ปกิณณกธรรม ตอนที่ 32


    ตอนที่ ๓๒  

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลปากเกร็ดเวชการ

    พ.ศ. ๒๕๓๖  


    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่พิจารณาในเหตุผล อย่างการได้ยินได้ขณะนี้ เป็นวิบาก เป็นผลของกรรมอะไร ตอบได้หรือ ไม่มีทางจะตอบได้เลย เพราะฉะนั้นขณะใดที่กระทำกรรม คนนั้นก็ไม่รู้ว่ากรรมนี้จะให้ผลเมื่อไหร่ เป็นสภาพปกปิดจริงๆ จะให้ผลมากหรือให้ผลน้อยอย่างไรก็ไม่รู้ และเวลาที่ผลของกรรมเกิด ก็ไม่รู้ว่าผลนี้มาจากกรรมอะไร ชาติไหน อย่างเรากำลังจะทานขนมอะไรพวกนี้ เป็นผลของกรรมอะไร ชาติไหน แต่ว่า มีกรรมที่ทำให้ชิวหาปสาทเกิด มีรูปกระทบ ทำให้วิบากจิตลิ้มรส ขณะที่ลิ้มรสนั้นคือผลของกรรมแล้ว เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ เรามีผลของกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยลืมว่า นี่เป็นผลของกรรม แต่จริงๆ แล้วทุกขณะเหล่านี้ เป็นผลของกรรม มีกรรมซึ่งได้ทำแล้วเป็นเหตุ และหลังจากลิ้มรสแล้ว เห็นแล้ว ก็ยังมีกิเลสซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดกรรมต่อไปอีก แล้วแต่ว่าจะมากน้อยที่จะทำให้เราเกิดกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ก็ไม่สิ้นสุดถ้าตราบใดที่มีกิเลส ก็ต้องมีกรรม และก็ต้องมีวิบาก แต่ว่าเป็นสิ่งที่ปกปิดเพราะว่าเราไม่สามารถจะติดตามไปรู้ได้ว่า กรรมนี้จะให้ผลเมื่อไหร่ หรือว่า ผลนี้เป็นผลของกรรมเมื่อไหร่

    ผู้ฟัง คำว่า สีลัพพตปรามาส มีความหมายอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ลูบคลำข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิดจากหนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    ผู้ฟัง แล้วคำว่า อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ ที่บอกว่าเป็นความเห็นผิดอย่างอื่น เป็นความผิดยังไง

    ท่านอาจารย์ อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ จะต้องจำแนกความเห็นผิดออกไปว่า มีความเห็นผิดกี่ประการ และ ความผิดอื่นนอกจากนั้นคือ อิทังสัจจาภินิเวส

    ผู้ฟัง คำว่า ลูบคลำข้อปฏิบัติที่ผิด ข้อปฏิบัติที่ถูกนี้ มีอยู่ข้อเดียวใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ข้อเดียวคืออะไร คือ การอบรมเจริญปัญญา รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ถ้าสมมติเวลานี้ การฟังก็พอจะมีความเข้าใจอยู่บ้าง ที่นี้ว่า สิ่งที่ไปเพิ่มพูนให้เกิดมีสติ และปัญญา ด้วยการคิดนึกอย่างนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ การคิดนึกก็เป็นส่วนหนึ่ง ถ้าคิดถูกก็เป็นกุศล

    ผู้ฟัง คิดในเรื่องของสิ่งที่ปรากฏว่า ...

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใช่การประจักษ์แจ้ง ก็ต้องมีการฟัง และการพิจารณาเข้าใจ และสติเกิด

    ผู้ฟัง เพราะว่าจะต้องเน้นในลักษณะที่ว่า มีลักษณะจริงๆ ของแต่ละทางที่ปรากฏ เช่นทางตา

    ท่านอาจารย์ ต้องมีความเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏพอที่สติจะเกิดระลึกได้ ถ้ายังไม่มีความเข้าใจ ก็ไม่มีการที่สติจะเป็นระลึกได้

    ผู้ฟัง อย่างสิ่งที่ปรากฏทางตา ท่านอาจารย์ก็พูดมามาก และ มีคำถามถามกันมามาก แต่ความเข้าใจจริงๆ ก็คิดว่ามันยังเป็นสิ่งที่ยังไม่ใกล้ คล้ายว่า เห็นทีไร มันไม่ใช่เป็นสิ่งที่ปรากฏ แล้วเราจะพิจารณาให้มันเป็นสิ่งที่ปรากฏจริงๆ ...

    ท่านอาจารย์ ก็เวลานี้ก็กำลังปรากฏอยู่ ไม่ใช่ว่าไม่ปรากฏ เวลานี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาจริงๆ

    ผู้ฟัง แล้วทำไมเราถึงเห็นคนเป็นผู้หญิง ผู้ชาย

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่า ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ ต้องฟังจนกว่าจะเข้าใจได้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้จะว่าไม่เข้าใจ ก็เข้าใจนะ

    ท่านอาจารย์ เข้าใจเรื่อง เข้าใจคำ แต่เข้าใจจริงๆ คือขณะนี้ ที่กำลังเห็น แล้วรู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ต้องใช้กาลเวลา ไม่ต้องคิดเลย แล้วแต่เหตุปัจจัย

    ผู้ฟัง และอย่างทางหู บางครั้ง ก็พอจะมีการพิจารณาที่ไม่ค่อยจะยาก ไม่เหมือนทางตา เพราะทางหู มันเป็นเพียงเสียง แล้วจึงจะมีการคิดเป็นคำ แต่ทางตา มันปรุงแต่ง ...

    ท่านอาจารย์ แต่ถึงเวลานี้ ขณะใดที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด ปัญญายังไม่เจริญ ก็คิดว่า ได้ยินคำแล้ว ไม่ใช่ได้ยินเสียง

    ผู้ฟัง แต่มันมีเสียงปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ถูก แต่ว่าในขณะนั้นที่ได้ยินนี่ รู้คำเลย เป็นเรื่องการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เรื่องที่จะไปรีบร้อน เร่งรัด หรือทำอะไรเลย แต่รู้ว่าปัญญาต้องอบรม การอบรมนี้คือต้องช้าทีเดียว ไม่ใช่ว่าเร็ว แล้วแต่การสะสมของแต่ละคนว่า สะสมมากน้อยแค่ไหน ถ้าสะสมมาก ก็เร็วมาก ถ้าสะสมมาน้อย ก็ต้องสะสมต่อไปอีก

    ผู้ฟัง อย่างเวลาที่สติปัญญาเกิด สิ่งที่ปรากฏ ก็รู้ตามความเป็นจริง และสิ่งที่เป็นการคิดนึกจนกระทั่งเป็นสัตว์ เป็นบุคล ก็รู้ตามความเป็นจริง หมายความว่า รู้ทั้ง ๒ ธรรม อย่างนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ รู้ตามความเป็นจริงทุกอย่าง ทุกอย่าง ตามความเป็นจริงแต่ละอย่างๆ

    ผู้ฟัง แล้วถ้าเป็นสมมติ บัญญัติ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นความคิดก็รู้ว่าเป็นจิตที่คิด

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ว่าพอเป็นสติปัฏฐานแล้ว ก็มีแต่ลักษณะอย่างเดียว จนกระทั่งไม่มีสิ่งที่เป็นบัญญัติหรือสมมติเลย อย่างนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังรู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด มีจริงหรือเปล่า

    ผู้ฟัง จากการศึกษาก็ว่า มันจะต้อง

    ท่านอาจารย์ เอาความจริงเดี๋ยวนี้ ที่รู้ว่า เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ มีจริงหรือเปล่า อาการรู้ ลักษณะรู้นั้นมีจริงไหม ถ้ามี ขณะนั้นสภาพรู้อย่างนั้นเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เห็น แต่เป็นสภาพรู้ความหมายของสิ่งที่เห็น

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นหมายความว่า การเห็นคน เห็นโต๊ะ เห็นเก้าอี้ ขณะที่สติปัญญาไม่เกิดก็ต้องเป็นลักษณะที่ไม่รู้ แต่เวลาที่สติปัญญาเกิด ก็เห็นเป็นคน เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ ตามความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ แต่รู้ว่าขณะนั้นเป็นนามธรรมที่รู้อย่างนั้น ไม่ผิดปกติเลยทุกอย่าง ตามความเป็นจริง ถึงต้องเป็นเรื่องที่ต้องเจริญทั่ว และละเอียด

    ผู้ฟัง แต่ทั่วนี้คงยังไม่ทั่ว แต่ผมกำลังพิจารณาในแต่ละทางที่มันพอจะมีแนวที่จะพิจารณาต่อไป คือ เวลานี้มันเกิดความสงสัยเหมือนกันว่า สิ่งที่ปรากฏ ก็รู้ว่า เป็นเพียง ถ้าเป็นทางตาก็เป็นสี เมื่อหลังจากสีปรากฏแล้ว ก็จะต้องเป็นวัตถุ เป็นคน เป็นหญิง เป็นชาย เป็นต้นไม้ เป็นเก้าอี้ ทีนี้เมื่อสติปัญญเกิด ก็รู้ว่า เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นหญิง เป็นชาย ตามความเป็นจริงอย่างนี้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แต่รู้ว่าเป็นสภาพรู้ ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นก่อนจะรู้ทั่ว ก็ต้องรู้ทีละลักษณะๆ ค่อยรู้ไปทีละเล็กทีละน้อย พอทั่วแล้วก็เหมือนกันหมดคือนามธรรมที่รู้

    ผู้ฟัง แต่เวลานี้มันเป็นความรู้ที่ได้จากความย่อที่ท่านอาจารย์ได้ให้

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องอบรม ไม่อย่างนั้น ผู้มีพระภาคจะไม่ใช้คำว่า ภาวนา ก็หมายความว่ารู้ทันที แต่นี่ใช้คำว่า ภาวนา แปลว่า ต้องอบรม จิรกาลภาวนา ใช้คำนี้ด้วย จิร แปลว่า ยาวนาน กาล แปลว่า เวลา ต้องใช้เวลานานมากในการอบรม การอบรมด้วยสติปัฎฐาน ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม จนกว่าจะรู้จริงๆ จนกว่าจะรู้ทั่ว จนกว่าจะรู้ละเอียด

    ผู้ฟัง ขอเรียนถามเกี่ยวกับเรื่อง การวิรัติ งดเว้น หมายความว่าเป็นศีลขั้นกาย ขั้นวาจา หมายความขณะนั้นยังมีตัว มีตน เป็นเราอยู่ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่บุคคล พระอริยะท่านก็มีวิรัติ

    ผู้ฟัง แต่เวลาพอเป็นการประหารกิเลส ขณะนั้นไม่มีคำว่า สมาทานศีลเลยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่บุคคล สมาทาน แปลว่า ถือเอา ประพฤติปฏิบัติ ใช้คำก็ต้องใช้ให้ถูกให้เข้าใจความหมายว่า สมาทานคืออย่างไร สมาทานหมายความถึง ถือเอาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติ

    ผู้ฟัง โดยที่มีสิ่งที่งดเว้นเป็นข้อ๑ ข้อ๒ ข้อ๓ ข้อ๔ ข้อ๕

    ท่านอาจารย์ คุณสุกลไม่ได้ลักขโมยใครใช่ไหม

    ผู้ฟัง มันยังไม่มีเหตุที่ลักขโมย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เวลาที่เราไม่ทำ หมายความว่า เราถือเอาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติ เราจะต้องไปบอกใครอะไรหรือเปล่า

    ผู้ฟัง บอกไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เราหลงลืมใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องบอกก็ได้ บอกแล้วไม่ทำก็ได้ บอกทำไม กับเราทำโดยที่แล้วก็ไม่ต้องบอก แต่เราถือเอาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติ

    ผู้ฟัง คำว่า ประหารกิเลส ดับกิเลส ไม่เกิดอีกเลย กิเลสที่ดับแล้วจะไม่เกิดอีกเลย ตรงนี้ยังไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีการดับกิเลส ไม่มีพระอริยบุคคล มีแต่ปุถุชน แต่ปุถุชนต่างกับพระอริยบุคคลที่พระอริยบุคคลดับกิเลส กิเลสที่ดับแล้วไม่เกิดอีก ตามลำดับขั้น

    ผู้ฟัง ทั้งๆ ที่ก็มีเห็น มีได้ยิน มีได้กลิ่นต่างๆ เป็นปกติ

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นความต่างกันของพระอริยบุคคล กับ ปุถุชน

    ผู้ฟัง ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยปัญญา

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง การอบรมปัญญานี้ นอกจากการเจริญสติปัฏฐาน ยังมีธรรมข้ออื่นที่จะเกื้อกูล

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างในชีวิตประจำวัน

    ผู้ฟัง ทาน ศีล ก็มีส่วนสนับสนุนด้วย

    ท่านอาจารย์ ที่บรรยายไว้ ฟังหมดหรือยัง ถึงจะต้องให้บรรยายอีกใช่ไหม และเข้าใจหมดหรือยัง และก็อบรมเจริญอย่างนั้นหมดหรือยัง ก็ไม่ต้องมีการบรรยายอะไรอีก เพราะว่าทุกท่านที่เข้าใจแล้ว ก็ศึกษาเองตามพระไตรปิฏก อรรถกถา ยิ่งละเอียดมากกว่านั้นเยอะแยะ ไพเราะมากกว่านั้น ลึกซึ้งกว่านั้นอีก ที่บรรยายเป็นแต่เพียงแนวทางที่จะให้ทุกคน เกิดปัญญาความเข้าใจพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง เข้าใจธรรมถูก เพื่อที่จะได้ไปศึกษาต่อแล้วก็ได้กว้างขวางมากกว่านี้อีก

    ผู้ฟัง ถ้าสมมติว่าจะอาศัยการฟังของท่านอาจารย์แค่นี้ โดยที่ไม่มีอุปนิสัยในการจะไปศึกษาต่อ จะพอมีหนทางเป็นไปได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ดิฉันคิดว่า ทุกคนยังไม่เคยอ่านพระไตรปิฏกด้วยตัวเอง เพราะว่าบางทีก็คิดว่าไม่มีเวลา แค่ฟังเทปนี้ก็มากแล้ว อะไรอย่างนี้ แต่อยากจะขอร้องจริงๆ ว่า ถ้าได้อ่านพระไตรปิฏกด้วยตัวเอง จะวางไม่ลง ถ้าเป็นเล่มเล็กๆ อาจจะอ่านได้หมดเลย คือว่าอ่านแล้วก็ต่อๆ ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งลืม ทีแรกก็คิดว่าจะอ่านสักสูตรเดียวหรืออะไรอย่างนั้น ที่อาจจะค้น หรือต้องการจะอ่าน แต่อยากจะให้อ่านจริงๆ เพราะเหตุว่า ที่ยกมาเป็นตัวอย่างในการบรรยาย เพื่อเชิญชวนให้ทุกคนได้เห็นบางข้อความเท่านั้น ซึ่งความสมบูรณ์จริงๆ เต็มในพระไตรปิฏก ทั้งพระวินัย ทั้งพระสูตร พระอภิธรรม ก็คงจะยากแน่นอน ซึ่งถ้าไม่เข้าใจปรมัตถธรรมเป็นพื้นฐานแล้ว ก็อ่านก็ไม่รู้เรื่องแน่ เพราะฉะนั้นที่เข้าใจว่าอภิธรรมเป็นพื้นฐานนั้น จะช่วยให้เข้าใจพระวินัย แล้วก็เข้าใจพระสูตร และพระสูตรที่นำมานี่ไม่ใช่ทั้งหมด เป็นส่วนเล็กน้อยจริงๆ ความไพเราะยังมีอีกมากที่นั่น เพราะฉะนั้นทุกคน นอกจากฟังวิทยุสักครึ่งชั่วโมงแล้ว ถ้ามีโอกาสจะอ่านพระไตรปิฏกต่อ ก็จะเป็นประโยชน์มาก

    ผู้ฟัง แต่นี่อย่างเวลาที่ผมอ่านอย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวมานี้ ขณะที่อ่าน มันเกิดความคิด มโนภาพ นึกถึงภาพที่เราเคยไปที่พระเชตวันมหาวิหาร และก็มีพระภิกษุ ก็เลยกลายเป็นคิดฟุ้งซ่าน ไม่ได้อ่านหนังสืออีกแล้ว เรามาคิดมากแล้ว หยุดอ่านสักที จะเป็นสลับอย่างนี้ตลอดเวลา

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว พระไตรปิฏกจะมีคุณมากตอนที่เราอ่านแล้วรู้ว่า เป็นตัวเราที่ไม่ดี ใช่ไหม อย่างเวลาที่ทรงแสดงกับพระภิกษุ หรือว่าใครก็ตามแต่ คฤหบดีที่ไปเฝ้า แล้วกราบทูลถาม และทรงแสดงสภาพธรรม เป็นชีวิต เป็นขณะจิต เป็นของจริง ซึ่งเกิดกับเรา ก็เหมือนกับทรงเทศนากับเรา ให้เห็นตัวเรา เพราะฉะนั้นถ้าอยากรู้จักตัวเอง แล้วพระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องนี้ ถึงตัวเราเดี๋ยวนี้ ก็ไปอ่านพระไตรปิฏก ชี้แจงให้เห็นความจริงที่เราได้สะสมมา จากพระโอษฐ์ ทั้งหมดนี้น้อมมาเพื่อที่จะได้เห็นโทษของอกุศล แล้วก็เห็นประโยชน์ของการเจริญกุศล คือต้องทราบจุดประสงค์ว่า เราจะปฏิบัติเพื่ออะไร อย่างเวลาเราจะทำอะไร เราก็ต้องมีจุดประสงค์ใช่ไหม เราทำเพื่ออะไร เราจะแกงส้ม เราจะแกงเลียง

    ผู้ฟัง บางคนใจไม่สงบ ก็ให้ดูว่าเราพิจารณาอย่างนี้ ใจมันสงบ

    ท่านอาจารย์ แปลว่าเราจะเปลี่ยนความคิดของเรา จากคิดเรื่องคนนั้นคนนี้ มาเป็นคิดเรื่องส่วนต่างๆ ของร่างกายของเรา ให้เกิดความสงบว่า มันเป็นปฏิกูล ก็ได้เพียงแค่นั้นเอง แต่ทีนี้การเริ่มต้นที่จะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน มันจะไม่ใช่โดยการเพียงแต่เป็นนั่งคิดว่า มันไม่สะอาดหรืออะไรอย่างนั้น ต้องมีการที่จะรู้ว่า ที่ไม่ใช่ตัวตนนี้ ต้องฟังธรรม แล้วยังไม่ต้องไปปฏิบัติ ต้องเข้าใจก่อน ข้อสำคัญที่สุดคือว่า ต้องเข้าใจ และปัญญานั่นเองปฏิบัติกิจของปัญญา ไม่ใช่เราทำ ส่วนใหญ่จะเป็นเราไปทำ แต่ไม่ใช่เป็นปัญญาที่เข้าใจถูก แล้วปัญญาก็ทำหน้าที่รู้ ถูกต้องทีละเล็กที่ละน้อย รู้สึกว่าจะชอบปฏิบัติใช่ไหม แต่จริงๆ แล้วต้องศึกษาก่อนให้ทราบ

    ผู้ฟัง เราไปนั่งปฏิบัติก็สงบดี

    ท่านอาจารย์ เราเข้าใจว่าสงบ แต่พระธรรมที่ทรงแสดงเรื่องของจิตที่สงบ ละเอียดกว่านั้นว่า ไม่ใช่การนั่งเฉยๆ หรือว่า ไม่ใช่การไม่คิดเรื่องนั้น เรื่องนี้ แล้วจะสงบ สงบที่นี่คือ ไม่มีโลภะ ขณะที่เราไปนั่ง เราชอบ มันสงบ ขณะนั้นเป็นโลภะชนิดหนึ่ง เรายังไม่เห็นตัวโลภะ อย่างละเอียด เราเห็นแต่เฉพาะเวลาที่เขาเกิดความโลภมาก อยากได้นั่นอยากได้นี่ เราก็คิดว่าเป็นโลภะ แต่เราไม่รู้ว่าทุกขณะตั้งแต่ลืมตาตื่นมา เป็นโลภะทั้งหมด แม้แต่การที่เราจะไปนั่งอย่างนั้นก็ด้วยโลภะ เพราะว่าเมื่อปัญญายังไม่เกิด โลภะก็ต้องเกิด ถ้าปัญญาเกิด โลภะจะเกิดไม่ได้ เพราะว่าเขาเป็นธรรมฝ่ายตรงกันข้ามกัน อย่างเวลาที่เรามีความเห็นถูกเรื่องเจ้ากรรมนายเวร เราก็ไม่ต้องกลัวเจ้ากรรมนายเวรที่ไหนอีก นี่คือความเห็นถูกทำหน้าที่ละโทสะ หรือความกลัว ใช่ไหม เพราะฉะนั้นถ้าเรามีความเห็นถูกในเรื่องการอบรมเจริญปัญญา ปัญญาเขาก็ทำหน้าที่ของเขา แต่ถ้าปัญญายังไม่เกิด จะมีเราที่ไปทำอะไรทุกอย่างที่คนอื่นเขาจะบอกให้ทำ แต่ว่า ไม่ใช่ปัญญา เพราะว่าปัญญายังไม่เกิด เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น ให้เราเข้าใจถูก ความเข้าใจถูกก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญญา ไม่ใช่เรา และปัญญาเขาทำหน้าที่ของเขาคือถูกไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเป็นความเห็นผิด เขาก็ทำหน้าที่ผิดไปเรื่อยๆ เหมือนกัน สภาพธรรม มี ๒ อย่าง ความเห็นถูกก็เป็นธรรม เป็นของที่มีจริงอย่างหนึ่ง ความเห็นผิดก็เป็นธรรมคือสิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่พิจารณา ต้องเป็นความเห็นผิด แต่พอเริ่มพิจารณาเหตุผลแล้วความเห็นถูกค่อยๆ เกิดขึ้น นั้นเป็นหน้าที่ของความเห็นถูกที่เขาจะค่อยๆ ถูกขึ้น ระหว่างความเข้าใจกับการไปปฏิบัติ อย่างไหนจะดีกว่ากัน เข้าใจดีกว่า เพราะฉะนั้นถ้าเราฟังบ่อยๆ และเราเข้าใจอย่างนี้ เราไม่ต้องไปปฏิบัติ เพราะขณะนี้สติกำลังปฏิบัติกิจของสติ คือระลึกตามที่ได้ฟัง และก็พิจารณาจนกระทั่งเข้าใจ นี่คือหน้าที่ของสติกับปัญญา ซึ่งไม่ใช่เรา เลยขณะนี้ ที่กำลังเห็น ก็เป็นจิตชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่เห็น ไม่มีเราจะไปทำหน้าทีนี้ ที่กำลังได้ยินก็เป็นจิตชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นทำหน้าที่ได้ยิน ไม่ใช่เรา ดับไปแล้ว ตัวเราก็ต้องดับไปด้วย ถ้าเราคิดว่าได้ยินเป็นเรา ทุกขณะที่เกิด เกิดแล้วดับ เหมือนเวลาทุกขณะที่ผ่านไป เราใช้คำว่า เวลา แต่ความจริง เวลาไม่มี มีแต่สภาพธรรม ที่เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ แล้วเราเรียกว่า เวลา

    ผู้ฟัง เวลานั่งเรา มันมีภาพเหมือนกับมันก็ไหวแวบนึง

    ท่านอาจารย์ อย่างนั้นไม่ใช่ของจริง เพราะเวลานี้ ไม่มี เราไปทำให้มันมีขึ้น ใช่ไหม เท่ากับว่าไม่มีของจริง แล้วเราไปทำหลอกขึ้นมาให้คิดว่าสิ่งนั้นของจริง แต่ของจริงขณะนี้คือเห็น ไม่ได้ทำ ไม่มีใครทำด้วย เป็นอนัตตา ต้องเข้าใจเรื่องอนัตตา แต่สิ่งต่างๆ เหล่านั้น ความคิดนึกปรุงแต่งขึ้น และเราก็ไปหลงคิดว่าสิ่งนั้นไม่เที่ยง เพราะว่ามันปรากฏแล้วมันหมดไป แต่ปัญญาจริงๆ ต้องรู้ขณะนี้ กำลังเกิดดับขณะนี้ รู้ได้ ค่อยๆ ฟังจนกระทั่งปัญญาเจริญขึ้น

    ผู้ฟัง ก็เหมือนกับว่า ใครจะปฏิบัติ จะฟัง จะนั่งสมาธิ ก็ได้

    ท่านอาจารย์ แต่ต้องมีคนบอกให้ทำว่าให้ทำยังไง ใช่ไหม สมาธิ แต่พระพุทธเจ้าไม่มีบอกเลย ไม่เคยบอกให้ทำ มีแต่ทรงแสดงธรรมให้เข้าใจ

    ผู้ฟัง คำว่า มุขปาฐะ หมายความว่า เป็นข้อความที่ได้รับฟังจากพระพุทธองค์ แล้วก็พูดต่อโดยที่ยังไม่มีพระไตรปิฏกเกิดขึ้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ท่องจำสืบๆ กันมา ด้วยปาก

    ผู้ฟัง มุขปาฐะ จะต้องยังไม่แยกเป็นพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม คือรวมกันไปหมด แต่หลังจากมีพระอภิธรรมแล้ว จึงได้แยกเป็นอย่างๆ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ สมัยที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรม แล้วแต่ผู้ฟัง เพระเหตุว่า ถ้าผู้ฟังนั้นเป็นผู้ที่สะสมปัญญามาก เพียงฟังสามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่ผู้มีพระภาคตรัส อย่างคำว่า ”ธรรม” คนที่ฟังสามารถเข้าใจได้เลย ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นสิ่งที่มีจริง เวลานี้ทุกคนก็รู้ว่ามีสิ่งที่มีจริง เวลานี้ เห็นนี่ก็จริง แน่ๆ ได้ยินก็จริง คิดก็จริง แข็งจริง สุขจริง ทุกข์จริง ความรู้สึกเฉยๆ ก็จริง แต่เราไม่เข้าใจว่านั้นคือธรรม เราคิดว่าเป็นเรา แต่คนในสมัยโน้นท่านอบรมมาก คำว่า ธรรม ไม่มีข้อสงสัยเลยสำหรับท่าน เมื่อได้ทรงแสดงว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นของจริง เป็นธรรม ท่านเหล่านั้นเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่ว่าผู้ฟัง ระดับไหน อย่างที่ทรงแสดงพระธรรมกับพระพุทธมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แล้วก็มีผู้ที่ได้ฟังธรรม แล้วเป็นพระอริยะบุคคลก็มี เพราะฉะนั้นทรงแสดง มหาสติปัฎฐานสลับกับพระอภิธรรม ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถ้าใช้คำว่า อภิธรรม นั้น ไม่ได้พูดถึงคนที่เป็นพระเจ้าพิมพิสาร หรือว่าพระเจ้าปเสนทิโกศล แต่พูดถึงธรรมโดยละเอียด จึงชื่อว่า อภิธรรม เพราะว่าความหมายของ อภิ อีกอย่างนึง ก็คือว่า ละเอียด เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงโลภะโดยละเอียด พูดถึงเห็นโดยละเอียด ถึงเหตุปัจจัยที่ให้เกิดการเห็นต่างๆ เหล่านี้ นั่นก็เป็นอภิธรรมทั้งหมด เพราะฉะนั้นไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องมานั่งจัดระเบียบ แต่ทรงแสดงธรรม ตามเหตุการณ์กับแต่ละบุคคล ตามสถานที่ต่างๆ และเมื่อได้มีการบัญญัติพระวินัยขึ้น สำหรับผู้ที่มาบวชในพุทธศาสนาแล้ว จะเห็นได้ว่า สำหรับคนที่อยู่ร่วมกัน ถ้าจะอยู่กันด้วยความผาสุก ต้องไม่มีใครที่ทำอะไรตามใจชอบ แต่ต้องทำตามส่วนร่วม เพราะฉะนั้น สำหรับพระภิกษุท่านมาบวชกันจากทั่วสารทิศ การที่จะให้ท่านอยู่กันด้วยความสุขสบาย ก็จะต้องมีการตกลงกันว่าจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด นี้แสดงให้เห็นถึงระเบียบที่พระผู้มีพระภาคทรงเห็นความจริงของสัตว์โลกว่า ต่างอัธยาศัย จึงได้ทรงบัญญัติพระวินัยขึ้น เพราะว่าจะได้เห็นความสำคัญของพระวินัยเพิ่มขึ้น มิฉะนั้นแล้วเราก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ ว่าทำไมพระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติพระวินัย แต่เริ่มจากเห็นปัญญาที่ว่า การที่คนจะอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะในบ้าน นอกบ้าน รวมกันเป็นหมู่คณะ หรือเป็นประเทศ หรือเป็นสถานที่สักแห่งหนึ่ง อย่างที่โรงพยาบาลนี้ก็ตาม ถ้าจะให้มีความสุขสำราญร่วมกันจริง ก็จะต้องมีการบอกเล่ากัน มีการตกลงกันในทุกสิ่งที่จะกระทำ นี่เป็นการเริ่มต้นของพระวินัยซึ่งก็จะละเอียดขึ้นละเอียดขึ้น เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าในครั้งที่ยังไม่ปรินิพพาน มีการทรงแสดงพระธรรม และพระวินัย เมื่อมีการที่สังคายนาครั้งแรก ก็มีการสังคายนาพระธรรมวินัย ยังไม่ได้แบ่งเป็น ๓ ปิฎก จนกระทั่งถึงครั้งที่พระเจ้าอโศกจัดสังคายนา แล้วภายหลังก็มีการจารึกเป็นตัวอักษร ก็มีการแบ่งพระไตรปิฎกเป็น ๓ ปิฎก

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 14
    31 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ