ปกิณณกธรรม ตอนที่ 55
ตอนที่ ๕๕
สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่
มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔
ท่านอาจารย์ อนุปัสสนา คือ รู้ตามสภาพธรรมที่มีปัจจัยกำลังปรากฏเพราะเกิดแล้วเท่านั้น ถ้าข้ามจากขณะที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดกำลังปรากฏ สิ่งนั้นดับทันที ไม่มีโอกาสที่จะรู้ความจริงของสิ่งนั้นเลย
ผู้ฟัง ตอนแรก ต้องเข้าใจในสภาพธรรมตามความเป็นจริงก่อน ใช่หรือไม่ว่า ตาเป็นสิ่งที่รับสัมผัสได้แต่สี เสียงทางหู กลิ่นทางจมูก
ท่านอาจารย์ จริงๆ สิ่งนี้เด็กๆ ก็ตอบได้ ถ้าบอกแต่เพียงว่าต้องได้ยินทางหู ใครๆ ก็ตอบได้ เพราะว่าจะได้ยินทางตา ไม่ได้ ใช่ไหม แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม ชีวิตจริงๆ เป็นธรรมทั้งหมด มีทั้งหมดทุกอย่างแต่เป็นเรา ไม่รู้ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง
ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์บอกว่าเด็กๆ หรือใครๆ ก็รู้ว่าเสียงได้ยินทางหู แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม จุดนี้เป็นจุดที่มองดูว่ามันเป็นสิ่งที่ธรรมดา และเราเคยชินจนรู้สึกว่า ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่จะต้องมาศึกษา
ท่านอาจารย์ น่าอัศจรรย์ ที่พระไตรปิฏก เต็มไปด้วยเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และสภาพธรรมซึ่งเกิดเนื่องสืบต่อ จากการเห็น การได้ยิน เช่น โลภะ หรือโทสะ ก็ต้องหลังจากเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว เมื่อเห็นสิ่งใดก็พอใจติดข้องในสิ่งนั้นถ้าเป็นสิ่งที่น่าพอใจ ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจเห็นแล้วเกิดโทสะยับยั้งไม่ได้ ทรงแสดงธรรมไม่พ้นจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งคนไม่รู้ก็คิดว่าง่ายมากธรรมดามาก ไม่เห็นพ้นไปจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เลย มีธรรมส่วนไหนบ้างไหม ที่อ่านแล้วค้นแล้วศึกษาแล้วพ้นจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่จะรู้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ธรรมดาอย่างที่คนไม่รู้ รู้ เขาคิดว่าเขารู้ แล้วแสนจะง่าย แสนจะธรรมดา แต่ทำไมทรงแสดงเรื่องสภาพธรรมที่เป็นธรรมดาอย่างนี้ เพราะเหตุว่าให้รู้ขึ้น ให้เข้าใจขึ้น ในความจริงของสภาพธรรมนั้น ซึ่งเป็นธรรมซึ่งเป็นอนัตตา แม้แต่เสียงเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครจะดลบันดาลได้เลย เสียงทุกเสียงต้องมีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้น และถ้าไม่มีสภาพรู้ ไม่มีธาตุรู้ คือ ไม่มีจิต เจตสิก เสียงไม่มีทางจะปรากฏเลย แม้เสียงมีก็ไม่ปรากฏ เพราะเหตุว่าไม่มีสภาพที่ได้ยินหรือรู้เสียงนั้น ธรรมดาอีก ธรรมดาเพราะเคยเห็นมาแล้ว เคยได้ยินมาแล้ว แต่ที่ไม่ธรรมดาคือ เคยคิดว่าเป็นเรา เป็นตัวตน แล้วเริ่มมีความเข้าใจถูกขึ้น มีความเห็นถูกขึ้น เพราะแท้ที่จริงแล้วก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง อันนี้ต้องเป็นธรรมไปตลอดจนกว่าจะประจักษ์ความเป็นธรรม ด้วยวิปัสสนาญาณที่อบรมจากการที่สติปัฏฐานค่อยๆ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมทีละอย่าง
ผู้ฟัง สิ่งที่เราดูว่าเป็นธรรมดา ถ้าเป็นธรรมดาพระพุทธองค์ท่านคงไม่แสดงในส่วนนี้ เพราะนี่เป็นความละเอียด และลึกซึ้งอย่างยิ่ง ซึ่งเรายังไม่เข้าใจ เราก็มองว่าเป็นสิ่งธรรมดา แต่พระพุทธองค์คงไม่ได้แสดงสิ่งธรรมดาแน่นอน
ท่านอาจารย์ ถึงแม้ขณะนี้ เราก็พอจะเข้าใจว่าทุกอย่างไม่เที่ยง แต่ไม่เที่ยงด้วยความเป็นเรารู้ และสิ่งที่ดับไปก็มีสิ่งอื่นเกิดต่อ เพราะฉะนั้นความไม่เที่ยงนั้นไม่น่าตระหนก ไม่เห็นว่าเป็นภัย ไม่เห็นว่าการดับไปของสภาพธรรมที่เกิดไม่ยั่งยืนเลย ยับยั้งไม่ได้ ใครก็ห้ามหรือหยุดยังไม่ได้เลย แต่ว่าเพราะความไม่รู้ ต่อให้จะบอกว่า เห็นเกิดดับ ได้ยินเกิดดับ โลภะเกิดดับ โทสะเกิดดับ ก็ธรรมดา ก็นั่งอยู่อย่างนี้สบายๆ เหตุว่าไม่ใช่ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งความไม่ใช่เรา แต่เป็นเพียงธาตุแต่ละอย่าง ซึ่งน่าอัศจรรย์มากที่ต่างกันไปๆ ไม่ซ้ำกันเลย ตามเหตุตามปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าสิ่งที่มีในชีวิตประจำวันแล้วไม่เคยรู้ แล้วยึดถือว่าเป็นเรา พระปัญญาที่ได้ทรงบำเพ็ญมาที่ตรัสรู้ ก็ตรัสรู้สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ในชีวิตประจำวันนี่เอง แต่ทรงตรัสรู้โดยละเอียด โดยลักษณะที่เป็นธาตุ โดยลักษณะที่เป็นขันธ์ โดยลักษณะที่เป็นอายตนะ เพื่อที่จะให้ผู้ที่ได้ฟัง ได้อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ความเป็นขันธ์ ความเป็นธาตุ ความเป็นอายตนะ เช่นเดียวกับพระองค์ จึงจะคลายความเป็นตัวตนได้ กว่าที่จะดับความยึดถือสภาพธรรมด้วยมรรคจิต ก็จะต้องเป็นวิปัสสนาญาณหลายขั้น ไม่ใช่เพียงสติปัฏฐานที่เพิ่งเกิดแล้วก็พึงระลึกลักษณะของสภาพธรรม แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือว่า ต้องไม่เข้าใจหนทางผิด เพราะว่าถ้าไม่มีการที่จะเข้าใจจริงๆ ว่าสภาพธรรมเดี๋ยวนี้ที่มีลักษณะจริงๆ กำลังปรากฏ เป็นปรมัตถธรรม เป็นสิ่งที่สติจะระลึกจนกว่าจะรู้แจ้ง ถ้าไม่รู้อย่างนี้ก็ไปทำอย่างอื่น เมินเฉยลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ก็ปล่อยไปเรื่อยๆ ไม่มีทางที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมเลย แต่ถ้ารู้ว่าปัญญารู้อะไร ปัญญาต้องรู้สิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ มีจริงเมื่อไหร่เมื่อปรากฏ เสียงมีจริงเมื่อไหร่ เมื่อปรากฏ สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้มีจริงเมื่อไหร่ เมื่อเห็นสิ่งนี้ สิ่งนี้มีจริงๆ กำลังปรากฏ แต่ว่าปรากฏแล้วไม่รู้ความจริงที่กำลังเกิดดับที่เป็นธรรม
เพราะฉะนั้น ถ้าอบรมเจริญปัญญาขึ้น เห็นความเป็นธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรม จนกระทั่งทุกขณะในขณะนี้ รู้ทั่วว่าเป็นธรรมทั้งหมด ก็สามารถที่จะค่อยๆ คลายความติดข้อง ความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้น ถ้าศึกษาในอดีตของผู้ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ท่านอบรมมานาน และเราอย่าคิดว่าเราได้อบรมมาแล้วมาก เพราะเหตุว่าธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เป็นเครื่องตัดสิน เป็นเครื่องพิสูจน์ปัญญาของเรา ถ้าเป็นผู้ที่อบรมมาก ถ้าฟังเข้าใจความหมายของปรมัตถธรรม หรือสภาพธรรม หรือสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ เป็นสิ่งที่ปัญญาจะอบรมจนกระทั่งรู้แจ้ง เข้าใจได้เลย ไม่ต้องมีใครที่จะต้องไปพูดถึงมากมาย พูดแล้วพูดอีกในเรื่องของปรมัตถธรรม แต่สามารถที่จะรู้ความหมายลักษณะแท้ๆ ว่าเป็นธรรมเป็นปรมัตถธรรม และก็เมื่อได้ฟังธรรมข้อหนึ่งข้อใด ก็สามารถจะรู้ชัดว่าหมายความถึงปรมัตถธรรมในขณะนั้นที่กำลังมี เช่น คำว่า “อายตนะ” ดูเหมือนว่าเป็นภาษาบาลี เป็นที่ต่อ ที่ประชุม เป็นบ่อเกิดของสังสารวัฎฏ์ ของสภาพธรรมที่มีปัจจัยก็เกิดขึ้น สิ่งที่ไม่มี กำลังหลับสนิท ขณะนั้นไม่มีใครจะรู้ว่ามีจิต และเจตสิก เป็นมนายตนะ และธรรมายตนะ เพราะว่าขณะนั้น อารมณ์ใดๆ ไม่ปรากฏ แม้แต่ลักษณะของภวังคจิต ก็รู้ภวังคจิตเองไม่ได้ แต่ต้องเป็นขณะที่กุศลจิตเกิดประกอบด้วยปัญญา สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งขณะนั้นไม่มีสภาพธรรมใดปรากฏ แล้วก็มีสภาพธรรมปรากฏ คนนั้นสามารถจะรู้ได้ว่า อะไรเป็นทาง เป็นอายตนะ ตรงนั้นที่เกิด ที่จะทำให้สภาพธรรมนั้นมี และปรากฏได้ เราเคยได้ยินชื่อ แต่เราไม่รู้ตัวจริงจนกว่าสติปัฏฐานจะเกิด แต่ไม่ใช่ว่าพอสติปัฏฐานเกิดแล้วจะรู้อย่างนี้ ต้องเริ่มจากการที่ระลึกลักษณะที่มี และตอนแรกก็จะสงสัย อดสงสัยไม่ได้ว่านี้นามธรรมหรือรูปธรรม ถึงไม่สงสัยโดยชื่อ ไม่ต้องคิดขึ้นมา แต่ก็ยังไม่รู้ชัดในลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม จนกว่าสติปัฏฐานจะลึกบ่อยๆ และก็รู้ว่าบ่อยๆ ที่นี่คือ เมื่อไหร่ค่อยๆ รู้ นั่นก็เพราะการระลึกบ่อยขึ้นๆ นั่นเอง แต่ไม่ใช่ว่าเมื่อระลึกแล้วรู้ทันที ไม่มีใครสามารถเป็นอย่างนั้นได้ เพราะเหตุว่าทรงแสดงไว้ว่าเป็นจิรกาลภาวนา เป็นการอบรมที่เป็นกาลเวลาที่ยาวนานมาก กว่าจะรู้ความจริงอย่างนี้ได้ แต่เป็นหนทางเดียว เพราะว่าเพียงสติไม่ระลึกเท่านั้น สภาพธรรมใดๆ จะปรากฏลักษณะจริงๆ ของสิ่งนั้นไม่ได้ เพราะว่าแข็งมี เรากระทบแข็งตั้งแต่เช้า แต่รู้ได้ใช่ไหมว่าหลงลืมสติ เพราะว่าไม่ได้ระลึกลักษณะที่แข็ง แต่ทันทีที่แข็งปรากฏ ก็เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นแก้วน้ำ เป็นทุกอย่าง นั่นคือหลังจากที่แข็งปรากฏทางกายทวารสืบต่อทางมโนทวาร แล้วก็คิดเรื่องราวของแข็ง แต่แทนที่จะคิดเรื่องราวความรวดเร็วของสติที่เกิด ก็ระลึกลักษณะนั้นแล้วก็ดับอย่างเร็ว เพราะฉะนั้นทุกคนก็จะบอกว่าสติเกิดน้อย น้อยมาก แต่ก็ยังดีที่รู้ความต่างของขณะที่สติสัมปชัญญะเกิดกับขณะที่หลงลืมสติ เพราะฉะนั้นต้องไม่หลงทาง ต้องมีความมั่นคงที่จะรู้ว่าสภาพธรรมในขณะนี้เป็นของจริง ที่ปัญญาสามารถจัดอบรมรู้แจ้งถึงอริยสัจจ์ได้ มิฉะนั้นก็จะทำอย่างอื่น ซึ่งไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ผู้ฟัง พอเรากระทบแข็ง หรือว่า ตาเห็นแก้ว หรือดอกไม้ ในขณะนั้นทางปัญจทวารแล้วต่อไปทางมโนทวาร แล้วเกิดการยึดถือการปรุงว่าเป็นนั่นเป็นนี่ อันนี้เป็นสภาพธรรมดาของการปรุงแต่งของสังขารของอุปาทาน ใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะเหตุว่าไม่มีใครเลย ที่เห็นแล้วจะไม่รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร แต่การเห็นที่รู้ว่าเห็นเป็นอะไรของคนที่ไม่อบรมเจริญปัญญา ไม่สามารถที่จะรู้ความต่างของนามธรรม และรูปธรรม ไม่สามารถที่จะรู้ความต่างว่าสมมติบัญญัติเรื่องราวเกิดทวารไหน ไม่สามารถจะรู้ความต่างว่าทางตาที่กำลังเห็น เพียงเห็นเท่านั้น ยังไม่เคยที่จะเป็นอย่างนี้เลย เพราะว่าเห็นทีไรก็เป็นคน เป็นดอกไม้ แต่ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาแล้วรู้ว่า สติสัมปชัญญะนี้คืออย่างไร ระลึกลักษณะของปรมัตถธรรมอย่างไร จนกระทั่งค่อยๆ เพิ่มความเข้าใจว่า แม้ขณะนี้ ก็เป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏ มิฉะนั้นทางตาจะไม่มีการอบรมเจริญปัญญา ไม่มีการละคลายเลย และถ้ายังรู้ธรรมไม่ทั่ว ไม่มีทางที่ปัญญาจะถึงขั้นวิปัสสนาญาณที่จะคลายความเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ เป็นเรื่องของปัญญาโดยตลอด การศึกษาพุทธศาสนาเป็นการศึกษาพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ ใน ๓ ปิฏก และเมื่อเข้าใจสภาพธรรมก็รู้ว่า ไม่มีใครอื่นที่สามารถจะรู้อย่างนี้ เพราะเหตุว่าสมมติบัญญัติเรื่องราวปิดบังมากี่ชาติ ตั้งแต่เกิดจนตาย แต่เพราะมีผู้ที่อบรมเจริญบารมีจนประจักษ์แจ้ง แล้วทรงแสดงด้วยพระมหากรุณาที่จะให้คนฟัง มีความเข้าใจมีปัญญาของตัวเองจริงๆ ที่จะรู้สภาพที่เป็นปรมัตถธรรม เพียงแค่คำนี้ ไม่ต้องไปไกลถึงคำไหน แต่รู้ความหมายจริงๆ ว่าปรมัตถธรรมไม่ใช่บัญญัติ แม้เวลาที่สติระลึกก็ต้องระลึกลักษณะของปรมัตถธรรมซึ่งมีจริง เพราะเกิดดับ จึงเป็นทุกขลักษณะของอริยสัจจะ
ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวว่า เป็นพระมหากรุณา เพราะความยากในการที่จะอธิบายตรงนี้ให้คนอื่นเข้าใจ ใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ ถ้าทิ้งความเข้าใจความคิดของตัวเอง แล้วรับฟังสิ่งหนึ่งสิ่งใด และพิจารณาสิ่งที่ได้ฟังว่าตรงไหนผิดตรงไหนถูก ก็สามารถที่จะเข้าใจความจริงได้ แต่ถ้าไม่พิจารณาฟังไปเฉยๆ ก็ไม่สามารถที่จะไปไถ่ถอนความคิดเดิมๆ ของตัวเองได้
ผู้ฟัง ปกติเราเห็น บัญญัติก็เข้ามา
ท่านอาจารย์ ต้องรู้ว่าเป็นทางมโนทวาร นี่เป็นปัญญาที่จะทำให้ระลึกทางตาว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น
ผู้ฟัง หมายถึงว่า ทางตาเราก็รู้ว่า ที่เป็นปรมัตถ์ก็คือจำ จำจนกระทั่งมีปัจจัย
ท่านอาจารย์ ปรมัตถ์มีลักษณะจริงๆ
ผู้ฟัง จำลักษณะของปรมัตถ์ จนสติจะเกิดระลึกในลักษณะของปรมัตถ์อย่างนั้น
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว โดยมากทุกคนจะไม่พูดถึงอาการ ๓ รอบของอริยสัจจ์ ๔ แต่ข้อความในพระไตรปิฏกทรงพระมหากรุณาที่จะแสดงให้คนรุ่นหลังไม่เข้าใจผิด จึงได้ทรงแสดงอาการ ๓ รอบของอริยสัจจ์ คือ สัจจญาณ กิจจญาน กตญาณ เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่ใครก็ตาม มานั่ง แล้วดูอะไร จ้องไป คิดไป จนกว่าจะรู้ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย แต่ สัจจญาณ หมายความว่าผู้นั้นสามารถที่จะเข้าใจอริยสัจจ์ทั้ง ๔ อย่างถ่องแท้มั่นคง สัจจะเป็นความจริงว่า ทุกขอริยสัจจ์ ได้แก่อะไร ถึงเราจะไม่ศึกษาโดยตัวเลข แต่เราพิจารณาโดยเหตุผลว่า ขณะนี้สภาพธรรมมี แล้วปัญญาจะรู้อะไร ถ้าไม่รู้ธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ ถ้าโดยศึกษาก็กล่าวไปถึงจิตกี่ประเภท เช่น เห็นขณะนี้ หรือไม่รูปทั้งหมดขณะนี้ที่มีรูปใดปรากฏ ก็ให้รู้จนกว่าจะประจักษ์การเกิดดับ นี่คือสัจจญาณ ถ้ามีความเข้าใจมั่นคงอย่างนี้จริงๆ ไม่มีเรา ที่จะไปทำให้สติเกิด แต่เวลาที่มีความเข้าใจมั่นคงว่าขณะนี้เป็นธรรม เป็นปัจจัยให้มีการระลึกลักษณะของธรรม ซึ่งมีลักษณะจริงๆ ไม่ว่าจะเป็น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้นทางกาย หรือทางใจ ทุกอย่าง มีเพราะจิตรู้ ปรากฏเพราะจิตรู้ ขณะนี้จะเห็นอะไร ตามฝา ตามเพดาน นอกถนน ก็เพราะจิตเห็น หรือว่าเวลานี้มีเสียง ไม่ว่าจะเสียงอะไรทั้งหมด ที่ปรากฏก็เพราะจิตได้ยิน เพราะฉะนั้นตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่มีสักขณะเดียวซึ่งขาดจิตเจตสิกซึ่งเกิดดับ และรู้อารมณ์ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ให้มีความมั่นคงอย่างนี้ แล้วก็รู้ความต่างระหว่าง ทางตากับทางใจ ทางหูกับทางใจ เพื่อรู้ว่าขณะใดเป็นปรมัตถ์ ขณะใดไม่ใช่ปรมัตถ์ ถ้าเห็นคน เห็น เป็นปรมัตถ์ คน เป็นความจำหรือความคิด ในรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่เห็น ไม่ใช่ไม่มี พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสาวกทั้งหลาย ก็รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร เวลาที่ทรงแสดงธรรม ผู้ฟังก็เข้าใจความหมาย และสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมด้วย เพราะเหตุว่ามีธรรมจริงๆ กำลังปรากฏแก่ปัญญาที่ได้อบรมแล้ว เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องจริงที่ปัญญาจะต้องรู้ความต่างของปรมัตถ์กับบัญญัติ มิฉะนั้นบางคนจะหลงไปพิจารณาบัญญัติ ซึ่งไม่ใช่ปรมัตถ์ และเข้าใจว่านั่นคือหนทางที่จะรู้ปรมัตถธรรม แต่ไม่ใช่ หนทางที่จะรู้ปรมัตถธรรมก็คือรู้ตั้งแต่ขั้นเรียน ขั้นฟังว่าอะไรเป็นปรมัตถ์ และจะรู้จริงก็ต่อเมื่อสติปัฏฐานเกิด และระลึกลักษณะตรงสภาพที่เป็นปรมัตถ์ เพื่อจะรู้ว่าเป็นปรมัตถ์ ไม่ใช่เพราะเราคิดเอาเอง ไม่ใช่เพราะเราเพียงฟัง แต่ความเข้าใจของเราเข้าใจในลักษณะของปรมัตถ์ที่กำลังปรากฎ
ผู้ฟัง ขอถามว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสติปัฏฐาน ๔ กับ มรรคมีองค์ ๘ นั้นมีอย่างไร
ท่านอาจารย์ สติปัฏฐานเป็นเบื้องแรก การที่สภาพธรรมที่มีในขณะนี้เกิดดับอยู่ แล้วถ้าสติไม่เกิดระลึกลักษณะหนึ่งลักษณะใด ไม่มีทางที่โพธิปักขิยธรรมอื่นๆ จะเจริญหรือจะเกิดได้ แต่เมื่อขณะใดที่สติปัฏฐาน ๔ เกิด เมื่อสติระลึกลักษณะของอารมณ์ อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม ต้องเป็นอารมณ์ที่มีจริงๆ บางคนจะอ่านกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีกี่บรรพ และอะไรบ้าง ก็คงจะสงสัยว่านี่เป็นปรมัตถธรรมหรือ เช่น อสุภะ ๑๐ ซากศพที่เป็นสติปัฏฐาน ไม่ใช่ให้เรานึกถึงซากศพ แต่เมื่อเห็น ซึ่งทุกคนเห็น แล้วก็รู้ได้ว่าคนที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่ใช่ซากศพ เพราะอะไรปรุงแต่ง สัญญาความจำปรุงแต่งว่า รูปารมณ์ที่ปรากฏนี้เป็นคนที่ยังมีชีวิต และสัญญาก็ปรุงแต่งว่ารูปารมณ์นั้นเป็นซากศพซึ่งไม่มีชีวิต แต่ความจริงสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูปารมณ์อย่างเดียว เพราะฉะนั้นไม่ว่าเรื่องราวทั้งหลาย ซึ่งเคยเป็นเรา เป็นเขา เป็นซากศพ เป็นผมขน เล็บ ฟัน หนัง หรือว่า เป็นลมหายใจ หรืออะไรก็แล้ว แต่ที่เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จะเห็นได้ว่าทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา หรือเป็นสัตว์เป็นบุคล เช่น ขณะนี้ ที่เห็น ถ้าเป็นสติปัฏฐานจริงๆ จะรู้ความต่างของความคิด หรือความที่เคยทรงจำไว้ว่าเป็นคน เพราะรู้ว่าไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่มีคนเลย ไม่ใช่คนด้วย ซึ่งขอให้พิจารณามากๆ คิดไตร่ตรองจนกว่าจะเข้าใจจริงๆ ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา มีแน่นอน เพราะเหตุว่ากระทบกับจักขุปสาทจึงได้ปรากฏ แต่เมื่อสิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏแล้ว ความคิดนึก เอาคนวัตถุสิ่งต่างๆ จากสิ่งที่ปรากฏทางตา มาเก็บมาทรงจำเอาไว้เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ นี่คือความทรงจำรูปร่างสัณฐานจากสิ่งที่ปรากฏทางตา
เพราะฉะนั้น ทันทีที่เราออกจากห้องนี้ไป แล้วเรานึกถึงห้องนี้ จะนึกถึงดอกมะลิในพานนี้ก็ได้ เวลานี้กำลังเห็นอย่างนี้ ซึ่งความจริงเป็นเพียงสีสันวรรณะ แต่ใจคิดถึงรูปทรงของดอกมะลิ จึงรู้ว่าไม่ใช่ดอกกุหลาบ และยังรู้ถึงรูปทรงของพาน ซึ่งก็ไม่ไช่ดอกมะลิ เราเห็นอย่างนี้ และเรารู้อย่างนี้ เราคิดอย่างนี้ แค่ออกไปหรือเพียงหลับตา ลองนึกสิ ว่าเรานึกได้แค่ไหน แต่ขณะเห็นเราเห็นก้านสีเขียวอ่อนๆ เห็นกลีบสีขาว ที่บาน บางดอกตูม นี่เราเห็นไปแล้วคิดไปตลอด แต่พอหลับตาลองคิดถึงดอกมะลิในพานสิ จะออกมายังไง คิดได้แค่ไหน ในความคิด ไม่ใช่สิ่งที่กำลังเห็นเลย แต่ว่าเราเอาความทรงจำออกมาจากสิ่งที่ปรากฏทางตา มาเป็นเรื่องเป็นราวที่จำไว้ แต่ไม่ใช่สิ่งที่มีจริง แต่มีในความคิดเท่านั้น ถ้าไม่คิดถึงดอกมะลิ ดอกมะลิก็ไม่มี ในขณะที่เห็นรูปร่างสัณฐานทรงจำไว้ ทางตาจะละเอียดเพราะว่ากำลังเห็นด้วย แล้วก็คิดไปอย่างละเอียด แต่พอรู้ว่าเป็นดอกมะลิในพาน เพียงแค่หลับตาไม่สามารถจะคิดให้เหมือนกับที่เห็นได้ เพราะฉะนั้นใช้ความจำของเรา ที่เป็นคนเป็นสัตว์ จากสิ่งที่ปรากฏทางตาทุกเมื่อเชื่อวัน จำไว้แล้วจำไว้อีก จำไว้แล้วจำไว้อีกว่าเป็นคนนั้นคนนี้ อย่างนี้อย่างนั้น ที่จะลบเลื่อนไป ยาก จนกว่าปัญญาจะรู้จริงๆ ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตานั้น ปรากฏเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แต่ส่วนความจำความคิด ต้องทางอื่นคือทางมโนทวาร
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 2
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 3
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 4
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 5
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 6
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 7
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 8
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 9
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 10
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 11
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 12
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 13
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 14
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 15
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 16
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 17
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 18
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 19
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 20
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 21
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 22
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 23
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 24
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 25
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 26
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 27
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 28
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 29
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 30
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 31
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 32
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 33
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 34
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 35
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 36
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 37
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 38
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 39
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 40
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 41
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 42
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 43
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 44
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 45
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 46
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 47
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 48
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 49
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 50
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 51
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 52
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 53
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 54
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 55
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 56
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 57
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 58
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 59
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 60