ปกิณณกธรรม ตอนที่ 7
ตอนที่ ๗
ท่านอาจารย์ ซึ่งแม้แต่คำว่า พระอรหันต์ เราก็ต้องรู้ความหมายว่า เป็นผู้ที่หมดกิเลส สัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่พระอรหันต์ธรรมดา แต่เป็นพระอรหันต์ผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง แล้วก็ทรงแสดงพระธรรมเพื่อประโยชน์แก่สัตว์โลก จึงได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ในขณะนั้นกุศลจิตจะเกิดมากทั้งกาย และทั้งความคิดนึกด้วย ขณะใดก็ตามที่เป็นกุศล สำเร็จแล้ว อุทิศได้ทั้งหมดทุกอย่าง ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้นั้นว่า พร้อมที่จะอุทิศไหม เพราะว่าอย่างเราสนทนาธรรมกัน เวลาที่จบแล้ว เราก็อุทิศส่วนกุศลได้ กุศลทั้งหมด ให้เถอะ คนอื่นเต็มใจรับ ที่เต็มใจรับ ไม่ได้หมายความว่ารับเป็นวัตถุ แต่ว่ารับโดยอนุโมทนาในคุณความดีที่คนอื่นกระทำ ถ้าใครทำสิ่งที่ไม่ดี ไม่มีใครอนุโมทนา ตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือข่าววิทยุซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ดี ไม่มีใครอนุโมทนาเลย แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ดีแล้วแม้นิดแม้หน่อย การช่วยเหลือคนอนาถา หรือว่าคนบาดเจ็บ หรือว่าอะไรก็ตามแต่ทั้งหมดซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แม้แต่คนไข้ เราทำให้คนไข้รู้สึกสบายขึ้นมาด้วยประการใดๆ ก็ตาม ด้วยจิตใจที่อยากให้เขาเป็นสุข ขณะนั้นก็เป็นกุศล
เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า กุศลทั้งหมด ทุกคนเต็มใจรับ คือพร้อมที่จะรับด้วยจิตใจที่อนุโมทนา เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่สิ้นชีวิตแล้ว แล้วก็สามารถที่จะล่วงรู้ เขาเกิดอนุโมทนา ขณะนั้นจิตเขาเป็นกุศล ที่ว่าอุทิศนี้ไม่ได้หมายความว่าส่งให้ แต่หมายความว่า ให้เขารู้ และอนุโมทนา ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับตัวผู้นั้นเองว่า จะอนุโมทนาหรือไม่อนุโมทนา เพราะฉะนั้นกุศลทุกชนิดอุทิศได้
ผู้ฟัง อุทิศได้ในที่นี้หมายถึงว่าต้องกรวดน้ำด้วยหรือเปล่า หรือว่า จิตเราก็แผ่ไปถึงเขา จะถึงใช่ไหม
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วก็คือว่า ต้องการให้ผู้นั้นล่วงรู้ จะโดยวิธีใดก็ตาม ซึ่งถ้าพร้อมด้วยกาย วาจา ใจ เขาก็สามารถที่จะรู้ได้ แต่ถ้าเพียงเรานึกนิดหน่อยสั้นๆ เขาก็ไม่พอที่จะรู้ได้ไหม แต่ถ้าเป็นการกระทำที่พร้อมด้วยกาย ด้วยวาจา ก็ทำให้มั่นคงทั้งสมาธิจิตของเรา แล้วก็มีกิริยาอาการที่คนอื่นสามารถที่จะรู้ได้ เพราะฉะนั้นถ้าจิตของเราตั้งมั่นคง แล้วก็ใช้ภาษาที่เรารู้ ก็สามารถที่จะให้คนอื่นรับรู้ได้เหมือนกัน ไม่จำกัดว่า กรวดน้ำต้องเป็นภาษาบาลี ไม่อย่างงั้นชาติไหนก็ต้องมานั่งท่องภาษาบาลีกันหมด เวลาที่จะกรวดน้ำ แล้วถ้าเราท่องผิด มันก็มีปัญหาต่อไปอีก ถ้าท่องผิดไปสักตัวสองตัวก็จะลำบากแล้ว ใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็คือ จิตใจที่มั่นคงที่อุทิศให้สำคัญกว่า ต้องเป็นผู้ที่มีเหตุผลจริงๆ
ผู้ฟัง อยากทราบว่าการให้ทาน ไม่ว่าให้ด้วยสิ่งของ หรือว่าช่วยเหลือด้วยกำลังกาย สิ่งนี้ คิดว่าเป็นกุศล
ท่านอาจารย์ ไม่คิดแล้ว ตอนนี้เป็นกุศล
ผู้ฟัง อันนี้อาจารย์พูดไปแล้วว่า กรวดน้ำได้
ท่านอาจารย์ ทุกอย่างที่เป็นกุศล อุทิศได้
ผู้ฟัง อีกข้อหนึ่ง ตายแล้ว ปฏิสนธิได้เลยหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ว่า ตายแล้วปฏิสนธิเลยหรือปล่า ต้องปฏิสนธิทันที ตายแล้วเกิดทันที ไม่มีระหว่างคั่น ซึ่งเราจะต้องเข้าใจด้วยว่า ตายคืออะไร เราถึงจะเข้าใจว่าทำไมตายแล้วต้องเกิดทันที ที่ว่าตายคือจิตพร้อมกับรูปดับ พ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ แต่ว่าจิตของเรา ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ไม่เคยหยุดการเกิดดับเลย ไม่ใช่ว่าจิตเที่ยงตอนเกิด แล้วก็อยู่ไปจนกระทั่งถึงตอนตาย ทุกขณะนี้ จิตเกิดดับเร็วมาก และรูปก็เกิดดับเร็วมากด้วย แต่ว่ากรรมทำให้ ดำรงสภาพความเป็นบุคคลนี้ จนกว่าจะถึงเวลาที่สิ้นกรรม ก็จะทำให้พ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ แต่ก็มีกรรมที่ทำให้จิตเกิดสืบต่อทันที
เพราะฉะนั้นไม่มีใครที่จะยับยั้งการเกิดดับสืบต่อของจิตได้ อย่างขณะมื่อกี้นี้ก็มีได้ยิน และก็ดับหมดไป และขณะนี้ก็มีได้ยินอีก ซึ่งใครจะห้ามไม่ให้ได้ยินเกิดก็ไม่ได้ มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย ถ้าเราไม่ศึกษาหรือไม่คิด ตั้งแต่เกิดมาแล้วก็คิดว่า เป็นของเรา เกิดขึ้นมา มีเอง มีขึ้นมาเอง เป็นของเราเอง แต่ความจริงแล้วทั้งหมดนี้ กรรมเป็นสมุฏฐาน เป็นเหตุที่ทำให้เกิด แม้แต่ตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะฉะนั้นบางคนก็ตาบอด บางคนก็หูหนวก แล้วแต่กรรม บางคนก็พิการตั้งแต่กำเนิด อาจจะแขนไม่มี ขาไม่มี อะไรอย่างนั้นก็เป็นเรื่องของกรรมทั้งหมด เพราะฉะนั้นก็ให้เห็นว่า แม้แต่ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ กรรมก็ทำให้เห็นทำให้จิตเป็นวิบาก เป็นผลเกิดขึ้นเห็น เพราะฉะนั้นเมื่อยังไม่หมดกรรม หรือว่ากรรมที่ทำมาที่สะสม ไม่ใช่มีกรรมเดียว เพราะฉะนั้นเมื่อตายแล้ว กรรมหนึ่งก็ทำให้จิตเกิดในภพภูมิต่อไป เรียกว่า ปฏิสนธิ ไม่มีใครหยุดยั้งการเกิดหลังจากตายนอกจากว่าผู้นั้นจะเป็นพระอรหันต์ เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว แล้วก็สิ้นชีวิต จะไม่มีการเกิดอีกเลย เพราะฉะนั้นทุกคนต้องเกิดแน่ แต่ว่าจะเกิดที่ไหน นี่เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถจะรู้ได้
ผู้ฟัง อาจจะไม่เกิดเดี๋ยวนั้น
ท่านอาจารย์ ต้องเกิดทันที เพราะว่าเวลานี้จิตเกิดดับสืบต่อทันที ไม่มีช่องว่างเลย แม้แต่ขณะที่นอนหลับสนิท ที่เราไม่เห็น ไม่ได้ยินเลย แต่ก็รู้ว่าคนนี่ยังไม่ตาย เพราะเหตุว่ายังมีจิตซึ่งเกิดดับทำให้ดำรงความเป็นบุคคลนั้นอยู่ ขณะที่เห็น เป็นจิตขณะหนึ่ง ขณะที่ได้ยินเป็นจิตขณะหนึ่ง ขณะที่คิดเป็นจิตขณะหนึ่ง ซึ่งจิตเกิดขึ้นทีละขณะ จะเกิดพร้อมกันหลายๆ ขณะไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นให้เห็นการเกิดขึ้นสืบต่อกัน พอจิตเห็นดับ จะมีจิตเกิดสืบต่อ แล้วก็มีจิตได้ยิน พอจิตได้ยินดับ ก็มีจิตเกิดขึ้นสืบต่อ ไม่ว่างเว้น เรียกว่าขณะนี้ ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม จิตกำลังเกิดขึ้นทำกิจการงาน โดยที่เราไม่รู้ จึงคิดว่าเป็นเราทั้งหมด แต่ความจริงแล้ว ต้องเข้าใจว่า ที่เราว่ามีจิต จิตคืออะไร ทั้งๆ ที่มีก็ยังไม่รู้ แต่ถ้าศึกษาจะทราบได้ว่า จิตเป็นสภาพที่ต่างกับรูป เพราะเหตุว่า ถ้าพูดถึงรูป หรือ รู-ปะ ในภาษาบาลี หมายความถึงสภาพที่ไม่รู้อะไรเลย อย่างแข็ง หรือเย็น หรือหอม หรือเปรี้ยว พวกนี้เป็นรูป เสียงไม่ใช่สภาพรู้ แต่มีผู้ได้ยินเสียง มีลักษณะอาการได้ยิน ขณะนี้กำลังได้ยิน ลักษณะนั้นคือจิต เพราะฉะนั้นจิตเป็นสภาพที่มีอยู่ มองไม่เห็น ไม่มีรูปร่าง แต่ว่ามีกิจการงานคือจิตเกิดขึ้น จะไม่อยู่เฉยเลย สภาพธรรมที่เป็นจิตเกิดขึ้นจะต้องทำหน้าที่หรือกิจการงานอย่างหนึ่งอย่างใดแล้วจึงดับ ซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วมากในขณะนี้ เพราะฉะนั้นจิตนั่นเองเกิด และจิตนั่นเองตาย แล้วจิตนั้นเองก็เกิดอีก เหมือนในขณะนี้ ซึ่งจิตก็กำลังเกิดดับ หรือจะใช้คำว่า กำลังเกิดตายอยู่ทุกขณะ ซึ่งถ้าสนใจภาษาบาลี จะใช้คำว่า ขณิกมรณะ ขณิกะ ก็มาจากคำว่า ขณะ มรณะก็คือตาย ขณะนี้เรากำลังตายทุกขณะ ทางวงการแพทย์หรือทางวิทยาศาสตร์ อาจจะบอกว่า เฉพาะรูปเท่านั้นซึ่งเกิดดับเปลี่ยนแปลง แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว จิตก็กำลังเกิดดับด้วย ไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อวานนี้หมดแล้ว ก็มีวันนี้ วันนี้กำลังหมดกำลังหมด ทุกขณะ แล้วก็จะถึงพรุ่งนี้ซึ่งก็หมดไปหมดไปทุกขณะ จนกว่าจะถึงเวลาที่หมดสิ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้ ซึ่งเป็นของธรรมดา ให้เข้าใจว่าเป็นของธรรมดาซึ่งทุกคนหนีไม่พ้น หลีกเลี่ยงไม่ได้
เพราะฉะนั้น ระหว่างที่เรายังมีชีวิตอยู่ ยังเห็น ยังได้ยิน สิ่งประเสริฐที่สุดก็คือว่า เราสามารถเข้าใจความจริงของสภาพธรรมซึ่งน่าเข้าใจ เพราะว่า สุขทุกข์ ก็อยู่ที่ใจนี่แหละ ถ้าไม่มีใจ จะมีสุขมีทุกข์ได้ไหม เพราะฉะนั้นแม้แต่ความสุขความทุกข์ก็ยังต้องอาศัยใจ อาศัยจิตที่เห็น แล้วเกิดสุขเกิดทุกข์บ้าง อาศัยจิตที่ได้ยิน แล้วก็จิตต่อไปก็เป็นสุขเป็นทุกข์บ้าง เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจเรื่องสภาพธรรมเหล่านี้ เราก็ยังรู้แหล่งของทุกข์พอที่จะสามารถแก้ความทุกข์ได้ แต่ถ้าไม่มีปัญญายังไงๆ ก็แก้ไม่ได้ เพราะว่าเป็นความไม่รู้ ก็ต้องเป็นทุกข์เพราะความไม่รู้นั้นเอง ถ้ามีคำถามที่แทรกก็เชิญ ก่อนที่จะถึงคำถามต่อไป
ผู้ฟัง อยากให้ท่านอาจารย์ได้อธิบายคำว่า ภพชาติ
ท่านอาจารย์ ภพ ภาษาบาลีใช้คำว่า ภวะ ความมีหรือความเป็น ขณะนี้ก็เป็นความมีความเป็น เพราะเหตุว่าเรากำลังอยู่ในที่นี่ เพราะฉะนั้นก็เป็นภพหนึ่งหรือชาติหนึ่ง แต่ละขณะๆ ซึ่งไม่สูญไปเลย จะพูดว่าแต่ละขณะที่มีชีวิตอยู่ ก็มีภาวะ หรือมีความเป็น ขณะนี้กำลังเป็นภาวะของบุคคลนี้ ก็เห็น ก็ได้ยิน ก็คิดอย่างนี้ แต่พอพ้นภาวะนี้ไปสู่ภาวะอื่นหลังจากตาย ก็แล้วแต่ว่าจะเกิดในภพในภูมิไหน อาจจะเป็นภูมิอื่น หรือว่าอาจจะเป็นภูมิเก่านี้ก็ได้ แต่ว่าไม่ใช่คนเก่า ก็ต้องเป็นคนใหม่ ทุกขณะนี้ คือสภาพความมี ความเป็น ถ้าเราเข้าใจจริงๆ เราก็จะรู้ว่า ธรรมก็คือขณะนี้ ไม่ต้องแสวงหาที่อื่นเลย เข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ให้ถูกต้อง
นี่คือปัญญา เพราะว่าถ้าเราจะพูดถึงปัญญา จะเอาวิชาอะไรมาตัดสิน จะเอาความรู้ทางแพทย์ จะเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ จะเอาความรู้ทางวิศวกรรม หรือว่าจะเอาความรู้การบ้านการเมือง ทั้งหมด แต่ว่าไม่ใช่เครื่องตัดสินว่านั่นคือปัญญา เพราะว่าตัวปัญญาหรือว่าสภาพธรรมที่เป็นปัญญาจริงๆ ในพุทธศาสนา หมายความถึง สภาพที่สามารถรู้ และเข้าใจถูกต้องในสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าเราจะไปเรียนเรื่อง เสียงว่า กว่าจะมาถึงหู กว่าจะมีการได้ยิน จะต้องมีการเดินทาง จะต้องมีการเกิดดับ จะต้องกระทบอะไรต่ออะไรบ้าง ตามหลักการทั้งหมด เป็นเรื่องที่คิด แต่ขณะนี้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏไม่ได้รอที่จะให้ใครไปคิดเรื่องนั้น แต่ว่าปัญญาสามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งซึ่งกำลังปรากฏ โดยที่ไม่สามารถจะมีใครโต้เถียงได้เลย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่เป็นจริงเป็นอย่างนั้นตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงตรัสรู้แล้ว
เพราะฉะนั้นให้ทราบว่าปัญญาที่ถูกต้องนั้นไม่ใช่รู้อย่างอื่น เราอาจจะใช้คำว่า ปัญญา ทางโลกเยอะมาก แต่ว่าปัญญาจริงๆ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นความรู้ที่ถูกต้องนั้น ต้องรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จึงชื่อว่าเป็นปัญญา ถ้ารู้อย่างอื่นก็คือรู้เรื่องเท่านั้นเอง แต่ไม่รู้ตัวจริงของธรรมที่กำลังปรากฏ
ผู้ฟัง ความหมายของคำว่า วาระจิต
ท่านอาจารย์ วาระ โดยมากเราจะใช้ในความหมายว่าเกี่ยวกับ เวลา หรือ โอกาส วาระพิเศษ วาระนี้หรือวาระนั้น แต่วาระของวิถีจิต คือจิตจะแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ ถ้าจิตที่รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เราใช้คำว่า วิถีจิต คือ จิตที่จะต้องอาศัยทวารหนึ่งทวารใด หรือทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้น เช่น ทางตาในขณะนี้ ที่จิตกำลังเห็น ถ้าไม่มีตา จะไม่มีจิตเห็นเลย แต่เราคิดว่าจิตเห็นขณะเดียว แต่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงตั้งแต่เริ่มที่สีกระทบจักขุปสาท แล้วกระทบจิต นี่แสดงให้เห็นว่า ขณะนั้นยังไม่มีการเห็น แสดงให้เห็นจริงๆ ว่า กว่าจะมีการเห็นที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ จะต้องมีจิตเกิดทางนั้นกี่ครั้ง กี่ขณะ ซึ่งตลอด ทั้งหมดที่กำลังเห็นนี่ชื่อว่าวาระหนึ่ง ที่รู้สีที่ปรากฏทางตา ถ้าเป็นทางหู เวลาที่เสียงกระทบกับโสตปสาทคือกระทบตัวหู ซึ่งเป็นรูปที่สามารถจะกระทบเสียงได้ ขณะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงความละเอียดตั้งแต่เสียงกระทบกับหูกระทบกับจิต ซึ่งยังไม่ทันได้ยินเสียง แต่ต้องมีจิตเกิดก่อนเสียงกระทบหู ใช่ไหม อย่างเวลานี้ เงียบ แต่มีจิตเกิดดับ แล้วก็มีเสียงกระทบหู
เพราะฉะนั้นเวลาที่เสียงกระทบหู จิตอาศัยหูเป็นทางที่จะรู้เสียงตลอดเวลาที่จิตเกิดดับ โดยอาศัยหูเป็นทางรู้เสียง เสียงหนึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะของจิต จิตที่เกิดดับรู้เสียงโดยอาศัยหูตลอดเวลา กี่ขณะก็ตามชื่อว่า วาระหนึ่ง วาระหนึ่ง ซึ่งมีการรู้อารมณ์ทางหู หรือว่าทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็โดยนัยเดียวกัน เมื่อกี้นี่กำลังพูดถึงเรื่อง การแบ่งจิตออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ จิตที่รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทางรู้อารมณ์มี ๗ ทาง เป็นวิถีจิตซึ่งต้องอาศัยทวารตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เวลาที่เรากำลังนอนหลับสนิท ยังไม่ตาย จิตก็เกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติ ทำภวังคกิจ ที่ใช้คำว่า ภวังค์ อย่างบางคนง่วง เราบอกว่ากำลังจะเข้าภวังค์ หรือกำลังเป็นภวังค์ แต่ให้ทราบว่า ความหมายจริงๆ ก็คือว่า ขณะที่เป็นภวังคจิต จะไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่คิดนึก ไม่ฝัน เพราะฉะนั้นเป็นช่วงขณะที่กำลังหลับสนิท ขณะนั้นเป็นจิตซึ่งไม่ใช่วิถีจิต เพราะเหตุว่าไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่คิด ไม่รับรู้อารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นให้ทราบแบ่งชีวิตของเรา เป็น ๒ ส่วน คือ จิตที่เป็นวิถีจิต กับ จิตทีไม่ใช่วิถีจิต
วิธีที่จะรู้จิตในชีวิตประจำวันของเราก็คือว่าแบ่งจิตออกก่อน เป็นส่วนใหญ่ๆ ๒ ส่วน คือ จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต กับ จิตที่เป็นวิถีจิต ถ้าเรารู้เรื่องตัวเราเองมากๆ เราก็จะได้ทราบว่า เป็นความจริงอย่างนั้น เพราะเหตุว่า จิตที่ไม่รับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะมี ๓ ขณะ คือ ขณะเกิดปฏิสนธิ ที่ชั่วขณะแรกที่ปฏิสนธิ ไม่เห็นโลกนี้เลย ไม่รู้เลยว่าโลกนี้เป็นอย่างนี้ มีแสงสี มีเสียง มีกลิ่น มีรส อย่างนี้ เราเกิดที่ไหนตอนนั้นเราก็ไม่รู้ แล้วก็ยังไม่เห็นโลกเพราะโลกนี้ยังไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นขณะแรกเป็นจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต และจิตทีไม่ใช่วิถีจิตอีกก็คือขณะที่เป็นภวังค์ดำรงภพชาติ ดับสนิท ขณะนั้นก็ไม่ใช่วิถีจิต อีกขณะหนึ่งก็คือขณะจุติ คือขณะที่สิ้นชีวิต
เพราะฉะนั้น มีจิต ๓ ประเภทที่ไม่ใช่วิถีจิต คือ ขณะปฏิสนธิเกิดขึ้นขณะแรก และขณะที่เป็นภวังค์ดำรงภพชาติ ระหว่างที่ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่คิดใดๆ ทั้งสิ้น และก็ขณะสุดท้ายคือขณะที่จะจากโลกนี้ก็เป็นจิตซึ่ง ไม่ใช่วิถีจิต นอกจากนั้นแล้วเป็นวิถีจิตทั้งหมด คือจะต้องอาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นเห็น หรือได้ยิน หรือได้กลิ่น หรือลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือคิดนึก
ผู้ฟัง เรียนถามปัญหาท่านอาจารย์ เนื่องจากมีผู้กล่าวว่า การปฏิบัติในพระพุทธศาสนานั้น เปรียบเหมือนการเดินทาง พร้อมกันนั้นก็มีจุดมุ่งหมายว่า ทุกคนก็มุ่งไปสู่จุดหมายปลายทางคือพระนิพพาน เพียงการปฏิบัติในทางพุทธศาสนา ก็มีลักษณะทางต่างกัน เช่นบางสำนักหรือบางที่ก็สอนในเรื่องของความสงบ ทีนี้ในเมื่อมีความต่างกันอย่างนี้ แล้วไปตรงกับสิ่งที่มีผู้กล่าวว่า อุปมาเหมือนการเดินทาง พร้อมทั้งยกตัวอย่างว่าเช่น เราจะเดินทางไปเชียงใหม่ จะไปทางเครื่องบินก็ถึง จะไปทางรถไฟก็ถึง จะไปทางรถยนต์ก็ถึง จะเดินก็ถึง อยากจะเรียนถามท่านอาจารย์ว่าข้ออุปมาที่กล่าวถึงข้อปฏิบัติทางพุทธศาสนาที่แบ่งออกเป็นหลายๆ ทาง จะผิดจะถูกอย่างไร ขอความกรุณาท่านอาจารย์ช่วยอธิบายด้วย
ท่านอาจารย์ ใครบ้างอยากจะถึงนิพพาน ถามด้วยความจริงใจที่สุด น้อยใช่ไหม ที่น้อย ผู้ที่ยังไม่ปรารถนา ถูก เพราะว่ายังไม่ได้รู้เลยว่า นิพพานคืออะไร ลองคิดดูสิว่า พอใครพูดอะไร แล้วเราอยากได้ อยากถึง โดยที่เรายังไม่รู้เลยว่านิพพานจริงๆ นั้นคืออะไร ถ้าถามจริงๆ ว่าอยากได้อะไร และต้องตอบให้ถูก นิพพานคืออะไร และถึงจะตอบได้ว่าอยากจะถึง ถ้าตอบยังไม่ได้ ยังไม่อยากถึงหรอก เพราะยังไม่รู้ว่า นิพพานเป็นยังไง คุณสุกลอยากจะถึงนิพพานหรือเปล่า
ผู้ฟัง พูดถึงความอยากถึงก็อยากถึง
ท่านอาจารย์ อยากหรือ เร็วจัง เร็วมาก คนที่อยากถึงนิพพานนี่เร็ว เร็วเกินไป ต้องใช้คำนั้น เพราะอะไร ยังไม่ทันจะเห็นทุกข์ ก็อยากจะถึงนิพพาน นี่เป็นสิ่งที่ค้านกันแล้ว คนที่จะถึงนิพพานได้ คือผู้ที่เห็นทุกข์ ทุกข์ที่นี่ไม่ใช่หิว ไม่ใช่เจ็บ ไม่ใช่เบื่อ แต่เป็นการประจักษ์ลักษณะที่กำลังเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรมในขณะนี้ ถ้ายังไม่ประจักษ์แล้วอยากจะถึงนิพพาน ไม่พอ เป็นแต่เพียงความอยาก
เพราะฉะนั้นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เมื่อมีผู้ที่ถามท่านว่า ทำไมบวชในพระธรรมวินัย ท่านเหล่านั้นตอบว่า เพื่ออบรมเจริญปัญญาให้เห็นทุกข์ แสดงว่าท่านเป็นผู้ที่รู้จักทุกข์ และรู้ว่าท่านยังไม่เห็นทุกข์ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นต้องเห็นทุกข์ก่อน อริยสัจจ์ มี ๔ คือ ทุกขอริยสัจจะ เป็นความจริง แต่ว่าใครเห็น ขณะนี้ยังไม่รู้เลยว่าจิตเป็นยังไง รูปเป็นยังไง เจตสิกเป็นยังไง สภาพธรรมเป็นยังไง ขณะนี้เกิดดับเป็นยังไง ก็ยังไม่รู้ แล้วจะถึงนิพพานทำไม จะถึงได้ยังไง โดยที่ว่ายังไม่รู้เลยว่าถึงนิพพานแล้วจะเป็นยังไง เพราะเหตุว่า แม้แต่ทุกข์ในขณะนี้ก็ยังไม่ประจักษ์
เพราะฉะนั้น พุทธศาสนิกชนฟังพระธรรม
นี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะอะไร ต้องมีเหตุผลด้วยฟังทำไม ฟัง เพราะเหตุว่า เคารพนับถือในพระปัญญาคุณ ในพระบริสุทธิคุณ ในพระมหากรุณาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราจะนับถือใครในหมายความว่า เราต้องรู้จักคนนั้นอย่างดีพอที่จะกล่าวได้ว่าเรานับถืออย่างแท้จริง ถ้าเรายังไม่รู้ว่าคนนั้นเป็นใคร มีคุณความดีมากมายสุดประมาณสักแค่ไหน ความนับถือของเราก็เพียงแต่นับถือ เพียงนับถือ หรือว่านับถือเพียงปาก หรือความคิด หรือใจ แต่ยังไม่ประจักษ์แน่แท้ในคุณความดีของบุคคลนั้น
เพราะฉะนั้นแม้แต่การที่พุทธศาสนิกชนมีกิจ ไม่ใช่ว่าเป็นชาวพุทธแล้วไม่ต้องทำอะไรสบายๆ ถ้าอย่างนั้นเป็นอะไรก็ได้ เป็นชาวคริสต์ก็ได้ เป็นชาวอะไรก็ได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นที่จะเป็นชาวพุทธจริงๆ ก็คือว่า ต้องฟังพระธรรมให้เข้าใจ จึงสมควรที่จะได้ชื่อว่า เรานับถือในพระปัญญาคุณ เพราะว่าถ้าบอกว่า พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยพระปัญญา ปัญญาของพระองค์ตรัสรู้อะไร
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 2
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 3
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 4
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 5
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 6
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 7
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 8
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 9
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 10
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 11
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 12
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 13
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 14
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 15
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 16
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 17
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 18
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 19
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 20
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 21
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 22
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 23
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 24
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 25
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 26
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 27
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 28
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 29
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 30
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 31
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 32
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 33
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 34
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 35
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 36
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 37
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 38
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 39
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 40
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 41
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 42
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 43
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 44
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 45
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 46
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 47
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 48
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 49
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 50
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 51
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 52
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 53
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 54
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 55
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 56
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 57
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 58
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 59
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 60