ปกิณณกธรรม ตอนที่ 39
ตอนที่ ๓๙
สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลปากเกร็ดเวชการ
พ.ศ. ๒๕๓๗
ท่านอาจารย์ ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นเราก็ไม่ติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ การออก ออกด้วยกายได้อย่างการบวช การบรรพชาอุปสมบท ก็ออกจากเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิต ซึ่งเป็นการสละรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ให้ทราบว่า เนกขัมมะ เป็นเรื่องออกจากกามทั้งหมด จะด้วยวิธีไหนก็ได้
ผู้ฟัง เวลาที่ตาเห็นรูป แล้วก็จะต้องมีภวังคจิตคั่น แล้วอาจารย์ก็กล่าวว่า จะต้องมีมโนทวารที่ต้องรู้อารมณ์เดียวกับทางตา อันนี้ถูกไหม และถ้าสติเกิดขึ้นมา ต่อไปจากนั้น จะต้องเป็นมโนทวารที่เกิดขึ้น จะเป็นจมูกได้กลิ่นไม่ได้ จะต้องเป็นมโนทวารที่เกิดต่อจากมโนทวารอีกที จะถูกหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ขณะใดที่สติเกิด จะเกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร
ผู้ฟัง ถามว่าจะต้องต่อจากมโนทวารหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ มโนทวารก็เป็นมโนทวารอยู่แล้ว ทำไมต้องต่อ สติก็เกิดทางมโนทวารได้
ผู้ฟัง เกิดตอนที่ไปรู้อารมณ์เดียว
ท่านอาจารย์ สติจะเกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร
ผู้ฟัง ขออนุญาตเล่าถึงก่อนที่จะมาเรียนธรรมกับท่านอาจารย์ ก็ไปนั่งสมาธิ จนกระทั่ง มีความรู้สึกว่า ร่างกายของเราแหลกละเอียดบดเป็นอย่างกับหมูสับ ก็ตกใจมาก คิดว่าถึงวิปัสสนาญาณที่ ๖ แล้ว นึกว่าเห็นรูปนามนี้เป็นภัย เรียนถามอาจารย์ผู้ฝึก ท่านก็บอกว่า อย่างนี้ดีมาก ไปไกลแล้ว เพราะเห็นรูปนาม ไม่มีตัวมีตนแล้ว ดิฉันก็ร้องไห้ว่า ทำไมตัวเราแหลกละเอียดเป็นหมูสับ มานึกถึงอย่างนี้แล้วก็เข้าใจว่าการที่ไปทำอย่างนั้น มีแต่จิตที่ฟุ้งซ่าน ไม่ได้เกิดปัญญาขึ้นมาเลย ก็เลยหันมาสนใจที่ท่านอาจารย์สอน แต่ผลสุดท้ายดิฉันได้ประกาศประกาศนียบัตรมาใบหนึ่ง
ท่านอาจารย์ เห็นไหมว่าเพื่ออะไรประกาศนียบัตรนี้ มันไม่ใช่เรื่องละ และก็ไม่ใช่เรื่องรู้ เป็นเรื่องโลภะทั้งหมด
ผู้ฟัง ต้องกราบเท้าท่านอาจารย์ที่ได้สอนให้รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว แต่จะทำได้แค่ไหนนั้นก็เป็นเรื่องที่แล้วแต่บุญแต่กรรม
ท่านอาจารย์ ค่อยๆ สะสมอบรมปัญญา เป็นหน้าที่ของปัญญาทั้งหมด ถ้าปัญญาไม่เกิดต่อให้เราอยากจะเป็นอย่างนี้ก็ไม่ได้
ผู้ฟัง ดิฉันขอเรียนต่อของคุณบุศเมื่อกี้ ท่านอาจารย์บอกว่า ความคิดของตัวเองกำลังหลอกตัวเองอยู่ ตัวเองกำลังถูกหลอก ดิฉันหัวเราะมาเลย ที่ดิฉันโกรธเขา ๓ วันนี้ เป็นจากความคิดของดิฉันทั้งหมด ทั้งโทสะ ทั้งมานะ ดิฉันได้สติมาเพราะว่าได้มาเห็น มาทราบธรรมอย่างนี้ ตรงกับที่คุณบุศพูด แต่เราก็คิดว่า เพื่อนอีกหลายคนที่จะ เกิดโทสะหรือมานะขึ้นจากเหตุการณ์ต่างๆ กันนี้ อย่างดิฉันรักคุณยาย มาว่าคนที่เรารักไม่ได้ ผู้ที่ว่าเป็นผู้ที่ดิฉันอุปการ เพราะมันหนัก แต่ดิฉันไม่ได้ว่ากล่าวเขาเลย เป็นเพียงคิดอยู่ในใจ ๓-๔ วัน คิดแล้วคิดอีก คนนี้ไม่มีความกตัญญู ดิฉันจะตัดเงินเดือน คือ กุศลที่ทำไว้ ให้มันหมดไปเลย กิเลสอันนี้ พอมาได้คราวนี้ ความคิดของตัวเองคิดถึงคุณยายตั้ง ๗๐ ปีมาแล้ว จะไปโกรธเขา เขายังไม่รู้สึกตัวเลย ดิฉันก็ไม่ได้พูดเลย ก็พูดดีกับเขา แล้วเดี๋ยวนี้ดิฉันก็เลยจะให้เงินทองเขาอย่างเก่า โดยที่ดิฉันเข้าใจแล้วว่า อันนี้เป็นความคิดของดิฉันที่ดิฉันหลอกตัวเอง ขอกราบขอบพระคุณ
ท่านอาจารย์ ที่จริงแล้วจะเห็นขณะจิตที่ต่างกันมาก เวลาที่หลงโกรธ หลงคิด ๓ วัน เป็นทุกข์แค่ไหน และขณะนั้นเป็นอกุศลจริงๆ คืออกุศลทำให้เป็นทุกข์ เป็นของธรรมดา หมายความว่าเขามีเหตุปัจจัยที่จะเกิด ก็เกิด เราจะได้เห็นว่า ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ตั้ง ๓ วันไม่จบ พอบทจะจบก็เพียงข้อความนิดหน่อย แล้วขณะที่เกิดความเข้าใจขึ้น ช่างต่างกับขณะที่เป็นทุกข์ เวลาที่เป็นทุกข์ความโกรธ ขณะนั้นต้องเป็นทุกข์มากที่โกรธ คนโกรธจะชื่อว่าสุขไม่ได้ เพราะเหตุว่าขณะนั้น มีการเผาผลาญสภาพของจิต จิตใจถูกเผาผลาญ แม้แต่ที่เกิดของจิตก็ถูกเผาผลาญด้วย หทยวัตถุก็ถูกบีบคั้น เพราะเหตุว่า เป็นสภาพที่เป็นทุกข์จริงๆ ตรงกันข้ามกับขณะที่หมดทุกข์ หมดเรื่องคิด และเกิดความเข้าใจขึ้น นี่คือผลที่พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณา ไม่ว่าหลังจากปรินิพพานไปนานสักเท่าไหร่ก็ตาม พระธรรมก็ยังเกื้อกูลบุคคลผู้เข้าใจ และประพฤติธรรมให้มีความสุข ขณะใดที่เราเป็นทุกข์มากๆ สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้ชั่วขณะ รู้แล้วว่าขณะนั้นไม่มีเรา เป็นแต่สภาพธรรมอย่างหนึ่ง นี่คือช่วยให้ทุกคนพ้นทุกข์ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคจะช่วยให้ทุกคนพ้นทุกข์นี้ตามลำดับขั้น แม้เพียงการอ่านพบ แล้วก็มีการตรึกระลึกได้ ขณะนั้นก็ช่วยให้พ้นทุกข์แล้ว แต่ก็ยังมีความเป็นเรา ถ้าจะช่วยพ้นทุกข์ได้จริงๆ เมื่อปัญญาเกิดขึ้น และเห็นความจริงว่า ไม่ใช่เรา จะเบาบางกว่านั้นไปอีกสักแค่ไหน ซึ่งแต่ละคนนี้ ก็คงจะถึงจุดนั้นวันหนึ่ง
ผู้ฟัง เกี่ยวกับเรื่องของ รูป เวลาที่เรามีการสังเกตว่า รูปทางตา มีลักษณะคือเป็นสี โดยที่ยังไม่ต้องไปคิดว่าเป็นสีใดสีหนึ่ง แต่ว่าสีที่ว่าปรากฏนั้น ขณะนี้มันเป็นการคิดนึกมากกว่าที่สติจะเกิดระลึกมีการพิจารณาว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นรูป เสียงที่ปรากฏทางหู เป็นรูป กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก เป็นรูป ถ้าสมมติว่าขณะที่สติยังไม่เกิด มันก็ต้องเป็นไปกับความคิดทั้งหมดเลย ท่านอาจารย์คิดว่า สิ่งที่จะช่วยให้เราเข้าใกล้กับสภาพของปรมัตถธรรมนี้ จะมีการพิจารณาหรือว่าสังเกตอย่างไร
ท่านอาจารย์ คือเมื่อกี้นี้ที่ว่า พอเห็นก็เป็นสีต่างๆ ความจริงดูเหมือนว่า เราก็ไม่นึกถึงสี ด้วยซ้ำไป เวลาเห็นนี่ไม่ได้นึกถึงสีเลย เห็นเท่านั้นใช่ไหม เรานึกหรือเปล่าว่า เรากำลังเห็นสี แต่มีเห็นแน่ๆ แล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แต่เราไม่เคยรู้จักเลยว่า สิ่งที่ปรากฏให้เห็น จริงๆ แล้วคืออะไร นี่คือสิ่งซึ่งอวิชชามีอยู่ตั้งแต่เกิด เพราะเหตุว่าเมื่อเห็นก็ไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏจริงๆ เวลานี้ใครจะมาบอก หรือว่าจะถามกันว่า สิ่งที่ปรากฏตา ทั้งๆ ที่กำลังมีอยู่เวลานี้ แล้วก็เป็นอะไร ก็บอกว่าเป็นสี ก็เลยรู้สึกว่า มีสีต่างๆ แต่บอกว่า นึกถึงสี ก็คิดถึงสีต่างๆ ที่กำลังปรากฏ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ก็มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น นี่เป็นของที่แน่นอนที่สุด ขณะนี้ เราเป็นคนที่เหมือนกับว่ายังไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น กำลังเริ่มที่จะรู้ และก็รู้ด้วยตัวเราเองจริงๆ ค่อยเข้าใจจริงๆ ว่า ในขณะนี้ที่เห็น มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แค่นี้ ยังไม่ต้องนึกถึงคำว่า สี ยังไม่ต้องนึกถึงคำว่า รูปร่างสัณฐานหรืออะไรเลย แต่เวลานี้สิ่งที่ปรากฏให้เห็น นี้ถูกไหม สำหรับทุกคนที่กำลังเห็น แค่นี้ก่อน ยังไม่นึกถึงสี ไม่นึกถึงแสง ไม่นึกอะไรทั้งนั้น มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ต้องเป็นของจริง เราไม่ได้ฝัน หรือเราไม่ได้นึก แต่ว่ามีสิ่งที่ปรากฏจริงๆ ให้เห็น แต่ไม่รู้จัก ไม่เข้าใจสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เพราะว่ายากมากที่จะเข้าใจให้ตรงจริงๆ ว่า เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นตาเท่านั้น ที่จะละความยึดถือว่าเป็นคน เป็นวัตถุ เป็นโลก เป็นดาว เป็นพระอาทิตย์ เป็นอะไร ยากเหลือเกิน เพราะเหตุว่า ในความรู้สึกหรือในความทรงจำของเรา พอเห็น ตั้งแต่เล็กมา เราก็ค่อยๆ เริ่มรู้จักสิ่งที่ปรากฏโดยรูปร่างสัณฐานต่างๆ จนกระทั่งมันฝังลึกอยู่ในใจของเราว่า มีสิ่งต่างๆ เหล่านั้นแน่นอน นี่คือสิ่งที่เก็บไว้ในหัวใจ ในจิตในใจ สืบต่อกันมาเรื่อยๆ แม้จนในขณะนี้ ไม่ใช่แต่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว ชาติก่อนก็อย่างนี้แหละ แล้วชาติก่อนก็ไม่ใช่ชาติเดียว ชาติก่อนๆ ก็อย่างนี้แหละ ที่จะให้เห็นว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ที่มีจริงนี้ เราควรจะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง คำว่า ถูกต้อง ที่นี่ก็คือว่า เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง มีจริงๆ แล้วก็ปรากฏเมื่อกระทบกับตา คือจักขุประสาทเท่านั้นเอง สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้จึงปรากฏได้ มิฉะนั้นแล้วไม่มีทางเลย นึกถึงคนตาบอด ไม่มีทางเลยที่จะเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เพราะอะไร เพราะไม่มีจักขุปสาท สำหรับเขา สิ่งที่กำลังปรากฏตาในขณะนี้ไม่มี สำหรับเราก็เหมือนกัน ถ้าเกิดตาบอดในขณะนี้ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ก็ไมมี แต่เพราะตาไม่บอด กรรมทำให้จักขุปสาทเกิดแล้วก็ดับ แม้ว่าจะเร็วสักเท่าไหร่ก็ตาม กรรมก็ยังทำให้จักขุปสาทเกิดอีก ดับอีก อยู่เรื่อยๆ เพื่อกระทบกับสิ่งที่สามารถกระทบกับจักขุปสาทได้ ซึ่งหมายความถึงสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ปรากฏเพราะกระทบกับตา จึงได้ปรากฏ นี่คือความจริงซึ่งสั้นมาก และก็เร็วมาก ที่จะรู้ว่า แท้ที่จริงแล้ว ลักษณะนี้เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏเมื่อกระทบจักขุปสาท ก็ต้องฟังไปจนกว่าความเข้าใจจะเพิ่มขึ้นจริงๆ จากขั้นฟัง และพิจารณาว่า จริงนะ สิ่งที่กำลังปรากฏตาในขณะนี้ ปรากฏแล้วเราก็นึกเอา นึกเป็นคนนั้น นึกเป็นคนนี้ นึกเป็นสถานที่นั้น นึกเป็นสถานที่นี้ จากสิ่งที่ปรากฏทางตา แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานี้ เป็นอย่างหนึ่ง แล้วความคิดนึกของเราเป็นอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเราทุกคนจะหลับตาเวลานี้ เราก็นึกเรื่องอะไรก็ได้ทั้งหมด แต่จะไม่ปรากฏเหมือนกับสิ่งที่ปรากฏในขณะนี้ เพราะฉะนั้นต้องแยกให้ออก สภาพธรรมแต่ละขณะจิต คือ ชั่วหนึ่งขณะซึ่งเกิดแล้วก็ดับ ซึ่งพระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านต้องประจักษ์ ถ้าท่านไม่ประจักษ์แล้วก็เหมือนกับปุถุชนธรรมดา ซึ่งเห็นแล้วก็ยังเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ยังไม่สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ เราก็ต้องฟังแล้วฟังอีก ฟังไปจนไม่รู้จะเบื่อหรือไม่เบื่อ สิ่งที่ปรากฏทางตา ปรากฏเพราะกระทบกับจักขุปสาท ชั่วเวลาเล็กน้อย และก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งจริงๆ เพียงปรากฏทางตา หน้าที่ของการอบรมเจริญปัญญา ก็คือว่า ค่อยๆ ทิ้งความเป็นสัตว์ บุคคล หรือความคิดนึก จากสิ่งที่กำลังปรากฏว่า คนละขณะ ความคิดนึกก็จริงว่า มีคน มีสัตว์ เป็นความคิดนั้นจริง แต่ไม่ใช่ขณะเห็น ต้องแยกออก สภาพธรรมที่เป็นจริงขณะเห็นก็คือเห็น หลังจากนั้นก็คือคิดนึก ไม่ใช่ว่าไม่มีการคิดนึก มีการคิดนึกหลังเห็น เพราะไม่แยก จิตซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอย่างเร็วมากก็ทำให้มีความทรงจำว่ายังมีตัวตน มีสัตว์ มีบุคคลอยู่ แต่ถ้าแยกออกเป็นจิตแต่ละขณะ ซึ่งเกิดขึ้นรู้อารมณ์ (คือสิ่งที่ปรากฏให้จิตรู้) ทีละลักษณะเท่านั้นเอง แล้วก็ดับไป ก็ไม่มีอะไรเหลือ ถ้าประจักษ์จริงๆ ว่า ขณะเมื่อกี้นี้ก็ดับแล้ว ขณะที่เห็นในขณะนี้ก็กำลังดับ ขณะที่ได้ยินนี้ก็ดับ จะมีอะไรเหลือ นอกจากว่ามีเหตุปัจจัยทำให้สภาพธรรมเกิดอีก แล้วปรากฏสั้นๆ แล้วก็ดับไป
ผู้ฟัง เคยได้ฟังการสนทนาบอกว่า สภาพธรรมที่ปรากฏนั้นจะปรากฏต่อเมื่อเป็นสติปัฏฐาน แต่จริงๆ แล้ว ถ้าเป็นสภาพธรรมก็ไม่ต้องไปรอให้เป็นสติปัฏฐาน หรือไม่เป็นสติปัฏฐาน หมายความว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏก่อนที่จะเป็นการคิดนึก แล้วเป็นเรื่องเป็นราวต่อไป อย่างนั้นใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ถ้าใช้คำว่า สภาพธรรม หมายความว่า ต้องมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มีภาวะ ซึ่งเป็นธรรม ภาวะซึ่งเป็นธรรมก็คือว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ใคร แต่เป็นธรรม เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งมีจริงๆ ถ้าใช้คำว่า สภาวธรรม หรือ สภาพธรรม ก็หมายความถึง สิ่งที่มีจริง และสิ่งที่มีจริงนั้นก็มีลักษณะปรากฏให้รู้ได้ว่าสิ่งนั้นมี อย่างถ้าเราพูดถึงเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา มีสภาวะลักษณะปรากฏให้เห็น นี่คือสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่ว่าเราพูดถึงสิ่งที่ไม่มี แล้วต้องไปนั่งค้นคว้าหาที่ไหน สภาวธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ถ้าเราเชื่อว่า เราเกิดมาจริงๆ มีตาจริง มีหูจริง มีจมูกจริง มีลิ้นจริง มีกายจริง มีใจจริง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นธรรมทั้งหมด แม้แต่เสียงก็เป็นธรรม กลิ่นก็เป็นธรรม ชีวิตจริงๆ ทั้งหมด ถ้าไม่มีธรรมหรือสภาวธรรมเกิดขึ้นปรากฏ และจะมีไม่ได้เลย ทุกอย่างเป็นธรรมแต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม ธรรมก็ยังคงเป็นธรรม ใครจะรู้หรือไม่รู้ ธรรมจะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ จิตเป็นจิต คือเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตาคือเห็น ทางหูคือได้ยิน ทางจมูกคือได้กลิ่น ทางลิ้นคือลิ้มรส ทางกายคือกระทบสัมผัส ทางใจคือคิดนึก นี่คือ สิ่งที่มีจริง สภาพของจิตเป็นอย่างนี้ ใครจะรู้หรือไม่รู้ จิตกำลังทำงานคือเห็นในขณะนี้ จิตกำลังทำงานคือได้ยินในขณะนี้ นี่คือสภาวะ นี่คือธรรม ซึ่งใครจะรู้หรือไม่รู้ สภาพธรรมก็เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าเพราะความไม่รู้ของเราจึงไปเปลี่ยนแปลงสภาพธรรม ไม่ใช่ สภาพธรรมเป็นสภาพธรรมอยู่เสมอ แล้วแต่ว่าปัญญาจะเกิดขึ้นรู้ความจริงสภาพธรรมหรือไม่รู้ว่าเป็นธรรม
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์เคยกล่าวเสมอว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป รูปธรรมที่ปรากฏก็ดับ นามธรรมคือจิตที่รู้ก็ดับ ทำให้ผู้ฟังส่วนมากคิดว่า มันดับจริงๆ หรือเปล่า ก็ไปเลยพยายามที่จะสังเกตว่า คำว่า สภาพธรรมที่เกิดดับนี้ เกิดดับอย่างไร แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ความรู้ที่ควรจะเป็นไปตามลำดับ ควรจะเป็นการรู้อะไรก่อน ถึงจะเป็นการรู้เรื่องเกิดดับ
ท่านอาจารย์ คือเวลานี้ ฟังแล้วเข้าใจจริงๆ หรือเปล่าว่า สภาพธรรมเกิดดับ ยังไม่ต้องไปประจักษ์แจ้ง เพียงแต่พิจารณาจริงๆ ว่า ถ้าเราย่อชีวิตจากชาติหนึ่ง มาเหลือเพียง ขณะจิตเดียว ทีละหนึ่งขณะ นี้ถูกหรือผิด คือคิดถึงชีวิตเราว่า ยาวมาก เป็นหลายปี แล้วก็มาเป็นหลายเดือน เป็นหลายวัน เป็นหลายนาที เป็นหลายวินาที ย่อให้สั้นลงกว่านั้นอีกก็คือว่า ชั่วขณะจิตเดียวจริงๆ เพราะเหตุว่าสภาพรู้หรือธาตุรู้คือจิต เกิดขึ้นจึงรู้ ถ้าจิตไม่เกิดจะมีการรู้อะไรไหม ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นเห็น การเห็นก็ไม่มี ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นได้ยิน การได้ยินก็ไม่มี ต้องทราบลักษณะของสภาพธรรมว่า สภาพธรรมที่เราพูดบ่อยๆ ว่าเป็นปรมัตถธรรมเป็นสภาพธรรมที่มีจริง และใครก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมได้ สภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมมี ๔ อย่าง คือ ๑. จิต ๒. เจตสิก ๓. รูป ๔. นิพพาน แค่ ๔ แต่เราต้องเข้าใจให้ชัดเจน ให้ถูกต้องว่า จิตซึ่งเป็นสภาพรู้นี้ เกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ สภาพรู้ ลักษณะรู้ของธาตุรู้ อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ สำหรับแต่ละคน จะมี ๒ ขณะซ้อนกันไม่ได้เลย จิตแต่ละคนก็คือจิต ๑ ขณะ หรือ ๑ ดวง ๑ ประเภท เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป การดับไปของจิตขณะก่อน ก็เป็นปัจจัยทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น ที่เรานั่งอยู่ที่นี่ ที่เรายังไม่ตาย เพราะจิตขณะก่อน ดับ แล้วก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด จิตขณะต่อไปนั้นก็ดับ แล้วจิตขณะนั้นก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อๆ ไปนั้นเกิด ทีละ ๑ ขณะจริงๆ เข้าใจจริงๆ อย่างนี้ไหม ถ้าเข้าใจจริงๆ ก็ไม่มีข้อสงสัยเรื่องจิตเกิดขึ้นแล้วดับไป การฟังธรรมนี้จะไม่พ้นจากเรื่องจิต เจตสิก รูป จะไม่พ้นจากสภาพธรรรมในขณะนี้ เราจะฟังมากน้อยอย่างไรก็คือเรื่องของจริง ซึ่งการฟังแต่ละครั้งก็จะทำให้มีการพิจารณา แยบคายขึ้น ละเอียดขึ้น ค่อยเข้าใจขึ้น แม้ในขั้นการฟัง ความเข้าใจก็เพิ่มขึ้น แล้วเมื่อความเข้าใจขั้นฟังเพิ่มขึ้น ก็ไม่ต้องเป็นห่วง เรื่องของสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งที่จะทำให้สติระดับขั้นต่อไปเกิดขึ้น แต่ว่าต้องอาศัยการฟัง การที่ใครจะประจักษณ์ลักษณะที่เกิดดับของจิต เจตสิก รูปจริงๆ ต้องเพราะปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาแล้วไม่มีทาง ฟังนิดเดียวแล้วพยายามให้ประจักษ์การเกิดดับของจิต เป็นไปไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับความเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ว่าเป็นธรรม แล้วต้องเข้าใจละเอียดขึ้น จนกระทั่งเห็นจริงๆ ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง แล้วก็จะไม่มีเราในขั้นของการฟัง แต่ว่าจะต้องประจักษ์แจ้งถึงการเกิดดับของจิต ในวันหนึ่ง ซึ่งต้องประจักษ์แจ้งได้เพราะว่าจิตกำลังเกิดดับ แต่ที่ยังไม่ประจักษ์แจ้ง ก็เพราะเหตุว่า ความรู้เรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป เรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏยังไม่พอ ยังน้อยมาก เพราะฉะนั้นก็ฟังต่อไปจนกว่าจะเข้าใจขึ้น
ผู้ฟัง การศึกษาในพระพุทธศาสนา ผมสังเกตแล้วว่า ถ้าเรามีความเข้าใจ โดยการศึกษาก่อน ก็จะนำไปสู่การคิด การพิจารณา แต่โดยปกติแล้ว ชีวิตของเราอยู่กับความคิดตลอดเวลาเลย จะสังเกตว่าเวลาที่บอกว่า สติระลึก มักจะคิดมากกว่าที่จะเป็นการระลึก อันนี้ผมไม่ทราบว่าสำหรับท่านอื่นจะเป็นอย่างนี้หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ยังไม่ต้องรีบระลึกก็ได้ เอาเข้าใจ เพราะว่าโดยมาก ถ้าไปที่อื่นก็จะบอกว่า ให้ทำสติ ให้นั่ง ให้รู้ให้ได้ ให้ประจักษ์การเกิดดับ แต่นั้นไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย เพราะเหตุว่า คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นไปตามลำดับขั้น คือขั้นฟัง ฟังให้เข้าใจซะก่อน ให้เข้าใจจริงๆ แล้วก็ให้เข้าใจถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมทั้งหมด สัพเพ ธัมมา อนัตตา ไม่เว้นเลย ไม่มีใครสามารถจะบังคับบัญชาสภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดได้ ไม่มีใครสามารถที่จะสร้าง หรือทำให้สภาวธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้นได้ สิ่งที่เราเคยยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นใจเรา ไม่ใช่ของเราเลย แต่เพราะความไม่รู้ จึงคิดว่า เป็นของเรา ใจเราทำไมบังคับไม่ได้ บังคับให้ฉลาด ให้มีสติ ให้มีปัญญา ก็บังคับไม่ได้หมด
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 2
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 3
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 4
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 5
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 6
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 7
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 8
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 9
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 10
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 11
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 12
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 13
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 14
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 15
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 16
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 17
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 18
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 19
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 20
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 21
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 22
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 23
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 24
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 25
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 26
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 27
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 28
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 29
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 30
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 31
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 32
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 33
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 34
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 35
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 36
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 37
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 38
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 39
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 40
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 41
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 42
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 43
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 44
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 45
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 46
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 47
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 48
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 49
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 50
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 51
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 52
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 53
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 54
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 55
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 56
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 57
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 58
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 59
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 60