ปกิณณกธรรม ตอนที่ 36
ตอนที่ ๓๖
สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลปากเกร็ดเวชการ
พ.ศ. ๒๕๓๗
ท่านอาจารย์ การอบรมเจริญปัญญา ยังต้องอีกมากมายสักเท่าไร เริ่มจากการฟังว่า พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้อะไร ทรงแสดงธรรมเรื่องอะไร และการที่จะเข้าใจสิ่งที่ทรงแสดงนั้นก็ต้องเริ่มจากการฟัง แล้วก็อบรมจนกว่าจะประจักษ์แจ้งจริงๆ ว่าธรรมเป็นอย่างที่ทรงแสดง เวลานี้มีใครคิดว่าเป็นอย่างที่ทรงแสดงบ้างไหม สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง รับรองแค่นี้ก็ยังดีว่า นี่เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แล้วค่อยๆ ก้าวไปถึงว่า สภาพธรรมที่ปรากฏเป็นสีสันวรรณะนี้หลับตาแล้วก็ไม่ปรากฏ ฝัน นี้จะไม่มีสีต่างๆ เลย รับรองว่าทุกคนคืนนี้อาจจะฝันถึงบางสิ่งในห้องนี้ แต่ไม่ได้ปรากฏเป็นสีสันอย่างนี้ นี่แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานั้น เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ แล้วคิด ทุกคนเห็นจริง ชั่วเห็นนิดเดียวแล้วคิด ความคิดนั้นต่อเนื่องสิ่งที่ปรากฏทางตาไว้ไม่ให้ปรากฏว่าเมื่อกี้ดับแล้ว ยากสักเท่าไหร่ที่เราจะต้องเริ่มฟังพระธรรมแล้วก็ค่อยเข้าใจให้ถูกต้อง แม้ว่าวันหนึ่งๆ เราจะหลงลืมสติไปมากเหลือเกิน เห็นดอกไม้ก็สวย อาหารก็อร่อย แต่สักชั่วครู่ที่รู้ว่า เป็นสิ่งที่ปรากฎทางตา ก็จะทำให้เราระลึกได้บ่อยๆ แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น กว่าการเห็นเป็นคนเป็นสัตว์จะหมดไป ก็เหมือนกับการจับด้ามมีด จับไปก็ไม่เห็นสึก จับไปก็ไม่เห็นสึก แต่ว่าจับไปบ่อยๆ เข้า วันหนึ่งก็ต้องสึก ทางตาที่กำลังปรากฏเป็นคนเป็นสัตว์ ค่อยรู้ไปว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏตาเท่านั้น บ่อยๆ เข้า วันหนึ่งก็ต้องสามารถที่จะรู้ได้ว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะเหตุว่าหลังจากที่เห็นแล้วคิดเท่านั้นที่ว่าเป็นคนเป็นสัตว์ แต่เฉพาะสิ่งที่ปรากฏการณ์จริงๆ ไม่เป็นอะไรเลย เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏตาเท่านั้น
ผู้ฟัง ที่กล่าวว่าพระพุทธเจ้าทรงเคารพพระธรรม เคารพอย่างไร
ท่านอาจารย์ หมายความว่าพระองค์เปลี่ยนแปลงสภาพธรรมไม่ได้ ไม่ใช่เป็นผู้สร้าง ไม่ใช่เป็นผู้บันดาล โลภะเป็นสภาพธรรมที่ติดข้อง เกิดเมื่อไหร่ก็พอใจติดข้องในสิ่งที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง เปลี่ยนลักษณะของโลภะให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ ธรรมประเภทไหนเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น
ผู้ฟัง ได้ฟังว่า พระพุทธองค์ได้ตรัสให้คิดถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก ถูกต้องไหม
ท่านอาจารย์ ทั้งหมดที่เป็นกุศล ถูกทั้งหมด คิดถึงทำไมความตาย คิดอย่างไรถึงเป็นกุศล
ผู้ฟัง รู้สึกว่าที่คิดถึงเรื่องความตายเพราะว่า เกิดเป็นมนุษย์นี้มันยากมาก เพราะว่ามนุษย์ก็มีอยู่ภูมิเดียว ก็ยังแปลกใจว่า ชาตินี้ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ก็เลยห่วงว่าตายไปแล้ว จะเกิดเป็นอะไร ท่านอาจารย์กล่าวว่า ชีวิตอยู่ได้เพียงขณะจิตเดียว ทำให้รู้สึกว่า ระลึกถึงว่า อยู่ได้เพียงขณะจิตเดียวจริงๆ ก็ทำให้ไม่ประมาท ก็เลย ทำให้ดิฉันรู้สึกว่า ไม่มีอะไรน่าสนใจเท่ากับที่ได้ฟังพระธรรม
ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจด้วยที่พระองค์ตรัสเตือนให้ระลึกถึงความตายทุกขณะ หรือทุกลมหายใจเข้าออก เพื่อที่จะให้เป็นผู้ที่ไม่ประมาท ไม่อย่างงั้นเราก็ต้องเป็นผู้ที่ประมาทมาก เพราะเราลืมคิดถึงความตายใช่ไหม ถ้าเราจะพิจารณาให้ลึกลงไป ขณะที่เป็นกุศล ขณะนั้นเราก็มีขันติความอดทนที่จะไม่รักไม่ชัง ไม่เป็นไปกับโลภะ ไม่เป็นไปกับโทสะ เพราะฉะนั้นก็เป็นความที่ต้องมีขันติด้วยในขณะนั้น
ผู้ฟัง ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะหลงไปกับความสุข ซึ่งมันก็ไม่เที่ยง
ท่านอาจารย์ เหมือนกันไม่เช่นนั้นเราก็เกิดโลภะบ้างโทสะบ้าง ในสิ่งซึ่งอร่อยบ้างไม่อร่อยบ้าง สวยบ้างไม่สวยบ้าง กลิ่นหอมบ้างไม่หอมบ้าง ก็เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
ผู้ฟัง ดังนั้นก็ต้องอยู่กลางคือต้องพิจารณาทั้งสองอย่างไม่ว่าจะสุขหรือว่าจะทุกข์
ท่านอาจารย์ ถ้าเทียบกับอกุศลธรรมที่เรามีอยู่ทุกคน เราเกือบจะไม่รู้เลยว่าเรามีอะไรมากหรือน้อย เพราะอกุศลธรรมไม่ใช่มีแต่เพียงโลภะ โทสะ โมหะ อิสสาความริษยา มัจฉริยะความตระหนี่ มานะความสำคัญตน พวกนี้เป็นอกุศลธรรมทั้งนั้น แล้วรู้ไหมว่าเรามีมากแค่ไหน ถ้าเราไม่พิจารณาตัวเอง เพราะฉะนั้นถ้าเราเห็นว่าเราจะต้องอดทนต่อการที่จะขัดเกลากิเลส กิเลสไม่ใช่ใครอยากจะหมดก็หมด นึกว่า อยากหมดกิเลสแล้วกิเลสก็หมด นี้เป็นไปไม่ได้เลย แต่การที่จะหมดกิเลสได้ ต้องเห็นกิเลสก่อน ถ้าเราไม่เห็นว่าเรามีมานะ แล้วเราจะละคลายมานะได้อย่างไร เราก็คิดว่า ทำถูกเป็นสิ่งที่ดีที่ต้องทำ แต่เมื่อไรที่ปัญญาเห็นอกุศล เมื่อนั้นจึงจะละอกุศลได้ อกุศลทั้งหมดที่เรามีนั้น ต้องมีปัญญาเห็นอกุศลนั้นก่อน แล้วก็เห็นว่าเป็นโทษด้วย ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีการที่จะละ
ผู้ฟัง กิเลสที่มี ๓ อย่างคือ กิเลสอย่างหยาบ (วีติกกมะ) อย่างกลาง (ปริยุฏฐานะ) และอย่างละเอียด (อนุสัย) วีติกกมกิเลสเป็นกิเลสอย่างหยาบ นี้หมายถึงศีล ๕ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ล่วงเป็นทุจริตทางกายทางวาจา ถ้ากิเลสอยู่นิ่งๆ ในใจ ใครก็ไม่รู้ นั่งเฉยๆ ไม่มีใครวัดได้เลยว่ากิเลสของใครเท่าไรกี่กิโลกรัม ซึ่งมันมากกว่านั้นมาก เพราะว่ามันเบา ยิ่งกว่านั้นไม่มีวัตถุที่ตั้งที่จะไปวัดได้เลย เวลาที่เรามีกายมีวาจาเป็นทวารเป็นทางออกของกิเลส ถ้าเป็นคฤหัสถ์ เราพูดตามสบาย จะล้อเล่น จะคุยสนุก จะเย้าแหย่ยังไงก็ได้ แต่ให้ทราบว่าขณะนั้น จิตเป็นอะไร เป็นทางออกของจิตซึ่งคิดในเรื่องที่จะพูด ถ้าจิตไม่คิดเรื่องนั้นก็ไม่พูดเรื่องนั้นใช่ไหม แต่เวลาที่เกิดความสนุก วาจาต่างๆ พวกนี้ก็ทำให้มีวาจาอย่างนั้นออกมา นี่ก็ไม่ได้เบียดเบียนใคร แต่ก็แสดงให้เห็นว่า ตราบใดที่ยังไม่ล่วงเป็นทุจริตที่จะทำให้คนอื่นเดือดร้อน ตราบนั้นก็ยังเป็นปริยุฏฐานกิเลส เพราะเหตุว่าสนุกก็พูด เล่าเรื่องอะไรขำขันก็คุยกันไป ก็เป็นปริยุฏฐานกิเลส ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน แต่ขณะใดก็ตามซึ่งมีเจตนาที่จะกระทำให้คนอื่นเดือดร้อน ด้วยวาจา ขณะนั้นเป็นอกุศลกรรมทางใจ เพราะเหตุว่ามีเจตนาที่จะเบียดเบียนคนอื่นแล้ว เพราะฉะนั้นวาจานี้ก็เป็นทางออกของอกุศลอย่างหยาบที่ล่วงทุจริต เป็นทุจริตกรรม
ผู้ฟัง ที่อ่านมาเขาบอกว่า กิเลสอย่างกลาง เปรียบว่าเป็น นิวรณ์ ๕ คืออยู่ที่ตัวเราเองโดยที่ผู้อื่นไม่ล่วงรู้ คือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา พอมาถึงกิเลสที่ ๓ ก็คือ อนุสัยกิเลส ทั้งๆ ตัวเราเอง และผู้อื่นก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้เลย นอกจากพระผู้มีพระภาคเจ้าที่จะรู้อนุสัยกิเลส อันนี้เขากล่าวถูกไหม
ท่านอาจารย์ มีชื่อซึ่งเราต้องแปลว่ามันคืออะไร เพราะว่าบางคนใช้ชื่อแล้วก็ไม่ค่อยรู้ว่ามันคืออะไร ระดับไหน แต่การศึกษาไม่ได้เป็นเรื่องที่สามารถจะเข้าใจแม้แต่คำที่พระผู้มีพระภาคทรงใช้ อย่างคำว่า อนุสัย อนุสยกิเลส หมายความถึงกิเลสที่ยังไม่ได้ดับ ตราบใดที่ยังไม่ดับ อนุสัยกิเลสก็ยังมีอยู่ ไม่ว่าเราจะนอนหลับ ขณะนั้นเราไม่ใช่พระอรหันต์ เราไม่ใช่พระอริยบุคคล กิเลสก็ยังคงมีครบ แต่ถ้าเป็นพระอริยบุคคลแล้ว ดับอนุสัยกิเลส ซึ่งเหมือนเชื้อที่จะทำให้เกิดปริยุฏฐานกิเลส เพราะเหตุว่าคนที่ไม่มีเชื้อของอกุศลเลย ทำยังไงๆ อกุศลก็เกิดไม่ได้ เพราะเขาดับเชื้อของอกุศลแล้ว แต่ถ้าเชื้อคืออนุสัยกิเลสซึ่งเป็นกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิต ยังมีอยู่ตราบใด ในขณะที่นอนหลับทุกคนเหมือนกันหมด ผู้ร้ายหรือพระอรหันต์นั้นไม่ต่างกันเลย นอนนิ่งๆ ใครจะไปรู้ว่าใครเป็นพระอรหันต์ ใครเป็นผู้ร้าย แต่ว่าพอตื่นขึ้น ต่างกัน ใจของคนที่ตื่นที่เป็นพระอรหันต์ กับใจของคนที่เป็นผู้ร้ายที่ตื่นนั้นต่างกัน พระอรหันต์ไม่ว่าจะเห็น ไม่ว่าจะได้ยิน ไม่ว่าจะคิดนึก ไม่มีกิเลส ไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล ทั้งสองอย่าง แต่สำหรับคนซึ่งยังมีอนุสัยกิเลสอยู่ ทุกวันนี้ตื่นขึ้นมา ไม่รู้ตัวแล้วว่ามีปริยุฏฐานกิเลสทันทีที่เห็น ไม่รู้สึกตัวเลยว่าติดแล้วในสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นการจะดับกิเลสไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องของปัญญาจริงๆ ที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องเป็นลำดับว่า กิเลสของตัวเองมีมากแค่ไหน วันก่อนก็คุยกันแล้วก็มีคนหนึ่งที่บอกว่า เขาต้องการปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นทุกข์ของสังสารวัฏฏ์ เร็วเลย ไปถึงการพ้นทุกข์โดยที่ยังไม่รู้เลยว่าทุกข์คืออะไร และทุกข์ที่ต้องการจะพ้นนี้ทุกข์อะไร ไม่รู้จักทุกข์ แต่อยากพ้นทุกข์ ดังนั้นก็จะไม่เป็นผู้ที่รีบร้อนทำอะไรโดยปราศจากปัญญา แต่หมายความว่าการศึกษาธรรม การฟังธรรม ให้ศึกษาให้ฟังให้พิจารณาด้วยความเข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง และชื่อต่างๆ ซึ่งเป็นภาษาบาลี ก็เก็บเล็กผสมน้อยไป อย่างวันนี้ก็มี อนุสัยกิเลส มีปริยุฏฐานกิเลส มีวีติกกมกิเลส ก็ให้ทราบว่าระดับของกิเลสนี้ต่างกัน กิเลสซึ่งเป็นพืชเชื้อ ที่ยังไม่ดับที่อยู่ในใจนั่นเป็นระดับอนุสัยกิเลส แล้วก็ถ้าตื่นมาแล้ว เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง แต่ยังไม่ล่วงทุจริตกรรม นั่นก็เป็นปริยุฏฐานกิเลส แต่ถ้าล่วงทุจริตเมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็เป็นวีติกกกิเลส ก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ และอย่างอนุสัยกิเลส ใครจะมาแสดงให้เรารู้ ถ้าไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกคนก็ไม่สามารถไปล่วงรู้ได้ว่าจะดับอนุสัยกิเลสได้อย่างไร กิเลสก็มีทุกคน แล้วก็ไม่ชอบกิเลสกันทั้งนั้น แต่ว่าไม่ชอบกิเลสของคนอื่น ถ้ากิเลสของตัวเองนี้ก็ไม่เคยเห็นเดือดร้อน จะโกรธสักเท่าไหร่ จะริษยาหรือจะอะไรก็เรื่องของตัวเอง แต่พอคนอื่นโกรธ คนอื่นริษยา คนอื่นมีมานะนี้ ไม่ชอบเลย ทำไมมีวาจาอย่างนั้น มีคำพูดอย่างนั้น ไม่น่าฟังอย่างนั้น หรือเป็นอะไรต่างๆ นี้แสดงให้เห็นว่าเราเนี่ย รังเกียจอกุศลจริงๆ หรือเปล่า หรือว่าไม่ชอบ ไม่ชอบเป็นโทสะ แต่ไม่ใช่การเห็นโทษหรือรังเกียจว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี การฟังธรรมก็ต้องฟังโดยความแยบคาย แล้วก็ละเอียดจริงๆ ไม่อย่างงั้นเราก็เอาความไม่ชอบเป็นความดีว่าเราไม่ชอบกิเลส แต่ความจริงไม่ชอบกิเลสเป็นอกุศล ไม่ใช่รังเกียจเพราะว่าเห็นว่าอกุศลนั้นเป็นสิ่งที่เป็นโทษเป็นภัย ข้อสำคัญที่สุด ธรรมอย่าสับสน ค่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วพิจารณาให้ลึกๆ แล้วก็ให้เข้าใจชัดๆ จะได้ไม่ผิดพลาด
ผู้ฟัง คำว่า วาจาสุภาษิต ๕ คือ พูดให้ถูกกาลเทศะ สัจจะคือความจริง กล่าวเป็นประโยชน์ อ่อนหวาน และเมตตา วาจาสุภาษิตหมายความว่าเราควรจะระลึกถึง
ท่านอาจารย์ ดิฉันเองก็ไม่รู้ภาษาบาลี แต่เท่าที่ได้ศึกษา และก็เข้าใจความหมาย ภาษิต คือคำที่พูด สุ ก็แปลว่า ดี คำพูดที่ดี ที่อยู่ในลักษณะที่ว่าเป็นคำพูดที่ดีก็คือคำพูดที่มีประโยชน์เป็นประโยชน์ สำคัญที่สุด คำพูดที่จริง
ผู้ฟัง แต่ว่าพูดด้วยเมตตา อย่างไร เหมือนกับพูดด้วยความอ่อนหวาน
ท่านอาจารย์ เมตตานี่ต้องเข้าใจว่ามาจะคำว่า มิตร เพื่อน ตรงกันข้ามกับศัตรู คำนี้ไม่ใช่หมายความว่า เราอยากจะเจริญเมตตา มีเมตตาเยอะๆ โดยไม่รู้ว่าเมตตามีลักษณะอย่างไร คุณบงมีเพื่อนไหม มีเพื่อนรักไหม มีเพื่อนเทียมไม่ใช่เพื่อนแท้ ก็เห็นความต่างกันใช่ไหมว่าเราใช้คำนี้แต่แม้กระนั้นเราก็ยังใช้คำว่า แท้ หรือ เทียม แต่ความจริงถ้าพูดถึงมิตร หรือเมตตาจริงๆ และความเป็นมิตรนี้ต้องแท้ และมิตรแท้ ลองคิดถึงความหมายว่า เป็นผู้ที่พร้อมที่จะให้ประโยชน์เกื้อกูล ไม่มีความหวังร้าย ไม่มีความแข่งดี ไม่มีทุกอย่างที่จะเป็นอันตรายกับคนนั้น แต่พร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูล เราเป็นมิตรกับคนอื่นได้อย่างนี้หรือเปล่า แล้วได้ทั่วๆ ไปไหม การเจริญเมตตาไม่ต้องเป็นนั่งที่ไหน ไม่ต้องไปท่องอะไร แต่มีความรู้สึกว่าเป็นมิตรจริงๆ กับทุกคน ไม่ว่าจะโดยสถานะใด สถานที่ใด โอกาสไหน พร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูล แล้วถ้าเราพูดในลักษณะนั้น มีความเป็นมิตรกับคนที่เราพูดด้วย เพราะว่าคำพูด แม้ว่าจะอยู่บ้านเดียวกัน เป็นพี่ เป็นน้องกัน เป็นญาติกัน เป็นสามีภรรยากัน เป็นอะไรกันก็ตาม แต่คำพูดนี้ไม่ได้พูดด้วยเมตตาตลอด ใช่ไหม นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ความเป็นมิตรของเรา ชั่วขณะๆ แต่ถ้าเราสามารถที่จะเจริญเมตตา คือมีความเป็นมิตรได้ มาก และนาน และตลอดไป ไม่ว่าเราจะพูดกับเขาวันไหน เวลาไหน ก็มีความเป็นมิตรจริงๆ ต่อให้เขาจะเป็นคนในบ้านที่เราจะให้เขาทำอะไรให้เรา แต่เราก็มีความรู้สึกเป็นมิตรกับเขา และพูดกับเขาเหมือนกับเขาก็เป็นมิตรกับเรา ไม่ใช่ว่าเราจะต้องฝืน แต่ให้เรารู้สึกตัวว่า ขณะนั้นเราเป็นมิตรหรือเปล่า ไม่ใช่ทั้งๆ ที่ไม่เป็นมิตร แต่อยากจะทำให้เป็นหรือว่าพูดให้ดีด้วย อะไรอย่างนั้น แต่ใจไม่เป็น ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นต้องระลึกจริงๆ ว่าเรามีความเป็นมิตรจริงๆ ด้วยหรือเปล่า จากใจจริง
ผู้ฟัง คำว่า สติ สติสัมปชัญญะ ตามความเข้าใจของเราตามธรรมดา สติคือความระลึกได้ รู้ตัวว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ สัมปชัญญะความรู้ตัว ก็คงจะเป็นความหมายที่พื้นๆ อยากจะทราบความหมายที่ลึกซึ้ง
ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงสภาพธรรม หมายความถึงสิ่งที่มีจริง อย่างโลภะความติดข้องนี่มีจริง โทสะก็มีจริง เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิด แต่ละประเภท เป็นธรรมฝ่ายอกุศล แต่ถ้าพูดถึงสติในทางธรรมแล้วเป็นอกุศลไม่ได้ ต้องเป็นกุศล หรือว่าจะใช้คำว่าโสภณ เป็นธรรมฝ่ายดีก็ได้ ที่เราคนไทยใช้คำว่า สติ เราใช้ไขว้เขว แล้วใช้ตามใจชอบ แต่ถ้าตรงนั้นลักษณะสภาพธรรมจริงๆ แล้ว สติเป็นโสภณธรรม เป็นธรรมฝ่ายดี ต้องเป็นไปในขณะที่เป็นกุศล เช่นในขณะที่ให้ทาน ระลึกเป็นไปในการที่จะให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อประโยชน์สุขของคนนั้น ในขณะนั้นเป็นสติ ไม่ใช่เรา โลภะไม่ใช่เรา โทสะไม่ใช่เรา เมตตาไม่ใช่เรา สติก็ไม่ใช่เราเหมือนกัน จะเห็นได้ว่าที่เราเรียกว่า คนดี คือว่าสภาพธรรมฝ่ายดีเขาเกิดมาก คนไหนที่ไม่ดีก็หมายความว่าสภาพธรรมฝ่ายไม่ดีนี้สะสมมาเยอะแล้วเกิดมาก แล้วเราก็ไม่รู้จะทำยังไงก็เลยเรียกชื่อตั้งชื่อกัน สมมติขึ้นมา แต่ตัวจริงๆ นั่นคือสภาพธรรม อย่างถ้าเพื่อนเราคนนี้ไม่ดีเลย จะชื่ออะไรก็ตาม แต่เราก็บอกว่านายแดงหรือคุณแดงไม่ดี แต่ความจริงนายแดง คุณแดงไม่มี มีแต่อกุศลไม่ดี แล้วเราก็เรียกอกุศลธรรมนั้นๆ ว่าอย่างนั้น ทุกคนในที่นี้ถ้าเอาชื่อออกหมด ก็มีแต่สภาพธรรมจริงๆ โลภะใครจะเกิด โทสะใครจะเกิด เห็นก็เป็นธรรม ได้ยินก็เป็นธรรม ดังนั้น สติเป็นธรรมฝ่ายดี ถ้าศึกษาธรรมแล้วต้องเข้าใจให้ชัดเจนว่า เป็นอกุศลไม่ได้เลย วันหนึ่งๆ ทุกคนเห็นแก่ตัวแค่ไหน ไม่มีการรู้สึกตัวเลย ตื่นมาก็เริ่มแล้วว่า จะทำอะไรบ้าง จะต้องการอะไร ทุกอย่างเลย ไม่มีการสละเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่น แต่ขณะใดก็ตามที่เกิดการคิดที่จะสละสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้คนอื่น ขณะนั้นให้ทราบว่าเป็นธรรมฝ่ายดี คือสติที่เกิดระลึกได้ที่จะให้ ที่เป็นไปในทาน ในการสละวัตถุ นี่ก็เป็นกุศลขั้นหนึ่ง คือขั้นทาน ในขณะที่เราวิรัติทุจริต เพราะว่าบางคนยับยั้งใจไม่ได้ เวลาเกิดความโลภ ความโกรธ ก็จะต้องมีการกระทำที่เป็นไปด้วยอกุศลนั้นๆ มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เบียดเบียนด้วยประการต่างๆ เพราะเหตุว่าไม่สามารถที่จะระงับอกุศลธรรมได้ แต่ถ้าสติเกิด ธรรมฝ่ายดีเกิด จะมีการวิรัติ บางคนบอกว่า ก่อนที่จะศึกษาธรรม เขาก็พูดอะไรที่ไม่ดี ว่าคนนั้นคนนี้หลายอย่าง แต่เวลาที่ศึกษาธรรมแล้ว อ้าปากแล้วจะพูด แต่ค้าง เสียงไม่ออกไปเพราะสติเกิดระลึกได้ว่า ไม่ควรจะพูดอย่างนั้น หรือไม่ควรจะใช้คำอย่างนั้น นี่ก็แสดงให้เห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แล้วแต่ว่าสติจะเกิดหรือไม่เกิด ถ้าสะสมธรรมฝ่ายดีไว้มาก สติก็ระลึกเป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในการที่จิตจะสงบจากอกุศล เป็นไปในการฟังธรรม พิจารณาธรรม อบรมเจริญปัญญา นี้ก็เป็นหน้าที่ของสติซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ระลึกได้ ก็มีสติขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นการศึกษาธรรม ขั้นการสนทนาธรรม ฟังธรรม แสดงธรรม ซึ่งเป็นฝ่ายภาวนาคือการอบรมเจริญ ซึ่งแยกออกเป็น ๒ อย่าง อบรมเจริญความสงบอย่างหนึ่ง เรียกว่าสมถภาวนา ซึ่งต้องมีสติ ถ้าไม่มีสติกุศลจิตเกิดไม่ได้ แล้วก็อีกทางหนึ่งก็คือ วิปัสสนาภาวนา อบรมเจริญปัญญา ก็ต้องมีสติอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นขาดสติไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้จึงมีพระพุทธดำรัสว่า สติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 2
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 3
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 4
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 5
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 6
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 7
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 8
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 9
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 10
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 11
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 12
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 13
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 14
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 15
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 16
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 17
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 18
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 19
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 20
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 21
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 22
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 23
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 24
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 25
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 26
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 27
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 28
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 29
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 30
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 31
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 32
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 33
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 34
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 35
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 36
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 37
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 38
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 39
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 40
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 41
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 42
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 43
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 44
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 45
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 46
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 47
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 48
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 49
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 50
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 51
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 52
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 53
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 54
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 55
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 56
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 57
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 58
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 59
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 60