ปกิณณกธรรม ตอนที่ 44


    ตอนที่ ๔๔

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔


    ผู้ฟัง ต้องรู้ด้วยหรือเปล่าว่า เป็นนามธรรมอะไร

    ท่านอาจารย์ ลักษณะนั้นเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นไม่เปลี่ยน แต่รู้ว่าไม่ใช่เรา เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อรู้ว่าไม่ใช่เราอีก ก็เป็นรู้

    ท่านอาจารย์ ในขณะที่รู้ว่าธรรมก็รวมอยู่แล้ว แต่ว่ามันไม่ใช่เรา ถึงได้เป็นธรรม

    ผู้ฟัง ๓ อย่างเลยหรือ

    ท่านอาจารย์ อย่างเดียว ขณะที่รู้ว่าเป็นธรรมนั่นแหละคือรู้ว่าไม่ใช่เรา ถ้าไม่รู้ว่าเป็นธรรมคือ เป็นเรา แต่พอรู้ว่าเป็นธรรมจะเราได้อย่างไร

    ผู้ฟัง คือไม่มีตัวตน

    ท่านอาจารย์ ไม่มีได้ยังไง ไหนใครรู้ว่าไม่มี

    ผู้ฟัง ก็อย่างที่อาจารย์ว่า

    ท่านอาจารย์ ใครรู้ว่าไม่มี ก็ยังเป็นเราเข้าใจ เพราะฉะนั้นไม่ได้ลดอะไร ยังเป็นเราที่เข้าใจ

    ผู้ฟัง ยังเป็นเราอยู่

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องยังเป็นเราอยู่ จะไปลดอะไรก็ยังเป็นเราอยู่

    ผู้ฟัง จะไปลดว่าเป็นรูป

    ท่านอาจารย์ นั้นเราคิด คิดว่าเป็นรูป แต่ไม่ได้ประจักษ์ลักษณะของรูปว่าเป็นรูป เพียงแต่คิดว่าเป็นรูป

    ผู้ฟัง เรื่องความสุขกับความทุกข์ คิดอย่างไรถึงมีความทุกข์ คิดอย่างไรถึงมีความสุข ผมไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ คิดดีเป็นกุศลก็เป็นสุข คิดไม่ดีเป็นอกุศลก็เป็นทุกข์

    ผู้ฟัง คือเราคิดขึ้นมาถึงมีความสุข คิดถึงมาถึงมีความทุกข์ หรือ

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใช่ความรู้สึกที่เป็นเวทนา เพราะว่าบางทีเราอาจจะสนุก และอาจจะชอบ แต่ขณะนั้นเป็นอกุศล เวลาที่เราพูดเรื่องคนอื่น สนุกมาก สบาย ชอบพูดเป็นอกุศล เพราะฉะนั้นโลภะ เกิดกับความรู้สึกโสมนัสก็ได้ เกิดจากความรู้สึกอุเบกขาเฉยๆ ก็ได้

    ผู้ฟัง ตอนที่เราหลับสนิท บางครั้งก็ฝันร้าย บางครั้งก็ฝันดี ถ้าฝันดีพอตื่นขึ้นมาก็อยากจะฝันต่อ

    ท่านอาจารย์ โลภะ รู้จักโลภะรึยัง นั้นแหละโลภะ ฝันดีแล้วอยากให้ฝันดีต่อคือโลภะ โลภะดีหรือไม่ดี

    ผู้ฟัง เกี่ยวกับจิตไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ถ้าไม่มีจิต เจตสิกก็เกิดไม่ได้ ความรู้สึกก็เกิดไม่ได้ ความติดข้องก็เกิดไม่ได้ มีจิตกับเจตสิก ๒ อย่างเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน

    ผู้ฟัง เราสนทนาธรรมเพื่อให้เกิดความรู้กันทุกๆ คน โทษของความโกรธ โทษของโลภะ เมื่อยังมีชีวิตอยู่ โทษอย่างไรบ้าง และเมื่อตอนเราตาย โทษเป็นอย่างไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ เวลาโทสะเกิดไม่สบายใจหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่สบายใจ

    ท่านอาจารย์ และถ้าโกรธมากๆ อาจจะไปทำร้ายคนอื่นได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ เวลาโลภะเกิดก็มีความติดข้อง มีความต้องการ อยากจะได้แล้วไม่ได้ หรือว่าเมื่อได้มาแล้วก็ต้องรักษาอย่างดี กลัวว่าจะสูญหาย เหนื่อยไหม ถ้าไม่มีเลย สบายไหม สมบัติที่มีมากๆ ติดไว้มากๆ ถ้าไม่มีเลย สบายหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่สบาย

    ท่านอาจารย์ สบายหรือไม่ ถ้าไม่มีเลย

    ผู้ฟัง ขอเอาตอนที่ตาย

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ ตอนที่ยังไม่ตาย เราก็พูดถึงโทษของโลภะ โทสะตอนที่ยังไม่ตาย คือเดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง โทสะเกิดก็เกิดความไม่สบายกายไม่สบายใจ

    ท่านอาจารย์ โลภะเกิดครั้งหนึ่งแล้วดับไป โทสะเกิดครั้งหนึ่งแล้วดับไป แต่สะสมสืบต่อในจิตต่อๆ ไป จนกระทั่งทำให้คนเรามีอุปนิสัยต่างกัน บางคนก็โลภมากติดข้องมาก เห็นอะไรก็อยากได้หมด คนที่โทสะมาก เห็นอะไรก็ไม่ชอบใจ ทุกอย่างขวางหูขวางตาไม่ถูกใจสักอย่าง ไม่ใช่ตัวเอง แต่เป็นคนอื่นก็ยังไม่ชอบ คนนั้นใส่ต่างมหู ๒ ข้าง ๓ อันหรืออะไรก็แล้วแต่ ก็ไปไม่ชอบคนอื่นด้วย ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ตัวเอง แล้ววันหนึ่งๆ ความไม่ชอบตัวเราเองมากไหม ผมเป็นยังไง เล็บเป็นยังไง ยาวไปอะไรไป ทุกสิ่งทุกอย่าง ก็เป็นเรื่องของการที่จะเกิดความไม่สบายใจ แม้ในชาตินี้ ชาติหน้าต่อไป ก็สะสมความเป็นบุคคลอย่างนี้ อัธยาศัยก็ต่างกันไป บางคนก็ตระหนี่ บางคนก็ริษยา บางคนก็โลภะมาก บางคนก็โทสะมาก นี่คือโทษของอกุศลในชาตินี้ และถ้าถึงขั้นทำอกุศลกรรมมีการฆ่าสัตว์ มีการเบียดเบียน มีทุจริตกรรม ก็ทำให้เกิดในอบายภูมิคือภูมิที่ไม่มีความเจริญทางธรรม ทำให้เกิดเป็นสัตว์ เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เกิดในนรกได้

    ผู้ฟัง มีคำถามเรื่องกรรม และผลของกรรม ยกกรณีตัวอย่างว่า สมมติว่าผมถูกทำร้าย และได้รับบาดเจ็บ ผมได้รับกรรม แต่ผู้ที่มาทำผม เขาเป็นอะไร ลักษณะของสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ของคนที่ทำร้ายคนอื่นเป็นกุศลหรืออกุศล

    ผู้ฟัง อกุศล

    ท่านอาจารย์ และเป็นอกุศลกรรมด้วย ทำให้ได้ผลเหมือนกันกับคนที่เขาทำร้ายเราด้วย

    ผู้ฟัง แล้วที่เขามาทำร้ายเรา เราได้รับบาดเจ็บนี้ เราได้รับผลของกรรมใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าคุณ ... ไม่ได้ทำมา ไม่มีทางที่เขาจะทำร้ายคุณ ... ได้

    ผู้ฟัง แล้วทำไมต้องเป็นเขา

    ท่านอาจารย์ เป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเขา หกล้ม ตกเขา อุบัติเหตุอะไรก็ได้หมด เป็นโรคภัยไข้เจ็บก็ได้ ตาบอด หูหนวกได้หมด

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นอุบัติเหตุ หรือว่าเจ็บไข้ได้ป่วย ผมพอจะเข้าใจ ว่ารับกรรม

    ท่านอาจารย์ ไม่มีคนที่คุณ ... คิดใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ แต่เมื่อมีความรู้สึกว่าเป็นคนทำ แต่ความจริงคนก็ไม่มี

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มี ถ้ามีก็เป็นอัตตา แต่คนก็ไม่มี เป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับไปสืบต่อไป เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็อยู่ในโลกของแต่ละคน คิดถึงโลกที่มืดสนิท ตอนเกิดมีคนไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ มีจิตเกิดหรือเปล่า

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เห็นไหมขณะนั้น ตอนเกิดขณะเกิด

    ผู้ฟัง ไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ ได้ยิน

    ผู้ฟัง ไม่ได้ยิน

    ท่านอาจารย์ ได้กลิ่น

    ผู้ฟัง ไม่ได้กลิ่น

    ท่านอาจารย์ ลิ้มรส

    ผู้ฟัง ไม่ได้รส

    ท่านอาจารย์ รู้สึกกระทบ สัมผัส

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ คิดนึก

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จิตขณะแรกเป็นผลของกรรม เกิดได้อย่างไรถ้าไม่มีกรรม ไม่ใช่ขอยืมกรรมของคนอื่นมาเกิด แล้วแต่กรรมหนึ่งของคนซึ่งได้ทำกรรมไว้มากมายในชีวิตนี้ เราก็ทำกรรมมาเยอะ ชาติก่อนๆ ก็พร้อมที่จะทำให้เกิดได้เมื่อกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุดที่จะให้ผล เพราะฉะนั้นแม้แต่ขณะแรกก็ไม่มีใครทำให้ และเวลาที่ปฏิสนธิจิตดับ จิตขณะต่อไปเกิดหรือเปล่า เกิดทำกิจภวังค์ ใครก็บังคับไม่ได้ต้องเป็นภวังคกิจโดยอนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย จนกว่าจะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส จนกว่าจะมีจักขุปสาทเป็นรูปที่เกิดจากกรรมสำหรับให้เห็น โสตปสาทก็เป็นรูปที่เกิดจากกรรมสำหรับให้ได้ยิน เพราะฉะนั้นกรรมทำให้มีตา หู จมูก ลิ้น กาย สำหรับเป็นผลของกรรม เมื่อเห็น เมื่อได้ยิน เมื่อได้กลิ่น เมื่อลิ้มรส เมื่อรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่ใจเราคิดเป็นคนโน้นคนนี้ เป็นเรื่องเป็นราว แต่ความจริงคนไม่มี มีแต่สภาพของกรรม และผลของกรรม ซึ่งเป็นจิต

    ผู้ฟัง จะเกี่ยวพันกับเรื่องของการสะสม หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เวลาที่สะสมหมายความว่า พอเห็นแล้ว บางคนเป็นโลภะตามการสะสม บางคนเป็นโทสะตามการสะสม จะฉลาด จะโง่ หรือจะทำอะไรก็แล้วแต่ อิจฉา ริษยา หรือจะเคลื่อนไหว ทั้งหมดเป็นการสะสมของกุศลจิต และอกุศลจิต

    ผู้ฟัง ที่ว่าสร้างเหตุใหม่ ก็เกิดจากการสะสม

    ท่านอาจารย์ หลังจากที่เห็นแล้ว นั้นคือเหตุใหม่เกิดต่อ หลังจากที่ได้ยิน ชอบไม่ชอบ เป็นเหตุใหม่ ไม่ใช่ผลอีกต่อไป เพราะฉะนั้นต้องรู้ให้ชัดเจนว่า ผลของกรรม คือขณะปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ และขณะเห็น ขณะได้ยิน ขณะได้กลิ่น ขณะลิ้มรส ขณะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย นอกจากนั้นไม่ใช่ผลของกรรม เป็นกรรมใหม่ เหตุใหม่ที่จะสะสมต่อไป

    ผู้ฟัง กรรมใหม่ที่จะทำต่อไป เป็นเรื่องของการสะสมมาไหม ในอดีตชาติ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเราไม่มีโลภะสะสมมา โลภะจะเกิดไหม

    ผู้ฟัง ไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ ถ้าเราไม่มีโทสะ สะสมมา เราจะเกิดโทสะไหม

    ผู้ฟัง ไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีโลภะ โทสะ เราจะไม่ทำกรรมไหม ถ้ามีปัจจัยที่จะให้ทำทุจริตกรรม จะมีปัจจัยที่จะทำให้กุศลกรรมเกิดไหม ก็เป็นเรื่องของกิเลสวัฏฏ์ กรรมวัฏฏ์ และวิปากวัฏฏ์

    ผู้ฟัง ขอบคุณ

    ท่านอาจารย์ ที่กุศลจิตเกิด และดับแล้ว ก็สะสมสืบต่อในจิตขณะต่อไป ทำให้มีอุปนิสัยต่างๆ กัน แต่ถ้าไม่ได้ฟังธรรม ไม่มีความเข้าใจในเรื่องของการที่จะขัดเกลา ในเรื่องการที่จะละกิเลส เขาก็มีความหวังผลของกุศลนั้นๆ

    ผู้ฟัง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ไม่ออกจากวัฎฎะ

    ผู้ฟัง ความดีทั่วไป แตกต่างกับความดีที่เป็นบารมีอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็เขาไม่ได้ต้องการที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์เลย เขาก็ยังติดข้องใช่ไหม บอกให้ใครออกจากสังสารวัฏฏ์ใครจะออกบ้าง ไม่ออก สนุกดี สบายดี เกิดที่ไหนก็ได้ ยิ่งเทวดาก็ยังดี มนุษย์ก็ได้ หรืออะไรอย่างนี้ เขาก็ไม่เห็นโทษภัย

    ผู้ฟัง หมายถึงว่าบารมี เกื้อกูลต่อสติปัฏฐานอย่างไร

    ท่านอาจารย์ มีปัญญาเป็นหัวหน้า ปัญญาบารมี ต้องมีปัญญา ถึงแม้ว่าจะทำกุศลสักเท่าไหร่ แต่ถ้าไม่มีปัญญาก็ออกจากสังสารวัฏฏ์ไม่ได้ หนทางที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์ยากมาก ต้องเป็นเรื่องของปัญญาจริงๆ ถ้ายังพอใจในสังสารวัฏฏ์ก็ทำกุศลไป และก็ได้ผลของกุศลไปในแต่ละชาติ

    ผู้ฟัง อาจารย์กล่าวว่า หลายๆ คนยังทำความดีตรงนั้นซึ่งไม่ใช่เป็นการสะสมบารมี คิดว่าทุกๆ คนก็คงอยากที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์ แต่ไม่เข้าใจ หรือว่าไม่ทราบในเหตุปัจจัยหรืออะไรสักอย่างหนึ่งหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ การที่แม้จะคิดออกจากสังสารวัฏฏ์ก็ต้องด้วยปัญญา ถ้าไม่มีปัญญา ไม่มีการที่คิดอยากจะออกจากสังสารวัฏฏ์ ยังไม่เห็นโทษภัยของสังสารวัฏฏ์เลย ต้องเห็นจริงๆ ว่าไม่มีใครจะออกได้ เหมือนวนเวียนอยู่ในเหวลึก มืดสนิทที่ไม่มีทางออก ถ้าไม่มีพระธรรมที่ทรงแสดงจากการตรัสรู้ จะออกจากสังสารวัฏฏ์ไม่ได้ ถึงแม้ว่ารู้แล้ว ก็ยังต้องอบรมบารมี เพื่อที่จะถึง เหมือนคนที่รู้หนทาง แต่เป็นโรค เดินไม่ไหวแล้วจะไปอย่างไร ร่างกายก็ไม่แข็งแรง จึงต้องอาศัยกุศลอื่นๆ เป็นเครื่องประกอบ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์พูดตรงนี้หลายครั้งเรื่องเป็นโรค พอเรามาพิจารณาตัวเองแล้ว เราเป็นโรค โรคมากมายจริงๆ จนที่ท่านอาจารย์ใช้คำว่า ฟื้นขึ้นมาแล้วก็สลบลงไป เป็นสภาพธรรมที่เป็นอย่างนั้นจริงๆ ยากแสนยาก แต่เราก็มีทางเดียวคือให้เข้าใจก็อบรมต่อ

    ท่านอาจารย์ มีพระธรรมเท่านั้น ที่เป็นสรณะ เราจึงเริ่มเห็นคุณของพระธรรมว่า เป็นที่พึ่งที่แท้จริงที่จะทำให้เราได้เกิดปัญญามีความเห็นที่ถูกต้อง เพราะว่าสิ่งอื่นพึ่งจริงๆ ไม่ได้เลย และสมบัติที่มีมากก็สูญหายกันไปได้ แต่ว่าความดีด้วยความเข้าใจธรรม จะติดตามไปได้ เมื่อฟังอีกก็เข้าใจได้เร็วแล้วก็สามารถที่จะเข้าใจขึ้นๆ ได้

    ผู้ฟัง ยกตัวอย่าง เมตตาบารมี เกื้อกูลต่อสติปัฏฐานได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ เราไม่ต้องเจาะจงเลย แต่ทุกบารมีให้คิดว่า ถ้าเราเป็นคนที่ร้ายมาก และโหดร้าย เกลียดคนนั้น ชังคนนี้ ไม่ให้อภัย แล้วยังไง สติเราจะระลึกลักษณะของสภาพธรรม จะมีประโยชน์อะไรที่จะมีปัจจัยให้เราน้อมด้วยจิตใจที่อ่อน ที่เป็นกุศล และกุศลที่สูงกว่าเพียงทาน ศีลด้วย เป็นกุศลที่เกิดจากความเข้าใจจริงๆ ว่า ขณะนี้เป็นธรรม แต่ไม่รู้ตัวจริงของธรรม เพียงการศึกษา และเพียงเข้าใจเรื่องราวทั้งๆ ที่ตัวจริงของธรรม เผชิญหน้าอยู่ทุกขณะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นธรรมทั้งหมด ก็ยังไม่รู้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าเราต้องไปรำพึงรำพันว่า เราเห็นโทษของกิเลส เราละอายมากที่เราไม่รู้ธรรม แต่ขณะใดที่เป็นกุศล หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ศรัทธา สติ เขาเกิดเป็นสภาพธรรมซึ่งต้องมีอย่างน้อยที่สุด ๑๙ ประเภท ฝ่ายดีที่จะเกิด และเกิดแล้วด้วยขณะที่กำลังเป็นกุศล ไม่ใช่มีตัวเราอีกต่างหาก ที่ต้องไปนั่งคิดนั่งพรรณนา ไม่ใช่อย่างนั้นเลย เพราะฉะนั้นวิปัสสนา กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนา เป็นปัญญาที่รู้ตามความจริงที่มีปัจจัยเกิด และปรากฏเดี๋ยวนี้ที่มี เพราะเกิด เพราะปรากฏ ก็รู้ตามสิ่งที่มีเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องไปทำอะไร เพราะฉะนั้น เราก็ต้องสะสมปัญญาที่จะรู้ตามความเป็นจริง ถ้าไม่มีปัญญาระดับนี้ก็เป็นการรู้ถึงเรื่องราวเท่านั้นเอง ทั้งๆ ที่ความจริงก็มีจริงๆ ทุกวันก็ไม่รู้ เพราะว่าไปนั่งรู้ชื่อกับรู้เรื่องราว ก็คิดไปเป็นจิตเป็นดวงๆ ประกอบด้วยเจตสิกเท่านั้นเท่านี้ใช่หรือไม่ แต่ความจริงคือขณะนี้แหละ จิตอะไรทำหน้าที่เห็น เป็นจิตอะไรทำหน้าที่ได้ยิน จิตอะไรคิดนึก เป็นกุศลหรืออกุศลจิต

    ผู้ฟัง ขณะที่กำลังฟังท่านอาจารย์อธิบายธรรมสติก็ไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ ไม่เกิดก็ไม่เกิด

    ผู้ฟัง มันก็เกิดการคิดเปรียบเทียบขึ้นมาอีก ขณะให้เราฟังธรรมอยู่ สติก็อาจเกิดนิดเดียว บางทีก็ไม่เกิด แต่ถ้าขณะที่เราอยู่ที่บ้านคนเดียวสบายๆ เราจับโน้น เราดูนี่ หรือว่านั่งฟังเทปอาจารย์ สติเกิดมากกว่าเสียอีก เพราะอะไร ขณะที่เราฟังธรรมตรงนี้ เราก็ตั้งใจ สติก็ไม่เกิด เป็นเพราะอะไร

    ท่านอาจารย์ คำตอบตรงกับคำแรกที่เราได้ยิน คือ อนัตตา ทิ้งไม่ได้ ลืมไม่ได้ เห็นโลภะแทรกหรือไม่ เราอาจจะติดว่า เราจะต้องอยู่อย่างนั้นแล้วสติจะเกิด เขาจะมาล่ออยู่ตลอด เพราะฉะนั้นโลภะเป็นสมุทยอริยสัจจะ เห็นยากเพราะลึกซึ้ง หรือว่า ลึกซึ้งจึงเห็นยากก็ได้ เพราะว่าเขามีอยู่ก็ไม่เห็น ไม่ใช่ไม่มี โลภะมีก็ไม่เห็นเพราะลึกซึ้ง ขณะนี้สภาพธรรมเกิดดับก็ไม่เห็น เพราะลึกซึ้ง แสดงว่าเกิดแล้วก็ดับ ตามเหตุตามปัจจัย เข้าใจหมดเลย แต่ก็ไม่ได้ประจักษ์ เพราะลึกซึ้งฉันใด โลภะไม่ใช่ใครจะไปละโดยไม่รู้โดยไม่เห็น ถ้าขณะนั้นที่เรากำลังมีสติ เพียงอยากเกิดขึ้นนิดเดียว เรารู้เลย นี่คือสมุทัย นี่คือโลภะ ละเมื่อไหร่ ละเมื่อนั้นทันที มิฉะนั้นโลภะก็จะนำไปอีก ให้เราไปอยู่ในที่เงียบๆ และพอเอิกเกริกก็ไม่มีการที่รู้ลักษณะของโลภะ ไม่มีการที่จะรู้ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นจึงต้องเป็นผู้ที่อาจหาญร่าเริง และถ้าเรามีความรู้เพิ่มขึ้นจริงๆ อย่างเช่น สภาพธรรมที่ไม่มี ไม่ปรากฏ มีหรือไม่ที่ช่วงไหนที่สภาพธรรมไม่ได้ปรากฏ

    ผู้ฟัง ตอนหลับ

    ท่านอาจารย์ ตอนหลับ เป็นภวังค์ ทุกคนต้องยอมรับว่าตอนหลับไม่มีอะไรปรากฏเลย แล้วมีสภาพธรรมปรากฏ ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ ขณะที่รู้ลักษณะที่เป็นธาตุ ที่เป็นนามธรรม รูปธรรม และขณะนั้นจะรู้ความหมายของอายตนะ ทำไมปรากฏได้ สภาพธรรมมีจริงก็จริง แต่ทำไมปรากฏอย่างเสียงในป่าไม่ได้ปรากฎ เกิดแล้ว ดับแล้วหมด เสียงในครัวก็ไม่ได้ปรากฏ เสียงไกลๆ ก็ไม่ได้ปรากฏ เกิดแล้วดับแล้ว แต่ทำไมเสียงนี้ถึงปรากฏ ต้องมีทางที่เสียงนี้จะปรากฏได้ ทุกอย่างที่เราได้ยิน ได้ฟัง โดยตำรา เวลาที่สติปัฎฐานเกิดความเข้าใจเพิ่มขึ้น ลักษณะของนามธรรมปรากฏโดยความเป็นธาตุ เราจะมีความเข้าใจกระจ่างในความเป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตน แต่ว่าอริยสัจจ์ ๓ รอบ สัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ สัจจญาณ คือรู้จริงๆ ในอริยสัจจ์ ๔ คือทุกข์ ต้องเดี๋ยวนี้ขณะนี้ เพราะฉะนั้นเราจะไม่ไปที่อื่นเลย ระลึกได้เมื่อไหร่ ขณะนั้นคือสามารถที่จะเข้าใจได้ว่า นี่เป็นฐานอารมณ์ที่ตั้งของสติ ความหมายหนึ่ง และสติที่กำลังระลึก เป็นสติปัฎฐาน ไม่ใช่สติขั้นทาน ขั้นศีล และสติขณะที่กำลังระลึกนั้นแหละเป็นหนทางที่พระอริยะทั้งหลายท่านได้เดินมาแล้ว แม้พระผู้มีพระภาค และพระสาวกก็ต้องเป็นทางนี้แหละ ตรงนี้แหละที่ปัญญาจะเจริญ จึงจะเห็นโลภะ ถ้าเกิดนิดหนึ่งก็รู้ว่า นั่นเป็นสิ่งที่ต้องละ แล้วก็จะเข้าใจสภาพธรรมแจ่มแจ้งเมื่อลักษณะนั้นเป็นธาตุแต่ละอย่าง แต่เวลานี้แม้สภาพเป็นธาตุก็เป็นเรา ทำไมตอนนั้นสติเกิด ทำไมตอนนี้สติไม่เกิด ก็คือความคิด แต่ว่าไม่ได้ประจักษ์มั่นคงในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม และถ้ารู้ว่าเป็นอนัตตาจริงๆ สติก็มีโอกาสจะเกิดแม้เดี๋ยวนี้ได้ แต่ทำไมอย่างนั้นก็โน้มเอียงหันไปหาอย่างนั้นก็กั้นทันที ก็ไม่เห็นโลภะที่จะละ เพราะฉะนั้นหนทางนี้เป็นหนทางละโลภะโดยตลอด ถ้ายังมีโลภะหลงเหลืออยู่ ไม่มีทางรู้แจ้งสัจจญาณที่ ๓ คือ นิพพาน นิโรจธสัจจะ เป็นเรื่องที่ละเอียด และเป็นเรื่องที่ต้องเป็นปัญญาจริงๆ ต้องเป็นเรื่องละด้วย ด้วยปัญญาด้วย เพราะฉะนั้นเราไม่คำนึงถึงอย่างอื่น ปัญญามีหรือยัง ถ้าปัญญาไม่มีก็ไม่ต้องไปคิดว่า ทำไมสติเกิดน้อย นานๆ เกิด เกิดไม่บ่อยเลย แต่ว่าไม่สนใจเลย เพราะว่าหน้าที่คืออบรมปัญญา และเรื่องของปัญญาเป็นสังขารขันธ์ไม่ใช่เวทนาขันธ์ ไม่ใช่สัญญาขันธ์ ไม่ใช่รูปขันธ์ ไม่ใช่วิญญาณขันธ์ แต่เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งเมื่อมีปัญญานำ ปัญญาก็นำไปสู่ทางที่ถูก นำไปสู่ปัญญายิ่งขึ้นๆ ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิด เขาก็นำไปสู่ทางผิดเรื่อยๆ ไม่มีทางที่จะนำมาอย่างปัญญาได้เลย เพราะฉะนั้นเราก็เข้าใจความเป็นธรรม และเหตุผลของธรรมมากขึ้น ข้อความในพระไตรปิฎกก็กระจ่างด้วยความเข้าใจสภาพธรรมที่ตัวจริง กำลังแสดงลักษณะจริงๆ ลักขณาธิจตุกะลักษณะ ๔ ของสภาพธรรมทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น จิต เจตสิก แต่ละอย่าง เราไม่จำเป็นต้องไปรู้หมด เพราะว่าใครรู้หมดผู้นั้นทรงแสดง พระไตรปิฎกคือพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ แต่ปัญญาเราแค่ไหน เพราะฉะนั้นถ้าเราจะรู้ลักษณะ หรือรู้กิจ หรือรู้เหตุใกล้ เราก็ไม่ใช่ไปรู้ทั่วหมด อย่างผัสสเจตสิก กำลังมีแท้ๆ ใครรู้ก็เป็นเรื่องของปัญญาแต่ละระดับ ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องหวั่นไหว และไม่ต้องคิดว่าปัญญานี้เป็นของเรา ปัญญาของแต่ละคนก็คือการสะสมของแต่ละคน ปัญญาของท่านพระสารีบุตร ปัญญาของท่านพระมหาโมคคัลลานะ ปัญญาของท่านพระมหากัสสปะ ปัญญาของท่านพระอานนท์ แต่ละคนก็ตามสังขารขันธ์ที่สะสมมา แต่ละคนเป็นแต่ละหนึ่งขณะของจิต ซึ่งเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะแล้วก็ดับ แล้วก็สืบต่อในแสนโกฎกัปป์จนมาถึงขณะนี้เดี๋ยวนี้ ไม่ต้องไปคิดเปรียบเทียบ ไม่ต้องไปคิดหวังอะไร แต่รู้ว่าสิ่งใดที่เกิดก็คือสิ่งนั้นตามการสะสม ไม่ว่าสติจะระลึกอะไร นั่นคือสะสมมาที่จะระลึกอย่างนั้น จะระลึกที่ลมหายใจ จะประจักษ์การเกิดดับของลมหายใจ ก็แล้วแต่ ไม่ใช่เราที่จะไปกะเกณฑ์ ที่จะไปตกใจ ที่เราจะไปคิดว่าเราเป็นบุคคลที่จะรู้อย่างนั้นไม่ได้ หรือจะต้องรู้อย่างนี้ ไม่ใช่หน้าที่เลย หน้าที่คือเข้าใจสภาพธรรมถูกต้อง ละความเป็นตัวตน แล้วแต่ว่าสภาพธรรมใดจะเกิดก็ไม่หวั่นไหว ก็ไปตามหนทางนี้เรื่อยๆ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 14
    5 เม.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ