ปกิณณกธรรม ตอนที่ 59


    ตอนที่ ๕๙

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔


    ท่านอาจารย์ แต่ถ้านึกถึงทาน นึกถึงศีล หรือว่านึกถึงสิ่งที่ทำให้จิตสงบจากอกุศลบ่อยๆ ลักษณะของกุศลจิตก็จะเกิดบ่อย ความสงบก็จะปรากฏ ลักษณะของสมาธิก็จะตั้งมั่นในอารมณ์นั้น เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็เป็นสัมมาสมาธิ จนกระทั่งถึงระดับที่เป็นอุปจารสมาธิ ถึงอัปปนาสมาธิ จึงเป็นฌานจิตตั้งแต่ปฐมฌาน แล้วก็ยังรู้ว่าขณะนั้นถ้ายังมีวิตก คือการตรึก ก็ใกล้ต่อการที่จะตรึกถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ เพราะฉะนั้นท่านจึงละสภาพธรรมที่ตรึก โดยประคองจิตให้อยู่ในอารมณ์นั้นโดยไม่ให้มีวิตกหรือการตรึก ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก แล้วก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า อย่าไปพอใจกับคำว่าสมาธิ โดยที่ไม่มีการศึกษาให้เข้าใจเสียก่อนว่า สัมมาสมาธิกับมิจฉาสมาธินั้นต่างกัน

    ผู้ฟัง สมาธิ ในอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นสัมมาสมาธิ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะว่าเกิดพร้อมกับสัมมาทิฏฐิ

    ผู้ฟัง ในอริยมรรค มีองค์ ๘ บอกว่าสัมมาสมาธิเป็นสมาธิของของฌาน ๔

    ท่านอาจารย์ ถ้าศึกษาพระไตรปิฏก ก็จะเห็นได้ว่าบางข้อความ แสดงโดยอุกฤษฏ์ แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ขณะใดที่เป็นตทังคปหาน จะต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่อุปจารสมาธิ ไม่ใช่อัปปนาสมาธิ แต่พอพูดถึงศีลวิสุทธิ จิตตวิสุทธิ ทิฎฐิวิสุทธิ และวิสุทธิต่อๆ ไป เพียงขั้นของศีลวิสุทธิ ก็ต้องรู้ว่าศีลกับศีลวิสุทธิ ต่างกันอย่างไร จิตตะคือสมาธิ กับ จิตตวิสุทธิ ต่างกันอย่างไร มิฉะนั้นก็จะมีการปะปนสับสนกัน เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าจะแสดงไว้ว่า จิตตวิสุทธิ ได้แก่ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ แสดงโดยอุกฤษฏ์ แต่ว่าการอบรมเจริญสติปัฏฐาน มหากุศลญาณสัมปยุตต์ ไม่ใช่อุปจารสมาธิ ไม่ใช่อัปปนาสมาธิ หรือแม้วิปัสสนาญาณก็เป็นแต่ตทังคปหาน ซึ่งไม่ใช่อุปจารสมาธิ ไม่ใช่อัปปนาสมาธิ เพราะฉะนั้นก็จะต้องมีความเข้าใจให้สอดคล้องกันด้วยว่า เมื่อไหร่แสดงโดยขั้นอุกฤษฏ์ คือรวมด้วยว่า แม้อุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิ เมื่อขณะใดที่สามารถจะรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม ไม่ใช่เรา เมื่อนั้นจึงจะเป็นจิตตวิสุทธิ เพราะฉะนั้นพวกที่ได้ฌาน ถึงรูปฌาน อรูปฌาน แต่ขณะนั้นไม่มีการระลึกลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีสติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นไม่ใช่จิตตวิสุทธิ เพราะฉะนั้นรูปฌานอรูปฌานที่เป็นจิตตะ แต่ไม่ใช่จิตตวิสุทธิก็มี รูปฌานอรูปฌานที่เป็นจิตตวิสุทธิก็มี เพราะฉะนั้นเมื่อใดเป็นวิสุทธิ วิสุทธิ ๗ เป็นเรื่องของการที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะฉะนั้น วิสุทธิ ๗ ต้องวิสุทธิตั้งแต่ศีลวิสุทธิ ขณะนั้นไม่ใช่เราที่วิรัติ แต่เป็นสภาพธรรม อย่างอินทริยสังวร ก็เป็นการที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏผ่านตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นอินทริยสังวร ขณะนั้นก็เป็นศีลวิสุทธิ และจิตตวิสุทธิก็คือขณะนั้นต้องมีปัญญา และรู้สภาพที่ไม่ใช่ตัวตน จึงจะเป็นวิสุทธิได้ ไม่เช่นนั้นแล้วไม่มีทางที่จะเป็นวิสุทธิ เพราะว่าวิสุทธิที่เป็น ศีลสุทธิ จิตตวิสุทธิ เป็นบาทของทิฎฐิวิสุทธิซึ่งเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ทิฎฐิวิสุทธิที่นี่ไม่ใช่เพียงวิสุทธิที่เฉยๆ ด้วยสติปัฏฐาน แต่จะต้องเป็นวิปัสสนาญาณที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ

    ผู้ฟัง เรื่องของการคิด กับปัญญาของการเจริญวิปัสสนาจริงๆ แตกต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะว่าคิดอริยสัจจ์ ๔ คิดเท่าไหร่ก็ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ เพราะขณะนั้นสติไม่ระลึกลักษณะที่มีจริงๆ ของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง แต่บุคคลที่ยังไม่ประจักษ์แจ้งในสภาวะของอริยสัจจ์ ๔ นี้ บุคคลผู้นั้น เมื่อมีความคิดในเรื่องของธรรมของพระพุทธองค์ ถือว่าเป็นปัจจัยแก่สติปัฏฐาน ๔ ได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ คิดมานานแล้ว คิดมาก่อนแล้ว แต่ว่าคิดอย่างไรเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิด

    ผู้ฟัง คิดตามคำสอน เช่นว่า เพราะเหตุที่มีจักขุ และมีรูปารมณ์ เพราะอาศัยสิ่งทั้งสองอย่างนี้ จักขุวิญญาณจึงเกิดขึ้น เพราะอาศัยจักขุวิญญาณเกิดขึ้นเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ ผัสสะเป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนาเป็นต้น

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังคิดอย่างนี้ จักขุวิญญาณก็ดับไปนับไม่ถ้วนแล้ว

    ผู้ฟัง ถ้าหากไม่คิด เราก็ไม่รู้จักว่าจักขุวิญญาณคืออะไร

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าขณะที่คิดไม่ใช่ขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพเห็น ตัวจักขุวิญญาณกำลังเห็น เป็นธาตุรู้ คือเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ จะคิดเรื่องนี้สักเท่าไร แต่ก็ไม่รู้ลักษณะจริงๆ ของธาตุรู้ หรือสภาพรู้ที่กำลังเห็น

    ผู้ฟัง อยากทราบว่าเพียงแต่รู้สีเท่านั้นหรือ ทางตา

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้จักขุวิญญาณกำลังเห็น สีกำลังปรากฏกับจิตที่เป็นจักขุทวารวิถีจิตทั้งหมด รูปารมณ์มีอายุเพียงแค่ ๑๗ ขณะจิตแล้วก็ดับ

    ผู้ฟัง ต้องรู้ถึง ๑๗ ขณะจิต

    ท่านอาจารย์ มิได้เลย นี้คือการเรียนว่า อายุของรูป มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ นี้เป็นความรู้แต่ไม่ใช่การระลึกลักษณะของรูปหรือนาม นี้เป็นการฟังเรื่องของสภาพรู้ และรูปธรรม เรื่องของจักขุ เรื่องของผัสสะ เรื่องของอะไรทั้งหมด ขณะที่ฟังอย่างนี้เป็นการฟังเท่านั้น เป็นสติขั้นฟัง ขณะที่กำลังฟังนี่ก็มีสติกำลังคิด อย่างนั้นก็เป็นสติ แต่ไม่ใช้สติปัฏฐานที่ระลึกลักษณะที่มีจริงๆ ที่กำลังเห็น ที่กำลังรู้ว่ามีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างนี้หรือว่ารู้แข็งหรือว่าคิดนึก นั่นเป็นตัวสภาพธรรม ซึ่งถ้าสติไม่ระลึก ก็ไม่มีวันจะรู้ ก็ไปคิดเรื่องราวของสภาพธรรมนั้นเท่านั้น

    ผู้ฟัง การประจักษ์ความเป็นอนัตตาในการเห็น เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีสติปัฏฐาน จะไม่มีการประจักษ์แจ้งเลย ต้องรู้ว่าขณะไหนหลงลืมสติ ขณะไหนมีสติ

    ผู้ฟัง สติปัฏฐานจะเกิดขึ้นได้ ในขณะที่เราเห็นตรงนี้

    ท่านอาจารย์ สติปัฏฐานจะเกิดได้เมื่อมีความเข้าใจเรื่องของสติปัฏฐานอย่างถูกต้อง เพราะฉะนั้นขณะที่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องของสติปัฏฐาน อย่าคิดว่าจะทำอย่างไร สติปัฏฐานจึงจะเกิด แต่หมายความว่าจะฟังให้เข้าใจเรื่องของสติปัฏฐานมากขึ้น เมื่อเข้าใจเรื่องของสติปัฏฐานมากขึ้น ก็รู้ว่าสติปัฏฐานคืออย่างไร แต่ไม่ใช่ฟังเรื่องสติปัฏฐานเพื่อที่จะให้สติปัฏฐานเกิด แต่เพื่อให้เข้าใจความละเอียดความลึกซึ้งของมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งแสดงไว้ว่าเห็นยากว่าเป็นมรรค เป็นหนทาง เพราะเหตุว่าลึกซึ้ง ต้องมีความเข้าใจเรื่องของสภาพธรรม แล้วสติจึงจะระลึกได้ ถ้าไม่มีความเข้าใจว่าสภาพธรรมในขณะนี้เป็นเพียงนามธรรม และรูปธรรมจริงๆ สติปัฏฐานก็เกิดไม่ได้

    ผู้ฟัง ก่อนหน้าที่เราจะเข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน เราก็ต้องได้รับเหตุปัจจัยของสติปัฏฐานมาก่อน

    ท่านอาจารย์ ต้องฟังเรื่องนามธรรม และรูปธรรม

    ผู้ฟัง ต้องได้รับการฟังก่อน

    ท่านอาจารย์ ฟังให้เข้าใจด้วย

    ผู้ฟัง ต้องฟังมากๆ จนเข้าใจ แล้วสติปัฏฐานจึงจะเกิด

    ท่านอาจารย์ เมื่อเข้าใจแล้วก็ไม่ต้องรอ แล้วแต่สติปัฏฐานจะเกิดเมื่อไหร่ ไม่ใช่ฟังเพื่อให้สติปัฏฐานเกิด ไม่ใช่ฟัง และหวังว่าฟังแล้วสติปัฏฐานจะเกิด ไม่ใช่ว่าฟังแล้วคอยว่าเมื่อไหร่สติปัฏฐานจะเกิด แต่ฟังให้เข้าใจเรื่องสภาพธรรมตามความเป็นจริง ปัญญาต้องเจริญขึ้นตามลำดับ

    ผู้ฟัง เหตุปัจจัยของการที่สติปัฏฐานจะเกิด ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ได้ศึกษามาก ฟังมากใคร่ครวญมาก ท่องมาก

    ท่านอาจารย์ เข้าใจว่า “ขณะนี้เป็นธรรม”

    ผู้ฟัง แต่ที่เข้าใจนี้ก็ต้องเกิดจากเหตุปัจจัยด้วย

    ท่านอาจารย์ ฟังให้เข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรม ธรรมมีลักษณะที่ปรากฏให้รู้ได้ ขณะที่นอนหลับสนิท ไม่สามารถที่จะเป็นปัญญาที่จะรู้ลักษณะของธรรมใดๆ เลย เพราะว่าธรรมใดๆ ไม่ปรากฏเลยขณะที่นอนหลับสนิท แต่เมื่อไม่ใช่หลับ และมีสภาพธรรมปรากฏ แล้วไม่เคยรู้ไม่เคยเข้าใจว่าเป็นธรรม เมื่อมีการฟังว่ามีแต่นามธรรม และรูปธรรม คือมีจิตเจตสิกรูปเท่านั้น ตั้งแต่เกิดจนตาย และศึกษาจนกระทั่งมีความเข้าใจมั่นคงจริงๆ และรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม ก็เป็นปัจจัยให้มีการระลึกลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม เพราะเข้าใจความต่างของนามธรรม และรูปธรรม และรู้ว่าขณะนี้มีนามธรรม และรูปธรรมไม่เคยขาดเลย ตั้งแต่เกิดจนตาย

    ผู้ฟัง ตามปกติแล้ว ทั้งรูปทั้งนามนั้นเป็นธรรมชาติที่เกิด และดับเร็ว เมื่อเราจะรู้ รู้ที่ดับไปแล้ว ขณะดับหรือว่าขณะไหน

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องสนใจเลย ยังไม่รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม เพียงแต่ฟังว่าเป็นนามธรรม ฟังว่าเป็นรูปธรรม แต่ลักษณะจริงยังไม่เคยรู้ เพียงแต่ฟังยังไม่เคยมีสติระลึกที่ลักษณะของนาม ยังไม่เคยมีสติระลึกที่ลักษณะของรูป ที่จะรู้ตัวจริงๆ ว่ารูปคืออย่างนี้ นามคืออย่างนั้น ถ้ายังไม่ระลึกลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ไม่ต้องไปคิดเรื่องดับ เรื่องเกิดเลย

    ผู้ฟัง ถ้าหากว่าเราไม่รู้ว่ารูปธรรมคืออะไร นามธรรมคืออะไรจะไประลึกอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ระลึกไม่ได้เพราะไม่รู้

    ผู้ฟัง ปกติแล้วต้องรู้ก่อน

    ท่านอาจารย์ แน่นอน การศึกษาต้องเป็นไปตามลำดับขั้น แม้อริยสัจจ์ ๔ ก็มี ๓ รอบ ถ้าไม่มีสัจจญาณ กิจจญาณก็ไม่มี ถ้าไม่มีกิจจญาณ กตญาณก็ไม่มี

    ผู้ฟัง ขณะที่เราเห็นรูป สีปรากฏทางตา นี่ก็เป็นคิดอีก

    ท่านอาจารย์ มิได้ ขณะนี้จิตเห็นกำลังเห็น ไม่ใช่จิตคิด

    ผู้ฟัง เพราะตามปกติแล้วธรรมชาติของความคิดก็คือจิต

    ท่านอาจารย์ แต่คนละวาระ ทางตาจิตไม่ได้คิดเลย ทางหูจิตไม่คิดเลย ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายจิตไม่ได้คิดเลย

    ผู้ฟัง แต่ทุกครั้งที่ผ่านทางปัญจทวาร ก็ลงมโนทวารทุกครั้ง

    ท่านอาจารย์ วาระแรกรู้ปรมัตถธรรมเดียวกัน แยกไม่ออกเลยว่า ขณะนี้กำลังเห็น ขณะนี้ เป็นจักขุทวารวิถีหรือมโนทวารวิถี ซึ่งมีภวังค์คั่นแล้ว

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นเรื่องของความคิด กับเรื่องของการรับรู้อารมณ์ทางตานั้น จึงไม่สามารถจะกล่าวว่าเป็นความไม่คิด เพราะว่าทุกครั้งที่ผ่านทางปัญจทวาร ย่อมลงมโนทวาร

    ท่านอาจารย์ ก่อนวาระนั้น ก่อนที่จะคิด สามารถที่จะเป็นสติที่ระลึกได้ เพราะเหตุว่าปกติของคนที่ไม่เคยฟังธรรมเลย เมื่อเห็นแล้วก็รู้ทันทีว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร มีรูปร่างสัณฐานเป็นเก้าอี้ เป็นโต๊ะ เป็นดอกไม้ เป็นหน้าต่าง เป็นประตู นี่คือปกติธรรมดา แต่ให้ทราบว่า ขณะที่เห็นเป็นดอกไม้ เห็นเป็นประตู เห็นเป็นหน้าต่าง ขณะนั้นต้องเป็นทางมโนทวาร เพราะฉะนั้นเมื่อมีการเห็นแล้ว แม้ว่าจะมีการรู้ว่าเป็นประตู เป็นหน้าต่างแล้วก็ตาม แต่แม้กระนั้นการเห็นก็มีอีก เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานจึงสามารถที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมได้ ไม่ว่าจะเป็นสภาพที่เพียงเห็น หรือสภาพที่เพียงปรากฏให้เห็น หรือสภาพที่กำลังคิด รู้ว่าเป็นหน้าต่าง รู้ว่าเป็นประตู เพราะว่าทั้งหมดไม่ใช่เราเลย เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งมีลักษณะจริงๆ แต่ละทาง เพราะฉะนั้นต้องรู้ความต่างว่าความคิดไม่ได้เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ขณะใดที่เห็น ขณะนั้นไม่ได้คิด เพราะฉะนั้น เมื่อมีความรู้ความเข้าใจอย่างนี้ สติจึงสามารถที่จะระลึกลักษณะที่คิดก็ได้ลักษณะที่เห็นก็ได้ หรือสิ่งที่กำลังปรากฏก็ได้ เพราะทั้งหมดเป็นสภาพธรรมที่มีจริง

    ผู้ฟัง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรที่เราจะเห็นรูปทางตา ฟังเสียงทางหู รู้กลิ่นทางจมูก ลิ้มรสทางลิ้น แล้วคิดทางใจอะไรก็ตาม เมื่อธรรมชาติอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น เราก็สามารถที่จะมีสติระลึกรู้ได้ทั้ง ๖ ทวาร

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่สติจะเกิดเมื่อไหร่

    ผู้ฟัง เพราะสติเกิดจากปัจจัย

    ท่านอาจารย์ เพราะสติเป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง อย่างเช่นว่า เราเห็นเก้าอี้ เราเห็นเก้าอี้ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรที่เราจะเห็นเก้าอี้

    ท่านอาจารย์ เป็นของธรรมดามีใครบ้างที่เห็นไม่เป็นเก้าอี้

    ผู้ฟัง ใช่ เพราะว่าทุกครั้งที่เราเห็นรูปทางตา ลงมโนทวารแน่นอน แล้วการที่เห็นสี ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรที่เราจะเห็นดอกไม้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นของธรรมดา เมื่อปัญจทวารวาระหนึ่งวาระใดดับ ภวังคจิตต้องเกิดคั่น มโนทวารต้องรับรู้ต่อ และวาระหลังๆ จะเป็นคิดนึกเรื่องอะไรก็ได้ทั้งสิ้น แต่เร็วจนกระทั่งมองไม่เห็นเลยว่าขณะนี้มีภวังค์ หรือว่าขณะนี้เป็นมโนทวารวิถี หรือว่าขณะนี้เป็นปัญจทวารวิถีอีกแล้ว แล้วก็เป็นภวังค์คั่นอีกแล้ว แล้วก็มโนทวารวิถีอีกแล้ว ไม่ใช่เรื่องกังวล หรือไม่ใช่เรื่องคิดด้วยความเป็นตัวตนว่าจะทำอย่างนี้ จะทำอย่างนั้น จะเสียหายไม่เสียหาย แต่เป็นเรื่องสภาพธรรมที่มีเป็นปกติอย่างไร ปกติทีเดียว เพราะฉะนั้นข้อความในพระไตรปิฏก ในสติปัฏฐานสูตรจึงกล่าวว่า เป็นผู้มีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ถ้าสภาพธรรมไม่ปรากฏจะระลึกได้อย่างไร เพราะฉะนั้นในขณะที่สภาพธรรมกำลังปรากฏนี้เอง สติก็ระลึกลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม เพราะเหตุว่าไม่ใช่เรา แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจจนกว่าจะเป็นความรู้ชัดว่าไม่มีเรา ลักษณะของรูปเป็นอย่างนี้ ลักษณะของนามอย่างนี้ เป็นการประจักษ์ในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม แต่ต้องเพราะสติเริ่มระลึก จนกว่าจะรู้

    ผู้ฟัง ขณะที่เห็นทุกครั้ง ก็จะมีบัญญัติเกิดขึ้นเกิดขึ้นทางมโนทวารทุกครั้ง เมื่อบุคคลที่ยังละกิเลสไม่ได้ก็จะมีราคะบ้างโทสะบ้างเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยที่สะสมไว้ เมื่อเป็นอย่างนี้ เห็นอย่างไรจึงจะชื่อว่าเห็นโดยที่เป็นอนัตตา และละกิเลสได้

    ท่านอาจารย์ โลภะเป็นอนัตตาหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น แต่เป็นอนัตตาที่ควรละ

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้ก่อนถึงจะละได้

    ผู้ฟัง ก็ต้องรู้ว่าอนัตตานั้นเกิดขึ้นจากปัจจัยด้วย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ไปคิดว่าอนัตตาเกิดจากปัจจัย แต่สภาพธรรมที่กำลังมีแต่ละอย่าง ปัญญาจะต้องอบรมจนกระทั่งรู้ความจริง รู้ในลักษณะนั้น รู้ชัดว่าลักษณะนั้นเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม จึงจะไม่ใช่เรา การรู้ว่าไม่ใช่เรา รู้ลักษณะของนามธรรม นั่นคือรู้ความเป็นอนัตตา เมื่อเป็นนามก็ไม่ใช่เรา เมื่อเป็นรูปก็ไม่ใช่เรา ไม่ต้องไปย้อนรวมว่า นามธรรมเป็นนามธรรม รูปธรรมเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้นเป็นอนัตตา การรู้ลักษณะของนามก็เป็นการบ่งบอกอยู่แล้วว่า ขณะที่รู้ก็รู้ว่าไม่ใช่เรา เพราะเป็นนามธรรม ขณะที่รู้รูปธรรมก็เป็นการรู้ว่า เมื่อรู้รูปก็เป็นรูปซึ่งไม่ใช่เรา เมื่อเป็นรูปธรรมจะเป็นเราได้อย่างไร

    ผู้ฟัง คิดเอาหรือเปล่าที่ว่า รูปไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ฟังนี่คิด แต่ขณะที่สติปัฐานเกิด ไม่ใช่คิด นี่คือความต่างของสติปัฏฐาน กับสติขั้นคิด

    ผู้ฟัง อย่างเช่นเราเห็นรูปทางตา หรือฟังเสียงทางหูเราก็คิด

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นคือคิด ไม่ใช่สติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง สติปัฏฐานเกิดทางมโนทวาร หรือปัญจทวาร

    ท่านอาจารย์ มโนทวาร การคิดเกิดทางไหน

    ผู้ฟัง ทางมโนทวาร

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังมีการคิด ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถ้าสติปัฏฐานจะเกิด แทนที่จะคิด ก็เป็นการระลึกลักษณะของสภาพที่มีจริงๆ นี่คือประโยชน์จากการฟัง ก่อนฟัง คิดตลอด ไม่เคยมีสติที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมเลย แต่เมื่อฟังรู้ว่าลักษณะของรูปธรรมปรากฏ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจด้วย เพราะเหตุว่าใจ ก็รับรู้รูปนั้นๆ ต่อจากทางทวารนั้นๆ และขณะที่คิดก็เป็นนามธรรม ซึ่งจะคิดเรื่องอะไรก็ได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่เห็นแล้วคิด จะคิดเรื่องอะไรก็ตามแต่ เวลาได้ยินแล้วคิด จะคิดอะไรก็ตามแต่ แต่รู้ว่าสติสามารถที่จะเกิดแทนคิดได้ ไม่ใช่ว่าต้องคิดไปตลอด สติปัฏฐานสามารถที่จะเกิดโดยที่ขณะนั้นยังไม่ได้คิด เพราะไม่ใช่วาระที่จะคิด แต่ถ้าไม่เคยฟังมาก่อนเลย พอเห็นแล้วก็คิดเหมือนเดิม ได้ยินแล้วก็คิดเหมือนเดิม แต่พอเข้าใจเรื่องสติปัฏฐานก็มีปัจจัยที่เมื่อเห็นแล้วยังไม่ทันจะถึงวาระที่จะคิด หรือเคยคิด ก็เป็นสติวาระของสติที่จะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ผู้นั้นจึงเห็นว่า ขณะใดสติเกิด ขณะใดหลงลืมสติ ซึ่งต้องเป็นปัญญา เพราะเหตุว่าต้องมีสัมมาทิฏฐิ จึงจะเป็นสัมมามรรคได้ มิฉะนั้นแล้วก็จะมีแต่คิดเรื่องของสภาพธรรม แต่ไม่สามารถจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งพร้อมที่สติจะระลึกรู้ได้ เมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้องเมื่อไหร่ สติปัฏฐานก็สามารถที่จะเกิดระลึกรู้ได้เมื่อนั้น แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจก็นั่งคิดไปตลอด และเข้าใจว่า คิดนั่นแหละ เป็นการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งขณะที่คิดกำลังรู้คำ รู้เรื่อง ไม่ใช่สติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ปกติแล้วสติก็ต้องอาศัยจิตนั่นเองเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ต้องเกิดพร้อมกัน สติจะเกิดกับสภาพธรรมอื่นไม่ได้นอกจากจิต เจตสิกทั้งหมดเกิดในจิต เกิดกับจิต

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์ได้อธิบายถึงว่า อย่างเราเห็น เก้าอี้เป็นเก้าอี้ ขณะนั้นเป็นทางมโนทวารที่เราคิดไป นั้นคือ ขณะที่สติไม่เกิด แต่กิเลสเกิด แต่เมื่อฟังธรรมไปจนกระทั่งเข้าใจไปเรื่อยๆ เข้าใจว่า ทางตา ที่เห็นแล้ว รู้จริงๆ แค่สี แค่สีเท่านั้น ถ้าสติเกิดคือจะระลึกได้ ไม่ใช่การคิด แต่เป็นการระลึก แต่ที่คิดต่อมาเป็นเก้าอี้สวยไม่สวยนั้น เป็นการไหลเข้าสู่กิเลสทั้งหมด การที่ไม่มีสติระลึก เพราะอันนี้ถูกต้องไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะที่เห็นมีจริง ขณะที่คิดก็มีจริง สภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวันเป็นอย่างไร ไม่ใช่ให้มีตัวตนไปเปลี่ยนแปลง ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงหรือยับยั้งสภาพธรรมที่มีปัจจัยที่จะเกิดเป็นไปในวันหนึ่งๆ ได้ เพราะฉะนั้นพระธรรมที่ทรงแสดง ก็ทรงแสดงเรื่องความจริงของสภาพธรรม แต่ให้รู้เพิ่มขึ้น จากการที่เคยเพียงคิดเอาว่า ไม่ใช่ตัวตน นั่นคือคิดเอา แต่ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ คือเห็นในขณะนี้เป็นเราหรือเปล่า ที่เห็น นี้ต้องพิจารณา บังคับให้เห็น หรือบังคับไม่ให้เห็นได้ไหม เมื่อมีปัจจัยเห็นก็เกิด นี่คือความคิดขั้นฟัง แต่คิดอย่างนี้ก็ไม่ใช่การรู้ลักษณะของเห็น จนกว่าสติปัฏฐานจะเกิด ระลึกลักษณะที่กำลังเห็นซึ่งขณะนี้กำลังเห็น ค่อยๆ เข้าใจว่าเป็นสภาพที่สามารถจะเห็น เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่เรา แต่ธาตุชนิดนี้เกิดขึ้นเห็น แต่เมื่อไม่รู้ก็เป็นเราเห็น แต่ถ้ารู้เมื่อไหร่ก็คือชั่วขณะหนึ่งซึ่งธาตุชนิดนี้เกิดเห็นแล้วก็ดับ อีกชนิดหนึ่งเกิดขึ้นได้ยิน ก็เป็นธาตุแต่ละชนิด ธาตุเห็นก็เป็นอย่างหนึ่ง ธาตุได้ยินก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ตามเหตุตามปัจจัย นี่คือความรู้ถูกต้องตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง ถ้าหากว่าเห็น เห็นเพียงสักแต่ว่าสี และจะละกิเลสอะไรได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าเห็นจริงอย่างนั้นหมายความว่า รู้ความจริงว่าสีเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏได้ทางตาเท่านั้น ไม่ปรากฏทางหู ไม่ปรากฏทางอื่นเลย และก็ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ เป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเมื่อปรากฏกระทบแล้ว การที่เห็นซ้ำๆ กันบ่อยๆ ก็ทำให้มีการทรงจำรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็ยึดมั่นว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคล เพราะไม่รู้ความจริงว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น

    ผู้ฟัง เพียงแต่สีเท่านั้น เราก็เกิดความพอใจแล้ว อย่างเช่นเสื้อผ้า เป็นสีจริงๆ แต่เพียงเราเห็นสี เห็นแต่ผ้าที่ยังไม่เป็นตัดเป็นตัวเลย เราก็พอใจแล้ว เพราะฉะนั้น การเห็นสี ละกิเลสอะไรได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เพียงเห็น แต่รู้ความจริง เพราะสติระลึกว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่นามธรรม มีจริงๆ ปรากฏจริงๆ ชั่วขณะที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เสื้อ ไม่ใช่โต๊ะ ไม่ใช่เก้าอี้ นั่นคือวาระของจักขุทวารวิถีจิต คือ มีเฉพาะสีเท่านั้นที่ปรากฏ และอย่างที่กล่าวว่า แม้เพียงสี ชวนจิตก็เกิดโลภะ โทสะได้เพราะการสะสมมา เมื่อถึงวาระที่จะเกิดความติดข้องก็เกิดโลภมูลจิต เมื่อถึงวาระที่จะไม่พอใจขุ่นเคืองก็เป็นโทสมูลจิต เพราะฉะนั้นเวลาที่ปัญญาเกิด ปัญญาสามารถที่จะระลึกลักษณะของโลภะเมื่อเห็นสี หรือว่าโทสะเมื่อเห็นสีก็ได้ เพราะอะไร เพราะเป็นสิ่งที่มีจริง

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 14
    15 เม.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ