ปกิณณกธรรม ตอนที่ 20
ตอนที่ ๒๐
สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลปากเกร็ดเวชการ
พ.ศ. ๒๕๓๖
ท่านอาจารย์ นี้แสดงให้เห็นว่า จิตใจเศร้าหมอง ที่ใช้คำว่า เศร้าหมอง ที่นี้หมายความว่า ไม่สะอาด สกปรก เต็มไปด้วยอกุศล เพราะฉะนั้น ถ้าจิตใจว่างเว้น หรือว่าปราศจากอกุศลบ้างในวันหนึ่งๆ ขณะนั้นกำลังสะสมสิ่งที่ดี เป็นกุศล เพราะฉะนั้น เวลาพูดว่า อย่างนี้จะได้บุญมากไหม แสดงให้เห็นแล้วว่า คนนั้นเป็นโลภะ เป็นความต้องการ แต่ถ้าทำกุศล และรู้ว่า ใจไม่ปรารถนา หรือว่าไม่ติดข้อง ไม่ต้องการอะไรเลยที่จะเป็นการตอบแทน จิตเบาสบาย สะอาดจริงๆ ขณะนั้น เป็นกุศลมาก ไม่ใช่ว่าได้บุญมาก อย่าลืม เพราะโดยมากจะถามว่า ได้บุญมากไหม แต่ความจริงแล้ว จิตในขณะที่ไม่ได้ปราถนาสิ่งใดตอบแทน เป็นกุศลอย่างมาก ผ่องใส สะอาด เพราะฉะนั้น ผลมาก แต่ไม่ใช่ให้ไปติดในผลอีก พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม โดยเหตุ โดยผล ถ้าจิตใจผ่องแผ้วสะอาดจากอกุศลเท่าไหร่ ก็เป็นกุศลเท่านั้น เพราะฉะนั้นเมื่อเหตุดีเท่าไหร่ ผลต้องมากเท่านั้น แสดงเหตุผลตามความเป็นจริง แต่คนส่วนมากไม่เข้าใจ ไม่ได้บอกอย่างนี้ว่าจุดมุ่ง คือ ให้จิตไม่เป็นอกุศล แต่ว่าจุดมุ่งของคนทั่วๆ ไป บอกให้ทำบุญ เพื่อจะได้ผลบุญ นี้กลายเป็นลบกุศลซึ่งทำแล้ว ใช่ไหม เพราะว่า ไปติดข้องในผลที่จะได้รับ เพราะฉะนั้นรู้ว่า จิตใจเต็มไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ เพราะฉะนั้น ทำกุศลทุกอย่างเพื่อที่จะให้โลภะโทสะน้อยลง ถ้าโลภะโทสะน้อยลง จะเป็นคนที่มีความเบาสบายมาก ไม่เดือดร้อน ใช่ไหม ไม่ติดข้องในสิ่งซึ่งต้องไปขวนขวายหามา และกว่าจะได้มาก็แสนจะลำบาก บางทีลำบากมาก ต้องเดินทางไปถึงต่างจังหวัด ขึ้นเขา ลงห้วย กว่าจะได้เพชรน้ำใสๆ มาสักเม็ด เป็นเรื่องซึ่ง ถ้าไม่เป็นอย่างนั้น จะสบายกว่า ใช่ไหม แต่เพราะไม่รู้ว่า อะไรเป็นสิ่งที่จะทำให้สบายจริงๆ ถ้ายังติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในทรัพย์ ในวัตถุต่างๆ ขณะนั้น ไม่มีวันที่จะเป็นสุขอย่างสงบจริงๆ ได้ เพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า เท่าไหร่ก็ไม่พอ คนที่มีความสุข คือ คนที่พอ เท่าไหร่ก็พอ มีเท่าไหร่ก็พอ แต่ว่า ถ้าคนที่ไม่พอ เท่าไหร่ๆ ก็ไม่พอ ในพระไตรปิฏกอุปมาว่า ถึงแม้ว่า จะให้ภูเขาทองคำลูกหนึ่ง ก็ยังอยากได้อีกลูกหนึ่ง คือ ไม่มีทางจะพอได้เลย สมบัติ หรือบางคนที่ทำบุญ มือนี้ให้ไป ส่วนมือนี้ก็ยื่นออกไปรับ หมายความว่า ให้ไป แล้วหวังผลที่จะได้ ก็เลยไม่มีความหมาย คือว่า จะต้องทำอย่างนี้อยู่ตลอดเวลาใช่ไหม แต่ว่าถ้าคนที่รู้ว่า ทุกข์ทั้งหมดเกิดจากอกุศลทุกชนิด เพราะฉะนั้นตอนหลังจะเริ่มเรียนว่า อกุศลเจตสิกมีอะไรบ้าง
ผู้ฟัง ต่อไปอีกนิดหนึ่ง ปัญญาที่เกิดในสมาธิ สมมติว่า มีสมาธิแล้ว แล้วจะทำให้เกิดปัญญาขึ้น ปัญญาที่เกิดจากสมาธิมีลักษณะอย่างไร
ท่านอาจารย์ นี้คือเรื่องฟังเขาบ้าง ตามๆ มาบ้าง อ่านหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้บ้าง แต่ว่า ต้องเป็นผู้ตรงว่า ปัญญารู้อะไร นี้สำคัญมาก ขณะนี้อะไรเป็นของจริง ปัญญาต้องรู้ของจริง ของจริงนี้ ภาษาบาลีใช้คำว่า สัจจธรรม และของจริงที่รู้แจ้งแล้ว ทำให้เป็นผู้เจริญ คือ อริยบุคคล เพราะฉะนั้นมีคำว่า อริยสัจจธรรม ธรรมที่ทำให้ผู้รู้เป็นผู้เจริญ เจริญที่นี้ไม่ใช่เจริญทางโลก แต่เจริญทางด้านจิตใจ ซึ่งได้สะสมความรู้ความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะจริงๆ แล้ว เป็นสุขเป็นทุกข์เพราะสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ ใช่ไหม พรุ่งนี้คาดฝันไม่ได้ว่า จะเป็นอะไร เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปคำนึงถึงเลย เขาจะว่าอะไรพรุ่งนี้ เขาจะติจะชมอะไรพรุ่งนี้ ไม่สำคัญเท่ากับเดี๋ยวนี้ที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญ คือ สิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าเป็นพระอรหันต์ ๑ ท่านนั่งที่นี่ เห็นเหมือนเรา แต่ว่าใจของท่านต่างกับใจเรา เพราะว่า ใจของเราเห็นแล้วปัญญาไม่เกิด แต่พระอรหันต์ที่จะเป็นพระอรหันต์ได้ เห็นแล้วปัญญาเกิดรู้ความจริงของเห็นว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพที่มีจริง เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เห็นแล้วดับไป นี้คือผู้ที่รู้ว่า ปัญญารู้อะไร เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปคิดถึงสมาธิ หรือทำสมาธิแต่ต้องรู้ว่า ปัญญารู้อะไรก่อน ถ้าไม่รู้จักปัญญา หวังว่านั่งแล้วปัญญาจะเกิด แต่ไม่รู้จักปัญญา แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า เป็นปัญญาหรือเปล่าที่เกิด บางคนนั่งแล้วบอกว่า เหมือนจะเหาะได้ แล้วเป็นปัญญาอะไร เหาะได้เป็นปัญญาอะไร บางคนนั่งแล้วบอกว่า เหมือนเห็นนรกสวรรค์ แล้วเห็นนรกสวรรค์เป็นปัญญาอะไร ในเมื่อขณะนี้ เห็นเป็นของจริง เป็นสัจจะ ใครรู้ความจริงของเห็นในขณะนี้บ้างว่า เกิดแล้วดับ ทั้งๆ ที่กำลังเกิดดับ คนที่รู้ เป็นคนที่เจริญปัญญา แต่ถ้าไม่รู้จะชื่อว่า ปัญญา ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ที่ว่า นั่งแล้วจะไปเกิดปัญญา ขณะนี้ กำลังเห็น กำลังนั่งด้วย ถ้าผู้มีปัญญา สามารถที่จะรู้ความจริงในขณะนี้ได้ ผู้ที่ไม่รู้ความจริง ไปนั่งสักเท่าไหร่ ปัญญารู้ไม่ได้ และขณะนี้ กำลังเป็นของจริง ทำไมต้องไปนั่ง แค่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ รู้เห็นเดี๋ยวนี้ กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ ก็รู้ได้ยินเดี๋ยวนี้ ทำไมต้องไปนั่ง หนีไปนั่งทำไม หนีปัญญาไปทำไม ปัญญาเจริญได้
ผู้ฟัง ……
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่า ไม่ได้เข้าใจเลยมีตัวตนไปทำ แต่ว่าธรรมแต่ละอย่างทำหน้าที่ของธรรมนั้น เช่น สติ ทำหน้าที่ของสติ วิริยะ ความเพียรทำหน้าที่ของความเพียร สมาธิทำหน้าที่ของสมาธิ เวลานี้สมาธิกำลังเกิด ในขณะที่ได้ยิน และกำลังเข้าใจ กำลังรู้เรื่อง นี้เป็นสมาธิทั้งนั้น และเป็นสัมมาสมาธิด้วย แล้วปัญญาค่อยๆ เกิด ขณะที่เข้าใจ ไม่ใช่เรา เป็นปัญญาซึ่งเริ่มจะเจริญขึ้น จนกว่าจะเกิดบ่อยๆ และรู้ชัดขึ้น คนในสมัยก่อน พอไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ขณะที่กำลังฟังพระธรรมเป็นพระอริยบุคคล กำลังฟังไม่ได้หนีไปนั่งตรงไหนเลย ท่านอนาถบิณฑิกะท่านไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ท่านเป็นเศรษฐีชาวเมืองสาวัตถี ท่านเดินทางไปพระนครราชคฤห์ พอได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับที่นั่น ท่านไปเฝ้า ขณะที่กำลังฟังธรรม พอฟังจบ ท่านเป็นพระโสดาบัน เพราะเข้าใจสิ่งที่พระพุทธเจ้ากำลังตรัส พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องเห็น การเห็นกำลังมี เป็นของจริง ปัญญาของท่านสามารถประจักษ์แจ้งการเกิดดับของเห็นในขณะนี้ว่า เป็นสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับไป และกำลังได้ยินเป็นสภาพธรรมมาอีกประเภทหนึ่ง เห็นไม่มีแล้ว ขณะนั้นจิตเกิดขึ้นได้ยิน เป็นสภาพธรรมมาอีกชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นแล้วดับไป แต่เราซึ่งยังไม่เข้าใจอย่างนั้น ต้องฟังมากกว่านั้น และไม่ต้องหนีไปนั่งด้วย เดี๋ยวนี้กำลังเป็นของจริง
ผู้ฟัง จะเป็นได้ทั้ง ๒ อย่างไหม คือ สมมติฟังแล้วเข้าใจธรรม ฟังธรรมแล้วเข้าใจ อันนี้เกิดปัญญา อันนี้ถือว่า เป็นกุศล
ท่านอาจารย์ ขณะนั้น เป็นศีล สมาธิ ปัญญาพร้อม
ผู้ฟัง ที่นี้อีกทางหนึ่ง สมมติถ้าไม่ปฏิเสธ สมมติว่า พระกรรมฐาน พระวิปัสสนา พระเกจิอาจารย์ ท่านนั่งวิปัสสนา หรือว่าทำกรรมฐาน ท่านอาจจะได้ความรู้ ได้ปัญญาเกิดขึ้น นั้นเป็นไปได้อีกทางหนึ่งอย่างนั้นใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เป็นไปไม่ได้ และไม่ใช่ เพราะว่า ถ้าเป็นผู้ที่รู้จริง จะไม่มีการสอนให้นั่ง เพราะว่า สภาพธรรมในขณะนี้กำลังปรากฏ สามารถที่จะเข้าใจจนกระทั่งสติเกิด ระลึกรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ ถ้าเป็นผู้ที่ยังมีแบบแผน คือ การนั่ง แล้วยืน เดิน รับประทานอาหาร ปัญญาเกิดได้ไหม ถ้าปัญญาเกิดไม่ได้ ผิดหรือถูก และเป็นปัญญาหรือเปล่า นี้เป็นสัจจธรรม แข็งเป็นสัจจธรรม และเกิดดับจริงๆ เสียงเป็นสัจจธรรม เป็นของจริง ไม่มีใครสร้าง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และดับด้วย ทำไมไม่ให้รู้ความจริงอย่างนี้ แต่ว่าผู้ที่ฟังพระธรรม ฟังเหตุผล อย่าลืม มีพระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ที่นี้คือพระอริยบุคคล ซึ่งเป็นพระอริยบุคคล ท่านต้องสามารถที่จะพูดเรื่องสัจจธรรม และสอนให้อบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้แจ้งสัจจธรรม ของจริงในขณะนี้ทุกขณะ ไม่มีการบอกว่า ต้องไปทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้แล้วจะรู้ เห็นในป่ากับเห็นที่นี่ ต่างกันหรือเหมือนกัน เห็นในห้องเล็กๆ ในรถยนต์ หรือว่าที่สนามหญ้า หรือว่าในห้องนี้ สภาพเห็นต่างกันหรือเหมือนกัน ไม่ต่างกันเลย เพราะฉะนั้น ปัญญาจริงๆ รู้ว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเห็นอะไร ที่ไหน แล้วผู้นั้นจะไม่กลัวด้วย จะติดคุก บังเอิญกรรมเก่า หรือว่าจะอยู่ใต้ตึกถล่ม หรือจะอะไรก็ตามแต่ สภาพธรรมก็เป็นสภาพธรรม ปัญญาเกิดได้ทั้งหมดทุกแห่ง ไม่จำเป็นต้องไปนั่งอยู่ในห้อง
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นจะเป็นอุบายไหม สมมติว่า ถ้ามีกุศลจิต หรือตั้งใจฟังธรรม และฟังที่ไหนก็ได้ ทำให้เกิดปัญญา ทำให้มีสมาธิไม่ว่าจะเป็นที่ไหน แต่การที่อาจจะหลบไปมุมเงียบๆ หรือไปในป่าลึก อยู่ที่โคนต้นไม้ อาจจะเป็นอุบายเพื่อหาความวิเวก เพื่อความสงบแล้วทำให้จิตสงบ เพื่อจะทำให้เกิดสมาธิ และเกิดปัญญา อย่างนั้นจะเป็นไปได้ไหม อาจะเป็นอุบาย
ท่านอาจารย์ จะติดในอุบายไหม หลงกลตัวเองหรือเปล่า จะติดในอุบายไหม ในเมื่อเป็นอุบายต้องติด ใช่ไหม เพราะเป็นอุบาย แต่นี้เป็นของจริง ไม่ต้องมีอุบาย ตรง เป็นผู้ตรงต่อเหตุผล ทำไมต้องมีอุบาย
ผู้ฟัง อุบายหมายความว่าอย่างนี้ สมมติว่า เราอยู่มีครอบครัว สมมติว่า คฤหัสถ์จะต้องมีความวุ่นวาย จะต้องมีภาระหน้าที่ต้องทำ มีลูก มีครอบครัว มีอะไร ต้องทำมาหากิน มนุษย์เกิดความวุ่นวาย เกิดความทุกข์ เกิดใจไม่สงบ เพราะฉะนั้น เลยต้องหาอุบาย สมมติว่า บวชเป็นพระเสีย แล้วหาความวิเวก ไปศึกษาธรรม เรียนธรรม และศึกษาจริงๆ จังๆ ตัดในเรื่องของโลก ในเรื่องความสุขทางโลกไปเสีย อันนี้ก็เป็นอุบาย
ท่านอาจารย์ พุทธบริษัทมีเท่าไหร่ คนที่นับถือพุทธศาสนาเรียกว่า บริษัท ๑ หมู่ ๑ คณะ ๑ นี้มี ๔ ประเภท คือ ๑. ภิกษุ ๒. ภิกษุณี ๓. อุบาสก ๔. อุบาสิกา แสดงให้เห็นว่า ธรรมเป็นสัจจธรรมจริงๆ เป็นของจริงที่ทุกคนพิสูจน์ได้ ไม่ใช่ว่า ต้องเป็นพระ ถึงจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ถ้าอย่างนั้นไม่จริง ใช่ไหม จริงแต่เฉพาะพระ คฤหัสถ์ไม่จริง อย่างนั้นจะเป็นสัจจธรรมไม่ได้ แต่ในเมื่อเป็นของจริง เป็นสัจจธรรมแล้ว ทุกคนพิสูจน์ได้ทุกเพศ บรรพชิตเป็นผู้ที่สะสมมาต่างกับคฤหัสถ์ เหมือนฟ้ากับดิน ไกลกันมาก ทำไมเราถึงไม่เป็นพระภิกษุ และทำไมพระภิกษุถึงไม่เป็นเรา ตามการสะสม ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นเอตทัคคะ เป็นทายกผู้เลิศในการให้ทาน ไม่ได้เป็นพระภิกษุเลย ท่านไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบัน ก็ไม่บวช วิสาขาวิคารมารดาเป็นนักธุรกิจ และเป็นพระโสดาบันตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ และมีครอบครัวมีลูก มีหลานมากมายท่านก็ไม่บวช เพราะว่า ทุกคนเป็นคนตรง รู้ว่าแต่ละคนสะสมมาไม่เหมือนกัน แลกกันไม่ได้เลย อย่างเราดูพืชพันธุ์ต้นไม้ใบหญ้า ดอกกล้วยไม้ก็มี ดอกกุหลาบก็มี ถ้าจะดูผลไม้ มังคุดก็มี ทุเรียนก็มี ถ้าจะดูผักก็มีทั้งที่เป็นหัว เป็นกิ่ง เป็นใบ เป็นแครอท เป็นผักกาดขาว เป็นอะไร ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วพวกนี้มีรูปเพียง ๘ รูป เกิดรวมกัน ทุกขณะ คือ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี กลิ่น รส โอชะ แต่ความต่างกันของปริมาณของแต่ละรูปที่ร่วมกัน ทำให้มีรสต่างกัน ทำให้มีใบต่างกัน ทำให้มีเม็ด หรือว่าเปลือก หรือว่ารูปร่างต่างกัน นี้เป็นเรื่องของสิ่งที่ไม่มีชีวิต แต่ถ้าเป็นสิ่งที่มีชีวิต อย่างจิตใจอย่างนี้จะต่างกันไปยิ่งกว่านั้นสักเท่าไหร่ ความคิดของแต่ละคนประกอบด้วยเจตสิกแต่ละชนิด ดีบ้าง ชั่วบ้าง สลับกันไปในแต่ละวัน แต่ละภพ แต่ละชาติ เพราะฉะนั้นจะให้พุทธบริษัทเป็นภิกษุทั้งหมดไม่ได้ ถ้ามีครอบครัว มีการงาน มีเรื่องยุ่งๆ ขณะนั้นเป็นความจริง เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ สะสมปัญญาได้ สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ มีผู้หญิงคนหนึ่ง ชื่อรัชชุมาลา ที่คยา กำลังจะผูกคอตาย คิดดูถึงความทุกข์ของคนซึ่งจะผูกคอตาย แต่พระพุทธเจ้าทรงทราบถึงการสะสม เสด็จไปโปรด และแสดงธรรมสั้นๆ ผู้หญิงคนนั้นเป็นพระโสดาบันบุคคล และเรายังไม่ได้มีปัญหาถึงกับจะไปผูกคอตาย ใช่ไหม แล้วทำไมถึงจะอบรมเจริญปัญญาไม่ได้ นั้นกำลังจะผูกคอตาย คิดดูว่าเรื่องอะไรหนักหนา ต้องทนไม่ไหวแล้ว ถึงจะต้องคิดอย่างนั้น และเรายังไม่ถึงอย่างนั้น แต่ขาดปัญญาเท่านั้นเอง แต่ท่านผู้นั้นไม่ได้ขาดปัญญา เพราะฉะนั้นสำคัญที่ปัญญา ถ้ารู้ว่า ของจริง คือ เดี๋ยวนี้ และปัญญารู้ความจริงเดี๋ยวนี้ จะไม่ไปที่ไหนเลย ใครจะบอกให้ไปไหน ก็ไม่ไป นอกจากพูด แสดงธรรม เหตุผล จนกระทั่งปัญญาค่อยๆ เกิด ค่อยๆ เจริญขึ้น ไม่อย่างนั้นพระผู้มีพระภาคทรงสบาย ไม่ต้องทรงแสดงธรรมเลย ใครมาก็บอกให้ไปนั่งปฏิบัติ ๔๕ พรรษานี้สบายมาก ไม่ต้องแสดงธรรมเลย แต่เพราะเหตุว่า พระธรรมเกื้อกูล เป็นรัตนะ เป็นสรณะ เป็นที่พึ่งอันแท้จริงที่ว่า ทรงรู้แจ้งว่า กว่าเราซึ่งมีอวิชชาจะค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรม แล้วละอวิชชาไปทีละเล็กทีละน้อย ต้องอาศัยพระธรรมเทศนาอย่างละเอียดทุกประการ ถ้าใครไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่มีทางจะไปนั่งปฏิบัติ อย่างไรๆ ก็ไม่รู้ว่า ปัญญารู้อะไร
ผู้ฟัง ถ้าสมมติว่า คนไม่ได้ศึกษา คือ ไม่ได้ฟังธรรม ไปนั่ง ก็จะเกิดมิจฉาสมาธิ ถ้าได้เรียน ได้ศึกษาธรรมด้วย แล้วไปนั่งปฏิบัติด้วย สมมติว่า นั่งสมาธิด้วย อย่างนั้นจะส่งเสริมกันไหม จะได้ประโยชน์ดีไหม
ท่านอาจารย์ ช้าไป คิดว่าเร็วใช่ไหม แต่ความจริงช้า เพราะว่า ขณะนี้ทำไมไม่อบรมเจริญปัญญาทันที และจะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะหน้าต่อไปอะไรจะเกิดขึ้น นั่งอย่างนี้ ตายเดี๋ยวนี้ได้ ได้แน่นอนที่สุด รับประทานอาหารเสร็จแล้วตายก็มี นอนหลับตายก็มี กำลังหัวเราะตายก็มี เพราะฉะนั้นจะตายเมื่อไหร่ก็ได้ทั้งนั้น แล้วทำไมจะต้องคอยไปนั่ง ในเมื่อสามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาเดี๋ยวนี้ได้ ในพระไตรปิฏกมีข้อความอุปมาว่า ควรจะรีบเร่งเจริญปัญญา เหมือนกับคนที่มีไฟไหม้บนศีรษะ เดี๋ยวนี้ ไม่ต้องรอ
ผู้ฟัง เรานั่งสมาธิเพราะอยากจะให้จิตสงบ อย่างนี้เป็นโลภะ
ท่านอาจารย์ โลภะแน่นอน อยากเมื่อไหร่ ที่ไหน คือโลภะทั้งนั้น แล้วโลภะกลัวอะไร ปัญญาอย่างเดียว ถ้าไม่มีปัญญา โลภะพาไปตลอดหมด ขึ้นเขา ลงห้วย ต่างประเทศ อาจารย์ดังทั้งหลายก็ไปหมด แต่ถ้ามีปัญญาเกิดขึ้น โลภะเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่โลภะ และอกุศลทุกประเภทกลัว คือ ปัญญา แต่ถ้าปัญญาไม่มีแล้ว อกุศลสบายมากโดยเฉพาะโลภะ
ผู้ฟัง ถ้าไม่มีโลภะ อะไรก็ไม่สำเร็จ
ท่านอาจารย์ สำเร็จแล้วเป็นสุขหรือเป็นทุกข์
ผู้ฟัง ………… ได้สำเร็จก็มีโลภะเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ มี แล้วเป็นสุขหรือเป็นทุกข์
ผู้ฟัง เป็นสุข
ท่านอาจารย์ เป็นสุขใช่ไหม สุขขณะนั้น สุขเพราะโลภะ
ผู้ฟัง เพราะว่า สำเร็จ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น มีความสุข ๒ อย่าง เวลาที่โลภะ ความติดข้อง ความเพลิดเพลินเกิดขึ้น ได้สิ่งที่ต้องการ ขณะนั้นเป็นโสมนัส เป็นสุขเวทนา เป็นความรู้สึกที่สบาย พอใจมากขณะนั้น แต่ว่าลึกลงไปจริงๆ แล้ว ไม่รู้ว่า มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ว่าในขณะที่ทำกุศล ...
ผู้ฟัง ที่เขาสร้างเครื่องบินได้ ไม่ใช่เรียกว่า ปัญญา
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ถ้าเป็นปัญญาแล้วต้องรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ปัญญาในภาษาไทยที่ใช้ง่ายๆ ใครเก่ง ใครทำอะไรได้ บอกว่า มีปัญญา ฉลาด แต่ตามความจริงแล้ว ถ้ายังไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เขามีอวิชชา ต่อให้จะไปถึงโลกพระจันทร์ก็ยังมีอวิชชา
ผู้ฟัง เรียกว่า ถ้าไม่มีโลภะก็ทำอะไรไม่สำเร็จ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องยอมรับความจริงว่า มีชีวิตอยู่ เพราะยังมีโลภะ ถ้าไม่มีโลภะเมื่อไหร่ เป็นพระอรหันต์ จะมีชีวิตอยู่ สำหรับพระอรหันต์ท่านมีชีวิตอยู่ เหมือนกับลูกจ้างที่รอเวลางานเลิก หมดหน้าที่ หมดภาระ หมดกังวล หมดห่วง ถ้าเรามีความสบายใจ จากรูปบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง ความสำเร็จบ้าง กับ การที่ทำความดี ละคลายความเป็นตัวตน ละความเห็นแก่ตัว ช่วยเหลือคนอื่น และมีจิตใจที่สะอาด ไม่มีอกุศล อย่างไหนจะดีกว่ากัน ทั้ง ๒ อย่างมีความรู้สึกที่เป็นสุขได้ คือ สุขนี้สุขในทางโลกกับสุขในทางธรรม ถ้าสุขในทางโลก มีทรัพย์สมบัติมากๆ อยากได้อะไรก็ได้ ไม่เห็นจะเป็นทุกข์เลย นั้นคือความสุขในทางโลก เกิดกับโลภะ แต่ถ้าสุขในทางธรรม เวลาที่ไม่มีโลภะ ลองเปรียบเทียบ ถ้ามีความอยากได้อะไร ติดในสิ่งนั้น ถ้าไม่ได้สิ่งนั้นเป็นทุกข์ไหม ต้องกระวนกระวายจนกว่าจะได้สิ่งนั้นมาถึงจะมีความรู้สึกว่าเป็นสุข ใช่ไหม ลำบากไหมในการที่ต้องไปเที่ยวแสวงหามา ได้มาแล้วยังต้องมาดูแลอย่างดี เก็บรักษาอย่างดี กลัวสิ่งนั้นจะเสียไป เครื่องบินทั้งลำก็ต้องรักษามาก ใช่ไหม รถยนต์ทั้งคัน บ้านทั้งหลัง แต่ถ้าไม่ติดข้องในสิ่งใดเลยทั้งสิ้น สบายกว่าไหม
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 2
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 3
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 4
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 5
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 6
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 7
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 8
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 9
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 10
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 11
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 12
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 13
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 14
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 15
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 16
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 17
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 18
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 19
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 20
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 21
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 22
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 23
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 24
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 25
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 26
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 27
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 28
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 29
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 30
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 31
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 32
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 33
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 34
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 35
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 36
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 37
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 38
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 39
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 40
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 41
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 42
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 43
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 44
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 45
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 46
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 47
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 48
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 49
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 50
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 51
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 52
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 53
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 54
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 55
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 56
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 57
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 58
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 59
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 60