ปกิณณกธรรม ตอนที่ 48


    ตอนที่ ๔๘

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔


    ท่านอาจารย์ แต่ต้องเข้าใจว่าสิ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดง ทรงตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แล้วคนอื่นไม่สามารถจะมีความเข้าใจที่ถูกต้องในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั้นได้ เมื่อทรงบำเพ็ญพระบารมีถึงวาระที่จะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็รู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงที่ทรงตรัสรู้ มีลักษณะที่ลึกซึ้ง ซึ่งยากที่ใครจะรู้ตามได้ ถ้าเราไม่ศึกษาอาจจะคิดว่า ไม่น่าจะยากถึงอย่างนั้น แต่ถ้าศึกษา และเริ่มเห็นว่าสิ่งที่เราเคยคิดว่าเรารู้ เป็นความไม่รู้ทั้งนั้นเลย ไม่รู้ว่าเสียงเป็นธรรม ไม่รู้ว่าได้กลิ่นเป็นธรรม ไม่รู้ว่าโกรธเป็นธรรม ไม่รู้ว่าความเมตตาเป็นธรรม คือไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม ซึ่งใครจะเรียกชื่อหรือไม่เรียกชื่อเลย สภาพธรรมนั้นก็มี คือเกิดปรากฏไม่ต้องเรียกชื่อ แต่ใครก็เปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่ได้พูดโดยชื่อว่าโต๊ะ เก้าอี้ หนังสือ แต่ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมนั้น ไม่ต้องใช้ชื่อ เช่น แข็ง ปรากฏเมื่อกระทบกับกายปสาท ส่วนหนึ่งส่วนใดก็ได้ ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ลักษณะที่แข็งปรากฏ จะใช้ภาษาไทยว่า แข็ง จะใช้ภาษาไหนๆ ก็ได้หรือไม่ใช้เลย ก็ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงลักษณะสภาพธรรมชาติที่แข็งนั้นได้ นี่คือความหมายของธรรม ซึ่งตรงกับคำว่า ธาตุ หรือ ธา-ตุ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่ใช่ของใคร มีปัจจัยเกิดปรากฏ แล้วดับไป เพราะฉะนั้นจะเข้าใจว่าเรากำลังศึกษาอะไร ก็คือศึกษาสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วไม่เคยรู้ และก็ไม่เคยไปเรียกชื่อว่า จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ หรืออะไรเลย เพราะไม่มีใครบอกเราว่า แท้ที่จริงชื่อต่างๆ เหล่านี้หมายความถึงสภาพธรรมอะไร แต่ภาษาไทยเราก็บอกว่า เห็น ไม่ต้องใช้ภาษาบาลี เพราะว่าคนไทยจะเข้าใจได้ก็โดยภาษาไทย เพราะฉะนั้นเห็นมีจริงหรือไม่ เป็นธรรมหรือเปล่า เป็น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้มีจริงๆ หรือไม่ มีจริงเพราะกำลังถูกเห็น เพราะฉะนั้นธรรมคือชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ว่าขณะที่นอนหลับสนิท มีธรรมอะไรปรากฏหรือเปล่า หลับสนิท เป็นใคร ชื่ออะไร อยู่ที่ไหน มีสมบัติอะไร มีพี่น้องอะไร มีอะไรทั้งหลาย ไม่มีเลย ขณะนั้นโลกนี้ไม่ปรากฏ อะไรๆ ก็ไม่ปรากฏ สิ่งที่เคยมีตอนที่ไม่หลับ ไม่ปรากฏเลย เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าชีวิตของเราตามความเป็นจริง ทรงแสดงไว้ตั้งแต่เกิดจนตาย โดยละเอียดว่าเป็นธรรม คืออะไรบ้าง ซึ่งธรรมจริงๆ แล้ว แม้ว่าจะหลากหลายสักเท่าไหร่ก็ตาม แต่ก็ต่างเป็น ๒ ลักษณะ คือลักษณะหนึ่งเป็นสภาพที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น มีหรือไม่ สภาพที่ไม่รู้อะไรเลย มีหรือไม่ ต้องคิดแล้ว ถ้าเราจะศึกษาธรรมแบบให้คนอื่นบอกตลอดเวลา จะไม่ใช่ปัญญาของเรา เพราะฉะนั้นพระธรรมที่ทรงแสดงให้ไตร่ตรอง ให้พิจารณา จนกระทั่งเป็นความรู้ความเข้าใจถูกของตัวเอง ขณะนั้นเราจะเป็นความเข้าใจที่เราไตร่ตรองแล้ว ใครจะมาบอกเรา ถ้าผิดจากความเป็นจริง เราก็รู้ว่าไม่ถูกต้อง ถ้าสิ่งที่ถูกต้อง ก็คือถูกต้องกับสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นถ้าถามว่า ธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้นมีหรือไม่ มีหรือไม่ เราต้องคิดเอง เรายังไม่เรียก เรายังไม่ต้องคิดถึงชื่อว่าเรียกว่าอะไร แต่ไตร่ตรองว่าสภาพธรรมที่มีจริงๆ แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยมีจริงหรือไม่ ยังไม่ต้องไปเรียกชื่อว่าชื่ออะไร แต่มีความเข้าใจ เพราะฉะนั้นถ้าเราศึกษาธรรมโดยความเข้าใจ เราไม่ต้องไปท่อง เราจะมีความเข้าใจถูกตั้งแต่ต้น เช่น ธรรมไม่ได้อยู่หนังสือ แต่สภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมด ซึ่งปรากฏในขณะที่ไม่หลับ ถ้าขณะที่หลับธรรมใดๆ ก็ไม่ปรากฎเลย สภาพธรรมจะปรากฏก็ต่อเมื่อไม่หลับ และสภาพธรรมที่ปรากฏมี ๒ อย่างที่ต่างกัน คือลักษณะหนึ่งเป็นสภาพที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น มีหรือไม่ สภาพธรรมนี้มีหรือไม่ ถ้ามีคนบอกว่าเป็นรูปธรรมอย่างนั้นอย่างนี้เราก็จำ แต่เราไม่ได้เข้าใจ แต่ถ้าให้เราคิดว่าสภาพธรรมที่มีแต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยมีหรือไม่ มีหรือไม่

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เดาว่ามี แต่ว่าจริงๆ แล้ว แข็ง มี รู้อะไรหรือเปล่า แข็งเป็นสภาพรู้ หรือว่าไม่สามารถจะรู้อะไรได้ เอามีดมาฟันไม้ ไม้รู้อะไรหรือไม่ เพราะฉะนั้นสภาพที่ไม่รู้เลย มี เช่น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ มีจริงๆ ไม่ต้องเรียกว่าคน ไม่ต้องเรียกว่าโต๊ะ หรืออะไรเลย เพียงแต่คิดว่าสิ่งที่เห็นทางตาขณะนี้มี ใครปฏิเสธว่าไม่มี ในเมื่อกำลังเห็น มีเมื่อไร เมื่อเห็น เพราะฉะนั้นปฏิเสธไม่ได้เลย สิ่งที่ปรากฏขณะที่เห็น สิ่งที่ถูกเห็นไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง จะปรากฎต่อเมื่อกระทบกับจักขุปสาท ถ้าคนใดตาบอด สิ่งนี้ไม่ปรากฏเลย เพราะฉะนั้นในขณะที่เห็น ถ้าเอารูปออกหมดเลย รูปร่างไม่มี รูปคนไม่มี รูปนกไม่มี รูปปลาไม่มี รูปเป็ดไม่มี รูปช้างไม่มี มีแต่เห็น ลักษณะที่เห็นสภาพที่รู้ คือกำลังเห็น มีจริงๆ แต่ไม่มีรูปร่างใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่พอมีรูปร่างเข้าไปใส่ เราคิดถึงรูป และเราก็เลยปนกัน ระหว่างนามธรรมกับรูปธรรม แต่ตามความจริงแล้วทั้งสองอย่างแยกขาดจากกันโดยเด็ดขาด คือ รูปธรรมที่เกิด ไม่ใช่สภาพรู้ เช่น สิ่งที่ปรากฏ เสียงที่กำลังถูกได้ยิน กลิ่น รส เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ถ้าในโลกนี้หรือกี่โลกก็ตาม มีแต่ธรรมที่เกิดโดยที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ ไม่มีการเดือดร้อนใดๆ ทั้งสิ้น ใช่หรือไม่ ฝนจะตก น้ำจะท่วม ไฟจะไหม้ที่ไหนในนรก บนสวรรค์อย่างไร ก็ไม่มีสภาพรู้ที่ไปรู้ ไปรู้สึก ไปจำ ก็จะไม่มีการเดือดร้อนใดๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าเราศึกษาธรรมจริงๆ ถึงแก่นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม ซึ่งมีความหมายเดียวกันกับคำว่า ธาตุ หรือ ธา-ตุ คือไม่มีเจ้าของ เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ละอย่างๆ มีลักษณะเฉพาะตนๆ ถ้าเราจะจำคำภาษาบาลีควบคู่ไปด้วยไม่ยาก เพราะว่าคนไทยใช้คำภาษาบาลีในชีวิตประจำวันอยู่เสมอ เช่น คำว่า ลักษณะ ทุกคนก็รู้ใช่หรือไม่ วิเสส หรือพิเศษ หรือ เฉพาะ เพราะฉะนั้น สภาพแข็ง ไม่ใช่กลิ่น วิเสสลักษณะของทั้งสองอย่างนี้ต่างกัน คือ ทั้งสองอย่างมีลักษณะเป็นสิ่งที่ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่ารูปธรรม เวลาที่เราศึกษาธรรม จะมีบางคนที่เริ่มศึกษาใหม่ๆ เริ่มจะเข้าใจถูกต้อง ว่าต้องทิ้งความเข้าใจเดิมที่เราใช้คำนั้นในภาษาไทย เพราะเหตุว่าไม่ตรงกับความหมายของสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงใช้คำภาษาบาลี คำว่า ธรรม เราคิดแต่เพียงว่าเทศนา หรือคิดแต่ฝ่ายกุศล อธรรม กับธรรม คิดว่าธรรมต้องเป็นกุศล และอธรรมเป็นฝ่ายอกุศล แต่ธรรมจริงๆ มีความหมายที่กว้างมาก และต้องรู้ว่าเป็นธรรมจริงๆ จึงค่อยๆ สละคลายความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะว่าใครก็ไม่สามารถละความยึดถือสภาพธรรมที่เกิดกับเราว่าเป็นตัวตนได้ เพราะเคยชิน คุ้นมาตั้งแต่เกิด แต่จะบอกว่าไม่ใช่เรานั้นแสนยาก และจะบอกว่าเป็นธรรม ต้องอาศัยการฟังแล้วฟังอีก พิจารณาแล้วพิจารณาอีก จนกระทั่งเข้าใจจรดกระดูก ที่ใช้คำว่าไม่เปลี่ยนแปลง มีความเข้าใจถูกต้องจริงๆ ว่าธรรมที่มี และไม่สามารถจะรู้อะไรได้นั้นเป็นรูปธรรม เริ่มเข้าใจความหมายขึ้นมาอีกนิด คือทุกอย่างเป็นธรรม แต่ธรรมหลากหลาย มีละเอียดมาก ต่างกันมาก แต่ถึงกระนั้นก็ยังสามารถที่จะจำแนกเป็นลักษณะที่ต่างกันใหญ่ๆ เป็น ๒ ประเภท คือลักษณะหนึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น เป็นรูปธรรม ส่วนธรรมอีกอย่างหนึ่ง ต่างกับรูปธรรมโดยสิ้นเชิง เพราะเหตุว่ารูปธรรมแม้เกิดก็ไม่รู้ สีเกิดขึ้นมา เสียงเกิดขึ้นมา กลิ่นเกิดขึ้นมา รสเกิดขึ้นมา ก็ไม่รู้อะไรทั้งสิ้น แต่ว่า มีธาตุอีกชนิดหนึ่ง ใช้คำว่า ธาตุ หมายความว่า มีลักษณะเฉพาะของสิ่งนั้นๆ คือเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ รู้ที่นี่ไม่ใช่ปัญญา แต่รู้ที่นี่หมายความว่าเป็นธาตุที่สามารถจะรู้ว่าสิ่งใดกำลังปรากฏให้รู้เฉพาะหน้า เช่นขณะนี้ ธาตุเห็นเป็นสภาพรู้ซึ่งสามารถจะรู้โดยเห็น ธาตุชนิดนี้กำลังทำกิจเห็น เป็นสภาพรู้อะไร รู้ว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ขณะนี้เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่รู้อื่น แต่รู้ว่ามีสิ่งที่ปรากฏทางตาอย่างนี้เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่คิดว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ แต่ลักษณะรู้หรือธาตุรู้ คือรู้โดยรู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ ขณะนี้ ไม่ต้องใช้คำเลยแต่สามารถจะเห็นสิ่งนี้ได้ นี่คือลักษณะอาการของสภาพรู้อย่างหนึ่ง คือสามารถเห็น เห็นอะไร เห็นลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาอย่างนี้ ซึ่งธาตุที่ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่สามารถจะเห็นได้ แต่ธาตุชนิดนี้ เกิดขึ้นเห็นว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาอย่างนั้น สภาพรู้หรือธาตุรู้ ในคำภาษาบาลีใช้คำว่า นามธรรม นามะ หมายความถึงสภาพที่น้อมไปรู้สิ่งที่ปรากฏให้รู้ เสียงมีใช่หรือไม่ ทุกคนรู้ว่าเสียงมี ธรรมดามาก เสียงกำลังปรากฏ แต่ถ้าไม่มีสภาพรู้หรือธาตุรู้ ซึ่งสามารถได้ยินเสียง ธาตุชนิดนี้เป็นสภาพที่สามารถได้ยินไม่สามารถเห็น ไม่สามารถคิดนึก ถ้าโดยธรรมจะแยกวิญญาณธาตุออกเป็น ๗ ประเภท คือ จักขุวิญญาณธาตุ ได้แก่สภาพเห็น หรือ ธาตุเห็น ต้องอาศัยตา คำว่าวิญญาณกับจิตความหมายเดียวกัน จะใช้คำว่าจิต จะใช้คำว่าวิญญาณ จะใช้คำว่า มโน มนัส หทัย ได้หมดเลย เมื่อหมายความถึงสภาพรู้ เพราะฉะนั้น ภาษาอังกฤษ หรือภาษาไทย ถ้าไม่ศึกษาก็อาจจะไม่รู้ หรือเด็กเล็กๆ ก็ไม่รู้ ไม่รู้ว่ามโนคืออะไร แต่เห็น แต่ไม่สามารถจะเรียกได้ และไม่สามารถจะรู้ความจริงของสภาพที่เห็นได้ เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ต้องศึกษาโดยละเอียด อย่าเพิ่งผ่านแต่ละอย่าง เพราะรู้ว่านี่คือสิ่งที่ปัญญาจะต้องอบรม จนกว่าจะรู้ชัดประจักษ์แจ้งถึงความสมบูรณ์ จึงจะละความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน คำสอนของพระพุทธศาสนาสมบูรณ์ คือตั้งแต่ฟังเข้าใจ และอบรมตามคล้อยตามความจริงที่ได้เข้าใจ และถูกต้อง จนกระทั่งเมื่อประจักษ์ ก็ประจักษ์ตรงตามที่ได้ศึกษาไม่ต่างกันเลย ไม่เป็นโมฆะไม่ใช่เป็นเพียงความเชื่อให้เชื่อ โดยไม่ให้ผู้ฟังเกิดปัญญาของตัวเอง แต่ว่าต้องฟังจริงๆ เข้าใจจริงๆ แม้แต่คำว่า ธรรม ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ถ้าเข้าใจคำว่าธรรม และก็รู้ว่าธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นได้ ภาษาบาลีใช้คำว่า ปรมัตถธรรม มาจากคำว่า บรม หรือ ปะระมะ เพราะเหตุว่าภาษาบาลีไม่มีตัว บ.ใบไม้ แต่มีตัว ป. ปลา เพราะฉะนั้น จึงเป็น ปะระมะ อัตถะ และ ธรรม หมายความ ถึงธรรม ลักษณะ หรือ อัตถะ ที่เราจะอธิบายที่จะรู้ความจริงของเขา เป็นสภาพธรรมซึ่งยิ่งใหญ่ไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ เป็นปรมัตถธรรม ถ้าเราเข้าใจธรรม เราเข้าใจปรมัตถธรรมด้วยหรือเปล่า ต้องเข้าใจด้วย ถ้ามีคนกล่าวว่าเข้าใจธรรม แต่ไม่เข้าใจปรมัตถธรรม จะถูกหรือจะผิด ไม่เข้าใจเลยว่าธรรมนั้นคืออะไร แต่บอกว่ารู้จักธรรม ถ้ารู้จักธรรมก็ต้องรู้จักความเป็นปรมัตถด้วย และปิฎกที่รวบรวมเนื้อความสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมทั้งหมดไว้ในพระไตรปิฎก คือ ปิฎกสุดท้าย คืออภิธรรมปิฎก อภิ แปลว่า ยิ่ง หรือใหญ่ หรือละเอียด ถ้าอ่านพระสูตร แม้ว่าพระสูตรจะมีข้อความเรื่องสังโยชน์ เรื่องธรรมหมวดต่างๆ แต่ว่าไม่ได้แสดงละเอียดเท่าพระอภิธรรม ซึ่งกล่าวถึงเรื่องปรมัตถธรรมเท่านั้นล้วนๆ ไม่มีชื่อพระเจ้าปเสนทิโกศล ไม่มีชื่อพระเจ้าพิมพิสาร ไม่มีชื่อใดๆ ที่เป็นสมมติของบุคคล แต่มีปุคลบัญญัติ หมายความว่าจิตชนิดนี้เป็นระดับของสัตว์เดรัจฉานหรือของมนุษย์ที่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย หรือของผู้ที่มีปัญญาถึงระดับพระอริยบุคคล นั่นคือบัญญัติปรมัตถธรรม แต่ไม่ใช่โดยชื่อสมมติ ไม่ใช่ชื่อสุจินต์ ไม่ใช่ชื่อสุชาติ ไม่ใช่ชื่ออะไรทั้งนั้น แต่ว่าบัญญัติสภาพที่มีว่าเป็นบุคคลระดับไหน เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมเริ่มต้นให้ถูก ให้ละเอียด ให้เข้าใจจริงๆ จะไม่สับสน เวลาฟังธรรมที่ไหนก็รู้ว่ากำลังฟังธรรม หรือไม่ใช่ธรรมที่ได้ฟัง และธรรมที่ได้ฟังเป็นธรรมที่มีจริงๆ ที่พิสูจน์ได้ แม้ในขณะนี้ หรือว่าไม่ใช่ ก็เป็นปัญญาของผู้ฟังเอง ที่สามารถที่จะไตร่ตรองรู้ว่า ประโยชน์ของธรรมที่ฟังคือ สามารถที่จะเข้าใจตัวธรรมจริงๆ ซึ่งมีจริงๆ ซึ่งกำลังปรากฏ และตอนนี้เราก็แยกเป็นนามธรรมกับรูปธรรม นามธรรม คือสภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ ซึ่งมี ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือ จิต อีกอย่างหนึ่ง คือ เจตสิก จิต เป็นสภาพซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้อารมณ์ ภาษาบาลีจะใช้คำว่า อารัมมณวิชานนลักขณะ ลักษณะที่รู้อารมณ์ คือสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ เพราะฉะนั้นเมื่อมีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ ถ้าจะกล่าวว่ามีแต่จิต และไม่มีสิ่งที่จิตรู้ได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เรามีความเข้าใจในเหตุผล เพราะฉะนั้นเมื่อมีจิตที่ใดก็มีสภาพรู้ ซึ่งต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ถูกรู้ ภาษาบาลี ใช้คำว่า อารัมมณะ หรือ อารัมพณะ หมายความว่า ทุกครั้งที่ใช้คำว่า อารมณ์ หมายว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่จิตกำลังรู้ด้วย เช่น ขณะนี้เห็นเป็นจิตที่เห็นว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ถูกเห็น หรือกำลังปรากฏให้เห็น กับจิตเห็น สิ่งนั้นเป็นอารมณ์หรืออารัมมณะของจิต บางแห่งจะใช้คำว่า อารัมพณะ หรือ อารัมมณะ ผู้ที่สนใจเรียนบาลี จะเรียนกำกับไปด้วย แต่ถ้าจะให้ประโยชน์จากการศึกษาธรรม และให้รู้ความหมาย ซึ่งจะส่องความกระจ่างของคำชัดเจนขึ้นอีกมาก เวลาที่เรารู้ความหมายในภาษาบาลีด้วย เราจะมีการศึกษาให้เข้าใจความหมายเฉพาะคำที่เราได้ยินได้ฟังบ่อยๆ ให้รู้ว่าคำนั้นหมายความว่าอะไร ลึกซึ้งกว้างขวางแค่ไหน ซึ่งก็คงจะกล่าวไม่ได้เลยในที่นี้ เพราะว่าการศึกษาการฟังของเราต้องเป็นเรื่องตลอดชีวิต และเป็นเรื่องที่เท่าไหร่ก็ไม่พอ ต้องเป็นเรื่องที่อบรมจนกว่าปัญญาจะเข้าใจความไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ แต่อย่างไรก็ตาม ขอให้ทราบว่า การศึกษาธรรม เพื่อความเข้าใจ ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น พุทธศาสนาเป็นเรื่องละ ตั้งแต่ต้น ละความไม่รู้ที่เกิดจากการไม่เคยฟัง ขณะใดที่กำลังฟังเข้าใจ เดี๋ยวนี้ขณะนี้ ความรู้ความเข้าใจ ละความไม่รู้หรือความที่เคยไม่รู้ จากการที่ไม่เคยได้ฟังเท่านั้น ละมากกว่านี้ไม่ได้ ตามลำดับขั้นของปัญญา แต่ให้ทราบว่าการศึกษาพระพุทธศาสนา ไม่ใช่เพื่อลาภ ไม่ใช่เพื่อยศ ไม่ใช่เพื่อสรรเสริญ ไม่ใช่เพื่อสักการะ เพราะว่าบางคนมีทุกอย่างพร้อม ลาภมี ยศก็มี สุขก็มี ยังต้องการสักการะหรือสรรเสริญ ลองคิดดูสิว่า ความต้องการของคนไม่เคยหยุด คนที่ไม่มีเงินอาจจะต้องการเงิน คนที่ไม่มีลาภอาจจะต้องการลาภ คนที่ไม่มียศอาจจะต้องการยศ คนที่ไม่มีสุขอาจจะต้องการสุข แต่ทั้งมี และทั้งหมด ก็ยังไม่หมดความต้องการ บางคนก็ต้องการแม้สักการะหรือสรรเสริญ แต่ว่าถ้าศึกษาพระพุทธศาสนาจริงๆ ละโดยตลอดตั้งแต่ต้น ถ้าไม่ละ จะไม่มีการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่การละก็ต้องละตามลำดับขั้น ละของพระโสดาบัน ไม่ใช่การละของสกทาคามี ไม่ใช่การละของพระอนาคามี ไม่ใช่การละของพระอรหันต์ ต้องเป็นระดับขั้น ของพระโสดาบันละอะไร ไม่สามารถจะเกินกว่านั้นได้ เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังฟังขณะนี้ ละความเป็นตัวตนไม่ได้เลย แต่เริ่มฟังให้เข้าใจว่า สภาพธรรมจริงๆ เป็นอย่างไร และวันนี้ก็คงคิดว่าทุกคนก็คงจะเข้าใจ ความหมายของคำว่า ธรรม จะแบ่งโดยนัยไหนก็ได้ จะแบ่งโดยธรรมเทศนาก็ได้ พูดถึงเรื่องธรรมทั้งหมด จะแบ่งโดยกุศลธรรม อกุศลธรรมก็ได้ หรือจะแบ่งโดยละเอียดกว่านี้ก็ได้ อย่างที่เราฟังสวดพระอภิธรรม จะแบ่งโดยกุสลาธัมมา อกุสลาธัมมา อัพยากตา ธัมมา ซึ่งก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่เป็นปรมัตถธรรมนั้นเอง เมื่อสักครู่เรากล่าวถึงการศึกษาธรรม และตัวธรรม ธรรมมี ๒ อย่าง คือนามธรรม และรูปธรรม สำหรับปรมัตธรรมที่เรากล่าวถึงแล้วทั้งหมดโดยสรุปจริงๆ ตามประเภทของธรรมมีต่างกัน ๔ อย่าง คือ จิตประเภทหนึ่ง เจตสิกประเภทหนึ่ง รูปประเภทหนึ่ง และนิพพาน ซึ่งไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป ปรมัตถธรรมมี ๔ เวลาที่เราศึกษาอภิธรรม หรือปรมัตถธรรมหรืออภิธัมมัตถสังคหะ คือ ศึกษาสภาพธรรม ๔ อย่างนี้ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน แค่นี้ คือคร่าวๆ ที่ว่าเราจะเข้าใจให้ถูก ต่อไปเรื่อยๆ ให้เข้าใจสภาพธรรม คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เพิ่มขึ้น

    ตอนนี้ก็เป็นเรื่องของคำถาม ถ้ามี จิต เจตสิก รูป นิพพาน อภิธรรม ปรมัตถธรรม ความจริงก็เรียนกันมาแล้วทั้งนั้น แต่ต้องทราบว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ที่กำลังปรากฏ เพราะว่ากำลังหลับสนิทสภาพธรรมนี้ไม่ปรากฏเลย จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมตอนหลับสนิทไม่ได้ จะศึกษาลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมไม่ได้ ขณะที่เป็นภวังค์ หรือหลับสนิท ต้องขณะที่สภาพธรรมปรากฏ และเริ่มเข้าใจถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ถ้าไม่มีสภาพธรรมปรากฏให้ศึกษาให้เข้าใจ และเราจะบอกว่าเราเข้าใจธรรมได้หรือไม่

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 14
    7 เม.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ