ปกิณณกธรรม ตอนที่ 52


    ตอนที่ ๕๒

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔


    ท่านอาจารย์ คือ ๖ ทวารต้องแยกออกจากกันได้ และต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ถ้ายังมีความคิดนึกว่าเป็นคน ขณะนั้นไม่ใช่เป็นการมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ต้องสามารถที่จะรู้ความต่างของแต่ละทวารได้

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์พูดว่า ในขณะที่มีความคิดนึก ถ้าในขณะนั้นสติเกิดระลึกตรงความคิดนึก นั่นก็เป็นอารมณ์ของสติได้

    ท่านอาจารย์ และขณะนั้นเป็นอะไร ไม่ต้องคิดเรื่องภายในภายนอก เพราะเหตุว่า ก่อนสติปัฏฐานเกิด มีภายในภายนอก แต่พอสติปัฏฐานเกิด มีสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่คน และเราก็สามารถจะเข้าใจความหมายของภายในภายนอกอีกนัยหนึ่งได้ ซึ่งเป็นตัวจริงๆ ของเขา เช่น มนายตนะกับธรรมายตนะ มนายตนะได้แก่จิตเท่านั้น นอกจากจะพูดถึงจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท เป็นอายตนะภายใน แม้แต่ภายใน ทำไมเป็นภายใน เราก็ต้องรู้อีกว่าเป็นจริงๆ เพราะอะไร เพราะว่ารูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ถ้ากระทบสัมผัส เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว เพราะมีกายปสาท ถ้าไม่มีกายปสาท โต๊ะนี้จะไม่รู้เลย อะไรที่มากระทบเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง อะไรที่มากระทบก็ไม่รู้ น้ำแข็งวางลงไป หรือไฟจะไปกระทบ โต๊ะไม่รู้ได้เพราะไม่มีกายปสาท เพราะฉะนั้นรูปทั้งหมด เฉพาะรูป ๕ รูปนี้เท่านั้นที่เป็นภายใน นี่คือรูปภายใน ความหมายอีกนัยหนึ่ง เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีรูป ๕ รูป ไม่มีการรู้อะไรเลยทั้งสิ้น เหมือนต้นไม้ใบหญ้า เหมือนสิ่งที่ไม่มีชีวิต แข็งเหมือนฟืน หมายความว่าไม่มีการรับรู้ใดๆ ทั้งสิ้น แต่เมื่อมีรูปเหล่านี้ การเห็นจึงมี และก็มีการคิดนึกเรื่องสิ่งที่เห็นจึงมี อาศัยทางตา เพราะฉะนั้นในพระสูตรจะแสดงตั้งแต่วิตกที่เกิด และโลภะที่เกิด ฉันทะที่เกิด อะไรที่เกิด สืบเนื่องมาจากการเห็นทั้งนั้น ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย พวกนี้เป็นรูปพิเศษในบรรดารูป ๒๘ รูป นี้ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องไม่ต้องท่อง รู้ว่า ๕ รูปนี้เป็นรูปภายใน เพราะเหตุว่าเกี่ยวเนื่องติดต่อกับจิตโดยตรง เป็นรูปที่จิตอาศัย สำหรับเป็นทางที่จะรู้โลกนี้ทางตาว่า สิ่งนี้กำลังปรากฏ เป็นอย่างนี้เพราะอาศัยจักขุปสาท ถ้าคนที่ตาบอด รูปนี้ไม่รู้เลยสีสันวรรณะในโลกนี้ วัดพันเตาเป็นอย่างไร วัดสวนดอก วัดพระเจดีย์หลวงเป็นอย่างไร ไม่มีทางเลยถ้าไม่มีจักขุปสาท เสียงใดๆ ก็ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นในบรรดารูป ๒๘ รูป หรือรูปทั้งหมด รูป ๕ รูปนี้ เป็นรูปภายใน อย่างนี้แล้วจะมีใครลืมไหม รูปอื่นเป็นภายนอก ถ้าจะกล่าวถึงอะไรที่เป็นภายในภายนอกโดยปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมต้องโดยหลายนัย แต่นัยที่สำคัญที่สุดก็คือว่า ปรมัตถธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง นอกจากปรมัตถธรรมแล้วเป็นบัญญัติ ขณะใดที่จิตไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นเราก็รู้ได้ว่าปรมัตถธรรมเท่านั้นที่เป็นสิ่งที่มีจริง จะเรียกชื่อ หรือไม่เรียกชื่อก็ตามแต่ จะใช้ภาษาอะไรก็ตามแต่ จะรู้หรือไม่รู้ สภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมก็มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ถ้ากำลังเป็นอารมณ์ก็คือปรากฏแล้วก็หมดไป นี่คือสิ่งที่ปัญญาจะต้องอบรมจนกว่าจะประจักษ์แจ้งในทุกขลักษณะของปรมัตถธรรมของสภาพธรรมที่เป็นอริยสัจจ์ที่ ๑

    ผู้ฟัง ที่กล่าวว่าเราจะต้องศึกษาให้รู้ทั่ว ขอยกตัวอย่างที่พระองค์ได้ทรงแสดงนัยขันธ์ ๕ ที่ว่า อดีต อนาคต ปัจจุบัน ใกล้ ไกล ละเอียด เป็นต้น ทั้ง ๑๑ อย่าง ในฐานะที่เราเป็นผู้ศึกษา ที่ว่าให้รู้ การศึกษาให้เข้าใจก็ต้องรู้ในรายละเอียดความหมายที่พระองค์ได้ทรงแสดงมา

    ท่านอาจารย์ คือว่าการศึกษาโดยขั้นปริยัติ หรือโดยปฏิบัติ ศึกษาจริงๆ ไม่ใช่ฟัง และจำชื่อ หรือเข้าใจโดยความคิด แต่ไม่ประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม ทั้งๆ ที่สภาพธรรมขณะนี้ ก็คือจิต เจตสิก รูปกำลังเกิดดับ แต่กำลังเรียน กำลังพูดเรื่องจิต เจตสิก รูป ไม่ว่าจะเป็นภายในภายนอกหรืออะไรก็ตามก็เป็นเพียงชื่อ ยังไม่รู้ลักษณะแท้จริงของจิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้นจุดประสงค์ของการศึกษา ไม่ใช่เพียงให้ศึกษาเรื่องราว แต่ศึกษาหรือ สิก-ขา ที่เป็นอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา คือศึกษาสภาพที่มีจริงๆ และจะรู้ความละเอียด ทั้งหมดที่เรียนมา ตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ที่ปรากฏให้รู้ ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวถึงรูปโดยนัยที่เป็นหยาบ ละเอียด ไกล ใกล้ เลว ประณีต ภายใน ภายนอก อย่างไรก็ตามแต่ รูปเป็นจริงอย่างนั้น แต่ว่ารูปทุกรูปเกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้นเราก็รู้แต่ว่ารูปเป็นจริงอย่างนั้นก็เกิดดับเร็วมาก แล้วก็ใกล้ ไกล แล้วก็หยาบละเอียด แล้วก็เร็วประณีต แต่ไม่รู้ลักษณะของรูปสักรูปเดียว เพราะว่าเกิดแล้วดับแล้วขณะนี้ เพียงแต่ว่ารู้โดยการฟัง และรูปก็มี แต่ไม่ปรากฏกับอวิชชา สภาพปรมัตถธรรมมีจริงๆ แต่อวิชชาไม่สามารถจะรู้ได้เลย ปัญญาขั้นปริยัติก็เพียงแต่เริ่มที่จะก้าวเข้าไปสู่เรื่องราวของปรมัตถธรรมด้วยความเข้าใจจากการพิจารณา จากการไตร่ตรอง จากการฟังด้วยดีที่จะรู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างไร เกิดขึ้นไม่ใช่ตัวตนอย่างไร ดับอย่างไรเท่านั้น แต่การศึกษาแท้จริงคือศึกษาพร้อมสติสัมปชัญญะ ที่กำลังมีลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ให้รู้ว่าตรงตามที่ได้ศึกษาทุกอย่าง แม้แต่คำแรกว่าเป็นธรรม ก็คือไม่มีใครไปให้สติเกิด ไม่มีใครให้แข็งเกิด ไม่มีใครให้เห็นเกิด ทุกอย่างมี แต่ที่จะมีได้ ทรงแสดงไว้ในคัมภีร์สุดท้ายคือปัจจัย หรือปัฏฐาน เพราะฉะนั้นการศึกษาของเราก็คือว่า เราเข้าใจปรมัตถธรรม และเรารู้ว่าเรากำลังศึกษา เรื่องที่มีจริงเพื่อที่จะรู้ลักษณะที่มีจริง เพื่อการประจักษ์แจ้งสิ่งที่มีจริง จึงไม่ใช่ทัพพีที่ไม่รู้รสแกง หรือไม่ใช่ใบลานเปล่า เพราะเหตุว่ามีแต่เรื่องราว แต่ว่าสภาพธรรมที่มีจริงๆ ขณะนี้ สามารถที่จะค่อยๆ อบรมปัญญาทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะรู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมมานั้นๆ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นความต่างกันของปัญญาระดับฟัง ระดับเข้าใจกับปัญญาที่เกิดพร้อมสติที่ระลึกลักษณะของสภาพซึ่งเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม และเห็นว่าลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมต่างกัน ธรรมก็ต้องไปตามลำดับเวลาประจักษ์ก็ประจักษ์ตรงตามที่เริ่มฟังเป็นอย่างนี้ เวลาที่จะประจักษ์ก็ต้องประจักษ์เริ่มต้นอย่างนี้ และก็ต้องตรง และก็ต้องรู้ว่าการที่สภาพธรรมจะปรากฏได้ ๖ ทางจริงๆ ถ้าไม่มี ๖ ทาง ไม่มีทางเลย เช่นขณะที่นอนหลับสนิท และความหมายของอายตนะ ลองคิดดู กำลังหลับสนิทมีจิต มีเจตสิก มีเพียงแค่ ๒ อย่าง มนายตนะกับธรรมายตนะ อารมณ์ไม่ได้ปรากฏเลย เพราะว่าเป็นอารมณ์ของชาติก่อน ซึ่งไม่ใช่ขณะที่อาศัย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เราตื่น และรู้ว่าเป็นเรา มีเรา มีโลก มีเพื่อน มีฝูง มีทุกสิ่งทุกอย่างเพราะตา เพราะหู เพราะจมูก เพราะลิ้น เพราะกาย เพราะใจ แต่ขณะที่เป็นภวังค์ เป็นจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต เพราะเหตุว่าไม่ได้อาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์ โลกนี้ไม่ปรากฏ ความน่าอัศจรรย์ก็คือสิ่งที่เราคิดว่าเป็นธรรมดา พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าเป็นอายตนะ เสียงเป็นอายตนะภายนอก โสตปสาทอายตนะภายใน ทำไมสิ่งที่ทุกคนก็มีอยู่ทุกวัน แต่ทรงแสดงอย่างนี้ ก็เพราะเหตุว่า ลองคิดถึงความน่าอัศจรรย์ของสภาพธรรม ถ้าเป็นเรา ไม่น่าอัศจรรย์ ไม่เห็นใครบอกว่าเสียงน่าอัศจรรย์ ได้ยินน่าอัศจรรย์ เพราะเป็นเราได้ยิน แต่ถ้าคิดถึงสภาพที่เป็นธาตุไม่มีเจ้าของ ธาตุนี้ปรากฏได้อย่างไร ในเมื่อตอนที่ไม่รู้เรื่องเลย ไม่รู้อะไรเลย เป็นภวังค์ไม่มีอะไรปรากฏ และเกิดมีสภาพนี้ปรากฏ ลองคิดดูว่าน่าอัศจรรย์ไหม หรือยังไม่น่าอัศจรรย์ แค่เสียงจะอัศจรรย์หรือ แต่ความจริงเมื่อสักครู่ไม่มี แล้วทำไมมี ไม่น่าอัศจรรย์หรือว่า ทำไมมีได้ ทำไมปรากฏได้ และเสียงไม่ใช่สี ไม่ใช่กลิ่นด้วย เพราะฉะนั้นก็ต้องอาศัยอายตนะทางของเขาจริงๆ ซึ่งได้แก่โสตปสาท ซึ่งถ้าขณะนั้นกรรมไม่ทำให้โสตปสาทรูปเกิด เสียงก็ไม่มีทางที่จะปรากฏ อายตนะภายนอกจะไม่ปรากฏ ไม่เป็นอารมณ์ แต่ชีวิตก็คือไม่เห็นก็ได้ยิน ไม่ได้ยินก็ได้กลิ่นไม่ได้กลิ่นก็ลิ้มรส ไม่ลิ้มรสก็รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส ไม่กระทบสัมผัส ก็คิดนึก นี่คือชีวิตวันหนึ่งๆ เพราะฉะนั้นปัญญาต้องรู้ การตรัสรู้คือรู้สิ่งที่มี แต่โดยความน่าอัศจรรย์ของสภาพธรรมแต่ละอย่างที่มีปัจจัยเกิดปรากฏแล้วก็หมดไป และก็เป็นทุกขลักษณะ และเป็นทางที่จะได้รู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ จนละคลายความไม่เคยรู้เพราะความไม่รู้ของเรา ไม่รู้อะไร ก็ไม่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ใช่ไปไม่รู้อื่น ถ้ารู้ก็รู้สิ่งที่ปรากฏ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขึ้นอยู่กับระดับของความรู้ ความเข้าใจว่ารู้แค่ไหน แต่ต้องเป็นสิ่งที่ปรากฏ และต้องเป็นทางตาหรือทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจ เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานก็รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ จะไปรู้สิ่งที่นึกคิดเอาไม่ได้ นั่นเป็นเพียงแต่ความคิดนึกทางใจ ซึ่งถ้าไม่ได้นึกคิดสิ่งนั้นก็ไม่มี ที่จะมีคนเดินคนนั่งก็ไม่ได้ แต่เพราะคิดจึงมี มีแค่คิด

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์อธิบายว่าทางตา ทางหู จมูก ลิ้น กาย สิ่งที่เกิดขึ้นน่าอัศจรรย์ไหม ซึ่งดูแล้วก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าอัศจรรย์

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่รู้

    ผู้ฟัง เพราะไม่รู้ เพราะความเคยชินที่คุ้นกับสิ่งเหล่านี้ จนดูเป็นเรื่องไม่น่าที่จะเป็นอย่างนี้ อย่างที่ท่านอาจารย์อธิบาย ต่อเมื่อเราได้เริ่มคิดถึงคำพูด ว่าน่าอัศจรรย์ไหม ก็ต่อเมื่อเริ่มเข้าใจในสิ่งต่างๆ ว่า การเกิดของสิ่งเหล่านี้มีเหตุมีปัจจัย และแต่ละทางก็รับไม่เหมือนกัน ถ้าผู้ใดเริ่มเข้าใจตรงนี้ และเริ่มพิจารณา ก็จะเริ่มเห็นความอัศจรรย์ที่ละนิดถูกต้องใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ และปัญญาจริงๆ ที่จะถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ต้องประจักษ์การเกิด และดับด้วย ลองคิดดู เพราะฉะนั้นคำว่าอายตนะ สำหรับคนที่เข้าใจสภาพธรรมโดยประจักษ์แจ้ง เขาจะรู้ในลักษณะที่เป็นอายตนะ ไม่ใช่ไปจำชื่ออายตนะ เพราะฉะนั้นก็รู้เลยว่า ถ้าไม่มีตาหู จมูก ลิ้น กาย ไม่มีนามธรรม ไม่มีรูปธรรม อายตนะจะมีไหม ทุกอย่างที่ทรงแสดงไว้จะไม่มีถ้าไม่มีปรมัตธรรม แต่ปรมัตถธรรมหลากหลาย โดยลักษณะ โดยหน้าที่ โดยการเกิดดับสืบต่อ ที่ทรงแสดงไว้ทั้งหมดก็คือให้เข้าใจลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมจนกว่าจะรู้จริงๆ เข้าใจจริงๆ ประจักษ์แจ้งจริงๆ ไม่หลงทางไปรู้อย่างอื่น สามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม มิฉะนั้นไม่มีอะไรที่จะไปถอนรากที่ลึกมากของความเป็นตัวตนที่มีอยู่ในแสนโกฏิกัปป์มาจนถึงปัจจุบัน เพราะฉะนั้นถ้าศึกษาโดยละเอียดจะเห็นว่า ผู้ที่ได้ฟังพระธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ถึงแม้ว่าเขาไม่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ในสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เขาก็ไม่มีความท้อถอย ก็รู้ว่าปัญญาก็คือสภาพที่สามารถจะรู้แจ้งความจริง ไม่ต้องการสิ่งที่หลอกลวง ไม่ต้องการคิดเอง เข้าใจเอง แต่ต้องรู้ว่าสภาพธรรมที่มีจริงๆ ทรงแสดงไว้โดยละเอียดอย่างไร ที่จะเข้าใจถึงความไม่ใช่ตัวตน แล้วปัญญาก็จะต้องระลึกลักษณะสภาพธรรมที่มีจริงๆ จนกว่าจะประจักษ์ว่า เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ซึ่งเกิดดับ

    ผู้ฟัง นึกถึงเมื่อวานที่ไปเยี่ยมคุณป้าชมเชย มีเราอยู่คนเดียว มีอาการที่มันขึ้นๆ ลงๆ สภาพจิตตรงนั้น เราไม่มีสติที่จะไปเข้าใจว่ามันเป็นจิต เจตสิก รูป ที่มันปรุงแต่งของมันเอง พอเราเห็นก็เป็นคุณป้าชมเชย โทสะก็เกิดขึ้น มาเหลียวดูท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์ก็เฉย มีความรู้สึกว่าปัญญาเราไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจสภาพตรงนั้น เป็นอะไรที่ว่า คนที่เข้าใจสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูป ไม่ว่าข้างนอกข้างใน ความรู้สึกมันเหมือนกัน จิต เจตสิก รูปที่มันปรุงแต่งของมันเอง

    ท่านอาจารย์ แต่ต้องเข้าใจลึก และละเอียดกว่านั้น ผู้ที่จะไม่มีโทสะหรือโทมนัสเลยต้องเป็นพระอนาคามีบุคคล เพราะฉะนั้นจะดูเพียงภายนอกเผินๆ ไม่ได้

    ผู้ฟัง สนใจคำหนึ่ง คำว่า “พิจารณา” ซึ่งเป็นเรื่องที่กระผมสนใจมากๆ พิจารณาจนกว่าจะเข้าใจ พิจารณาตรงนี้ จะพิจารณาอะไร ขณะไหน หลังจากการฟังดูง่ายๆ เหมือนกับว่าเราเข้าใจ พิจารณา และสังเกตว่า ถ้าสติเกิด สภาพธรรมปรากฏทางทวาร ถ้าเวทนาเกิด ขณะนั้นพิจารณาเวทนาตรงนั้น ถูกหรือผิด

    ท่านอาจารย์ สติมีลักษณะอย่างไร

    ผู้ฟัง สติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เวลากุศลจิตเกิด อกุศลจิตเกิด เป็นโทสะก็ได้ โลภะก็ได้ พอเราได้รับทางมโนทวาร ขณะนั้นเราพิจารณาตรงทางมโนทวารตรงนี้

    ท่านอาจารย์ พิจารณาอย่างไร

    ผู้ฟัง พิจารณาว่าเป็นสภาวะที่เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ เป็นความคิดใช่ไหม ที่ใช้คำว่าพิจารณา

    ผู้ฟัง อยากถามว่าเป็นความคิด หรือการพิจารณาในลักษณะไหน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นมีความสงสัยว่าพิจารณาคือคิด หรืออย่างไร เวลาคิด คิดเป็นคำใช่ไหม

    ผู้ฟัง คิดเป็นคำ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นกำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรมหรือไม่

    ผู้ฟัง โดยปกติแล้วจะไม่ได้คิดถึงลักษณะสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ เวลานี้มีปัญหาอยู่ตรงพิจารณา ที่ว่าจะพิจาณาอย่างไร เพราะฉะนั้นมีคำถามว่า พิจารณาคือคิดใช่ไหม

    ผู้ฟัง พิจารณาเป็นคิด

    ท่านอาจารย์ ขณะที่คิดไม่ใช่ขณะที่กำลังระลึกศึกษาลักษณะของปรมัตถธรรม เพราะว่าขณะที่คิด ต้องเป็นคิดถึงคำ เป็นเรื่อง เป็นคำ

    ผู้ฟัง แต่ถ้าขณะที่พิจารณาสภาพธรรมจริงๆ ขณะนั้นต้องเป็นการประจักษ์

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ประจักษ์ แต่มีลักษณะ แล้วแต่จะเป็นอะไร แต่เป็นสิ่งที่มีจริง เช่นทางตา ทางหู จักขุทวารวิถีจิตมีคือเห็น หรือโสตทวารมีได้ยิน ขณะนั้นไม่ได้คิด แล้วจิตก็เป็นภวังค์ ปกติธรรมดามโนทวารวิถีก็รู้สิ่งที่เพิ่งดับไปต่อ ไม่ว่าจะเป็นรูปทางตา สี หรือว่าเสียง แล้วต่อจากนั้นวาระหลังๆ ก็เป็นการคิดเรื่องราว หรือชื่อ หรือบัญญัติ เช่นรู้ว่าปกติเป็นอย่างนี้ เรากำลังพูดถึงปกติ เพราะฉะนั้นให้พิจารณาว่าจริงอย่างนี้หรือเปล่า เช่นขณะนี้คือ เห็นก็รู้ว่าเป็นคุณวิษณุ รู้ว่าเป็นคุณชุมพร รู้ว่าเป็นคุณเครือวัลย์ นี่คิดหรือเปล่า นี่คือคิด เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่านี่เป็นทางมโนทวารที่คิด แต่แทนที่จะเป็นคุณชุมพร แทนที่จะเป็นคุณวิษณุ หรือแทนที่จะเป็นคุณเครือวัลย์ จากการฟังแล้วฟังอีก เข้าใจว่าปรมัตถธรรมไม่ใช่คุณเครือวัลย์ แต่เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ทำให้ขณะนั้น ค่อยๆ เข้าใจ ว่านี่เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ลักษณะเป็นสภาพที่มีจริง ที่เป็นเพียงสิ่งหนึ่งซึ่งปรากฏทางตา ค่อยๆ กว่าจะถอนความเป็นคุณเครือวัลย์ คุณวิษณุ คุณชุมพรออก จิรกาลภาวนา โดยการที่รู้ความต่างว่า ขณะนั้นต้องเป็นการรู้ลักษณะ ไม่ใช่การคิด เพราะมีลักษณะให้รู้ให้เข้าใจว่าลักษณะนี้มี แต่เป็นลักษณะที่ปรากฏทางตาเท่านั้น นี่คือความยากเพราะเหตุว่าข้อความมีวิภังอรรถกถาว่า อริยสัจจ์ ๔ ลึกซึ้งมาก ๒ อริยสัจจ์แรกลึกซึ้งจึงเห็นยาก สภาพธรรมเกิดดับ เสียงมีแล้วก็ดับแล้วก็หมดไป คิดมีแล้วก็ดับแล้วก็หมดไป เราสามารถที่จะอนุมานค่อยๆ เข้าใจได้ แต่ที่จะไปประจักษ์นั้นลึกซึ้ง ความลึกซึ้งของการเกิดดับไม่ใช่ว่าใครจะไปประจักษ์ได้ เพราะฉะนั้นทั้งทุกขลักษณะ และสมุทัย เห็นยาก เพราะว่าเราชิน อย่างที่กว่าจะเห็นว่าเป็นเป็นโลภะ กว่าจะเห็นโลภะเราก็พูดแล้วก็ถามแล้วก็คิดเยอะแยะด้วยโลภะ กว่าจะรู้จริงๆ ว่าโลภะเมื่อไหร่ ขณะไหนบ้าง หรือว่าขณะนี้สภาพธรรมกำลังมีปรากฏการณ์ แต่อยากทำอย่างอื่น อยากไปใช้สติ หรืออยากจะไปท่อง หรืออยากจะไปทำอะไรก็แล้วแต่ ขณะนั้นจะเห็นไหมว่า เพราะโลภะจึงได้ทำอย่างอื่น ที่ไม่ใช่การค่อยๆ เข้าใจ ฟังเรื่องนี้ให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนกว่าจะค่อยๆ รู้ โดยขั้นเข้าใจ จนกว่าสัมมาสติจะระลึก แล้วยังเห็นความต่างของเมื่อระลึกแล้วคิดเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏ กับไม่ได้คิด แต่ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ เข้าใจ จะใช้คำว่าพิจารณา จะใช้คำว่าสังเกต จะใช้ภาษาบาลี จะใช้ภาษาอะไรก็ได้ แต่ผลคือค่อยๆ เข้าใจขึ้น สิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น คนที่เริ่มต้นสติปัฏฐานก็จะรู้ว่าเป็นจิรกาลภาวนาเพราะว่ายาก ที่จากไม่เคยรู้ และมาค่อยๆ ระลึกได้ และมาค่อยๆ รู้ขึ้น จะใช้พิจารณา จะใช้สังเกต จะใช้คำอะไรไม่สำคัญ ผลคือว่าค่อยๆ เข้าใจถูกต้องว่า นี่เป็นสิ่งที่ปรากฏ ตอนแรกเข้าใจทันทีไม่ได้เลย ไม่มีใครที่จะเป็นไปได้แต่บ่อยๆ เนืองๆ (อนุปัสสนา) และก็ไม่ใช่ตัวตนที่จะทำด้วย เพราะถ้าจะทำเมื่อไหร่ โลภะพาไปแล้วทันที ไม่เห็นตัวโลภะด้วย เพราะฉะนั้นไม่มีทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ตราบใดที่ยังมีโลภะกั้นอยู่

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่ไปละความติดข้อง ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส แต่ละโลภะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด ในข้อประพฤติปฏิบัติด้วย เป็นสีลัพพตปรามาส เป็นทิฏฐุปาทาน ถ้ามีความเห็นผิดว่าสิ่งอื่นขณะอื่น ทำอย่างอื่นแล้วจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ต้องเป็นคนที่ฟังด้วยความละเอียด ด้วยความเข้าใจ เพื่อเป็นไปด้วยการเข้าใจเพื่อละจริงๆ ไม่ใช่เข้าใจเพื่ออย่างอื่นเลย หรือไม่ใช่ไปพยายามเข้าใจสิ่งที่เราเข้าใจไม่ได้ เพราะว่าพระไตรปิฎกเป็นพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ส่วนไหนตรงไหนที่มี ฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้นอันนั้นคือประโยชน์ และเราก็รู้ว่าจะเข้าใจสิ่งนี้หรือจะประจักษ์แจ้งสิ่งนี้ หรือว่าจะไปคิดเพียงคิดเรื่องราว แล้วก็คิดว่าเราเข้าใจ คิดว่าเป็นปัญญา แต่ตัวจริงของสภาพธรรมก็ยังเกิดดับ โดยที่เราก็ไปนั่งคิดว่าสภาพธรรมเกิดดับ แต่ว่าไม่ได้ระลึกลักษณะ แต่ละลักษณะทีละอย่าง ซึ่งเป็นปฏิปตฺติ เพราะว่า ปตฺติ แปลว่าถึง ปฏิ แปลว่าเฉพาะ เพราะฉะนั้น ถึงเฉพาะแต่ละลักษณะ ที่สติระลึก สติจะระลึก ๒ อย่างไม่ได้ ต้องระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ทีละอย่าง และค่อยๆ เข้าใจในลักษณะนั้นเพิ่มขึ้น น้อยมากทีละน้อยมากจึงเป็นจิรกาลภาวนา และต้องรู้ว่าความต่างของคิดว่าไม่ใช่ขณะที่กำลังค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ อย่างเช่นคนที่มีโลภะ ความต้องการมากๆ เคยหยุดเคยพอไหม แล้วป็นทุกข์ไหมที่ไม่หยุดไม่พอ ขณะที่กำลังต้องการเป็นทุกข์ไหม ต้องการ ขวนขวาย ไม่สบายใจ อยากได้ ทุรนทุราย

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 14
    12 เม.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ