ปกิณณกธรรม ตอนที่ 38
ตอนที่ ๓๘
สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลปากเกร็ดเวชการ
พ.ศ. ๒๕๓๗
ท่านอาจารย์ กว่าจะมาเป็นตัวเราเดี๋ยวนี้ แล้วก็ในขณะที่เป็นฐีติขณะของปฏิสนธิจิตคือปฏิสนธิจิตยังไม่ดับ เพียงเกิดขึ้นอุปปาทักขณะแล้ว และยังไม่ถึงภังคักขณะ ในฐีติขณะ มีอุตุหรือความเย็นความร้อนเตโชธาตุซึ่งเป็นปัจจัยทำให้เกิดรูปอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ทำให้ร่างกายของเราเจริญเติบโตขึ้น ไม่ได้มีแต่เพียงรูปที่เกิดจากกรรม แต่ว่ามีรูปที่เกิดจากอุตุ หลังจากที่อุปปาทักขณะของปฏิสนธิจิตแล้ว ในฐีติขณะนั้นเอง จะมีอุตุชรูป แต่ละคนจะมีธาตุไฟซึ่งไม่เสมอกัน เป็นเหตุให้รูปที่เกิดนี้ทั้งๆ ที่จะเป็นหญิงหรือจะเป็นชายก็ตาม สูงต่ำกับขาว ต่างกันหมด เพราะอุตุชรูป กัมมชรูปก็ทำให้เพียงจักขุปสาทเกิด โสตปสาทเกิด ชิวหาปสาทเกิด ฆานปสาทเกิด พวกนี้ที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน แต่ส่วนประกอบอื่นนี่เกิดจากอุตุ ก็จะเห็นได้เราไม่มีทางเลือกเลยว่า เราจะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนี้ เพราะเหตุว่ากรรมจำแนกทำให้ปฏิสนธิเป็นวิบากของกรรมหนึ่งกรรมใด พร้อมกับกรรมนั้นก็ทำให้กัมมชรูปเกิด ทั้งๆ ที่มองไม่เห็น เป็นแมวได้ไหม ก็ไม่เห็นเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นลูกแมว ลูกไก่ ลูกสุนัข ลูกคน ลูกช้าง เพราะขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิด กัมมชรูปเล็กมากมองไม่เห็น แต่กรรมนั่นเองก็ทำให้รูปเกิด แล้วแต่ว่าจะเป็นรูปคน รูปสัตว์ แล้วก็เจริญเติบโตมาจนกระทั่งนั่งมาถึงเดี๋ยวนี้ ที่นี่ ก็มีทั้งรูปที่เกิดจากกรรม มีทั้งรูปที่เกิดจากจิต มีทั้งรูปที่เกิดจากอุตุ มีทั้งรูปที่เกิดจากอาหาร
ผู้ฟัง ในขณะที่จิตเกิดมี อุปปาทักขณะ ฐีติขณะ ภังคักขณะ อุตุชรูปเกิดขึ้นตรงฐีติขณะ
ท่านอาจารย์ อุตุมีในกลุ่มทุกกลุ่มของรูป จะต้องมีธาตุดินน้ำไฟลม เมื่อมีธาตุไฟ ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดรูปอีกกลุ่มหนึ่งคืออุตุขรูป ไม่อย่างงั้นมีแต่แค่ตาหูจมูกลิ้นกายใจที่เป็นปสาทรูปโตมาอย่างดีไม่ได้
ผู้ฟัง วัตถุรูป เป็น หทยวัตถุ อันเดียวกันไหม
ท่านอาจารย์ การฟังธรรมเพื่อความเข้าใจเพื่อละ แต่ละนี้ไม่ใช่เราละ ปัญญาที่รู้จริงจะละความไม่รู้ ข้อสำคัญที่สุด อย่าไปเครียดละอะไรเลย ละความไม่รู้ พอเข้าใจแล้วปัญญาเขาจะเจริญขึ้น และทำหน้าที่ของเขาเอง
ผู้ฟัง พระพุทธองค์เห็น ต่างกับที่เราเห็น หมายความว่า เราเห็น จะต้องเกิดแต่อกุศล และกุศล แต่ถ้าเป็นพระองค์ ท่านจะเข้าใจ และท่านก็จะไม่มีกุศลหรืออกุศล
ท่านอาจารย์ พระอรหันต์ทุกองค์ไม่มีกิเลสเลย ทั้งปริยุฏฐานกิเลส ทั้งวีติกกมกิเลส ทั้งอนุสัยกิเลส เรียกว่าไม่มีพืชเชื้อที่จะให้เกิดกิเลสใดๆ ทั้งสิ้น มิฉะนั้นแล้วจะไม่ชื่อว่าอรหันต์ ไม่ใช่ไปเรียกใครเอาตามใจชอบว่า คนนี้เป็นอรหันต์ คนนั้นเป็นอรหันต์ แต่จะต้องมีคุณธรรมคือ ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงขั้นที่จะดับกิเลสหมดเป็นพระอรหันต์ เห็นมี แต่หลังจากเห็นแล้ว ไม่มีกุศล ไม่มีอกุศล แต่คนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ห้ามไม่ได้เลย ต้องเป็นกุศลหรืออกุศลอย่างหนึ่งอย่างใด เพราะฉะนั้น อยู่ที่ตัวกิเลส ถ้ายังมีอยู่ ก็จะเหมือนอย่างพระอรหันต์ไม่ได้ ทำอย่างไรจิตถึงจะบริสุทธิ์หมดจดอย่างพระหันต์ ต้องมีปัญญาที่จะรู้ความจริงของธรรมที่กำลังปรากฏ จึงไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีกิเลสได้ ทั้งๆ ที่เห็นก็ไม่มีกิเลส เพราะรู้ว่าความจริงของสิ่งที่เห็น
ผู้ฟัง ที่กล่าวว่า เราทำกุศล อกุศล แล้วจะเป็นวิบาก
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่จะเป็นวิบาก กุศล และอกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดวิบาก
ผู้ฟัง วิบากได้แก่ ตาเห็นรูป จมูกได้กลิ่น ใช่ไหม ถ้าเผื่อว่าเรามีปัญญาแล้ว วิบากก็ไม่มีความหมายอะไร เพราะมันก็ไม่ได้เป็นกุศลหรืออกุศล
ท่านอาจารย์ ปัญญาขั้นไหน วิบากนี้ยับยั้งไม่ได้เลย หมายความว่า เมื่อมีเหตุที่ได้กระทำแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิด เราไม่ได้ตั้งใจจะเกิดในโลกนี้ เราไม่ได้ตั้งใจจะเป็นคนนี้ แต่ว่ากรรมทำให้เราเกิดเป็นคนนี้ และกิเลสที่เราสะสมมาก็ทำให้เราทำสิ่งซึ่งเราไม่ได้ตั้งใจจะทำตั้งหลายอย่าง เราไม่อยากจะให้เป็นอกุศล ไม่อยากจะให้กรรมอย่างนี้เกิดขึ้น แต่เพราะเรายังมีกิเลสอยู่ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำอกุศลทางกาย ทางวาจา ก็เป็นเรื่องของอนัตตาซึ่งปัญญาจะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงขึ้น แล้วก็ละความยึดถือว่าเป็นตัวตนก่อน ให้รู้ความจริงของสภาพธรรมว่า ธรรมเป็นธรรม
ผู้ฟัง ขอย้อนพูดถึงเรื่อง เมตตา ที่ว่า เมตตาเป็นมิตร บางครั้งเราจะเป็นมิตรกับคนบางคนได้เท่านั้น
ท่านอาจารย์ ไม่ถูก ก็เป็นของธรรมดาๆ เหลือเกิน แล้วที่ว่า เราเป็นมิตรกับคนบางคน ความจริงเป็นโลภะก็ได้ เรารักเพื่อน เป็นโลภะหรือว่าเป็นมิตร ถ้าเป็นมิตรก็เสมอกันได้กับคนอื่น
ผู้ฟัง ขอต่อจากที่ปฏิสนธิแล้ว กรรมนี้จะมาอยู่ที่ภวังค์ ที่เป็นตัวเราอยู่ตลอดเวลานี้อันนี้ยังไม่ค่อยเข้าใจ
ท่านอาจารย์ ที่ว่าเป็นเรา เป็นนามธรรมกับเป็นรูปธรรม อย่าลืม ไม่ใช่นามธรรมอย่างเดียว หรือรูปธรรมอย่างเดียว มีทั้งนามธรรม และรูปธรรมที่เรายึดถือว่าเป็นตัวเรา ถ้าพูดถึงวิบาก ซึ่งเป็นผลของกรรม ถ้าใช้คำว่า วิบาก แล้วหมายความว่า ต้องเป็นจิต และเจตสิก ไม่ใช่รูป รูปก็เป็นผลของกรรมด้วย กรรมให้ผล ๒ อย่าง คือทำให้นามธรรมเกิด และทำให้รูปธรรมเกิด ถ้าทำให้นามธรรมเกิดก็คือ ทำให้วิบากจิตเกิด ถ้าทำให้รูปเกิดก็คือ ทำให้กัมมชรูปเกิด เพราะฉะนั้นกรรมทำให้นามรูปเกิดทั้งสองอย่าง ถ้าพูดถึงจิต หลังจากปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว นี่พูดถึงฝ่ายนาม ไม่พูดถึงรูป ภวังคจิตเกิด เพราะว่ากรรมไม่ได้ทำให้เพียงปฏิสนธิจิตเกิดเท่านั้น ขณะเดียวไม่พอที่จะเป็นผลของกรรม น้อยมากเลย ถ้ากรรมไหนทำให้เพียงปฏิสนธิจิตเกิดก็หมดเรื่องก็แย่ แต่กรรมยังทำให้ภวังคจิตเกิดต่อจากปฏิสนธิจิต เป็นภวังค์เกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ แม้ในขณะนี้ที่เรานั่งอยู่ ระหว่างที่ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่มีการคิดนึก ภวังคจิตเกิดดับสืบต่อดำรงความเป็นบุคคลนี้อยู่ตลอด ภวังคจิตก็เหมือนกับกระแสน้ำซึ่งไหลอยู่ตลอดเวลา เกิดดับๆ จนกว่าจะมีอารมณ์กระทบตา วาระจิตที่เห็นก็เกิด จะเกิดโลภะ โทสะ โมหะ อะไรก็แล้วแต่ แล้วก็เป็นภวังค์ต่อไป เกิดดับสืบต่อจนกว่าจะถึงวาระที่เสียงกระทบหู ก็มีการได้ยิน ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้ก็เป็นผลของกรรม ให้ทราบว่ากรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับไป แล้วกรรมก็ทำให้ภวังคจิตเกิดดำรงภพชาติสืบต่อจากปฏิสนธิ แล้วกรรมก็ทำให้มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แสดงว่าส่วนหนึ่งของชีวิต เราเกิดมาเป็นผลของกรรม เพราะเหตุว่า ถ้าเราเกิดมาเป็นภวังคจิตอยู่เรื่อยๆ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่เดือดร้อนเลยใช่ไหม เหมือนท่อนไม้ก็เหมือน ขยับเขยื้อนก็ไม่ได้ ถ้าเป็นภวังคจิต จะลุกเดินไปไหนไม่ได้เลยทั้งสิ้น เหมือนคนที่นอนหลับสนิท นั่นคือภวังคจิต นอนนิ่งๆ ขยับเขยื้อนไม่ได้เลย จะมีการขยับเขยื้อนขณะใด ขณะนั้นไม่ใช่ภวังคจิต ให้ทราบได้เลย ว่าจะต้องเป็นการรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด อย่างเวลาที่เราฝันร้าย อาจจะมีการร้องเสียงดัง หรือขยับมือขยับเท้า ขณะที่กำลังฝันนั้นก็ไม่ใช่ภวังค์จิต ถ้าเป็นภวังคจิตคือ ไม่มีการรู้อารมณ์อื่นทางตาหูจมูกลิ้นกาย การที่เราจะรู้อารมณ์อื่นนอกจากภวังค์ ก็เพราะกรรมอีกนั่นแหละ ที่ทำให้เราต้องเห็นสิ่งนั้นบ้าง สิ่งนี้บ้าง แสดงให้เห็นว่ากรรมนี้มากมายเหลือเกิน กรรมที่ทำให้เกิดเป็นปฏิสนธิ เป็นผลของกรรม ก็กรรมหนึ่ง และกรรมที่ระหว่างที่เกิดมายังไม่ตายก็ทำให้เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ก็เป็นแต่ละกรรมๆ ซึ่งเราไม่สามารถจะรู้ได้เลยว่า ขณะนี้เป็นผลของกรรมอะไร และต่อไปจะเป็นผลของกรรมอะไร แต่ให้ทราบว่า มีตาสำหรับเป็นผลของกรรม มีหูก็เป็นผลของกรรม มีจมูกมีลิ้นมีกายพวกนี้เป็นผลของกรรมทั้งหมด เพื่อให้วิบากจิตเกิดขึ้นเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส
ผู้ฟัง ในฐานะที่ได้เกิดมาแล้ว ท่านอาจารย์เคยพูดเสมอว่า ถ้าการเกิดที่เป็นมนุษย์ก็ถือว่าเป็นผลของกุศล ทุกคนเวลานี้เมื่อได้ฟังธรรมต่างก็มีจิตน้อมน้าวที่จะมุ่งไปสู่ที่สุดของสังสาระ แต่กว่าจะถึงที่สุดของสังสาระได้ ก็คงจะเป็นเวลาอีกนานแสนนาน พูดถึงการสะสม ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ถ้าพูดกรรม และผลของกรรม เราก็น่าจะได้มีการพิจารณาถึงการกระทำที่เป็นบุญ และบาป ให้มันเกิดความรู้สึกว่า ในชีวิตประจำวัน ถ้าเรายังมีการกระทำในสิ่งที่เป็นบาปอยู่ โอกาสที่จะได้กลับมาเกิดมาเป็นมนุษย์คงจะแสนยาก เพราะฉะนั้นก็จึงมีการพูดว่า ควรเจริญกุศลทุกประการ การเจริญกุศลทุกประการก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา บางทีเราอยากจะทำสิ่งที่ดี แต่บางครั้งก็ทำไม่ได้ มันก็เลยกลายเป็นว่า เป็นเพียงความคิดเฉยๆ ถ้าสมมติว่าเราตั้งใจจะทำแล้วก็มีการสะสมมาในอดีตที่จะนำไปสู่การทำดี การทำดีนั้นก็สำเร็จได้ แต่ถ้าสมมติว่าในอดีตหรือว่าสิ่งที่เราเคยสะสมมาเป็นการกระทำที่ไม่ค่อยจะเป็นประโยชน์หรือเป็นบาป ถึงแม้อยากจะทำ ก็ะทำได้ไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้นก็ท่านอาจารย์จะให้คำแนะนำยังไงบ้างไหม
ท่านอาจารย์ ไม่มี มีแต่เรื่องให้เข้าใจ ให้เข้าใจให้ถูกต้องตามความเป็นจริง แนะนำไม่มีประโยชน์เท่ากับให้เข้าใจ แนะนำแล้วทำได้หรือทำไม่ได้ แนะนำก็คือคำแนะนำเท่านั้นเอง แต่ถ้าให้เข้าใจ ก็จะเป็นปัญญาของคนนั้นเอง เรากำลังจะเข้าใจสิ่งที่แต่ละคนฟังแล้วก็สงสัย ถ้ายังไม่เข้าใจชัดก็ถามกันอีก ให้เข้าใจชัดเจนไปช้าๆ ทีละเล็กทีละน้อย เพราะว่าเราจะเข้าใจทุกอย่างภายในวันเดียวเป็นไปไม่ได้ แต่ว่าคุณสุกลอยากจะหมดสังสารวัฎแน่หรือ
ผู้ฟัง นี้ก็คงเป็นเพียงความคิด
ท่านอาจารย์ ไม่ควรจะคิดง่ายๆ ว่า อยากจะหมด ในเมื่อความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น ต้องเป็นคนตรงๆ จริงๆ เราเพียงแต่เรียน ศึกษาธรรมเพื่อให้เข้าใจถูก สิ่งที่สำคัญที่สุดอย่าไปขวนขวายจะดับสังสารวัฏฏ์หรืออะไร เกินสติปัญญา เกินความสามารถ ที่ว่าปัญญาแค่นี้เองจะไปดับสังสารวัฏฏ์ได้ยังไง ดิ้นรนขวนขวายไปก็เป็นแต่เพียงนึกคิดว่า อยากจะหมด อยากจะดับ ในเมื่อจริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้น จริงๆ ก็คือว่ายังไม่รู้อะไร แล้วก็ศึกษาให้เข้าใจขึ้น แล้วปัญญาก็จะทำกิจของปัญญา ไม่ต้องเดือดร้อนใจใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเรื่องที่ว่าอบรมเจริญเหตุคือปัญญาก่อน
ผู้ฟัง หนทางที่จะนำไปสู่การดับสังสาระนี้
ท่านอาจารย์ ยังไม่ดับ เพราะว่ายังไม่เข้าใจ เข้าใจสิ่งที่กำลังมีแล้วค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปเอง เราทุกคนในนี้จะบอกว่าอยากจะดับสังสารวัฏฏ์ เหมือนกับหลอกตัวเอง เดี๋ยวก็ออกไปสนุก เดี๋ยวก็เอาไปรับประทานอาหาร เดี๋ยวก็ทำอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็จะมานั่งคิดว่าจบสังสารวัฏฏ์ เหมือนกับว่าคนอื่นเขาดับกันไปแล้ว เราก็เลยอยากจะดับบ้าง เหมือนแฟชั่นหรืออะไรอย่างนี้ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้น ใครเขาดับได้ เพราะปัญญาของเขาเจริญถึงขั้นที่เห็นประโยชน์ แล้วก็พร้อมแก่การที่จะดับได้ แต่สำหรับเราขั้นกระเตาะกระแตะแล้วก็อยากไปดับสังสารวัฏฏ์ นี้มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะฉะนั้นอย่าพูดง่ายๆ หรือว่าคิดง่ายๆ ว่า เราอยากจะเป็นอย่างนั้น หรือเราอยากจะทำอย่างนี้ เพราะมันง่ายเกินไป เหมือนกับความฝัน หรือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไกลเกินไป เอาสิ่งที่เป็นไปได้ในชีวิตจริงๆ คือขณะนี้ เราไม่รู้เรื่องอะไร เราก็พยายามฟังศึกษาให้เข้าใจเรื่องนั้นขึ้น และเมื่อเป็นปัญญา ปัญญาเขาก็จะทำหน้าที่ของปัญญา แต่ถ้าปัญญาไม่เกิดจะเอาอะไรไปทำหน้าที่ของปัญญา โลภะทำหน้าที่ของปัญญาไม่ได้เลย จริงๆ ดิฉันไม่ค่อยอยากจะได้ยินว่า อยากจะดับสังสารวัฏฏ์ เพราะรู้ว่ามันไม่จริง
ผู้ฟัง สถานที่เก็บกรรม รู้สึกว่ากรรมนี้ลอยๆ อยู่ แต่ท่านอาจารย์บอก มีสถานที่เก็บกรรม ก็ยังไม่แน่ใจ
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วกรรมไม่ใช่รูปเลย จะลอยก็ไม่ได้แน่ แต่ กรรม หมายความถึงกระทำ การกระทำได้แก่ เจตนา ภาษาไทยใช้คำว่า เจต-ตะ-นา แต่ว่าจริงๆ แล้วภาษาบาลีใช้คำว่า เจ-ตะ-นา ภาษาบาลีไม่ได้อ่านว่าเจต-ตะ-นา เพราะไม่ใช้ตัว ต เป็นตัวสะกด อ่านว่า เจ-ตะ-นา หมายความถึงสภาพธรรมที่จงใจ ตั้งใจ เจตนานี้มี ๒ อย่าง จงใจหรือตั้งใจที่เป็นกุศลอย่างหนึ่ง จงใจหรือตั้งใจที่เป็นอกุศลอย่างหนึ่ง อย่างเราตั้งใจที่จะถวายทาน ขณะนั้นเป็นกุศลเจตนา ตั้งใจที่จะสงเคราะห์คนพิการหรือว่าคนไร้ญาติขาดมิตร คนป่วย คนขัดสน ขณะนั้นเป็นกุศลเจตนาทั้งสิ้น เพื่อให้คนอื่นเขาได้รับประโยชน์สุข ขณะนั้นก็เป็นความจงใจหรือเป็นความตั้งใจ เป็นนามธรรมเป็นเจตสิก ซึ่งเจตนาเจตสิกนี้ ถ้าศึกษาโดยละเอียดแล้วจะทราบว่า เกิดกับจิตทุกขณะ เจตนาซึ่งเป็นกุศลก็มี เจตนาซึ่งเป็นอกุศลก็มี เจตนาที่เป็นวิบากคือเป็นผลของกุศลอกุศลก็มี เจตนาที่เป็นกิริยาก็มี เพราะฉะนั้นฐานะหรือสภาพของเจตนานี้จะต่างกัน ตามฐานะหรือสภาพของจิต ถ้าเจตนาที่เกิดกับจิตของพระอรหันต์ ท่านก็มีเจตนาที่จะแสดงธรรมสงเคราะห์คนอื่น สนทนาธรรม แต่ว่าเจตนานั้นเป็นกิริยา หมายความว่า ไม่เป็นเหตุที่จะให้เกิดผล ถึงแม้ว่าจะเป็นฝ่ายดี ก็เป็นเจตนาที่เป็นเพียงกิริยา แต่ถ้าผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ก็จะต้องมีเจตนาทั้งที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง วิบากบ้าง เวลานี้จิตมี เจตสิกก็มี ไม่ปรากฏรูปร่างสีสันวรรณะ เสียง กลิ่นอะไรให้รู้เลยว่า นี่เป็นจิต เพราะเหตุว่าเป็นแต่เพียงธาตุรู้ ถ้าใช้คำว่า ธาตุรู้ ซึ่งเป็นนามธาตุ จะเห็นได้ว่าต่างกับรูปธาตุ มีธาตุ ๒ อย่าง ถ้าเราจะจำแนกออก คือ รูปธาตุอย่างหนึ่ง นามธาตุอย่างหนึ่ง ถ้าเราสามารถที่จะเข้าใจความต่างกันของธาตุ ๒ ธาตุ จะทำให้เราเข้าใจชัดเจนถึงธรรมที่เป็นนามธรรม เพราะว่ารูปธาตุนั้นเป็นสภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้ แม้ว่าเราจะมองไม่เห็น อย่างเสียง เสียงนี้มีจริงๆ จะไปกระทบสัมผัสจับเสียงไม่ได้เลย แต่เสียงปรากฏทางหู ให้รู้ว่าสภาพหรือธาตุนี้มี ไม่ใช่ว่าเป็นของเลื่อนลอย ไม่ใช่เป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ แต่สิ่งที่มีนี้ก็เป็นธาตุชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง แล้วเป็นธาตุฝ่ายรูปธาตุด้วย เพราะเหตุว่าไม่ใช่สภาพรู้ ต้องแยกแม้แต่ความหมายของคำว่า นามธาตุ กับ รูปธาตุ โดยศัพท์จริงๆ ว่า ถ้าเป็นรูปธาตุแล้วไม่ใช่ธาตุที่รู้อารมณ์หรือรู้อะไร แต่ถ้าเป็นนามธาตุที่เกิดดับแล้ว ได้แก่จิต และเจตสิก เจตนาความจงใจก็เหมือนกับจิตซึ่งเป็นนามธาตุ ไม่มีรูปร่าง ไม่มีลักษณะ ไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น ความจงใจตั้งใจ เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเป็นอนันตรปัจจัย ทันทีที่จิต และเจตสิกดับ จะเป็นปัจจัยให้จิต และเจตสิกขณะต่อไปเกิด เจตนาคือกรรม การกระทำที่ดับไปแล้ว ก็สืบต่อ สะสม ในจิตขณะต่อไปที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้การกระทำใดๆ ทั้งหมดที่ได้ผ่านไปแล้ว ก็สะสมสืบต่ออยู่ในจิตแต่ละขณะ ซึ่งก็เกิดดับสืบต่อกัน จึงกล่าวว่า เป็นที่เก็บที่นิรภัยที่สุด คือไม่มีอะไรที่จะไปแตะต้อง แดดลมอะไรก็แผ้วพานไม่ได้เลย เพราะเก็บอยู่ที่จิตชั่วขณะที่เกิดแล้วดับๆ ๆ เร็วเกินกว่าที่ใครจะไปกระทบสัมผัสได้ทั้งสิ้น และถึงจะกระทบสัมผัสก็ไม่ได้อยู่ดี เพราะเหตุว่าเป็นนามธรรม จึงกล่าวว่า เป็นที่เก็บที่ปลอดภัยที่สุด จิตทุกๆ ขณะเก็บกรรม ทั้งหมดเลย สืบต่อจากขณะหนึ่งไปอีกขณะหนึ่ง เป็นปัจจัยต่อกันไปเรื่อยๆ ไม่สูญหายเลย พร้อมที่ว่าสุกงอมเมื่อไหร่ให้ผลเมื่อนั้น ทำให้วิบากจิตเกิดได้ทั้งนั้นเลย เหมือนกับต้นไม้ที่มีลูก บางลูกก็อ่อน บางลูกก็แก่ แต่ว่าลูกไหนจะให้ผลเมื่อไร ฉันใด กรรมที่สะสมไว้ในจิต ก็แล้วแต่ว่าพร้อมสุกงอมเมื่อไหร่ที่จะให้ผล ก็ทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น
ผู้ฟัง งงๆ คล้ายๆ ว่า จิตดวงเดียว เก็บไว้ได้ยังไง แต่เป็นปัจจัย
ท่านอาจารย์ เกิดดับ สืบต่อกัน แลกกรรมกันไม่ได้เลย ส่งทางไปรษณีย์ก็ไม่ได้ เพราะว่าแต่ละคนก็มีจิตของตัวเองซึ่งเกิดดับสืบต่อสิ่งที่ได้กระทำแล้ว เป็นปัจจัย
ผู้ฟัง วิบากจะเกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ทางใจนี้จะไม่เรียกว่า วิบากที่เกิด ทำไมตทาลัมพนจิต ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าไม่ปรากฏเหมือนทางตาที่เห็น ทางหูที่ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่นพวกนี้ สำหรับคนที่เรียนแล้วกล่าว แต่คนที่ไม่ได้เรียนเลย มากล่าว ตทาลัมพนะ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร
ผู้ฟัง ไม่เข้าใจ เนกขัมมะ
ท่านอาจารย์ เนกขัมมะ คือ ออกจากกาม ออกจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้น มีข้อความที่กล่าวว่า เป็นเนกขัมมะ
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 2
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 3
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 4
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 5
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 6
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 7
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 8
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 9
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 10
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 11
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 12
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 13
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 14
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 15
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 16
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 17
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 18
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 19
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 20
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 21
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 22
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 23
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 24
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 25
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 26
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 27
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 28
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 29
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 30
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 31
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 32
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 33
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 34
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 35
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 36
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 37
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 38
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 39
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 40
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 41
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 42
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 43
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 44
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 45
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 46
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 47
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 48
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 49
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 50
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 51
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 52
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 53
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 54
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 55
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 56
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 57
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 58
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 59
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 60