ปกิณณกธรรม ตอนที่ 54
ตอนที่ ๕๔
สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่
มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น การศึกษา การเข้าใจ การฟังต้องละเอียด และต้องรู้ด้วยว่าขณะไหนเป็นโลภะ ไม่ใช่แล้ว ขณะไหนเป็นเรา ก็ไม่ใช่แล้ว แต่ต้องเป็นการฟังจนกระทั่งเข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม เป็นสภาพธรรมจริงๆ ซึ่งมีลักษณะหลากหลายซึ่งต่างกัน
ผู้ฟัง เป็นไหมที่จะต้องรู้จักมิจฉามรรค
ท่านอาจารย์ ทิฏฐิ ความเห็นผิดจะดับหมดเมื่อเป็นโสตาปัตติมัคคจิต
ผู้ฟัง พูดถึงข้อปฏิบัติ
ท่านอาจารย์ ข้อปฏิบัติจะมีทั้งสีลัพพตปรามาส ซึ่งผู้อบรมเจริญปัญญาจะรู้แล้วละไปเรื่อยๆ จนกว่าจะดับได้
ผู้ฟัง แล้วสำหรับในการที่จะแสดงธรรม เพื่อให้ผู้ฟังได้มีโอกาสได้เจริญสัมมาสติ ความสำคัญให้เห็นว่า สีลัพพตปรามาสเป็นอย่างไร ควรจะมีการอธิบายไหม
ท่านอาจารย์ ถ้ายังไม่รู้จักลักษณะของสภาพธรรม คงจะไม่รู้จักสีลัพพตปรามาส เพราะว่าเข้าใจว่าที่กำลังฟัง กำลังเข้าใจเป็นธรรมแล้ว เพราะฉะนั้น ก็อยากจะทำ อยากจะเจริญ อยากจะปฏิบัติเลย ซึ่งความจริงไม่ได้เข้าใจเลยว่าไม่รู้จักธรรม ยังไม่รู้จักธรรมเลย เพราะฉะนั้น จะอบรมเจริญได้อย่างไร ถ้าไม่รู้จักธรรม
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นผู้ที่ยังไม่รู้จักธรรมจริงๆ แต่ว่าอ้างว่าปฏิบัติธรรม คงจะสรุปได้เลยว่าเป็นสีลัพพตปรามาสแน่นอน
ท่านอาจารย์ ใช่ เป็นความเห็นผิดด้วย
ผู้ฟัง อันนี้สำคัญมาก มาพิจารณาดูว่าควรจะให้ความสำคัญของสีลัพพตปรามาสมากน้อยแค่ไหน หรือเราไม่สนใจจะปฏิบัติข้อปฏิบัติที่ถูกอย่างเดียว แต่ถ้าเป็นข้อปฏิบัติที่ถูกจริงๆ ต้องสามารถบอกได้ว่า ข้อปฏิบัติใดเป็นสีลัพพตปรามาส จึงจะได้ชื่อว่าผู้นั้นรู้สัมมามรรคจริงๆ อย่างนั้นจะเป็นไปได้ไหม
ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังฟังเรื่องธรรม มีใครกำลังปฏิบัติบ้าง มีไหม ถ้ามี ถูกหรือผิด ต้องแยกกันหรือเปล่า เพราะเหตุว่า ปฏิบัติเป็นปริยัติ ฟังให้เข้าใจสภาพธรรม เรื่องสภาพธรรมตัวจริงของธรรมให้เข้าใจจริงๆ เป็นสังขารขันธ์ เพราะฉะนั้น ไม่มีคนหนึ่งคนใดปฏิบัติ แต่ถ้าขณะใดสัมมาสติเกิด สัมมาสติปฏิบัติกิจของสัมมาสติ คือระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรม สัมมาทิฏฐิก็ปฏิบัติกิจของสัมมาทิฏฐิ คือมีความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้อง สัมมาสังกัปปะก็จรดที่อารมณ์ ที่สติกำลังระลึก เพื่อปัญญาจะได้รู้หรือค่อยๆ รู้จนกว่าจะรู้ชัดในสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น ก็เป็นความที่ละเอียดมากที่จะต้องเข้าใจจริงๆ นี่คือสรรเสริญพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่าลบหลู่ คิดว่าเล็กน้อย หรือว่าไม่ต้องศึกษาก็ได้ ขณะนี้สภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เช่นจิตเห็น ทำกิจเห็น จิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เรารู้เรื่องรูปธาตุมามาก ใช่ไหม พอใช้คำว่าธาตุ ไม่มีใครไปยึดถือธาตุนั้นว่าเป็นเรา ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมก็พูดกันคล่อง แต่ข้อความในพระไตรปิฎก โทสธาตุ โลภธาตุ โมหธาตุ ธรรมก็คือธาตุมาจากรากศัพท์เดียวกัน หมายความถึง สิ่งที่มีจริงทรงไว้ซึ่งสภาพลักษณะซึ่งไม่เปลี่ยนแปลง เช่น เสียงก็เป็นเสียง จะเปลี่ยนเป็นกลิ่น จะเปลี่ยนเป็นรสไม่ได้ โลภะจะเปลี่ยนเป็นโทสะไม่ได้ เพราะฉะนั้น จิตไม่ใช่เจตสิก จิตเป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ไม่ใช่รูปธาตุแต่เป็นนามธาตุ เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจเรื่องธาตุที่เป็นรูปว่าไม่ใช่ของใคร ธาตุที่เป็นนามก็ไม่ใช่ของใคร แต่ว่าเป็นธาตุต่างชนิดเพราะว่าธาตุบางชนิดเป็นรูปธาตุ ธาตุบางชนิดเป็นนามธาตุ และธาตุที่เป็นนามธาตุที่เกิดก็หมายความว่าเป็นธาตุรู้ หรือเป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด จะไม่รู้ไม่ได้เพราะเป็นธาตุรู้ ส่วนรูปซึ่งไม่ใช่นามธาตุ ไม่ว่าจะเกิดเมื่อไรก็ไม่รู้อะไรทั้งนั้น ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เกิดขึ้นมาแข็งก็แข็ง เกิดเป็นเสียงก็เป็นเสียง เกิดเป็นกลิ่นก็เป็นกลิ่น ไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้ นั่นคือรูปธาตุ แต่เมื่อเป็นนามธาตุเกิดขึ้นแล้ว ธาตุชนิดนี้เมื่อเกิดต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏให้รู้ เช่นในขณะนี้ ทุกคนเห็นมีสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะจิต ธาตุรู้นั้นเป็นใหญ่เป็นประธานเป็นมนินทรีย์ที่จะรู้ลักษณะของอารมณ์หรือสิ่งที่ถูกรู้ สิ่งใดๆ ก็ตามที่จิตกำลังรู้ ในภาษาบาลีในพระพุทธศาสนาใช้คำว่า อารมณ์ ในภาษาไทย แต่จริงๆ ออกเสียงว่าอารัมมณะหรืออาลัมพนะ หมายความถึงสิ่งที่จิตรู้ อะไรก็ได้ทั้งหมดที่จิตกำลังรู้ สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ของจิต
เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงอารมณ์ต้องหมายความว่ามีจิต ถ้าไม่มีจิต สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ไม่ได้ เช่น ถ้าพูดถึงเสียง ภาษาบาลีใช้คำว่า สทฺท (เสียง) แต่ถ้าบอกว่าสัททารมณ์ หมายความว่า เป็นอารมณ์ของจิตได้ยิน เสียงในป่าเกิดแล้วดับแล้วมีอายุสั้นมาก ๑๗ ขณะจิต ไม่มีสภาพจิตที่ไปได้ยินเสียงนั้น แต่เสียงใดก็ตามที่กำลังปรากฏ หมายความว่า ปรากฏกับจิตที่กำลังได้ยินเสียงนั้น เพราะฉะนั้น เสียงนั้นเป็นสัททารมณ์ของจิตได้ยิน หรือว่าจิตที่เป็นวิถีจิตทางโสตทวาร
ผู้ฟัง ยังไม่เข้าใจที่ว่า ในการศึกษา กำลังศึกษาปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ
ท่านอาจารย์ กำลังศึกษาเรื่องราวของสิ่งที่มีจริง แต่ยังไม่ได้ระลึกลักษณะของสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้นการศึกษาระดับนี้เป็นปริยัติ ตราบใดที่สติไม่ระลึกลักษณะที่มีจริงๆ ตราบนั้นเป็นปริยัติ
ผู้ฟัง ถ้าระลึกแล้วเป็นปฏิบัติ
ท่านอาจารย์ เป็นปฏิปัตติ
ผู้ฟัง ปฏิปัตติ
ท่านอาจารย์ ปัตติแปลว่าถึง ปฏิแปลว่าเฉพาะ สติเกิดถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง อย่างหนึ่ง ทีละอย่างที่กำลังปรากฏ เพื่อค่อยๆ เข้าใจลักษณะนั้นให้ถูกต้องตรงตามที่ได้ศึกษา
ผู้ฟัง ต่อไปขั้นปฏิเวธ
ท่านอาจารย์ รู้แจ้ง สภาพธรรมตามความเป็นจริง
ผู้ฟัง ข้อสงสัยประการหนึ่งที่กล่าวว่า กรรมที่ส่งผลทางกายแล้ว ซึ่งเราไม่มีสิทธิ์เพราะมันเป็นผลสำเร็จ เดี๋ยวนี้มีข้อสงสัยว่า ในกรณีของท่านองคุลีมาลซึ่งเป็นผู้บรรลุธรรมเป็นพระหันต์แล้วเมื่อภายหลังที่เขากล่าวว่า ท่านไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ในนิคม ในคามที่ต่างๆ คนเขาจะปาหิน ปาอิฐอะไรก็มักไปถูกท่าน ก็บอกว่าเป็นเศษกรรมอันเป็นผลเนื่องจากกรรมเป็นอโหสิกรรมแล้ว ซึ่งมันเป็นผลปรากฏทางกาย มันสัมพันธ์กันอย่างไร อาจารย์พอจะให้เหตุผลหรือความหมายตรงนี้ได้ไหม
ท่านอาจารย์ การให้ผลของกรรมก็มีกาลด้วย กรรมบางกรรมก็ให้ผลในปัจจุบันชาติ กรรมบางกรรมก็ให้ผลในชาติหน้าต่อไป และกรรมบางกรรมก็สามารถที่จะให้ผลในชาติต่อๆ ไปไม่มีที่สุด ตราบใดที่ยังไม่ปรินิพพาน เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะรู้ว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกระทบกาย และทำให้เกิดทุกข์ขณะนี้เป็นผลของกรรมอะไร ก็ต้องเป็นพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าคนนั้นสามารถจะบอกได้ว่า ขณะนี้ที่กำลังเจ็บตรงนี้เป็นผลของกรรมอะไร คนนั้นก็ต้องบอกได้ว่า กำลังเห็นขณะนี้เป็นผลของกรรมอะไร กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส เป็นผลของกรรมอะไร ถ้าเขาสามารถบอกได้ว่าขณะเจ็บเป็นผลของกรรมอะไร
ผู้ฟัง ที่ว่าขณะเจ็บที่กาย ขณะนั้นเป็นกายเรารับรู้ส่วนที่เจ็บทางกายทวารก่อน แล้วถึงจะไปทางมโนทวาร แต่เมื่อกี้ฟังท่านอาจารย์รู้สึกว่า อาจจะสับสนว่า ไม่ได้เจ็บตรงกาย ไปรู้ตรงมโนทวารเลย อาจจะฟังผิด
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีกายปสาท ไม่มีรูปที่มากระทบแล้วก็จะปรากฏลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ ที่โต๊ะไม่มีกายปสาท โต๊ะไม่สามารถจะรู้ว่า สิ่งที่กำลังกระทบ อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว เพราะฉะนั้น การรู้เป็นลักษณะของนามธรรม รูปธรรมไม่สามารถจะรู้อะไรเลย การฟังธรรมต้องตรง และก็เข้าใจถูก แล้วไม่ลืมตามลำดับว่า รูปไม่สามารถจะรู้อะไรได้ แต่สภาพรู้ มี ๒ อย่าง สภาพรู้ที่เกิด คือจิต และเจตสิก ส่วนนามธรรมซึ่งไม่ใช่รูปธรรม และไม่ใช่สภาพรู้ก็คือนิพพาน ซึ่งขณะนี้ควรจะเข้าใจเรื่องของจิต เจตสิก รูป ให้เข้าใจจริงๆ จนกว่าจะอบรมเจริญปัญญาถึงกาลที่ปัญญาสมบูรณ์เมื่อไหร่ ก็ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ที่รูปมี จิตมี เจตสิกมีก็ควรที่จะเข้าใจเรื่องของจิต เจตสิก รูป
ผู้ฟัง ที่เจ็บนี้ก็ต้องที่กายปสาทก่อน
ท่านอาจารย์ ต้องมีกายปสาท ถ้าไม่มีกายปสาทไม่เจ็บ ที่โต๊ะไม่มีกายปสาท รูปนี้ไม่มีกายปสาท ไม่มีทางที่รูปนี้จะเจ็บ ไม่มีทางที่รูปนี้จะกระทบ รู้ลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว สิ่งที่จะกระทำให้ความรู้สึกเจ็บปวดเกิดขึ้นก็คือแข็ง หรือเย็น หรือร้อน หรือตึง หรือไหวนั่นเอง แค่ฟังธรรม ก็จะไม่มีอะไรเลยนอกจากจิต เจตสิก รูป แยกรูปไปส่วนหนึ่ง และรูปเกิดดับเร็วมาก รูปใดที่ไม่ปรากฏ รูปนั้นเกิดแล้ว ดับแล้วไม่เหลือ ก่อนที่จะสติระลึก จำไว้แน่นหนาว่า มีเรา เป็นอัตตสัญญาตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ใครบ้างไม่มีตา ไม่มีหู ไม่มีปอด ไม่มีซี่โครง ไม่มีเล็บ ไม่มีผม ไม่มีในความทรงจำใช่ไหม แต่สภาพธรรมที่เป็นรูปปรมัตถ์ มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น รูปใดที่เกิดแล้ว ดับแล้วไม่ปรากฏ รูปใดก็ตามที่เกิดแล้ว ดับแล้วไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ขณะนี้รูปใดปรากฏ รูปที่ไม่ปรากฏเกิดแล้วดับแล้วทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ตัวทั้งตัวซึ่งใหญ่มาก สำคัญมากเป็นเราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า จริงๆ แล้วก็คือชั่วขณะที่รูปใดปรากฏเพียงรูปนั้นเท่านั้นที่มีจริงๆ เหลือแค่นั้น ปัญญาก็จะเห็นความเป็นอนัตตา ความไม่มีแขนมีขามีตัวมีตน เพิกอิริยาบถหมด เพราะเหตุว่าอิริยาบถก็ไม่มี เฉพาะรูปใดที่สติระลึก รูปนั้นเท่านั้นจึงปรากฏ
ผู้ฟัง ที่ว่าไม่มี ไม่มีเฉพาะขณะที่สติเกิดใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ถึงยังไงก็ไม่มี ถึงเดี๋ยวนี้ก็เป็นอย่างนั้น คือถ้าหลับตาลง ขอสมมติหรือขอให้ลองหลับตาลง ที่ตัวนี้มีอะไรบ้าง
ผู้ฟัง ก็มีลักษณะแข็งปรากฏ
ท่านอาจารย์ ตรงไหน
ผู้ฟัง ที่สะโพก
ท่านอาจารย์ เท่านั้นเอง แข็งอื่นไม่ปรากฏ
ผู้ฟัง ไม่ได้ปรากฏ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ความจริงแล้ว เป็นความจริงแต่ปัญญาไม่ถึงระดับละ ทั้งๆ ที่สภาพธรรมแม้ขณะนี้ก็เป็นจริงอย่างนี้ ก็ยังไม่ยอมเชื่อ ยังว่ามีเราอยู่ทั้งตัว จนกว่าจะประจักษ์ว่าไม่มีเลยจริงๆ มโนทวารปรากฏ จะไม่มีอะไรที่ปรากฏนอกจากสิ่งที่สติกำลังระลึก แล้วเกิดดับด้วย จึงจะละความเป็นตัวตนได้ มิฉะนั้นก็ละอัตตสัญญาไม่ได้เลย หลับตาลงไปก็ยังมีเราทั้งแท่ง จำไว้แน่นหนา จนกว่าสติระลึกลักษณะของรูปใด แล้วก็เข้าใจถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมธรรมนั้นที่กำลังปรากฏทีละอย่าง จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์ของปัญญา ไม่ใช่แต่เฉพาะที่ศรีษะตลอดเท้า โลกที่จำไว้ทั้งหมดก็ไม่มี ขณะนี้เราอยู่ในโลกเต็มไปด้วยทุกสิ่งทุกอย่างจากความทรงจำเท่านั้น ทางตาที่เห็น ทางหูที่ได้ยิน แต่ตามความเป็นจริงก็คือว่า ถ้าหลับตาแล้วไม่มีอะไรปรากฏเพราะว่านี่เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา เสียงปรากฏเฉพาะเสียง ปอดก็ไม่มี หัวใจก็ไม่มี แข็งอ่อน เย็น ร้อนก็ไม่มี นั่นคือขณะนั้นเป็นความจริง จริงๆ ซึ่งปัญญาถึงระดับที่ละอัตตสัญญา แต่ต้องด้วยการประจักษ์แจ้งไม่ใช่เพียงแค่หลับตานิดนึง เออจริง เท่านี้ไม่พอ
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นการที่จะซาบซึ้งในข้อความนี้ได้ ก็ต่อเมื่อปัญญาสมบูรณ์ถึงขั้นนามรูปปริจเฉทญาณที่จะรู้ว่า อนัตตสัญญาคืออย่างไร
ท่านอาจารย์ ใช่ อนัตตสัญญาคืออย่างไร และรู้ว่าความจริงที่ประจักษ์ต้องตรงกับความจริงที่จริง แต่ว่าระดับของปัญญาต่างกัน
ผู้ฟัง และถ้าปัญญาไปไกลกว่านั้น จนกระทั่งถึงมรรคจิต แล้วหลังจากนั้น
ท่านอาจารย์ ก็รู้ว่าเป็นสัญญาความจำที่ไม่ใช่ทิฏฐิวิปลาส ไม่มีทิฏฐิที่จะวิปลาส
ผู้ฟัง มีสัญญาแน่นอน
ท่านอาจารย์ มีสัญญา
ผู้ฟัง แต่ว่าไม่ใช่
ท่านอาจารย์ จำสภาพธรรมว่าเป็นสุขหรืองาม แต่ไม่มีสัญญาที่จำว่าเที่ยง
ผู้ฟัง อันนี้ต้องถึงมรรคจิตถึงจะซาบซึ้งพยัญชนะอันนี้ได้ แต่สำหรับปุถุชนนี้ครบ ใช่ไหม พอพูดถึงวิปลาส ๔
ท่านอาจารย์ ถึงไม่เห็นก็ยังจำว่ามี
ผู้ฟัง นั่นซิ เพราะมันยังมี
ท่านอาจารย์ ความทรงจำที่เป็นอัตตสัญญา ยังไม่มีปัญญาที่ไประลึกรู้จนกระทั่งทำลายอัตตสัญญา ได้
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ได้อธิบายถึงว่า การประจักษ์แจ้งจะต้องเฉพาะทางมโนทวาร อยากจะถามอาจจะถามดูแล้วมันแปลกๆ ได้ ทำไมต้องประจักษ์แจ้งทางมโนทวาร ทำไมประจักษ์แจ้งทางปัญจทวาร
ท่านอาจารย์ ปัญจทวาร ไม่สามารถจะมีนามเป็นอารมณ์ได้
ผู้ฟัง ปัญจทวารไม่อาจจะมีนาม
ท่านอาจารย์ เป็นอารมณ์ได้
ผู้ฟัง ตรงนี้ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ
ท่านอาจารย์ ทางตามีอะไรเป็นอารมณ์
ผู้ฟัง มีรูป มีสี
ท่านอาจารย์ ทางหู
ผู้ฟัง มีเสียง
ท่านอาจารย์ ทางจมูก
ผู้ฟัง มีกลิ่น
ท่านอาจารย์ ทางลิ้น
ผู้ฟัง มีรส
ท่านอาจารย์ ทางกาย
ผู้ฟัง เย็น ร้อน อ่อน แข็ง
ท่านอาจารย์ แล้วจะประจักษ์นามธรรมได้ยังไง
ผู้ฟัง ขอบพระคุณ
ท่านอาจารย์ การสนทนาธรรม ไม่ใช่เป็นการถามอย่างเดียว หมายความว่า เราที่ได้ศึกษาธรรมแล้ว ทุกคนก็ต้องการที่จะรู้สัจจะความจริงของธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ตำรามากมายหลายเล่ม บางคนก็อาจจะอ่านเล่มนั้น บางคนก็อาจจะอ่านเล่มนี้ แต่ผลก็คือว่าเพื่อที่จะเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งซึ่งเราจะต้องเข้าใจจริงๆ ก็คือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม แม้ว่าไม่เรียกชื่อเลย สภาพธรรมนี้ก็มี แต่ด้วยความไม่รู้ เราก็ยึดถือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า เป็นสิ่งที่เที่ยง แล้วก็เป็นเรา เป็นตัวตน ตั้งแต่เราเกิดจนตาย สภาพธรรมปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งเราต้องเข้าใจจริงๆ มิฉะนั้นจะไม่ทรงแสดงไว้เลยว่า วิถีจิตที่เกิดจะต้องอาศัยทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จึงสามารถที่จะมีโลกนี้ปรากฏได้ เพราะเหตุว่าถ้าหลับสนิทไม่ใช่วิถีจิต ไม่มีการจะไปรู้ความจริงในขณะนั้นได้ เพราะว่าสภาพธรรมไม่ปรากฏ ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง เพราะฉะนั้น การที่เราจะรู้ความจริงของสภาพธรรมได้ ก็คือในขณะนี้มีสภาพธรรมจริงๆ ที่กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม แม้ไม่ต้องเรียกชื่อเลย ไม่มีชาติ ไม่มีศาสนา เป็นตัวธรรมหรือเป็นธาตุ ซึ่งเมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้ความต่างของปรมัตถธรรมกับบัญญัติ ให้รู้จริงๆ ว่า สิ่งใดเป็นปรมัตถ์ สิ่งนั้นจะให้ความจริงเป็นสัจจธรรม เป็นทุกขอริยสัจจ์ มีลักษณะซึ่งเกิดแล้วดับ ซึ่งผู้ที่ศึกษาแล้ว ก็สามารถที่จะบอกจำนวนได้ว่าธรรมใดบ้างที่เป็นทุกขสัจจ์ แต่นั่นเป็นชื่อ แต่ว่าตัวจริงของธรรมคือ เดี๋ยวนี้เองที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิดนึก อย่าลืมว่า ๖ ทางนี้ต้องแยกให้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า สำหรับทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ไม่สามารถที่จะรู้เรื่องราวสมมติบัญญัติของสิ่งที่ปรากฏ เพราะเหตุว่า กำลังมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์เท่านั้นสำหรับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่พอถึงทางใจ สามารถจะรู้ได้ทุกอย่าง เพราะเหตุว่าใจ รับรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาซึ่งดับแล้ว แต่ว่าทางใจ สามารถที่จะระลึกถึงหรือว่ามีอารมณ์นั้น ซึ่งเป็นปรมัตถ์เหมือนกับอารมณ์ที่เพิ่งดับ เพราะเหตุว่า จิตเกิดดับรวดเร็วมาก มากจนกระทั่งเราไม่สามารถที่จะแยกทางปัญจทวารออกจากทางมโนทวารได้ แม้ว่ามีภวังค์คั่น นี่คือความจริงเดี๋ยวนี้ ไม่มีใครสามารถที่จะบอกได้ว่า ขณะไหนเป็นปัญจทวารวิถี ขณะไหนเป็นมโนทวารวิถีวาระไหน เพราะว่าสืบต่อกันเร็วมาก ทางหูก็เช่นเดียวกัน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ทางใจสามารถจะรู้ทั้งปรมัตถ์ และบัญญัติ ซึ่งจะต้องรู้ด้วยว่าลักษณะของปรมัตถ์ก็คือ สภาพธรรมที่มีจริงๆ มีลักษณะ ถ้าเป็นรูปธรรม ก็มีลักษณะที่ว่ารูปธรรมนั้นปรากฏได้ทางไหน บางรูปปรากฏได้ทางตา บางรูปก็ปรากฏทางหู บางรูปปรากฏทางจมูก บางรูปปรากฎทางลิ้น บางรูปปรากฏทางกาย เช่น รูปที่ปรากฏกายนี้จะไปปรากฏทางตาไม่ได้ เราอาจจะคิดว่า เราเห็นแข็ง เห็นคน แต่ไม่ใช่ เห็นคือเห็นสิ่งที่ปรากฏ ต่อจากนั้นก็เป็นเรื่องของทางใจที่คิด ต้องแยกออก ไม่อย่างงั้นเราจะหาปรมัตถธรรมไม่เจอ สติปัฏฐานจะระลึกลักษณะของปรมัตถธรรมไม่ได้ถ้าเราไม่รู้ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ความจริงที่เป็นปรมัตถธรรม ประโยชน์ก็คือว่า ทำให้รู้ว่าเป็นธรรมจริงๆ ซึ่งไม่ใช่เรา เมื่อเป็นธรรมรู้ว่าเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมเราก็ไม่มี เพราะฉะนั้น การที่จะละความเป็นตัวตนหรือความเป็นเราได้จริงๆ ก็ต่อเมื่อได้มีปัญญาพร้อมสติที่เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ เพราะว่าสภาพธรรม เกิดดับเร็วมาก ขณะนี้ก็ดับไปแล้วไม่รู้เท่าไหร่ แล้วเกิดไม่รู้เท่าไหร่ แต่ยังมีลักษณะที่ปรากฏให้ศึกษา ให้ค่อยๆ เริ่มเข้าใจได้ เพราะฉะนั้น การอบรมปัญญาก็คือ สติเกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย ไม่ใช่มีเราที่จะไปให้สติเกิด เพราะฉะนั้น ผู้นั้นก็มีปัญญาที่จะรู้ว่าขณะใดสติเกิด ขณะใดหลงลืมสติ นี่เป็นขั้นต้น ซึ่งจะต้องเข้าใจจริงๆ ไม่ทราบตอนนี้ยังมีข้อสงสัยอะไรหรือเปล่า
ปัญญาจะรู้ก็ต้องรู้สิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ เสียงที่ไม่ปรากฏปัญญารู้ได้ไหม รู้ไม่ได้ ต้องสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าสติไม่ระลึกที่แข็ง แข็งนั้นก็เกิดแล้วดับแล้ว ตั้งแต่เช้ามาจนถึงเดี๋ยวนี้ นี่คือชีวิตจริงๆ แต่ถ้าไม่รู้ ไม่อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ ก็ไม่มีทางที่จะรู้ว่าสภาพใดเป็นปรมัตถธรรม และก็มีลักษณะที่เกิดดับจริงๆ ฟังกันอย่างนี้มานานแสนนาน ก็ต้องฟังต่อไปอีก จนเมื่อไหร่ สติปัฎฐานเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะมีสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ทำไมสติไม่ระลึก นี่เป็นปัญหาที่หลายคนคิด คิดว่าเมื่อฟังแล้วทำไมสติปัฎฐานไม่ระลึก ไม่มีปัจจัยพอ ความเข้าใจของเราไม่จรดกระดูกที่จะรู้ว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่มีใครบันดาล ไม่มีใครสร้าง ไม่มีใครทำ เพราะฉะนั้น อนุปัสสนาก็คือ รู้ตามสภาพธรรมที่มีปัจจัยกำลังปรากฏเพราะเกิดแล้วเท่านั้น ถ้าข้ามจากขณะที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดกำลังปรากฏ สิ่งนั้นดับทันที ไม่มีโอกาสที่จะรู้ความจริงในสิ่งนั้นเลย
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 2
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 3
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 4
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 5
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 6
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 7
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 8
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 9
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 10
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 11
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 12
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 13
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 14
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 15
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 16
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 17
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 18
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 19
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 20
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 21
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 22
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 23
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 24
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 25
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 26
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 27
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 28
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 29
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 30
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 31
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 32
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 33
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 34
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 35
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 36
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 37
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 38
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 39
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 40
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 41
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 42
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 43
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 44
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 45
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 46
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 47
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 48
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 49
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 50
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 51
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 52
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 53
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 54
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 55
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 56
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 57
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 58
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 59
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 60