พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 7
ตอนที่ ๗
ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ปัญญาของเราที่จะรู้ความจริง ก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นถึงความต่างของขณะที่เป็นภวังคจิต คือขณะที่หลับสนิท และขณะที่เป็นมโนทวารวิถี ก็ต่างกัน เพราะเหตุว่า กำลังหลับสนิทเป็นใครอยู่ที่ไหน ไม่ทราบได้เลย มีพี่น้องกี่คน เรื่องยุ่งๆ ตอนก่อนจะหลับ หายไปหมดในขณะที่กำลังหลับ แต่เมื่อตื่นขึ้นแล้ว มีหมดทุกอย่าง มีเรื่องมีราวต่างๆ แสดงให้เห็นว่า ต้องเทียบเคียงความต่างระหว่างสภาพธรรมที่มีจริง ว่าขณะที่หลับสนิทไม่ฝันเลย ไม่มีอะไรปรากฏ กับขณะที่แม้ตื่นแต่สิ่งอื่นไม่ได้ปรากฏ แต่คิด ขณะนั้นก็ยังมีคิดในความมืดสนิทนั้น ขณะที่คิดไม่มีแสงสว่าง ขณะที่คิดหลับตา พิสูจน์ได้จากขณะนี้ แม้อารมณ์ทางตาจะมาคั่น และเราก็ยังคงคิดว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ได้ ยังคิดไม่ออก เพราะยังจำไว้ว่าเป็นคนนั้นคนนี้ จนกว่าเราจะค่อยๆ ไตร่ตรอง และพิจารณาว่า ในขณะที่คิด แม้ไม่เหมือนกับขณะที่หลับสนิท เพราะหลับสนิทไม่คิดเลย ไม่ฝันด้วย แต่เวลาตื่นไม่ได้เห็น แต่ว่ามีคิด เพราะฉะนั้นความคิดตรงนั้นก็มืดสนิท แต่ก็ยังไม่เหมือนกับขณะที่อะไรๆ ไม่ปรากฏเลยในขณะที่หลับสนิท นี่ก็เป็นขั้นๆ จนกระทั่งถึงขณะที่เห็น ก็ต่างกับขณะที่คิด ซึ่งขณะคิดมืดสนิท แต่ขณะเห็นไม่มืด และขณะที่ได้ยินเสียงก็ยังมีลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่งปรากฏจริงๆ แล้วให้อุ่นใจว่ายังมีเรา
จะเห็นว่า ความที่เราติดข้องในความเป็นตัวตน ในภพ ในชาติ ในเสียง ในทุกสิ่งทุกอย่าง กว่าจะค่อยๆ ขัดเกลาละคลาย แซะ จะทำวิธีไหนอย่างไร ใช้คำอะไรก็ตามแต่ แต่เป็นสิ่งที่ติดสนิท ต้องอาศัยกาลเวลาจริงๆ ที่อาศัยความเข้าใจขึ้นจากการฟังทีละเล็กทีละน้อย อบรมเจริญปัญญาที่จะเป็นปัญญาของเราเอง จนกระทั่งเมื่อได้ฟังพระธรรมในชาติไหนกว่าจะสามารถรู้ว่า นี่คือ พระธรรม
ที่สำคัญ การตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เกิดขึ้นบ่อย และก็ไม่เร็ว เพราะฉะนั้นจากโลกนี้ไปแล้ว เราจะไปอยู่ที่ไหน สามารถที่จะได้ยินได้ฟังไหม ได้ยินได้ฟังอาจจะได้ แต่เข้าใจ หรือเปล่า เช่น แมว นก เป็ด ไก่ ได้ยินได้ แต่เข้าใจ หรือเปล่า จึงเป็นเรื่องที่ควรเห็นประโยชน์สูงสุดคือ ไม่มีสิ่งใดที่จะมีคุณค่าเสมอเหมือนกับการเข้าใจพระธรรม การเข้าใจธรรม
ผู้ฟัง ถ้าหากนอนหลับ ก็หมายความว่ามืดหมด
ท่านอาจารย์ ขณะนอนหลับ แม้ความมืดก็ไม่รู้ ไม่รู้สิ่งใดทั้งสิ้น ขณะนั้น เหมือนโลกนี้หายไปหมด ผู้ที่ตรัสรู้ทรงแสดงว่ามีจิต เจตสิก เกิดดับ แม้ว่าไม่มีการเห็น ไม่มีการรู้สึกตัว และจิตขณะนั้นทำกิจอะไร ซึ่งต่อไปเราก็จะศึกษาเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ทั้งหมดนี้ได้ถูกต้องขึ้น ให้เห็นว่าไม่ใช่ตัวตนยิ่งขึ้น เพียงแต่ว่าให้พิสูจน์ว่าธรรมมีจริงๆ ปรากฏได้กี่ทาง เป็นนามธรรมอะไร เป็นรูปธรรมอะไร
อ.วิชัย ตามที่ท่านอาจารย์กล่าวแสดงให้เห็นว่า ธรรมที่มี และเกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวันนั้น รู้สึกว่า ขั้นการฟังก็เข้าใจว่า มีจริง และกำลังปรากฏขึ้นจริงๆ ขอทราบว่า ความรู้ที่ละเอียด จะอบรมอย่างไร
ท่านอาจารย์ ในขั้นอนุบาล ควรรู้ให้มั่นคงว่า มีธรรม ๒ อย่าง คือนามธรรม และรูปธรรม จนกระทั่งค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วจึงจะกล่าวต่อไปตามลำดับ เมื่อเป็นสิ่งที่มีจริง ก็คิดได้ใช่ไหมว่า พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร
อ.วิชัย ตรัสรู้สิ่งที่มีจริงๆ
ท่านอาจารย์ ตรัสรู้สิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ไม่ใช่สิ่งที่ยังไม่ได้ปรากฏ หรือสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่เรารู้ หรือยัง จึงเป็นความต่างของผู้ที่รู้ กับผู้ที่ไม่รู้ จึงเริ่มเห็นตามความเป็นจริง แม้แต่คำว่าโมหะ แม้แต่คำว่าอวิชชา แม้สิ่งนั้นกำลังเผชิญหน้าก็ไม่รู้ตามความเป็นจริง ต้องตั้งต้นอย่างนี้ สำหรับหนทางที่จะรู้มีจริง แต่ต้องเกิดจากการเข้าใจสภาพธรรมตามลำดับ ถ้ายังไม่มีความเข้าใจสภาพธรรมที่มั่นคงตามลำดับยิ่งขึ้น ใครจะไปบันดาลให้มีปัญญาระดับนั้นก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นประโยชน์ของการฟัง ก็คือให้รู้เรื่องของสภาพธรรม และก็ให้รู้หนทางที่จะทำให้รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงด้วย แต่หนทางนั้นในวันนี้ก็คงจะยากลำบากก่อน เพียงแต่ว่าให้รู้ว่า การรู้ก็คือรู้สิ่งนี้
เพราะฉะนั้น ผู้รู้กับผู้ที่ไม่รู้ ต่างกันแค่ไหน ผู้ที่ไม่รู้ก็ไม่สามารถจะพูดอะไรเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏนี้ได้เลย ใช่ไหม จะกล่าวว่าอายตนะก็กล่าวตามที่อ่านมาเท่านั้นเอง แต่ว่าจริงๆ แล้วแม้ลักษณะสภาวะที่เป็นอายตนะก็ปรากฏกับปัญญาที่จะต้องสมบูรณ์จนกระทั่งสามารถที่จะละคลายความเป็นเราได้ เพียงแต่ว่าไม่ใช้ชื่อ เพราะว่าสภาพธรรมจริงๆ ขณะนี้ที่ทุกคนกำลังเห็น แล้วไม่รู้ หรือว่ารู้ผิด เห็นอะไรต้องเรียก หรือไม่ว่าชื่ออะไร ไม่ใช่ว่าเห็นโต๊ะก็ต้องเรียกว่าโต๊ะ เห็นคุณกาญจนาก็ต้องเรียกว่าคุณกาญจนา เห็นคุณแก้วตาก็ต้องเรียกว่าคุณแก้วตา ไม่ต้องเลย ทั้งไม่เห็น แต่ก็ยังรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ฉันใด เวลาที่ปัญญาเกิดแทนอวิชชา ขณะนั้นความรู้ไม่ได้รู้สื่งอื่นเลย แต่รู้ลักษณะความจริงของสิ่งที่ปรากฏแทนความไม่รู้ ซึ่งมีอยู่ในขณะนี้ เห็นแล้วก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งต่างๆ แต่ถ้าเป็นปัญญาแล้ว เห็นแล้วรู้ตามความเป็นจริง แม้ว่าจะไม่เรียกชื่ออะไร
ผู้ฟัง ขอเสนอแนะ เพื่อผู้ฟังที่มาใหม่ไม่ต้องดึงผู้ที่ฟังอยู่ก่อนแล้ว ก็จะมีที่สำหรับผู้ที่ไม่เคยเข้ามาเลย มาครั้งแรก และก็เหมือนอยู่ชั้นอนุบาล
ท่านอาจารย์ ถ้ามีความสนใจ เราก็จะทำสิ่งที่เราสนใจ และสิ่งที่เราคิดว่าสำคัญ แต่ก่อนนี้อะไรๆ ก็สำคัญสำหรับเรา แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว พระธรรมสำคัญสำหรับเราด้วย หรือเปล่า ถ้าเป็นสิ่งที่สำคัญเราก็คงจะมีเวลาให้พระธรรม ตามความสำคัญที่มีต่อพระธรรม และก็ตามกำลังของเราที่จะเป็นไปได้ด้วย เพราะเหตุว่าคนที่ยังมีกิเลสจะให้มีพระธรรม ๒๔ ชั่วโมงเป็นไปไม่ได้ มีใครเป็นไปได้ อย่าไปฝืน เพราะว่าทุกอย่าง เราจะไม่รู้เลยว่ามีธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้เราเป็นทาสอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้เราพ้นไปจากอำนาจของเขาเลย คือความติดข้อง ความต้องการ เพราะฉะนั้น ถ้าใครที่จะต้องการฟังพระธรรม ๒๔ ชั่วโมง มาแล้วใช่ไหม อะไรทำให้เป็นอย่างนั้น เพราะว่าถ้าเราไม่ต้องการอย่างนี้ เราก็ไปต้องการอีกอย่างหนึ่ง แต่ว่าตามความเป็นจริง คือพระธรรม ให้เราเกิดความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ในสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะเกิดขึ้นแล้วปรากฏ แต่ปรากฏสั้นมาก เพราะฉะนั้นมีพระธรรมมากมายที่ต่อไปเราจะทราบว่าเป็นจิตประเภทไหน เป็นเจตสิกประเภทไหน เกิดขึ้นเพราะปัจจัยอะไร มีอะไรปรุงแต่ง แต่ขณะนี้ทั้งหมด ที่ผู้รู้แล้วก็ผ่านไป โดยผู้ที่ไม่รู้ก็ไม่รู้ จนกว่าจะค่อยๆ รู้ขึ้น ก็แล้วแต่ว่า เราจะมีเวลาให้มากน้อยเท่าไหร่ แต่เป็นผู้ที่มีอธิษฐาน คือไม่ใช่ขอ แต่เป็นความมั่นคงของจิตที่จะรู้ว่า จะไม่ทิ้งพระธรรม เราอาจจะมีธุระมาก หรือบางทีก็อาจจะเป็นเรื่องเร่งด่วน ซึ่งเกิดขึ้นปัจจุบันทันด่วน เป็นหน้าที่ๆ ต้องทำ แต่เราก็ไม่ทิ้งพระธรรม คือจะเป็นอย่างไรในชีวิตของเราก็จะมีการฟัง แล้วก็การอบรมเจริญความรู้เท่าที่จะเป็นไปได้ ก็จะมีความมั่นคงขึ้นในการที่จะเห็นประโยชน์สูงสุด คือการเข้าใจธรรม
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวถึงเรื่องความจริงช่วงนี้ว่า สำหรับคนที่อาจจะฟังมากแล้ว บางครั้งก็อาจจะเบื่อๆ ซึ่งสำหรับดิฉันเอง บางครั้งก็เบื่อเหมือนกัน แต่ว่าก็เป็นความจริงที่ว่า ความเบื่อนั้นก็ปรากฏเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นจะเบื่อ หรือ ไม่เบื่อ ก็คือความจริงในขณะนั้นที่แต่ละคนก็ต้องทราบใช่ หรือไม่
ท่านอาจารย์ เป็นการถูกต้อง เพราะไม่ใช่ว่า ผู้ที่ฟังธรรมแล้วจะไม่เบื่อเลย อาจจะเบื่อ ไม่สนุก พาเราไปเล่นที่ไหน ทำอะไร ดูนก ดูต้นไม้ ก็จะดีกว่า เพลิดเพลินดีใช่ หรือไม่ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า เพราะความติดในสิ่งที่เราเคยพอใจมาก จะยับยั้งไม่ให้เกิดความเบื่อในสิ่งที่ดูเหมือนกับว่าไม่เห็นจะมีอะไรที่จะน่าพอใจ เหมือนอย่างรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ใช่ไหม แต่ว่าเราเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์
เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่เกิดแล้วเป็นจริง ไม่มีใครปฏิเสธเลย แต่ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน และก็เป็นธรรมทั้งหมด จนกว่าเมื่อไหร่เป็นธรรมทั้งหมด เมื่อนั้นก็คือ ถึงการที่สำเร็จกิจทั้งหลาย ไม่ต้องมีกิจใดๆ ต้องทำอีกแล้วคือ ถึงความเป็นพระอรหันต์ ถ้าตราบใดที่ยังไม่ถึง ก็จะไม่ทอดทิ้ง ยังเป็นผู้ที่อยู่ในเหวลึก ไม่ไต่ขึ้นมาสักทีหนึ่ง และก็มืดสนิทด้วย ทั้งๆ ที่มีหนทางจะขึ้นจากเหว แต่จะไม่ใช่หนทางที่ง่าย ไม่ใช่หนทางที่เร็ว แต่ก็เป็นหนทางที่ผู้ที่ยังเพลิดเพลินอยู่ ก็อดจะเพลิดเพลินต่อไปไม่ได้ แต่ก็ไม่ทิ้งการที่เห็นประโยชน์ และรู้กำลังของเรา อย่างคราวก่อนที่กล่าวถึงว่า กำลังง่วง แล้วก็จะฟังธรรมดี หรือว่าจะหลับดี ชีวิตประจำวันจริงๆ มีความเป็นเราที่ต้องการจะหลับ อยู่มาตั้งหลายชั่วโมงแล้วยังไม่หลับเลย จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ หรือจะหลับ ก็เกิดขึ้นได้ เพื่อที่จะส่องถึงสัจจธรรมความจริงของเรา ว่าตัวเราคืออย่างนี้ เดี๋ยวนี้ ที่กำลังคิดอย่างนั้น และแม้แต่สติสัมปชัญญะที่ได้อบรมแล้วจะเกิด ถ้ามีปัจจัยก็เกิด ถ้าไม่มีปัจจัย ยังเป็นผู้ที่อบรมอยู่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริงที่ได้สะสมมาทั้งหมด ก็มีปัจจัยเกิดให้เห็น เพื่อที่จะรู้ว่ากำลังของปัญญาถึงระดับไหน ถึงระดับที่เห็นคุณของปัญญา สติสัมปชัญญะ การรู้ลักษณะของสภาพธรรม หรือว่านอนก่อน ก็เป็นสิ่งที่เป็นธรรมดา ไม่ทราบว่าวิทยากรท่านอื่นเป็นเช่นนี้ หรือไม่
วิทยากร เป็นครับ บางครั้งก็เป็น
ท่านอาจารย์ เห็นแล้วใช่ไหม วิทยากรก็เป็นได้ ใครก็เป็นได้ เพราะเป็นความจริง เป็นสัจจธรรม ซึ่งทุกท่านไม่ปฏิเสธเลย และก็รู้ด้วยว่าเป็นอกุศล ดีกว่าที่เราจะไปคิดว่าดี ใช่ไหม เมื่อเป็นอกุศลก็คือ เรายังมีอกุศลระดับนั้นก็ยังมีอยู่ เดี๋ยวนี้สำหรับผู้ที่กำลังฟัง แล้วก็เข้าใจบ้าง อยู่ตรงไหน คุณจำนงนึกภาพออกไหมคะ ว่ากำลังอยู่ตรงไหน
ผู้ฟัง ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน
ท่านอาจารย์ อยู่กลางทะเล โอฆะ กว้างใหญ่ มืดสนิท มีเครื่องประกอบพร้อมที่จะตรึงอยู่ให้จม เราไม่เคยรู้เลยว่าอาการจะหนักหนาสาหัสถึงระดับนั้น แต่ลองคิดดู ต้องฟันฝ่า ไม่ใช่ว่าคนที่ฟังธรรมแล้วนั่งเฉยๆ สบายๆ รู้ก็รู้ ไม่รู้ก็ไม่รู้ อย่างนั้นก็แสดงว่าเราไม่เข้าใจคุณค่าจริงๆ แต่เรารู้กำลังของเราว่าระดับไหน แค่ไหน และเราอยู่ตรงไหน ทะเลของโอฆะคือ อวิชโชฆะ ความไม่รู้กว้างสุดสายตา กำลังเผชิญหน้าอยู่แท้ๆ ก็ไม่รู้ ทั้งวันทั้งคืนก็ไม่รู้ กี่วัน กี่เดือน กี่ปี กี่ชาติ ก็ไม่รู้ ก็อยู่ตรงในทะเลลึก และกิเลสอื่นๆ ก็ยังเป็นเครื่องประกอบตรึงผูกไว้อีก ไม่ใช่อยู่ๆ มีแขนขาที่จะว่ายน้ำข้ามได้เร็ว แต่ว่าถูกพันธนาการด้วยกิเลสทั้งหลาย
เพราะฉะนั้น วิริยะก็คือ การที่เราจะไม่ท้อถอย ต้องฟันฝ่า ต้องรู้ว่าจะพ้นได้เพราะมีหนทาง แม้ว่าจะเป็นหนทางที่นานแสนนาน ไกลแสนไกล แต่เริ่มเดินไปทีละเล็กทีละน้อยก็ต้องถึง เหมือนอย่างมดนี่ บนภูเขาสูงๆ ก็ยังมีได้ มาได้อย่างไร ขาเล็กๆ เล็กกว่าเรามาก ใช่ไหม เราก้าวไปได้เร็วกว่ามดตั้งหลายเท่า แต่เราก็ไปพบมดบนภูเขา ก็แสดงให้เห็นว่าถ้ามีวิริยะ หรือมีความเพียร ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง ทุกคำเป็นความจริง ตบะในที่นี้ คือเผากิเลส เผาความไม่รู้ ไม่รู้อะไร ไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ใช่ไม่รู้อย่างอื่น แต่ว่ามีสิ่งที่ปรากฏพร้อมกับความไม่รู้ ที่จากการฟังก็จะทำให้เรารู้จักตัวเองถูกต้องตามความเป็นจริงขึ้น อยู่ในทะเล หรือเปล่า กลางทะเล หรือเปล่า หรือว่าอีกฝั่งหนึ่ง คนละฝั่งกับฝั่งของนิพพาน คือเป็นฝั่งที่มีกิเลส
ผู้ฟัง สัณฐานในเสียงก็ไม่มี มีแค่เสียง ลึกเกินที่จะไปคิดแล้วว่ามันเรื่องเก่า เรื่องอะไร จริงๆ ลึกมาก
ท่านอาจารย์ ก็เป็นผู้ที่ไม่ประมาท คืออย่างไรก็ตาม ก็รู้ว่า ธรรมลึกซึ้ง อย่าผลีผลาม และก็อย่าคิดว่าง่าย อย่าคิดว่าเข้าใจแล้ว แต่จะเข้าใจ หรือไม่เข้าใจก็คือ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นเครื่องวัดให้รู้ว่า ความเข้าใจของเราระดับไหน แค่ไหน
อ.วิชัย สิ่งที่ปรากฏทางตา เหตุใดจึงต้องเฉพาะทางตาเท่านั้น เหตุใดหูถึงไม่เห็น ทางกายไม่เห็น หรือแม้ทางลิ้นขณะที่จะรู้รสอาหาร แม้มือจะสัมผัสก็ไม่รู้รส แล้วเหตุใดจะต้องรู้รสเฉพาะที่ลิ้นเท่านั้น นี้คือ ความอัศจรรย์ของสภาพธรรม ว่าจะต้องมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่จะให้เกิดความรู้ทางด้านตาด้วย ขอเรียนถามท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ เราก็ได้เข้าใจปรมัตถธรรมพอสังเขป หมายความถึงสิ่งที่มีจริงก็มีสภาพที่ต่างกัน คือ นามธรรม กับ รูปธรรม แม้ไม่ต้องเรียกชื่อ ข้อสำคัญที่สุดคือ ธรรมไม่ต้องเรียกชื่ออะไรเลย เป็นธรรมที่ใครก็เปลี่ยนลักษณะของธรรมนั้นไม่ได้ สภาพที่เป็นปรมัตถธรรม มี ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน มีสิ่งใดนอกจากนี้ ที่ควรจะรู้ เพราะเหตุว่า เราอยู่ในโลกของการไม่รู้ในลักษณะของ จิต เจตสิก รูป ไม่รู้ว่าเป็นจิต แต่คิดว่าเป็นเรา เป็นเราเห็น เราได้ยิน เราคิดนึก ไม่รู้ว่าเป็นเจตสิก แต่เป็นเราสุข เราทุกข์ ไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่ปรากฏทางกาย มีแต่เย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ตึง หรือไหว เราก็คิดว่าเรากำลังกระทบสัมผัสชื่อต่างๆ ตามวิชาการต่างๆ จะเป็นทางการแพทย์ หรือจะเป็นอะไรก็ได้ อาจจะคิดว่ากำลังจับปอด หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าความจริงแล้วรู้ไหมว่าขณะนั้น มีลักษณะที่แข็ง แล้วแต่ว่าจะเรียกชื่อว่าอะไร ทำไมเราถึงเรียกชื่อต่างกัน เพราะเหตุว่า สภาพธรรมต่างกันอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า เพราะความจำ ถ้าไม่มีความจำ ชื่อต่างๆ ก็ไม่มี เวลาที่เราคิดถึงคำว่าคน เราจะจำอย่างหนึ่ง และคิดอย่างหนึ่ง เมื่อพูดถึงคำว่าแมว เราก็จะจำอีกอย่างหนึ่ง คิดอีกอย่างหนึ่ง แม้เสียงจะเพียงสูงๆ ต่ำๆ แต่อาศัยความจำ ทำให้เรามีความคิด โดยที่เราไม่ได้รู้ตัวเลย ว่าขณะนั้นแท้ที่จริงแล้ว ต้องมีความคิดถึงสิ่งที่กำลังปรากฏด้วย
เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ปรากฏเสมือนไม่ดับเลย ปรากฏเสมือนว่าสืบต่อจนกระทั่งเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะเหตุว่า สภาพที่เกิดดับไม่ได้ปรากฏ แล้วการเกิดดับสืบต่ออย่างเร็ว ทำให้มีรูปร่างสัณฐาน มีความทรงจำในสิ่งที่ปรากฏ ทันทีที่เห็น จำได้ทันที ไม่ต้องเรียกชื่อ ไม่ต้องกล่าวเป็นคำ รู้ทันทีว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ขณะใดก็ตาม ที่มีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ เป็นสภาพธรรม เป็นปรมัตถธรรม แต่ความคิดนึกจากการจำ ขณะนั้นเรื่องราวต่างๆ ที่มี และก็เป็นสิ่งสำคัญเหลือเกิน ไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่จิตที่คิดเป็นปรมัตถธรรม เรื่องราว รูปร่างสัณฐาน ที่เราจดจำไว้ทั้งหมด เป็นแต่เพียงความทรงจำในเรื่องราวของสิ่งที่เป็นปรมัตถธรรมที่เคยเห็น ซึ่งเป็นอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่ปรมัตถธรรม ก็คือ บัญญัติ หมายถึงความคิดนึกที่มีรูปร่างสัณฐาน หรือว่าความทรงจำใดๆ ก็ตามทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่สภาวธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ถ้าจิตไม่เกิดคิดถึงเรื่องหนึ่งเรื่องใด เรื่องนั้นจะไม่มี
เพราะฉะนั้น ทุกเรื่องที่กำลังมีในขณะนี้ที่กำลังคิด จิตคิดถึงเรื่องราวความทรงจำของสิ่งที่เคยผ่านมาแล้ว สิ่งที่ยังจำได้อยู่เป็นบัญญัติ เป็นแต่เพียงการคิดนึกถึงสิ่งที่เคยได้ยินได้ฟัง หรือเคยพบมาแล้วเท่านั้น ถ้าเราใช้คำว่า “บัญญัติ” คืออะไร แล้วตอบไปง่ายๆ ก็เหมือนเราจะเข้าใจ แต่มาจากไหน ตรงไหน เมื่อไหร่ ขณะไหน จะทำให้เราเข้าใจขึ้น ว่าขณะนี้อะไรเป็นปรมัตถ และอะไรเป็นบัญญัติ
ผู้ฟัง ผมขอกล่าวถึงเรื่องเสียงอีกครั้ง คือ คำสรรเสริญในเสียงก็ไม่มี คำนินทาก็ไม่มี คำด่า คำว่า ก็มีแค่เสียง แต่อะไรทำให้เราปรุงแต่งเป็นสุขเป็นทุกข์ได้
ท่านอาจารย์ ถ้ากล่าวโดยย่อ คือ จิตคิด ขณะใดที่จิตคิดถึงรูปร่าง สัณฐาน ของสิ่งที่เคยเห็น เคยได้ยิน เป็นต้น เป็นเรื่องราวต่างๆ เรื่องราวต่างๆ ทั้งหมดไม่ใช่ปรมัตถธรรม เป็นแต่เพียงขณะที่จิตจำเรื่องราว สัณฐานของสิ่งที่เคยปรากฏเท่านั้น เพราะฉะนั้นก็มีสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมกับสภาพขณะที่จิตคิดเป็นเรื่องราว
ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์ว่า เหตุใด สัญญาเจตสิกจึงยอดเยี่ยมเหลือเกิน จำสัณฐานของเสียงเสียจน ...
ท่านอาจารย์ มีคำตอบ หรือไม่ เพราะเป็นลักษณะของสัญญาเจตสิก ใครก็เปลี่ยนลักษณะนั้นไม่ได้ จะให้จิตจำไม่ได้ จิตไม่ได้มีลักษณะจำ จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่าอารมณ์ หรือ อาลมฺพน อารมณ์เป็นภาษาไทย สิ่งใดที่จิตกำลังรู้ สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ คือสิ่งที่ถูกจิตรู้ เพราะฉะนั้นจิตไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากเป็นสภาพที่รู้แจ้งในลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ ที่เราเห็นเป็นคนต่างๆ ถ้าจิตไม่เห็น ไม่รู้แจ้งในความต่าง จะรู้ได้ไหมว่าเป็นหลายคน ต้นไม้หลายต้น หลายชนิด ดอกไม้อะไรก็แล้วแต่
เพราะฉะนั้น ก็เห็นได้ว่าแม้แต่ความจำ ต้องอาศัยเกิดกับจิตที่รู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏให้จิตรู้ แต่จิตไม่มีหน้าที่จำ ที่ว่าเหตุใดจึงจำได้มากมายเหลือเกิน จำได้วิจิตร จำได้ทุกเรื่องตั้งแต่เป็นเด็กมา นิทานกี่เรื่องก็ยังนึกออก คำโคลงคำกลอนอะไรก็คิดออก เพราะอะไร เพราะสัญญาเจตสิก ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ก็เพราะสัญญาเจตสิกเป็นสภาพที่จำ เปลี่ยนลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างไม่ได้เลย สภาพจำก็มีหน้าที่จำเท่านั้น ทำอย่างอื่นไม่ได้ โกรธไม่ได้ สุขไม่ได้ ทุกข์ไม่ได้ แต่จำได้
ผู้ฟัง คิดว่าสัญญาเจตสิกคงมีบทบาทมาก พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรง ยกขึ้นมาเป็นสัญญาขันธ์ เป็นกองๆ หนึ่งแยกต่างหากจากขันธ์อื่น
ท่านอาจารย์ เมื่อกล่าวถึงขันธ์ หรือ คำว่ากอง ก็จะได้เพิ่มเติมสำหรับวันนี้ว่า ธรรมที่เกิดดับมีจริงใช่ หรือไม่ เพราะเกิดแล้ว แล้วก็ดับไปแล้วด้วย และก็มีปัจจัยเกิดอีก แล้วก็ดับไปอีก แต่ไม่เปลี่ยน คือรูปทั้งหมดทุกรูป มองเห็น หรือมองไม่เห็นก็ตาม เป็นรูปธรรม จะเป็นนามธรรมไม่ได้ รูปธรรมจะกลายเป็นสภาพรู้ไม่ได้เลย ไม่มีใครเห็นเสียง ไม่มีใครเห็นกลิ่น เพราะฉะนั้น กลิ่นเป็นรูป เพราะไม่ใช่สภาพรู้ กลิ่นในอดีต กลิ่นปัจจุบัน กลิ่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ก็เป็นลักษณะของกลิ่น
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 1
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 2
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 3
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 4
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 5
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 6
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 7
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 8
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 9
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 10
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 11
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 12
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 13
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 14
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 15
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 16
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 17
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 18
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 19
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 20
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 21
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 22
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 23
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 24
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 25
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 26
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 27
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 28
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 29
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 30
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 31
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 32
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 33
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 34
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 35
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 36
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 37
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 38
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 39
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 40
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 41
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 42
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 43
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 44
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 45
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 46
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 47
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 48
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 49
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 50
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 51
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 52
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 53
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 54
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 55
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 56
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 57
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 58
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 59
- พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 60