ปกิณณกธรรม ตอนที่ 16
ตอนที่ ๑๖
สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลปากเกร็ดเวชการ
พ.ศ. ๒๕๓๖
ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์ ก่อนที่จะถามท่านอาจารย์ในจุดว่า ความหมายของคำนี้ซึ่งเป็นเรื่องของเจตสิก ขออนุญาตกราบเรียนถึงคำว่า โลกที่แบ่งออกเป็นตั้ง ๓ โลกนี้ มีโอกาสโลก สังขารโลก อีกคำหนึ่ง
ท่านอาจารย์ สัตวโลก
ผู้ฟัง โอกาสโลกนี้หมายความถึงว่า
ท่านอาจารย์ โลกจักรวาล
ผู้ฟัง อย่างเช่น ที่เรายืนอยู่นี้เป็นโลก
ท่านอาจารย์ พระจันทร์ พระอาทิตย์ ดาวอังคาร ดาวต่างๆ
ผู้ฟัง เกิดมาจากดิน น้ำ ไฟ ลม อะไรอย่างนี้ สังขารโลกคือสิ่งที่เกิดขึ้น
ท่านอาจารย์ สภาพที่ปรุงแต่งเกิดดับ
ผู้ฟัง และสุดท้าย
ท่านอาจารย์ สัตวโลก
ผู้ฟัง สัตวโลกนี้หมายความถึงว่า เราเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น
ท่านอาจารย์ พวกมนุษย์ พวกเทวดา พวกสัตว์เดรัจฉาน เพราะว่า สัตวโลก เป็นที่ดูกรรม และผลของกรรม บาป และบุญ และผลของบาป และบุญ เพราะเหตุว่า โต๊ะพวกนี้ทำบาป ทำบุญอะไรไม่ได้เลย แต่สัตวโลก เราสามารถจะเห็นจากพฤติกรรม การกระทำ คือ เห็นบาป เห็นบุญ บอกได้ว่า คนนี้ทำบุญ คนนั้นทำบาปใช่ไหม สัตวโลก หรือว่า สัตวโลกเป็นที่ดูผลของบุญ และผลของบาป เกิดมาง่อยเปลี้ย หรือว่า พิการตั้งแต่กำเนิด เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน รู้ว่า เป็นผลของอกุศลกรรม หรือว่า ชีวิตในวันหนึ่งๆ ที่เป็นอยู่ บางครั้งได้รับผลของอกุศลกรรม
แม้แต่การรับประทานอาหารที่อร่อย บางทีกระทบกรวดหรือทรายเม็ดเล็กๆ ในอาหาร หรือว่าพริกที่เผ็ดจัดหรืออะไรอย่างนี้ ขณะนั้นไม่ได้หวังว่าจะเกิดอกุศลวิบากอย่างนั้น แต่มีเหตุปัจจัยที่จะให้ได้รับกระทบสิ่งที่ไม่น่าพอใจ เป็นอกุศลวิบาก เพราะฉะนั้นถ้าจะย่อยเหตุการณ์ซึ่งคิดว่าเป็นเหตุการณ์ใหญ่มาเป็นขณะจิตแต่ละขณะ ขณะนี้กำลังเป็นโลกทางตา หรือขณะนี้กำลังเป็นโลกทางหู หรือขณะที่กำลังนั่งรับประทานอาหาร เป็นโลกรับประทานอาหาร แต่ย่อยลงไปแล้วเป็นโลกทางตาที่เห็นอาหาร เป็นโลกทางลิ้นที่กำลังลิ้มรสอาหาร นี้ก็แยกได้ว่า ขณะใดเป็นวิบากเป็นผลของกรรมอะไร เพราะฉะนั้น สัตวโลกเป็นที่ดูบุญ และบาป และผลของบุญ และบาป
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น โลกุตตระ หมายความว่า
ท่านอาจารย์ พ้นจากโลกทั้งหมดเลย เหนือโลก
ผู้ฟัง การที่จะถึงโลกุตตระได้จะต้องมีปัญญา อันนี้เป็นเจตสิก
ท่านอาจารย์ แน่นอน เป็นปัญญาที่ถึงไม่ใช่เรา
ผู้ฟัง ไม่ใช่เราที่ถึง เพราะฉะนั้นอยากกราบเรียนถามว่า ปัญญาที่ท่านอาจารย์บอกว่า ปัญญาทำหน้าที่ของเขา
ท่านอาจารย์ ปัญญารู้ ปัญญาเข้าใจถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรม ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ไม่เข้าใจผิดในสภาพธรรม ได้ยินเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ถ้ารู้ว่า ลักษณะที่รู้ สภาพรู้ ธาตุรู้ มีจริง ลักษณะที่กำลังได้ยิน ไม่ใช่ตัวตน ขณะที่กำลังเข้าใจถูก เป็นปัญญา ขณะที่ประจักษ์แจ้งการเกิดดับเป็นปัญญาที่สูงขึ้น ขณะที่ละการยึดถือว่า เป็นตัวตน เป็นพระอริยบุคคล เป็นปัญญาขั้นโลกุตตระ
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นหมายความว่า ปัญญาจะทำหน้าที่ของปัญญาเอง
ท่านอาจารย์ ใช่ ทุกอย่าง สภาพธรรมแต่ละชนิดมีกิจ มีลักษณะ มีหน้าที่เฉพาะของตนๆ โลภะมีลักษณะอย่าง ๑ มีกิจอย่าง ๑ มีเหตุใกล้ให้เกิดอย่าง ๑ โทสะมีลักษณะอย่าง ๑ มีกิจการงานหน้าที่อย่าง ๑ มีเหตุใกล้ให้เกิดอย่าง ๑ เมื่อเป็นสภาพธรรมที่มีจริงแล้ว ต้องมีลักษณะ ที่รู้ว่า เงาะไม่ใช่มังคุดเพราะเหตุว่า ลักษณะต่างกัน เพราะฉะนั้นสภาพธรรมแต่ละอย่าง จิตแต่ละชนิด เจตสิกแต่ละชนิด รูปแต่ละชนิด มีลักษณะ มีกิจการงานต่างๆ กัน
ผู้ฟัง ความเพียรที่ท่านอาจารย์สกลได้กล่าวถึงในช่วงแรกนั้น และท่านอาจารย์ได้คอมเมนต์ว่า มันเป็นหน้าที่ของ
ท่านอาจารย์ วิริยเจตสิก
ผู้ฟัง วิริยเจตสิกที่เกิดขึ้น และอาจจะอธิบายไปถึงคำว่า สติ ได้ด้วยใช่ไหม
ท่านอาจารย์ สติเป็นสภาพที่ระลึก เป็นไปในกุศล
ผู้ฟัง เป็นไปในกุศล เพราะฉะนั้นปัญญาจะเกิดขึ้นได้ ต้องเกิดมาจากสภาพที่ระลึกรู้ ที่เป็นกุศล
ท่านอาจารย์ เวลาที่สภาพธรรมที่เป็นฝ่ายกุศลเกิดขึ้น จะประกอบด้วยเจตสิกฝ่ายดีมาก มิฉะนั้นแล้วเป็นอกุศล ไม่สามารถที่จะเป็นกุศลได้ สภาพธรรมนี้จะเห็นได้ว่า จิตแต่ละขณะนี้มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่เท่ากัน ถ้าเป็นจิตเห็น จะมีเจตสิกเกิดด้วยไม่มาก คือเพียง ๗ ประเภท ถ้าเป็นอกุศลจิต ก็เพิ่มขึ้นอีก คือ มีโมหะ และมีอวิชชาพวกนี้ ที่เป็นฝ่ายอกุศลเกิดร่วมด้วย ถ้าเป็นฝ่ายกุศลต้องอาศัยโสภณเจตสิกถึง ๑๙ ประเภท จึงจะเป็นกุศลจิตได้ เพราะฉะนั้น สติเป็นโสภณเจตสิกประเภท ๑ ใน ๑๙ ประเภท เพราะฉะนั้นจะกล่าวว่า เวลาที่กุศลจิตเกิด ไม่มีสติไม่ได้ มีทั้งศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ มีอโลภะ มีอโทสะ มีตัตตรมัชฌัตตตา มีโสภณสาธารณเจตสิกอื่นๆ อีก รวมแล้วอย่างน้อยที่สุด ๑๙ ประเภท เพราะฉะนั้น ต้องเกิดพร้อมกัน เกิดด้วยกัน
ผู้ฟัง โอกาสที่สติจะมีปัญญาเกิดด้วย หรือว่า สติที่ไม่มีปัญญาเกิดด้วยเป็นไปไม่ได้
ท่านอาจารย์ เป็นไปได้เพราะว่า บางครั้งสติระลึกเป็นไปในทานคือ การให้ แต่ไม่ประกอบด้วยปัญญา แต่ขณะใดที่มีปัญญา ขณะนั้นต้องมีสติ แต่ขณะใดที่มีเพียงสติ ปัญญาไม่มีก็ได้ เพราะฉะนั้นกุศลแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ กุศลที่ประกอบด้วยปัญญาประเภทหนึ่ง และกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาอีกประเภทหนึ่ง ก่อนศึกษาธรรม ทุกคนมีกุศลประเภทที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เช่น ให้ทาน รักษาศีล พวกนี้ไม่ต้องประกอบด้วยปัญญาก็ได้ แต่ขณะที่เริ่มเข้าใจธรรม ขณะนั้นไม่ใช่เรา เป็นปัญญาเจตสิตที่กำลังจะเกิด กำลังจะเจริญขึ้น
ผู้ฟัง ปัญญานี้ใช่ไหมที่เป็นตัวที่ทำให้จิตสงบ
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นความสงบจริงๆ ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นสงบจากอกุศล ขณะใดที่มีเมตตา ขณะนั้นโกรธไม่ได้ โกรธเกิดไม่ได้เลยขณะที่กำลังเมตตา เพราะฉะนั้นถ้าจะเข้าใจลักษณะของสงบคือว่า ขณะใดที่จิตเป็นกุศลขณะนั้นสงบจากอกุศล คำว่า สงบ ต้องมีสงบจากอกุศลด้วยจึงจะชื่อว่า สงบ ไม่ใช่ไปนั่งๆ ไม่รู้อะไร ขณะนั้นมีโมหะ ไม่ใช่สงบจากอกุศล เพราะฉะนั้นต้องรู้ความหมายว่า สงบที่นี้ คือสงบจากอกุศล และถ้าจะสงบขึ้นๆ ต้องประกอบด้วยปัญญา จึงจะสงบขึ้นได้ ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญา สงบชั่วขณะที่เป็นทานบ้าง เป็นศีลบ้างนิดๆ หน่อยๆ แต่ถ้าจะให้ตั้งมั่นคงขึ้น ต้องประกอบด้วยปัญญา ถ้าปัญญาไม่มี จะไปนั่งเท่าไหร่ สงบขึ้นไม่ได้
เพราะเหตุว่า มีหลายระดับ ขณะใดที่จิตเป็นกุศล ขณะนั้นสงบจากอกุศล นี้ทั่วๆ ไป คือกำลังให้ทาน จิตสงบจึงให้ได้ สงบจากอกุศล ขณะนั้นไม่โลภ ไม่โกรธ เพราะเหตุว่า ถ้ายังติดข้องในสิ่งที่จะให้ ให้ไม่ได้ ถึงตั้งใจว่าจะให้ ก็ให้ไม่ได้ เพราะยังต้องการของนั้นอยู่ หรือว่า โกรธคนที่จะรับ คิดว่าจะให้คนนี้ แต่เกิดไม่ถูกใจ เปลี่ยนแล้ว ไม่ให้คนนี้แล้วก็ได้ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ให้ ขณะนั้นไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ จึงให้ แต่ไม่ได้หมายความว่าประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น การให้ที่ประกอบด้วยปัญญาก็มี ที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็มี เพราะเหตุว่า กุศลมี ๒ ประเภท กุศลที่ประกอบด้วยปัญญาก็มี กุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็มี และก่อนศึกษาธรรม ส่วนใหญ่เป็นกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา
ผู้ฟัง ในขณะนี้ที่ต้องการที่สุดคือว่า บางเวลาสงบนิ่ง และมีสติว่าทำ
ท่านอาจารย์ อย่าใช้คำว่า มีสติ เพราะยังไม่รู้จักลักษณะของสติ
ผู้ฟัง คือรู้ว่า ตัวทำอะไรอยู่
ท่านอาจารย์ รู้ว่า ตัวกำลังพอใจ
ผู้ฟัง พอใจทำอะไรอยู่
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นโลภะแล้ว
ผู้ฟัง ยังเป็นโลภะ
ท่านอาจารย์ ก็พอใจ
ผู้ฟัง ไม่ใช่รู้ว่า พอใจ รู้ว่า ทำอะไรอยู่
ท่านอาจารย์ แล้วชอบไหม
ผู้ฟัง จะว่า ชอบก็แล้วแต่บางเรื่อง อย่างเช่น ทำสมาธิอย่างนี้ เป็นต้น จะเรียกว่าชอบ
ท่านอาจารย์ ต้องชอบ ไม่ชอบไม่ทำ
ผู้ฟัง คงไม่เรียกว่า โลภะ
ท่านอาจารย์ เป็นเลย
ผู้ฟัง เป็นเลยหรือ ต้องการจิตให้นิ่งๆ อย่างนี้
ท่านอาจารย์ นั้นคือต้องการเต็มที่ ไม่ได้ต้องการปัญญา
ต้องการสงบนิ่ง ไม่ให้รู้อะไรเลย แต่ปัญญารู้ รู้ถูกต้อง เข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ มีสิ่งที่กำลังปรากฏแล้ว เคยไม่รู้ แต่ปัญญานั้นรู้ อวิชชาต่างหากที่ไม่รู้ อย่างเห็นนี้เคยเป็นตัวตน เป็นเรานั้นคืออวิชชา แต่ปัญญารู้จริงๆ ว่า เป็นชั่วขณะหนึ่งซึ่งเห็นแล้วก็ดับไปเลย
ผู้ฟัง อันนั้นเข้าใจ ที่จะถามคือว่า มีวิธีอะไรไหม
ท่านอาจารย์ วิธีจริงๆ ไม่มีใครชอบ ไม่มีใครทำ คือ ศึกษาธรรม นี้คือวิธีจริงๆ แต่วิธีที่ต้องการ คือ ไม่ใช่วิธี คือ จะให้ทำ ต้องการกันมาก คือ บอกเถอะ จะทำได้ บอกให้ทำอะไรก็จะทำ แต่ไม่ใช่ปัญญาเลย
ผู้ฟัง แม้จะบอกให้ทำ
ท่านอาจารย์ ทำได้ใช่ไหม
ผู้ฟัง ที่อาจารย์สอนนี้เข้าใจว่า คนละแขนงของหลักธรรมหรือ
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นธรรมต้องเกิดปัญญา
ผู้ฟัง คือสายปัญญา
ท่านอาจารย์ จะสายไหนไม่ได้ ถ้าเป็นธรรมต้องเกิดปัญญา
ผู้ฟัง มีอีกสายหนึ่งไหม
ท่านอาจารย์ ไม่มี ชื่อใช่ไหม แล้วคืออะไร เวลานี้เขามาบอกว่า ผ้าขาวก็เป็นผ้าขาวไปกับเขา เขาบอกว่า วิปัสสนาแต่ยังไม่รู้ว่า วิปัสสนาคืออะไร ถ้ารู้ก่อนว่า วิปัสสนาคืออะไรถึงจะรู้ว่า ที่เขาบอกนั้นเป็นวิปัสสนาหรือไม่ใช่วิปัสสนา
ผู้ฟัง เขาบอกว่า เบื้องต้นเพราะรู้ว่า ยังไม่เคยฝึกอะไร บอกว่า กำหนดหายใจเข้าออก กำหนดตรงนั้น
ท่านอาจารย์ ปัญญาอยู่ที่ไหน
ผู้ฟัง ก็กำหนดตรงนั้น
ท่านอาจารย์ ปัญญาอยู่ที่ไหน ปัญญารู้อะไร อยู่ดีๆ ไปนั่งกำหนด
ผู้ฟัง ถึงทำไม่สำเร็จ กำหนดแล้วไม่เกิน ๒ นาที แวบออกไปเลย
ท่านอาจารย์ ให้ทราบว่า ขณะนั้นอยากรู้ เป็นอะไร แล้วก็ไม่รู้ทั้งๆ ที่อยากรู้ ก็เหมือนผ้าดำเลย
ผู้ฟัง อย่างนั้นที่ว่า ถ้ารู้ปัญญาแล้ว สามารถกำหนดจิตให้นิ่งได้
ท่านอาจารย์ ถ้ารู้ คนนั้นรู้ว่า ที่คนอื่นบอก ผิดหรือถูก นั้นคือคนรู้ ส่วนคนไม่รู้ ใครจะบอกว่าอะไร ก็คิดว่า ถูกทั้งนั้น เพราะไม่รู้
ผู้ฟัง แล้วสิ่งที่ถูกคืออะไร
ท่านอาจารย์ คือความถูกต้องว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร ปัญญารู้อะไร สิ่งที่กำลังปรากฏ รู้ไหม ถ้าสิ่งที่กำลังปรากฏไม่รู้ แล้วจะไปรู้อะไร คิดดู มีอะไรจะให้รู้ ในเมื่อสิ่งนี้กำลังปรากฏ ก็ไม่รู้ แล้วจะไปรู้อะไร สิ่งที่ไม่ปรากฏ จะไปรู้สิ่งที่ไม่ปรากฏได้อย่างไร สิ่งที่กำลังปรากฏแล้วไม่รู้ต่างหากที่จะต้องรู้ขึ้น
ผู้ฟัง หมายความว่า ให้รู้ ให้ใช้
ท่านอาจารย์ ไม่มีการใช้
ผู้ฟัง ให้เข้าใจอะไร แต่ละนาที
ท่านอาจารย์ ว่าทางที่จะเข้าใจสภาพธรรม ซึ่งตั้งแต่ลืมตาเป็นสภาพธรรมทั้งหมด มีคนหนึ่ง ไปแสวงหาธรรมสารพัดทั่วทิศ แต่พอเข้าใจแล้ว ลืมตาก็มีธรรมเผชิญหน้า กำลังเห็นนี้ล่ะคือธรรม สิ่งที่ปรากฏทางตาคือธรรม เสียงคือธรรม ได้ยินคือธรรม ความติดข้องคือธรรม ความเสียใจคือธรรม ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม รู้สิ่งต่างๆ เหล่านี้เพราะมีปรากฏให้รู้ ไม่ต้องไปทำ มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นเป็นอนัตตา แล้วไม่รู้ แล้วจะไปรู้อย่างอื่น แล้วจะไปทำให้รู้อย่างอื่น ทำไมไม่รู้สิ่งที่มีอยู่แล้ว
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น เลยย้อนไปอีกอันหนึ่ง ไม่ทราบว่าเป็นอันเดียวกันหรือเปล่า ที่ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ที่ผมพูดอยู่เวลานี้ คือ ตัวสมาธิตัวนั้นหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ สมาธิมี ๒ อย่าง มิจฉาสมาธิกับสัมมาสมาธิ
ผู้ฟัง ลักษณะ ๒ อย่าง ต่างกันหรือเปล่า มีรูปร่างอย่างไร
ท่านอาจารย์ สัมมาสมาธิ คือ สมาธิที่เกิดกับปัญญา มิจฉาสมาธิไม่เกิดกับปัญญา ถ้าเป็นปัญญาผิดไม่ได้ ปัญญาต้องถูก ต้องตรงต่อลักษณะของสภาพธรรม พระพุทธเจ้าเห็นไหม
ผู้ฟัง พระพุทธเจ้า
ท่านอาจารย์ ก่อนปรินิพพานเห็นไหม
ผู้ฟัง ไม่ทราบ
ท่านอาจารย์ เห็นท่านพระสารีบุตรไหม ไปบิณฑบาตหรือเปล่า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ยังไม่ปรินิพพาน ระหว่างยังไม่ปรินิพพาน เห็นไหม ได้ยินไหม แสดงธรรม และต้องเห็นไหม ต้องได้ยินไหม เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เห็นหรือเปล่า ได้ยินหรือเปล่า นี้คือปัญญา ความคิดถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ไม่ใช่ปัญญาของคนอื่น ปัญญาของเราเอง เกิดจากการใคร่ครวญพิจารณาในเหตุผลตามความเป็นจริงว่า เมื่อคนยังไม่ตาย ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าหรือไม่ใช่พระพุทธเจ้า เห็นไหม ได้ยินไหม คิดนึกไหม
ผู้ฟัง ถ้าชีวิตประจำวัน ต้องเห็น ต้องคิดนึก
ท่านอาจารย์ ถูกต้องใช่ไหม พุทธเจ้าเห็นกับเราเห็น ต่างกันหรือเหมือนกัน
ผู้ฟัง เรื่องหนึ่งเกิดขึ้น แต่แง่มุม
ท่านอาจารย์ เอาการเห็น ลักษณะที่เห็น แมวเห็น นกเห็น เราเห็น พระพุทธเจ้าเห็นต่างกันอย่างไร
ผู้ฟัง ต้องต่างกัน
ท่านอาจารย์ ต่างกันอย่างไร จิตเห็น
ผู้ฟัง ถ้าเป็นแมวเห็น ลักษณะความเข้าใจ ปัญญาของแมว
ท่านอาจารย์ ไม่ได้พูดถึงความเข้าใจ พูดถึงการเห็น เข้าใจต้องทีหลังเห็น ต้องเห็นก่อน
ผู้ฟัง เห็นก่อน สภาพที่ปรากฏต้องเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ เหมือนกันไม่ว่า จะเชื้อชาติไหน เด็กเล็ก ผู้ใหญ่ สัตว์ หรือคน ถ้าเกิดในนรกแล้วเห็น เห็นนั้นเหมือนกันไหมกับเห็นเดี๋ยวนี้
ผู้ฟัง ต้องเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ เทวดาเห็น พรหมเห็น กับเราเห็น เหมือนกันหมด เพราะอะไร
ผู้ฟัง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น อันเดียวกัน
ท่านอาจารย์ เพราะที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงธาตุชนิดหนึ่งซึ่งต้องเห็นสิ่งที่ปรากฏ ธาตุชนิดนี้ได้ยินไม่ได้ คิดนึกไม่ได้ ทำได้อย่างเดียวคือเห็น นี้คือชั่วขณะจิตที่แสนสั้น ยิ่งกว่าเสี้ยววินาที เพราะฉะนั้น เราจะย่นย่อโดยคอมพิวเตอร์หรือโดยอะไรก็ตาม ถึงความรวดเร็วของการเกิดดับ จะรู้ว่า ขณะที่เห็น ชั่วขณะสั้นๆ เป็นจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย มีเจตสิกประกอบเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นใครเห็น เห็นที่ไหนทั้งสิ้น พระพุทธเจ้าท่านเห็นใช่ไหม เราก็เห็น แต่ว่าเมื่อพระพุทธเจ้าเห็นแล้วไม่มีกิเลส ถูกต้องไหม แต่เราเห็นแล้วมีกิเลส ถูกต้องไหม เพราะฉะนั้น ความต่างกันของสองบุคคลนี้ อยู่ที่ปัญญาใช่ไหม
ผู้ฟัง ใช่
ท่านอาจารย์ เมื่อพระพุทธเจ้าท่านเห็นแล้ว ปัญญาท่านรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ นั่นคือปัญญา แต่เราไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ถ้าจะพูดถึงวิปัสสนา หรือว่าปัญญา คือ ปัญญารู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ต้องไปทำอะไรขึ้นมา แต่เป็นการสามารถประจักษ์ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งอบรมได้ เจริญได้ ตั้งแต่ขั้นฟัง คือ ต้องมีการฟังให้เข้าใจก่อน ถ้าไม่มีการฟังเลย รับรองว่า จะไม่เกิดปัญญาที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ จะไปนั่งหลับตาแล้วไม่เกิดปัญญารู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ
ผู้ฟัง วิปัสสนากรรมฐานนี้เป็นของพระพุทธเจ้าหรือ
ท่านอาจารย์ วิปัสสนาแปลว่าอะไร
ผู้ฟัง ไม่ทราบ
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ทราบก็ยังไม่พูดถึงว่า จะเป็นของพระพุทธเจ้าหรือไม่ใช่เป็นของพระพุทธเจ้า เพราะเขาบอกว่า นี้เป็นวิปัสสนา ทั้งๆ ที่ไม่ใช่วิปัสสนา และเขาบอกว่า นี่ของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น เพียงชื่อไม่พอที่จะบอกว่า เป็นของพระพุทธเจ้าหรือเปล่า เพราะชื่อนี้ใครก็พูดได้ เหมือนกับ “อารมณ์” ไปใช้ตามสบายใช่ไหม แต่คำว่า อารมณ์ จริงๆ นั้นคืออะไร เพราะฉะนั้น สิ่งที่ไม่ใช่วิปัสสนา เขาปิดป้ายว่า นี้วิปัสสนา และไปคิดตามว่า นี้คือวิปัสสนา ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่า วิปัสสนาคืออะไร
ผู้ฟัง เหมือนกับเข้าโรงเรียน โรงเรียนนี้ว่า สอนวิชาอะไร เราไม่รู้อะไรก็ต้องติดป้ายอย่างนี้
ท่านอาจารย์ พระพุทธเจ้าไม่สอนให้เราโง่ คนที่ศึกษาพระธรรมสามารถที่จะเข้าใจได้ว่า ใครพูดถูกหรือใครพูดผิด
ผู้ฟัง ก็จริงอยู่ แต่ว่าต้องใช้เวลาเรียนก่อนจึงจะรู้ว่า ถูกหรือผิด
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้นอย่ามีคำถามว่า ทำอย่างไร เพราะว่า ต้องเป็นเรื่องอบรม เรื่องการใช้เวลา ไม่ใช่เรื่องทำ ถ้าทราบถึงโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งหลายคนอาจจะเคยได้ยินคำนี้ว่า เป็นการประมวลคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็ใช้กันมากเลย ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ในวันมาฆบูชา มีพระภิกษุอรหันต์มาประชุมกันโดยไม่ได้นัดหมาย ๑๒๕๐ รูป อะไรอย่างนี้
ฟังแต่ชื่อมาว่า โอวาทปาติโมกข์ และมีคนมาบอกสั้นๆ ว่า คือสรุปคำสอนของพระพุทธศาสนาทั้งหมดเท่ากับว่า ย่อที่สุด เริ่มต้นด้วย “ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง” ซึ่งคนจะไม่กล่าวถึงช่วงนี้ แต่จะไปกล่าวถึง “เว้นชั่ว ประพฤติดี ทำจิตให้ผ่องใส” แต่ก่อนนั้น จะมีคำว่า ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง ขันติคือ ความอดทน เพราะฉะนั้น การที่จะมีปัญญาได้ ต้องอดทนมากๆ เลย ไม่ใช่ว่า มาได้ง่ายๆ เงินซื้อไม่ได้ ใช่ไหม ไม่มีใครสามารถที่จะเอาเงินทั้งหมดไปทุ่มเทซื้อปัญญา
แต่ว่า ปัญญาจะต้องเกิดจากการอบรมทีละเล็กทีละน้อย และเป็นสิ่งที่เจริญช้า ไม่เหมือนกับโลภะซึ่งไม่ต้องบำรุงหรือว่า ไม่ต้องไปหาวิตามินหรืออะไรมาใส่ เกิดอยู่ทุกวัน ทำลายยาก แต่สำหรับปัญญานี้เป็นสิ่งซึ่งต้องค่อยๆ เจริญ ค่อยๆ เกิดขึ้น ต้องอาศัยเหตุปัจจัยคือการฟังด้วยความอดทน การที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ อสงไขย แสนกัปป์ ถ้าเป็นท่านพระสารีบุตร ไม่ถึง ๔ อสงไขยแสนกัปป์ ถ้าเป็นมหาสาวก ก็น้อยลงมา และอย่างเราถ้าจะไม่ฟังเลย หรือบางคนก็คิดว่า ไม่ต้องเรียนพระพุทธสาสนา ฟังนิดๆ หน่อยๆ สอนแค่ทำดี ละชั่วก็พอแล้ว อย่างนั้นไม่ชื่อว่า เป็นผู้ที่เห็นคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเหตุว่า พระธรรมที่ทรงแสดงไว้นี้ต้องเป็นประโยชน์ และถ้าไม่เรียนแล้วจะได้ประโยชน์จากพระธรรมได้อย่างไร ไม่มีหนทางเลย เพราะฉะนั้นคนที่จะได้รับมรดกจากพระอรหันตพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ปัญญา ต้องเป็นผู้ที่อดทน มีความเพียร และให้ทราบว่า ธรรม สำหรับประพฤติปฏิบัติตามจริงๆ ไม่ใช่เพียงรู้แล้วละเลยที่จะประพฤติปฏิบัติ ที่เคยพูดมาแล้วว่า ไม่มีตัวตนเลย แต่สภาพธรรมนั้นมี
ถ้าไม่มีสภาพธรรม จะมีเรานั่งอยู่ที่นี่ไม่ได้ แต่เมื่อมีสภาพธรรมแล้ว ไม่รู้ว่า ธรรมเป็นธรรม เลยยึดถือธรรมนั้นว่า เป็นเรา เช่นเห็น ขณะนี้กำลังเห็น ก่อนฟังพระธรรมเป็นเราแน่ๆ ที่เห็น แต่พระธรรมแสดงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่มีใครเป็นเจ้าของการเห็น การเห็นเกิดขึ้นแล้วดับไป และมีการได้ยิน คนละขณะ นี้แสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมจริงๆ นั้นมี อย่าไปเข้าใจผิดว่า เป็นเราในขณะนี้กำลังฟังมีความเพียร แต่ว่า เป็นความเพียรทางใจ จนกว่าจะถึงขณะที่สามารถอบรมปัญญาความรู้เพิ่มขึ้นๆ จนพิสูจน์คำสอนของพระพุทธเจ้าได้ว่า ที่ตรัสไว้ไม่ผิด เช่น สภาพธรรมในขณะนี้ กำลังเกิดขึ้น และดับไป ทางตากำลังเกิด และดับขณะที่เห็น ทางหูขณะที่กำลังได้ยิน สภาพที่ได้ยินต้องเกิดขึ้น และดับ
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 2
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 3
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 4
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 5
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 6
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 7
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 8
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 9
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 10
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 11
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 12
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 13
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 14
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 15
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 16
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 17
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 18
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 19
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 20
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 21
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 22
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 23
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 24
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 25
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 26
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 27
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 28
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 29
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 30
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 31
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 32
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 33
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 34
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 35
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 36
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 37
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 38
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 39
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 40
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 41
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 42
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 43
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 44
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 45
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 46
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 47
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 48
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 49
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 50
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 51
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 52
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 53
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 54
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 55
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 56
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 57
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 58
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 59
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 60