พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 6


    ตอนที่ ๖

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖


    ท่านอาจารย์ คุณพิชัยพอจะเข้าใจอย่างนี้ หรือไม่ว่า เจตสิกไม่ใช่จิต เจตสิกต่างกันเป็น ๕๒ ประเภท ไม่ปะปนกันเลย โลภเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ และมีเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเป็นแต่ละ ๑ แต่สำหรับจิตมีลักษณะเดียว คือเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้ง ยังไม่แยกประเภทไปตามเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย และในความละเอียดต่างๆ แสดงให้เห็นว่านามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ จะกล่าวว่ามี ๕๓ ก็ได้ คือเป็นเจตสิก ๕๒ และ เป็นจิต ๑ การแสดงนัยของธรรมได้หลากหลายๆ นัย แต่ถ้าเรามีพื้นฐานที่มั่นคง ไม่ว่าจะแสดงโดยนัยใด ก็สามารถที่จะเข้าถึงความจริง และความเข้าใจได้ว่า ที่กล่าวอย่างนี้แสดงโดยนัยอะไร แสดงโดยนัยของความเป็นธาตุรู้ หรือสภาพรู้ ซึ่งจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้เท่านั้น ไม่ได้แสดงนัยที่จิตต่างกันเป็นประเภทมากมายเท่าไหร่

    อ.วิชัย เป็นสิ่งที่ยากมากที่จะพิจารณาให้เห็นถึงความต่างระหว่างจิต และเจตสิก แม้ในครั้งพุทธกาล ท่านมีการอุปมาว่า ถ้านำน้ำของแต่ละแม่น้ำมาคนเข้าด้วยกัน ก็ยากที่จะรู้ความต่างระหว่างน้ำนี้มาจากแม่น้ำชื่อโน้น ชื่อโน้น ดังนั้น จิต เจตสิกเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่าง ไม่มีสรีระอะไรๆ เลย ก็ยากที่จะเห็นความต่างของสภาพที่เป็นนามธรรม แต่ถ้าเริ่มที่จะเข้าใจว่า ลักษณะของนามธรรมแต่ละประเภทมีลักษณะที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และก็มีกิจต่างกัน แต่ขณะที่เกิดพร้อมกันนั้น รู้อารมณ์เดียวกัน แต่มีลักษณะต่างกัน เช่น ผัสสะ ก็มีลักษณะที่กระทบอารมณ์เป็นลักษณะ นี่ก็คือต่างจากเวทนาซึ่งเป็นเจตสิกเช่นเดียวกัน แต่มีลักษณะที่เสวยอารมณ์คือ เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง โสมนัสบ้าง โทมนัสบ้าง หรืออุเบกขาเวทนา นี้เป็นการเริ่มต้น เพื่อเข้าใจชีวิตประจำวันว่า ถ้าเป็นเจตสิกที่เป็นฝ่ายอกุศล มีทั้งโลภะบ้าง โทสะบ้าง หรือโมหะบ้าง ก็เป็นประเภทที่เป็นอกุศล ซึ่งแล้วแต่ว่าจะมีเหตุปัจจัยให้เกิดประกอบกับจิตขณะใดบ้างตามเหตุปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด และยากมาก ผู้ที่ได้ศึกษาวิชาต่างๆ มาก่อน แต่เมื่อมาศึกษาวิชาทางธรรม ทุกท่านก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่มีอะไรที่จะยากเท่ากับธรรม ก็ต้องยากอย่างนี้ เพราะเป็นพระธรรมที่ทรงแสดงโดยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงตรัสรู้สภาพธรรมที่เป็นความจริง เราได้กล่าวถึงเรื่องปรมัตถธรรม ธรรมที่มีจริง ขั้นฟังทุกคนยอมรับ แต่ทางตาที่เห็นขณะนี้ก็ยังเป็นคนนั้นคนนี้อยู่ตลอดเวลา นี่ก็จริง จะเปลี่ยนเพียงว่าให้ฟังครั้งเดียว ต่อจากนั้นก็รู้เลยว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลในสิ่งที่ปรากฏ นอกจากคิดเอาเอง คิดต่างๆ นาๆ จากสิ่งที่ปรากฏ ถ้าลองหลับตาแล้วมีอะไรปรากฏ หรือว่าไม่มีอะไรเลย ธรรมตรงตามความเป็นจริง ตอบได้ไหมว่า หลับตาแล้วมีอะไรปรากฏ หรือว่าไม่มีเลย

    ผู้ฟัง ก็มีสีดำครับ

    ท่านอาจารย์ มีสีดำ แล้วก็มีอะไรอีก คนหายไปหมดเลยใช่ไหม ห้องนี้ก็หายไปหมด เป็นสัจจธรรมความจริง หรือไม่ หรือว่าหลอกให้หลับตา

    ผู้ฟัง ไม่ได้หลอก หลับครั้งใด ก็ดำทุกครั้ง

    ท่านอาจารย์ แต่จะหลับตาที่ไหน ครั้งใด สิ่งที่ปรากฏในขณะนี้ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นเราเริ่มรู้จริงๆ ว่า ถ้าเพียงไม่มีจักขุปสาทคือตา โลกเป็นอย่างนั้น ผู้ที่ไม่มีจักขุปสาททั้งหลาย คนที่ตาบอด โลกเป็นอย่างนั้นจริงๆ คือทางตามืด ไม่มีอะไรปรากฏเลย ไม่เห็นสีสันวรรณะต่างๆ จะมีโลกอื่นซึ่งขณะที่เราหลับตา สีไม่ปรากฏ จะมีโลกอื่นอีกไหม

    ผู้ฟัง มีโลกแห่งความคิด

    ท่านอาจารย์ ถ้าเสียงไม่ปรากฏ ถ้าเย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็งไม่ปรากฏ กลิ่นไม่ปรากฏ รสไม่ปรากฏ แต่ก็มีคิด ไม่มีใครที่จะไม่คิดเลย หรือบางคนคิดก็ยังไม่รู้เลยว่าคิด ถ้าถามใครเดี๋ยวนี้ทันทีว่าคิดอะไร ตอบได้ทันที หรือไม่ว่าคิดอะไร

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ตอบไม่ได้ทั้งๆ ที่คิด คิดก็ยังตอบไม่ได้ว่าคิดอะไร

    ผู้ฟัง คิดหลายๆ เรื่อง จึงตอบไม่ทัน

    ท่านอาจารย์ แม้เรื่องหนึ่งก็ตอบไม่ถูกว่าจะตอบเรื่องไหน เพราะว่าความคิดเกิดแล้วก็ดับด้วย ความคิดไม่ปรากฏเป็นแสงสว่าง หรือสีสันใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่ความคิดก็มี เพราะฉะนั้นเราเริ่มรู้จักสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมตัวจริงๆ ว่าทุกคนมี อย่างหนึ่งก็คือคิดแน่นอน ไม่มีรูปร่าง ไม่มีสัณฐานเลย พอลืมตาขึ้นมา ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ คิด หรือเปล่า กำลังเห็น ขณะที่เห็น คิด หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เห็นแล้วคิด มันเร็ว ผมว่ามันเร็ว

    ท่านอาจารย์ ไม่กล่าวถึงเร็ว หรือช้า แต่กล่าวถึงความจริงว่า ขณะที่เห็น เพียงเห็น คิด หรือไม่ ไม่เหมือนเมื่อครู่นี้ที่หลับตา เมื่อครู่นี้หลับตาไม่เห็น แต่คิด แต่พอลืมตามีสิ่งที่คิดที่ต่างจากหลับตาแล้วใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้จริงๆ ว่า ขณะที่เห็นเปลี่ยนไปแล้ว จากคิดโดยหลับตา เป็นมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏให้เห็น นี่คือธรรม คือสิ่งที่มีจริงๆ เป็นปรมัตถธรรม “ปรม” คือ ยิ่งใหญ่ที่สุดโดยอรรถ ถ้าลักษณะนี้ไม่เป็นอย่างนี้ก็จะไม่มีคำที่แสดงความหมายจริงๆ ของสิ่งนี้ว่า แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่มีจริงเป็นสิ่งซึ่งใครก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้เลย คนที่มีตาทุกคนหลับตาไม่เห็น แต่พอลืมตา ผิดจากเมื่อครู่นี้ที่หลับตาแล้วใช่ไหม เพราะว่ามีสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นเราจะรู้ได้ว่า จริงๆ แล้วเราไม่ได้รู้อะไรตามความเป็นจริงเลย ตราบใดที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรม แต่เมื่อไหร่ที่เริ่มฟังพระธรรม ก็ไม่ใช่ตามตัวหนังสือไปง่ายๆ อย่างที่กล่าวว่า สิ่งใดเป็นรูปก็รู้ สิ่งใดเป็นนามก็รู้ แค่นั้นไม่พอ ไม่ใช่ความจริง ถ้าความจริงก็คือสามารถที่จะเข้าใจ หรือเข้าถึงลักษณะความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยเป็นความเข้าใจของเราเองที่มั่นคง ในลักษณะของสภาพธรรมที่ต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ ลักษณะหนึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น และก็จะปรากฏในชีวิตประจำวันเพียง ๗ ประเภท คือ ปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมมีจริงอย่างหนึ่ง ทางหูเป็นเสียง ทางจมูกเป็นกลิ่น ทางลิ้นเป็นรส ทางกายก็คือเย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ตึง หรือไหว ทุกท่านลองหลับตาอีกครั้งหนึ่ง

    ผู้ฟัง ผมเคยเห็นคนนอนหลับ แต่ตาไม่หลับ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ แม้ว่าเราจะกล่าวบ่อยๆ หลายครั้งเรื่องนามธรรม เรื่องรูปธรรม เรื่องเห็น ได้ยิน แต่ไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ทั้งหมดที่เรียนมาแล้วได้ประโยชน์ หรือไม่ แต่ถ้าเราสามารถจะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะที่กำลังฟังด้วย ประกอบกันไป และเมื่อฟังบ่อยๆ มากขึ้น ความเข้าใจของเราก็มั่นคงขึ้น ว่าธรรมคือตรงนี้ สิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ค่อยๆ เข้าใจ ตามกำลังของปัญญา ซึ่งจากการที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาเกินแสนโกฎกัปป์ กับการที่ได้ยินได้ฟัง แล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น ความเข้าใจของเราจะไปเร็วไม่ได้ นอกจากว่าค่อยๆ พิจารณาจนกระทั่งค่อยๆ เข้าใจ ขอถามว่า เมื่อครู่มีคิด ตอนนี้มีอะไร

    ผู้ฟัง มีแข็ง

    ท่านอาจารย์ ใช่ มีแข็ง แสดงให้เห็นว่า โลกที่เราคิดว่าเป็นโต๊ะแข็ง เก้าอี้แข็ง ความจริงเมื่อไม่เห็นรูปร่าง สัณฐาน สิ่งที่มีจริงคือ “ แข็ง ” นี่คือ “ ปรมัตถ ” เป็นธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น ถ้ามีผู้กล่าวว่า เข้าใจธรรม รู้จักธรรม แต่ไม่รู้จักปรมัตถธรรม ถูก หรือผิด เพราะว่าถ้าเข้าใจจริงๆ ธรรมจะเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากจะเป็นปรมัตถธรรม และปรมัตถธรรมที่ดูเสมือนว่าไม่มีอะไรมากมายเลย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ๓ ปิฎก และอรรถกถายังมีข้อความที่กล่าวถึง ปรมัตถธรรม แสดงให้เห็นว่าถ้าไม่รู้ก็ไม่มีอะไร แต่ถ้ารู้ ทุกอย่างอยู่ตรงนั้น จากไม่มีเลย ไม่ได้ปรากฏเลย แล้วเกิดปรากฏขึ้นได้อย่างไร ใครทำ ใครสร้าง ใครรู้ ใครไม่รู้ ต้องเป็นผู้ที่ตรงว่า เรายังไม่ได้รู้ถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้น แต่เราอาจจะได้ยินได้ฟังคำว่า “ อายตนะ ” ได้ยินคำว่า “ ธาตุ ” ได้ยินคำว่า “ อริยสัจ ” เช่น อายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ และสีที่ปรากฏทางตา๑ เสียงที่ปรากฏทางหู ๑ กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก ๑ รสที่ปรากฏทางลิ้น ๑ โผฏฐัพพะที่ปรากฏทางกาย เป็นอายตนะ เราจำได้ กล่าวชื่อได้ ธัมมารมณ์พวกนี้กล่าวได้หมด แต่ลักษณะที่กำลังปรากฏขณะที่หลับตา แข็งปรากฏได้อย่างไร แต่ถ้าเราเข้าใจ ไม่สงสัยในความหมายของอายตนะ ต้องมีทางเฉพาะทางที่สภาพธรรมแต่ละอย่างจะปรากฏได้ แต่ถ้าไม่มีสภาพธรรมที่เป็นทาง สภาพธรรมแต่ละอย่างก็ปรากฏไม่ได้ ผู้ใดจะสร้างสรรค์ทำอย่างไร บังคับอย่างไร ก็ปรากฏไม่ได้

    ผู้ฟัง ในความแข็ง มีเย็น มีร้อน รวมอยู่ด้วย

    ท่านอาจารย์ กล่าวถึงแต่ละอย่าง เราไม่เอาสิ่งที่เกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วมารวมเป็นอย่างเดียว แต่ต้องเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรมที่พิสูจน์ได้ทุกขณะ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงพระธรรม๓ ปิฎก และท่านอาจารย์กล่าวคำว่ามีทางอยู่ด้วย ขอเรียนถามว่า ๓ ปิฎกนี้ อยู่ในทาง ๖ ทางที่ท่านอาจารย์กำลังจะกล่าวถึงนี้

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ มีเห็น ซึ่งทุกคนพิสูจน์ได้ ว่ากำลังเห็น มีได้ยิน มีได้กลิ่น มีลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย มีการคิดนึก ๖ แล้วใช่ไหม ใครมีอย่างอื่นนอกจากนี้ที่จะเป็น ๗ เพราะฉะนั้น พระไตรปิฎกทั้งหมดเกินจากนี้ไม่ได้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โลกไหนๆ ก็ไม่เกิน ๖ จากการตรัสรู้ ทรงแสดงโลกทุกโลก ทุกจักรวาล ที่ได้ทรงตรัสรู้ และก็พิสูจน์พระธรรมได้ว่าเป็นความจริง เพียงแต่ว่า สิ่งที่แม้มี ก็ยังไม่รู้ตามความเป็นจริง จึงต้องฟังแล้วฟังอีก จนกระทั่งเป็นความมั่นใจจริงๆ ว่า นี่คือธรรม และที่จะศึกษาต่อไปคือ ศึกษาให้เข้าใจตัวจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ขอถามว่า ทุกท่านหลับตาแล้วก็ไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา โลกของสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ได้ปรากฏเลย แต่ลืมตาแล้วมี ต่างกันแล้วใช่ไหม คนละโลก เช่น โลกของคนตาบอด เพราะฉะนั้น โลกของคนมีตา ไม่ใช่มี ๕ แต่มี ๖ คือมีสิ่งที่ปรากฏทางตาด้วย โลกของคนที่ไม่มีตาเพราะตาบอด เขาก็ได้ยินหนึ่งโลก ได้กลิ่นหนึ่งโลก ลิ้มรสหนึ่งโลก รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสหนึ่งโลก คิดนึกหนึ่งโลก แค่ ๕ โลก แต่โลกทางตาไม่ปรากฏเลย สำหรับคนหูหนวก ไม่มีโสตปสาท ก็มี ๕ โลก คนตาบอดมีเห็น แต่โลกทางหูเงียบ ไม่มีเสียงใดๆ ปรากฏเลย เป็นโลกที่เงียบสนิท มีสีปรากฏ มีกลิ่นปรากฏ มีรสปรากฏ มีเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ปรากฏ มีคิดนึกแต่เงียบสนิท เพราะฉะนั้น สภาพเหล่านั้น ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ แต่เป็นธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย มีขณะที่เกิด และก็ดับหมดเลย แล้วก็หามีไม่ จะไปหาที่ไหนอีกก็ไม่ได้ สิ่งที่เป็นจริงในขณะนี้ เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ แต่สืบต่อเร็วมากจนเสมือนว่าไม่ดับ นี่คือความไม่รู้ ขณะที่หลับตา มีสิ่งใดที่ปรากฏ ตามความเป็นจริง เสียง ไม่เรียกว่า"เสียง"ได้ไหม ได้ เรียกอย่างอื่นได้ไหม ก็ได้ แต่เปลี่ยนลักษณะของเสียงให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม ไม่ได้ นี่แสดงให้เห็นว่า ลักษณะของปรมัตถธรรม สิ่งที่มีจริง แม้ไม่เรียกชื่อใดๆ เลยก็ตาม ลักษณะนั้นต้องเป็นอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่มีจริง มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง ซึ่งจะเรียกว่าอะไรก็ได้ หรือไม่เรียกว่าอะไรเลยก็ได้ เพราะเหตุว่า ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นได้ แต่จำเป็นต้องใช้คำ เพื่อที่จะให้รู้ว่าหมายความถึงสภาพลักษณะใดๆ ที่กำลังกล่าวถึง แต่อย่างไรก็ตาม ต้องรู้ว่า ขณะใดที่ใช้คำสำหรับให้เข้าใจว่าหมายความถึงสภาพธรรมใด ไม่ใช่สภาพธรรมนั้นจริงๆ เช่น พูดคำว่าเสียง เสียงมีจริง แต่เวลาใช้คำที่จะให้เข้าใจความหมายนั้น มีความคิดเรื่องคำ ทันทีที่ได้ยินคำว่า “เสียง” ขอถามว่า คิดถึงอะไร

    ผู้ฟัง คิดถึงชื่อที่อยู่ในเสียงนั้นจริงๆ ชื่อก็ไม่มีในเสียง

    ท่านอาจารย์ บางท่านก็ไม่ได้คิดใช่ไหม แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่มีจริง มีลักษณะเฉพาะอย่าง แต่คำที่ใช้ เป็นคำที่ทำให้คนที่จำเสียง สามารถที่จะรู้ว่าเสียงนั้นหมายความถึงอะไร แต่ต้องมีการจำเสียง คนที่ไม่ได้จำเสียงนั้น พูดภาษาญี่ปุ่นกับเขา ก็ไม่รู้เรื่อง เขาพูดมา เราก็ไม่รู้ว่าเขาหมายความถึงอะไร แต่เสียงไม่เปลี่ยน ไม่ว่าใครจะเป็นชนชาติอะไรก็ตาม ได้ยินคำภาษาอะไรก็ตาม ลักษณะของเสียงที่ได้ยินไม่เปลี่ยน แต่อาศัยความจำ ที่จำลักษณะของเสียงนั้น ทำให้สามารถคิดถึง และเข้าใจความหมายของเสียงนั้น ในขณะที่เสียงปรากฏขณะนั้น จะไม่คิดถึงอย่างอื่น จะไม่จำอย่างอื่น แต่จะมีการจำเสียง

    เพราะฉะนั้น การที่เราเริ่มเข้าใจปรมัตถธรรม ต้องรู้ว่าปรมัตถธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง แต่ส่วนเรื่องราวความคิดนึกบัญญัติต่างๆ ในเรื่องสิ่งที่มีจริงๆ นั้น ไม่ใช่ตัวจริงของธรรม ตัวจริงของธรรมก็จะมีเพียง “ จิต ” เป็นสภาพรู้ เป็นใหญ่ในการรู้ “ เจตสิก” เป็นสภาพนามธรรม ซึ่งเกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต เกิดกับจิต ชื่อเรียกภาษาธรรมก็คือ “เจตสิกะ” หรือเราก็ใช้สั้นๆ ว่า “เจตสิก” และ “ รูป ”

    “ปรมัตถธรรม” มี จิต เจตสิก รูป และ นิพพาน แต่นิพพานในชีวิตประจำวัน ไม่มีใครที่จะสามารถรู้ได้ โดยที่ไม่ได้อบรมเจริญปัญญา ที่สมบูรณ์ถึงขั้นที่จะสละความติดข้องในสิ่งที่มี เพื่อที่จะไปสู่สภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งตั้งแต่เกิดมาก็ติดอย่างมากมาย ยึดถืออย่างมากมายที่จะไม่ปล่อย เมื่อไม่ปล่อยแล้วจะไปถึงสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งมีจริง ซึ่งเป็นนิพพานสำหรับผู้ที่ประจักษ์แจ้งแล้ว ก็ต้องเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น การกล่าวถึงเรื่องสภาพธรรมที่มีจริง ให้เป็นความเข้าใจของเราเพิ่มขึ้นๆ จนกว่าจะคลายความติดข้อง ซึ่งลองคิดดู นานไหมกว่าจะคลายความติดข้องในสิ่งซึ่งติดมานานแสนนาน ติดในรูปทางตา ติดในเสียง ติดในกลิ่น ติดในรส ติดในสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ติดในความคิดนึกเรื่องราวต่างๆ แล้วก็จะต้องละคลาย จนกว่าจะหมดความติดข้องในสังขารธรรม ในสังขตธรรมเมื่อไหร่ ก็จะน้อมไปสู่สภาพธรรมที่มีจริง คือนิพพาน

    ผู้ฟัง พิจารณาจากคำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ผมมีความเชื่อมั่นว่า เป็นการให้ปัญญากับบุคคล มากกว่าที่จะให้ไปเสาะหาอภินิหารอะไรทั้งหลาย

    ท่านอาจารย์ นี่คือมรดกที่ประเสริฐสุด เกิดมาแล้วบางคนก็คงหวังมรดก อยากได้มรดกจากญาติพี่น้องเป็นทรัพย์สมบัติ เป็นอะไรต่างๆ แต่ติดตามไปไม่ได้เลย จะใช้ได้ก็คือประโยชน์ในชาตินี้เท่านั้นเอง ติดตามไปถึงชาติหน้าไม่ได้ แต่ถ้าเป็นกุศลจิตซึ่งเป็นเหตุที่ดี ก็จะให้ผลที่ดี ซึ่งเราก็ยังไม่กล่าวถึงอะไรทั้งหมด เพียงแต่ว่าให้เข้าใจปรมัตถธรรม ให้เข้าใจธรรม และให้รู้ว่าที่เรากำลังพูดถึงปรมัตถธรรมละเอียดขึ้นๆ ก็เป็นปิฎกที่ ๓ ในพระไตรปิฎก คือ พระอภิธรรมปิฎก เพราะเหตุว่า “อภิ” ก็คือ ละเอียดยิ่ง สิ่งที่มีที่เป็นปรมัตถธรรมละเอียดมาก ด้วยปัญญาที่จะค่อยๆ อบรม จนกระทั่งรู้ความจริง จนค่อยๆ ละความไม่รู้ จนกว่าจะเป็นบารมีที่สามารถถึงฝั่ง

    ผู้ฟัง คนที่ได้ปริญญาเอก ...

    ท่านอาจารย์ เรากำลังกล่าวถึงปรมัตถธรรม

    ผู้ฟัง การเรียนได้ปริญญาเอกนั้นไม่ใช่ปรมัตถธรรม ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ปรมัตถธรรมคือจิต เจตสิก รูป นิพพาน เพราะฉะนั้น จะอยู่ในความเข้าใจในสิ่งที่ ...

    ผู้ฟัง นอกเหนือจากนี้ก็ไม่ใช่ปัญญา

    ท่านอาจารย์ กำลังจะกล่าวให้เข้าใจก่อน เพราะว่าโลกของเราก่อนที่จะฟัง เป็นโลกของคนเรื่องราวต่างๆ วุ่นวาย สับสน มากมาย ญาติ พี่น้อง เพื่อนฝูง วงศาคณาญาติ รวมถึงบุคคลทั้งหลายในโลก ในประเทศต่างๆ ด้วย นั่นคือสิ่งที่มีอยู่เป็นชีวิตประจำวัน แต่เรายังไม่ได้เข้าใจ จิต เจตสิก รูป ซึ่งถ้าจิต เจตสิก รูปไม่มี อะไรก็ไม่มี จะมีอะไรที่ไหน ภูเขาจะมีได้ไหม เพราะภูเขาก็เป็นรูป ถ้าภูเขาไม่มีใครเห็น จะมีใครรู้ไหมว่ามีภูเขา ก็ไม่มีใครรู้ เพราะเหตุว่า ขณะนั้นไม่มีสภาพรู้ หรือธาตุรู้

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีความเข้าใจเรื่อง จิต เจตสิก รูป ให้ละเอียดขึ้น ให้ชัดเจนขึ้น ให้เป็นปัญญาของเรา สมกับที่เป็นผู้รับมรดก ถ้าสามารถเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรม แล้วยังสืบต่อมรดกนั้น ให้คนรุ่นหลังๆ ต่อไปได้ ที่จะมีความเห็นถูก เข้าใจถูก แต่ให้ทราบว่าสิ่งที่ประเสริฐสุด ก็คือปัญญาของเราเองด้วย ที่จะต้องเป็นผู้ตรงว่า ขณะที่กำลังฟังนี้ เริ่มเข้าใจ หรือไม่ และเข้าใจเท่าไร ก็คือเท่านั้น ตามความเป็นจริง แต่ถ้าจะไปดูข้อความอื่นในพระไตรปิฎกทั้งหมด ไม่ใช่ปัญญาของเราที่เพิ่งเริ่มจะฟัง แต่เป็นปัญญาของท่านพระสารีบุตร เช่น ปฏิสัมภิทามรรค ปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัญญาของสาวก เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้เลยว่า ไม่ใช่ปัญญาของผู้ที่ยังไม่ได้อบรม แต่ผู้ที่จะอบรมก็จะข้ามขั้นไปถึงระดับนั้นยังไม่ได้ แต่ต้องรู้สภาพธรรมที่มีจริงๆ เพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง ครั้งแรกผมคิดว่าผมเข้าใจดีว่า จักขุปสาท หรือตามีลักษณะอย่างไร แต่เมื่อมาได้ฟังท่านอาจารย์แล้ว ก็รู้ว่านั่นเป็นเพียงการคาดคะเนเอาว่า คนนั้นไม่มีจักขุปสาท คนนี้มีแต่ว่ามืด มีไม่เต็มที่อะไรอย่างนี้ เป็นการเดา หรือคาดคะเนเอา ซึ่งไม่ถูกต้องตามลักษณะที่แท้จริง ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องของความคิดนึก แต่สภาพธรรมที่มีจริงสามารถที่จะพิสูจน์ได้ทุกขณะ เวลาที่หลับสนิท จะยิ่งกว่ามืด หรือไม่ เทียบได้เลย ใช่ไหม เพราะว่าไม่มีอะไรปรากฏให้เห็นว่ามืด หรือให้คิดว่ามืด เพราะเหตุว่าขณะนั้น แม้มีจิต เจตสิก ก็เหมือนไม่มี แต่เหตุใดตื่นแล้ว รู้ว่าเมื่อครู่นี้หลับ ก็แสดงให้เห็นว่าสามารถที่จะจำภาวะ หรือขณะซึ่งไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏเลย เพราะฉะนั้น ปัญญาของเราที่จะรู้ความจริง ก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นถึงความต่างของขณะที่เป็นภวังคจิต

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 135
    4 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ