ปกิณณกธรรม ตอนที่ 56
ตอนที่ ๕๖
สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่
มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔
ท่านอาจารย์ ความจำของเราที่เป็นคนเป็นสัตว์ จากสิ่งที่ปรากฏทางตาทุกเมื่อเชื่อวัน จำไว้แล้วจำไว้อีกๆ ว่า เป็นคนนั้นคนนี้อย่างนั้น ที่จะลบเลื่อนไป ยาก จนกว่าปัญญาจะรู้จริงๆ ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นปรากฏเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แต่ส่วนความจำความคิด ต้องทางอื่นคือทางมโนทวาร ซึ่งทางตากำลังเห็นมีสิ่งที่กำลังปรากฏ คิดไม่ได้ คิดว่าเป็นอะไรไม่ได้เลย เพียงแค่เห็น แล้วก็ต่อไปถึงทางใจ แล้วก็เห็นอีก แล้วต่อไปถึงทางใจอีก จึงปรากฏเป็นโลกที่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่สับสน ซึ่งยากที่จะแยกออก เวลาฝันเราฝันเห็นอะไรก็ได้ แต่ไม่เหมือนสิ่งนั้นที่กำลังปรากฏทางตา เป็นเพียงความทรงจำเรื่องราวบัญญัติ เหมือนขณะนี้ ทันทีที่หลับตาก็ทรงจำเรื่องราวบัญญัติของดอกมะลิในพาน แต่ว่าไม่สามารถจะปรากฏทางตาเหมือนอย่างสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นให้ทราบว่าเราเอาเรื่องราวออกมาจากสิ่งที่ปรากฏทางตา มาเป็นสัตว์เป็นคน และทรงจำไว้แน่นหนา ไม่ลืมเลือน เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจความต่างของบัญญัติกับปรมัตถ์ ไม่ว่าจะเป็น กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสนาสติปัฎฐาน หรือธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ต้องทราบว่าขณะนั้นสิ่งที่เป็นปัฏฐาน เป็นเพียงเครื่องเตือนให้ระลึกสภาพที่เป็นปรมัตถธรรม เมื่อสักครู่มีหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งท่านผู้นั้นก็ถามถึงผลของการที่ระลึกรู้ลักษณะของ กาย เวทนา จิต ธรรม เพียงเพื่อรู้ว่าเป็นธรรม เท่านั้นเอง เพราะว่าจริงๆ แล้วเป็นธรรมเท่านั้น เป็นธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสิ่งใดก็คือเป็นธรรม เป็นสิ่งซึ่งต้องศึกษาโดยละเอียดต้องเข้าใจ และต้องประกอบสอดคล้องกับพระสูตรอื่นๆ ด้วย เช่น สัปปายสูตร ที่ท่านพระสารีบุตรทรงแสดง อะไรเป็นสัปปายะที่สติปัฏฐานจะเกิด ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง กล่าวไว้ว่า ลักษณะที่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็คือสภาพที่เป็นปรมัตถธรรมนั่นเอง เพราะฉะนั้นถ้าเราได้ยินคำว่า สัปปายะตรงนี้ สัปปายะตรงนั้น สัปปายะตรงอื่น ก็ต้องเข้าใจให้สอดคล้องกันด้วย หมายความถึงอะไร เรื่องอะไร ระดับไหน ทำไมทรงแสดงไว้โดยนัยต่างๆ ไม่ใช่โดยนัยอย่างเดียว เพื่อให้เราเข้าใจถูกต้อง ประกอบกันให้เข้าใจยิ่งขึ้น แต่ถ้าไม่รู้ความต่างของ ปรมัตถ์ กับ บัญญัติ ไม่มีทางที่ปัญญาจะเจริญ
ผู้ฟัง ถ้าเกิดว่าซากศพ เป็นเพียงสภาพธรรมที่ปรากฏ ถ้าใจไม่ได้คิดนึก ก็ไม่มีอสุภกรรมฐาน
ท่านอาจารย์ ปกติเราเห็นอะไรทางตา จะผ่านไปถึงทางใจเสมอ เพราะฉะนั้นถ้าเห็นศพ แล้วเราจะบอกว่าไม่ใช่ศพ เป็นไปได้ เรารู้ใช่หรือไม่ แต่ขณะที่เรารู้ คือ เรารู้บัญญัติ ปรมัตถธรรมขณะนั้นคืออะไร
ผู้ฟัง ปรมัตถธรรมขณะนั้นคือ สีที่ปรากฏเท่านั้น แต่เรารู้บัญญัติ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่เป็นการเจริญวิปัสสนา
ท่านอาจารย์ เพราะเรารู้บัญญัติ จริงหรือไม่
ผู้ฟัง ไม่จริง
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีสภาพธรรม จะรู้บัญญัติได้หรือไม่
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอะไรจริงขณะที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์
ผู้ฟัง สีที่ปรากฏ
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่คิดจะมีบัญญัติเป็นอารมณ์ได้หรือไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เริ่มรู้จักว่า “คิด” เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งแต่ละอย่างนี่ยาก ทางตาก็ยากที่จะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ทางใจที่คิดก็ยากที่จะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน แต่ทั้งหมดไม่ใช่ตัวตน ต้องเป็นธรรม คือผู้ที่รู้สัจจธรรม ทรงแสดงไว้อย่างไร ความจริงเป็นอย่างนั้น สามารถที่จะพิสูจน์ได้ เพราะฉะนั้นกว่าจะอบรมเจริญปัญญา ถึงระดับที่สามารถจะรู้ทั่วว่าเพียงคิด ไม่ว่าจะกำลังเห็นแล้วคิด กำลังได้ยินแล้วคิด หรือ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่ได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ก็คือคิด คิดเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ถ้าไม่ระลึกก็เป็นเราคิด แต่ถ้าระลึกก็คือสภาพคิด เกิดแล้วดับ ไม่ว่าจะคิดอะไรทั้งสิ้น ก็คือชั่วขณะที่เกิด และดับ และสามารถที่จะรู้ด้วยว่าทางทวารไหน และสามารถที่จะรู้ความต่างของสมมติสัจจะ กับ ปรมัตถสัจจะ เป็นเรื่องจริงทั้งหมด ซึ่งปัญญาจะต้องค่อยๆ อบรม และรู้ว่าความรู้คือความรู้จริง จริงเพราะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ และรู้ว่าอะไรไม่จริงเป็นบัญญัติ
ผู้ฟัง ขอให้ท่านอาจารย์ อธิบายเรื่องของ อริยสัจจ์ ๓ รอบ
ท่านอาจารย์ รอบที่ ๑ คือ สัจจญาณ ต้องมีความเข้าใจตั้งแต่ ทุกขสัจจ์ สมุทยสัจจ์ นิโรธสัจจ์ และมรรคสัจจ์ ต้องเข้าใจทั้ง ๔ ให้ตรงให้ถูก เพราะว่าแม้แต่ มรรคสัจจ์ ไม่ใช่ว่าจะเข้าใจได้โดยง่ายเลย กว่าจะพูดกันให้เข้าใจว่า ต้องเป็นสติปัฏฐาน สติปัฏฐานระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม เราไม่ได้ห้ามความคิดเลย ไม่ใช่ห้ามไม่ให้รู้ว่าเป็นซากศพ ไม่ใช่ห้ามไม่ให้รู้ว่าเป็นคน แต่ให้รู้ความต่างของสภาพธรรมว่า ถ้าเป็นสภาพธรรมทางตา ทรงแสดงไว้โดยวิญญาณธาตุ ๗ ว่าจักขุวิญญาณธาตุ จะเห็นเท่านั้น แยกให้เห็นชัดประกอบกัน โสตวิญญาณธาตุ คือ จิตที่ได้ยิน ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายวิญญาณธาตุ ต่อจากนั้นก็เป็น มโนธาตุ มโนวิญญาณธาตุ ธรรมธาตุ นี่ก็แสดงให้เห็นชี้ชัดลงไปแต่ละธาตุว่า ขณะใดเป็นจักขุวิญญาณธาตุ นอกจากนั้นเป็นมโนธาตุ และมโนวิญญาณธาตุ ถ้าเป็นเจตสิก และสภาพธรรมอื่นจากนี้เป็นธรรมธาตุ แสดงธาตุโดยตลอด แต่ถ้ายกมาเฉพาะวิญญาณธาตุก็ได้วิญญาณธาตุ ๗ โดยสรุป แต่ว่าโดยละเอียดแล้วแตกย่อยไปละเอียดมากทุกขณะประมาณไม่ได้ แต่ด้วยพระปัญญาคุณ แม้ว่าจิตจะละเอียดในอดีต ปัจจุบัน อนาคต วิจิตรมากมายอีกเท่าไหร่ ก็ประมวลลงในจิต ๘๙ ประเภท แต่ความหลากหลายนั้นมากมาย ถ้าเอาชื่อไปใส่ก็เป็นบุคคลต่าง อัธยาศัยต่างๆ ความจริงก็คือจิตที่สะสมสืบต่อ มีโลภะมาก มีโทสะมาก มีความเห็นถูกมาก มีความเห็นผิดมาก มีความเมตตามาก หรือว่ามีความริษยามาก ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่สะสมสืบต่อเป็นแต่ละคนๆ
ผู้ฟัง ได้ฟังเรื่องของขันธ์ ๕ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโดยนัย ขันธ์ ๕ ที่ทรงแสดงให้สาวกเพื่ออะไร
ท่านอาจารย์ ปรมัตถธรรม เริ่มต้นจากธรรม ปรมัตถธรรม อภิธรรม แยกให้เห็นออกไปให้ละเอียดอีกเป็นขันธ์ ๕ เป็นอายตนะ เป็นธาตุ เป็นอริยสัจจะ เป็นปฏิจจสมุปบาท ไม่พ้นจากปรมัตถธรรมเลย ถ้าฟังนิดเดียว นามธรรม รูปธรรม ละกิเลสได้หรือไม่ ต้องแสดงมากมายมหาศาลกว่านั้น กว่าจิตใจของผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจะค่อยๆ สะสมความเข้าใจ ค่อยๆ คล้อยตามปริยัติที่ได้ศึกษา เพราะเหตุว่าปฏิบัติกับปฏิเวทต้องตรงกับลักษณะของสภาพธรรม
ผู้ฟัง สภาพธรรมที่จำแนกออกเป็น ๑๑ ลักษณะนี้ เวลาอ่านก็เพียงแค่จำ เช่น มี อดีต อนาคต ปัจจุบัน
ท่านอาจารย์ แต่เข้าใจได้ เช่น “ขันธ์” พยัญชนะหมายความถึงกอง กองอะไร กองดอกมะลิ กองข้าวสาร หรืออะไรไม่ใช่ กองหรือประเภทของรูป เพราะฉะนั้นรูปทุกชนิด ไม่ว่ารูปในอดีตก็เป็นรูปจะเป็นอื่นไม่ได้ รูปขณะนี้ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นรูปจะเป็นอื่นไปไม่ได้ สีสันวรรณะที่ปรากฏที่จะมีจิตเห็นข้างหน้าต่อไปก็คือรูป สีสันวรรณะเป็นอื่นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นรูปขันธ์ไม่ว่าใน อดีต ปัจจุบัน อนาคต เป็นนามธรรมไม่ได้ เป็นรูปขันธ์ และรูปนี้ลองคิดดู รูปที่น่าพอใจก็มี รูปที่ไม่น่าพอใจก็มี คือ รูปทราม หรือรูปประณีต รูปหยาบหรือรูปละเอียด คือทั้งหมดทรงแสดงว่า รูปโดยประการทั้งปวงในอดีต ปัจจุบัน อนาคต หลากหลายอย่างไร ก็คือรูปขันธ์ ความจริงคือรูป ไม่ใช่เรา ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้านี้ไม่ใช่เรา จะเป็นตา จะเป็นคิ้ว จะเป็นจมูก จะเป็นปาก ก็ไม่ใช่เรา ก็เป็นรูป ซึ่งบัญญัติแล้วแต่ว่าจะแสดงโดยนัยใด ถ้าเป็นนัยของสมถภาวนาก็เป็นความไม่งาม ปฏิกูลมนสิการในสภาพที่ไม่งาม
ผู้ฟัง ขณะเดียวกัน เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ ก็แสดงถึงลักษณะของสภาพธรรม ใช้เรียก จิต เจตสิก
ท่านอาจารย์ แสดงหลากหลาย ถึงหลากหลายอย่างไร ก็เหมือนกัน ก็คือ อดีตโสมนัสเป็นลักษณะเหมือนกับโสมนัสปัจจุบัน หรือโสมนัสข้างหน้า โทมนัสสาหัสในขณะนี้ ในอดีตก็เหมือนกัน ข้างหน้าก็เหมือนกันก็เป็นโทมนัส ก็แสดงตามความจริงของสภาพธรรมนั้น ไม่ใช่เราแต่เป็นขันธ์ แต่ไม่ยอมเป็นขันธ์ เป็นเรา ก็ต้องฟังอีกนาน แล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น อย่ามุ่งไปหวังที่จะให้สติปัฏฐานเกิด เพราะสมุทยสัจจ์อยู่ตรงนั้น ถ้ามีปัญญาความเห็นถูก เขาจะพาไปไหน ก็พาไปสู่ความเห็นถูกยิ่งขึ้น เท่าที่ได้ฟังมาผิดตรงไหน ถ้าผิดก็ไม่สามารถจะนำไปสู่ความเห็นถูกได้ แต่ถ้าถูก ก็คือเมื่อฟังแล้วเข้าใจ ก็จะนำไปสู่ความเข้าใจขึ้น ความเข้าใจขึ้น จนถึงรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้
ผู้ฟัง ที่ว่าใกล้-ไกล เป็นอย่างไร โดยสภาพธรรม
ท่านอาจารย์ โดยลักษณะที่ว่า สามารถจะรู้ได้ง่าย กับสามารถที่จะรู้ได้ยาก ถ้าอ่านเองขอสนับสนุนให้ทุกคนศึกษาอ่านพระไตรปิฏก และอรรถกถา จะมีข้อความอีกมากที่แสดงโดยละเอียด อยากรู้ตรงไหนไปดูจะมีหมดเลย ขันธ์ โดยหยาบ-โดยละเอียด โดยใกล้-ไกล โดยทราม-ประณีต เวทนาอย่างไรนับว่าเป็นหยาบ อย่างไรนับว่าเป็นละเอียด อย่างไรนับว่าเลว อย่างไรนับว่าประณีต จะบอกไปหมดเลย ใกล้-ไกล คืออย่างไร แต่ทั้งหมดคือชื่อ ถ้าไม่รู้ ถ้าสติไม่ระลึก เพราะฉะนั้นสภาพธรรมแม้มีจริง เพียงขั้นการศึกษาเป็นระดับของปริยัติ และถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐาน เข้าใจผิดได้
ผู้ฟัง วิปัสสนาญาณที่ ๑ รู้อะไร
ท่านอาจารย์ เวลาที่สติเกิด สติระลึกอะไร ที่จะรู้ว่าวิปัสสนาญาณที่ ๑ รู้อะไร ถ้าหยิบชื่อมาบอกก็ง่าย แต่ว่าเหตุที่จะให้รู้จริงอย่างนั้น เวลาที่สติปัฏฐานเกิดสติปัฏฐานระลึกอะไร
ผู้ฟัง ระลึกสภาพธรรม
ท่านอาจารย์ สภาพธรรมอะไร
ผู้ฟัง ขึ้นอยู่กับว่าสภาพธรรมอะไรที่ปรากฏ
ท่านอาจารย์ เมื่อระลึกแล้วรู้อะไร
ผู้ฟัง รู้สภาพธรรม
ท่านอาจารย์ รู้สภาพธรรมเป็นอย่างไร ถ้าระลึกลักษณะต้องมีลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่ระลึกเฉยๆ สภาพลักษณะที่เป็นรูปธรรม หรือ สภาพธรรมที่เป็นนามธรรม โดยที่ยังไม่เคยรู้ลักษณะแท้จริง เพียงแต่ฟังแล้วก็เข้าใจว่ารูปต่างกับนาม นี่คือขั้นฟัง นามเป็นธาตุ รู้เป็นสภาพรู้เป็นอาการรู้ ไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลย แต่ขณะที่สติระลึกมีเห็นตามปกติธรรมดา เพราะสั้นมากนิดเดียว ถ้าระลึกที่แข็ง แต่ตรงนั้น ก็รู้ลักษณะที่แข็ง แทนที่เป็นเรื่องราวก็มีการระลึก ศึกษาเข้าใจลักษณะนั้น ซึ่งเป็นขณะที่สัมมาสติเกิดว่าขณะนั้นสติเกิด ตรงนั้นเท่านั้นที่ปัญญาจะเจริญ คือตรงที่สติระลึก ถ้าสติไม่เกิด อย่างไรปัญญาก็เจริญไม่ได้ ก็เป็นเพียงขั้นคิดนึกไปเรื่องนามธรรมรูปธรรมโดยตลอด แต่ว่าลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรม สติปัฏฐานไม่เคยเกิดไม่เคยระลึก แต่เมื่อสติปัฏฐานเกิดระลึกจึงรู้ลักษณะที่ต่างกัน เพราะว่านามธรรมไม่ใช่รูปธรรม รูปธรรมไม่ใช่นามธรรม ที่เคยฟังมาเป็นอย่างไร ลักษณะแท้จริงของเขาก็ปรากฏอย่างนั้น เช่น ทางกาย เวลาที่สติปัฏฐานระลึกที่กาย จะมีอะไรปรากฏ
ผู้ฟัง รูปปรากฏ
ท่านอาจารย์ พูดถึงกาย ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เวลาที่สติปัฏฐานเกิดระลึกที่กาย ตรงกาย จะมีรูปอะไรปรากฏ
ผู้ฟัง มีเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว
ท่านอาจารย์ ไม่พร้อมกัน เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว เย็นแค่ไหน ไม่ต้องวัด ร้อนแค่ไหนก็ไม่ต้องวัด ไม่มีคำพูดใด เพราะว่าลักษณะนั้นกำลังปรากฏ จะต้องไปนึกถึงชื่อหรือไม่ บางคนก็ยังถาม แล้วนี่เป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า ก็ยังถาม นี่คือความไม่รู้ เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นมรดกที่พุทธบริษัทได้รับจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ได้ฟังสิ่งซึ่งพิจารณาแล้วเป็นความเข้าใจของตัวเอง สำคัญที่สุด อย่าคิดว่าจะยกความรู้นี้ให้ใคร หรือว่าทำให้คนอื่นผู้ตามได้ คิดตามได้แต่ว่าไม่สามารถที่จะเข้าใจจริงๆ ได้ ประโยชน์สูงสุดของกัลยาณมิตร คือให้ผู้ที่ฟังสามารถมีความเข้าใจของตัวเอง แม้แต่เวลาที่สติระลึก สติระลึกอะไร ต้องมีสิ่งที่สติระลึกเป็นปรมัตถธรรม ต้องมีลักษณะที่ต่างว่าขณะนั้นระลึกลักษณะของรูปธรรมหรือลักษณะที่เป็นนามธรรม เพราะทั้ง ๒ อย่างนี้ต่างกัน เพราะว่านามธรรมไม่มีรูปร่างใดๆ เลย แต่รูปธรรมจะมีลักษณะต่างๆ ปรากฏทางตาอย่างหนึ่ง ทางหูอย่างหนึ่ง ทางจมูกอย่างหนึ่ง ทางลิ้นอย่างหนึ่ง ทางกายอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นที่กาย กายปสาทจะกระทบกับสิ่งที่ อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ที่เรารู้ว่าอ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวที่กาย เพราะมีกายปสาท ถ้าไม่มีกายปสาทก็จะไม่รู้เลย ที่ใดก็ตามที่ตัวที่ไม่มีกายปสาท จะไม่มีลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อนปรากฏ เมื่อเย็นหรือร้อนปรากฏ เคยเป็นเราเย็น เราร้อน เราอ่อน เราแข็ง เราตึง เราไหว ก็รู้ว่าขณะนั้นเป็นลักษณะของธรรมชนิดหนึ่ง ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐานที่ระลึกลักษณะของรูป และสติปัฏฐานจะต้องระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมด้วย สภาพรู้หรือธาตุรู้ สามารถจะรู้ได้ทุกอย่าง แต่ว่าขณะนั้นที่รูปใดปรากฏ ก็เพราะสติกำลังระลึกลักษณะของรูปนั้น เมื่อเป็นการอบรมปัญญาที่จะรู้ลักษณะของธรรม ที่ต่างกันเป็นนามธรรม และรูปธรรม เวลาที่เป็นวิปัสสนาญาณ คือ ความสมบูรณ์ของปัญญา จะประจักษ์แจ้งอะไร คำถามที่ว่า ต้องมาจากเหตุ ถ้าสติปัฏฐานระลึกลักษณะของรูปธรรม สติปัฏฐานระลึกลักษณะของนามธรรม เมื่อถึงความสมบูรณ์ประจักษ์แจ้งจริงๆ สภาพธรรมนั้นปรากฏ จะเป็นการรู้ลักษณะของอะไร
ผู้ฟัง ของรูปธรรม และนามธรรม
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นวิปัสสนาญาณที่ ๑ จึงเป็น “นามรูปปริจเฉทญาณ” ปัญญาที่ประจักษ์ความต่างของนามธรรม และรูปธรรม ปัญญาที่สมบูรณ์ไม่ใช่เพียงขั้นระลึก แต่ยังไม่รู้ สงสัยไปว่า นี่นามหรือรูป นั้นไม่ใช่วิปัสสนาญาณ แต่วิปัสสนาญาณ ต้องเป็นขณะที่ถึงกาลที่สภาพธรรมปรากฏทางมโนทวารแยกขาดจากกัน ในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม
ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์อธิบายว่า แยกขาดจากกัน หมายความอย่างไร
ท่านอาจารย์ ไม่มีเราที่กำลังรู้เลย โลกไม่มี อะไรไม่มี มีแต่ธาตุรู้ที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏ นี่คือปัญญาที่สมบูรณ์ ที่จะประจักษ์ในความเป็นธาตุรู้ ซึ่งไม่มีเรา
ผู้ฟัง ปรากฏทางมโนทวาร ทั้งรูปธรรม และนามธรรม
ท่านอาจารย์ ทีละอย่าง พร้อมกันไม่ได้
ผู้ฟัง เมื่อวาน ได้ถามท่านอาจารย์ถึงจุดนี้ว่า ทำไมจึงปรากฏแต่เฉพาะทางมโนทวาร ในการประจักษ์
ท่านอาจารย์ เพราะว่าทางมโนทวารสามารถจะรู้ได้ ทั้งรูปธรรม และนามธรรม
ผู้ฟัง ทางตา ในขณะที่ สีปรากฏ จักขุวิญญาณก็เป็นธาตุรู้
ท่านอาจารย์ จักขุวิญญาณ เป็นธาตุ เห็นสี ปัญจทวาราวัชชนเป็นมโนธาตุ
ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์อธิบายว่า ที่ไม่อาจที่จะประจักษ์ทางปัญจทวารได้ เนื่องจากทางปัญทวารนี้ไม่มี ...
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ หมายความว่า วิปัสสนาญาณ เป็นช่วงขณะที่ปัญญาสมบูรณ์ที่แทงตลอดลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมใดๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนั้น โดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ทีละอย่าง เพราะฉะนั้นลักษณะของนามธาตุจะปรากฏ ขณะนี้เป็นเราที่กำลังฟังเรื่องนามธาตุ แต่ลักษณะของนามธาตุไม่ได้ปรากฏ แต่เวลานามธาตุปรากฏทางมโนทวาร คนนั้นจะหมดความสงสัยในมโนทวาร เพราะว่าในขณะนี้ ทราบโดยการศึกษาว่าเมื่อปัญจทวารดับ ภวังค์คั่น มโนทวารรับต่อ แยกไม่ออก ระหว่างรูปที่ปรากฏทางตากับที่มโนทวารรู้ต่อ หรือทางเสียง ทางกลิ่นทางรส ทางเย็นร้อนอ่อนแข็ง โผฎฐัพพะ ก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นทางมโนทวารรู้ทุกอย่างเพราะว่ารับต่ออย่างเร็วมาก เร็วเกินกว่าที่ใครจะไปแยก ขณะนี้เป็นอย่างไรฉันใด เวลาที่ปัญญาถึงความสมบูรณ์ก็ฉันนั้น
เพราะฉะนั้น เวลาที่ทางมโนทวารรู้รูป ขณะนั้นต้องมีทางปัญจทวารด้วย แล้วก็ต่อทางมโนทวาร แต่ว่าเดี๋ยวนี้ทางมโนทวารไม่ปรากฏ เพราะไม่ใช่การประจักษ์แจ้งแทงตลอด แต่เวลาเป็นวิปัสสนาญาณ มโนทวารปรากฏ เพราะฉะนั้นขณะนี้มโนทวารถูกปิดบังด้วยปัญจทวาร เพราะว่าเกิดดับสืบต่อเร็ว แม้มโนทวารแทรกคั่นอยู่ก็ไม่ปรากฏ แต่เป็นวิปัสสนาญาณ มโนทวารปิดบังปัญจทวาร เกือบจะไม่รู้เลยว่าการที่รูปปรากฏ เกิดต่อจากทางปัญจทวารเพราะเร็วมาก
ผู้ฟัง ฟังดูแล้ว เป็นการที่กลับกัน
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง กลับกัน เพราะเวลานี้มีโลก เต็มไปด้วยวัตถุต่างๆ ถ้ากลับหมดไม่มีอะไรนอกจากธาตุรู้ ที่กำลังรู้ทีละอย่าง คือความจริง
ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์ได้อธิบายถึงว่า ทำไมจึงไม่ค่อยเข้าใจ ไม่ค่อยจะระลึกรู้ในปรมัตถ์ แต่กลับไปสนใจอยู่ในเรื่องราว โดยส่วนมากทุกท่านจะไปติดอยู่ในเรื่องราว
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเราต้องเห็นประโยชน์ของการเข้าใจธรรม และเข้าใจความหมายของธรรม และรู้ว่าปัญญาของเรา สามารถจะรู้ทั่วพระไตรปิฏก ๓ ปิฏก หรือเฉพาะบางส่วน แต่ส่วนไหนก็ตามต้องไม่พ้นจากปรมัตถธรรม ถ้าเราสามารถจะเข้าใจถูกต้องคือรู้ว่า ไม่มีตัวตน มีแต่สภาพธรรม ซึ่งไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้ มีปัญญานิดหนึ่งแต่อยากจะไปรู้ปัญญาของคนอื่นที่รู้มากๆ จะทำได้แค่สงสัยไม่จบ จนกว่าเราจะอบรมปัญญาของเราให้รู้จริงขึ้น แล้วจะรู้ว่ากำลังปัญญาของเราจะรู้อะไรบ้าง และจะรู้ได้มากน้อยแค่ไหน
ผู้ฟัง สิ่งที่อาจารย์พูดจบไป ก็เป็นความจริง คือ บอกให้รู้ในสิ่งที่ธรรมดา จะไม่ยอมเข้าใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ธรรมดาไม่เข้าใจ แต่กลับอยากจะไปรู้ในสิ่งที่ไม่อาจจะรู้ได้ ซึ่งก็เป็นความจริงที่ตัวเองก็เป็นอย่างนั้นด้วย อันนี้เป็นการสะสม
ท่านอาจารย์ ตอนนี้กำลังสะสมที่จะรู้ประโยชน์ของการเข้าใจปรมัตถธรรม
ผู้ฟัง การที่เราได้มาสนทนาธรรม และได้คุยซักถามถึงสิ่งที่สงสัย เกิดความเข้าใจขึ้นมา จะเป็นการช่วยละในสิ่งที่เราไม่เข้าใจ
ท่านอาจารย์ นี่เป็นประโยชน์ของการสนทนาธรรม มิเช่นนั้น จะเก็บความสงสัยของเราไว้ ไปอ่านตรงไหน ไปนั่งคิดคนเดียว หรือมาช่วยกันคิดช่วยกันพิจารณาความถูกต้องของธรรมคืออย่างไร
ผู้ฟัง ฟังท่านอาจารย์พูดถึงเกี่ยวกับโลกธรรม ๘ ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ สุข ทุกข์ นินทา สรรเสริญ ถ้าเรารับให้เป็น เราควรรับอย่างไร
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 2
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 3
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 4
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 5
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 6
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 7
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 8
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 9
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 10
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 11
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 12
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 13
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 14
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 15
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 16
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 17
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 18
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 19
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 20
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 21
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 22
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 23
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 24
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 25
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 26
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 27
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 28
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 29
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 30
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 31
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 32
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 33
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 34
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 35
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 36
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 37
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 38
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 39
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 40
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 41
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 42
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 43
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 44
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 45
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 46
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 47
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 48
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 49
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 50
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 51
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 52
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 53
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 54
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 55
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 56
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 57
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 58
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 59
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 60