ปกิณณกธรรม ตอนที่ 28


    ตอนที่ ๒๘

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลปากเกร็ดเวชการ

    พ.ศ. ๒๕๓๖


    ผู้ฟัง แสดงว่าจิตตอนนั้นจะขึ้นมาถึงปัญจทวาร แล้วก็เป็น สัมปฎิฉันนะ สันตีรณะ โวฎฐัพพนะจะไม่ขึ้นถึง ชวนะ ใช่ไหม ถึงตัดไปก่อน ถึงได้ไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ อย่าคิดอย่างนั้นเลย เพราะว่าจริงๆ แล้วก็ตลอดวิถีของปัญจทวารจนกว่ารูปจะดับ

    ผู้ฟัง ถึงชวนะไหม

    ท่านอาจารย์ ถึง

    ผู้ฟัง ถ้าถึงก็ต้องรู้ความหมายของที่ได้ยินท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ไม่จำเป็น เพราะว่าทางตาเราจะไม่รู้ความหมาย ยังไม่รู้เลย แต่ก็มีชวนวิถีจิตเกิด เร็วมาก ถ้าคิดถึงความห่างไกลระหว่างทางตาที่เห็น กับ ทางหูที่ได้ยินว่าไม่ได้พร้อมกันเลย มีจิตเกิดคั่นมาก ทั้งภวังคจิตก็คั่น ทั้งวิถีจิตก็คั่น หลายวาระ เพราะฉะนั้นที่เราคิดว่ากำลังเห็นด้วย ได้ยินด้วย ติดกัน เกือบจะไม่มีช่องว่างเลย แต่จริงๆ แล้วช่องว่าง เพราะฉะนั้น วาระหนึ่งที่ชวนวิถีจิตจะเกิดทางปัญจทวาร ต้องเป็นไปได้

    ผู้ฟัง ภวังคจิต ก็จะเกิดดับสลับใช่ไหม ทางหูก็มีได้ยิน และก็เป็นภวังคจิต แล้วก็เป็นทางตา และภวังคจิต ฟังอาจารย์มาพอจะสรุปได้ว่ามันจะไม่มีภวังคจิตคั่นอยู่ก็คือ ตอนจุติจิต แล้วก็เป็นปฏิสนธิ จะไม่มีภวังคจิตคั่น

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าหลังจุติจิตดับ ปฏิสนธิจิต ต้องเกิดทันที

    ผู้ฟัง ขณะที่เข้าฌาน นี้ก็ไม่มี ภวังคจิต

    ท่านอาจารย์ ไม่มี ขณะที่ฌานจิตเกิดสืบต่อ

    ผู้ฟัง มรรคจิตจะเป็นผลจิต ก็ไม่มีภวังคจิตคั่น

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าวาระเดียวกัน ภวังคจิตคั่นระหว่างทวารต่างๆ

    ผู้ฟัง ถ้าสมมติว่า จุติจิตเกิด แล้วก็ปฏิสนธิต่อ จะเรียกว่าเป็น อนันตรปัจจัย ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน อนันตรปัจจัย หมายความว่าจิตหนึ่งซึ่งเกิดดับไป จิตที่ดับไปแล้วเป็นปัจจัยทำให้จิตอื่นเกิดสืบต่อ เพราะเหตุว่าจิตทุกประเภทที่ไม่ใช่จุติจิตของพระอรหันต์ เมื่อดับไปแล้วต้องเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น เรียกว่าอนันตรปัจจัย คือสืบต่อกันมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เช้าจนถึงเดี๋ยวนี้ ตั้งแต่เกิดมาจนถึงเดี๋ยวนี้ และก็ต่อไป เพราะฉะนั้นแต่ละภพแต่ละชาติ มีความตายเป็นเครื่องคั่นภพชาติ แต่ความจริงแล้วจิตเกิดดับสืบต่อกันไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง เรื่อง ชวนจิต ถ้าสมมติว่า เรามองเห็นภาพๆ หนึ่ง แล้วจิตเห็นเกิดขึ้น แต่ในภาพนั้นเราไม่ต้องการที่จะเป็นอกุศล เราไม่ต้องการที่จะเอามาให้จิตคิดเกิดขึ้น หรือมาคิดปรุงแต่ง แล้วเราก็หลับตา ขณะนั้นชวนจิตเกิดแล้วหรือยัง

    ท่านอาจารย์ คงจะไม่เข้าใจความหมายของ ชวนะ ว่า ชวนะคืออะไร โดยนัยของพระสูตรที่ทรงแสดงไว้ จะไม่มี สัมปฏิฉันนจิต สันตีรณจิต โวฎฐัพพนะจิต หรือ ชวนจิตเลย เพราะฉะนั้นถ้าจะให้เข้าใจ ให้ทราบว่า ชวนะ คือขณะไหน เวลาที่โลภะ ความติดข้องเกิดขึ้นนั้นคือชวนะ เวลาที่โกรธนั้นคือชวนะ เวลาที่กุศลจิตเกิด ต้องการช่วยเหลือคนอื่น มีเมตตา กรุณานั้นคือชวนะ เพราะฉะนั้นให้ทราบว่าโดยนัยของพระสูตร ที่ทรงแสดงว่า เมื่อเห็นแล้ว จิตเป็นอะไร ไม่ต้องพูดถึง สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ เห็นแล้วชอบ เห็น และชัง เห็นแล้วเป็นกุศล เห็นแล้วเป็นอกุศล นี่คือความจริงโดยนัยของพระสูตร เพราะว่าเห็นแล้วเกิดอะไรขึ้น ชอบ หรือ ไม่ชอบ ไม่ต้องมานั่งคิดถึงสัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะเลย เห็นแล้วโกรธ ขณะที่กำลังโกรธนั้นคือชวนะ เพราะฉะนั้นชวนะ คือกุศลจิตหรืออกุศลจิตนั่นเอง สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์

    ผู้ฟัง แปลว่าขณะนั้นได้สั่งสมสันดานแล้ว

    ท่านอาจารย์ โลภะ เกิด คนนั้นเห็นอะไรชอบหมดทุกอย่างเลย อยากจะได้ไปหมด โลภะตลอดวัน ถ้าคนไหนที่สะสมความขุ่นเคืองใจ คนนั้นก็ขี้โมโห เจออะไรนิดนึงก็ไม่ถูกใจ เพราะเหตุว่าสะสมๆ ไว้เรื่อยๆ บางคนก็เป็นคนที่ริษยา เพราะฉะนั้นเป็นคนที่สะสมความริษยาไว้ ความริษยาก็มีมากกว่าคนอื่นที่ไม่ได้สะสมมา

    ผู้ฟัง คือพอเห็นแล้ว เราก็ไม่ต้องการที่จะดู หรือ หลบ

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องการเป็นจิตอะไร

    ผู้ฟัง เป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ เป็นอกุศลก็คือชวนะ จะหายสงสัยว่าชวนะคืออะไร ก็คือกุศลจิต อกุศลจิต หลังจากที่เห็นแล้วได้ยินแล้ว แต่ก่อนที่จะถึง ชวนะ โดยอภิธรรมแสดงไว้ละเอียดว่า ไม่ใช่พอเห็นปุ๊บ ไม่ชอบปั๊บ จะต้องมีจิตเกิดดับสืบต่อทำการงานกว่าจะเป็นชวนะ เพื่อความเป็นอนัตตา ให้เห็นว่าไม่มีใครทำอะไรได้

    ผู้ฟัง กว่าจะคิดได้ โกรธไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ สิ่งไหนที่แล้วก็แล้วไป ทำไมมีความเป็นตัวตนมานั่งกังวลอีกแล้ว กังวลซ้อนกังวลเข้าไปอีก

    ผู้ฟัง อันนี้เกิดจากเหตุปัจจัย

    ท่านอาจารย์ เกิดความยึดมั่นในตัวตน

    ผู้ฟัง คำว่า ทิฏฐิ ที่ทราบมามี ๒ ทิฏฐิ คือ สัมมาทิฏฐิ กับ มิจฉาทิฏฐิ อาจารย์กรุณาให้คำแนะนำเรื่อง สัมมาทิฏฐิ

    ท่านอาจารย์ ในพระไตรปิฏก บางทีใช้คำกลางๆ สมาธิก็มีทั้ง มิจฉาสมาธิ สัมมาสมาธิ ปฏิปทา การปฏิบัติ มี สัมมาปฏิปทา และ มิจฉาปฏิปทา เพราะว่า ธรรม เป็นเรื่องจริง ความเห็น เป็นคำกลางๆ ความเห็นผิดก็อย่างหนึ่งเป็นสิ่งที่มีจริง ความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงก็มี เพราะฉะนั้นจึงมีทั้ง สัมมาทิฏฐิ และมิจฉาทิฎฐิ ถ้ามิจฉาทิฏฐิก็คือความเห็นผิดจากความจริง สัมมาทิฏฐิคือความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ ๒ อย่าง ตรงกันข้ามกัน ถ้ามิจฉาทิฏฐิเป็นอกุศล เพราะเหตุว่าเห็นผิดจากความจริง ถ้าสัมมาทิฏฐิเป็นกุศล เพราะเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง อยากจะฟังเรื่อง นิพพาน อาจารย์จะให้รายละเอียดในที่ประชุมแห่งนี้

    ท่านอาจารย์ นิพพานมีจริงแน่นอน แต่จริงสำหรับผู้ที่ประจักษ์ เหมือนขณะนี้ ทุกคนเห็น อะไรจริง สิ่งที่ปรากฏทางตาจริง สำหรับผู้ที่กำลังเห็น เสียงก็จริง สำหรับคนที่มีโสตประสาท คือไม่ใช่คนหูหนวก แต่ถ้าจะไปบอกคนหูหนวกว่าเสียงเป็นอย่างนี้อย่างนั้น เขายังไงเขาก็ไม่มีทางจะรู้ได้เพราะเขาไม่มีโสตปสาท เพราะฉะนั้นนิพพานก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่สำหรับโมหะจะรู้ ไม่ใช่สำหรับอกุศลจะรู้ แต่ต้องสำหรับ โลกุตตระปัญญาจะรู้ เป็นปัญญาที่ได้อบรมจนกระทั่งถึงระดับที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ก่อน เพราะฉะนั้นถึงจะพูดถึงเรื่องนิพพานเป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอริยสัจจะที่ ๓ เป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับสังขตธรรมทั้งหลายที่เกิดดับ ก็เป็นเรื่องที่ขณะนี้ไม่ได้ปรากฏ เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงเรื่องของ จิต เจตสิก รูป ให้ปัญญาเข้าใจถูก เห็นถูก แล้วประจักษ์แจ้งเสียก่อน แล้วเมื่อนั้นก็จะดำเนินทางไปสู่การประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน เหมือนกับจะให้คนหูหนวกได้ยิน ก็ต้องรักษาหูเสียก่อน หรือคนตาบอดจะให้เขาเห็นได้ ก็ต้องทำให้เขามีตาดีก่อน จะไปพูดให้เขาเข้าใจเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา โดยที่เขาไม่มีจักขุปสาท ก็เป็นการไร้ประโยชน์ เพราะว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นปัญญาของผู้ใดสามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏแล้วขั้นไหน พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมตามลำดับ เพื่อประโยชน์ของผู้ฟังจริงๆ เหมือนกับการรักษาคนตาบอด ให้เขาเข้าใจถูกต้อง ให้เกิดความเห็นที่ถูกต้อง เหมือนกับพยายามให้เขามีตาดี และมองเห็นได้ เพราะฉะนั้นจากอวิชชาซึ่งไม่รู้อะไรเลย ไม่เข้าใจอะไรเลย เกิดมาแล้วก็ตายไป ไม่เกิดปัญญาอะไรเลย ก็ทรงแสดงธรรมที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน ให้มีสัมมาทิฏฐิคือความเห็นถูกต้อง ไม่ใช่เพียงขั้นฟัง ต้องขั้นอบรมปัญญาถึงขั้นประจักษ์แจ้งด้วย แล้วก็ทรงนำตลอดไปจนกระทั่งถึงความเป็นพระอริยบุคคล ประจักษ์แจ้งในอริยสัจจ์ ๔ ซึ่งอริยสัจจ์ที่ ๓ ก็คือ นิโรธสัจจะ ได้แก่ นิพพาน ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่จะต้องประจักษ์แจ้ง มิฉะนั้นแล้วก็ดับกิเลสไม่ได้ ใครก็ตามที่คิดว่านั่งไปๆ และกิเลสก็จะหมดโดยปัญญาไม่รู้อะไรเลย เหตุ กับผลไม่ตรงกัน และนั่นไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้เกิดปัญญาที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ จนกระทั่งสามารถประจักษ์ลักษณะของนิพพานเมื่อไหร่ เมื่อนั้นจึงจะดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น

    เพราะว่าปัญญามีหลายขั้น โลกียปัญญาก็ยังดับกิเลสไม่ได้ ต้องถึงโลกุตตรปัญญาจึงจะดับกิเลสได้ โลกียปัญญาก็คือปัญญาที่รู้จักโลก และเวลานี้แม้แต่เพียงคำว่า โลก คำเดียว เรารู้จักหรือยัง มีใครจะให้คำอธิบายหรือความหมายของคำว่าโลกเท่าที่คิดบ้างไหม เพราะเหตุว่า ถ้าถามปัญหาธรรมดาๆ ที่เราใช้บ่อยๆ ว่าโลก ก็ยังจะตอบไม่ถูกถ้าไม่ได้ศึกษาธรรม นี้แสดงให้เห็นว่าเราคิดเอง แต่เราไม่ได้ศึกษา แต่ถ้าศึกษาเราจะทราบว่า แม้แต่คำว่า โลก สิ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเป็นความจริงว่าเป็นโลกจริงๆ แต่ถ้าไม่ศึกษาเราก็คิดเรื่องโลกของเราไปตามเรื่องว่า โลก ได้แก่ดาวกลม เบี้ยวๆ มีอะไรอยู่ในนั้น ทั้งๆ ที่อยู่ในโลกก็ยังไม่รู้จักโลก เกิดมาบนโลกก็ยังไม่รู้จักโลก แต่ก็พูดคำว่าโลกอยู่เรื่อย เพราะฉะนั้นโลกิยปัญญา ไม่ใช่อย่างที่เราคิดอีกเหมือนกัน แล้วโลกุตตรปัญญาก็ยิ่งเหนือโลก พ้นจากโลกจึงชื่อว่าโลกกุตตระ อุตฺตรหรือ อุดร แปลว่าเหนือ แปลว่าพ้น เหนือโลก พ้นจากโลก เพราะฉะนั้นการฟังธรรมต้องฟังตามลำดับให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ที่พิสูจน์ได้ก่อน

    ผู้ฟัง ขอถามเป็น ปุจฉา วิสัชนาว่า โลกที่พระพุทธเจ้าบัญญัติคืออะไร โลกุตตรปัญญานั้นยากเย็นไหม เราจะถึงได้ไหม

    ท่านอาจารย์ อยากถึงไหม หรือว่ายังไปเรื่อยๆ ตามสบาย เพราะว่ารู้ว่าถ้าปัญญายังไม่เกิดก็อย่าหวังเลย เป็นไปไม่ได้ที่จะไปถึงนิพพานโดยที่ปัญญาไม่เกิด คำว่าโลกน่าสนใจมาก โลกในพุทธศาสนาหมายความว่า สภาพธรรมที่แตก ดับ คือเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นโลก ทุกอย่างที่เกิดเป็นโลก เพราะฉะนั้นนิพพานเป็นโลกุตตระ เพราะเหตุว่าไม่ใช่สภาพธรรมที่เกิดดับ นี้คือความต่างกัน ทุกอย่างที่เกิดที่จะไม่ดับไม่มี ขณะจิตแรกที่เกิดในโลกนี้ ขณะเดียวคือปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้นจิตของเราแต่ละขณะ เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ ทำกิจหน้าที่ต่างๆ กัน สภาพธรรมใดก็ตามที่เกิดดับ สภาพธรรมนั้นเป็นโลก จิตก็เป็นโลก เจตสิกเป็นโลก รูปเป็นโลก ทุกอย่าง ถ้าประจักษ์การเกิดดับจริงๆ จะรู้ว่าโลกสมมติที่เราเห็นว่ามั่นคง หนาแน่น ใหญ่โตมโหฬาร แท้ที่จริงแล้วก็คือกองฝุ่นหรือ กลาป (กะ-ลา-ปะ) ของส่วนที่ละเอียดที่ย่อยที่สุด เราสามารถที่จะแตกแยกโลกนี้เป็นฝุ่นละอองเป็นผงธุลีอย่างละเอียดได้ นั่นคือความจริง แต่ถ้าตราบใดที่ยังเกาะกลุ่ม ยังไม่แตกทำลาย เราก็มองเห็นว่าเป็นก้อนใหญ่ๆ แต่ว่าด้วยปัญญาจะเห็นได้ว่า แม้แต่สิ่งเราคิดว่าหนาแน่น แข็งแรง อย่างไมโครโฟน หรือว่าเก้าอี้ หรือว่าถ้วยแก้ว ความจริงมีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่อย่างละเอียดมาก จะให้แตกเดี๋ยวนี้ก็ได้ ให้ละเอียดสักเท่าไหร่ก็ได้ แสดงให้เห็นว่าแท้ที่จริงแล้วก็คือฝุ่น หรือผงละอองซึ่งเกิดรวมกัน เพราะฉะนั้นสภาพธรรมใดที่เกิด สภาพธรรมนั้นดับ ในขณะนี้ทุกอย่างกำลังเกิดดับ แต่เวลาที่ประจักษ์จริงๆ ไม่ได้ประจักษ์โลกทั้งก้อน หรือว่าศาลาทั้งหลัง หรือว่าตึกทั้งหลัง แล้วบอกว่ามองเท่าไหร่ก็ไม่เห็นว่าดับ เพราะว่าในขณะนั้นไม่ได้เห็นธรรม แต่ว่ามีความคิดนึกในสมมติบัญญัติ ในสิ่งที่เห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ยังไม่แตกย่อยทางตา ออกจากทางหู ออกจากทางจมูก ออกจากทางลิ้น ออกจากทางกาย ออกจากทางใจ ยังไม่แตกย่อย รูปตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า หรือว่าทุกรูปออกเป็นส่วนเล็กๆ ซึ่งละเอียดมาก เพราะฉะนั้นถ้ายังเป็นอย่างนั้นอยู่ จะไม่ประจักษ์การเกิดดับ เพราะว่าตามความเป็นจริงแล้ว รูปแต่ล่ะรูปเกิดจากสมุฏฐานต่างกัน กลุ่มของรูปบางรูป เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน บางรูปเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน บางรูปเกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน อุตุนี้คือ ความเย็น ความร้อน และบางรูปก็เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐาน แม้แต่สมุฏฐานให้เกิดรูปก็ต่างกัน เพราะฉะนั้นรูปที่เกิดดับ ทยอยกัน ไม่ใช่ว่าเกิดพร้อมกัน เพราะว่าในตัว ก็มีรูปที่เกิดจากสมุฏฐานต่างๆ หรือว่าข้างนอกตัวก็มีรูปซึ่งเกิดจากอุตุ แล้วก็ทยอยกันเกิดดับด้วย เพราะฉะนั้นแต่ละส่วนที่ปรากฏที่จะปรากฏการเกิดดับได้ต้องปรากฏเป็นส่วนๆ ไม่ใช่รวมทั้งหมด เวลานี้ไม่มีอะไรเลย ที่จะปรากฏรวมทั้งหมด ถ้ากระทบสัมผัส จะแข็งบางส่วน เพราะฉะนั้นปัญญาที่ประจักษ์แจ้ง ก็จะประจักษ์แจ้งเฉพาะส่วนที่กำลังเกิดดับไป เป็นเรื่องที่ต้องฟังอีกเรื่อยๆ วันเดียวคงไม่พอ แล้วถ้าสนใจตอนไหน ก็ถามตอนนั้น

    ผู้ฟัง สัตวโลกนี้จะเกี่ยวกับว่าเป็นโลกที่พระองค์หมายถึง

    ท่านอาจารย์ เหมือนกัน ใช้คำว่าโลกทั้ง ๓ อย่างก็ต้องเกิดดับ โอกาสโลก หมายความถึงดวงดาวต่างๆ จักรวาลต่างๆ นี่คือโอกาสโลก โอกาสหมายความถึงที่ สถานที่ เพราะฉะนั้นโอกาสโลกก็คือโลกซึ่งเป็นสถานที่ แต่ต้องแตกดับด้วย เกิดดับด้วย แม้แต่สังขารโลกก็คือสภาพธรรมใดซึ่งเกิดขึ้น สภาพธรรมนั้นก็ดับไป แต่ละคนที่นั่งอยู่ที่นี่ เราใช้คำว่า สัตวโลก คือเป็นสภาพธรรมที่มีทั้งจิต และรูป มีทั้งร่างกาย และจิตใจ มีจิต มีเจตสิกรูป เป็นสัตว์ ถ้าโต๊ะเก้าอี้เป็นแต่เพียงรูป ไม่ใช่สัตว์ เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา ก็เป็นสัตวโลกทั้งนั้น และจริงๆ แล้วก็คือจิตเกิดขึ้นขณะหนึ่งของแต่ละคน เป็นโลกเฉพาะของแต่ละคนจริงๆ จิตเห็น โลกหนึ่ง ขณะไหนก็ได้ จะถือว่าเป็นขันธ์นี้หรือขันธ์โน้น หรือขันธ์ไหนก็ตาม จิตเห็นเกิดขึ้นแล้วดับ เพราะฉะนั้นสัตวโลกก็คือ โลกซึ่งได้แก่จิตของแต่ละคน ซึ่งวิจิตรต่างๆ ไปนั่นเอง

    คุณศุกล มีท่านผู้ฟังพูดถึงเรื่องคำว่า นิพพาน ความจริงก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เมื่อพูดถึงพระนิพพาน ข้อปฏิบัติอย่างไรที่จะนำไปสู่การประจักษ์ หรือสามารถจะเห็นพระนิพพานได้ตามความเป็นจริง ท่านอาจารย์ช่วยอธิบาย

    ท่านอาจารย์ อะไรประจักษ์นิพพาน ต้องเป็นปัญญา ที่เป็นโลกุตตระ ถ้าโลกิยปัญญาประจักษ์นิพพานไม่ได้ เราต้องตั้งต้นให้ถูกว่าอะไร และเมื่อถ้ายังไม่มีปัญญาเลย แล้วจะไปพูดให้ประจักษ์นิพพานก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้เหมือนกัน ต้องตามลำดับขั้นจริงๆ

    คุณศุกล ถ้าเป็นข้อปฏิบัติที่ผิดจากการ เจริญสติปัฎฐาน หรือการเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ คำว่านิพพานนี้คงจะไม่ต้องกล่าวถึงเลย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นต้องทราบว่า พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของปัญญา เพราะเหตุว่าผู้ที่ตรัสรู้ ตรัสรู้ด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นทรงแสดงธรรมให้ผู้ฟังเกิดปัญญา นี่คือคุณค่ามหาศาล เพราะเหตุว่าถ้าจะเอาทรัพย์สมบัติมาแจกคนทั้งโลกเท่าไหร่ก็ไม่พอ และทรัพย์สมบัตินั้นก็ต้องหมด แต่ถ้าจะให้ปัญญา ให้เขาเกิดความรู้ความเข้าใจเป็นสมบัติของเขาอันแท้จริง ซึ่งจะติดตามไปได้ เปลี่ยนจากความไม่รู้เป็นความรู้ นั่นคือคำสอนของพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่าคำสอนใดก็ตามที่ทำให้คนเกิดปัญญา นั่นคือคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไปทำสมาธิ จะไปใช้ชื่อว่าสติปัฎฐาน จะไปทำวิปัสสนา หรืออะไรก็ตามแต่ ปัญญาเกิดหรือเปล่า ถ้าไม่มีปัญญาหรือไม่รู้ว่าปัญญารู้อะไร ปัญญาคืออะไร ปัญญาเกิดเมื่อไหร่ ก็เรียกว่าไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้าเพียงแต่ใช้ชื่อ คือเอาคำไปใช้ แต่ว่าผู้ฟังมีปัญญาหรือเปล่า ถ้าคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ทำให้เกิดปัญญามากขึ้นๆ ถูกต้องขึ้น แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ยาก แต่ก็เป็นสิ่งที่จริง ไม่ใช่ของเท็จ เป็นสัจจธรรม เป็นอริยสัจจธรรมด้วย แต่ต้องตั้งต้นที่หลักคือปัญญา ขาดปัญญาไม่ได้ ถ้าไม่ใช้ปัญญาแล้วก็ทั้งหมดไม่มีประโยชน์ และไม่ใช่คำสอนของพระศาสนาด้วย

    ผู้ฟัง ที่ฟังมา เป็นการยากที่เราจะได้มาฟังพระธรรมที่ถูกต้อง ก็คือต้อง ๑. อยู่ในประเทศที่มีพุทธศาสนา ๒. ต้องคบสัตบุรุษแล้วมีสัตบุรุษมาบรรยายธรรมให้ฟัง ๓. ตัวเองจะต้องตั้งมั่นอยู่ในศรัทธา เป็นผู้ที่ศรัทธาที่อยากจะสนใจศึกษาพุทธศาสนา ๔. ต้องมีบุญที่ทำเอาไว้แล้ว แต่ชาติก่อน ๔ ข้อคิดว่าทุกคนในที่นี้ มีทั้ง ๔ ข้อนี้ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ที่จริงแล้ว จะเห็นความอัศจรรย์ของกรรม เพราะว่าเรา จะมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกายทั้งหมดตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เพราะกรรม รูปร่างหน้าตาของเราต่างกัน แม้แต่จักขุปสาท ตา ความผ่องใส หรือการที่เราจะมองเห็นอะไร ก็ยังต่างกันโดยละเอียด บางคนตาดีมาก เห็นชัดเจน ทุกสิ่งทุกอย่าง ขึ้นอยู่กับกรรมทั้งนั้น เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า แม้แต่เสียง มีเสียงหลายเสียง เสียงดนตรี เสียงรถยนต์ เสียงใบไม้ แต่เสียงที่ฟัง และสามารถที่จะทำให้เราได้เข้าใจว่าอะไรคือของจริง อะไรคือธรรม อะไรเป็นสัจจธรรม ทำให้เข้าใจพระธรรมที่ทรงแสดงเมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา แต่ว่ายังมีโอกาสที่โสตปสาทจะได้ยินกระทบกับเสียงซึ่งทำให้เราสามารถเข้าใจเรื่องราวของธรรม ก็ต้องเป็นบุญในอดีตที่ได้ทำไว้แล้ว แล้วปรากฏว่าหลายคนที่เข้ามาสู่การฟังพระธรรม ก็มาโดยลักษณะต่างๆ กัน บางคนไม่เคยฟังวิทยุ ไม่สนใจฟังวิทยุ แต่บังเอิญฟังแล้วเปิดเจอธรรมพอดี นี่ก็แสดงให้เห็นว่าแต่ละคนต้องมีเหตุปัจจัยที่ได้กระทำไว้แล้ว

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ยกตัวอย่างว่า เปิดมาแล้วได้ฟังธรรมพอดี ก็เป็นตรงกับดิฉันได้เปิดมาแล้วก็ได้ฟังธรรมของท่านอาจารย์พอดีเหมือนกัน อันนี้ก็ยืนยันว่าเป็นความจริง

    ท่านอาจารย์ อันนี้ก็คือบุญในอดีต ผันให้เกิดการฟัง หรือว่าทำให้ โสตปสาทกระทบกับเสียง

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 14
    20 ส.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ