ปกิณณกธรรม ตอนที่ 46
ตอนที่ ๔๖
สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่
มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจักขุปสาท เห็นได้หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีรูปารมณ์กระทบ เห็นได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ แล้วเห็น เห็นเมื่อไหร่
ผู้ฟัง เห็นเมื่อ ๓ อย่างประชุมกัน
ท่านอาจารย์ เห็นเมื่อมีจักขุปสาทยังไม่ดับ รูปารมณ์ที่กระทบยังไม่ดับ นี่คือความหมายของคำว่า อายตนะ
ผู้ฟัง ที่อ่านในสติปัฏฐานสูตรมีคำว่า อายตนบรรพ คนที่เข้าใจคำว่าอายตนะ จะต้องเข้าใจว่าสติปัฏฐานเกิดขณะที่จักขุวิญญาณปรากฏอย่างนั้น ใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ ถ้ายังไม่รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม จะเข้าใจอายตนะได้หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ก็เพียงแต่จำชื่อ
ผู้ฟัง ขอสอบถามที่อาจาร์ยกล่าวว่า เพียงแต่ตามรู้ คำว่าตามรู้ ไม่ใช่ว่าให้เราไปตามรู้ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ให้รู้ตามสภาพธรรมที่มีปกติ
ผู้ฟัง รู้ตาม หรือ ตามรู้
ท่านอาจารย์ ได้ทั้งนั้น
ผู้ฟัง ตามรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ท่านอาจารย์ ที่มีอยู่ แล้ว ไม่ได้ไปทำขึ้น
ผู้ฟัง จดจ้องได้หรือไม่
ท่านอาจารย์ จดจ้องทำไม ทำไมต้องจดจ้อง
ผู้ฟัง คือว่า ส่วนมากจะไม่ทัน
ท่านอาจารย์ จึงจดจ้อง นี่ก็ผิดแล้ว นี่สำคัญมากตรงนี้ เพราะว่าหนทางมี ๒ อย่าง ทางถูกกับทางผิด ถ้าเราไม่รู้ทางถูกจริงๆ เราไปทางผิดโดยตลอด เพราะมรรคเป็นสภาพธรรมที่เห็นยาก เพราะลึกซึ้งคือสภาพธรรมที่มี ไม่ต้องทำอะไร รู้ตามความเป็นจริงของสิ่งที่มีตามปกติ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มี กำลังปรากฏตามปกติ ทำไมต้องจดจ้อง
ผู้ฟัง คือระลึกรู้ใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ สภาพที่ระลึก หมายความว่า ขณะนี้แข็ง มีตลอดขณะที่เรานั่ง เมื่อไหร่ที่ระลึกรู้ตรงนั้น นั้นคือสติกำลังระลึก เมื่อสักครู่รับประทานอาหาร เดี๋ยวนี้มานั่งที่นี่ ตรงไหนก็มีแข็ง แต่ว่าระลึกที่แข็งหรือไม่ ขณะที่ไม่ระลึก จะแข็งก็แข็งไป ไม่มีทางที่จะเข้าใจในความเป็นธาตุแข็งซึ่งรู้ได้ทางกาย แล้วก็เกิดดับด้วย แต่เวลาที่มีการระลึกก็เพราะเหตุว่า มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่าสติปัฏฐานคือระลึกลักษณะของสภาพธรรม ที่เป็นปกติ ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นในขณะนั้นทางกายทวารวิถีเกิดแน่นอนจึงได้มีการรู้แข็ง และเมื่อทางกายวิถีดับแล้ว เป็นภวังค์แล้ว มโนทวารวิถีเกิดสืบต่อ แต่ว่าวาระหลังๆ จะเป็นบัญญัติเรื่องราว แต่ตอนที่ไม่ใช่บัญญัติก็คือขณะที่กำลังค่อยๆ รู้ลักษณะ เพราะฉะนั้นมันก็เป็นปกติ คือแทนที่จะเป็นบัญญัติ ก็เป็นการกำลังค่อยๆ เข้าใจลักษณะนั้น
ผู้ฟัง ที่อาจารย์กล่าวว่า รู้ยาก เพราะว่าแข็งปรากฏ เราไม่รู้ใช่หรือไม่ เป็นลักษณะนั้นหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ เราไม่รู้หนทางด้วยว่า นี่คือหนทางที่ปัญญาจะเจริญ ปัญญาจะเจริญคือตรงนี้ ไม่ใช่ตรงอื่น ตรงที่เห็น ตรงที่ได้ยิน ตรงที่ได้กลิ่น ตรงที่ได้ลิ้มรส ตรงที่ได้กระทบสัมผัส ตรงที่คิดนึก ทั้งหมดมีอยู่ ๖ ทางในชีวิตประจำวัน ถ้าปัญญาจะรู้ คือรู้สิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ๖ ทาง จะไปรู้อื่นๆ ไม่มีทางได้เลย
ผู้ฟัง ถ้าไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ หมายความว่า ไม่มีปัญญา
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ปัญญา ถ้าปัญญารู้ คือ สิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่รู้อย่างอื่น
ผู้ฟัง ถ้ารู้อย่างอื่น ที่ไม่ใช่ปัญญา เรียกว่ารู้อะไร
ท่านอาจารย์ รู้บัญญัติ เรื่องราว คิดนึก ขั้นปริยัติ
ผู้ฟัง เช่น แข็ง ก็เป็นเรื่องราวไป
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีการรู้ว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง คุณ ... กำลังกระทบอะไร
ผู้ฟัง มันแข็งแล้วก็เมื่อย กำลังจับไมค์
ท่านอาจารย์ เป็นไมโครโฟนไปแล้ว
ผู้ฟัง แล้วเราจะระลึกอย่างไร
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เรา ยังไม่ถึงปัญญาที่จะรู้แจ้งชัด ต้องอบรมด้วยสติปัฏฐาน จนกว่าจะถึงวิปัสสนาญาณ วิปัสสนาญาณ คือความแจ้งชัด ประจักษ์แจ้ง ต้องมาจากการค่อยๆ ระลึก ทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าความเข้าใจจะเพิ่มขึ้น ถ้าสติรู้ ก็หมายความว่าขณะนั้นมีการระลึกตรงแข็ง ไม่ใช่ระลึกตรงอื่น เพราะว่าแข็งมีให้รู้ว่าเป็นธรรมชนิดหนึ่ง ถ้าเป็นธรรมไปหมด ๖ ทาง ตัวเราจะไม่มี แต่ถ้าไม่ใช่ ๖ ทาง ก็ตัวเราอยู่ตรงนั้น ตัวเราอยู่ตรงนี้บ้าง ตรงโน้นบ้าง กำลังแข็งก็นึกกำลังแข็งก็จดจ้อง กำลังแข็งก็คิดว่าทำอย่างไรปัญญาจะเกิด กำลังแข็งก็นึกไปสารพัด
ผู้ฟัง ที่ปัญญาระลึกรู้ทางทวารใดทวารหนึ่ง นั้นก็เป็นเรื่องของปัญญา
ท่านอาจารย์ เรื่องของสภาพธรรม ที่อาศัยการฟังเข้าใจถึงได้เกิดระลึกได้ ไม่มีใครที่จะเกิดระลึกขึ้นมา โดยที่ไม่อาศัยการฟังเข้าใจเลย ไปฟังวันแรกสภาพปรมัตถธรรมคือสิ่งที่มีจริง มี ๓ อย่างคือ จิต เจตสิก รูป เพียงแค่นี้ สติจะระลึกไหม แต่ฟังแล้วฟังอีก เข้าใจเพิ่มขึ้น เข้าใจเพิ่มขึ้น วันหนึ่งก็มีการระลึกก็รู้ว่าขณะนั้นเป็นอนัตตา ไม่มีเราที่จะต้องไปทำอะไรเลย เพราะว่าสติเกิดจึงระลึก ถ้าสติไม่เกิดก็ไม่ระลึก
ผู้ฟัง การระลึกได้ เกิดขึ้นจากการสะสม แต่การฟังธรรม ฟังว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นสิ่งที่รับรู้ ตารับรู้สี หูรับรู้เสียง จมูกรับรู้กลิ่น ใช่หรือไม่ ค่อยๆ สะสมไป
ท่านอาจารย์ หมายความว่าฟังแล้ว มีความเข้าใจว่าเป็นธรรม และมีความเข้าใจว่าปัญญาที่จะรู้ธรรม ก็คือรู้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ไม่ใช่รู้อย่างอื่น พอเข้าใจอย่างนี้ สติก็จะเกิดระลึกรู้สิ่งที่มี เพื่อจะค่อยๆ ศึกษาให้เข้าใจว่าเป็นจริงอย่างนั้น คือลักณษะที่แข็ง ไม่ใช่สภาพที่กำลังรู้แข็ง
ผู้ฟัง ในขณะที่ระลึก ในการที่ฟังบ่อยๆ ทำให้เราเข้าใจ และเกิดความเคยชินจนกระทั่ง พอสภาพธรรมมาสัมผัส เราก็สามารถระลึกรู้โดยไม่มีเรา เกิดมาจากการที่เราได้ศึกษาธรรมนั้นแล้ว
ท่านอาจารย์ ที่จริงแข็งมีตั้งนาน สติเกิด หรือสติไม่เกิด ก็แล้วแต่ปัจจัย เป็นธรรมดา ไม่ต้องตื่นเต้น ไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องหวัง ไม่ต้องจดจ้องอะไรทั้งสิ้น แต่ค่อยๆ รู้ว่าขณะนั้นต่างกับขณะที่หลงลืมสติ นี่เป็นขั้นแรก เพราะสติระลึก จึงต่างกับขณะที่ไม่ระลึก ปัญญาแค่ไหน นิดเดียวเพียงขั้นเริ่มต้น แต่ให้เข้าใจว่านี่คือหนทาง นี่คือสติปัฏฐานตรงตามที่ทรงแสดงคือ ปัฏฐาน หมายความว่า ฐานที่ตั้ง หรืออารมณ์ หรือสิ่งที่สติระลึก มีจริงๆ มีฐานที่ตั้งของสติ คือแข็ง และสภาพของสติก็เป็นสติปัฎฐาน เพราะว่าระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่ใช่สติขั้นทาน ไม่ใช่สติขั้นศีล ไม่ใช่สติขั้นความสงบ เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานคนนั้นก็เข้าใจ ที่ใช้คำว่าสติปัฏฐาน สติปัฏฐานเมื่อไหร่ มีลักษณะอย่างไร ก็ปรากฏกับคนนั้นขณะที่สติเกิด ขณะที่สติปัฏฐานเกิด รู้เลยว่านั่นคือความหมายอรรถของสติปัฏฐาน เป็นหนทางที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอริยบุคคลทั้งหลายดำเนิน ถ้าไม่อาศัยสติที่กำลังเกิด กำลังระลึก จะไม่มีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าทุกอย่างเป็นธรรม แต่ที่จะรู้ว่าเป็นธรรมก็ต่อเมื่อสติระลึก และปัญญาค่อยๆ เข้าใจขึ้น ต่อไปใครพูดเรื่องสติปัฏฐาน เรารู้ความหมายจริงๆ ๓ ความหมายว่าสติปัฏฐาน ๔ โดยแยกตามอารมณ์ กาย เวทนา จิต ธรรม สติปัฏฐาน ๓ คือ ๑. หมายถึงอารมณ์คือที่ตั้งที่สติระลึก คือปรมัตถธรรม และ ๒. ตัวสติเองก็เป็นสติปัฏฐาน เพราะไม่ใช่สติขั้นทานศีล และ ๓. ก็เป็นสติปัฏฐานที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอริยะทั้งหลายเดิน เราจะลืมหรือไม่ ถ้าสภาพธรรมนั้นเกิด และเราเข้าใจถูกต้องว่า มีที่ตั้ง ที่สติระลึก ที่ตั้งนั้นเป็นสติปัฏฐาน ตัวอารมณ์เป็นที่ตั้งของสติ และตัวสติก็เป็นสติปัฏฐาน และหนทางนี้ก็คือหนทางเดียวที่จะทำให้ปัญญาประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมทั้งหลาย ศึกษาอย่างนี้จะไม่มีวันลืมความหมายไม่ต้องท่องด้วย แล้วก็เข้าใจชัดเจน ใครจะพูดเรื่องสติปัฏฐาน แต่เขาไม่รู้เพราะสติปัฏฐานไม่เกิดใช่หรือไม่ เขาไม่สามารถที่จะรู้ว่า ตอนที่สติปัฏฐานเกิดคืออย่างนี้ ตรงนี้ ธรรมดาอย่างนี้ และปัญญาที่จะเพิ่มขึ้นก็คือรู้ขึ้นค่อยๆ รู้ขึ้น ในความต่างของนามธรรม และรูปธรรม ซึ่งขณะนั้นมีจริงๆ แต่เคยเป็นเรา และเคยเป็นความไม่รู้ เพราะว่าผ่านไปเลย พอระลึกเกือบไม่มีการระลึกเลยใช่หรือไม่ เพราะปรากฏก็หมดไปๆ เพราะฉะนั้นทุกอย่างมีเมื่อเกิดขึ้น ปรากฏแล้วหมดไป ก็ไม่ได้ประจักษ์ความหมดไป เมื่อสติปัฏฐานไม่เกิด เพราะฉะนั้นเราก็จะอยู่ในโลกของความทรงจำที่เป็นอัตตสัญญา จำว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุ ที่เที่ยงตลอดชีวิต กี่ภพกี่ชาติ จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม และมีความเข้าใจถูก แล้วเริ่มสติปัฏฐานเมื่อไร เราถึงจะรู้ว่าเป็นธรรม ค่อยๆ เข้าใจขึ้น
ผู้ฟัง การที่สติระลึกรู้ ทวารใดทวารหนึ่ง เท่าที่ผู้ที่สติระลึกรู้แล้ว ที่มีปัญญาแล้ว จะเกิดทางใดก่อน
ท่านอาจารย์ ไม่จำกัด ตรงที่สุดคือเห็นความเป็นอนัตตาเพิ่มขึ้น เข้าใจความหมายของอนัตตาเพิ่มขึ้น รู้ว่าเป็นธรรมเพิ่มขึ้น นี่คือประโยชน์ของการศึกษา ไม่อย่างนั้นเราจะศึกษาเรื่องราวตลอดชาติ และก็ลืม ชาติหน้าก็เรียนใหม่ จิตมีเท่าไหร่ เจตสิกมีเท่าไหร่ แต่ตัวจิตเจตสิกจริงๆ ที่มีนี้จะไม่รู้เลย เหมือนทัพพีที่ไม่รู้รสแกง อยู่ในครัว คนหม้อแกงทุกวันเช้าค่ำ แต่รสเป็นยังไงไม่เคยรู้ เราก็ไปนั่งจำแต่สภาพธรรมก็กำลังมี และเราก็เรียน เรียนเรื่องของเขา แต่ทำไมไม่รู้จักตัวเขา ถ้าเราไม่รู้ตามความเป็นจริงว่านี่คือธรรมที่เราศึกษา คือเราศึกษาเรื่องของสิ่งที่มีจริงให้เราค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนกว่าเราจะสามารถระลึกลักษณะนั้น และประจักษ์แจ้งได้ตามที่เรียนทุกอย่าง
ผู้ฟัง ถ้าสติปัฏฐานสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกที่ทุกเมื่อทุกเวลา ไม่เว้นในนรกด้วยใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ ขณะที่อยู่ในนรก ใครรู้
ผู้ฟัง ขณะที่อยู่ในนรก ก็เรารู้
ท่านอาจารย์ เรารู้ไม่ได้ ถ้าเป็นเรา จะรู้ได้อย่างไร
ผู้ฟัง สติปัฏฐานเกิด สติปัฏฐานก็รู้
ท่านอาจารย์ คนในโลกนี้ได้ฟังธรรม ร่างกายก็แข็งแรงดี ทุกข์ก็ไม่มี กับคนที่อยู่ในนรก ลองเทียบกันดู อันไหนที่จะเกิดได้ อันไหนยากที่จะเกิด หรือเกิดไม่ได้
ผู้ฟัง ถ้าเราอยู่ในโลกนี้ และเราฟังธรรม ตายไปตกนรก
ท่านอาจารย์ แล้วที่ในนรก จะได้ฟังธรรมหรือไม่
ผู้ฟัง แต่มันมีการสะสมมา
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แต่ไม่รู้จิตที่ปฏิสนธิในนรกว่า ต่างกับจิตที่เป็นผลของกุศลที่ได้ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ เจตสิกที่เกิดพร้อมปฏิสนธิจิตก็ต่างกัน
ผู้ฟัง แต่ตัวที่จะทำทางให้กุศล อกุศลเกิด คือโวฎฐัพพนะ ซึ่งมันเป็นวิปาก
ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้น เราก็ทำให้มันเป็นกุศลเยอะๆ พูดถึงโวฎฐัพพนะ ก็ทำให้มันเป็นกุศลเยอะๆ
ผู้ฟัง ไม่ เขาก็ทำทางของเขาเองใช่หรือไม่ เราไปบังคับไม่ได้
ท่านอาจารย์ ก็ใช่ เพราะปฏิสนธิจิตของเราเป็นอะไร ต่างกับปฏิสนธิจิตของคนที่เกิดในนรกหรือไม่
ผู้ฟัง เพราะปฏิสนธิจิตของเราเป็นกุศล
ท่านอาจารย์ กุศลวิบาก เป็นผลของกุศลกรรม และกุศลกรรมที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็มี ที่ประกอบด้วยปัญญาก็มี เพราะฉะนั้น กุศลกรรมที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็ให้ผล ทำให้เกิดเป็นมนุษย์จริง แต่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา ไม่ใช่ว่าเป็นมนุษย์แล้วต้องมีปัญญาทุกคน
ผู้ฟัง ส่วนในนรกเป็นอกุศลวิบาก เพราะฉะนั้น อกุศลวิบากทุกวิถีจะเป็นอกุศลทั้งหมด จะเป็นกุศลได้หรือไม่
ท่านอาจารย์ น้อย กุศลระดับไหน กุศลที่ประกอบด้วยปัญญา หรือกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา
ผู้ฟัง ตามการสะสมของเรา
ท่านอาจารย์ ถ้าเราไม่เคยฟังธรรมเลย กุศลที่ประกอบด้วยปัญญาจะเกิดหรือไม่
ผู้ฟัง ไม่เกิด
ท่านอาจารย์ และในนรกมีโอกาสฟังธรรมหรือไม่
ผู้ฟัง ไม่มี แต่ตอนนี้เราฟังธรรม และเราตายไป
ท่านอาจารย์ ตายไปก็ไม่ใช่เรา และจิตที่เป็นปฏิสนธิจิตของเราเป็นอย่างไร มีสติเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า แม้แต่เป็นคน ถ้าไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมกับปฏิสนธิจิต จะมีโอกาสเข้าใจธรรมหรือไม่
ผู้ฟัง ไม่เข้าใจก็จริง แต่เราสะสม
ท่านอาจารย์ สะสมก็คือสะสม แต่มีเหตุที่จะให้เกิดมีปัจจัยที่จะให้เกิดหรือไม่ ไม่เป็นเราอีกแล้ว เป็นสัตว์ในนรก จะเป็นคุณวรศักดิ์อยู่ได้อย่างไร เกิดใหม่แล้ว อยู่ในนรกแล้ว ไม่ใช่คุณวรศักดิ์แล้ว
ผู้ฟัง ขอสอบถาม วิบากที่ทำให้เกิดจิตปฏิสนธิในนรก กับวิบากที่กระทำกิจต่อๆ มาที่เกิดกับจิตอื่นเป็นวิบากตัวเดียวกัน หรือคนละตัว
ท่านอาจารย์ หมายความว่า กรรมที่ทำให้ปฏิสนธิเกิดนี้เป็นกรรมเดียว เมื่อทำให้เกิดแล้ว ด้วยอกุศลวิปากจิต จึงเกิดในอบายภูมิ ปฏิสนธิจิตดับไป กรรมนั้นทำให้ภวังคจิตประเภทเดียวกันเกิดต่อ จนกว่าจะตายจากภพนั้น ระหว่างที่ยังไม่ตายก็มีกรรมที่ทำให้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ๕ ทาง ซึ่งไม่ใช่สุขเลย เพราะว่าในนรก ก็ไม่สามารถที่จะเห็นว่ามันไม่ใช่เราตรงนั้นทั้งๆ ที่ไม่มีอะไรเลย มีแต่แข็งแต่สัญญาความจำว่าแข็งนั้นเป็นเรามีอยู่
ผู้ฟัง แข็งเป็นเรา และแข็งไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตน เป็นสิ่งเดียวกันไหม
ท่านอาจารย์ แข็งไม่ใช่สัตว์ตัวตนบุคคล ถูกต้องแล้ว
ผู้ฟัง อาจารย์บอกว่า แข็งไม่ใช่เรา แข็งก็เป็นพื้น
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ แข็งเป็นแข็ง แต่ความทรงจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดมีอยู่ สัญญาวิปลาส ไม่ได้จำถูกว่าเป็นเพียงแข็ง
ผู้ฟัง จำว่ามันเป็นพื้น
ท่านอาจารย์ ไม่ได้จำว่าเป็นแข็ง ไม่ได้จำว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง
ผู้ฟัง ส่วนนามธรรมเป็นเรา
ท่านอาจารย์ กำลังเห็นนี้ ใครเห็น
ผู้ฟัง เราเห็น
ท่านอาจารย์ ใครได้ยิน
ผู้ฟัง ตอบตามที่เรียนมา คงไม่ใช่เราที่ได้ยิน
ท่านอาจารย์ ตอบตามเรียน คือปริยัติ ถ้าแค่ปริยัติ ทำให้หมดกิเลสได้ก็ง่ายเกินไป ใช่หรือไม่ ไม่ต้องมีวิริยะ ไม่ต้องทำอะไรเลย แค่เรียนก็ดับกิเลสหมด ง่ายไปหรือไม่ และดับแล้วจริงๆ หรือไม่
ผู้ฟัง แค่เรียนยังไม่เข้าใจ
ท่านอาจารย์ แล้วจะดับอะไร วาจาของผู้ที่มีความมั่นคง มีความเข้าใจจริงๆ ไม่ว่าในยามใด ก็ยังระลึกถึงได้ นั้นคือสิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยที่จะทำให้พ้นจากอันตรายต่างๆ ได้ การเชื่อเรื่องกรรม และผลของกรรมดีที่สุด
ผู้ฟัง หมายถึง มีความเข้าใจในเรื่องกรรม และผลของกรรม
ท่านอาจารย์ ความมั่นคงในธรรม ซึ่งลองเปรียบเทียบดูว่า เมื่อยามทุกข์ยากลำบาก คิดถึงสิ่งใด และมั่นคงขนาดไหน มั่นคงหรือไม่มั่นคง คิดถึงตอนที่เราขอให้เราพ้นทุกข์ มั่นคงหรือไม่ ที่จะนึกถึงธรรมที่เป็นสัจจะ
ผู้ฟัง หมายถึง ขณะที่เรามีความทุกข์ เราก็เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่เราทำขึ้นมาเอง เป็นกรรมของเรา เรามั่นคง ในลักษณะที่ยอมรับ
ท่านอาจารย์ อย่างไรก็ตาม วิบากทั้งหลายต้องเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย แต่กรรมมีเยอะมาก ทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น ถ้าเราตกอยู่ในฐานะที่ไม่มีอะไรจะช่วยได้ สิ่งที่จะช่วยได้ต้องเป็นกุศลกรรม แต่ว่ากุศลกรรมจะให้ผลในขณะนั้นหรือไม่ ถ้าเรามีความมั่นคงหนักแน่นจริงๆ เราระลึกถึงธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่ใช่ระลึกถึงตัวเราเฉยๆ ว่าอยากจะพ้น ขอให้พ้น ยกมือท่วมหัว สาธุ ขอให้พ้น แต่ว่าไม่มีความเข้าใจมั่นคงอะไรอย่างนั้นเลย ใช่หรือไม่ นี่คือ กว่าระดับของความมั่นคงอย่างนี้จะมีได้ ไม่ว่าจะยามใดที่เราอะไรเกิดขึ้น แล้วเราก็ระลึกถึงกุศล ระลึกถึงสัจจะ แล้วแต่ว่าอะไรจะเกิด ความจริงของธรรมก็คือเช่นนี้ มีที่พึ่งอันนี้ ถ้ากุศลนั้นมีปัจจัยที่จะทำให้แคล้วคลาดจากสิ่งที่เป็นอันตรายเกิดขึ้นก็ได้ เราไม่รู้ว่ากรรมอันใดจะให้ผล แต่เจตนานี้ก็เป็นอันหนึ่ง ซึ่งจะทำให้กุศลกรรมให้ผลได้ เกิดมาแล้วก็ต้องตาย เกิดมาแล้วก็ต้องเจ็บ เกิดมาแล้วก็ต้องมีสุขบ้างทุกข์บ้าง ใช่หรือไม่ ถ้าประเสริฐกว่านั้นก็คือสามารถระลึกลักษณะที่เป็นธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้พ้นจากสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้เด็ดขาด แน่นอนเมื่อเป็นพระอริยบุคคล
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์อธิบายจุดตรงนี้ เวลาเกิดความทุกข์ยาก หรือเกิดความไม่สบายขึ้นมา ส่วนมากแล้วเราจะไม่ได้มองเห็นว่าเป็นผลเป็นวิบากของเรา จะไปขอร้องให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วย ซึ่งอันนั้นเป็นความจริง ถึงแม้ว่าเราจะรู้แล้วว่าเรียนรู้แล้วว่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นเพราะผลของกรรมของเราเอง เคยฟังท่านอาจารย์หลายครั้งแล้ว เคยพิจารณาเข้ามาในตัวเอง ความยากที่เราจะเข้าใจในสภาพธรรมที่เกิดเป็นสิ่งที่ยากจริงๆ เมื่อตอนทานข้าว คุยกันถึงเรื่องทำบุญ แม้แต่คำว่าอยาก กับตั้งใจซึ่งเป็นสิ่งที่ได้คุยกันว่า แค่นี้เองเรายังแยกแยะไม่ได้เลยว่า อะไรคืออยาก อะไรคือตั้งใจทำบุญ จนกว่าเราจะประสบกับสิ่งนั้นจริงๆ ในขณะที่อยากบางทีเราก็ไม่ได้ทำ อย่างที่ท่านอาจารย์ได้อธิบาย แต่ถ้าเราตั้งใจจริงๆ แล้ว ถึงจะลำบาก ถึงจะอย่างไร เราก็ตั้งใจเราต้องทำให้ได้ กว่าที่จะเข้าใจตรงนี้ แม้แต่เป็นข้อความเล็กๆ น้อยๆ ก็เข้าใจได้ยากอย่างยิ่ง ถ้าไม่ได้พิจารณาตรงนั้นจริงๆ
ท่านอาจารย์ ปรมัตถธรรมจริง ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้ แต่ก็ยากที่จะเข้าใจ เพราะเหตุว่าเกิดดับ สลับกันอย่างเร็วมาก ถ้าเราไม่พิจารณาจริงๆ เพียงคำว่าอยากบางคนก็บอกว่าเป็นโลภะ แต่ก็มีอยากอีกอย่างหนึ่ง อยากจะกระทำให้สำเร็จที่เป็นกุศลก็ได้ แต่ว่าขณะนั้นเป็นฉันทะ เป็นความพอใจที่จะทำ แต่ไม่ใช่ความอยาก เพราะฉะนั้นต้องแยกระหว่าง ความอยาก กับ พอใจที่จะกระทำ และเจตนาจริงๆ ที่ตั้งใจที่จะทำด้วย มิเช่นนั้น ก็จะปนกันหมด เช่นที่ยกตัวอย่างว่า มีคนหนึ่ง เป็นคนมีเงินทองมีทรัพย์สมบัติมาก แต่บอกว่า ถ้าถูกลอตเตอรี่เขาจะทำบุญ นี่คือความอยากหรือความตั้งใจ อยากทำบุญแต่ต้องถูกสลากกินแบ่ง กับความตั้งใจที่จะถูกหรือไม่ถูกก็ตั้งใจที่จะทำสิ่งนั้น ความตั้งใจก็ไม่ใช่เพียงแต่ความอยาก และก็อยาก อยากเพราะว่าไม่เห็นถูกสลากกินแบ่งสักที
ผู้ฟัง แสดงให้เห็นว่า ความตั้งใจ ก็ต้องเกิดจากความเข้าใจในธรรม เกิดจากการที่เราจะสละ
ท่านอาจารย์ แล้วแต่กาล เพราะฉะนั้นเราจะเห็นสภาพธรรมที่เป็นอนัตตาทั้งหมดว่าเดี๋ยวเป็นอย่างนี้เดี๋ยวเป็นอย่างนั้น แต่ว่าเรารู้ตามความเป็นจริงถูกต้องว่าอย่างนี้คืออย่างนี้ อย่างนั้นอย่างนั้น
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 2
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 3
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 4
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 5
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 6
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 7
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 8
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 9
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 10
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 11
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 12
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 13
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 14
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 15
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 16
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 17
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 18
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 19
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 20
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 21
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 22
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 23
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 24
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 25
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 26
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 27
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 28
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 29
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 30
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 31
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 32
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 33
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 34
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 35
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 36
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 37
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 38
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 39
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 40
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 41
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 42
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 43
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 44
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 45
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 46
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 47
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 48
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 49
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 50
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 51
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 52
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 53
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 54
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 55
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 56
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 57
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 58
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 59
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 60