ปกิณณกธรรม ตอนที่ 24


    ตอนที่ ๒๔

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลปากเกร็ดเวชการ

    พ.ศ.๒๕๓๖


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจคำว่า ทาน หรือการให้จริงๆ เราจะเป็นผู้ที่ให้ โดยไม่หวังอะไรทั้งสิ้น อย่างนี้จะดีกว่าเราท่องสังคหวัตถุ ๔ เพื่อหวังว่า เราจะทำแล้วเป็นกุศล แล้วเราจะได้กุศล และเราจะได้รับผลของกุศล ถ้าอย่างงั้นการศึกษาธรรมก็ไม่มีประโยชน์ บอกได้เลยว่า เป็นการเพิ่มกิเลส เพราะว่าต้องการผลของการศึกษาธรรมที่เป็น ลาภบ้าง ยศบ้าง สรรเสริญบ้าง หรือแม้แต่คำชมเชยว่าเก่ง จำได้ตั้ง ๔ ข้อ อะไรอย่างนี้ มันก็ไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้นคิดว่า เราต้องมีจุดประสงค์ไม่ว่าจะทำอะไร ถ้าเราจะท่อง กับการที่เราจะเข้าใจ และการที่จะเห็นประโยชน์ อย่าง ๔ ข้อวันนี้ ถ้าทุกคนซาบซึ้ง ไม่ต้องท่อง นึกได้เอง อย่าง ทาน การให้แสนที่จะธรรมดาในชีวิตประจำวันของทุกคน ทุกชาติ ทุกภาษา ทุกประเทศในโลก มีชีวิตอยู่ด้วยการสงเคราะห์กัน ด้วยการให้ จะให้อะไรก็แล้ว แต่อย่างที่ได้กล่าวถึง แม้แต่ให้ความรู้ ความสามารถที่เรามี ที่จะแบ่งปันที่คนอื่นเขา ถึงจะไม่ใช่วัตถุทาน ขณะนั้น จิตใจของเราก็สามารถที่จะสละสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับเรา แล้วก็ให้เป็นประโยชน์สำหรับคนอื่นด้วย อย่างนี้ต้องท่องไหม เรื่องทานนี้ก็ไม่ต้องท่อง ถ้าเข้าใจจริงๆ ปิยวาจา เห็นชัดเลยว่า คำพูดที่ให้กำลังใจคน หรือว่าให้เขาเกิดความสบายใจ และก็เราเคยเป็นคนที่อาจจะใช้คำที่ไม่น่าฟัง พอพูดไปแล้ว นึกขึ้นมาได้ ถ้าเมื่อกี้เราไม่พูดอย่างนั้น แต่พูดอีกอย่างหนึ่งก็จะดี ต่อไปแล้วก็มีการระมัดระวังที่จะมี ปิยะวาจา ไม่ต้องท่องอีกเหมือนกัน แล้วก็ อัตถจริยา ชื่อเป็นภาษาบาลีก็ไม่ต้องเป็นของภาษาบาลี เพราะถ้าจำได้ก็ดี อัตถ คือผลหรือประโยชน์ จริยา คือการกระทำ เพราะฉะนั้น การกระทำใดๆ ที่เป็นประโยชน์กับคนอื่น แม้นิด แม้หน่อย หยิบของตกให้ ช่วยถือของหนัก หรือว่าใครถามทางไปไหนก็บอก พาเขาไปส่งที่ๆ เขาต้องการจะไป อะไรก็ได้ที่เป็นประโยชน์ นี่เราก็ทำกันอยู่ในชีวิตประจำวัน ก็ไม่ต้องท่องอีก และ สมานัตตตา การที่มีตนเสมอจริงๆ อย่างที่กล่าวถึงในตอนต้น ก็ประพฤติ ปฏิบัติ อบรมไป ก็ไม่ต้องท่อง แต่ถ้าจะมารวบรวมว่า นี่เป็น สังคหวัตถุ หมวด ๔ ถ้าใครพูดถึงเราก็รู้ เพราะเรากำลังประพฤติปฏิบัติอยู่ อย่างนี้ก็คงไม่ต้องท่อง

    ผู้ฟัง ขอความกรุณาอาจารย์ คือว่าคนที่มีอุเบกขาจะขัดกับข้อที่มี อัตถจริยาหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ธรรมนี้ต้องเข้าใจว่า กุศลคือกุศล เพราะฉะนั้นในเรื่องของพรหมวิหาร ๔ ก็ต้องเป็นเรื่องของกุศล ไม่ใช่อกุศล และ สังคหวัตถุ ก็ต้องเป็นกุศล เวลาที่เราช่วยใคร อย่างสมมติว่า หมอกับนางพยาบาล มีคนไข้หนัก คนไข้หนักเราช่วยแน่นอน แต่ว่าคนที่ช่วยใจหวั่นไหวหรือไม่หวั่นไหว ทั้งๆ ที่กำลังช่วย ถ้าคนที่ไม่รู้เรื่องของกรรม ก็จะมีความทุกข์ร้อน หรือว่าสงสาร หรือบางทีก็อาจจะถึงกับน้ำตาไหล ในอากัปกริยาที่เขากำลังเป็นทุกข์อย่างมากๆ ก็พลอยเป็นทุกข์ไปด้วย ในขณะนั้นก็กำลังช่วย แต่อีกคนหนึ่ง ช่วยด้วยความรู้ความเข้าใจว่า ทั้งที่เขาใช้ความสามารถเต็มที่ แต่อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด เพราะเหตุว่า ถ้าจะถึงคราวที่กรรมจะให้ผล คือจะตาย จุติจิตจะเกิด มีเงินเท่าไหร่ก็ซื้อต่อไปอีกสักขณะหนึ่งไม่ได้ เสี้ยววินาทีหนึ่งก็ไม่ได้ เมื่อกรรมจะให้ผล ใช้คำที่ถูกต้องที่สุดคือ ถึงแก่กรรม เพราะฉะนั้นผู้นั้นทำดีที่สุด ด้วยความไม่หวั่นไหวเลย ถึงเขาจะตายไปกับมือก็ได้ช่วยเขาเต็มที่แล้ว นั่นคืออุเบกขา ไม่ใช่ว่าวางเฉย

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างงั้นก็หมายความว่าเราสามารถจะแสดงอัตถจริยาได้ก่อน

    ท่านอาจารย์ แน่นอน พร้อมกันก็ได้ คือในขณะที่เมตตาจิตเกิดขึ้น ทั้งกาย ทั้งวาจา เป็นไปได้ ไม่จำเป็นต้องคิดถึงคนอื่นด้วยความเป็นมิตร แต่ว่าในขณะที่เป็นมิตรนั้นก็แสดงกาย วาจา ที่เป็นมิตรด้วย เพราะฉะนั้นทั้ง ๔ นั้น แสดงได้ แล้วแต่ว่าจะด้วย เมตตา หรือกรุณา หรือมุทิตา หรืออุเบกขา

    ผู้ฟัง ขออนุญาตย้อนกลับไปจากที่พูดว่า ขณะนี้ ธรรมเขาก็ทำกิจของเขาอยู่ แต่การที่จะอบรม ก็คือว่าเราจะอบรมให้รู้ในสภาพธรรมที่กำลังเกิดอยู่ จะถูกไหม

    ท่านอาจารย์ ถูก

    ผู้ฟัง ที่จะอบรมธรรมที่อยู่นี้ ก็สรุปได้ว่าจะมีอยู่ด้วยกัน ๔ ทางคือ กาย เวทนา จิต ธรรม อย่างนี้จะได้ไหม

    ท่านอาจารย์ นั่นชื่อ คือ ผู้มีพระภาคทรงแสดงหมวดของ มหาสติปัฎฐาน ๔ ตามการยึดถือ คือ กายนี้เรายึดถือแน่ๆ ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ใครแตะต้องก็ไม่ได้ เป็นของเรา นั่นคือ การยึดถือกายว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้น ต้องอบรมเจริญปัญญา เพื่อจะรู้ความจริงของกาย และสำหรับเวทนา เราก็มีความติดยึดมัน เพราะทุกคนต้องการความสุข ไม่ว่าจะทำงานเหน็ดเหนื่อยสักเท่าไหร่ก็เพื่อสุขเวทนา จะไปซื้อของที่ไหน กลับเข้ามาในบ้านก็เพื่อสุขเวทนาอีก หรือว่า จะไปเที่ยวที่ไหนยังไงก็เพื่อสุขเวทนาทั้งนั้น นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเวทนาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะเห็นความไม่ใช่ตัวตน ความไม่เที่ยงเวทนา แล้วก็จิต และธรรม ก็รวมอยู่ เพียงแต่ว่าทรงแยกตามการยึดถือเท่านั้นเอง แต่ก็คือสภาพธรรม ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    ผู้ฟัง มีผู้สนทนาธรรมถามขึ้นว่า การปฏิบัติธรรมจะต้องดูอะไรก่อน คือถ้าถามอย่างนี้แล้ว ถ้าศึกษาตามที่ท่านอาจารย์สอน จะต้องผิดแน่ เพราะสภาพธรรมอะไรจะเกิดก่อนก็ได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องมานั่งดูกายกันอยู่

    ท่านอาจารย์ ไม่มีกฎเกณฑ์เพราะเป็นอนัตตาจริงๆ

    ผู้ฟัง คือที่เห็นที่ทำๆ กันอยู่ ก็คงจะเป็นเพราะว่า ดิฉันคิดเอาเองว่า เอากาย คือศึกษาธรรมไม่ละเอียด หรือว่ามีความเข้าใจไปอีกอย่างหนึ่ง ก็เลยมุ่งว่า กายนี้แหละต้องก่อน ซึ่งจริงๆ แล้วมันอะไรเกิดก่อนอะไรก็ได้

    ท่านอาจารย์ คือ ธรรมนี้เป็นเรื่องจริง แล้วเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ เพราะฉะนั้นความจริงเป็นอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น เช่นขณะนี้เราคิด แล้วใครจะห้ามความคิดได้ เพราะฉะนั้นถ้าสติระลึกสภาพที่กำลังคิด ผิดหรือถูก ผิดไม่ได้เลย เพราะเหตุว่า คิดกำลังเป็นของจริง เพราะฉะนั้นจะไปมีกฏเกณฑ์อะไรไม่ได้ แล้วการปฏิบัติธรรมเพื่อรู้แจ้งสภาพธรรมตรงตามที่ได้ศึกษา เมื่อศึกษาเป็นความจริงอย่างไร ก็ต้องอบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้แจ้งความจริงอย่างนั้น ไม่ใช่ผิดจากความจริง เพราะว่าตามการศึกษา รูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้านี้ คือ ผงดิน ต้องมีธาตุทั้ง ๔ ประชุมรวมกัน ถ้าไม่มีการประชุมรวมกัน ก็ล่องลอยเป็นฝุ่นเล็กๆ ซึ่งไม่มีการนั่ง การนอน การยืน การเดิน ในรูปเล็กๆ นั่น แล้วเราจะมายึดถือรูป ซึ่งประชุมร่วมกันได้อย่างไร ก็ไม่ทำให้เข้าใจลักษณะของรูปแต่ละรูปตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง เรื่องเกี่ยวกับสวรรค์ สวรรค์ที่มี ๖ ชั้น ไม่ทราบมีจริงหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ แล้วใครเป็นคนบอก

    ผู้ฟัง ไปเจอในที่บทสวดมนต์

    ท่านอาจารย์ ใครเป็นคนบอกว่ามีสวรรค์ ๖ ชั้น

    ผู้ฟัง ก็คงจะเป็นตำรา

    ท่านอาจารย์ ในไตรปิฏก ในพระไตรปิฏกใครบอก

    ผู้ฟัง ก็คงจะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ถ้าในพระไตรปิฎกก็ต้องเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง ในบทสวด ตกลงมีใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ในพระไตรปิฏกมี และผู้ที่ตรัสไว้ก็คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พาไปดูไม่ได้ แต่ไปเองได้ด้วยกรรม

    ผู้ฟัง ตกลงมีทุกอย่างที่ในบทสวดมนต์

    ท่านอาจารย์ ถ้าคิดถึงเหตุว่า เหตุมี ผลจะมีไหม กรรมมีทั้งประณีต และไม่ประณีต เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เราก็ยังเห็นผลของกรรม คนเรานี่เกิดมาต่างกัน รูปร่างก็ไม่เหมือนกัน ฐานะก็ไม่เหมือนกัน นิสัยใจคอ ความรู้ วงศาคณาญาติ ทุกอย่างไม่เหมือนกันเลย เพราะฉะนั้น ก็ต้องแล้วแต่เหตุ คือ กรรมที่ประณีต และไม่ประณีต วิถีชีวิตก็ยังต่างกันอีก ตอนเด็กอาจจะสบาย ตอนโตอาจจะลำบาก ไม่มีใครรู้ได้ว่า กรรมไหนจะให้ผลเวลาไหน เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นกรรมที่ประณีตกว่าการเกิดในมนุษย์ ก็เกิดในภูมิที่สูงกว่ามนุษย์ได้ ต้องคิดถึงเหตุว่า เหตุมีไหม ถ้าเหตุมีผลก็มีได้ แต่ถ้าเหตุไม่พอ จะให้ผลอย่างนั้นเกิดก็ไม่ได้ อย่างทำกุศลแล้วจะให้ไปเกิดเป็นพรหมนี้ ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าต้องเป็นผลของจิตที่สงบถึงขั้นอัปปนาสมาธิที่ไม่เสื่อม

    ผู้ฟัง เรื่องของสวรรค์ คือผมเชื่อตามที่พระไตรปิฏก หรือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ประทานไว้ในพระไตรปิฏก สวรรค์ คือเทพ คือผู้ที่อยู่ในภูมิของเทพทั้ง ๖ ชั้นนั้น ในเหตุ และผล มันก็ควรจะมีเทพที่ไม่ใชที่เรามองเห็น ในภาพจินตนาการของศิลปะประเพณีไทย ไปไหนก็ต้องเหาะ รำ ใส่ชฎา เทพของแขกก็คงจะมี หรือว่าเทพของฝรั่งในอเมริกาก็คงจะมีเทพของเขาเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ถ้าพวกเราไปเกิดเป็นเทวดา เราคงไม่อยากรำ คงไม่อยากใส่ชฎา เพราะฉะนั้น ไม่ต้องเป็นห่วง เราจะเกิดในภูมิที่ไม่เดือดร้อนทางกาย แล้วทุกอย่างก็น่ารื่นรมย์ เพราะเหตุว่าเป็นช่วงของชีวิตที่เสวยผลของบุญ ไม่มีเรื่องลำบาก เหมือนอย่างในมนุษย์ เราต้องหุงข้าว เราต้องอาบน้ำ เราต้องทำอะไรสารพัดอย่าง เทวดาก็ไม่ต้องอาบน้ำ ไม่ต้องแปรงฟัน ก็สบายหลายอย่าง

    ผู้ฟัง นั่นก็แสดงว่า เทพ จะมีอะไรที่พิเศษกว่ากับคนธรรมดา

    ท่านอาจารย์ ใครจะเขียนยังไงก็ได้ ใครจะชอบยังไงก็ได้ แม้แต่มนุษย์เรานี้ ก็ยังมีอัธยาศัยแตกต่างกัน เพราะฉะนั้น เมื่อตายไปแล้ว เกิดเป็นเทวดาด้วยผลของกุศลกรรมนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าอุปนิสัยของเราจะเอาทิ้งไปที่อื่น เราก็ยังมีอัธยาศัยต่างๆ กัน มีศาลาสุธัมมาทุกชั้นสำหรับฟังธรรม สำหรับผู้ที่สนใจในธรรม แต่ผู้ที่ไม่สนใจ ก็ไปเพลิดเพลินในสวนนันทวัน

    ผู้ฟัง ขอเรียนถามอาจารย์ คือมีคนที่รู้จักกันเขาเลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้งในบ่อกุ้ง แล้วเขาก็ต้องเอากุ้ง ปลามาทาน พอทราบว่าจะเอามาเลี้ยงเรา สมมติเราไปก็ห้ามเขา คือไม่ค่อยกล้าจะห้าม แต่ว่าเราไม่กล้าทาน คือไม่อยากจะทาน คือเราเห็นอยู่ว่าอยู่ในบ่อ

    ท่านอาจารย์ เราต้องเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะที่จะรู้สภาพจิตว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล ไม่อย่างนั้นเราก็มัวแต่คิด เป็นอย่างนั้นดีไหม ทำไม หรืออะไรอย่างนั้น เป็นได้ไหม สำคัญไหม ผิดไหม หรืออะไร เราก็ได้แต่คิด เพราะไม่รู้สภาพจิตจริงๆ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะถึงจะเป็นผู้ตรงว่าไม่เป็นอกุศลชนิดนี้ก็เป็นอกุศลชนิดอื่น ไม่เป็นโทสะก็เป็นโลภะ ก็ยังคงเป็นอกุศลทั้ง ๒ อย่าง

    ผู้ฟัง แล้วคนที่เขาเลี้ยง และเขาต้องเอาไปขาย เขาจะบาปไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้จิตของเขาขณะหนึ่ง ขณะหนึ่ง ขณะหนึ่งเหมือนกัน เวลาที่เราพูดถึงเหตุการณ์นี้ เราลืมว่าเราต้องคิดถึงขณะจิต

    ผู้ฟัง แล้วถ้าสมมติว่า เราไปช่วยเหลือเขา โดยการให้เขากู้ยืมเงินไปทำบ่อปลา

    ท่านอาจารย์ คิดถึงขณะจิต ไม่ต้องคิดถึงเหตุการณ์ทั้งเหตุการณ์ยาวๆ คิดถึงแต่ละขณะจิต

    ผู้ฟัง ขณะที่เราให้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ขนะจิตนั้นเป็นกุศลหรือเปล่า หรือว่าเป็นอกุศล นั่งเฉยๆ ขณะนี้เป็น กุศลหรือเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง ขณะที่ให้เขายืมเป็นอะไร

    ท่านอาจารย์ ไม่มีใครรู้จิตของคนอื่น ต้องรู้จิตของตัวเอง

    ผู้ฟัง เรามีความรู้สึกว่า เราสงสารเขา อยากให้เขาประกอบอาชีพ

    ท่านอาจารย์ สงสารก็เป็นอกุศลได้

    ผู้ฟัง ในทางที่ผิดใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ จิตเศร้าหมองขณะไหน ขณะนั้นเป็นอกุศล ความรู้สึกไม่สบายใจเกิดขึ้นขณะไหน ขณะนั้นเป็นอกุศล เห็นปลาที่เพื่อนฆ่า รู้สึกไม่สบายใจนั้นเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง ถึงแม้เราไม่ทาน

    ท่านอาจารย์ ยังไงก็ตามให้สังเกตได้ที่เวทนาคือความรู้สึก ถ้าเป็นความรู้สึกไม่สบายใจนั้นเป็นอกุศลทั้งหมด

    ผู้ฟัง เมื่อตอนต้นๆ อาจารย์ก็พูดว่า ไม่มีใครหรอกที่จะอยากจะดับกิเลส ดับกิเลสนี่มันก็มีหลายข้อ คิดว่ามันคงจะมีบางข้อที่เราไม่อยากดับ แล้วก็มีบางข้อที่เราคิดว่าเราละได้

    ท่านอาจารย์ หรือคิดว่าอยากดับ อย่างโทสะ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ก็อย่างงั้น หรือว่าไม่ฆ่าสัตว์ ไม่อยากทำบาป แต่บางอย่างที่เราชอบ แล้วก็จะสะสมเพิ่มไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ก็จะไม่ใช่แน่แท้ไปเลยหรอกว่าเรา ...

    ท่านอาจารย์ ดิฉันพูดกลางๆ ว่า ไม่มีใครอยากดับกิเลส ไม่ได้แจกว่าอยากดับกิเลสประเภทไหน ไม่อยากดับกิเลสประเภทไหน ธรรมจะดีถ้าคิดเอง คิดเอาเองแล้วก็พิจารณาเอง ก็เป็นความเข้าใจของเรา อย่างเราจะไปแบ่งแยกว่า เราอยากดับโทสะ แต่เรายังไม่อยากดับโลภะอะไรอย่างนี้

    ผู้ฟัง เรียนถามอาจารย์ เมื่อสักครู่คุณหมอสัตวแพทย์ที่เขาบอกว่า ถ้าฆ่าตัวหนึ่งเพื่อสิบตัว ฆ่าตัวหนึ่งตายแต่อีกสิบตัวอยู่ เป็นอกุศลหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ตรงฆ่าเป็นกุศลไม่ได้ ตรงฆ่า ขณะจิตที่ฆ่า คนละขณะ กับขณะที่ช่วยชีวิตอีกสิบชีวิต

    ผู้ฟัง แต่ช่วยอีกสิบชีวิตมันกุศล

    ท่านอาจารย์ คนละขณะ ถ้าเป็นการช่วยต้องเป็นกุศล ถ้าเป็นการทำลายต้องเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง ทำลายตัวหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ อกุศลหนึ่ง

    ผู้ฟัง เป็นบาปไหม

    ท่านอาจารย์ บาป กับ อกุศล ความหมายเดียวกัน ขณะจิตที่มีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ

    ผู้ฟัง เรียนถามอีกที สงสัยว่าเป็นพระปลอม แต่เราจะทำบุญให้ มันจะได้กุศลไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าจิตน้อมนึกถึงพระรัตนตรัย เป็นกุศลในขณะนั้น ขณะที่คิดว่าพระปลอม ขณะนั้นเป็นอกุศล สภาพของจิตนี้ละเอียดมาก ให้ทราบว่าจิต เกิดแล้วก็ดับ จิตที่เป็นกุศลจะเป็นอกุศลไม่ได้ ปะปนกันไม่ได้เลย ขณะจิตหนึ่งกิดขึ้นเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น จิตเกิดขึ้นเป็นกุศลก็เป็นกุศล จิตเกิดขึ้นอกุศลก็เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ขณะที่น้อมระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย ขณะนั้นเป็นกุศล ขณะที่คิดถึงพระปลอม ขณะนั้นเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง แต่ว่าเราสงสัยนี้ก็อกุศล

    ท่านอาจารย์ สงสัย ก็เป็นอกุศล

    ผู้ฟัง ถ้าเราไม่สงสัยเลยก็ทำบุญให้เขาเลย

    ท่านอาจารย์ ไม่สงสัย แล้วเป็นโลภะ เป็นโทสะหรือเปล่า เราต้องอย่าลืมว่า อกุศลนั้นมีหลายอย่าง ไม่ใช่มีอย่างเดียว เพราะฉะนั้น การที่เราจะรู้ชัดว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศลก็คือว่า ขณะใดเป็นไปในทาน จิตสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่น ขณะนั้น ชั่วขณะที่จิตนั้นเกิดขึ้นเป็นกุศล แต่ขณะที่ไปหาสิ่งสวยๆ งามๆ มาให้เป็นทาน ขณะนั้นต้องระวัง เพราะว่าชอบในสิ่งที่สวยงามนั้น ขณะนั้นก็เป็นอกุศลแล้ว เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า กุศล และอกุศล หรือจิตทุกชนิดเกิดดับเร็วมาก ต้องมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์จริงๆ จึงจะสามารถรู้ได้ว่า จิตที่เกิดในขณะนั้น เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง สมมติว่า มีผู้ที่ได้บริจาคทรัพย์กับพระภิกษุ ในส่วนความคิดก็ยังคิดว่า พระรูปนั้น ท่านจะเป็นพระจริงหรือเปล่า แต่ว่าการที่ท่านมา ท่านก็มาบอกความประสงค์ไปแล้ว และก็ได้ให้สิ่งที่ท่านต้องการไปแล้ว คือปัจจัย แต่เมื่อให้ไปแล้วก็อดที่จะคิดไม่ได้ว่า สิ่งที่ท่านเป็นอยู่ทุกวันนี้ จะเป็นความถูกต้องหรือว่าท่านปลอมมา แต่ว่าทุกครั้งที่ท่านมา ก็ได้ให้ตามที่ท่านปรารถนา อันนี้เมื่อพูดถึงว่า เป็นกุศลเป็นอกุศลนี้ ก็คงจะต้องพิจรณาจากตอนที่ให้ ขณะที่ให้ไม่ต้องไปคิดว่าจะเป็นหรือไม่เป็น แต่ให้นี้ถือว่าเป็นกุศลแล้วใช่ไหม และส่วนที่ไม่เป็น หรือเป็นก็ได้มันเป็นเรื่องที่ยังเป็นความข้องใจสงสัย

    ท่านอาจารย์ เรื่องของจิตที่ให้ ถ้าให้เพื่อประโยชน์สุขของคนอื่น ขณะนั้นเป็นกุศล แต่ว่าต้องพิจารณาว่า การกระทำของเรานั้น เอื้อเฟื้อต่อพระวินัย หรือว่าทำลายพระวินัย อันนี้สำคัญที่สุด ถ้าเป็นชาวพุทธที่ไม่รู้พุทธศาสนา พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ผู้ที่จะทำลายพุทธศาสนาไม่ใช่คนอื่น ไม่ใช่ลัทธิศาสนาอื่น แต่เป็นพุทธศาสนิกชนนั่นเอง เพราะว่าไม่รู้เลยว่า การเป็นภิกษุ ต่างกับคฤหัสถ์ อย่างฟ้ากับดิน เป็นเรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องของการสละ เป็นเรื่องของการละ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการที่ออกไปเพื่อจะกลับมาเอา อย่างสละเงินทองจึงได้บวช บวช แล้วกลับมาหาเงินทองได้ยังไง กลับมาขอรับได้ยังไง กลับมาขอบริจาคได้ยังไง เรื่องของการละก็คือการละจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่ละด้วยใจ ไม่ใช่อยากบวช คนที่อยากบวชเพื่อที่จะปฏิบัติตามพระวินัยอย่างเคร่งครัดก็ยังผิด เพราะเหตุว่าใจไม่ได้ละ แต่มุ่งที่จะเป็นคนหนึ่งซึ่งปฏิบัติตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด แต่ถ้าผู้ที่ละจริงๆ แล้วไม่ใช่เพื่อจุดประสงค์อย่างนี้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพุทธบริษัทต้องทราบว่า พระภิกษุแล้วต้องไม่ยินดีในเงิน และทอง เพียงยินดีก็ไม่ได้ ไม่ใช่มาขอบริจาค เพราะฉะนั้น ถ้าเราให้ไป เป็นการส่งเสริมหรือเป็นการทำลาย

    ผู้ฟัง ก็ยังเป็นความสงสัย คือหมายความว่าความสงสัยอยู่ตรงที่ว่า ถ้าเป็นพระจริง

    ท่านอาจารย์ จริงหรือไม่จริงก็ตามแต่ เราต้องมีสติสัมปชัญญะ ที่จะรู้ว่า ขณะจิตนั้นให้ เพื่อประโยชน์สุข หรือว่าให้ด้วยเหตุอะไร และการให้นั้นเป็นการให้ที่ถูกต้องไหม อย่างให้ปัจจัยกับพระภิกษุ ให้อย่างอื่นท่านได้ ซึ่งเป็นทางที่จะทำให้ท่านมีชีวิตต่อไปได้ สงเคราะห์ด้วยปัจจัย ๔ ได้ แต่ไม่ใช่ด้วยเงิน

    ผู้ฟัง เมื่อท่านมาหา และเมื่อไม่ให้ท่านจะต้องทำไง

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่กิจของท่านที่จะทำอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ก็คงเป็นที่ผิดหวังเสียใจ

    ท่านอาจารย์ ช่วยไม่ได้ เพราะท่านต้องทราบว่า กิจของท่านคืออะไร และกิจไหนไม่ใช่กิจของพระ

    ผู้ฟัง อันนี้ก็คงจะเป็นแนวทางที่จะปฏิบัติต่อไปข้างหน้าอีกเยอะ เมื่อคราวที่แล้วได้มีการสนทนากัน ก็มีผู้ร่วมสนทนาก็มีท่านพูดถึงเรื่องคำว่า จิตนิ่ง ปฏิบัติจิตนิ่ง เพื่อที่จะได้รู้ธรรมต่างๆ ถ้าจิตไม่นิ่งก็ไม่สามารถที่จะปฏิบัติธรรมได้ ก็ยังไม่มีคำอธิบายที่พอจะเป็นหลัก อยากจะขอความกรุณา

    ท่านอาจารย์ อยากจะขอความถามว่า เอามาจากส่วนไหนในพระไตรปิฎก

    ผู้ฟัง แล้วจริงๆ พูดถึงจิตนิ่ง มันจะเป็นไปได้ยังไง ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ต้องไปสนใจ ถ้าปัญญาแล้วก็ต้องรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ใช้คำว่าจิตนิ่ง ใช้ไม่ได้เลย

    ท่านอาจารย์ ต้องอธิบายมาให้เข้าใจว่า จะไปทำจิตนิ่ง จิตนิ่งเป็นยังไง ถึงได้จะไปทำ ถ้าตอบไม่ได้ก็คือว่า ไปทำสิ่งซึ่งไม่รู้

    ผู้ฟัง คือเวลาคนที่เขาพูด เขาก็บอกเวลานี้ เขากำลังปฏิบัติเพื่อจะให้จิตนิ่ง

    ท่านอาจารย์ และจิตนิ่งเป็นยังไง ต้องถามเขา

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้วมีไหม จิตนิ่ง

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องมาสนใจเลย เป็นเรื่องที่เราจะต้องรู้ว่าปัญญารู้อะไร ไม่ใช่ไปสนใจเรื่องอื่นซึ่งไม่ใช่เรื่องของปัญญา เสียเวลา

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 14
    29 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ