ปกิณณกธรรม ตอนที่ 30
ตอนที่ ๓๐
สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลปากเกร็ดเวชการ
พ.ศ.๒๕๓๖
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นปัญญา ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นตามเหตุตามปัจจัย โดยที่ว่าไม่มีใครไปบังคับ หรือว่าไปทำอะไรได้ คืออะไรที่ยังสงสัย ข้องใจ ไม่แน่ใจ เราควรจะต้องเข้าใจเรื่องนั้นให้ถูกต้องจริงๆ เพราะสำคัญที่สุดคือความเข้าใจถูก ความเข้าใจของแต่ละคนต่างกันแน่นอน แต่ทีนี้เวลาที่เราได้ศึกษาในเรื่องของเหตุผลแล้ว เราจะได้ค่อยๆ พิจารณาจนกระทั่งเราเกิดความมั่นใจว่าสิ่งที่ถูกต้องนั่นคืออย่างไร และเป็นไปตามสภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นไปตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงหรือเปล่า โดยการที่ว่า ไม่ใช่เอาความเห็นของเราเท่านั้น หรือว่าเราเชื่ออะไรอยู่ก็เชื่อต่อไปโดยที่ไม่ยอมเลิก แม้ว่าสิ่งนั้นจะไม่มีเหตุผลก็ยังเชื่ออยู่ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร เท่ากับว่าเราเก็บความไม่รู้ เก็บความที่ไม่มีเหตุผลเอาไว้ ถ้าเป็นอย่างนั้น จะไม่ถึงพระพุทธศาสนาแน่นอน ผู้ที่จะเข้าถึงพระธรรม หรือพุทธศาสนาต้องเป็นคนตรง และมีเหตุผล แล้วรู้ว่า การเข้าใจถูกเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด แทนที่จะไปเก็บความสงสัยความไม่รู้หรือความเข้าใจผิดไว้
ผู้ฟัง ตอนที่ผมบวชอยู่ เสียงต้องมีต้นเหตุ ถึงทำให้เราได้ยิน มีอยู่คืนหนึ่ง รู้สึกตัว ตื่นขึ้นมา รู้สึกได้ยินเสียงสวดมนต์ ทีแรกสงสัยคิดว่า หูผมฝาด ก็ไปตรวจดูรอบวัดในวิหาร ก็ไม่มีที่มาของเสียง อาจารย์คิดว่าจะเป็นเพราะอะไรเสียงที่ได้ยิน
ท่านอาจารย์ ธรรมดาเวลานี้เราก็ได้ยิน เวลานี้ที่ได้ยินไม่สงสัยเลย ใช่ไหม
ผู้ฟัง ผมสงสัยตรงที่ เสียงเกิดจากไหน และมาจากที่ไหน
ท่านอาจารย์ ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น เราต้องเข้าใจความจริงว่า ขณะนี้ก็มีเสียงที่ได้ยิน กำลังได้ยินเสียงขณะนี้ ไม่มีความสงสัยในเสียงที่ได้ยินใช่ไหม
ผู้ฟัง ผมสงสัยที่หาที่มาไม่เจอ แต่รู้ว่ามาจากที่โบสถ์ มาจากที่นั่น แต่ผมอยากจะรู้ว่าที่มา มันคืออะไร มันมายังไง
ท่านอาจารย์ ถ้าโดยในลักษณะนี้ ไม่มีทางหมดความสงสัยแน่นอน เพราะว่ายังไม่เข้าใจเสียงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ กับได้ยินที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เรื่องสงสัยจะมีมากๆ ตลอดชีวิต ตื่นขึ้นมากลางดึก ได้ยินเสียงอะไรถึงแม้ว่าจะไม่ใช่เสียงสวดมนต์ ขอให้ลองคิดดู ตื่นขึ้นมากลางดึกได้ยินเสียงอะไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่ใช่เสียงสวดมนต์ สงสัยแล้ว อันนี้เสียงอะไร จะเป็นเสียงหนู หรือว่าจะเป็นเสียงสัตว์ชนิดหนึ่งชนิดไหน หรือจะเป็นเสียงอะไร ต้องมีความสงสัย และความสงสัยอย่างนี้ไม่มีทางที่จะหมดไปได้เลยถ้าไม่รู้ความจริงของเสียง กับได้ยินที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งเป็นของจริง เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ปัญญาเป็นสภาพที่เข้าใจถูกต้องในสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าในขณะนั้นมีตัวเรา มีตัวตน ต้องมีสิ่งอื่น คือนี่เสียงอะไร มาจากไหน เพราะเหตุว่ายังมีความเป็นตัวเราที่ได้ยิน เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ว่า เสียงนั้นเกิดปรากฏแล้วหมดไป ไม่มีอะไรเลย จะถูกต้องหรือเปล่า คือเราต้องเข้าใจลึกมากเวลาพูดถึง ความจริงในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าขณะไหนทั้งสิ้น ขณะนี้หรือขณะที่ตื่นมาจะได้ยินเสียงอะไรก็ตาม ถ้ายังมีเรา ยังมีตัวตน ก็จะต้องมีความสงสัยว่า นั่นเสียงอะไร แต่ความจริงเสียงหมดแล้ว สภาพที่ได้ยินหมดแล้ว และถ้าขณะนั้นมีปัญญารู้อย่างนั้นจริงๆ จะไม่สงสัยอะไรเลย จะหมดความสงสัย แต่ถ้าไม่เข้าใจจะต้องมีเรื่องสงสัยตลอดชีวิต ไม่ใช่เสียงสวดมนต์ก็เป็นเสียงอื่น ก็ยังสงสัยอยู่ เพราะว่ายังไม่มีความรู้ในลักษณะของเสียง กับลักษณะของได้ยิน ใครจะบอกยังไงก็ไม่หมดสงสัย และก็จะมีอีก ไม่ใช่แต่เฉพาะครั้งนั้นครั้งเดียว และเราจะเก็บความสงสัยนี้ไว้เรื่อยๆ หรือ คือไม่รู้ความจริงของได้ยิน กับเสียงสักทีหนึ่ง มีความเป็นตัวตนตลอดเวลา ก็ต้องมีความสงสัยไปอีก ซักวันหนึ่งตื่นขึ้นมาตอนดึกก็ต้องมีความสงสัยว่าเสียงอะไร และก็เป็นความนึกคิดที่ต่างกันว่า อันเป็นเสียงสวดมนต์ แล้วมาจากไหน ก็คิดสงสัยยาวไปอีก ซึ่งเรื่องจะตัดความสงสัย ต้องด้วยการเจริญปัญญารู้ความจริง ถ้าตราบใดที่ปัญญายังไม่รู้ความจริง ต้องมีเรื่องสงสัยอีก เพราะฉะนั้นในพุทธศาสนา คำตอบไม่ได้ไปตอบตามสถานการณ์ คนนี้มีเรื่องนี้ก็จะตอบไปว่าเป็นอย่างนั้น คนนั้นมีเรื่องนั้นก็จะตอบไปว่าเป็นอย่างนั้น แต่จะตอบถึงต้นตอคือ ให้ผู้ถามเกิดปัญญาที่สามารถที่จะรู้ความจริงด้วยตัวเอง จนหมดความสงสัยได้ ไม่อย่างงั้นคำถามนี้จะมีอีก อาจจะมาทุกวันก็ได้ มีทุกวันก็ได้ ก็ไม่หมด เพราะฉะนั้นทางที่ดีที่สุดคือ ศึกษาจนกระทั่งสามารถที่จะรู้ความจริงของเห็นในขณะนี้ ของได้ยินในขณะนี้ ของคิดนึกในขณะนี้ และจะรู้ความจริงว่า แท้ที่จริงก็คือคิด เสียงหมดไปแล้ว แต่คิดติดตามเสียงไกลจนกระทั่งว่า เสียงเกิดจากอะไร และเป็นเสียงอะไร และบางคนอาจจะตามไกลจนกระทั่งถึงว่าเป็นเสียงเทวดาเป็นเสียงอะไร ค้นคว้าหาเหตุไปผูกพัน เรื่องความผูกพันคือเรื่องของความไม่รู้ และก็เป็นความนึกคิด เทวดาก็ไม่เห็น แต่เราก็ยังอุตส่าห์ไปคิดไปนึกนะว่านี่เป็นเสียงเทวดา ถึงเป็นเสียงเทพก็หมด เสียงอะไรเกิดขึ้นก็หมดทั้งนั้น และได้ยินก็ต้องดับไปด้วย และจริงๆ แล้วก็มีเพียงสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมเพียง ๓ อย่างซึ่งเกิดขึ้น คือเป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูปเท่านั้น ถ้าจะให้หมดความสงสัยจริงๆ ต้องเข้าใจเรื่องนี้ เรื่องนามธรรมหรือรูปธรรม
ผู้ฟัง ภายหลังจากที่เราได้ทำกุศล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทาน เรื่องถวายสิ่งของต่างๆ และมักจะมีผู้กล่าวนำว่า ควรจะได้อุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวร อยากจะให้อาจารย์ได้อธิบายให้เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องอีกสักครั้งว่า คำว่า เจ้ากรรมนายเวร กับผู้มีพระคุณในอดีตอนันตชาติ มีความแตกต่างกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ ทุกคนเกิดมา นั่งที่นี่ เจ้ากรรมนายเวรทำให้เกิดขึ้นหรือเปล่า ต้องคิดตั้งแต่ขณะแรกที่เราเกิดมาในโลกนี้ มีเจ้ากรรมนายเวรไหนที่ทำให้เราเกิด
ผู้ฟัง จากที่ได้ศึกษามา ทุกคนมีกรรมเป็นของๆ ตนเอง ก็หมายถึงมีการกระทำที่เป็นบุญ และเป็นบาป
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่มีเจ้ากรรมนายเวรแน่ที่จะทำให้เราเกิดมา เราเกิดเพราะกรรมที่เราได้ทำแล้ว ซึ่งเลือกไม่ได้ เพราะว่ากรรมในวันหนึ่งๆ มีมาก ทางกาย ทางวาจา ทางใจ แล้วชาติหนึ่งจะมีกรรมสักเท่าไหร่ และเราเกิดมากี่ชาติแล้วในแสนโกฏิกัปป์นับไม่ถ้วน แต่ว่ากรรมหนึ่งกรรมเดียวเท่านั้น ที่สุกงอมพร้อมที่จะให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น โดยที่เราเลือกไม่ได้ แต่ละคนที่นั่งได้ที่นี้ จะมีกรรมที่จะทำให้เกิดเป็นเทวดา มีกรรมที่จะทำให้เกิดเป็นเปรต มีกรรมที่จะทำให้เกิดในนรก มีกรรมที่จะทำให้เกิดเป็นเศรษฐี มีกรรมที่จะทำให้เกิดยากไร้ แต่ว่าทำไมต่างกันเพราะเหตุว่าแล้วแต่ว่ากรรมหนึ่งกรรมใด จะสุกงอมพร้อมที่จะให้เกิดเป็นบุคคลในชาตินี้ก็เป็นเฉพาะช่วงนี้ชาตินี้เท่านั้นที่จะเป็นคนนี้ เมื่อสิ้นกรรมนี้ ถึงแก่กรรม หมดแล้ว จะมีกรรมอื่นซึ่งสุกงอม พร้อมที่จะให้ปฏิสนธิจิตเกิด เป็นบุคคลใหม่ต่อไป เพราะฉะนั้นไม่มีเจ้ากรรมนายเวรที่จะให้ใครเกิดมา นี่เป็นของที่แน่นอน เป็นกรรมของเราเอง นี่หนึ่งขณะที่เกิด และกรรมนี้ก็ทำให้เราดำรงชีวิตอยู่ เพราะว่าปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเป็นขณะแรกแล้วดับไป แต่ว่ากรรมก็ยังทำให้ดำรงภพชาติของความเป็นบุคคลนี้ยังไม่ให้ตาย ยังให้จิตเกิดดับสืบต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีการเห็นการได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การกระทบสัมผัส การคิดนึก ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน ทางตาที่เห็นก็เป็นเพราะกรรมหนึ่งทำให้จักขุวิญญาณจิตเกิดขึ้น เห็นสิ่งที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง ถ้าเป็นผลของกุศลก็ทำให้เห็นสิ่งที่ดี ถ้าเป็นผลของอกุศลก็ทำเห็นสิ่งที่ไม่ดี มีเจ้ากรรมนายเวรไหนที่จะทำให้เรา หลังจากปฏิสนธิจิตเกิด และยังไม่ให้ตาย เจ้ากรรมนายเวรทำได้ไหม นอกจากกรรมอันนั้น ที่เมื่อมีโอกาสที่จะให้เป็นบุคคลนั้น ก็ให้เป็นบุคคลนั้นไปตราบจนกว่าจะหมดกรรมนั้น เจ้ากรรมนายเวรไม่มีส่วนที่จะมาเกี่ยวข้องเลย และแม้แต่การเห็น เจ้ากรรมนายเวรก็ทำให้เราเห็นไม่ได้ มีจักขุปสาทเกิดเพราะกรรม เวลาใครที่ไม่มีจักขุปสาท คือคนที่ตาบอด แสดงว่าไม่มีกรรมที่จะทำให้จักขุปสาทรูปเกิด คนนั้นจึงตาบอด ไม่มีเจ้ากรรมนายเวรไหนที่จะสร้างตา ไม่มีเจ้ากรรมนายเวรไหนที่จะสร้างหู จมูก ลิ้น กาย ทั้งหมดตลอด เกิดขึ้นเพราะกรรม เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว ทุกคน เมื่อได้กระทำเหตุคือกรรม กรรมนั้นเมื่อเป็นเหตุแล้วก็จะเป็นปัจจัยให้จิตอีกประเภทหนึ่งซึ่งเป็นวิบากเกิดขึ้น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ให้ทราบว่านี่เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำไว้ ไม่มีเจ้ากรรมนายเวรจะมีอิทธิพลอะไรเลยทั้งสิ้น เพราะว่าทุกคนมีกรรมเป็นของของตนจริงๆ ถ้าเป็นผู้ที่มั่นคงในกรรม ทุกคนจะทำกรรมดี เพราะเห็นโทษของอกุศลกรรม ถ้าเป็นผู้ที่เชื่อมั่นในกรรมจริงๆ ซึ่งการที่จะเชื่อมั่นในกรรม ไม่ใช่ว่าให้เราคิดถึงเหตุการณ์ยาวๆ วันหนึ่งหรือว่าช่วงหนึ่ง แต่ทุกขณะจิตที่แตกย่อยออกมาเป็นชั่วขณะหนึ่ง ขณะหนึ่งๆ ให้ทราบว่า ไม่มีใครจะบันดาลให้เกิดได้ นอกจากมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้เห็นก็ต้องเป็นเพราะกรรมทำให้เห็น ได้ยินก็ต้องเป็นเพราะกรรมทำให้ได้ยิน และก็เป็นกรรมของตัวเองด้วย เพราะฉะนั้นช่วงหนึ่งของชีวิต ก็มี ๒ ส่วนคือ ส่วนหนึ่งเป็นผลของกรรม และอีกส่วนหนึ่งหลังจากที่เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ได้กลิ่นแล้ว ลิ้มรสแล้ว กระทบสัมผัสซึ่งเป็นวิบากเป็นผลของกรรมแล้ว ก็ยังมีความพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้างในสิ่งที่เห็น ที่ได้ยินเป็นต้น เพราะฉะนั้น นี่เป็นอีกตอนหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุที่จะให้เกิดกรรมที่จะทำให้เกิดผลข้างหน้า เพราะฉะนั้นเราจะรู้เลยว่า ถ้าเห็นแล้ว เกิดอกุศลก็เป็นช่องทางที่จะทำให้อกุศลกรรมเกิดขึ้น แล้วก็จะทำให้เกิดอกุศลวิบาก คือผลของอกุศลกรรมนั้นอีก วนเวียนไปเรื่อยๆ แล้วเจ้ากรรมนายเวรจะอยู่ที่ไหน
ผู้ฟัง ถ้าจะพูดถึงว่า ควรจะได้มีการปฏิบัติให้ถูกต้อง จากการที่แต่ละท่านได้ทำกุศลแล้ว สิ่งที่จะเป็นประโยชน์จริงๆ คือการอุทิศส่วนกุศล ให้กับผู้มีพระคุณ และเทวดา อมนุษย์ทั้งหลายอย่างนี้จะเป็นการถูกต้องดีไหม
ท่านอาจารย์ กุศลมีหลายอย่าง กุศลในเรื่องของทาน การให้ ไม่ใช่เฉพาะขณะให้เท่านั้น หลังจากที่ให้แล้ว เราก็ยังสามารถที่จะอุทิศส่วนกุศลให้บุคคลอื่นได้อนุโมทนา คือได้เกิดกุศลจิตที่ยินดีด้วย บันเทิงตามในกุศลที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดได้ทำแล้ว ขณะที่จิตเกิดยินดีด้วยอนุโมทนา ขณะนั้นเป็นกุศลจิต เวลาที่เราเห็นใครทำดี ถ้าเป็นคนที่ขี้ริษยา ขี้อิจฉา ต่อให้คนนั้นจะทำดี แต่ถ้าเราไม่ชอบคนนั้น เราจะมองไม่เห็นว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นสิ่งที่ดี มีเรื่องติ มีเรื่องว่าได้สารพัด นั่นคือผู้ที่ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ไม่อนุโมทนาในสิ่งที่ดีที่คนอื่นทำ มองเห็นเป็นคน แล้วก็เป็นคนที่ไม่ชอบ ลืมคิดว่าแท้ที่จริงแล้ว เป็นการกระทำดี ซึ่งไม่ว่าใครทำก็ต้องดี เพราะว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะฉะนั้นเวลาที่เรามีการให้ทานแล้ว และเราก็รู้ว่า บุคคลซึ่งได้ล่วงลับไปแล้ว เขาอาจจะเกิดในภูมิซึ่งทุกข์ยากลำบาก เช่นเกิดเป็นเปรต ถ้าเกิดในนรก เขาก็ไม่สามารถที่จะอนุโมทนาล่วงรู้ได้ ผู้ที่เกิดเป็นเปรต หรือว่า เกิดเป็นเทพ สามารถที่จะเกิดกุศลจิตอนุโมทนาได้ เพราะฉะนั้นเมื่อได้ทำกุศลแล้ว ก็ตั้งใจอุทิศส่วนกุศลที่ได้ทำ เพื่อให้คนอื่นได้รู้ และอนุโมทนา แต่ไม่ใช่หมายความว่าไปส่งบุญให้เขา และเขาก็ได้รับ นั้นผิด บุญอยู่ที่จิตใจของแต่ละคน บาปอยู่ที่จิตใจของแต่ละคน เพราะฉะนั้นเราใช้คำว่า กุศลจิต คือจิตที่ดีงาม อกุศลจิต คือ จิตที่ไม่ดีงาม เพราะฉะนั้นไม่ใช่เป็นสิ่งจะไปยกจิตของเราให้กับใคร เอาบุญอันนี้ไปให้คนอื่นไม่ได้ ของใครก็ของคนนั้น จิตใครก็จิตของคนนั้น เพราะฉะนั้นถ้าคนนั้นรู้แล้วไม่อนุโมทนา ต่อให้เราจะบอกว่าขอจงมีจิตโสมนัสยินดีอนุโมทนา เมื่อคนนั้นไม่อนุโมทนา กุศลจิตเขาไม่เกิดแล้วเราจะเอาบุญของใครไปให้ บุญไม่ใช่สิ่งที่จะหยิบยื่นยกให้ใครได้ แต่เป็นเรื่องจิตของคนนั้น ขณะที่ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ เป็นสภาพจิตที่ดีงาม จึงจะเป็นกุศล เพราะฉะนั้นการอุทิศส่วนกุศล มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล เมื่อครั้งที่พระเจ้าพิมพิสารได้เชิญเสด็จพระผู้มีพระภาคไปประทับที่เมืองของพระองค์ มีการถวายทานอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติของพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งเป็นเปรตนานแสนนาน แต่ว่าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า เมื่อเปรตซึ่งเป็นญาติของพระเจ้าพิมพิสาร ได้รับการอุทิศส่วนกุศลแล้ว มีจิตโสมนัสยินดีอนุโมทนา ก็จะได้รับกุศลวิบาก พ้นจากสภาพของความเป็นเปรต เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าในเรื่องของทาน เมื่อได้กระทำกุศลคือการให้ไปแล้ว เราก็สามารถที่จะกระทำกุศลเนื่องกับทานนั้นต่อ โดยอุทิศส่วนกุศลให้ แต่จริงๆ แล้ว ไม่ใช่เฉพาะทานเท่านั้น กุศลทุกประเภทที่ทำ สามารถที่จะอุทิศให้ แล้วแต่ว่าบุคคลใดจะอนุโมทนาหรือไม่อนุโมทนา และอีกอย่างก็คือ ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้บอกว่าอุทิศให้ แต่ผู้ใดที่ล่วงรู้ และอนุโมทนาก็เป็นกุศลจิตของคนนั้น จะไปเปลี่ยนกุศลจิตของคนที่เกิดอนุโมทนาให้ไม่เป็นกุศลไม่ได้ นี่ต้องเป็นเหตุเป็นผลว่า ไม่ใช่เรื่องหยิบยกยื่นให้ ไม่ใช่เรื่องบังคับ ไม่ใช่เรื่องที่เราอุทิศ และเขาต้องได้รับ แต่เป็นเรื่องที่สภาพจิตของเขาเอง ที่จะเป็นกุศลหรือไม่เป็นกุศล และสำหรับการอุทิศส่วนกุศล จะเห็นได้ว่าเราจะอุทิศให้กับผู้มีคุณ เช่นมารดา บิดา ใครก็ตามเพื่อนฝูง มิตรสหายซึ่งได้กระทำดีต่อเรา และเขาสิ้นชีวิตไปแล้ว ถ้ามีโอกาสที่เราจะทำการตอบแทนในสิ่งที่ดีที่เขาได้ทำแล้ว เราก็อุทิศส่วนกุศลให้ แต่ทีนี้ถ้ายาวไปก็คงจะนึกไม่ออกบ้างอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นเราก็สามารถที่จะกล่าวรวมไปเลยว่า นอกจากมารดา บิดาแล้ว ก็ยังมีผู้มีพระคุณทั้งหมด ครูบาอาจารย์ แต่บางครั้งก็จะใช้คำว่า ผู้มีพระคุณซึ่งก็รวมท่านอื่นๆ ด้วย กว้างออกไปอีก และเทพ และอมนุษย์ทั้งหลาย ก็เท่าที่จะรวมๆ อุทิศไปได้
ผู้ฟัง อยากจะเรียนถามเรื่องการขอพร เป็นประเพณีของชาวไทย เช่นในวันสงกรานต์ วันขึ้นปีใหม่ บุคคลที่ได้รับความเคารพนับถือ จะเป็นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย จะมีลูกหลานหรือผู้ใต้บังคับบัญชา ถือโอกาสวันนั้นมาแสดงความเคารพ แล้วพร้อมทั้งกล่าวที่จะให้ผู้ใหญ่นั้นเป็นผู้ให้พร ผู้ที่ได้ศึกษาพุทธศาสนามาเข้าใจแล้ว รู้สึกว่าเราจะเอาอะไรไปให้ พูดไปก็กลัวว่าจะเป็นข้อมุสาถ้าเป็นสิ่งที่ถูกที่ควร ท่านอาจารย์คิดว่าควรจะมีคำแนะนำอย่างไร ให้เป็นประโยชน์สำหรับบุคคลที่จะต้องถูกขอร้องให้ ให้พร ในโอกาสต่อไป
ท่านอาจารย์ ตามเหตุผลตามความเป็นจริง ซึ่งคงจะต้องอาศัยพระพุทธศาสนาเป็นหลัก มิฉะนั้นแล้วเราก็ทำตามกันไป โดยที่ว่าไม่เกิดความรู้ความเข้าใจอะไรเลย แม้แต่ว่าพรคืออะไร ในพระพุทธศาสนา จะต้องตั้งต้นด้วย คืออะไรให้เข้าใจจริงๆ ให้เข้าใจถูกต้อง ไม่ใช่พูดตามๆ กันไป แล้วก็ไม่รู้ว่าคืออะไร พร มาจากภาษาบาลีที่ใช้คำว่า วรํ (วะ-รัง) หรือภาษาไทยจะใช้คำว่า วระ และ ว กับ พ ใช้แทนกันได้ เพราะฉะนั้นแทนที่จะเป็น วรํ วร ก็เป็น พร หมายความถึงสิ่งประเสริฐ พอพูดว่า พร คือสิ่งประเสริฐ อยากได้ไหม ตามความเป็นจริง อย่างจริงใจทีเดียว อยากได้สิ่งประเสริฐไหม อยากแล้วใช่ไหม อะไรที่เป็นสิ่งประเสริฐที่อยากจะได้ ต้องเป็นผู้ที่มีเหตุผลจริงๆ ไม่ใช่ว่าเพียงแต่ประเสริฐก็อยากจะได้ แต่ไม่ได้พิจารณาให้ลึกซึ้งจริงๆ ว่า อะไรที่เป็นสิ่งประเสริฐที่อยากจะได้ ที่นี้ความเห็นของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันแล้วว่า อะไรเป็นสิ่งประเสริฐที่อยากจะได้ เพราะฉะนั้นขอความเห็นด้วยว่ามีอะไรซึ่งเป็นสิ่งประเสริฐที่อยากจะได้ เมื่อกี้ทุกคนบอกว่าอยากได้ทั้งนั้นเลย แล้วพอทราบความหมายว่าพรคือสิ่งประเสริฐ ก็ควรจะถามตัวเองว่าสิ่งประเสริฐที่อยากจะได้ คืออะไร
ผู้ฟัง มันก็คือความสุข
ท่านอาจารย์ ประเสริฐแน่หรือความสุข
ผู้ฟัง ทุกวันนี้ เขาบอกว่าเขามีเงินเยอะแยะ เขาก็มีความสุข อันต่อมาก็คืออยากจะให้อายุยืนๆ
ท่านอาจารย์ ทุกคนคงเหมือนกันใช่ไหม ขอความสุข
ผู้ฟัง ไม่เหมือน
ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นเชิญบอกว่าอะไรเป็นสิ่งประเสริฐที่ต้องการ ความเข้าใจในธรรม ที่จริงน่าจะมีเยอะ หนึ่งที่ต้องการคือความสุข และก็ต้องการอายุยืน และก็ต้องการธรรม มีอะไรอีกไหม คุณพรชัยต้องการอะไร
ผู้ฟัง เราศึกษาธรรมเข้าใจแล้ว เข้าใจหนทาง อยากจะมีโอกาสที่จะ เป็นอยู่ที่สบายแล้วก็ศึกษาธรรมด้วย ๒ อย่าง
ท่านอาจารย์ อยากได้ทุกอย่างที่ดี มีใครคิดถึงความดีบ้างไหมว่าเป็นสิ่งประเสริฐ มีแต่อยากได้ทั้งนั้นเลย อยากได้ลาภ อยากได้ยศ อยากได้สุข อยากได้สรรเสริญ อยากได้อายุยืน อยากได้ความสุข ไม่ได้คิดถึงความดี อะไรประเสริฐ นี้คือการที่จะไปขอพร คิดดู มุ่งหวังจะไปขอพรจากใครก็ไม่รู้ ซึ่งเขาจะให้หรือเปล่าก็ยังไม่รู้อีก ไปขอพรท่านผู้ใหญ่ ท่านจะให้เราได้ไหมความสุข อายุยืน ลาภยศ สรรเสริญ สุข หรือว่าต้องเป็นผลของความดีที่เราได้กระทำ
ผู้ฟัง ต้องเป็นผลของกรรมของเราเอง
ท่านอาจารย์ เพราะฉันไม่ใช่ว่าเราจะไปขอพร แล้วใครจะเอามาให้เราได้เลย เพราะฉะนั้น เป็นเหตุเป็นผลจริงๆ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้ใหญ่ และก็มีเด็กลูกหลานมาขอพร เป็นโอกาสเลยว่า ต้องการพรอะไร ก็ต้องทำความดีให้สมกับที่จะได้สิ่งนั้น มิฉะนั้นแล้วไม่มีโอกาสจะได้
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 2
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 3
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 4
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 5
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 6
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 7
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 8
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 9
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 10
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 11
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 12
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 13
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 14
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 15
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 16
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 17
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 18
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 19
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 20
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 21
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 22
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 23
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 24
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 25
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 26
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 27
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 28
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 29
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 30
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 31
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 32
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 33
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 34
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 35
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 36
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 37
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 38
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 39
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 40
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 41
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 42
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 43
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 44
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 45
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 46
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 47
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 48
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 49
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 50
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 51
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 52
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 53
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 54
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 55
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 56
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 57
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 58
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 59
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 60