ปกิณณกธรรม ตอนที่ 37
ตอนที่ ๓๗
สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลปากเก็ดเวชการ
พ.ศ. ๒๕๓๗
ท่านอาจารย์ เวลาคนเดินตามถนน ไม่หกล้ม เราจะไม่พูดเลยว่าเขามีสติสัมปชัญญะ เพราะว่าขณะนั้น ไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในความสงบของจิต ไม่เป็นไปในภาวนา แต่ขณะใดที่ทานเกิด ขณะนั้นเป็นสติที่เกิดขึ้นระลึกเป็นไปในทาน ขณะใดที่วิรัติทุจริตทั้งทางกาย ทางวาจา ขณะนั้นก็เป็นสติที่เกิดขึ้นวิรัติทุจริตทางกาย ทางวาจา พอจะเห็นลักษณะของสติไหม
ผู้ฟัง ก็พอจะเข้าใจ แต่ความเข้าใจนี้อาจจะเป็นความเข้าใจที่ผิด หรือเป็นความเข้าใจที่เข้าใจเอง อย่างนี้ถือว่า เรามีสติอย่างนั้นหรือที่ว่าถูกต้อง
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว ขณะที่กำลังฟังธรรม มีการคิดตามสิ่งที่ได้ฟัง จะเห็นได้ว่าความคิดของเรา ในวันหนึ่งๆ ก็แยกออกได้เป็น ๒ ฝ่ายเหมือนกัน คือ คิดเป็นกุศล หรือคิดเป็นอกุศล ถ้าเราคิดด้วยอกุศลจิต เราก็คิดถึงเพื่อน คิดถึงความสนุก คิดถึงงาน คิดถึงอะไรก็ได้ แต่เวลาที่กำลังได้ยินธรรมแล้วคิดตามที่จะเข้าใจ ก็เป็นกุศลวิตก วิตกะนี้คือเป็นสภาพที่คิด ขณะนั้นก็ต้องมีสติเกิดร่วมด้วย เป็นสติขั้นฟัง แล้วเวลาที่ฟัง และพิจารณาก็เป็นสติที่พิจารณา จึงเข้าใจ ถ้าเราฟังผ่านหูไป ไม่มีทางเข้าใจเลย ขณะนั้นก็เป็นเพียงได้ยิน เพราะฉะนั้นจึงมีการฟัง และการพิจารณาสิ่งที่ได้ฟัง และที่สำคัญที่สุด คือ ไม่ใช่เพียงฟัง และพิจารณาสิ่งที่ได้ฟังเท่านั้น ประพฤติตามธรรมที่ได้ฟังด้วย จริงมีสติหลายขั้น แต่สติต้องเป็นไปในทางฝ่ายกุศล ขณะใดที่เป็นกุศลระลึกได้เลยว่า ขณะนั้นก็มีสติ เป็นสิ่งที่รู้ยาก เพราะเหตุว่าจิตเกิดดับสลับกันเร็ว เดี๋ยวกุศลจิตก็เกิด เดี๋ยวอกุศลจิตก็เกิด เดี๋ยวกุศลจิตเกิดอีก เดี๋ยวอกุศลจิตก็เกิดอีก สลับกันเร็ว ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะอีกระดับหนึ่ง จึงสามารถจะรู้จักตัวสติ และตัวสภาพธรรมแต่ละอย่างได้
ผู้ฟัง ยังเป็นความไม่กระจ่างเกี่ยวกับเรื่องคำว่ากุศลที่ประกอบด้วยปัญญา กับกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งท่านอาจารย์เองก็เคยยกตัวอย่างให้ฟังแล้วว่าเช่น เรื่องการให้ทานนั้น ไม่มีปัญญา ทานนั้นก็สำเร็จได้ หรือว่า ศีลเหมือนกัน ถ้าเป็นทานที่มีปัญญาประกอบด้วยนี้ จะมีลักษณะอย่างไรถึงจะ เป็นที่สังเกตได้ว่า ทานมีปัญญาประกอบด้วย
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว ไม่อยากจะให้เป็นเรื่องของทางฝ่ายพยัญชนะ หรือคำพูด แต่อยากจะให้เป็นการระลึกรู้ได้จริงๆ ว่า ในขณะนั้น มีปัญญาหรือไม่มีปัญญา
ผู้ฟัง ถ้ามีปัญญาจะมีลักษณะอย่างไร
ท่านอาจารย์ รู้ถูกต้องตามความเป็นจริง แล้วแต่สภาพธรรมขณะนั้นจะรู้โดยระดับใด เป็นความรู้ก็แล้วกัน ถ้าเห็นคนโรคเรื้อน ตาบอด และกำลังลำบากเดือดร้อน และเราก็ให้เขา แล้วก็พิจารณาเห็นกรรมของเขา การที่เขาเป็นคนโรคเรื้อน ตาก็บอด แล้วลำบากนี้ใครทำให้ ไม่มีใครอยากจะเป็นเลย การที่เราเห็นว่านี้เป็นผลของกรรม เพียงเห็นเขา ก็รู้ว่า นี่เป็นผลของกรรม แม้เวลาที่มีกุศลจิตเกิด คิดช่วยเหลือ ขณะนั้นเป็นกุศล เราก็ไม่มาตรวจสอบจิตใจของเราว่าเป็นประกอบด้วยปัญญาหรือเปล่า มันจะเป็นกุศลประเภทไหน ไม่จำเป็นต้องคิดเลย ขณะใดเป็นปัญญาที่เกิดคิดเป็นไปในเรื่องของสภาพธรรมคือเป็นเรื่องของกรรม ขณะนั้นก็เป็นปัญญา ขณะที่ให้ก็ให้ ขณะที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมก็ระลึกไป คืออย่าไปกังวล และความรู้ทั้งหมดในเรื่องธรรมจะเกิดกับตัวเอง เพราะว่าส่วนมากบางคนจะติด โลภะไม่เคยทิ้งเรา อย่าลืม ไม่ว่าเราจะขึ้นสวรรค์ชั้นสูงสุด หรือว่าเป็นรูปพรหม อรูปพรหม โลภะก็ตามไป โลภะก็สนับสนุนให้ไปด้วย เพราะเหตุว่าเป็นกุศลที่เป็นไปวัฏฏะ ใครที่ต้องการที่จะเกิดเป็นรูปพรหมให้ทราบว่า ไม่ได้ต้องการที่จะดับความเกิด หรือใครที่จะเจริญกุศลเพื่อจะไปเกิดเป็นอรูปพรหม หรือเป็นเทพชั้นหนึ่งชั้นใด ให้ทราบว่าเป็นด้วยความต้องการที่จะเป็นอย่างนั้น ส่วนใหญ่ที่คนเจริญกุศล จะเห็นได้จริงๆ ว่า ถ้าเขาไม่เข้าใจพระธรรม ไม่เข้าใจพุทธศาสนาว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สะอาดที่สุดด้วยปัญญา เพราะเหตุว่าเป็นไปเพื่อการละ เพียงประโยคนี้ เป็นไปเพื่อการละ ตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ได้ทรงสอนว่า ทำอย่างนี้มากๆ เราจะได้บุญมากๆ เราจะได้ไปขึ้นสวรรค์ เราจะได้เป็นอะไร ไม่ได้สอนว่าให้ทำอย่างนั้น แต่ทรงแสดงเหตุตามความเป็นจริงว่า ถ้าจิตผ่องใสเป็นเหตุ ผลก็มาก แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ไปติดในผล คนที่ศึกษาพระธรรมต้องเป็นคนที่ตรง และเป็นคนที่สะอาดที่จะรองรับพระธรรมที่จะประพฤติปฏิบัติตาม ทั้งหมดเพื่อการละ ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วไม่มีทางเลย ก็ยังคงหวังผลด้วยประการต่างๆ ก็จะมีคำถามว่า ทำบุญอย่างนี้ได้บุญมากไหม มาแล้ว ทำไมจึงถามเรื่องผลของบุญว่า ทำอย่างนี้ได้บุญมากไหม ถ้าไม่อยากได้บุญมาก บุญอะไรก็บุญอันนั้น จะมากจะน้อยก็มีเหตุแล้วคือว่า บุญที่ได้กระทำแล้วก็ไม่จำเป็นต้องมานั่งคิด ใคร่ครวญ บวกลบคูณหาร รำพึงถึงว่าาจะได้ผลมากไหม ไปนั่งกังวลอีกว่า ผลจะมากไหม ถ้าไม่ติดเรื่องผลก็ไม่น่าจะต้องมานั่งถามกันมาผลมากไหม ก็แล้วแต่เหตุ ทุกอย่างแล้วแต่เหตุหมด ถ้าเป็นกุศลจิตที่ผ่องใส ถึงผลจะมากก็ไม่ติด มากก็มาก เดือดร้อนไหมอย่างนั้น ก็ไม่เดือดร้อนเลย ไม่ต้องกังวลเลย เพราะฉะนั้นคนที่ถามว่า ทำยังไงเป็นกุศลญาณสัมปยุตต์ ก็เกือบจะไม่ต้องถามเลย พิจารณาเวลาที่สภาพของจิตเกิดขึ้นว่า มีปัญญาเกิดร่วมด้วยไหม แล้วก็ไม่ใช่ไปติดในสิ่งนั้น ให้รู้ว่าขณะใดที่เป็นปัญญาเกิดก็เกิด
ผู้ฟัง ได้มีผู้สั่งสอน หรือว่ามีผู้ชักชวนในเรื่องของการทำบุญทำกุศล เปรียบเทียบถึงผลว่าอย่างนั้นอย่างนี้มีผลมาก ทุกวันนี้ก็มักจะพยายามเน้นให้มีการถวายสังฆทาน
ท่านอาจารย์ ถ้าจะบอกว่า ผลมาก มาจากจิตที่บริสุทธิ์ จะทำจิตให้บริสุทธิ์กันไหม
ผู้ฟัง ไม่แน่ อาจจะมีผู้คิดว่า ถ้าทำจิตให้บริสุทธิ์ผุดผ่องได้
ท่านอาจารย์ คือไม่หวังผล
ผู้ฟัง แล้วเหตุจริงๆ ของกุศลที่จะเป็นผลมาก อานิสงส์มาก คือการฟังพระธรรมใช่ไหม
ท่านอาจารย์ จิตบริสุทธิ์
ผู้ฟัง ก็เลยมานึกถึงว่า ทุกวันนี้ที่เราฟังการบรรยายธรรมก็ดี หรือว่าสนทนาธรรมก็ดี ก็ไม่ใช่ว่าจะมีความชื่นชมหรือว่าเกิดปีติโสมนัส บางทีมาก็นั่งซึมไป ก็คงจะเหมือนภิกษุในครั้งนั้น ก็คิดไปต่างๆ นาๆ
ท่านอาจารย์ แล้วแต่ความเข้าใจ แต่เชื่อได้ว่า ใครก็ตามที่ฟัง และเข้าใจ ผู้นั้นชื่นชม
ผู้ฟัง ถึงแม้ว่าจะเล็กน้อยก็ถือว่า ...
ท่านอาจารย์ ก็ไม่เคยเข้าใจ และได้เข้าใจขึ้นจะไม่ชื่นชมหรือ
ผู้ฟัง คำว่า โมหะ ท่านอาจารย์บอกว่า อยู่เฉยๆ ไม่มีกุศล และไม่มีอกุศล ถือว่าเป็นโมหะ
ท่านอาจารย์ มิได้ คือว่าสภาพของจิต ถ้าไม่พูดถึงเรื่องนี้วิบากซึ่งเป็นผลของกรรม ซึ่งทำให้เกิดเห็น เกิดได้ยินต่างๆ หลังจากเห็น ได้ยินแล้ว จิตเป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง ขณะใดที่ไม่ใช่กุศล ขณะนั้นต้องเป็นอกุศล อกุศลจิตก็มี ๓ จำพวก คือ เป็นโลภะพวกหนึ่ง มี ๘ ดวง (๘ ประเภท) โทสะพวกหนึ่ง มี ๒ ดวง (๒ ประเภท) และโมหะอีก ๒ ดวง (๒ ประเภท) ทางฝ่ายอกุศลนี้มี ๓ คือ โลภมูลจิต โทสมูลจิต และโมหมูลจิต อาจจะเป็นโลภมูลจิต หรืออาจจะเป็นโทสมูลจิต อาจจะเป็นโมหมูลจิตก็ได้ นี้ทางฝ่ายอกุศล ถ้าทางฝ่ายกุศลก็แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลประเภทไหน แยกเป็น ๒ ประเภทว่าเป็นกุศลเป็นอกุศลก่อน ถ้าคิดถึงตาย ก็คิดถึงเดี๋ยวนี้ ขณะนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ตายได้ เดี๋ยวนี้ทันทีนี้ก็ตายได้ เหมือนกัน จะคิดถึงตอนตาย หรือจะคิดถึงเดี๋ยวนี้ ก็คือเหมือนกัน จิตขณะนี้เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล
ผู้ฟัง ขอพูดเรื่องความตายต่อ คือที่ไปกับท่านอาจารย์ ถามว่า จิตที่จะเกิดก่อนตาย ถ้าเป็นกุศลก็จะไปเกิดในที่ดี ถ้าเป็นอกุศลจะไปเกิดในที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นการที่เราทำความดีมามากๆ ขณะที่ตายจิตเป็นอกุศลก็จะทำให้เกิดในที่ไม่ดี แต่ทั้งๆ ที่เราทำมาไม่ดีเลยแต่ในช่วงที่จะตาย จิตเป็นกุศล ทำให้ไปเกิดในที่ที่ดี พูดอย่างนี้ บางคนเขาก็บอกว่า อย่างนี้ก็ไม่ยุติธรรมเลย คือคนที่ทำดีมาตั้งแยะ พอช่วงที่นาทีสุดท้ายเกิดไม่ดี ดิฉันอธิบายบอกว่า ไปเกิดในที่ไม่ดี แต่สิ่งต่างๆ รอบข้างก็อาจจะทำให้ดีได้ และอีกอย่างคือ ไปเกิดในที่ดี แต่อกุศลต่างๆ ก็เกิดตามมาได้ ก็อธิบายให้เขาฟัง เขาก็ยังบอกว่า ไม่ยุติธรรม
ท่านอาจารย์ คุณบงบอกได้ไหมว่า มีกุศลมาก หรืออกุศลมาก หรือคนอื่นก็เหมือนกัน เราจะเลือกได้ไหมว่า จะให้กรรมไหนให้ผลก่อนจะตาย ใครเป็นคนจะเลือกให้ ทำไมว่าไม่ยุติธรรมละ ทำเหมือนกับว่าเขาไม่มีอกุศลเลย ถ้าเขามีอกุศล เขาก็ยังมีเหตุที่จะให้เกิดในอบาย จะว่าไม่ยุติธรรมได้ยังไง ในเมื่อกรรม ยุติธรรมที่สุด
ผู้ฟัง แต่ได้ให้ความคิดเห็นไปว่า มันจะคงจะเป็นไปไม่ได้ที่ว่า ตลอดเวลาทำความไม่ดี แต่ช่วงที่จะตายสุดท้ายจะมาเกิดที่เป็นจิตที่เป็นกุศลนี้มันยาก กับที่เราทำความดีมาตลอด อาจไม่ถึงกับตลอด แต่ก็มากกว่าอกุศล ฉะนั้นก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดกุศลได้
ท่านอาจารย์ ถ้าคนนั้นไม่เคยทำอกุศลกรรมเลย ก็น่าจะเป็นอย่างนั้น แต่เพราะเขามีอกุศลกรรมซึ่งเป็นเหตุ ซึ่งเขาไม่สามารถจะรู้ได้ว่า ก่อนจะตาย กรรมไหนจะให้ผลที่จะทำให้เกิด
ผู้ฟัง แล้วก็ไม่เฉพาะชาตินี้ด้วย ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้
ผู้ฟัง มีอยู่เรื่องหนึ่งที่บอกว่า ฤาษีสาปแช่งมนุษย์ว่า ขอให้คนนั้นมีทุกสิ่งทุกอย่างที่ปุถุชนอยากจะมี การสาปแช่งแบบนี้สำหรับดิฉันชอบ แสดงว่าฤาษีนั้นต้องรู้ว่าการที่มีสิ่งอะไรมากมายเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะว่าท่านเป็นผู้ที่รู้
ท่านอาจารย์ หลงติด มัวเมา เป็นอนุสติให้เราคิด เพราะสิ่งที่เราต้องการนั้น แท้ที่จริงมันเป็นคำแช่งของฤาษี ยังต้องการอยู่ ไม่มีใครที่จะมีอำนาจไปคิดละกิเลส หรือดับกิเลส ถ้าปัญญาไม่เกิด ต่อให้พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงไว้อย่างนี้ ต่อให้ฤาษีจะแช่งไว้อย่างนั้นก็ตามแต่ แต่ว่าถ้าปัญญายังไม่เกิด ก็ยังต้องการสิ่งที่แช่ง
ผู้ฟัง รูปธรรม มีเหตุให้เกิด ๔ อย่างคือ กรรม จิต อุตุ และอาหาร
ท่านอาจารย์ อันนี้ที่ชัดเจนขึ้นไหมว่ากำลังพูดเรื่อง รูป ที่ทุกคนมี ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ต้องมีสมุฏฐาน ต้องมีธรรมที่ก่อตั้งให้เกิดรูป พายุในทะเลหรืออะไรก็ตาม ก็ต้องมีธรรมที่ก่อตั้งให้เกิดทั้งนั้น สภาพธรรมทั้งหลายจะเกิดขึ้นมาเองตามลำพังลอยๆ ไม่ได้เลย เรื่องของจิตก็เป็นเรื่องหนึ่ง มีสมุฏฐานให้เกิด เรื่องของเจตสิกก็มีปัจจัยให้เกิด พอถึงเรื่องของรูป ต่างกับจิต ต่างกับเจตสิก แต่แม้กระนั้นรูปก็ต้องมีสมุฏฐาน คือธรรมที่ก่อตั้งให้เกิดรูป ไม่ใช่ว่ารูปจะเกิดขึ้นมาได้เองลอยๆ ถ้าพูดถึงสมุฏฐานคือ ธรรมที่ก่อตั้งให้เกิดรูปแล้ว มี ๔ สมุฏฐาน คือ ๑. กรรม เป็นสมุฏฐานให้เกิดรูป รูปใดที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน รูปนั้นชื่อว่ากัมมชรูป และจิตเป็นสมุฏฐานให้เกิดรูป รูปใดซึ่งเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน รูปนั้นชื่อว่าจิตตรูป คือ ๑. กรรมเป็นสมุฏฐานให้เกิดรูป รูปใดเกิดเพราะกรรม รูปนั้นชื่อว่ากัมมชรูป ถ้าได้ยินชื่อ กัมมชรูป ที่ไหนทราบได้ว่ารูปประเภทนี้ต้องเกิดเพราะกรรมอย่างเดียว เกิดจากอย่างอื่นเป็นสมุฏฐานไม่ได้ อีกประการหนึ่งก็คือ ๒. จิตเป็นสมุฏฐานให้เกิดรูป รูปใดที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน รูปนั้นชื่อว่า จิตตรูป ถ้าได้ยินคำว่า จิตตชรูปที่ไหน ให้ทราบว่ารูปนั้นเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน จะเกิดเพราะกรรมไม่ได้ เกิดเพราะสมุฏฐานอื่นไม่ได้เลย รูปแต่ละรูปจะต้องมีแต่ละสมุฏฐาน คือ รูปหนึ่งก็มีสมุฏฐานหนึ่ง จะมีทั้ง ๔ สมุฏฐานไม่ได้ และนอกจากนั้นก็มี ๓. อุตุ ความเย็นความร้อน เป็นปัจจัยให้รูปเกิดขึ้นเป็นสมุฏฐานให้รูปเกิดขึ้นด้วย รูปใดเกิดจากอุตุคือความเย็นความร้อน รูปนั้นชื่อว่า อุตุชรูป อีกสมุฏฐานหนึ่ง คือ ๔. อาหาร ได้แก่อาหารที่เรารับประทานเข้าไปทุกวันๆ เป็นสมุฐานก่อตั้งให้เกิดรูปด้วย รูปใดซึ่งเกิดเพราะอาหาร รูปนั้นชื่อว่าอาหารชรูป มีใครสงสัยใน ๔ คำนี้บ้างไหม กัมมชรูป จิตตชรูป อุตุชรูป อาหารชรูป
ผู้ฟัง กรรมที่ทำไปแล้วให้ผล เรียกว่า วิบาก ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ไม่ปนกัน รูปคือรูป ศึกษาธรรมต้องตรง และต้องละเอียด จะพูดเรื่องอะไร จะพูดเรื่องรูปก็คือรูป แต่รูปนี้เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน ยกตัวอย่างได้ไหม
ผู้ฟัง ก็ตัวเรานี่ใช่ไหม เราเกิดมาพราะกรรม
ท่านอาจารย์ ตัวเรานี้ แยกออกไปโดยอากาศธาตุแทรกคั่นอย่างละเอียดยิบ เป็นแต่ละรูป จะมีรูปบางกลุ่มเกิดกรรมเป็นสมุฏฐาน บางกลุ่มเกิดจิตเป็นสมุฏฐาน บางกลุ่มเกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน บางกลุ่มเกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐาน อย่างเช่น จักขุปสาทรูป ปสาทรูปทั้งหมดเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน ภาวรูป สภาพที่ทำให้ปรากฏเป็นหญิงหรือชาย ก็มีกรรมเป็นสมุฏฐาน แต่ต้องเข้าใจ ตั้งแต่ขณะเกิดเลย ที่เกิดมานี้คือจิตเกิด ขณะแรกที่สุดที่จะเป็นคนนี้ ต้องมีจิตเกิด และจิตนั้นคือวิบากจิต คือจิตซึ่งเป็นผลของกรรม เราทำกรรมเยอะมาก ชาตินี้ก็เยอะ ชาติก่อนก็ไม่ทราบอายุเท่าไหร่ทำกรรมมามากน้อยเท่าไหร่ ทำกรรมร้ายแรงขนาดไหน ยังไงก็ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ และกรรมทุกกรรมก็จะมีโอกาสให้ผล ตราบใดที่ยังมีสังสารวัฎฏ์ แต่ว่าเฉพาะกรรมหนึ่งทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด กรรมนี้ทำให้วิบากจิตทำกิจปฏิสนธิ ตัวกรรมคือการกระทำ เสร็จแล้ว หมดแล้ว ดับแล้ว อาจจะเป็นเมื่อเช้านี้ เมื่อวานนี้ เดือนก่อน ปีก่อน ชาติก่อนแสนโกฏิกัปป์มาแล้วก็ได้ เป็นกรรมที่ได้กระทำแล้ว แต่เป็นปัจจัยประเภทหนึ่ง ชื่อว่า กัมมปัจจัย จะเห็นว่าสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ จะมีปัจจัยคือความที่เขาสามารถจะทำให้สภาพธรรมอื่นเกิดขึ้น อย่างกรรมที่ทำไปแล้ว หมดแล้ว ดับแล้วก็จริง แต่จะเป็นกัมมปัจจัยที่จะทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น ทำกิจปฏิสนธิที่เป็นขณะแรก เราเลือกไม่ได้เลยที่จะเกิดเป็นคนนี้ กรรมเราทำไว้เยอะมาก แต่กรรมหนึ่งทำให้เกิดเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ ชาติก่อนก็เป็นผลของกรรมไหนก็ได้ที่ทำให้เกิดเป็นบุคคลหนึ่งในชาติก่อน จะมีลักษณะยังไง เราก็จำไม่ได้ แต่กรรมที่ทำแล้วหลังจากที่เราตายก็จะเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นเป็นอีกบุคคลหนึ่ง เราจะเป็นบุคคลนี้ ชั่วชาตินี้เท่านั้นเอง จะสุข จะทุกข์ จะลำบาก จะมีเรื่องเดือดร้อนยังไง ก็เฉพาะในชาติที่เป็นคนนี้ จนกว่าจะสิ้นสุดผลของกรรมที่ทำให้เป็นคนนี้ แต่ให้ทราบว่า ในขณะจิตแรกที่เกิด กรรมทำให้วิบากจิตเกิดพร้อมกับเจตสิกซึ่งเป็นวิบาก พร้อมกับรูปซึ่งเกิดเพราะกรรมนั้นเป็นสมุฏฐาน แสดงให้เห็นว่า กว่าจะมาเป็นเราคนนี้ ในขณะจิตแรกที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น กรรมทำให้กัมมชรูปเกิด ๓ กลุ่ม เล็กมากมองไม่เห็นเลย คือ ภาวทสกะ มีความที่จะเป็นหญิงเป็นชายในรูปนั้นเกิดแล้ว แล้วก็มีกายปสาท เพราะว่าเวลาที่มีรูปเกิดขึ้นนั้น จะมีการกระทบ มีการรู้สึกสัมผัสกายปสาทอีกกลุ่มหนึ่ง แล้วก็มีวัตถุทสกะ หรือว่าวัตถุรูป ซึ่งเป็นที่เกิดของจิต เพราะว่าในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตจะเกิดแยกกับรูปไม่ได้เลย ขณะนี้ จิตกำลังเกิดขึ้นที่รูปแต่ละรูป ถ้าเป็นจิตเห็นก็เกิดที่จักขุปสาท ถ้าเป็นจิตได้ยินก็เกิดที่โสตปสาท แล้วก็จะมีรูปๆ หนึ่งซึ่งเป็นที่เกิดของจิตส่วนมากเรียกว่า หทยรูป แต่ให้ทราบว่า รูปเกิดเป็นกลุ่มๆ รูปเกิดรูปเดียวไม่ได้ ตอนที่ปฏิสนธิที่จะมีรูป ๓ กลุ่มเล็กๆ ที่มองไม่เห็น ทั้ง ๓ กลุ่มนี้เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน คือ กายทสกะ รูปที่มี ๑๐ รูปกลุ่มหนึ่งซึ่งมีกายปสาท อีกกลุ่มหนึ่งก็เป็นรูปที่มีรูปร่วมกัน ๑๐ รูป ซึ่งมีภาวะรูปอยู่ด้วย และอีกกลุ่มหนึ่งก็เป็นรูปที่มีรูป ๑๐ รูปรวมกันแล้วเป็นที่เกิดของจิตเป็นหทยทสกะ นี่กว่าจะเป็นตัวเราที่นั่งอยู่เดี๋ยวนี้ จากที่มองไม่เห็นเลย แล้วเวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น จิตขณะหนึ่งๆ จะแบ่งเป็นขณะย่อย ๓ ขณะ ทั้งๆ ที่จิตเกิดดับอย่างเร็วมากเกือบจะเรียกได้ว่าทันทีที่เกิดก็ดับ แต่แม้กระนั้นก็ยังแบ่งขณะของจิตที่เกิด ขณะหนึ่งๆ ออกเป็นอนุขณะ ๓ ขณะได้ว่า ขณะเกิด คือ อุปปาทักขณะ ขณะดับ คือ ภังคักขณะ ระหว่างเกิดกับดับ เป็นขณะที่ตั้งอยู่คือยังไม่ดับไปชื่อว่า ฐีติขณะ จิตขณะหนึ่ง จะมี ๓ ขณะย่อย คือ อุปปาทักขณะ ฐีติขณะ ภังคักขณะ ลองมาคิดว่า ทำไมเราต้องมานั่งพูดถึง ปฏิสนธิจิต ขณะสั้นๆ ขณะเดียว และก็แบ่งออกเป็น ๓ ขณะย่อย เพราะเหตุว่า กรรมที่ทำให้รูปเกิด ทำให้รูปเกิดทั้ง ๓ อนุขณะของจิต
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 2
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 3
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 4
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 5
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 6
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 7
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 8
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 9
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 10
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 11
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 12
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 13
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 14
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 15
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 16
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 17
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 18
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 19
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 20
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 21
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 22
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 23
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 24
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 25
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 26
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 27
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 28
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 29
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 30
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 31
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 32
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 33
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 34
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 35
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 36
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 37
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 38
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 39
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 40
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 41
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 42
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 43
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 44
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 45
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 46
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 47
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 48
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 49
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 50
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 51
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 52
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 53
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 54
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 55
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 56
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 57
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 58
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 59
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 60