ปกิณณกธรรม ตอนที่ 8
ตอนที่ ๘
ท่านอาจารย์ เพราะว่าถ้าบอกว่า พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยพระปัญญา ปัญญาของพระองค์ตรัสรู้อะไร ถ้าไม่ศึกษาไม่มีทางที่จะรู้เลยว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสคำใด คำนั้นไม่เป็นสอง คือไม่มีการที่จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นเลย เพราะเหตุว่าไม่ใช่ความคิดของคนที่เพียงเดา หรือพิจารณาด้วยเหตุผลว่า ธรรมต้องเป็นอย่างนี้ ถูกต้องเป็นอย่างนี้ ผิดต้องเป็นอย่างนั้น แต่เป็นการประจักษ์แจ้งด้วยพระปัญญา สามารถที่จะประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรมในขณะนี้ได้ จึงตรัสว่า สัพเพ สังขารา อนิจจา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สังขารทั้งหลายคือสภาพธรรมซึ่งเกิด ที่จะไม่ดับไม่มี แต่การที่เราเข้าใจว่าสังขารดับ เหมือนกับว่าร่างกายของเราเกิดมาแล้วก็ค่อยๆ แก่ ค่อยๆ เจ็บ ค่อยๆ ตายไป แต่นั่นไม่ใช่ความหมายของสังขารที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ว่า สิ่งใดก็ตามซึ่งเกิดขึ้น สิ่งนั้นดับทันที เร็วมาก แล้วแต่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม และแต่ละสภาพธรรม ก็มีลักษณะเฉพาะของตนซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่ประจักษ์ความจริงอย่างนี้ ยังไม่เข้าใจอะไร และพอใครจะไปบอกจะพาไปนิพพานก็ตื่นเต้นตามไป พาไปไหนก็ไม่ทราบ เพราะเหตุว่านิพพานยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร แล้วปัญญาคืออะไรก็ยังไม่รู้ แม้แต่ปัญญาที่ว่า ปัญญาไม่สามารถที่จะเอาวิชาการอื่นมาวัดได้เลยนอกจากสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ รู้ไหม รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏหรือยัง ถ้าไม่รู้ ไม่ใช่วิชชา จะมีความรู้สารพัดอย่างแต่ไม่รู้สิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่ตัวสภาพธรรมที่เป็นวิชชา ที่จะไถ่ถอนอวิชชาหรือความไม่รู้ จากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้ามีพระอรหันต์รูปหนึ่งองค์หนึ่งอยู่ที่นี่ จิตของท่านจะต่างกับผู้ที่เป็นปุถุชน หรือผู้ที่เป็นพระอริยะขั้นต้นๆ คือพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี เวลาที่เห็น เป็นปกติในชีวิตของท่าน แม้แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เห็น คนที่มีกิเลสก็เห็น เพราะฉะนั้นความต่างกันก็คือว่า หลังจากเห็นแล้ว คนมีกิเลสเป็นโลภะบ้าง เป็นโทสะบ้าง แต่ผู้ที่เป็นพระอรหันต์เมื่อเห็นแล้ว กิเลสไม่มีเลย ไม่มีรัก ไม่มีชัง ไม่มีอวิชชา ไม่มีความไม่รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นความต่างกันนี้เกิดจากอะไร ต้องเกิดจากปัญญาที่สามารถจะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่า เห็น หลังจากเห็นแล้วโลภ โกรธ แต่ผู้ที่เห็น หลังจากเห็นแล้วปัญญาเกิด ผู้ที่ฟังพระธรรมแล้วสามารถที่จะมีปัญญา ขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ ก่อนที่จะถึงความเป็นพระอริยบุคคล ต้องมีการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ไม่ใช่ใครบอกว่าไปนิพพานก็ไปกันเป็นแถวๆ แต่ว่าผู้นั้นจะต้องมีความเข้าใจจริงๆ ในเรื่องของสภาพธรรมก่อน
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็จะเน้นในเรื่องของความรู้คือตัวปัญญา
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีปัญญา และไม่มีทางถึงนิพพาน
ผู้ฟัง ปัจจุบันนี้ก็เป็นที่ทราบอยู่แล้วว่า มีการปฏิบัติธรรม พอจะแบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะคือลักษณะหนึ่งก็ไปนั่งทำสมาธิเพื่อให้จิตสงบ แล้วก็มีการพิจารณาว่า สังขารนี้ไม่เที่ยง เราไม่ควรยึด ไม่ควรถือ ควรจะปล่อยวางไว้เสีย แล้วก็ปัญญาจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นๆ ในลักษณะของการอบรมสั่งสอนอย่างนี้ กับการที่จะมีปัญญาตามที่ท่านอาจารย์ได้บรรยายมาตั้งแต่ต้นจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ อยากจะทราบว่าลักษณะของความรู้ที่จะเกิดขึ้นอย่างถูกต้องนั้น ควรจะเป็นข้อปฏิบัติอย่างไหน
ท่านอาจารย์ ปัญญาไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา เหมือนกับเห็นในขณะนี้ก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา สัตว์ก็เห็นสภาพที่เห็นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย โลภะความต้องการยินดีก็ไม่ใช่เรา ไม่ว่าใครทั้งนั้น แมวสุนัข กระต่าย คน เทวดา หรือใครก็ตาม เวลาที่มีความติดข้องความต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็เป็นชั่วขณะจิต ซึ่งมีความต้องการเกิดขึ้นประกอบด้วยเจตสิกคือโลภเจตสิก หรือสภาพธรรมที่ยึดติด ทำให้ขณะนั้นต่างกับขณะที่โกรธ ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ขุ่นใจแล้ว ขณะนั้นก็เป็นลักษณะที่ต่างกัน เพราะฉะนั้นถ้าจะพิจารณาแต่ละลักษณะของสภาพธรรมในชีวิตประจำวันจะเห็นได้ว่า ไม่ใช่เราเลยสักอย่างเดียว ทุกอย่างต้องเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น ถ้าเห็นสิ่งที่น่าดู ความชอบใจ ความเพลิดเพลิน ความติดข้องเกิด ถ้าเห็นสิ่งซึ่งไม่น่าดู ความขุ่นใจ ความเคืองใจก็เกิด จะเห็นได้ว่าแต่ละขณะ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ปัญญาก็เช่นเดียวกัน ปัญญาก็ไม่ใช่เราที่จะไปทำ แต่ว่าปัญญาคือความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทำไมพุทธศาสนิกชนต้องฟังพระธรรม พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมคือเรื่องของสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ให้คนฟังเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ให้มีความเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นไม่ว่าใครก็ตามจะไปปฏิบัติธรรมโดยที่ไม่มีปัญญาหรือไม่มีการฟังพระธรรมไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แล้วจะไปทำอะไร ต้องเข้าใจว่าปัญญาคือขณะที่กำลังฟังขณะนี้ เข้าใจขึ้นบ้างหรือยังในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้ายังไม่เข้าใจปัญญาก็ยังไม่เกิด แล้วจะทำยังไง ก็ต้องฟังอีก ฟังแล้วก็ต้องคิด แล้วก็ต้องพิจารณาด้วย เพราะเหตุว่าบางครั้งมีการฟังจริง แต่ไม่ได้คิดตามที่ได้ฟังเลย ฟังเท่านั้น ใครถามก็อาจจะมีบ้างที่ตอบไม่ได้เลยว่าฟังเรื่องอะไร แต่ว่าถ้าฟัง และพิจารณา และเข้าใจขึ้นนิดหนึ่งว่า วันนี้พูดถึงเรื่องสภาพของจิตใจ พูดถึงเรื่องปัญญาซึ่งเป็นสิ่งที่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ และทุกอย่างไม่ใช่ตัวตน สภาพธรรมเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้ามีความเข้าใจเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เป็นสังขารขันธ์ อย่างที่เราเคยพูดว่า ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ไม่มีตัวเราเลย มีแต่สภาพธรรมซึ่งแยกไปตามความยึดถือ ตามความติดข้อง เพราะฉะนั้นสังขารขันธ์ก็คือความเข้าใจในขณะนี้ จะปรุงแต่งให้มีความเข้าใจขณะต่อไปเพิ่มขึ้นๆ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรม หมายความถึง การอบรมเจริญปัญญาซึ่งยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และก็ให้เพิ่มขึ้น ให้มีมากขึ้น และปัญญานั้นไม่ใช่รู้อย่างอื่นเลย รู้สิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปไหน อยู่ที่นี่มีธรรมกำลังปรากฏ แล้วก็มีความเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏหรือยัง ถ้าไม่มีความเข้าใจ ก็เริ่มฟัง เริ่มพิจารณา แล้วไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เมื่อมีความเข้าใจแล้วก็จะมีการระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วพิจารณาจนกระทั่งมีความเข้าใจถูกต้องเพิ่มขึ้น นี่คือจิรกาลภาวนาซึ่งมีในพระไตรปิฏก การอบรมเจริญปัญญาต้องเป็นเรื่องยาว ต้องเป็นเรื่องนาน ต้องเป็นเรื่องละเอียดเพราะเหตุว่าเป็นปัญญาที่รู้สิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ตามที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้แล้ว พระองค์ตรัสรู้ว่าสภาพธรรมขณะนี้กำลังเกิดดับ ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะซึ่งเป็น พระสาวกรูปแรก ก็ได้รู้ตามความเป็นจริงในขณะที่ได้ฟังพระเทศนาจบลงว่า สภาพธรรมขณะนี้เกิดแล้วดับจริงๆ ขณะนั้นจะเป็นหนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ แต่ถ้าไม่ใช่ปัญญาอย่างนี้ ก็เป็นตัวตนซึ่งไปทำโดยการที่ไม่ฟังพระธรรมให้เข้าใจว่า การตรัสรู้ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้นให้บุคคลทั้งหลายได้อบรมเจริญปัญญาตามก็คือ รู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้
ผู้ฟัง ขออนุญาตเรียนถามต่ออีกเรื่องหนึ่งคือ ทุกวันนี้มีผู้สงสัยในเรื่องของการอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะมารดา บิดา หรือผู้มีพระคุณ ทุกครั้งที่มีการทำบุญก็ดี หรือว่ามีการบริจาคเงินเพื่อศาสนกิจก็ดี สงสัยว่าการอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วนั้นจะมีโอกาสไปถึงบุคคลที่เราปราถนาที่จะให้ได้รับส่วนกุศลนั้นได้หรือไม่ได้ อันนี้เป็นสิ่งที่ยังมีความสงสัยกันอยู่มาก แล้วถ้าไม่ได้บุญนั้นจะไปอยู่ที่ไหน
ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นต้องทราบว่าไม่ใช่มีโลกนี้โลกเดียว ซึ่งเป็นที่เกิด ในโลกนี้ เรามองเห็นกำเนิดที่ต่างกันคือมนุษย์กับสัตว์เดรัจฉาน แสดงให้เห็นสภาพของจิตที่ต่างกัน มนุษย์สามารถที่จะฟังพิจารณา อบรมเจริญปัญญาได้ แต่ว่าสัตว์เดรัจฉานฟังไม่ออก เพราะฉะนั้นก็ไม่สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาได้อย่างมนุษย์ นี่คือกำเนิดที่ต่างกันเพราะกรรม ถ้าเป็นผลของกุศล ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา หรือว่าถ้าอบรมเจริญฌานจิตได้ สามารถเกิดเป็นพรหม แต่ถ้าเป็นผลของอกุศลก็เกิดในนรก เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสูรกาย เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เพราะฉะนั้นก็แสดงเห็นว่ามีภพภูมิอื่นด้วย การอุทิศส่วนกุศล ก็ต้องแล้วแต่ว่าบุคคลนั้นไปเกิดที่ไหน ถ้าคนนั้นเกิดในนรก ก็ไม่สามารถที่จะล่วงรู้ และอนุโมทนาได้ ถ้าเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ไม่สามารถที่จะรู้ และอนุโมทนาได้ ถ้าเกิดเป็นเปรตสามารถที่จะรู้ และ อนุโมทนาได้ ถ้าเกิดเป็นเทพหรือเป็นเทวดาก็สามารถที่จะรู้ และอนุโมทนาได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่พูดถึงการอุทิศส่วนกุศล คนส่วนใหญ่คิดว่าส่งไปให้เหมือนทางไปรษณีย์ แต่ความจริงให้ทราบว่า กุศลคือจิตที่ดีงาม เพราะฉะนั้นเราจะเอาจิตที่ดีงามของเราไปยกให้ใครไม่ได้ เพราะว่าจิตเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเร็วมาก ทุกคนกำลังมีจิต เพราะฉะนั้นทุกคนก็ทราบว่าจิตของทุกคน บางครั้งเป็นกุศล บางครั้งเป็นอกุศล เพราะฉะนั้นกุศลของใครก็ของคนนั้น ถ้าเราเห็นคนอื่นทำความดี เราอนุโมทนายินดีด้วยไหม ถ้าขณะที่เราอนุโมทนายินดีด้วย ให้ทราบว่าขณะนั้นเป็นกุศลจิต จึงสามารถที่จะยินดีได้ในกุศลในคุณงามความดีของคนอื่น ขณะที่เป็นมนุษย์ฉันใด ถ้าเราตายไปแล้วเราเกิดในภพภูมิอื่น และสามารถที่จะรู้ว่าญาติพี่น้องก็ดี เพื่อนฝูงก็ดี เขายังระลึกถึงความดีที่เราเคยมีต่อกัน แล้วเขาก็ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เพื่อเราจะได้เกิดจิตยินดีอนุโมทนา ในขณะนั้นเป็นกุศลของเราที่ยินดีอนุโมทนา เพราะฉะนั้นไม่ต้องพูดถึงคนอื่น เราเองขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ อนุโมทนาในคุณความดีของคนอื่นขณะใด ขณะนั้นเป็นกุศลจิตของเราเอง เพราะฉะนั้นเมื่อตายไป คนที่เราอุทิศส่วนกุศลให้ ถ้าเขาเกิดอนุโมทนายินดีขณะใด ก็เป็นกุศลของเขาขณะนั้น ไม่ใช่ว่าเราจะให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเขา หรือว่าเราจะเอากุศลจิตของเราไปให้เขา ก็ไม่ใช่ เพียงแต่ว่าทำดี ให้เขาอนุโมทนา โดยอุทิศให้เขารู้ว่า เราทำดีเพื่อให้เขาอนุโมทนาในกุศลจิต เขาเกิดจิตอนุโมทนาก็เป็นกุศลของเขา ต้องเข้าใจเรื่องกุศล เป็นของแต่ละบุคคลเอง แล้วไม่ว่าภพไหนชาติไหนก็เหมือนกัน ที่ทรงแสดงไว้ว่า เวลาที่อุทิศส่วนกุศลไปให้เปรต เปรตเกิดอนุโมทนาก็พ้นจากสภาพของความเป็นเปรต เพราะจิตที่เป็นกุศลของเปรตที่อนุโมทนา แต่ถ้าเปรตไม่อนุโมทนาก็ไม่ใช่กุศลจิตของเปรต กุศลกรรมของใครก็ให้ผลแก่คนนั้น
ผู้ฟัง ขอเรียนถามท่านอาจารย์ วันนี้บังเอิญเป็น วันสาตรจีน ซึ่งก็ชาวจีนทั้งหลายส่วนใหญ่ก็ซื้อขนมจ้างไปไหว้บรรพบุรุษ พร้อมทั้งไหว้เจ้าที่ ก็อยากเรียนถามว่า ถ้าเอาขนมจ้างไปไหว้ บรรพบุรุษจะได้รับไปหรือเปล่า เพราะขนมจ้าง ไหว้เท่าไหร่ก็อยู่ตรงนั้น ไม่ทราบว่าผู้ตายได้รับหรือเปล่า กับเจ้าที่ด้วย
ท่านอาจารย์ อาหารของโลกมนุษย์ ก็เป็นอาหารอย่างที่เรารับประทานกัน คือมีขนมจ้าง ขนมเทียน ขนมอะไรต่างๆ เป็นกับข้าวต่างๆ แต่อีกภพภูมิหนึ่ง ไม่ต้องมีแม่ครัวแบบนี้ หรืออาจจะไม่ต้องการรสขนมจ้างอีกต่อไป เพราะเหตุว่าถ้าเกิดเป็นเทพ รสทิพย์ เป็นอาหารที่อร่อยกว่าขนมจ้างหรือขนมในโลกนี้ทั้งหมด ถ้าเป็นสวรรค์ ทุกอย่างประณีตมาก สิ่งที่ปรากฏก็น่าดู กลิ่นก็หอม รสก็เป็นทิพย์ ทุกอย่างก็สะดวกสบายมาก เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าบรรพบุรุษของเรายังต้องการขนมชนิดนี้ ถ้าสิ้นชีวิตแล้วไปเกิดในภูมิอื่น ก็ต้องแล้วแต่ว่าเป็นภพภูมิอะไร แต่ข้อสำคัญที่สุดก็คือว่า เราซึ่งเป็นบุตรหลานมีความกตัญญูกตเวที แล้วระลึกถึงบรรพบุรุษ แล้วทำกุศล แล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้ เมื่อผู้ที่เราอุทิศให้เกิดกุศลจิต เขาก็ได้รับผลของกุศลไม่จำเป็นต้องเป็นขนมจ้าง ประณีตกว่าก็ได้
ผู้ฟัง เรียนถามอาจารย์ คำว่า อจินไตย กับ ธรรมนิยาม มีความหมายเหมือนกัน หรือว่าต่างกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ คำว่า อจินไตย จินตะ หมายความถึง คิด อ แปลว่า ไม่ เพราะฉะนั้นหมายความถึงธรรมที่ไม่ควรคิด เพราะเหตุว่าไม่ใช่วิสัยของผู้นั้นจะรู้ได้ เช่นเรื่องกรรม เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ชาติก่อนเราทำกรรมอะไรมาแล้ว เราถึงได้มาเกิดเป็นคนนี้ และชาติหน้าต่อไป เราจะไปเกิดเป็นอะไร ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรคิด ในเมื่อมีสภาพธรรมปรากฏให้รู้ให้เข้าใจ แทนที่จะไปคิดถึงสิ่งที่ผ่านมาแล้ว หรือสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็อบรมปัญญาที่จะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าอยู่ในวิสัยที่จะรู้ได้ อะไรก็ตามที่อยู่ในวิสัยที่จะรู้ได้ ก็ควรรู้ ควรคิด แต่อะไรซึ่งคิดแล้วเราไม่มีปัญญาถึงขั้นที่จะรู้อย่างนั้นได้ ก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรคิด เพราะฉะนั้นเรื่องกรรมก็ไม่ใช่เรื่องที่เราควรคิด เรื่องวิบากคือผลของกรรม ซึ่งทุกคนทำมาแล้ว กรรมเป็นสิ่งที่ได้กระทำแล้ว และทุกวันนี้เราก็รับผลของกรรม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เห็นขณะนี้ให้ทราบว่าเป็นผลของกรรม ได้ยินขณะนี้ก็เป็นผลของกรรม จะได้กลิ่น ลิ้มรส จะได้ลาภ ก็เป็นผลของกรรม จะสุขก็เป็นผลของกรรม จะทุกข์ก็เป็นผลของกรรม จะเสื่อมลาภก็เป็นผลของกรรม จะได้คำสรรเสริญ นินทาก็เป็นผลของกรรม แต่ไม่รู้ว่าวันไหนกรรมไหนจะให้ผล ขณะนี้เรานั่งอยู่ที่นี้ กำลังได้รับผลกรรมนี้ แต่พรุ่งนี้ด้วยต่อไปนี้ จะได้รับผลกรรมอะไรก็ไม่ทราบ เพราะฉะนั้นเมื่อไม่รู้ ก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะต้องคิด ไม่เช่นนั้นวันนี้เราก็ต้องมานั่งคิดเดี๋ยวนี้ พรุ่งนี้เราจะได้รับผลกรรมอะไร จะมาทางตา ทางหู เย็นนี้เราจะต้องได้รับผลของกรรมอะไร ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้ไม่ได้ เมื่อรู้ไม่ได้ก็อจินไตย คือไม่ควรคิด แล้ว ธรรมนิยาม หมายความถึงเป็นธรรมเนียม หรือเป็นสภาพธรรมของธรรมนั้นๆ ที่จะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น
ผู้ฟัง เรียนถามอีกข้อ เวลาที่สติปัฏฐานเกิด ที่ได้กลิ่น ในขณะนั้น เราจะไม่รู้เลยใช่ไหมว่าจะเป็นกลิ่นดีหรือว่ากลิ่นไม่ดี จะมีแต่เฉพาะกลิ่นอย่างเดียวใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เรื่องของสติปัฎฐาน คือขณะจิตซึ่งเกิดระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งเร็วมาก เพราะฉะนั้น ไม่มีคำจำกัดความเลย เพราะว่าเพียงระลึกแล้วก็คิดเรื่องอื่นก็ได้ ไม่ใช่ห้ามหรือว่าไม่ใช่สั่งว่าจะให้สติเกิดอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานจะเข้าใจความจริงของอนัตตา แม้แต่สติที่ระลึกก็ไม่ใช่เรา เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และพอระลึกแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นอาจจะหลงลืมสติต่อไปอีก หรืออาจจะมีสติระลึกลักษณะของปรมัตถธรรมสภาพธรรม ที่มีจริงๆ ต่อไปอีกก็ได้ เป็นเรื่องซึ่งไม่มีการกะเกณฑ์ หรือไม่มีระเบียบที่วางไว้ ถ้าต้องเป็นอย่างนี้ ถ้ามีระเบียบมีกฎเกณฑ์วางไว้จะไม่มีทางเห็นความเป็นอนัตตา เพราะว่าเป็นเราที่ทำ เรื่องของธรรมเป็นเรื่องซึ่งย้อนกลับไปไม่ได้เลย เมื่อครู่นี้ก็ผ่านไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้นมีสิ่งที่กำลังปรากฏเกิดขึ้นแล้ว และสิ่งนี้ก็กำลังดับด้วย แต่เมื่อปัญญาไม่ประจักษ์แจ้ง ก็ไม่เห็นว่า สภาพธรรมในขณะนี้ กำลังเกิดดับ ผ่านไปทุกขณะ แต่การอบรมเจริญปัญญา จะทำให้ค่อยๆ รู้สิ่งที่กำลังปรากฏขึ้น
ผู้ฟัง มีคำถามที่ยังตกค้างอยู่คือข้อที่ ๔ ขอเรียนถามท่านอาจารย์ว่า เคยอ่านพบว่ามนุษย์เรา เมื่อยังไม่ถึงวาระคือตาย แต่เมื่อมีกรรมหนักมาตัดรอน อาจทำให้ผู้นั้นตายก่อนถึงวันอันควร สิ่งนี้มีจริงหรือไม่ และกรรมหนัก หมายถึงอะไร ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยยกตัวอย่างด้วย
ท่านอาจารย์ มีจริง เพราะเหตุว่า ไม่พ้นกรรม ไม่ว่าจะเป็นกรรมไหนทั้งสิ้น การที่จะสิ้นชีวิตเพราะหมดอายุ เช่นอายุขัย ในยุคนี้ก็ประมาณ ๗๕ ปี ใครอยู่เกินไปก็คือว่ากรรมทำให้ยังไม่ตาย เพราะฉะนั้นก็ไม่พ้นกรรม และการสิ้นอายุเพราะสิ้นกรรม หมายความว่า กรรมที่จะทำให้เป็นบุคคลนี้สิ้นสภาพ ต่อไปจะไปเกิดเป็นเทพหรือเป็นอะไร สิ้นสุดสภาพของความเป็นบุคคลนี้ ก็ทำให้สิ้นชีวิตได้ ก็ไม่พ้นกรรม เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่ากรรมก็ยังคงมีอยู่ และอายุก็ยังไม่ถึงเวลาที่จะสิ้นชีวิต แต่มีกรรม ไม่พ้นกรรมอีกที่จะตัดรอน กรรมนั้นก็ตัดรอนได้ด้วยกำลังของกรรมนั้น เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า ไม่พ้นจากกรรม ไม่ว่าจะเกิดหรือจะตาย หรือจะตายเพราะสิ้นกรรม หรือจะตายเพราะสิ้นอายุ หรือยังไม่สิ้นอายุยังไม่สิ้นกรรม ก็มีกรรมอื่นที่จะมาตัดรอนให้ตายได้ กรรมหนักมีทั้งฝ่ายกุศลกรรม และอกุศลกรรม ถ้ากรรมหนักฝ่ายกุศลก็เป็นพวกฌาน ที่หลังจากที่สิ้นชีวิตแล้ว และฌานไม่เสื่อม ก็จะทำให้เกิดเป็นพรหม ถ้าเป็นทางฝ่ายอกุศลกรรมก็มีการฆ่ามารดา การฆ่าบิดา การฆ่าพระอรหันต์ การทำโลหิตพระผู้มีพระภาคให้ห้อ และการทำสงฆ์ให้แตกกัน ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องที่ละเอียด เพราะว่าสมัยนี้ไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เราจะไปทำร้ายให้ห้อพระบาท ให้ห้อพระโลหิต หรือว่าไม่มีพระอรหันต์ที่เราจะฆ่าก็ตาม แต่ให้ทราบว่ากรรมหนักที่เป็นอนันตริยกรรมทางฝ่ายอกุศลนั้นก็คือว่า เมื่อสิ้นชีวิตจากโลกนี้ที่เป็นมนุษย์แล้วต้องเกิดในอบายภูมิ เกิดในนรกทันที ไม่มีกรรมอื่นมาคั่นที่จะให้เป็นอย่างอื่นก่อน แต่ก็ไม่ควรจะกังวล หรือคำนึงถึง เพราะว่าเรื่องกรรม เป็นเรื่องที่เราไม่รู้ เป็นอจินไตยอย่างที่กล่าวถึง
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 2
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 3
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 4
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 5
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 6
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 7
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 8
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 9
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 10
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 11
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 12
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 13
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 14
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 15
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 16
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 17
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 18
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 19
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 20
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 21
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 22
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 23
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 24
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 25
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 26
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 27
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 28
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 29
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 30
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 31
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 32
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 33
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 34
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 35
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 36
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 37
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 38
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 39
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 40
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 41
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 42
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 43
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 44
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 45
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 46
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 47
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 48
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 49
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 50
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 51
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 52
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 53
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 54
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 55
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 56
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 57
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 58
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 59
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 60