุกจิตที่เป็นกิริยาจิต เพราะขณะนั้นยังไม่เป็นกุศล หรืออกุศ และไม่ใช่วิบากด้วย ถ้าเป็นวิบากต้องตรง คือถ้าเป็นกุศลวิบากเกิดเพราะกุศลกรรมเป็นปัจจัยจะรู้เฉพาะรูปที่เป็นอิฏฐารมณ์เท่านั้น ไปรู้รูปที่เป็นอนิฏฐารมณ์ไม่ได้เลย และถ้าเป็นอกุศลวิบากหมายความว่าชื่อบ่งแล้วว่าเป็นผลของอกุศลกรรม จิตนั้นต้องรู้อารมณ์ที่เป็นอารมณ์ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ไม่น่าพอใจ อกุศลวิบากจะไปรู้อารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์ไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าสำหรับปัญจทวาราวัชชนจิตไม่ใช่วิบากจิต และก็ไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นกิริยาจิต

    เพราะฉะนั้น คนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็จะมีกิริยาจิตเพียง ๒ ดวง คือปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตแรกทางปัญจทวาร และมโนทวาราวัชชนจิตเป็นวิถีจิตแรกทางมโนทวาร จิตทั้ง ๒ ประเภทนี้ ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นจึงเป็นอเหตุกจิต ถ้าจะขยายความเพิ่มก็ใช้คำว่า "อเหตุกกิริยาจิต" เพราะว่าเป็นกิริยาจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย เพราะเหตุว่ากิริยาจิตของพระอรหันต์มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย และต้องเป็นโสภณเหตุด้วย อกุศลเหตุจะไปเกิดกับกิริยาจิตของพระอรหันต์ไม่ได้ พระอรหันต์ไม่มีอกุศลเจตสิกเพราะดับหมดแล้ว เพราะฉะนั้นก็มีโสภณเจตสิก ซึ่งสำหรับคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ อโลภะ อโทสะ ก็ยังเป็นเหตุให้เกิดในสังสารวัฏฏ์ เพราะฉะนั้นก็เป็นกุศลเหตุ แต่สำหรับพระอรหันต์ท่านก็มีโสภณเหตุแต่ไม่มีที่จะเกิดอีกเลยเมื่อจุติจิตคือปรินิพพานดับโดยรอบ เพราะฉะนั้นกิริยาจิตของพระอรหันต์จึงเป็นสเหตุกกิริยา ก็เป็นเหตุที่แม้จะใช้คำว่ากิริยาจิตก็ตาม ก็ยังเพิ่มเติมความเข้าใจได้ว่า กิริยาจิตนั้นมี ๒ ประเภท คือกิริยาจิตที่เป็นอเหตุกะ กับกิริยาจิตที่เป็นสเหตุกะ คุณแก้วมีกิริยาจิตกี่ดวง ๒ ดวง เป็นอะไร โดยเหตุ เป็นอเหตุกะ ทุกคนใช่ หรือไม่ ไม่ใช่เฉพาะแต่คุณแก้วเท่านั้นใครก็ตามที่ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่สำหรับพระอรหันต์ไม่มีทั้งกุศลจิต และอกุศลจิต

    มโนทวาราวัชชนจิตที่รู้อารมณ์ทางใจเป็นวิถีจิตแรก พระอรหันต์มี หรือไม่ ต้องมี และเมื่อดับไปแล้ว กุศลจิต และอกุศลจิตเกิดต่อได้ หรือไม่ ไม่ได้ จิตที่เกิดต่อเป็นกิริยาจิตซึ่งเป็นสเหตุกจิต แทนที่จะเป็นกุศล หรืออกุศลก็เป็นกิริยาจิตของพระอรหันต์

    กิริยาจิตที่เป็นอเหตุกจิต ๒ ดวง สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์จะมีเพียงเท่านี้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่เป็นพระอรหันต์มีกิริยาจิต ๒ ดวง หรือมากกว่านั้น มากกว่านั้น เพราะว่าไม่มีกุศลจิต และอกุศลจิต

    ถ้าใครถามเรื่องเหตุ นเหตุ อเหตุกะ สเหตุกะ ตอนนี้ก็คล่องแล้วใช่ไหม

    มีท่านใดจะสอบถามบ้าง

    ผู้ฟัง ธรรมที่เป็นเหตุเป็นธรรมที่มีเหตุเกิดร่วมด้วยได้ใช่ หรือไม่

    อ.กุลวิไล สภาพธรรมที่เป็นเหตุเดียว เป็นธรรมที่เป็นเหตุ จะเกิดร่วมกับธรรมที่มีเหตุเกิดร่วมด้วยไม่ได้ เพราะว่าเป็นธรรมที่มีเหตุเพียงประการเดียวเท่านั้นเอง แต่ถ้าเป็นธรรมที่เป็นจิตที่มีเหตุเพียง ๒ หรือฝ่ายโสภณที่มีเหตุ ๒ หรือเหตุ ๓ เกิดร่วมด้วย นี้คือแน่นอนว่า ธรรมที่เกิดร่วมด้วยจะต้องมีเหตุ ก็ต้องพิจารณาเรื่องของจิตที่มีเหตุ ๓ เหตุ ๑ และเหตุ ๒

    ท่านอาจารย์ นี้คือพื้นฐานพระอภิธรรม คือต้องมีพื้นฐานที่มั่นคงที่เป็นความเข้าใจ ไม่เช่นนั้นเวลาที่เราได้ยินเรื่องจิต เจตสิก ต่อไปอีก เราจะเกิดการสับสน และอาจจะจำเพียงชื่อ แต่ว่าจริงๆ แล้ว ไม่ได้เข้าใจมั่นคงลึกซึ้งจนกระทั่งไม่เปลี่ยนแปลง เช่น รูปต้องเป็นอเหตุกะ จะมีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วยไม่ได้ และรูปก็ไม่ใช่เหตุด้วย เพราะไม่ใช่เจตสิก ๖ ดวง ถ้ามีความเข้าใจที่มั่นคงไม่ว่าจะกล่าวถึงว่าเกิดกับเจตสิก เกิดกับจิต หรือเกิดจากจิต หรือเจตสิกอะไรก็ตาม เราก็สามารถที่จะแยกรู้ได้ตามประเภทของสภาพธรรมนั้นๆ ก็จะไม่สับสน

    วิธีที่เราจะเข้าใจ ไม่ใช่ว่าต้องไปท่องจำ ถ้าท่องจะเข้าใจ หรือไม่ ไม่เข้าใจใช่ไหม ถ้าไปจำๆ ๆ เอาไว้ จะเข้าใจไหม ก็ไม่เข้าใจอีก เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าอยู่ที่การตรึก ไตร่ตรอง ถ้าพูดถึงเรื่องเหตุ และเราฟังมาแล้วว่าภวังคจิตไม่รู้อะไรทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้นเรายังไม่กล่าวถึงประเภทว่าภวังคจิตนั้นก็จะมี ๒ ประเภทคือ สเหตุกะ หรือ อเหตุกะ ซึ่งเรายังไม่กล่าวถึง เราจะกล่าวถึงเมื่อไม่ใช่ภวังค์ แล้วก็ขณะที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้างในชีวิตประจำวัน เราก็สามารถที่จะระลึกได้ว่าก่อนเห็น ก่อนได้ยินพวกนี้ต้องมีวิถีจิตแรก อย่างลืมว่าปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต ไม่ใช่วิถีจิต ไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้นเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น คิดนึกทั้งสิ้น เป็นขณะที่ไม่มีอารมณ์ใดๆ ปรากฏเลยในโลกนี้ในขณะที่หลับสนิท แต่เมื่อมีสิ่งที่ปรากฏทางตา แสดงว่าขณะนั้นไม่ใช่ภวังค์เป็นวิถีจิต ซึ่งจะต้องคิดถึงว่าเมื่อเป็นวิถีจิต แล้ววิถีจิตแรกเป็นอะไร วิถีจิตคือจิตที่เกิดดับสืบต่อหลายขณะ ที่รู้อารมณ์เดียวกันวาระหนึ่ง วาระหนึ่ง จะมีวิถีจิตหลายขณะซึ่งจะต้องมีวิถีจิตแรก

    ถ้าเข้าใจอย่างนี้ คิดอย่างนี้ ไตร่ตรองอย่างนี้ เราจะลืมปัญจทวาราวัชชนจิต กับ มโนทวาราวัชชนจิตไหม ในเมื่อเราทราบว่า ๒ จิตนี้เป็นวิถีจิตแรก เพราะว่าเมื่อทวารมี ๖ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นปัจจัยให้ปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นวิถีจิตแรกเกิดขึ้น และโดยนัยของชาติ ก็รู้ว่าไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และก็ไม่ใช่วิบากด้วย เพราะฉะนั้นก็เป็นกิริยาจิต เพราะว่าวิบากต้องเป็นหนึ่งคือกุศลวิบาก หรืออกุศลวิบาก แต่ปัญจทวาราวัชชนจิตสามารถรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่น่าพอใจ หรือเป็นอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เมื่อจิตนี้สามารถจะรู้ได้ทั้งอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ จึงไม่ใช่กุศลวิบาก ไม่ใช่อกุศลวิบาก ไม่ใช่วิบาก เพราะฉะนั้นก็เป็นกิริยาจิต ในเมื่อไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่วิบาก ก็เป็นกิริยาจิตโดยชาติ

    ต่อไปเป็นการทบทวน เรื่องจิตโดยภูมิ จิตทุกจิตต้องมีระดับขั้นว่าจิตนั้นเป็นขั้นไหน ขั้นต้นก็คือกามาวจรจิต เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ชีวิตประจำวันจริงๆ มีทั้งอกุศล และกุศล สำหรับกามาวจรจิต แต่ถ้าเป็นจิตฝ่ายกุศลที่ประณีตขึ้น จะเป็นอีกภูมิหนึ่ง อีกระดับหนึ่ง คือถึงความสงบระดับขั้นของฌาณจิต จิตนั้นไม่ใช่กามาวจรจิตที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่เป็นความสงบของจิตที่มีรูปเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นเป็นรูปาวจรจิต เป็นอีกระดับหนึ่งก็เป็นรูปาวจรภูมิ ถ้าเป็นภูมิที่จิตประณีตขึ้นอีก เป็นความสงบระดับของอัปปนาสมาธิขั้นปัญจมฌาณ เห็นโทษของรูป เพราะฉะนั้นก็มีอรูปเป็นอารมณ์ได้ ขณะนั้นก็เป็นความสงบที่พ้นจากมีรูปเป็นอารมณ์ระดับของปัญจมฌาณที่มีรูปเป็นอารมณ์ ระดับนั้นจิตไม่ใช่กามาวจรจิต ไม่ใช่รูปาวจรจิต แต่เป็นอรูปาวจรจิต นี่เป็นภูมิของจิต และภูมิสุดท้ายซึ่งสูงสุดก็คือโลกุตตรภูมิ พ้นจากโลก มีอารมณ์ที่เป็นนิพพานเป็นอารมณ์ และก็ดับกิเลสด้วย เพราะฉะนั้นภูมิของจิตมี ๔ ภูมิ

    เพราะฉะนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นภูมิใดใน ๔ ภูมิ กามาวจรภูมิ คือเราเข้าใจได้เวลาพูดถึงภูมิ และก็ไม่ลืมว่าจิตนั้นเป็นชาติอะไร เป็นภูมิอะไร ก็จะต่อไปว่าประกอบด้วยเหตุ หรือไม่ประกอบด้วยเหตุ เป็นเหตุ หรือว่าไม่ใช่เหตุ ไม่ยากใช่ไหม ถ้าคิดว่าจะลืมนี่ไม่ลืมเลย ตั้งต้นที่ภวังค์ไม่มีอารมณ์ใดปรากฏ และก็เริ่มที่จะรู้อารมณ์ทางทวารหนึ่งทวารใดซึ่งต้องมีวิถีจิตแรก พอพูดถึงวิถีจิตแรกก็นึกถึง ๕ ทวาร ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และก็อีกหนึ่งทวารทางใจ เพราะฉะนั้นก็รู้ว่าวิถีจิตแรกต้องเป็นจิตที่รำพึงถึง หรือเริ่มที่จะรู้ว่าอารมณ์นั้นกระทบทวารใด ซึ่งก็ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิตทาง๕ ทวาร และมโนทวาราวัชชนจิตทางใจ ก็เริ่มมาเรื่อยๆ อย่างนี้ก็จะสามารถรู้ได้ว่าขณะนั้นเป็นจิตประเภทไหน

    ผู้ฟัง วิบากจิต โดยเฉพาะอกุศลวิบากมีแค่ ๗ ดวงในสังสารวัฏฏ์ แต่จิตเราเป็นอกุศลมากๆ จึงต้องเกิดวนเวียนอย่างนี้ เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่าท่านทรงแสดงชื่อส่องถึงสภาพธรรมเป็นสังสารวัฏฏ์ ไม่ใช่เดี๋ยวนี้ คือตลอดเกิด แก่ เจ็บ ตายไปก็เพราะวิบากจิต ๒ กลุ่มนี้คือ อกุศลวิบากจิต และอเหตุกวิบากจิต

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นชื่อซึ่งมีความหมายแต่ไม่ใช่ให้จำ แต่ว่าต้องเข้าใจจริงๆ เพราะฉะนั้นการที่เราจะเข้าใจ เราก็คงจะค่อยๆ เป็นอนุบาลไปจนกระทั่งเรามีความมั่นคง จะได้ยินคำถามอะไรตอบอย่างไร ก็ตอบได้หมดทุกอย่าง เช่น เรื่องของเหตุ นเหตุ อเหตุกะ หรือสเหตุกะ เป็นต้น สำหรับจิตทั้งหมดไม่ว่าภพใด ภูมิใดทั้งสิ้น ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นไม่ประกอบด้วยเหตุเป็นอเหตุกจิตแล้ว จะต้องเป็นหนึ่งใน ๑๘ ประเภท เพราะว่าอเหตุกจิตมี ๑๘ ประเภท เมื่อสักครู่นี้เราเรียนไป ๒ แล้วใช่ไหม ปัญจทวาราวัชชนจิตกับ มโนทวาราวัชชนจิต ชื่อ ๒ ชื่อต้องไม่ลืม ไม่ใช่ว่าวันนี้เข้าใจจริงๆ กำลังฟังเข้าใจ และลืมไปแล้ว อย่างนั้นก็ไม่ได้ ลืมไปแล้วก็ทบทวน จากภวังค์ซึ่งไม่รู้อะไร แล้วเวลาที่มีอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดปรากฏทางทวารหนึ่งทางทวารใด ต้องมีปัญจทวาราวัชชนจิต หรือมโนทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 135
    19 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ