ปกิณณกธรรม ตอนที่ 2
ตอนที่ ๒
ท่านอาจารย์ แม้แต่ในเรื่องคำ เช่นคำว่า สงบ หรือคำว่า นิพพาน ยังไม่ทันรู้เลยว่าแปลว่าอะไร อยากจะได้ซะแล้ว อยากจะทำซะแล้ว อยากจะถึงซะแล้ว และอย่างนี้จะเป็นปัญญาได้ยังไง แต่ว่า นี่เป็นโลภะในอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะเหตุว่า โลภะบางครั้งก็ต้องการกุศล ต้องการอยากจะได้ผลของกุศล อยากจะเป็นคนดี อยากจะเป็นอะไร นั้นก็เป็นเรื่องของโลภะ แต่ว่าไม่ใช่เรื่องของปัญญา ถ้าเป็นเรื่องของปัญญาแล้วต้องรู้ถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง ถ้ากำลังโกรธ สภาพที่โกรธมีจริงๆ ปัญญาสามารถที่จะเห็นความกระด้างของจิตใจในขณะที่โกรธ และก็รู้ตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมนี้ ไม่มีใครบังคับบัญชาได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น และก็มีกิจหน้าที่ที่จะกระทำตามกำลังของความโกรธนั้นว่าโกรธมาก โกรธน้อยยังไง
เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นแม้แต่คำว่า สมถะ - วิปัสสนา ขอให้มีปัญญาเข้าใจก่อน อย่าเพิ่งทำ เพราะเหตุว่า ถ้ายังไม่เข้าใจแล้วทำไม่ได้ สมถะ คือสงบจากอกุศลทุกประเภท วิปัสสนา คือ ปัญญาที่เห็นแจ้งในลักษณะของสภาพธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามความเป็นจริงในขณะนี้ ถ้ายังไม่เข้าใจอย่างนี้ จะไปนั่ง แล้วก็จะไปเห็นอะไรก็ไม่ทราบ แต่กิเลสก็ยังเยอะ คือเห็นแล้วก็ยังกลัวบ้าง โกรธบ้าง ชอบบ้าง ถ้าเห็นนางฟ้าเทวดาก็ดีใจ ถ้าเห็นนรกเห็นอะไรก็ตกใจกลัว ขณะนั้นไม่ใช่ของจริงเลย เพราะเหตุว่าเป็นการนึกคิด เหมือนความฝัน เวลาฝันนี่จริงหรือเปล่า แต่เหมือนจริงฉันใด ขณะที่กำลังเห็นเทวดา เห็นนรก เห็นอะไรต่างๆ เหมือนจริงแต่ไม่ใช่จริง เพราะเหตุว่า ความจริงคือขณะนี้ ที่กำลังเห็นโดยไม่ต้องไปนึกฝัน หรือว่าสร้างอะไรขึ้นมา เรื่องของปัญญาเป็นเรื่องที่จะต้องค่อยๆ เจริญอบรมให้มีความเข้าใจในพระธรรมที่แท้จริงก่อน แล้วก็จะไม่ถูกความต้องการของเราชักนำไปให้เข้าใจผิด
เพราะฉะนั้นก่อนอื่นใด ท่านคิดว่าจะมีประโยชน์มากถ้าเราจะเริ่มฟังพระธรรมให้เข้าใจก่อน แทนที่จะคิดเรื่องการเจริญสมถะ หรือ วิปัสสนา ซึ่งเป็นกุศลขั้นที่สูงมาก สมถภาวนาสามารถที่จะทำให้จิตสงบ ไม่ใช่เพียงชั่วครั้งชั่วคราวอย่างขณะที่ให้ทาน รักษาศีล ซึ่งเป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ว่าความสงบของจิต จะมั่นคงขึ้น ประกอบด้วยปัญญา พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นปัญญาจริงๆ สติสัมปชัญญะปกติจริงๆ นั่นเป็นความสงบที่สามารถจะทำให้เกิดเป็นอรูปพรหมในอรูปภูมิได้ แต่ว่าดับกิเลสไม่ได้ เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงหนทางซึ่งผู้อื่นประพฤติปฏิบัติมาแล้วคือสมถภาวนา แต่ทรงแสดงหนทางที่จะทำให้รู้แจ้งสภาพธรรม จนสามารถที่จะดับกิเลสได้จริงๆ ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องวันสองวัน หรือว่าชั่วโมงเดียวสองชั่วโมง เป็นเรื่องที่เราจะต้องเป็นผู้ตรงต่อตัวเราเองว่า การฟังแต่ละครั้งทำให้เรามีความเข้าใจเพิ่มขึ้นบ้างสักนิดหน่อยหรือเปล่า หรือเพิ่มขึ้นมาก เพราะว่าประโยชน์ของการฟังคือความเข้าใจ ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ตาม ถ้าเป็นเรื่องของพุทธศาสนาแล้วก็คือว่า ต้องได้รับความเข้าใจที่ถูกต้องจึงจะเป็นพระธรรม แต่ถ้าฟังแล้วไม่มีความเข้าใจอะไรเพิ่มขึ้นมาเลย ขณะนั้นก็จะต้องฟังต่อไปอีก แล้วพิจารณาในเหตุผลนั้นต่อไปอีกว่า เป็นความถูกต้องหรือเปล่า เพราะเหตุว่าถ้าเป็นพระธรรมจริงพิสูจน์ได้ แม้ในขณะนี้ พระธรรมทั้งหมดเป็นเรื่องจริงที่พิสูจน์ได้ทุกขณะ
ผู้ฟัง ก็ได้ศึกษาธรรมมากเอง ซื้อหนังสือมาอ่าน พิจารณาดูไป ศึกษาไป ก็เห็นความเป็นจริงตามหนังสือที่ศึกษา อย่าง อิทัปปัจจยตา รู้สึกว่า มีความเป็นจริงตามนั้น ก็มีจิตศรัทธาที่จะปฏิบัติด้วยตนเอง แต่ก็เคยไปปฏิบัติมากับพระอาจารย์ แล้วเดี๋ยวนี้ก็จะมีความรู้สึกว่า เข้าใจนิดหน่อยตรงที่ตรงข้ามกับอาจารย์ที่พูดว่า เรามีความเครียดแล้วไปนั่งก็จะหาย ไม่ใช่อย่างนั้นใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ก่อนอื่น ขอทำความเข้าใจเรื่องการปฏิบัติก่อน คือในภาษาไทยเรา ใช้คำว่า ปฏิบัติ หมายความถึง การทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด สมมติว่านั่งอยู่อย่างนี้ บางคนก็อาจจะคิดว่าไม่ได้ปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติก็คือ ทำ ในภาษาไทย บางคนก็คิดว่า ต้องทำ หรือไปทำ แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว สภาพธรรมทุกอย่าง มีกิจการงานหน้าที่ของสภาพธรรมนั้น เช่น โลภะเกิดขึ้นขณะใด เป็นสภาพที่ติดข้อง ไม่ยอมสละ โทสะเกิดขึ้นขณะใด จิตจะกระด้าง และก็มีความขุ่นเคืองประทุษร้ายเบียดเบียน นั่นเป็นกิจการงานของสภาพธรรมนั้นๆ ให้ทราบว่า สิ่งที่เราเคยยึดถือว่าเป็นเราทั้งหมด เป็นธรรมแต่ละอย่าง อันนี้เป็นสิ่งซึ่งเราอาจจะไม่เคยคิดว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ก็คือแสดงเรื่องจริงซึ่งมีอยู่แก่ทุกคน และสิ่งต่างๆ ที่มีที่เราเคยยึดถือว่าเป็นเราแท้ที่จริงก็เป็นธรรม ถ้าเข้าใจธรรมแล้วก็จะรู้ว่า ตาก็เป็นธรรม หู จมูก ลิ้น กาย ความคิด ความสุข ความทุกข์ ความริษยา มานะความสำคัญตน ความเกียจคร้าน ความง่วงนอน ทุกอย่างที่มีจริง เป็นธรรมทั้งหมด
เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม คือ ทรงแสดงเรื่องสภาพธรรมจริงๆ ซึ่งทุกคนมี แต่ว่าไม่เคยเข้าใจ แล้วก็มายึดถือว่าเป็นเรา ก็เลยมีความคิดว่า เราทำ หรือว่า เราปฏิบัติ แต่แท้ที่จริงแล้วธรรมนั่นเองปฏิบัติกิจของธรรมนั้นๆ อย่างเวลาที่เมตตาเกิด เมตตา คือ ความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน ความหวังดี ความปรารถนาดี ถ้าเราเป็นเพื่อนกับใคร จะสังเกตได้เลย คิดถึงแต่จะให้ประโยชน์กับเขา ไม่เคยคิดที่จะเบียดเบียนทำร้ายเลย นั่นคือลักษณะของเพื่อนจริงๆ ซึ่งความจริงแล้วก็เป็นสภาพของธรรมชนิดหนึ่ง คือเมตตาในภาษาบาลี ซึ่งภาษาไทยเราก็ใช้คำว่า มิตร หรือ เพื่อน เพราะฉะนั้นเวลาไหนที่เราเกิดหวังดีต่อใคร ให้ทราบว่า สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้น กำลังทำกิจหวังดี แต่เวลาที่โกรธ ทั้งๆ ที่เราบอกว่าคนนี้เป็นเพื่อนเรา แต่คิดดูสิว่า เราเคยโกรธเพื่อนคนนั้นไหม ทั้งๆ ที่เขาเป็นเพื่อนเรา แต่เราก็ยังเคยโกรธเขา เวลาที่ลักษณะสภาพธรรมที่โกรธเกิดขึ้น ความโกรธก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง ก็ทำกิจของธรรม คือไม่ชอบใจเลยในการกระทำของคนในเรื่องนั้น
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ธรรมปฏิบัติกิจของธรรม ไม่ใช่มีเราเป็นตัวตนซึ่งจะไปทำ อย่างขณะนี้ที่ทุกคนกำลังนั่ง และก็ตั้งแต่เกิดมากี่ชาติก็ตาม เวลาไหนที่ไม่ได้รับฟังพระธรรม ก็จะคิดว่า เป็นเรา ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ของเราหมดเลย เกิดมายังไง มาจากไหน ได้มายังไง ไม่สำคัญ ถ้ามาอยู่ตรงนี้แล้ว ยึดถือเป็นเรา เพราะฉะนั้น ก็ไม่เคยเข้าใจว่า เห็นขณะนี้มี กำลังทำกิจเห็น เป็นสภาพธรรมที่มีจริงชนิดหนึ่ง และขณะนี้ก็มีได้ยิน ได้ยินกับเห็น ไม่เหมือนกันเลย เห็นต้องอาศัยจักขุปสาท กับสิ่งที่มากระทบตา แล้วจึงเห็นสิ่งนั้น ถ้าทางหู ขณะนี้ที่กำลังได้ยิน ต้องมีโสตปสาท ถ้าไม่มีโสตปสาทยังไงๆ การได้ยินก็เกิดขึ้นไม่ได้ ถึงแม้คนที่มีโสตปสาท แต่ถ้านอนหลับ ก็ไม่ได้ยินอีก ถึงแม้ว่ามีเสียง นี่แสดงให้เห็นว่า แม้แต่การได้ยินชั่วขณะนิดหนึ่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นทำกิจได้ยินเสียงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็บังคับบัญขาไม่ได้ แล้วไม่มีใครทำด้วย แต่จิตนั้นเกิดขึ้นทำกิจได้ยิน แล้วก็ดับ ไม่ใช่ขณะที่คิดนึก ทุกอย่างเป็นธรรมซึ่งเกิดขึ้นปฏิบัติกิจของธรรม
มีสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งภาษาไทยเราก็ใช้บ่อยคือคำว่า สติ คงไม่มีใครไม่ใช้คำนี้ แต่ว่าใช้ผิดอย่างเคย คืออะไรๆ ก็ต้องผิด เพราะเหตุว่าถ้าไม่เรียนจริงๆ ตามพระพุทธศาสนา และเราก็แปลความหมายเอาเอง อย่างบางคนเขาบอกว่า เดินข้ามถนน และรถไม่ชน ก็มีสติ ปอกผลไม้มีดไม่บาดก็มีสติ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว สติ จริงๆ ต้องเป็นธรรมฝ่ายดี เป็นสภาพธรรมที่มีการระลึกได้ ที่เป็นไปในทางกุศลทั้งหมด
อย่างวันนี้มีใครคิดให้ทานบ้างหรือยัง ทานที่นี้ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นวัตถุมโหฬารใหญ่โต แม้แต่เพียงสิ่งเล็กน้อยที่ให้เพื่อประโยชน์แก่คนอื่น อาจจะเป็นคนที่ไม่มีกระดาษเช็ดมือ แล้วเรามีเราให้ ขณะนั้นก็เป็นทาน เพราะเหตุว่าสิ่งนั้นมีประโยชน์กับผู้รับ และเราก็มีจิตที่จะไม่เห็นแก่ตัว คือไม่ลำบากในการที่จะให้คนนั้นเลย มีความเป็นเพื่อน แล้วก็มีการช่วย มีการให้สิ่งนั้นไป ขณะนั้นก็เป็นสภาพของจิตชนิดหนึ่งซึ่งดี ขณะนั้นมีสติเกิดร่วมด้วย จึงเป็นไปในการให้ ถ้าคนไม่มีสติเกิด เห็นคนที่กำลังต้องการกระดาษ และตัวเองก็มี และก็อยู่ในกระเป๋า ก็ไม่เกิดการคิดที่จะเปิดกระเป๋าแล้วหยิบให้ ขณะนั้นก็เป็นธรรมหมด เป็นความตระหนี่ เป็นความเกียจคร้าน เป็นอะไรที่เป็นฝ่ายไม่ดี แต่ถ้าธรรมฝ่ายดีคือ สติมีการระลึกที่จะเป็นไปในการช่วยเหลือ ในการให้ ขณะนั้นต้องเป็นธรรมฝ่ายดี เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เราที่ปฏิบัติสมถะ ไม่ใช่เราที่ปฏิบัติวิปัสสนา แต่เป็นสติการระลึกได้ที่จะเจริญกุศล และก็ไม่ใช่กุศลเพียงขั้นเล็กๆ น้อยๆ ทานชั่วครั้งชั่วคราว แต่เป็นการที่จะทำให้จิตของเรา สงบจากอกุศลทุกอย่าง แล้วเพิ่มความมั่นคงในการสงบขึ้น นั่นถึงจะเป็นสมถภาวนา แล้วก็สภาพธรรมหลายอย่างซึ่งเป็นสภาพธรรมฝ่ายดีช่วยกัน เกิดขึ้นปฏิบัติกิจ ไม่ใช่มีความเป็นตัวตนว่า อยากจะนั่งให้สงบ เครียด แล้วก็อยากจะไม่เครียด แล้วก็เลยไปทำอะไรขึ้นมา แล้วคิดว่าขณะนั้นเป็นสมถะ ไม่ใช่
ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ไม่ว่าจะได้ยินคำหนึ่งคำใด ขอให้มีความเข้าใจถูกจริงๆ ในคำนั้น ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับเรา นั่นเป็นการเริ่มต้นของปัญญา ซึ่งเกิดจากความเข้าใจถูกต้องทีละเล็กที่ละน้อยเพิ่มขึ้น ถ้าปราศจากปัญญา อย่าปฏิบัติอะไรทั้งหมด ทานก็ไม่ได้ วิปัสสนาก็ไม่ได้ ผิดหมด ต้องเป็นปัญญาของเราเองซึ่งค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อย แล้วก็จะเห็นประโยชน์ของปัญญาเพิ่มขึ้น
ผู้ฟัง มีความรู้สึกว่าทำแล้วก็สงบเย็นกว่าที่ไม่ทำ
ท่านอาจารย์ ชอบ ชอบแน่ๆ เลย เพราะขณะนั้นจะเป็นโลภะแน่ๆ ถ้าขณะใดไม่มีปัญญา ขณะนั้นก็เป็นโลภะ ถ้าเรายังไม่รู้จักหน้าตาของปัญญาเลย เราก็เป็นทาสของความต้องการอยู่ตลอดเวลา แล้วแต่ว่าเขาจะให้เราพอใจในสิ่งใด พอใจที่จะไม่เครียด พอใจที่จะแข็งแรง พอใจที่จะมีสุขภาพดี เราจะเต็มไปด้วยความพอใจ ซึ่งถมเท่าไหร่ก็ไม่เต็ม ถ้ามีปัญญาจึงจะสงบได้มาก มั่นคง ถ้าไม่มีปัญญา สงบได้นิดเดียวเอง ชั่วขณะที่ให้ทานบ้าง หรือว่าวิรัติทุจริต เว้นทุจริตบ้างเท่านั้น เล็กๆ น้อยๆ ตั้งมั่นคงนานไม่ได้ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญา อย่างเวลานี้ รู้จิตไหมว่าจิตกำลังเป็นอะไร มีสภาพเป็นยังไงบ้าง คิดอะไรรึเปล่า
ผู้ฟัง ไม่ได้คิดเลย
ท่านอาจารย์ ไม่คิดเลยใช่ไหม มีใครบ้างที่ไม่ได้คิดอะไรเลยในขณะนี้ หรือมีคนเดียว ตามความเป็นจริง ทุกคนบอกว่าไม่ได้คิด แต่ไม่รู้ที่ว่าไม่ได้คิดนี่กำลังคิด เห็นอะไรไหมห้องนี้ เห็นไหม มีอะไรในห้องนี้ไหม นี่หลายอย่าง มีหลายอย่าง ขณะนั้นคิดแล้วโดยไม่รู้ตัวว่า คิด เพราะว่าโดยมากจะคิดว่า ต้องคิดเป็นเรื่องราว ใช่ไหม แต่จริงๆ แล้ว ในพระพุทธศาสนาความคิดมีหลายระดับ เพียงเห็นเฉยๆ แล้วไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ไม่ได้คิดถึงสิ่งที่กำลังเห็น หรือว่าทางหู เพียงได้ยินเฉยๆ พูดว่าอะไรก็ไม่รู้เรื่อง เพราะว่าเพียงได้ยิน ใช่ไหม แต่ทีนี้เวลาที่ได้ยิน และรู้ว่าคนนั้นพูดอะไร หมายความว่า เราคิดตามเสียงที่ได้ยิน เป็นความหมาย เป็นคำ เพราะฉะนั้นในขณะนั้นคิด ไม่ใช่ไม่คิด
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ชีวิตวันหนึ่งๆ ถ้าเรามีความเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง เราจะรู้ว่า ความคิดเก่าๆ ของเรานั้น เราคิดเองทั้งหมด แม้แต่ว่า เราไม่ได้คิด ความจริงเราก็คิด แต่เราไม่ทราบว่าเป็นความคิดในขณะนั้น เพราะฉะนั้นเรื่องของปัญญา ค่อยๆ เจริญขึ้นก่อน ก่อนที่จะไปทำอะไรทั้งหมด เพราะว่าต้องเป็นสติที่ระลึกเป็นไปในกุศล ไม่ใช่เราจะทำ ถ้าเราจะทำก็เป็นโลภะ เพราะฉะนั้น เราจะแก้โลภะชนิดนั้นด้วยโลภะชนิดนี้ หรือว่าแก้โทสะด้วยโลภะ แต่ว่าไม่ใช่ด้วยปัญญา แต่ถ้าเป็นปัญญาต้องฟังพระธรรม ถ้าเราเป็นผู้ที่นับถือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นบุคคลผู้ประเสริฐสุดยิ่งกว่าใครทั้งหมดเหนือบุคคลใด หมายความว่า เราต้องฟังธรรมของพระองค์ มิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นคำกล่าวลอยๆ เท่านั้นเอง ด้วยความเพียงเลื่อมใส แต่ว่าจริงๆ แล้วไม่ทราบว่าสอนว่าอะไร ตรัสรู้ว่าอะไร และสิ่งนั้นจะมีประโยชน์กับเรามากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าเราเป็นผู้ที่นับถือ แล้วก็ยังไม่เพียงแต่ลอยๆ คืออยากจะเข้าใจบุคคลที่เรานับถือให้มากขึ้นว่า พระองค์ตรัสรู้อะไร และสอนอะไร เราเริ่มฟังพระธรรม แล้วเราก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น แม้แต่ในวันนี้ เราก็ได้ความหมายว่า ธรรมคือทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง เพราะฉะนั้นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ทรงแสดงเรื่องสภาพธรรมที่มีจริงๆ พิสูจน์ได้ ทุกกาลสมัยด้วย ตั้งแต่สมัยที่ตรัสรู้จนกระทั่งถึงสมัยนี้ ก็ยังเป็นธรรมที่พิสูจน์ได้ ถ้าเราศึกษาแล้วเราเข้าใจ ก่อนอื่นอย่าเพิ่งไปทำอะไรจะดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด ต้องมีปัญญาก่อน และการทำนั้นจะทำถูก เพราะว่าเป็นสติ และปัญญาที่เริ่มอบรมเจริญขึ้น ถ้าไม่มีปัญญาแล้วทำไม่ได้ ปัญญาไม่ได้ทำกิจของปัญญา สติไม่ทำกิจของสติ มีแต่โลภะซึ่งทำกิจของโลภะ ตลอดเวลา
ผู้ฟัง มีเรื่องหนึ่งที่ชอบใจ คือว่า เวลานี้ถ้าใครพูดอะไรที่ทำให้เราโกรธ ถ้าเราตามทันโกรธ เราจะนึกขอบคุณ เพราะว่าเราจะรู้จิตขณะนั้นเลยว่า ความรู้สึกที่โกรธมันเป็นอย่างนี้เอง บางทีก็ใจเต้น มีอะไรต่างๆ ที่มันแตกต่างกับที่เรามีเมตตาเลย คือต้องขอบคุณเขาที่เวลาที่มีใครทำให้เรารู้สึกไม่พอใจ จากที่ที่ฟังท่านอาจารย์มาแล้ว ก็ได้ผลเป็นอย่างนี้ แล้วก็สบายดี ก็อยู่มาได้ทุกวันนี้ ก็เรียกว่าเป็นพระคุณของท่านอาจารย์เลย ขอกราบขอบพระคุณ
ท่านอาจารย์ ขออนุโมทนา นี่แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราเข้าใจชีวิตว่า ชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตเดียว พรุ่งนี้ไม่ทราบจะอยู่ที่ไหน และเย็นนี้ก็ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน แม้แต่เพียงขณะหนึ่งขณะใดต่อไปนี้ เราก็ยังไม่ทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ย่อมได้ เพราะฉะนั้น ขณะที่รู้ว่า ขณะนี้ ถ้าจะมีปัญญาก็มีปัญญาขณะนี้ได้ ถ้าจะมีความสงบก็มีความสงบในขณะนี้ได้ ถ้าคนที่มีแต่โลภะ มีแต่โทสะ ขณะนี้เขาเกิดได้ โทสะเขาก็เกิดได้ เพราะว่าชีวิตนี้อยู่เพียงชั่วขณะหนึ่ง ขณะที่เป็นโลภะไม่ใช่ขณะที่เป็นโทสะ ขณะที่เห็นไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังเป็นโทสะ โทสะเกิด ขณะที่โทสะไม่เกิดแต่ปัญญาเกิด เอาอย่างไหน เพราะว่าชั่วขณะจิตเดียว ทุกคนมีชีวิตอยู่เพียงชั่วขณะจิตเดียว ขณะจิตเดียวที่เกิดดับสืบต่อกัน นี่คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งเป็นไตรลักษณะ ก็คงจะได้ยินได้ฟังว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน แต่ทุกข์ที่นี่ไม่ใช่ทุกข์เจ็บตัว ไม่ใช่ทุกข์เจ็บใจ แต่ทุกข์นั้นไม่เที่ยงเพราะเกิดขึ้นสั้นมากแล้วก็ดับ ไม่มีอะไรเลยซึ่งเกิดขึ้น และคงอยู่โดยไม่ดับ แต่ว่าความไม่รู้ก็ทำให้คิดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเที่ยง เมื่อไม่สามารถที่จะรู้ความจริง ก็ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา เป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดจริงๆ แต่คนที่จะหมดกิเลสได้ถึงความเป็นพระอรหันต์ ต้องมีปัญญาแน่นอน ถ้าไม่มีปัญญาแล้วดับกิเลสไม่ได้ แต่ว่ามันยากก็ต้องมีการตั้งต้น มีการเริ่มต้น ตั้งแต่การที่บุคคลใดก็ตามที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ต้องฟังพระธรรมของพระองค์ก่อน จะได้ทราบว่า เราเข้าใจผิดหรือเข้าใจถูกมาก่อนที่จะได้ฟัง ให้ทุกคนเข้าใจได้ถูกต้องก่อนฟัง ไม่ต้องฟัง เสียเวลาไม่มีประโยชน์ แต่ทุกครั้งที่ฟังจะรู้ว่า แต่ก่อนเราไม่เคยได้เข้าใจอย่างนี้ แม้แต่ความหมายของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เคยคิดเลยว่าหมายความถึง สภาพธรรมในขณะนี้ กำลังไม่เที่ยง กำลังเกิดขึ้น และดับไป เราไปคิดว่า เกิดมาแล้วแก่ แล้วก็เจ็บ แล้วก็ตาย นั่นคือความไม่เที่ยง เราเข้าใจอย่างนั้น แต่ศึกษาแล้วจะรู้ได้ว่า ถ้าเข้าใจเพียงเท่านั้น หมดกิเลสไม่ได้ เพราะว่าเป็นเรื่องซึ่งเราก็รู้เวลานี้พูดก็จริง เกิดแล้วแก่ แล้วก็เจ็บ แล้วก็ตาย กิเลสก็ยังอยู่เต็ม ใช่ไหม
เพราะฉะนั้น ความหมายของความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตา ต้องลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น และผู้ที่ประจักษ์แจ้งพระองค์แรกก็คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ได้ทรงแสดงธรรมเพื่อที่จะให้คนอื่นเข้าใจตาม ยังจะปฏิบัติอีกหรือเปล่า บางคนก็อาจจะอยู่ว่างๆ ไม่ทราบจะทำอะไร ก็คิดว่า อยากจะลองทำดู บางคนก็เป็นอย่างนั้น แต่ให้ทราบว่า ถ้าไม่เกิดปัญญาแล้วก็ไม่ใช่การเจริญปัญญา และถ้าไม่เกิดปัญญาแล้ว ก็ไม่ใช่ความสงบ เราเรียกเองว่า ความสงบ เพราะว่าว่างๆ เฉยๆ ไม่ได้คิดอะไร ก็เข้าใจว่านั่นคือสงบแล้ว แต่ขณะนั้นไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ก็จะเป็นการสงบไม่ได้ ขณะนั้นเป็นโมหะ เป็นความไม่รู้ ถ้าว่างก็คือไม่รู้ ไม่ใช่ปัญญา คิดเรื่องไตรลักษณ์ แต่ไม่ใช่รู้ลักษณะของพระไตรลักษณ์จริงๆ คิดทั้งวันได้แน่ๆ แต่ว่าไม่ประจักษ์ความเกิดขึ้น และดับไปของสภาพที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ อย่างคำว่า สังขาร เคยเข้าใจว่าหมายความถึงรูปร่างกายใช่ไหม พิจารณาสังขาร เพราะฉะนั้น เวลานี้ที่ใช้คำว่า สังขาร นี้ หมายความถึง ร่างกายกับวิญญาณ ใช่ไหม อันนี้ก็ไม่ตรง เพราะว่าขันธ์ ๕ มี รูปขันธ์ ๑ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ วิญญาณขันธ์ ๑ สังขารกับวิญญาณแยกกัน สังขารไม่ใช่วิญญาณ และสังขารก็ไม่ใช้รูปด้วย
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 2
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 3
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 4
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 5
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 6
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 7
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 8
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 9
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 10
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 11
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 12
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 13
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 14
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 15
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 16
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 17
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 18
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 19
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 20
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 21
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 22
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 23
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 24
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 25
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 26
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 27
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 28
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 29
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 30
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 31
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 32
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 33
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 34
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 35
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 36
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 37
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 38
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 39
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 40
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 41
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 42
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 43
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 44
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 45
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 46
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 47
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 48
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 49
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 50
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 51
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 52
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 53
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 54
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 55
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 56
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 57
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 58
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 59
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 60