ปกิณณกธรรม ตอนที่ 6


    ตอนที่ ๖


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นอยากจะถามให้ตอบต่อไป เพื่อจะได้เจริญปัญญาขึ้นว่า เห็นอะไร ตอบให้ตรงเลยว่าเห็นอะไร

    ผู้ฟัง ตอนนี้ใช่ไหม ก็เห็นทุกๆ ท่านกำลังนั่งฟังธรรม

    ท่านอาจารย์ เห็นทุกๆ ท่านกำลังนั่งฟังธรรม ทุกคนจะตอบเหมือนกันหมดเลย แต่ความจริง เห็นสี หรือเห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา จะเห็นเกินกว่านี้ไม่ได้เลย ถ้าดับไฟมืดหมด ทั้งๆ ที่คนอยู่ในห้องนี้ เห็นไหม ไม่เห็น เพราะฉะนั้นเห็นจริงๆ เพียงเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง ถ้าตาอยู่ตรงนี้ ข้างหลังก็มีแสงสว่าง ข้างหลังก็มีสีตั้งเยอะ แต่ไม่มากระทบตรงจักขุปสาท การเห็นก็ไม่เกิด สีสันวรรณะต้องมากระทบกับจักขุปสาท การเห็นจึงเกิดเห็นขึ้นมาได้ อย่างเร็วมาก เพราะฉะนั้น เห็นจริงๆ คือเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา นี่คือความรู้ถูกต้อง และหลังจากเห็นแล้วจึงคิด บางคน ของหายอย่างเข็มเล็กๆ ทั้งๆ ที่อยู่ตรงหน้า ไม่เห็น ก็ทำไมเข็มอยู่ตรงนี้แต่ไม่เห็น เพราะว่าไม่ได้คิดนึกถึงสัณฐานของเข็มที่กำลังปรากฏ แต่พอหาเจอ บอกอยู่ตรงนี้เอง เพราะว่าขณะนั้นนึกถึงรูปร่างอันนี้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นที่เรากำลังนั่ง แล้วเราก็ไม่เห็นใครสักคนหนึ่งเพราะเรากำลังคิดเรื่องอื่น เป็นไปได้ไหม ได้ แสดงให้เห็นว่าสีเป็นอย่างหนึ่ง ความคิดเป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่พอมารวมกัน คือคิดถึงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เราก็บอกว่าเราเห็นคน ทั้งๆ ที่ขณะนั้นเราคิดถึงรูปร่างสีสันของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว เรามีอัตตสัญญาความทรงจำยึดมั่นในสิ่งที่เห็นในความจำของเราว่า ต้องเป็นคนที่เราเห็น แต่แท้ที่จริงแล้วถ้าจะวิจัยวิเคราะห์ออกไปอย่างละเอียดแล้ว เห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วนึกถึงสิ่งนั้นเท่านั้นเอง ถ้าไม่นึกก็ไม่เห็น ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นก็อยู่ตรงหน้านี้แหละ ก็ยังไม่เห็นได้ เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้ก็พอจะเกิดปัญญาขึ้นมาอีกนิดหนึ่งที่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วเราว่าเราเห็นคน ในความจริงเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เวลาฝันเห็นอะไร

    ผู้ฟัง เห็นเป็นรูปร่างขึ้นมา สมมติฝันว่าลอยน้ำ ก็เห็นน้ำ เห็นอะไร

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วไม่เห็นเลย ถูกไหม ในฝันไม่ได้เห็น จำเรื่อง คิดถึงเรื่อง คิดถึงสิ่งที่เคยเห็นเท่านั้นเอง แต่ไม่ใช่เห็นอย่างนี้ ใช่ไหม นี่เป็นสิ่งที่เราแยกได้ว่า ฝัน คือไม่ใช่เห็นเดี๋ยวนี้ เราฝันหรือเปล่าเวลานี้ เวลานี้เป็นความจริง ใช่ไหม เพราะว่ามีสีสันวรรณะกระทบตา เราก็เลยบอกว่าเวลานี้จริงไม่ใช่ฝัน แต่เวลาที่เราฝัน สีสันวรรณะไม่ได้กระทบตา นอนหลับตาเลย ใช่ไหม แต่ใจเรานึก เหมือนเห็น แต่เป็นเพียงนึก เพราะฉะนั้นขณะนี้ก็เหมือนกัน ต่างกันกับฝันคือมีสิ่งที่ปรากฏจริงๆ ให้รู้ว่า เราไม่ได้ฝัน เพราะว่ามีสิ่งจริงๆ ปรากฎ เพราะฉะนั้นธรรมเป็นเรื่องจริง ที่ปัญญาจะค่อยรู้ความจริงว่า เราอยู่ในโลกของความคิดนึกตลอด สิ่งที่มากระทบตาเราจะคิดก็ได้ ไม่คิดก็ได้ เราคิดถึงเรื่องอื่นก็ได้

    นี่แสดงให้เห็นว่า เราอยู่ในโลกของความคิด และสิ่งที่ปรากฏ เราจะคิดว่า เป็นคนนั้นคนนี้ แล้วเกิดกิริยาอาการนั้น สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เหมือนกับเราดูรูปภาพในโทรทัศน์ นี่แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานี้เป็นของจริงอย่างหนึ่ง ส่วนความคิดนั้นเป็นอีกอย่างหนึ่งอีกขณะหนึ่ง เราอยู่ในโลกของความคิดโดยอาศัยสิ่งกระทบตา แล้วเราก็คิดแต่เรื่องนั้น จำแต่เรื่องนั้น หมกมุ่นอยู่ในเรื่องนั้น พอเสียงมากระทบหู เราก็คิดแต่ในเรื่องของเสียงที่กระทบหู เป็นเสียงสูงๆ ต่ำๆ แต่สร้างเรื่องมหาศาล สุขทุกข์ก็มาจากการที่เราไปปรุงแต่งเอาจากสิ่งที่กระทบหูแล้วก็หมดไป

    เพราะฉะนั้น ปัญญาของเราจะเริ่มรู้ปรมัตถธรรม คือ สิ่งที่มีจริง ไม่ต้องเรียกชื่อก็ได้ เรียกก็ได้ แต่สิ่งนั้นมีจริงๆ แล้วก็รู้ด้วยว่า เราอยู่ในโลกของความคิด สภาพที่เป็นปรมัตถธรรมนั้นเราไม่ต้องคิด อย่างงสิ่งที่ปรากฏทางตา เราคิดไม่ได้ ใช่ไหม มีจริงๆ กระทบตา เราไม่ต้องคิดเลย อย่างเสียง เราก็คิดไม่ได้ ใครจะไปคิดเสียงขึ้นมาได้ แต่เสียงมีจริงๆ ปรากฏจริงๆ แต่เราคิดเรื่องเสียงหลังจากที่เสียงปรากฏ เราก็คิดถึงความหมายของเสียง

    เพราะฉะนั้นเราอยู่ในโลกของความคิดของเราเอง เป็นโลกใบหนึ่งคนหนึ่งคนหนึ่งก็อยู่ในโลกของตัวเอง แล้วแต่ว่าอะไรจะมากระทบตา ก็คิดเรื่องตาเห็น อะไรมากระทบหูก็คิดถึงเรื่องหู เวลาที่สิ่งเหล่านี้ไม่มี เราก็จำเอา วันนั้นคนนั้นทำอย่างนี้ ๒๐ ปีก่อนคนนั้นทำอย่างนั้น ก็เป็นแต่เพียงความคิดของเราเอง ถ้าทราบว่า เราเหมือนเล่นกับความคิดของเรา ปรุงแต่งคิดไปต่างๆ นาๆ ให้สุข ให้ทุกข์ จะเห็นว่าไม่มีใครทำอะไรเราได้เลยนอกจากความคิดของเราอย่างเดียว จะคิดสุขก็ได้ จะคิดทุกข์ก็ได้ จะคิดให้คนโน้นรักเรา คนนี้เกลียดชังเรา ก็แล้วแต่เราจะคิดไป ทั้งๆ ที่คนๆ นั้นอาจจะไม่เป็นอย่างนั้นเลยก็ได้ นี่คือปัญญาที่เริ่มจะค่อยๆ เกิดแล้วเจริญขึ้น ถ้าฟังแล้วเข้าใจขึ้น ถ้าฟังสิ่งที่ถูกต้อง ปัญญารู้ถูกต้อง นั่นคือปัญญาความรู้ถูกต้องเกิดขึ้นเมื่อไหร่ นั่นคือปัญญา แล้วก็ต้องเจริญขึ้นมากกว่านี้มากมาย ถึงจะรู้ความจริงของสภาพธรรมมาซึ่งเราไม่เคยรู้มาก่อน

    และทั้งหมดนี้มีในพระไตรปิฏก เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ตรัสรู้ความจริง และทุกคนพิสูจน์ได้ทุกกาลสมัย มีตา ไม่ใช่เห็นชาตินี้ชาติเดียว ชาติก่อนเป็นใครก็ไม่ทราบ ก็เห็นอย่างนี้แหละ สุขทุกข์ไปตามเรื่องของชาติก่อน และอีกไม่นานเราก็จะจากโลกนี้ แต่เราก็จะเห็นอีก แล้วเราก็เปลี่ยนสุขเปลี่ยนทุกข์ใหม่ ตามเรื่องใหม่ที่เราเห็น เพราะฉะนั้น เราก็อยู่ในโลกของความคิดถึงสิ่งที่กระทบตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง

    นี่เป็นปัญญาหรือยังที่เข้าใจ ไม่ใช่เราเลย เป็นปัญญา ขณะที่เข้าใจก็เป็นปัญญา พอหลงลืมสติ ไม่ระลึกให้ถูกต้อง ไม่เข้าใจอย่างนี้ ก็หายไปอีกแล้ว ปัญญาก็หมดไป นี่คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เข้าใจเรื่องที่ต้องเจริญขึ้นแล้วใช่ไหมว่า นิดเดียวแค่นี้ไม่พอ ถ้าเข้าใจแล้วอะไรมาแลกกับปัญญาก็ไม่เอา จะให้กลับไปเป็นคนที่ไม่รู้อะไรอีกเลย ก็คงไม่เอา ใช่ไหม ที่จริงไม่ยากเกินไป เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่มีปรากฏ เพียงแต่ว่าเราไม่เคยฟังเราก็เลยไม่เคยคิดในแนวของธรรม เราก็ไปคิดเอาเอง เป็นตัวตน เป็นเรื่องราว เป็นอะไรตลอดไป ตั้งแต่เกิดจนตาย ก็เต็มไปด้วยเรื่องราวต่างๆ ทั้งที่เรื่องราวต่างๆ ไม่มีเลย ก็คิดเอา

    พอถึงชาติหน้าก็ลืมหมด เสียเวลา ใช่ไหม จริงๆ แล้วก็ไม่ต้องคอยจนถึงชาติหน้า เพียงแค่คืนนี้ เดี๋ยวเราก็ลืมหมด วันนี้เรามานั่งที่นี่ ฟังอะไร ตอนที่เราหลับสนิท เราเป็นใคร ชื่ออะไร อยู่ที่ไหน ก็ไม่มี ลืมหมดเลย พอตื่นมาก็ต่อเรื่องเก่า คือจำไว้ ตราบใดที่ยังเป็นคนนี้ ก็จำเรื่องของโลกนี้ พอเป็นคนใหม่ ชาติหน้าเราก็ลืมเรื่องนี้สนิท ใครจะมาบอกอะไรเราก็ไม่มีทางที่จะจำได้ คนที่เราจากเขามาจากโลกก่อน ป่านนี้ก็อาจจะยังคิดถึงเรา ร้องไห้ เป็นลูก เป็นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย อะไรก็แล้วแต่ใช่ไหม แต่เราก็ไม่รู้ ไปเห็นเขากำลังนั่งร้องไห้คิดถึงใคร เราก็ไม่รู้อีกว่า อาจจะเป็นเราก็ได้ จำไม่ได้เลย หมด และคืนนี้ก็คืออย่างนี้ทุกคืนๆ

    เพราะฉะนั้นก่อนที่จะต้องทุกข์ไปสุขไปในวันหนึ่งๆ ชั่วระหว่างที่ยังไม่หลับ ก็ให้ทราบว่าแท้ที่จริงแล้วเดี๋ยวก็ลืมหมด เพราะฉะนั้นมันก็ไม่มีอะไรที่สำคัญมากมายที่เราจะต้องเป็นทุกข์เดือดร้อน สิ่งที่สำคัญคือการอบรมเจริญปัญญาให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ถูกใครหลอกเอาสิ่งที่ไม่จริงมาบอกว่าจริง ซึ่งในพระธรรมได้อุปมาไว้ไพเราะมากว่า คนตาบอดแสวงหาผ้าขาว ก็มีคนหนึ่งเอาผ้าดำ ไปให้เขาบอกว่า ผ้าขาว คนตาบอดนั้นก็แสนจะดีใจคิดว่าตัวได้ผ้าขาว ความจริงก็เป็นผ้าดำ เพราะฉะนั้นคำสอนที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง และเราหลงเชื่อ เราก็คิดว่าสิ่งที่เราเชื่อ เป็นความถูกต้องหรือว่าเป็นพระธรรมที่ทรงแสดง แต่ต่อเมื่อไหร่ที่เราตาดี นี่ผ้าดำไม่ใช่ผ้าขาว ใช่ไหม เราก็รู้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า สิ่งนั้นไม่ถูก แต่ต้องอาศัยการฟัง เพราะว่าคำว่า สาวก คือผู้ฟัง สา-วะ-โก คือ ผู้ฟัง ถ้าไม่ฟังไม่มีทางที่เราจะคิดเองได้

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์ก็ได้บรรยายบอกว่า ทุกอย่าง เป็นวิบาก คือผลของกรรมที่จะต้องเกิดขึ้นกับเรา

    ท่านอาจารย์ ขณะเห็น ขณะได้ยิน ๕ ทาง

    ผู้ฟัง ถ้าเราไปว่าคนอื่น ถ้าเราจะไม่คิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีแก่เรา เราจะคิดกลับไปไหมว่านั่นเป็นวิบากที่เขาจะต้องรับเสียงไม่ดีอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นผู้ตรง คือก่อนอื่นต้องรู้ว่า การรับผลของกรรม มี ๕ ทาง คือ ทางตา ขณะที่เพียงเห็น ยังไม่คิด เพียงเห็น เราเลือกเห็นไม่ได้ ทุกคนอยากจะเห็นสิ่งสวยๆ งามๆ ทั้งนั้น แต่ว่าบางคนก็ได้เห็น บางคนก็ไม่เห็น ขณะที่ได้ยิน ชั่วขณะที่ได้ยิน ยังไม่ได้คิด เพราะว่าพอได้ยินแล้วคิด นั่นไม่ใช่วิบากแล้ว ไม่ใช่ผลของกรรมแล้ว ขณะที่คิด คิดดีก็ได้ คิดไม่ดีก็ได้ ต้องแยกว่า แค่ตาเห็นเป็นผลของกรรม แต่หลังจากเห็นแล้วคิด นั่นเป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผลข้างหน้าแล้ว เพราะฉะนั้นที่เราได้ยินเสียงที่ไม่ดี เป็นผลของอกุศลกรรม แต่เวลาเราคิดว่า เขาว่าเรา จิตอะไรที่คิด เป็นเหตุใหม่ แล้วเราคิดถึงเขาด้วยเมตตาหรือด้วยอกุศลจิต จิตที่ดีเกิดขึ้นหรือจิตที่ไม่ดีเกิดขึ้น และจิตที่ไม่ดีจะสะสมไปเรื่อยๆ เหตุการณ์ที่ถนนเพชรบุรี ที่มีแก๊สระเบิด ไปทางไหนก็มีแต่คนสงสารทั้งนั้นเลย สงสารเหลือเกิน ทำไมเขาต้องเป็นอย่างนั้น แล้วทำไมไม่สงสารตั้งแต่เขาเริ่มทำอกุศลกรรม ซึ่งเป็นเหตุที่เขาจะต้องได้รับผลนั้น ถ้าเขาไม่ทำอกุศลกรรมมา วิบากอย่างนั้นจะไม่เกิดกับเขาเลย คนที่ได้รับผล ต้องเป็นผลของอกุศลกรรมที่เขาทำแล้ว

    แล้วทำไมเราสงสารเขาช้า ไปสงสารตอนที่เขาได้รับผล สงสารตั้งแต่เขาเริ่มทำอกุศลกรรมไม่เร็วกว่าหรือ ทำไมต้องไปจงเกลียดจงชัง หรือไปว่าร้าย ในเมื่อสิ่งนั้นเขาก็ได้ทำไปแล้ว และก็เป็นอกุศลด้วย เพราะฉะนั้นพระธรรม ท่านอุปมาว่า เหมือนกระจกเงา ซึ่งติดตามเราไปตลอด สามารถที่จะส่องถึงใจของเราทันทีที่เราพูดหรือคิด ให้รู้ว่าขณะนั้น เป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต ทำให้เราต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นกุศลกรรมของเขา หรืออะไร ไม่ต้องคิดเลย เพราะเหตุว่านั่นเป็นโลกอีกใบหนึ่ง แต่โลกใบนี้ เป็นอกุศลหรือเป็นอกุศลที่กำลังคิดอย่างนั้น

    ผู้ฟัง อีกคำถามหนึ่ง อย่างไปต่างจังหวัด ก็ไปทานอาหารสดพวกปูปลาก็ทำสดๆ พอขากลับเกิดอุบัติเหตุรถคว่ำ คนก็มักจะพูดว่า ไปทำกรรม รับผลทันตา ซึ่งคำพูดนี้คงจะไม่ถูกใช้ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ถูก เพราะว่าไม่มีใครหยั่งรู้ถึงอดีตกรรมในแสนโกฏิกัปป์ กรรมไม่ให้ผลเฉพาะในชาตินี้ กรรมก็เหมือนต้นไม้ บางต้นก็ออกดอกออกผลเร็ว บางต้นก็ออกดอกออกผลช้า กรรมที่ให้ผลในชาตินี้ ก็มี กรรมที่เห็นผลในชาติหน้าต่อจากชาตินี้ ก็มี หรือว่า กรรมที่แม้ชาตินี้ไม่ให้ผล ชาติหน้ายังไม่ผล ชาติโน้นๆ จนถึงชาติสุดท้ายที่เป็นพระอรหันต์ก็ให้ผลได้ แม้พระผู้มีพระภาคพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็ยังได้รับผลของอดีตกรรม เวลาที่ประชวร

    ผู้ฟัง ขอถามอีกเรื่อง คือถ้าสมมติเราเดินไป แล้วก็มารู้ทีหลังว่าได้เหยียบสัตว์ตายไปแล้ว เราก็รู้สึกว่านั่นเป็นอกุศลที่ได้ทำบาป ในขณะนั้นจิตจะเป็นกุศลใช่ไหม ที่รู้ว่าเราได้ทำอกุศลไป

    ท่านอาจารย์ เราไม่รู้ว่ามีสัตว์ตรงนั้น เพราะฉะนั้นจะเรียกว่าบาปได้ยังไง ไม่ใช่อกุศลกรรม ไม่ใช่ปาณาติบาตเพราะไม่มีเจตนาฆ่า ถ้าเป็นอกุศลกรรมบถ คือการฆ่าสัตว์ทำลายชีวิต หมายความถึงเจตนาฆ่า แค่ไม่ใช่เจตนาฆ่าแล้ว ไม่ใช่กุศลกรรมบถ แต่ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต เพราะไม่ใช่เป็นไปในทาน ไม่ใช่เป็นไปในศีล และเวลาที่ระลึกขึ้นมาได้ก็ยังไม่แน่ว่าเป็นจิตประเภทไหน เป็นอกุศลก็ได้ เป็นกุศลก็ได้ เพราะว่าจิตเกิดดับเร็วมาก

    ผู้ฟัง เกี่ยวกับการเจริญสติปัฏฐาน ถ้าสมมติว่า เรามีสติเกิดขึ้นรู้ว่า เวลานี้เราโกรธ เรารัก รู้ในขณะนั้น แต่เรายังไม่รู้ว่า นี่เป็นรูปธรรม และนามธรรม อย่างนี้ก็ไม่ถึงที่จะเรียกว่าเป็นสติปัฏฐานเกิดใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าเรามีความเข้าใจว่า โทสะมีจริง โลภะมีจริง ขณะใดที่โลภะเกิด มีการระลึกในลักษณะ แต่ปัญญายังไม่รู้ชัด เพราะฉะนั้น เรารู้ว่าขณะใดหลงลืมสติ ขณะใดมีสติ ขณะใดปัญญายังไม่เพิ่มขึ้น ขณะใดปัญญาค่อยๆ รู้ขึ้น ผู้นั้นเป็นผู้ที่ตรง เป็นผู้ที่รู้ตัวเอง ไม่ต้องไปอาศัยคนอื่นเข้ามาบอกว่าเราได้ปัญญาขั้นนั้นขั้นนี้ เพราะนั่นไม่จริง คนอื่นจะมารู้จิตใจของเราไม่ได้ รู้ปัญญาของเราไม่ได้ แต่เราเองรู้ว่า ขณะนั้นสติเกิด หรือหลงลืมสติ และเมื่อสติเกิดแล้ว ปัญญารู้หรือยัง ถ้าปัญญายังไม่รู้ก็ค่อยๆ พิจารณาจนกว่าจะรู้ขึ้น

    ผู้ฟัง ถ้าปัญญารู้แล้ว เราจะรู้เลยหรือว่า ขณะนั้นเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

    ท่านอาจารย์ ถ้าเรารู้ จะกลายเป็นความไม่รู้ไม่ได้ แต่กว่าจะรู้ต้องค่อยๆ รู้ขึ้น เหมือนความชำนาญ ตอนแรกๆ จะให้ชำนาญทันทีไม่ได้ ต้องค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อย จนกระทั่งในที่สุดเวลาชำนาญแล้วเราก็ไม่มีการสงสัยเลย

    ผู้ฟัง จะขอเรียนถามอาจารย์ว่า ตัวสติ จะจัดเข้าในหมวดไหนของขันธ์

    ท่านอาจารย์ สังขารขันธ์ สังขารขันธ์เพราะปรุงแต่งให้เป็นกุศล โลภะก็ปรุงแต่งให้ติดข้อง โทสะก็ปรุงแต่งให้พยาบาท ปัญญาก็สังขารขันธ์ สังขารขันธ์ มีถึง ๕๐ ประเภท สภาพธรรมที่เกิดกับจิตซึ่งเป็นเจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ เจตสิกที่เหลือ ๕๐ เป็นสังขารขันธ์ อย่างความรู้สึกนี้ เราสำคัญเหลือเกิน ใช่ไหม ทุกคนเกิดมาต้องการความรู้สึกเป็นสุข เพราะฉะนั้นจึงยกความรู้สึกนี้เป็นหนึ่งขันธ์ และความรู้สึกของเรา ก็เนื่องกับรูปบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง สัมผัสบ้าง เพราะฉะนั้น รูปนี้มีความสำคัญ สิ่งที่เราต้องการในชีวิตที่เราคิดว่าเราอยากจะได้มากๆ ได้แล้วจะเป็นสุข ก็คือรูปทั้งหลาย เพราะฉะนั้นรูปจึงเป็นขันธ์หนึ่งซึ่งเรายึดมั่น และรูปก็นำมาซึ่งเวทนาความรู้สึก เพราะฉะนั้นเวทนา ทุกอย่างที่เราแสวงหาในชีวิตแต่ละวันคือเพื่อความรู้สึกที่เป็นสุข เพราะฉะนั้น เวทนาขันธ์ก็เป็นขันธ์หนึ่งที่เป็นความสำคัญที่เรายึดมั่น และถ้าเราไม่มีความจำ แม้แต่ความรู้สึกเป็นสุข มันก็ไม่ปรุงแต่ง แต่พอเราได้รับความรู้สึกเป็นสุข และเราจำได้ อาหารตรงนี้อร่อย วันหลังก็ไปทานอีก ใช่ไหม ความจำก็เป็นเครื่องปรุงที่ทำให้เรายึดมั่นอันหนึ่ง ก็เป็นสัญญาขันธ์ พอถึงสังขารขันธ์นี้ก็ปรุงให้เป็นโลภะบ้าง โทสะบ้าง ขวนขวายไปในกิจการของโลภะบ้าง โทสะบ้าง ส่วนจิตนั้นเป็นใหญ่เป็นประธานในการเห็น ก็เป็นวิญญาณขันธ์ ขันธ์ ๕ นี้ก็เป็นปรมัตถธรรม แค่ปรมัตถธรรมมี ๔ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เพราะฉะนั้น จิต เจตสิก รูป เป็นขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ก็ได้แก่ ปรมัตถธรรม ๓

    ผู้ฟัง ชาติหน้ามีจริงไหม มีคนถาม

    ท่านอาจารย์ มี มีแน่ๆ ถ้าถามจะให้ตอบก็ตอบ แต่ยังไม่ได้ฟังเหตุผล คือว่า ถ้าเรายังมีกิเลสอยู่ เราก็ต้องเกิด ผู้ที่ไม่เกิดคือพระอรหันต์ จำไว้แค่นี้เอง และถ้าเป็นพระอรหันต์ตายแล้วจะไม่เกิดอีกเลย ที่เราใช้คำว่า ปรินิพพาน เพราะฉะนั้น ถ้าใครบอกว่ายังมีพระพุทธเจ้าอยู่ แล้วมารับทานนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะเหตุว่า ถ้ามีการเกิด ก็ต้องมีการตาย เพราะฉะนั้นมีการเกิดดับซึ่งยังเป็นทุกข์ เป็นอนิจจัง เป็นอนัตตา ยังไม่ใช่ปรินิพพานจริง ถ้าปรินิพพานคือไม่มีการเกิดอีกเลย ดับหมดทั้ง ๕ ขันธ์ ใช้คำว่า ขันธปรินิพพาน

    ผู้ฟัง อยากเรียนถามอาจารย์ เมื่อเช้าฟังวิทยุสทร. ที่อาจารย์พูดว่า พระอริยะจะไม่มาเกิดในโลกมนุษย์นี้อีก แต่ว่าเกิดเพราะว่าเกิดในในสวรรค์เยอะแยะแล้ว แต่ก็ยังมีคนอ้างว่า ท่านเป็นพระอริยะ อย่างนี้ถูกต้องไหม

    ท่านอาจารย์ เขาไม่ได้เกิดมา ใช่ไหม หมายความว่าเขาเป็นในชาตินี้ เขาก็เป็นพระโสดาบันในชาตินี้

    ผู้ฟัง จะทราบได้อย่างไรว่าเขาเป็น

    ท่านอาจารย์ เราทราบไม่ได้จนกว่าเราจะเป็นพระโสดาบัน เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ต้องไปเชื่อว่าใครจะเป็น ถ้าเหตุไม่สมควรแก่ผล ผลเกิดไม่ได้

    ผู้ฟัง มีคำถามทั้งหมดอยู่ ๔ ข้อ ข้อที่ ๑. การสวดมนต์ไหว้พระ หลังจากสวดจบแล้ว คิดว่าสิ่งนี้เป็นกุศล เราสามารถจะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับได้เลยหรือไม่

    ท่านอาจารย์ คิดเท่านั้นหรือ หรือว่าเป็นกุศลจริงๆ ทราบแน่ว่าเป็นกุศลจริงๆ หรือเพียงคิดว่าเป็นกุศล คือเรื่องธรรมเป็นเรื่องต้องคิด ต้องไตร่ตรอง เพราะเหตุว่าเป็นปัญญาของเราเอง พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้เรางมงาย หรือว่าให้เชื่อตาม ถ้าคนบอกว่าถูก คนบอกว่าดี คนบอกว่าจริง แต่เราเองไม่ได้พิจารณาว่าเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า อันนั้นก็ไม่ใช่ผู้ที่มีเหตุผล แต่ถ้าผู้ที่มีเหตุผลตามธรรมแล้ว ต้องพิจารณาว่า การสวดมนต์ไหว้พระเป็นกุศล หรือว่าเพียงคิดว่าเป็นกุศล ถ้าคิดก็ยังไม่มีเหตุผล แต่ถ้าเป็นกุศล จะทราบได้ว่า ขณะใดก็ตามที่ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ที่ว่าเป็นกุศลก็คือว่าเป็นจิตใจที่ดีงาม เพราะฉะนั้นเราก็จะพิจารณาจิตใจของเรา ละเอียดขึ้นว่า เราโลภไหม เราโกรธไหม เราริษยาไหม เราหวังร้ายต่อคนอื่นไหม ถ้าขณะเหล่านั้นแล้วก็ต้องเป็นอกุศล

    แต่เวลาที่น้อมระลึกถึงพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วกราบพระ สวดมนต์ จะเห็นได้ว่าต้องเป็นกุศลจิตมาก เพราะเหตุว่าวันๆ หนึ่ง เราจะไม่ค่อยได้คิดถึงพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาที่เราสนทนาธรรมกัน หรือแม้ในขณะนี้ เราก็จะค่อยๆ เห็นพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ในขณะนี้เราก็ไม่ได้กราบพระ เราก็ไม่ได้สวดมนต์ แต่จิตก็เป็นกุศล เพราะฉะนั้นในขณะที่เรากราบพระ แสดงให้เห็นว่ากายเราก็มีกิริยาอาการที่อ่อนน้อม และใจในขณะนั้นก็ระลึกถึงพระคุณตามภาษาบาลี

    แต่จริงๆ แล้วไม่ต้องตามภาษาบาลีก็ได้ หรือผู้ที่รู้ภาษาบาลี เวลาที่นึกถึงคำที่สวด เช่น นะโม ตัสสะภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ในขณะนี้ ก็น้อมระลึกถึงความหมาย นะโม ตัสสะ คือถวายความนอบน้อม ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ แด่พระหัตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งแม้แต่คำว่า พระอรหันต์ เราก็ต้องรู้ความหมายว่า เป็นผู้ที่หมดกิเลส สัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่พระอรหันต์ธรรมดา แต่เป็นพระอรหันต์ ผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง แล้วก็ทรงแสดงพระธรรมเพื่อประโยชน์แก่สัตว์โลก จึงได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 14
    24 ก.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ