ปกิณณกธรรม ตอนที่ 51
ตอนที่ ๕๑
สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่
มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔
ผู้ฟัง การสาธยายพร้อมกับที่รู้สภาพจิตที่เป็นกุศลด้วย ก็เป็นไปได้ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เป็นไปได้ ในขณะนี้สติปัฏฐานสามารถจะเกิดแทรกคั่นได้ หรือสติที่เป็นความสงบประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญา มีพร้อม แต่สติปัฏฐานเท่านั้นที่จะรู้ได้ ถ้าไม่ใช่สติปัฏฐานไม่มีทางจะรู้เลย ชื่อต่างๆ ในพระสูตร ข้อความต่างๆ ในพระวินัยหรือในพระอภิธรรม ถ้าไม่ใช่สติปัฏฐานจะเป็นเรื่องราวทั้งหมด
ผู้ฟัง ย้อนกลับมาที่อรรถกถาสติปัฏฐานสูตรอีกครั้ง ในเรื่องของสัมปชัญญะ ๔ มีข้อความที่พูดถึงว่า สัมปชานการี โหติ มีคำอธิบายว่า “เป็นผู้ประกอบกิจทุกอย่างด้วยสัมปชัญญะเป็นปกติ หรือเป็นผู้ทำความรู้สึกตัวนั้นแหล่ะเป็นปกติ เพราะว่าเธอทำความรู้สึกตัวอยู่ทีเดียว ในการก้าวไปข้างหน้า เป็นต้น ไม่ว่าในอริยาบถไหนๆ ก็ไม่เว้นสัมปชัญญะ” ข้อความตรงนี้จะมีข้อความที่พูดถึงการทำ ก็จะทำให้มีความรู้สึกว่าเราก็ทำได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นคนที่ไม่รู้พระอภิธรรมเลย อ่านพระสูตรอาจจะเข้าใจถูกหรือเข้าใจผิด ตรงนี้เป็นจุดที่ว่าทำไมเราเรียนพระอภิธรรม ทำไมเราถึงต้องรู้ปรมัตถธรรม เพราะเหตุว่า ถ้าเป็นพระสูตร อ่านพระสูตรทั้งหมดเป็นเราทั้งนั้น ให้เจริญกุศล หรือว่ากุศลที่ให้กับผู้ที่มีความเห็นถูกมีความบริสุทธิ์มีอานิสงส์มากทุกอย่างหมด ถ้าเพียงอ่านพระสูตรจะมีเรา จะมีตัวตน ซึ่งเหมือนกับว่ามีการทำได้ แต่ว่าที่จะไม่มีตัวตนก็ต่อเมื่อรู้ว่าเป็นปรมัตถธรรมเท่านั้น เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานเวลาที่สติระลึก ต้องมีลักษณะของปรมัตถธรรมปรากฏให้ศึกษา ให้รู้ถูก ให้เข้าใจถูกว่า ลักษณะนั้นเป็นธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน แต่ถ้าเป็นพระสูตรทั้งหมดเหมือนให้ทำได้ ต้องประกอบกัน ไม่เช่นนั้นก็ไม่ทรงแสดงพระอภิธรรมไว้ ก็เพียงแต่พระสูตรคนก็จะสามารถที่จะเข้าใจธรรมได้ แต่คนในยุคนั้น จักขุวิญญาณเที่ยงหรือไม่ เวลาที่ไปเฝ้าทูลถาม ผู้นั้นตอบว่าไม่เที่ยง เขาไม่ได้ไปฟังมาเรื่องอะไร แต่ว่าสภาพธรรมที่มีจริงๆ ขณะนั้นที่มีกำลังเห็น ผู้ที่อบรมเจริญปัญญามาแล้ว เพียงฟังรู้ว่าเป็นธรรม คำว่า เป็นธรรม ของเขา ก็แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า ไม่ใช่เขา และไม่ใช่ตัวตน และธรรมกับธาตุก็คืออันเดียวกัน เพราะฉะนั้นผู้ที่จะตอบได้อย่างนั้นคือ ผู้ที่สติระลึกลักษณะของปรมัตถธรรมจึงสามารถที่จะตอบได้ว่าจักษุไม่เที่ยง โสตไม่เที่ยง หรือแม้แต่ความคิดอะไรๆ ทางมโนทวารทั้งหมดตรัสถามหมด ผู้นั้นก็ตอบได้ว่า ไม่เที่ยง ก็เป็นเรื่องของธรรม ไม่ใช่เรื่องชื่อ เพราะฉะนั้นต้องมีธรรมจริงๆ ที่สามารถจะให้ความจริงได้ ถ้าไม่มีธรรม หรือถ้ายังคิดว่าเป็น เราทำ อยู่ตราบใด ขณะนั้นไม่ใช่สัมมาสติ ไม่เข้าใจแม้แต่เพียงคำว่า สัมมาสติ เพราะสัมมาสติไม่ใช่เรา สัมมาสติเกิดร่วมกับสัมมาทิฏฐิ ซึ่งสัมมาทิฏฐิก็ต้องมีการเข้าใจว่า ไม่ใช่ตัวตน ถ้าเป็นเราทำก็เป็นเราไปตลอด ไม่ได้รู้ลักษณะของปรมัตถธรรม สำหรับผู้ที่มีปัญญา พวกเขาก็รู้ว่าเป็นพระอภิธรรมทั้งนั้น
ผู้ฟัง ความหมายวคือมีพระสูตรขึ้นมา เพื่ออะไร
ท่านอาจารย์ ก็เพื่อแสดงโดยนัยหลากหลายของปรมัตถธรรม เพราะเหตุว่า เรื่องราวในพระสูตรไม่ว่าจะเป็นชาดก หรือว่าไม่ว่าจะเป็นเถรีคาถา เถรคาถา จริยาปิฎก หรือว่าธรรมบท หรืออะไรก็ตาม ถ้าไม่เข้าใจพระอภิธรรมแล้วก็จะไม่รู้เลยว่า ทั้งหมดนี้ เป็นธรรมที่เป็นพระอภิธรรม เพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม อะไรๆ ก็ไม่มี แต่นัยของพระสูตร ประวัติของพระสาวกต่างๆ ประวัติของพระธัมมทินนาเถรี ประวัติของท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ท่านพระมหากัสสปะ ความหลากหลาย ความวิจิตรของสภาพธรรมที่เป็นจิตเจตสิกมากมายมหาศาล เพราะฉะนั้นปรากฏเมื่อไร ปรากฏจากคำพูด จากความคิด จากการกระทำ ไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว ต้องในชาติก่อนๆ ด้วยที่เคยทำมาเคยสะสมมา อย่างชาดกเวลาที่มีการกระทำใดๆ ของใครเกิดขึ้น พระภิกษุก็ไปเฝ้ากราบทูลถาม พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ไม่ใช่เกิดเพียงในชาตินี้ เพราะฉะนั้นความคิดของเราที่จะคิดอย่างนี้คิดอย่างนั้น ไม่ใช่เคยคิดเพียงชาตินี้เท่านั้น เช่นคนที่ชอบทำทาน อย่างท่านอนาถบิณฑิก ท่านก็มีการสะสมที่จะให้ทาน ท่านพระสารีบุตรก็มีการสะสมในทางปัญญา ท่านพระมหากัสสปะท่านสะสมในความเป็นผู้มักน้อย เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า ความหลากหลายของจิตเจตสิกที่เกิดเพียง ๑ ขณะของแต่ละบุคคล ประมาณไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นจึงแสดงปรมัตถธรรมโดยนัยของชีวิตของแต่ละบุคคล ซึ่งก็จะพ้นจากปรมัตถธรรมไม่ได้ แต่ว่าเป็นความหลากหลายมาก เช่นสัญญาเจตสิก ทันทีที่เห็นทุกคนเห็น จำได้ทันที คนไทยก็รู้เลยว่าเป็นดอกมะลิไม่ใช่ดอกไม้อื่น เหมือนกับสัญญาซึ่งเกิดจากการกำลังฟังเรื่องจิต เรื่องธาตุ เรื่องสภาพธรรม เรื่องความต่างกันของจิตกับเจตสิกกับรูป เพราะว่าสัญญาที่เกิดขณะที่กำลังฟังแล้วก็พิจารณา มีวิริยะอีกระดับหนึ่งซึ่งเกิด เพราะว่าเวลาที่ศึกษาแล้ว เราจะรู้ว่าวิริยะเกิดกับจิตเกือบจะทุกดวง เว้นอเหตุกจิต ๑๖ ดวง เพราะฉะนั้น ทันทีที่มีโลภะเกิดยังไม่ต้องเคลื่อนไหวเลย ก็มีวิริยเจตสิกเกิดแล้ว แต่ต่างกับวิริยเจตสิก ซึ่งกำลังฟังแล้วก็ไตร่ตรอง และกำลังพิจารณา กำลังจะเข้าใจลักษณะของปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้นสัญญานั้นก็หลากหลายวิจิตรไปอีก และโดยนัยของพระสูตรก็ใช้ชื่อหลายๆ ชื่อ ซึ่งต้องมีการศึกษาให้เข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นสัญญาประเภทไหน ประกอบด้วยเจตสิกระดับไหน ยังไง เพราะฉะนั้นนัยของพระสูตรซึ่งแสดงเรื่องราว อย่างเช่นพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าปเสนทิโกศล มีในพระสูตร แต่โดยปรมัตธรรมก็คือจิต เจตสิก และความหลากหลายของจิตของพระเจ้าพิมพิสาร กับจิตของพระเจ้าปเสนทิโกศลต่างกัน จิตของพระเจ้าพิมพิสารเป็นพระโสดาบันบุคคล แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ใช่พระโสดาบันบุคคล การกระทำของพระเจ้าพิมพิสารกับการกระทำของพระเจ้าปเสนทิโกศล เช่นเวลาที่พระเจ้าปเสนทิโกศลไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบจูบพระบาทด้วยความเคารพสูงสุด นี่คือการสะสมความวิจิตรของจิตที่จะแสดงความนอบน้อมของแต่ละบุคคล แต่ละกาล นั่นคือพระสูตร แต่ก็ไม่พ้นจากพระอภิธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าคนที่ไม่ได้ศึกษาพระอภิธรรมจะเข้าใจพระสูตรผิด จะเข้าใจข้อความในพระสูตรผิด แต่ถ้าศึกษาแล้ว จึงจะเข้าใจได้ว่าทั้งหมดเป็นปรมัตถธรรม เพราะถ้าไม่มีปรมัตถธรรม สิ่งใดๆ ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นก็ต้องให้สอดคล้องกันด้วย
ทุกขอริยสัจจะ ก็คือการที่จะรู้ลักษณะที่ไม่เที่ยง ซึ่งลักษณะที่ไม่เที่ยงที่เกิดดับ ต้องเป็นลักษณะของปรมัตถธรรมเท่านั้น
ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่าถ้าศึกษาเฉพาะพระสูตรอย่างเดียวทำให้เป็นเรื่องของตัวตนทั้งหมด
ท่านอาจารย์ การศึกษาพระสูตรไม่ทำให้เข้าใจจิต เจตสิต รูป ไม่ทำให้เข้าใจปรมัตถธรรม ไม่รู้ว่าไม่ใช่ตัวตน
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นถ้าผู้ที่ศึกษาไม่เป็น ก็ไม่ทราบเรื่องของปรมัตถธรรมเลย
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าจะศึกษาพระศาสนาก็ควรศึกษาพระอภิธรรมก่อน แล้วจะอ่านพระสูตรได้เข้าใจไม่ผิดพลาด แต่ถ้าศึกษาพระสูตรโดยไม่ศึกษาพระอภิธรรม จะมีความเป็นตัวตนตลอด
ผู้ฟัง ในสมัยนี้ยากที่จะศึกษาพระอภิธรรม
ท่านอาจารย์ ไม่ต้องกล่าวถึงเพราะว่าพระศาสนากำลังเสื่อม เราศึกษาเข้าใจเมื่อไหร่ ถูกต้อง นั่นคือรักษาพระศาสนาไว้ได้ คือความเข้าใจถูก แต่ถ้าเข้าใจไม่ถูกก็คือช่วยกันทำลายพระศาสนา ถ้าบอกว่าขณะนี้มีเรา ไม่มีจิตเจตสิกรูป ไม่ใช่จิตเจตสิกรูป หรือถ้าบอกว่าเป็นเจตสิกรูป และยังบอกว่าเป็นเรา แปลว่าเข้าใจปรมัตถธรรมหรือไม่ เพราะฉะนั้นจึงต้องสอดคล้องกันทั้ง ๓ ปิฏก และหัวใจแก่นแท้จริงๆ คือ พระอภิธรรม คือการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ข้อสำคัญที่สุดคือ เมื่อเราศึกษาปรมัตถธรรมแล้ว เราคิดว่าเราควรจะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ปรมัตถธรรมจริงๆ หรือไม่ หรือว่าไม่รู้ปรมัตถธรรม นี่เป็นจุดที่สำคัญ เมื่อเราศึกษาปรมัตถธรรมรู้ว่า มีปรมัตถธรรม และปรมัตถธรรมก็ไม่ใช่เรา และลักษณะของปรมัตถธรรมประเภทใหญ่ๆ คือ นามธรรมกับรูปธรรม ถ้าเรารู้แบบนี้แล้วจะหยุดยั้งเพียงแค่ว่า เราจะไม่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมหรือไม่ นี่เป็นเรื่องที่น่าคิด ศึกษาแล้วเราจะรู้ถูกต้องโดยการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ปรมัตถธรรมหรือไม่ใช่
ผู้ฟัง ส่วนมากเมื่ออ่านหรือเข้าใจในสิ่งต่างๆ แล้ว สำหรับตัวของดิฉันเองมักจะกลับย้อนเข้ามาพิจารณาสภาพนั้นให้เข้าใจยิ่งขึ้น นี่เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่
ท่านอาจารย์ คือพิจารณาปรมัตถธรรม แต่ว่ายังมีความเป็นตัวตนอยู่ จนกว่าจะหมดความเป็นตัวตน เพราะว่าพระโสดาบันละสักกายทิฏฐิความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะฉะนั้นต้องไม่มีเราที่กำลังทำด้วย
ผู้ฟัง ในสติปัฏฐานสูตร ข้อความตอนท้ายของทุกบรรพ จะพูดถึงการพิจารณาสภาพธรรมทั้งภายใน และภายนอก ภายในอย่างหนึ่ง ภายนอกอย่างหนึ่ง และทั้งภายใน และภายนอก และพิจารณาถึงความเกิด พิจารณาถึงความเสื่อม พิจารณาทั้งความเกิด และความเสื่อม ตรงนี้เมื่ออาจารย์แสดงสติปัฏฐาน ส่วนมากแสดงถึงการพิจารณาสภาพธรรมที่ปรากฏทางทวารทั้งหลาย แต่ไม่พูดถึงว่าพิจารณาเป็นภายใน และภายนอก หรือทั้งความเกิด และความเสื่อม
ท่านอาจารย์ ภายในกับภายนอกถ้าไม่ปรากฏจะรู้ได้หรือไม่ เพราะไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอก ถ้าไม่ปรากฏจะรู้ได้หรือไม่
ผู้ฟัง ขั้นคิดก็คิดได้
ท่านอาจารย์ แต่ขั้นที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมไม่ใช่ขั้นคิด
ผู้ฟัง มี ๒ อย่างใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ ต้องมีสภาพธรรมแน่นอน คือต้องรู้ว่าการที่จะรู้ความจริง ความจริงก็คือสิ่งที่มีจริง อันนี้แน่นอนที่สุด ไม่ใช่สิ่งที่เรานึกหรือเรียกชื่อว่าภายในหรือภายนอก แต่ต้องมีสภาพธรรมที่มีจริงๆ ลักษณะที่มีจริงๆ จำแนกได้อีกเยอะมาก โดยนัยของขันธ์ อายตนะ โดยธาตุ อายตนะก็มีทั้งภายใน ภายนอก เพราะฉะนั้นเราไม่ได้ไปเรียกชื่อ ขณะที่สภาพธรรมกำลังปรากฏ เมื่อสภาพธรรมมีกำลังปรากฏ ควรที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่ใช่เพียงด้วยการที่ไปคิด หรือว่าโดยการที่ว่า เมื่อฟังเรื่องนี้ก็มีความรู้เพียงแค่คิด แต่ไม่สามารถที่จะรู้ว่าขณะที่คิด ลักษณะที่คิดไม่ใช่ลักษณะที่กำลังระลึกตรงสภาพธรรมที่คิด หรือว่าตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏกับสติสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดว่าต่างจากขณะที่หลงลืมสติ และขณะไหนเป็นสติขั้นฟัง เช่นขณะที่กำลังฟังเข้าใจต้องมีสติเจตสิก ต้องมีสมาธิคือเอกัคคตาเจตสิก มีหิริเจตสิก มีโอตตัปปเจตสิก มีโสภณเจตสิกทั้ง ๑๙ ดวง โดยไม่รู้เลยเพราะกำลังฟังเรื่องราว แต่สภาพธรรมเหล่านี้ก็มีครบเวลาที่กุศลจิตเกิด และกำลังเป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงจากความเข้าใจถูกต้อง จนกระทั่งถึงขณะที่สติสัมปชัญญะระลึก เพราะฉะนั้นผู้ที่สติสัมปชัญญะเกิดเป็นสัมมาสติก็จะรู้ได้ว่าการที่สัมมาสติเกิดต้องมีปัจจัย ถ้าไม่มีการเข้าใจจริงๆ ไม่มีการฟังเรื่องที่กำลังปรากฏแล้ว สติสัมปชัญญะจะระลึกอะไร เพราะฉะนั้นทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผลที่จะรู้ว่า แม้แต่การที่จะเข้าใจความหมายของคำว่า สังขารขันธ์ ไม่ใช่โดยชื่อ รูปขันธ์มีจริงๆ ทุกอย่าง รูปทุกชนิดขณะนี้กำลังเกิดดับ รูปตั้งแต่แสนโกฏิกัปป์ สีสันวรรณะข้างหน้าอีกขณะนี้ก็คือสภาพที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นเราก็สามารถที่จะเข้าใจอรรถของขันธ์ที่จำแนกป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็นอนาคต เป็นใกล้ ไกล หยาบ ละเอียด เลว ประณีตได้ว่า รูปต่างกันอย่างนั้นจริงๆ หลากหลายจริงๆ พอถึงความรู้สึกซึ่งเป็นเวทนา สุขเวทนาขณะนี้ ขณะก่อนนั้นกับขณะข้างหน้า ทางกายเป็นสุขเวทนา ทางใจเป็นโสมนัสเวทนา ซึ่งอยู่ในประเภทของเวทนาคือความรู้สึกซึ่งหลากหลายอีกเหมือนกัน ทั้งอดีตปัจจุบัน อนาคต ทั้งใกล้ และไกล ทั้งภายใน และภายนอก ทั้งหยาบ ทั้งละเอียด เพราะฉะนั้นการศึกษาพระไตรปิฎกหลากหลายมากมาย แม้โดยพยัญชนะที่ว่า ขันธ์ ก็มีทั้งภายใน ภายนอก มีทั้งหยาบ และละเอียด มีทั้งใกล้ ไกล เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจให้ถูกให้ตรง ตรงนี้หมายความถึงอะไร ตรงนั้นหมายความถึงอะไร แต่จะอย่างไรก็ตาม ตรงไหนก็ตาม สภาพธรรมใดที่ไม่ปรากฏ สภาพธรรมนั้นไม่มีปัจจัยเกิดขึ้นจึงไม่ปรากฏ หรือว่าสภาพธรรมนั้นมีปัจจัยเกิดแล้ว ดับแล้ว โดยที่สติปัฏฐานไม่รู้ เช่นขณะนี้สภาพธรรมที่เป็นรูปเยอะมากเกิดดับไปโดยที่สติปัฏฐานไม่ระลึก เพราะฉะนั้น ถ้าสติปัฏฐานจะระลึกที่จะรู้การเกิดดับ ก็ต้องระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม ซึ่งสำหรับผู้ที่เริ่มอบรมเจริญสติปัฏฐานจะไม่มีการรู้ลักษณะที่ละเอียดของขันธ์ ไม่ว่าจะเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ เพราะว่าแม้ว่าลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรมก็ยังไม่รู้ เพราะฉะนั้นเวลาที่เป็นการอบรมเจริญปัญญา และการประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมจะสอดคล้องกับการศึกษาว่า การศึกษาเริ่มต้นเรารู้เพียงแค่เป็นธรรม ขณะนี้ที่สติระลึกก็หมายความว่า เรามีสัญญาความจำที่มั่นคงว่า ขณะนี้เป็นธรรมที่สติระลึกได้ ไม่ใช่ระลึกไม่ได้เลย ขณะนี้มีสิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรมที่สติระลึกได้ แต่ไม่ใช่เราระลึก เพราะว่าไม่มีเรา แต่เมื่อมีปัจจัยคือสังขารขันธ์ที่เป็นทั้งสติด้วย สมาธิด้วย ขณะนี้ค่อยๆ ปรุงแต่ง จนกระทั่งเมื่อสัมมาสติเกิดระลึกคนนั้นรู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพของสติที่เป็นสัมมาสติ ที่กำลังระลึกลักษณะของปรมัตถธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นเป็นการเพียงแต่จะเริ่มศึกษาลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม เพราะฉะนั้นปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธต้องสอดคล้องกันว่า ปฏิบัติก็ต้องคล้อยตามปริยัติ เริ่มจากธรรม เริ่มจากลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม เวลาที่ประจักษ์ลักษณะสภาพธรรมก็ประจักษ์อย่างนั้น คือรู้ลักษณะความหมายของธาตุ หรือ ธา-ตุ หรือ ธรรม และก็รู้ความต่างที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม ไม่ใช่เอาตัวหนังสือมาก่อน แล้วเราไปรู้แล้วไปคิด แต่ไม่สามารถที่จะรู้ความเป็นภายในหรือภายนอก หรือว่าความหยาบหรือความละเอียด หรือว่าความเป็นลักษณะที่หลากหลายของธรรม เพราะฉะนั้นการศึกษาต้องรู้ว่า ศึกษา ตรงนี้หมายความว่าอย่างไร และการที่เวลาที่สัมมาสติเกิดระลึกคืออย่างไร เวลาที่ระลึก และที่จะค่อยๆ รู้ ต้องตรงอย่างไร ถ้าเป็นการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ทางตาในขณะนี้ คือจากการฟังเรารู้ว่า สิ่งที่มีถ้าไม่คิดไม่เป็นคน หนังสือพิมพ์ไม่มี นายกรัฐมนตรีไม่มี ไฟไหม้ไม่มี น้ำท่วมไม่มี ก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาฉันใด ขณะนี้ก็เป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งแต่ก่อนนี้เราไม่เคยที่จะระลึก แต่พอฟังบ่อยๆ เข้าก็เกิดระลึกว่า แท้ที่จริงแล้วขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นคนนั้นก็เป็นคนที่อาจหาญ ร่าเริง ไม่หลับตา ไม่หลีกเลี่ยง แต่กำลังเห็นค่อยๆ เข้าใจถูก ค่อยๆ รู้ขึ้นทีละน้อยจริงๆ ว่า เป็นเพียงธรรมที่ปรากฏนอกจากนั้นเป็นคิด จะได้รู้จักตัวคิด หรือโลกของความคิด หรือทางมโนทวารว่า แท้ที่จริงแล้วมโนทวารสร้างเรื่องราวต่างๆ เต็มไปด้วยความนึกคิดถึงสีสันวรรณะ ความทรงจำ ทั้งอดีตก็เอามาผสมกับขณะที่กำลังปรากฏ ชื่อนี้ไม่ลืม คนนี้ไม่ลืม กำลังทำอะไรอยู่ ก็เป็นสิ่งที่ทางใจปรุงแต่งตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้จึงต้องแยกแต่ละทางโดยการศึกษาพระอภิธรรมให้รู้ว่า ทางจักขุทวารวิถีกำลังมีปรมัตถธรรมเท่านั้นเป็นอารมณ์ ยังไม่มีการคิดนึกเรื่องสิ่งนั้น หรือทางหูก็กำลังมีเสียงเท่านั้นเป็นอารมณ์ ยังไม่มีการรู้ความหมายของเสียงสูงๆ ต่ำๆ นั้นเลย จะทำให้เราค่อยๆ เห็นความจริงว่า ธรรมเกิดดับสืบต่อจนแยกไม่ออก ถ้าไม่อาศัยสติที่มีความเข้าใจที่ถูกต้องจากการฟัง เริ่มที่จะมีการระลึกว่า ขณะนี้เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ เพียงหลับตาสิ่งนี้ก็ไม่มี ค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละน้อยๆ จนกว่าจะเข้าใจเพิ่มขึ้น ก็จะรู้ว่า ขณะใดเป็นขณะที่นึก เป็นโลกของทางใจหมดเลย ที่เห็นคนกำลังเดิน เป็นโลกของทางใจ เป็นจิตที่คิดเรื่องราว ไม่มีปรมัตถธรรม ไม่มีอ่อนหรือแข็งของคนนั้นที่จะมาปรากฏให้รู้ได้เลย ไม่มีทาง เพราะอ่อนหรือแข็งจะปรากฏเมื่อกระทบกับกายปสาทเท่านั้น ถ้าไม่กระทบกับกายปสาท คนนั้นอ่อนคนนี้แข็งคือนึก แต่ว่าอ่อนแข็งของคนนั้นไม่มีทางที่จะมาปรากฏทางมโนทวาร เพราะเหตุว่าจะต้องรู้ทางกายปสาท เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ปรมัตถธรรมจริงๆ ที่มีก็ตรงประโยชน์ของการศึกษาพระอภิธรรมคือ เราไม่เข้าใจผิด เราสามารถจะรู้ความต่างของ ๖ ทาง ไม่ใช่โดยชื่อ แต่โดยความเป็นจริงของสภาพธรรม
ผู้ฟัง การพิจารณาภายนอกคือการรู้ทางมโนทวารได้
ท่านอาจารย์ ยังไม่ต้องคิดเรื่องภายนอกภายใน เพราะว่าปัญญาของเราต้องรู้ลักษณะที่เป็นธรรมก่อน และสามารถที่จะรู้ความต่างของนามธรรม และรูปธรรมก่อน มิฉะนั้นเราก็จะเอาความคิดที่เราศึกษามาปนกับการที่เราจะต้องรู้ เช่นภายนอกจะต้องไปรู้ธาตุแข็งของคนนั้น หรือวาโยธาตุของคนนี้ ซึ่งเป็นภายใน ไม่ใช่ แต่ต้องเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ความไม่รู้ของเรา กับความเป็นคนนั้น มาจากความคิดนึก จริงๆ แล้วที่จะเป็นคนนั้นกำลังเดิน ต้องจากเห็นแล้วถึงจะคิด เช่นคนกับโต๊ะต่างกัน เพราะฉะนั้นการทรงจำลักษณะสัณฐานของคน กับลักษณะสัณฐานของโต๊ะ ต่าง และยังนึกถึงคนนั้นกำลังเดิน มันก็เป็นเรื่องราวตามต่อมาจากการเพียงเห็น และความทรงจำในคน ความทรงจำในอากัปกิริยา ก็นึกปิดบังสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับของทางรูปารมณ์ที่กำลังปรากฏ ต้องแยกให้ออกจริงๆ ในแต่ละทาง แม้ขั้นการฟัง ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ถ้าขั้นการฟังเราไม่กระจ่าง เราไม่สามารถจะอบรมเจริญปัญญาให้ตรงลักษณะที่ความจริงเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ที่เราจะศึกษาพระสูตรบ้าง พระอภิธรรมบ้าง หรือพระวินัยบ้างก็ตามแต่ ประโยชน์สูงสุดคือสามารถที่จะเข้าใจว่า ไม่ใช่ตัวตน อันนี้จริง อนัตตา เพราะฉะนั้นเมื่อมีสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนคือจิตเจตสิกรูป จึงมีพระวินัยบัญญัติ เพราะว่ามีรูปสำหรับเป็นทางออกของกุศลจิต และอกุศลจิต แต่ในเมื่อเป็นเพศบรรพชิตแล้ว ควรจะมีกายวาจาอย่างไรที่เหมาะที่ควร เพราะฉะนั้นจิตของบุคคลนั้นที่มีศรัทธาแล้ว ก็ต้องน้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตามจึงได้มีพระวินัย และสำหรับพระสูตรก็เป็นความหลากหลายมากมายของสัญญาเจตสิก ของปัญญาเจตสิก แม้ผัสสะ ไม่ใช่มีแต่เพียงหนึ่งที่เป็นผัสสเจตสิก เป็นผัสสะ ๖ แล้วแต่ทวาร นี่คือชื่อทั้งหมด แต่ตัวจริงของเขา เมื่อเราเข้าใจ เราต้องรู้เริ่มที่จะเข้าใจ ตรงไหน ตอนไหน ด้วยอะไร เพราะฉะนั้นแทนที่จะไปคิดว่า เราจะต้องรู้รูปภายในภายนอก หรือว่ากายภายในภายนอก จิตภายในภายนอก เวทนาภายในภายนอก ต่อเมื่อไรที่เรารู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงก็จะกระจ่างว่า แท้ที่จริงแล้วที่มีภายนอกเป็นอารมณ์ และที่มีคนหรือมีความคิดเรื่องคนก็เพราะคิดนึก คือ ๖ ทวารต้องแยกออกจากกันได้ และต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ถ้ายังมีความคิดนึกว่าเป็นคน ขณะนั้นไม่ใช่เป็นการมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ต้องสามารถที่จะรู้ความต่างของแต่ละทวารได้
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 2
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 3
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 4
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 5
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 6
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 7
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 8
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 9
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 10
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 11
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 12
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 13
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 14
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 15
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 16
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 17
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 18
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 19
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 20
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 21
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 22
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 23
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 24
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 25
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 26
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 27
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 28
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 29
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 30
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 31
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 32
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 33
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 34
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 35
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 36
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 37
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 38
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 39
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 40
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 41
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 42
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 43
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 44
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 45
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 46
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 47
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 48
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 49
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 50
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 51
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 52
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 53
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 54
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 55
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 56
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 57
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 58
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 59
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 60