ปกิณณกธรรม ตอนที่ 19


    ตอนที่ ๑๙

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลปากเกร็ดเวชการ

    พ.ศ. ๒๕๓๖


    ท่านอาจารย์ แต่สติจะมีลักษณะที่ระลึกเป็นไปในกุศลทุกประเภท เช่น ในทาน คิดที่จะสละวัตถุให้แก่คนอื่น นั่นคือ สติที่ระลึกไม่ใช่เรา ขณะที่เห็นมด แต่ไม่ฆ่า ถ้ามดตกน้ำ เราก็ค่อยๆ ช้อนขึ้นมา ใช้กระดาษทิชชู่จุ่มลงไปให้เขาไต่ขึ้นมา นั่นคือ สติที่ระลึกเป็นไปที่จะช่วยชีวิต ที่เป็นประโยชน์ การกระทำที่เป็นประโยชน์กับบุคคลอื่น ขณะนั้นเป็นสติไม่ใช่เรา ที่ระลึกได้ที่จะทำประโยชน์ ขณะที่จิตใจเร่าร้อน โกรธคนนั้น โกรธคนนี้ แล้วคิดว่า ความโกรธไม่มีประโยชน์เลย เพราะว่าคนที่เราโกรธ เขากำลังสบาย กำลังสนุกสนาน และเรามานั่งเดือดร้อน กลุ้มใจสารพัดอย่าง เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น ขณะที่ระลึกได้ที่จะเห็นโทษของโทสะ ขณะนั้นเป็นสติที่กำลังทำหน้าที่ระลึกได้ ขณะที่กำลังฟังธรรมขณะนี้ เป็นสติที่ระลึกว่า ชีวิตของเราน้อย ทุกอย่าง เกิดมาแล้วเอาไปไม่ได้เลย นอกจากทำให้ติดในสิ่งนั้นเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น แทนที่จะไปเพลิดเพลิน ไปดูโทรทัศน์ ไปอ่านหนังสืออะไรต่างๆ มาฟังเรื่องความจริงว่า ในโลกนี้ ในชีวิตนี้ จะสามารถรู้อะไรที่เป็นของจริงของแท้ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน และเป็นความจริงที่พิสูจน์ได้ ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงแสดงเพราะว่า ทรงตรัสรู้ความจริงว่า เป็นอย่างนี้ ขณะนี้เป็นสติที่ทำให้มานั่งฟังธรรม ไม่มีตัวตนเลย บางครั้งเป็นกุศล บางครั้งเป็นอกุศล ก็เป็นจิตประเภทต่างๆ ขณะที่สติเกิดจะต้องเป็นไปในบุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ คือ หนทางของบุญมี ๑๐ อย่าง ย่อลงไปเป็น ๓ คือ ทาน ศีล และการอบรมที่ใช้คำว่า ภาวนา ที่ใช้คำว่า ภาวนา นี้ไม่ใช่ไปนั่งท่อง ภาวนา คือ การทำให้เกิดสิ่งซึ่งยังไม่เกิด และสิ่งที่เกิดแล้วทำให้มีเพิ่มขึ้น หมายความว่า ทั้งสติปัญญา ทั้งความรู้ต่างๆ ซึ่งไม่เคยมี เพราะฉะนั้น อบรม คือ ภาวนา ให้ค่อยๆ มีขึ้น ให้ค่อยๆ เพิ่มขึ้น เจริญขึ้น นี้คือความหมายของภาวนา เพราะฉะนั้น การฟังธรรมในขณะนี้ คือ เบื้องต้นของภาวนา ถ้าไม่มีการฟังให้เข้าใจแล้ว การอบรมจิตใจมีไม่ได้ ก็จะไปหลงนั่งทำอะไรไม่ทราบ ซึ่งไม่ใช่เป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรม ปัญญาก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้น จิตเป็นสภาพรู้ ไม่ต้องใช้คำว่า ตาม และสติต้องเป็นกุศลธรรมหรือโสภณะ หมายความถึง ธรรมที่ดีงามฝ่ายเดียว สติเป็นอกุศลไม่ได้ ต้องเป็นกุศล หรือว่า เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ถ้ามีใครกำลังเดินข้ามถนน รถไม่ทับ หลบหลีกงูตามถนน หรืออะไรก็แล้วแต่ ขณะนั้นไม่ใช่สติเลย เป็นสมาธิ เป็นความตั้งใจ แน่วแน่ที่จะหลบเลี่ยง เพราะว่า สมาธินี้เป็นมิจฉาสมาธิก็ได้ เป็นสัมมาสมาธิก็ได้ คือ เป็นได้ทั้งฝ่ายกุศล และอกุศล แต่ถ้าเป็นสติต้องเป็นฝ่ายดีอย่างเดียว เป็นอกุศลไม่ได้ กำลังเอื้อมมือไปหยิบขนม เป็นสติหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นจิต

    ท่านอาจารย์ จิตแน่นอน

    ถ. ……

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เป็นโลภมูลจิต เป็นจิตซึ่งมีโลภะความต้องการหรือความติดข้องเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง ... เวลาที่ผมด่าคน คือจิตหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ จิต รูปด่าไม่ได้ รูปไม่รู้อะไรเลย ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า จะสูง ต่ำ ดำ ขาว อย่างไรก็ตาม รูปไม่รู้ จะมีแขน ไม่มีแขน จะขาหายไป หรืออะไรก็ตาม ผมจะยาว จะสั้น

    ผู้ฟัง ………ไม่สบายใจ

    ท่านอาจารย์ จิตหมดเลย จิตทั้งหมด รูปไม่รู้อะไรเลย รูปไม่เห็นอะไรเลย รูปนี้กับรูปนี้เหมือนกัน อ่อนแข็งเหมือนกัน ไม่รู้อะไร ไม่เห็นอะไร แต่ว่าที่เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เพราะมีจิตกับรูปเกิดร่วมกัน นกมีจิตกับรูปเกิดร่วมกัน เทวดามีจิตกับรูปเกิดร่วมกัน มนุษย์มีจิตกับรูปร่วมกัน แต่พวกโต๊ะ เก้าอี้ มีแต่รูปไม่มีจิต เพราะว่าไม่เห็น ไม่ได้ยินใช่ไหม ลักษณะที่เห็น ที่ได้ยิน จิตเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้ ซึ่งรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง บางครั้ง ที่เราดุคนสักคน หรือว่าใครสักคนในสายงานก็ดี หรืออะไรก็ดี แต่เราไม่โกรธ แต่เราต้องเตือน ต้องว่าหรืออะไร เป็นไปได้ไหมที่จิตเรา จิต คือ ตัวของเราเฉยๆ

    ท่านอาจารย์ เราอาจจะว่าเราเฉยๆ แต่ความจริง เราต้องมีความขุ่นเคือง ขุ่นใจนิดหนึ่ง

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ว่า ขุ่นเคือง แต่หมายความว่า เขาอาจจะทำผิดแล้วบอกเขาว่า นี้ผิด

    ท่านอาจารย์ เข้าใจ

    ผู้ฟัง แต่จิตมันเฉยๆ หมายความว่า ความจริงเสียงอาจจะดัง กริยาดูเหมือนจะอย่างนั้น แต่จริงๆ แล้วจิตเราเฉยๆ

    ท่านอาจารย์ ความจริงจิตเกิดดับเร็วมาก และสลับกันด้วย เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยสติสัมปชัญญะ ความรู้สึกตัวจริงๆ ที่จะรู้ลักษณะของจิตซึ่งเกิดดับเร็ว วิธีที่จะรู้ว่า เป็นโทสะหรือไม่ใช่โทสะ เพราะว่าภาษาไทย เราใช้คำภาษาบาลีตามใจชอบ หรือตามที่เราเคยได้ยิน ได้ฟัง มาตั้งแต่เด็ก พอใช้คำว่า โทสะ เรารู้สึกว่า ต้องแรงมาก ต้องมีอาการดุร้ายขึ้นมา พวกนั้นเป็นเจ้าโทสะ แต่คำว่า โทสะ เป็นสภาพของธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดกับจิต สภาพธรรมอื่นที่ไม่ใช่จิตแต่เกิดกับจิต สภาพธรรมนั้นเราเรียกว่า เจตสิก

    ผู้ฟัง ………

    ท่านอาจารย์ เจตสิก เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า สภาพธรรมอื่นที่ไม่ใช่จิต และเกิดกับจิต เป็นเจตสิกทั้งหมด เหมือนกับโทสะที่แรง เราเห็น จิตบางครั้งไม่เกิดโทสะ บางครั้งเกิดโทสะ แล้วแต่ว่า เจตสิกประเภทใดจะเกิดกับจิตในขณะนั้น ถ้าขณะนั้น โทสเจตสิกเกิดกับจิต อาการของจิตนั้นจะเป็นโทสเจตสิก เติมคำว่า มูล แปลว่า เหตุ เพราะฉะนั้น จิตนั้นมีโทสะเป็นมูลหรือเป็นเหตุเกิดร่วมกัน จึงทำให้สภาพของจิต หยาบกระด้างเพราะมีเจตสิกชนิดนั้นเกิดร่วมด้วย ธรรมดาจิตเป็นแต่เพียงสภาพรู้ อาการเห็น อาการได้ยิน แต่เวลาที่มีเจตสิกที่ไม่ดีเกิดร่วมด้วย จิตขณะนั้นเป็นอกุศลจิตทันที ตามเจตสิกที่ไม่ดีที่เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น เวลาที่ขุ่นใจ เวลาที่เห็นฝุ่นในบ้านนิดเดียวที่โทรศัพท์ เป็นอย่างไร สบายไหม ถ้าเห็นเป็นฝุ่น รู้สึกขุ่นนิดๆ ตามจำนวนของฝุ่นใช่ไหม ถ้าฝุ่นนิดเดียวโทสะก็น้อยเพราะฝุ่นน้อย แต่ถ้าฝุ่นมากก็คิดดูว่า โทสะนี่บังคับไม่ได้ เป็นอนัตตา ทันทีที่เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ โทสะเกิด ทันทีที่ได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจ โทสะเกิด ทันทีที่ได้กลิ่นที่ไม่น่าพอใจ โทสะเกิด เพราะว่า เป็นธรรมชาติหรือธรรมดาว่า เมื่ออารมณ์หรือสิ่งที่กำลังปรากฏนั้นไม่น่าพอใจ จะมาดัดจิตใจให้เกิดชอบ เกิดติดข้อง เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า ความรู้สึกไม่สบายใจนิดเดียว น้อยที่สุดขณะนั้นก็เป็นโทสะแล้ว ที่ถามว่า ดุคนหรือติเตียนคนในสายงานแล้วใจเฉยๆ ต้องเป็นคนที่ละเอียดเพิ่มขึ้นที่จะรู้ว่า เฉยแบบไหน แบบไม่แสดงออกไป แต่ใจก็ยังไม่พอใจในผลงานนั้น ถ้ามีความไม่พอใจในผลงาน ขณะนั้นความไม่พอใจ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ใคร แต่เป็นธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้น และทำหน้าที่นั้น เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ต้องมีความขุ่นใจ ไม่พอใจ จะน้อย จะมากก็ตามแต่ เพราะว่า คนที่จะไม่มีโทสะ หรือความขุ่นเคืองใจเลย ต้องเป็นพระอริยบุคคล ขั้นพระอนาคามีบุคคลซึ่งอีกขั้นเดียวจะเป็นพระอรหันต์

    ผู้ฟัง ถ้าเกิดดีใจ ดีใจเป็นโทสะไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ เป็นโสมนัสสะ เป็นความรู้สึกที่บอกว่า โสมนัส โสมนัสนี้ คือ ดีใจ ภาษาบาลีกับภาษาไทยเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ถ้าเสียใจ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเสียใจก็โทมนัส โทมนัสมาจากคำว่า ทุ กับคำว่า มนัส เพราะคำว่า จิต ในภาษาไทย รวยภาษาบาลีเหมือนกัน คือ ภาษาบาลีมีกี่คำ เอามาใช้หมดเลยใช่ไหม คำว่า หทัย แปลว่า ใจ คำว่า มโน แปลว่า ใจ คำว่า มนัส แปลว่า ใจ ในภาษาบาลีมีกี่คำ ภาษาไทยใช้หมด เพราะฉะนั้น มนัส แปลว่า ใจ ถ้า สุ แปลว่า ดี มนัส แปลว่า ใจ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นที่ใจดี สบายเป็นโสมนัส สุ กับ มนัส ภาษาบาลีรวมกันแล้วแปลงเป็นสระโอ เป็นโสมนัส มาจากสุกับมนัส โสมนัสเป็นความรู้สึก ความรู้สึกนี้ไม่ใช่จิต ความรู้สึกเป็นเจตสิก เพราะฉะนั้น วันนี้จะแยกจิตกับเจตสิกออกจากกันให้รู้ว่า ขณะใดที่จิตเกิด ขณะนั้นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย และจะได้ดูว่า อะไรบ้างเป็นเจตสิก จิตเป็นสภาพที่รู้อย่างเดียว คือ เห็น หรือได้ยิน หรือคิด นอกจากนั้นเป็นเจตสิกทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ความดีใจ สบายใจเป็นเจตสิก ความเสียใจ ความไม่ชอบใจเป็นเจตสิก ความขุ่นเคืองใจก็เป็นเจตสิก ความติดข้อง ความรัก จะรักลูก รักเพื่อน รักอะไร รักประเทศชาติก็เป็นเจตสิกเหมือนกัน

    ผู้ฟัง ….. ขึ้นมา

    ท่านอาจารย์ เป็นเจตสิก

    ผู้ฟัง … ... ของจิต

    ท่านอาจารย์ เขาเกิดด้วยกัน จิตกับเจตสิกเกิดพร้อมกัน และดับพร้อมกัน แยกกันไม่ได้เลย ถ้าเรียนทางโลก เขาอาจจะบอกว่า น้ำ ประกอบด้วยอะไรบ้างถึงเป็นน้ำใช่ไหม เพราะฉะนั้น จิตต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ละขณะที่จิตนั้นเกิด ที่จะให้จิตเกิดอย่างเดียวลอยๆ ลำพัง ไม่มีอย่างอื่นเกิดด้วย ไม่ได้ จะต้องมีสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งเกิดกับจิต

    ผู้ฟัง เราเห็นว่า………แต่เรายังไม่ประจักษ์ เจตสิกยังไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ ที่ไหนที่มีจิต ที่นั่นต้องมีเจตสิก จะมีจิตเปล่าๆ โดยไม่มีเจตสิกไม่ได้ ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้จนกว่าจะตาย ที่บอกว่า ยังไม่ตายเพราะจิตกับเจตสิกเกิดดับสืบต่ออยู่ เมื่อไรจิตดับไม่เกิดอีกเลย เมื่อนั้นชื่อว่า ตาย เพราะฉะนั้น กำลังนอนหลับมีจิตไหม ต้องมี และมีเจตสิกด้วยไหม ต้องมี คือ ต้องจำไว้ว่า สภาพธรรมที่จะเกิดขึ้นอย่างเดียวลอยๆ ตามลำพัง ไม่มี ต้องมีสภาพธรรมที่อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง การหายใจนี้คือ

    ท่านอาจารย์ ไม่ ต้องแยก หายใจรู้อะไร หายใจเป็นลมใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ลมรู้อะไรหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ดับไปแล้ว ไม่รู้อะไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ เดี๋ยวนี้ที่กำลังหายใจหมายความว่า ที่เรียกว่า หายใจ คือ ลม ใช่ไหม ลมรู้อะไรไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ลมเป็นรูป คือ แยกจิต เจตสิก รูป ออกจากกัน รูปไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้น ลมหายใจก็เหมือนกับแขนเหมือนกับเนื้อที่อ่อนแข็ง เพราะว่าบางครั้งลมหายใจเบา บางครั้งลมหายใจอุ่น บางครั้งลมหายใจอ่อนใช่ไหม บางครั้งลมหายใจแรง ถ้าสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งอ่อน ซึ่งแรง พวกนี้เป็นรูปหมด เพราะว่า จิตไม่มีแขน ขา หน้าตา สีสัน ที่จะให้มองเห็น แต่ว่าจิตมีจริงๆ และกำลังทำหน้าที่ของจิตด้วย เวลานี้ ที่ยังไม่ตายเพราะเหตุว่า จิตกำลังเกิดดับ และขณะใดที่จิตเกิด ขณะนั้นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง จิตดับแปลว่า ตาย

    ท่านอาจารย์ แล้วเจตสิกเกิดได้ไหม เวลาจิตดับแล้ว

    ผู้ฟัง ……

    ท่านอาจารย์ ถ้าจิตดับแล้วเจตสิกจะเกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะว่า จิตเกิดพร้อมเจตสิกดับพร้อมเจตสิก เกิดดับพร้อมกัน ทั้งจิต และเจตสิกดับ และรูปของความเป็นบุคคลนี้ดับพร้อมกับจิตด้วย เพราะฉะนั้น รูปที่ยังเหลืออยู่จึงไม่ใช่รูปอย่างนี้แล้ว ต้องเป็นรูปที่แข็งเหมือนท่อนไม้ และต่อไปมีอุตุที่ทำให้รูปนั้นเน่าเปื่อยไป แต่เวลานี้ที่รูปยังไม่เน่าเปื่อย เพราะเหตุว่า มีรูปซึ่งเกิดจากกรรม มีรูปซึ่งเกิดจากจิต มีรูปที่เกิดจากอุตุ มีรูปซึ่งเกิดจากอาหาร ทำให้รูปของคนที่มีชีวิตต่างกับรูปของคนที่ไม่มีชีวิต

    ผู้ฟัง ยังติดใจอีกเล็กน้อยที่ท่านอาจารย์ว่า เมื่อกี้ที่ว่า สมมติว่า นั่งหลับตาแล้วไม่ได้อะไรเลย ไม่รู้อะไรเลย อันนั้นคงจะเป็นมิจฉาสมาธิ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง เป็นมิจฉาสมาธิ ทีนี้อยากจะทราบถึงว่า สัมมาสมาธิเป็นอย่างไร เพราะวันก่อนท่านอาจารย์เคยอธิบายถึงว่า ถ้าสมาธิเป็นไปในทางที่ไม่ดีก็เป็นอกุศล ถ้าเป็นไปได้ทางดีก็เป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญาแล้ว ดีไม่ได้แน่ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง อยากจะทราบเลยทีนี้ว่า

    ท่านอาจารย์ อยากจะทราบสัมมาสมาธิ

    ผู้ฟัง อยากจะทราบสัมมาสมาธิ ลักษณะเมื่อเกิดขึ้นแล้วเป็นอย่างไร และย้อนกลับมาถึงภาวนาอีกนิด คือ ถ้าเริ่มภาวนา ภาวนา คือ การตั้งใจดี ทำจิตดีขึ้น อารมณ์ในจิตใจให้ดีขึ้น

    ท่านอาจารย์ อบรม

    ผู้ฟัง อบรมจิตใจให้ดีขึ้น และการภาวนาจะทำให้เกิดสมาธิอย่างนั้นหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ อันนี้เอาภาษาไทยมาใช้เอง ที่นี่จุดเริ่มแรกเมื่อกี้นี้ เรื่องของสัมมาสมาธิใช่ไหม ก่อนที่ถึงสัมมาสมาธิ ควรที่จะพูดถึงเรื่องสมาธิก่อน สมาธิเป็นจิต หรือเป็นเจตสิก หรือเป็นรูป ถ้าจะศึกษาธรรม จะทิ้ง ๓ ตัวนี้ไม่ได้เลย คือ สภาพธรรมที่แท้จริง ที่มีจริงๆ แม้ว่า ไม่เรียกชื่ออะไรเลย สภาพธรรมนั้นก็มีแล้ว เปลี่ยนลักษณะไม่ได้ และลักษณะใหญ่ๆ คือ เป็นจิตประเภท ๑ เป็นเจตสิกประเภท ๑ เป็นรูปประเภท ๑ จะพ้นจากจิต เจตสิก รูป ไม่ได้ ไม่ว่าจะพูดคำอะไรขึ้นมาทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อกี้พูดถึงสมาธิ สมาธิเป็นจิต หรือเป็นเจตสิก หรือเป็นรูป ดีใช่ไหมที่ได้คิด ถ้าไม่ได้คิดเพียงแต่ฟังเขา ก็ไม่ใช่ปัญญาของเรา แต่ถ้าไตร่ตรอง พิจารณาในเหตุผลด้วยตัวเอง จะเป็นปัญญาของเรา เพราะฉะนั้น สมาธิจะเป็นจิต หรือว่าจะเป็นเจตสิก หรือว่าจะเป็นรูป มีแค่ ๓ ให้เลือก เป็นเจตสิกถูกต้อง เพราะว่า ที่ใช้คำว่า สมาธิได้แก่ เจตสิกชนิดชนิดหนึ่ง ภาษาบาลีใช้คำว่า เอกัคคตาเจตสิก เอก ๑ ขณะใดที่จดจ้อง หรือตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์หนึ่ง ขณะนั้นเป็นลักษณะของสมาธิ แต่สิ่งที่ไม่รู้คือว่า เอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ อันนี้ไม่ทราบใช่มั้ย แต่ว่า ตามความเป็นจริงแล้ว การที่จิตเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง รู้อารมณ์หนึ่ง จะมีเอกัคคตาเจตสิกที่ตั้งมั่นในอารมณ์นั้นทีละ ๑ ขณะ ที่นี้ถ้าจดจ่ออยู่ที่อารมณ์เดียวนานๆ ลักษณะของเอกัคคตาเจตสิกซึ่งซ้ำอยู่ที่อารมณ์เดียวมากๆ ก็ปรากฏลักษณะของสมาธิ คือ การจดจ้อง แน่วแน่อยู่ที่หนึ่งที่ใด เวลาจะฉีดยามีสมาธิไหม ไม่อย่างนั้นคงแย่ คนไข้คงต้องเจ็บมาก เพราะว่าอาจจะผิดๆ ถูกๆ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นเป็นลักษณะของสมาธิ แสดงให้เห็นว่า เอกัคคตาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตทุกดวงจริง แต่ถ้าขณะใดซึ่งไม่ตั้งจดจ้อง อยู่ที่อารมณ์เดียวนานๆ ลักษณะของสมาธิจะไม่ปรากฏ ทั้งๆ ที่เอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น โดยมากเวลาที่อ่านหนังสือ และไม่สนใจเรื่องอื่นเลย ขณะนั้นก็รู้ว่า กำลังเป็นสมาธิ ขณะนั้นเป็นมิจฉาสมาธิ หรือสัมมาสมาธิ ขณะที่กำลังอ่านหนังสือแล้วจดจ้อง และก็รู้ว่า กำลังไม่สนใจอย่างอื่นเลย นอกจากเรื่องที่อ่านขณะนั้น เป็นสมาธิ เริ่มรู้จักหน้าตาของสมาธิแล้ว แต่ว่าขณะนั้นเป็นสัมมาสมาธิ หรือว่ามิจฉาสมาธิ ให้เลือก ๒ อย่าง สัมมาสมาธิ หรือว่ามิจฉาสมาธิ

    ผู้ฟัง ……

    ท่านอาจารย์ มิจฉาสมาธิ ถ้ากุศลจิตไม่เกิด สมาธิทั้งหมดเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะฉะนั้น โดยมากจะใช้คำเดียว คือ สมาธิ และเพราะเหตุว่า ไม่ได้ศึกษา ก็ตื่นเต้น พอใครพูดสมาธิก็สนใจ เขาทำอย่างไร แล้วอยากจะทำบ้าง

    ผู้ฟัง ขอยกตัวอย่าง ถ้าสมมติว่า อ่านหนังสือ อ่านหนังสือธรรม หรืออ่านหนังสืออะไรก็ตาม ขณะที่อ่านสมมติว่า อ่านหนังสือพิมพ์เรื่องโรงแรมที่โคราช เสร็จแล้วมีจิตว่า สงสารเขา อยากจะไปช่วย อย่างนี้เป็นกุศลหรือสมาธิหรือธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะมีคำจำกัดความได้เลยว่า ขณะใดที่ไม่ใช่กุศลจิต ขณะนั้นเป็นมิจฉาสมาธิ

    ผู้ฟัง หรือกำลังอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง โกรธขึ้นมาอยากจะไปฆ่าเขา หรืออยากจะไปขโมยเขา หรืออยากจะทำอะไรชั่วๆ อันนั้นกลายเป็น

    ท่านอาจารย์ มิจฉาสมาธิ เพราะฉะนั้น เรื่องของจิตเป็นเรื่องที่ละเอียด และเราจับได้เลยว่า ขณะใดที่กุศลจิตด้วยจิตที่ดีงามไม่เกิด ขณะนั้นเป็นมิจฉาสมาธิหมด เวลาสวดมนต์ ขณะที่กำลังสวดมนต์ เป็นสมาธิหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เป็นมิจฉาสมาธิ หรือ สัมมาสมาธิ

    ผู้ฟัง ………

    ท่านอาจารย์ ส่วนใหญ่ ใช่ไหม แต่บางครั้งแทรกนิดๆ ใช่ไหม กำลังสวดๆ นึกถึงอะไรก็ได้ แวบไปแวบมาขณะใด ก็เป็นมิจฉาสมาธิขณะนั้น สลับๆ กันนี้คือ ความรวดเร็วของจิต ซึ่งเป็นผู้ตรง ที่จะต้องรู้ว่า กุศลคือกุศล อกุศลคืออกุศล เพราะฉะนั้น จะบอกไม่ได้เลยว่า ขณะที่กำลังทำบุญกุศลจิตเกิดตลอด ผิด ถ้าเป็นผู้ที่ละเอียดจะรู้เลยว่า ขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหนเป็นอกุศล แล้วกุศลจิต "อยากได้" หรือว่า "ควรเป็น" มี ๒ คำ

    ผู้ฟัง ………

    ท่านอาจารย์ หมายความถึงกุศล พอพูดถึงกุศลดี กุศลจิตนี้ดี "อยากได้" หรือว่า "ควรเป็น"

    ผู้ฟัง ควรเป็น

    ท่านอาจารย์ "ควร เป็นกุศล" แต่คนส่วนมากไม่ทราบ คนส่วนมากจะอยากได้กุศล พอทราบว่า ทำกุศลอย่างไหนจะได้บุญมากได้ผลมากเขาจะทำ แต่เขาลืมว่า นั่นเป็นอกุศล อยากได้กุศลนั้นแหละเป็นอกุศล เพราะว่า อยากได้ ติดข้อง แต่กุศลจริงๆ หมายความถึงสภาพจิตที่ดีงาม อย่าลืมคำนี้เลย มิฉะนั้นแล้วจะเข้าใจผิด จิตของเรา ตั้งแต่เช้ามาจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมไม่รู้เลยว่า เต็มไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ทันทีที่ลืมตาจะทำอะไร นึกขึ้นมาแล้ว ติดข้องในสิ่งที่จะทำ เข้าห้องน้ำ ทำทุกสิ่งทุกอย่าง ปรุงอาหารอร่อย แม้แต่รับประทานก็ต้องเติมน้ำปลาพริกบ้าง อะไรบ้างใช่ไหม โลภะทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าขณะใดที่ไม่เป็นกุศล ขณะนั้นเป็นอกุศล วันนี้เทียบส่วน ขณะที่นั่งฟังธรรม นี้เป็นกุศลนับไม่ถ้วนเหมือนกัน กี่ชั่วโมงนาทีก็แล้วแต่ แต่ว่า ก่อนหน้านั้น และหลังนี้เป็นอะไร ก็ต้องเป็นอกุศลอีก นี้แสดงให้เห็นว่า จิตใจของเรา เศร้าหมอง ที่ใช้คำว่า เศร้าหมอง ที่นี้หมายความว่า ไม่สะอาด

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 14
    27 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ