แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1960
ครั้งที่ ๑๙๖๐
สาระสำคัญ
เรื่องเมถุนสังโยค
การปฏิบัติในจาริตศีล
การปฏิบัติของพระโพธิสัตว์
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๓๓
ต่อไปประการสุดท้าย ประการที่ ๗ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร พราหมณ์ อีกประการหนึ่ง แม้สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ไม่ยินดีโดยประการก่อนๆ ที่กล่าวถึงแล้ว แต่ ประพฤติพรหมจรรย์ ตั้งปรารถนาเพื่อเป็นเทพเจ้าหรือเทพองค์ใดองค์หนึ่งว่า เราจักได้เป็นเทพเจ้าหรือเทพองค์ใดองค์หนึ่ง ด้วยศีล พรต ตบะ หรือพรหมจรรย์นี้ พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจ ด้วยความปรารถนานั้น แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อยแห่งพรหมจรรย์
ดูกร พราหมณ์ ผู้นี้เรากล่าวว่า ประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์ ประกอบด้วยเมถุนสังโยค ไม่พ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ อุปายาส เรากล่าวว่า ไม่หลุดพ้นไปจากกองทุกข์ได้
การที่จะดับกิเลส การที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นเรื่องละเอียดจริงๆ ถ้าไม่ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานเลย ไม่สามารถรู้ความละเอียดของจิตใจอย่างนี้ได้
ถ. คำว่า ศีลขาด ทะลุ ด่าง พร้อยนี้ จะเป็นเหตุกั้นมรรคผลนิพพานไหม
สุ. แล้วแต่การเป็นผู้ที่ระลึกได้และกระทำคืน ถ้าเป็นการล่วงศีล เพราะว่าศีลของบรรพชิตต่างกับศีลของคฤหัสถ์ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นบรรพชิตต้องเข้าใจ พระวินัยเพื่อจะได้รู้ว่า มีการล่วงศีลประพฤติผิดพระวินัยประการใดบ้าง และ กระทำคืนเพื่อพ้นจากอาบัตินั้น มิฉะนั้นก็ยังติดเป็นอาบัติอยู่ และถ้ายังติดอยู่ก็มี ความกังวลใจ เมื่อมีความกังวลใจก็รู้ว่า ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในเพศของบรรพชิต จนกว่าจะได้ทำตนให้บริสุทธิ์ โดยปลงอาบัติก่อน
พระ เรื่องเมถุนสังโยค ในพระวินัยซึ่งเป็นศีลของบรรพชิต ทรงแสดงเพื่อให้ป้องกันเมถุนสังโยคไว้เป็นจำนวนมาก อย่างในสิกขาบทที่ร้ายแรงของปาราชิกก็มีอยู่ หรือสิกขาบทที่รองลงมา เช่น สังฆาทิเสสก็มีอยู่ ในปาราชิกนั้นเป็นเรื่องการเสพเมถุนโดยตรง ส่วนในสังฆาทิเสสก็มีตั้งแต่การจับต้องกายหญิง ทรงแสดงไว้เป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้น อาตมาคิดว่า พระภิกษุอาจมีการกระทำไม่ดี เนื่องจากกระทำล่วงอาบัติหรือล่วงศีล หรือล่วงธรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับเมถุนสังโยค ซึ่งเป็นเรื่องที่รู้สึกว่าจะ ปรารภโลก เพราะว่าโลกติเตียนอย่างมาก อย่างที่อาตมาได้ข่าวมา คฤหัสถ์ต่างก็ ไม่พอใจเป็นจำนวนมาก เมื่อเห็นบรรพชิตหรือพระภิกษุซึ่งเป็นเพศที่สละอาคารบ้านเรือน เขาทำนุบำรุงบรรพชิตก็เพราะเห็นว่า บรรพชิตห่างไกลจากเมถุนสังโยค ไม่ยินดีในบ้านเรือนเป็นต้น เขาจึงอนุเคราะห์ให้อาหาร ให้ที่อยู่อาศัย หรือปัจจัย ๔ เป็นต้น เพราะเขาเห็นคุณ เขาจึงกระทำตอบ ถ้าพระภิกษุไม่ศึกษา ไม่ใคร่ต่อพระวินัย จะทำให้เกิดการกระทำที่ทำให้คฤหัสถ์ไม่เลื่อมใส และทำให้พระศาสนาเสื่อม เพราะเขาเห็นว่า แม้บรรพชิตเองที่เป็นตัวอย่างในพระศาสนา ที่ใกล้ชิดกว่าคฤหัสถ์ ยังทำตัวไม่ถูกต้อง ศาสนาก็จะเสื่อมได้ง่าย
อาตมาเองเป็นบรรพชิต มีหลายเรื่องที่อาตมาคิดว่า ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ช่วยกันได้ในเรื่องนี้ ยกตัวอย่าง ภิกษุตามพระวินัยหรือตามธรรมแล้ว ต้องเป็นผู้ใคร่ศึกษาต่อพระวินัย เป็นผู้ละเอียดในการไต่ถาม และประพฤติปฏิบัติตามด้วย ไม่ใช่ว่าบวชตามประเพณีเท่านั้น หรือบวชเพราะตัวเองพอใจในอากัปกิริยาในเพศนี้เท่านั้น
ส่วนการรักษาพระวินัยได้ ก็คือการเข้าใจพระธรรมนั่นเอง เพราะหากไม่เข้าใจพระธรรมก็ไม่เกิดศรัทธาในการที่จะรักษาพระวินัย เพราะพระวินัยนั้นสำเร็จได้ด้วยศรัทธาเป็นส่วนมาก
ส่วนเรื่องของคฤหัสถ์อาตมาคิดว่า การช่วยเหลือพระพุทธศาสนา ยกตัวอย่างกิจกรรมที่อาตมาเคยผ่านมาเกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์เป็นต้น อาตมาคิดว่า ถ้าจะรื่นเริง หรือใคร่จะปรารภธรรม หรือปรารภการปฏิบัติธรรม ก็ไม่ควรให้พระภิกษุใกล้เคียงเมถุนสังโยค อาตมาเคยเปลื้องจีวร แต่ไม่ได้เปลื้องทั้งหมด เหลือแต่ผ้าบางๆ ที่เป็นอังสะ และนั่งเรียงแถว ในขณะที่นั่งเรียงแถวก็มีคฤหัสถ์ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งในวันนั้นจะมารื่นเริงกันเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่เป็นผู้ใคร่ต่อธรรม แทนที่จะมาฟังธรรมหรือปฏิบัติธรรม ก็มาเพื่อเล่นสนุก และก็มีผู้นิมนต์พระภิกษุมานั่งเรียงกัน และเอาน้ำรดสาด หรือขอรดทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งเป็นความลำบากของพระภิกษุ และสำรวมได้ยากด้วย เพราะอยู่ในอากัปกิริยาที่ไม่เหมาะสม เช่น การนุ่งจีวรต่อหน้าคฤหัสถ์จำนวนมากควรจะนุ่งให้มิดชิด แต่ขณะนั้นกลัวจะเปียก ก็มีการเปลื้องจีวร เป็นต้น และประเพณีลอยกระทง ก็จะให้พระภิกษุนำคฤหัสถ์ลอยกระทง อาตมา ถามว่าเพราะอะไร ไม่มีใครตอบได้ เขาทำตามตามกันมา
เรื่องนี้อาตมาคิดว่า เมื่อเกิดเรื่องใหญ่ขึ้นแล้ว ในหน้าหนังสือพิมพ์ก็ดี หรือ เหตุการณ์ในครั้งอดีตก็ดี คฤหัสถ์จะไม่พอใจเป็นจำนวนมาก แต่เขาลืมไปว่า ก่อน ที่จะเกิดเรื่องเหล่านี้ ควรช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ เช่น ไม่ควรทำให้พระภิกษุเกิดอากัปกิริยาที่จะล่วงอาบัติหนักได้ เพราะว่าพระภิกษุเองก็บวชมาใหม่ๆ ไม่ได้เป็น พระอรหันต์ ไม่สามารถระงับกิเลสเหล่านี้ได้ เช่น เมถุนสังโยค ถ้าบรรพชิตและคฤหัสถ์ได้ช่วยเหลือกัน จะทำให้พระภิกษุสามารถรักษาศีลได้สะดวกขึ้นด้วย ซึ่งในที่นี้โยมได้แสดงธรรมเรื่องเมถุนสังโยค อาตมาคิดว่า จะเป็นประโยชน์ได้บ้างในเรื่องเหล่านี้ เจริญพร
สุ. ขอขอบพระคุณพระคุณเจ้า ที่ได้ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์สำหรับ พุทธบริษัท เพราะผู้ที่จะประทุษร้ายพระพุทธศาสนา ไม่ใช่แต่เฉพาะบรรพชิตเท่านั้น
ถ. ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานจะต้องเคร่งครัด หรืองดเว้นเมถุนสังโยค จึงจะมีโอกาสพบพระธรรม หรือบรรลุมรรคผลได้ ถ้าหากไม่เว้น ผมว่าคง …
สุ. มิได้ สำหรับบรรพชิตเท่านั้น สมณะหรือพราหมณ์ที่ปฏิญาณว่า เป็นพรหมจารี
ถ. ผมสังเกตดู แม้แต่คฤหัสถ์เอง ถ้ายังเกี่ยวข้องกับครอบครัวอยู่ สติปัฏฐานไม่ค่อยจะเกิด
สุ. แต่ต้องเกิด สำหรับผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลในเพศของคฤหัสถ์ ไม่มีการจำกัดเลยว่า ปัญญาจะสมบูรณ์ในกาลไหน เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่ากลัวอกุศล แต่ ต้องกลัวอวิชชา ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล มิฉะนั้นแล้วการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมจะต้องมีแต่เฉพาะเพศบรรพชิตเท่านั้น
ถ. แต่ในช่วงที่จะบรรลุมรรคผล ...
สุ. ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้
ถ. ช่วงที่จะบรรลุมรรคผล ช่วงนั้นจะต้อง ...
สุ. คิดเอง นี่เป็นเรื่องคิดเอง แต่ใครจะรู้ ชั่วขณะนิดเดียว ๗ ขณะจิตที่ เป็นมรรควิถีทางมโนทวาร เพราะฉะนั้น อย่าลืมว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้สภาพธรรมและทรงแสดงพระธรรม เป็นความจริงอย่างไร ต้องเป็นความจริงอย่างนั้น ด้วยเหตุนี้การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมไม่ได้จำกัดเพศว่าเฉพาะบรรพชิต ถ้าเป็นกรณี อย่างนั้น ก็หมายความว่า ต้องเป็นผู้ที่มีศีลอย่างน้อยที่สุดศีล ๘ อย่างพระอนาคามีบุคคล แต่แม้ผู้รักษาศีล ๕ ไม่ล่วงศีล ๕ ก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้
เพราะฉะนั้น ทุกคน ไม่มีตัวตนจริงๆ เป็นการสะสมของธรรมฝ่ายกุศล และฝ่ายอกุศล ถ้าตราบใดศีล ๕ ยังสมบูรณ์ ก็เป็นเครื่องวัดกำลังของกิเลสว่า ไม่ได้ มีกำลังถึงขั้นที่จะกระทำทุจริตกรรม เพราะฉะนั้น ก็มีกำลังพอที่จะสามารถรู้แจ้ง อริยสัจจธรรมได้
ถ. ตัวอย่างที่ท่านอาจารย์เคยแสดง อย่างพระเจ้าสรกานิ ท่านเสวยน้ำจัณฑ์เป็นประจำ แต่ช่วงที่ท่านจะได้บรรลุพระโสดาบัน ท่านคงจะไม่ได้เสวย
สุ. ชั่วขณะจิต ๗ ขณะ ความสมบูรณ์ของท่านหลังเป็นพระโสดาบัน ไม่ใช่ก่อนเป็นพระโสดาบัน เพราะฉะนั้น แต่ละท่านรู้จักตนเองตามความเป็นจริง ขอให้สติสัมปชัญญะเกิด และรู้จักตนเองตามความเป็นจริง สำหรับเพศที่ต่างกัน คือ คฤหัสถ์กับบรรพชิต ก็แสดงความต่างกันอยู่แล้ว เมื่อเป็นบรรพชิตก็ต้องเป็นบรรพชิตที่แท้จริง จึงจะสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ บรรพชิตรูปใดที่ไม่สามารถรักษาพระวินัยบัญญัติได้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เมื่อสึกเป็นคฤหัสถ์แล้ว ย่อมสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเมื่อปฏิบัติธรรมสมควร แก่ธรรม
เพราะฉะนั้น ตามเพศ ว่าจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในเพศไหน ถ้าเป็นคฤหัสถ์ สำหรับผู้ที่รักษาศีล ๕ ก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ แต่ศีล ๕ ที่จะสมบูรณ์จริงๆ ก็เมื่อเป็นพระอริยบุคคลแล้ว เพราะฉะนั้น ทุกท่านต้องเป็นผู้ที่ละเอียดรอบคอบ เพื่อจะได้เป็นคนดียิ่งขึ้น ประพฤติตามธรรมยิ่งขึ้น
การปฏิบัติที่ดีของพระโพธิสัตว์ ข้อความต่อไปใน จริยาปิฎก ปกิณณกคาถา มีว่า
เมื่อพูดก็พูดคำพอประมาณ เป็นคำจริง มีประโยชน์ น่ารัก และกล่าวธรรมตามกาล ไม่โลภ ไม่พยาบาท ไม่เห็นวิปริต ประกอบด้วยกัมมัสสกตาญาณ มีศรัทธามั่นคงในการปฏิบัติชอบ มีความเมตตามั่นคงในที่ทั้งปวง เพราะไม่พูดเท็จ จึงเป็นประมาณของสัตว์ทั้งหลาย เป็นที่เชื่อถือไว้ใจได้ มีถ้อยคำควรถือได้ เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของทวยเทพ มีปากหอม รักษา กายสมาจาร วจีสมาจาร ย่อมได้ลักษณะวิเศษ และตัดวาสนาอันเป็นกิเลสได้
นี่สำหรับพระโพธิสัตว์
เพราะไม่พูดส่อเสียด จึงมีกายไม่แตกแยก มีบริวารไม่แตกแยก แม้ด้วยความพยายามของคนอื่น มีเสียงไม่แตกแยกในพระสัทธรรม มีมิตรมั่นคง เป็นที่รักของ สัตว์ทั้งหลายโดยส่วนเดียวดุจสะสมไว้ในระหว่างภพ มากด้วยความไม่เศร้าหมอง
เพราะไม่พูดหยาบ จึงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของสัตว์ทั้งหลาย มีปกติอยู่ เป็นสุข พูดเพราะ น่ายกย่อง เสียงของเขาประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมเกิดขึ้น
เพราะไม่พูดเพ้อเจ้อ จึงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ น่าเคารพ น่ายกย่องของ สัตว์ทั้งหลาย มีถ้อยคำควรเชื่อถือได้ พูดพอประมาณ มีศักดิ์และอานุภาพมาก ฉลาดในการแก้ปัญหาด้วยปฏิภาณฉับพลัน สามารถในการแก้ปัญหามากมายของสัตว์ทั้งหลาย หลายภาษาด้วยคำคำเดียวเท่านั้นในพุทธภูมิ
เพราะเป็นผู้ไม่โลภ จึงมีลาภที่ต้องการ ได้ความชอบใจในโภคะมากมาย เป็นที่ยอมรับของกษัตริย์มหาศาลเป็นต้น ข้าศึกครอบงำไม่ได้ ไม่ถึงความเป็น ผู้มีอินทรีย์พิกลพิการ และเป็นบุคคลหาผู้เปรียบไม่ได้
ท่านผู้ฟังได้ทราบเรื่องของการเจริญกุศลโดยไม่หวังผล แต่ผลย่อมมีตามควร แก่กุศลนั้นๆ ไม่ว่าท่านจะเป็นผู้ที่พูดเพราะ และเวลาพูดก็นึกถึงคนฟังว่าคนฟัง จะเดือดร้อนไหม สบายใจไหม ถ้ามีสติสัมปชัญญะจะทำให้วิรัติคำซึ่งแม้ไม่ใช่คำเท็จ แต่คำนั้นอาจจะทำให้คนฟังไม่สบายใจไปหลายวันก็ได้ เพราะฉะนั้น สติสัมปชัญญะ ที่แต่ละท่านมีและเกิดขึ้น ทำให้มีวาจาที่ไพเราะ ที่น่าฟัง แม้ท่านไม่ได้หวังผลอะไรเลย เพราะถ้าหวังผลว่าจะเกิดในสวรรค์ หรือจะได้ทรัพย์สมบัติมากมาย นั่นคือโลภะ แต่การกระทำดีโดยที่ไม่หวังผลของความดี ก็มีผลตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง คือ
เพราะไม่พยาบาท จึงเป็นผู้ดูน่ารัก เป็นที่ยกย่องของสัตว์ทั้งหลาย ให้สัตว์เลื่อมใสโดยไม่ยาก เพราะเป็นผู้พอใจยิ่งในประโยชน์ของผู้อื่น
อนึ่ง เป็นผู้มีสภาวะไม่เศร้าหมอง อยู่ด้วยเมตตา เป็นผู้มีศักดิ์มีอานุภาพมาก
เพราะเป็นผู้ไม่เห็นผิด จึงย่อมได้สหายดี แม้จะถึงตัดศีรษะก็ไม่ทำกรรมชั่ว เป็นผู้ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าวเพราะเห็นความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน
ศรัทธาของเราเป็นรากตั้งมั่นในพระสัทธรรม เชื่อการตรัสรู้ของพระตถาคต ไม่ยินดีในลัทธิอื่น ดุจพระยาหงส์ไม่ยินดีในที่มีขยะฉะนั้น
นี่คือความละเอียดของจิตใจซึ่งรังเกียจความเห็นผิด ไม่ต้องการสมาคม เสพ คุ้นเคยกับความเห็นผิดต่างๆ ซึ่งบางคนก็ชอบลอง รู้ว่าไม่มีเหตุผลแต่ลองดูซิว่า จะเป็นอย่างไร บางคนมีความสนใจอย่างนั้น แต่สำหรับคนที่ศรัทธา เป็นรากตั้งมั่นใน พระสัทธรรม เชื่อการตรัสรู้ของพระตถาคต ไม่ยินดีในลัทธิอื่น ดุจพระยาหงส์ไม่ยินดีในที่มีขยะฉะนั้น คือ รู้ว่าไม่มีประโยชน์ และนอกจากนั้นถ้ายังเป็นผู้ที่ขาดเหตุผลอยู่ ก็อาจจะทำให้ยึดมั่นหรือสนใจในเรื่องมงคลตื่นข่าวต่างๆ ได้ เพราะบางคนแม้ว่า ฟังพระธรรมและมีความเลื่อมใส แต่ถ้ายังไม่ตั้งมั่นในพระสัทธรรมจริงๆ ก็อาจจะเผลอ และเชื่อในสิ่งที่ไม่มีเหตุผลซึ่งเป็นมงคลตื่นข่าวได้
ส่วนการปฏิบัติในจาริตศีล พึงทราบอย่างนี้
จาริตศีล หมายถึงความประพฤติที่ควรกระทำ เพราะฉะนั้น แม้ว่าท่านจะ เว้นทุจริต ไม่ล่วงศีลก็ตาม แต่ก็ควรจะได้พิจารณาความประพฤติของพระโพธิสัตว์ เพื่อท่านจะได้เจริญกุศลยิ่งขึ้น
พระโพธิสัตว์กระทำอภิวาท ต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรมแก่กัลยาณมิตรผู้ดำรงอยู่ในฐานะครูตลอดเวลา
อนึ่ง ทำการบำรุงกัลยาณมิตรเหล่านั้นตลอดเวลา ทำการช่วยเหลือคนไข้ทั้งหลาย ฟังบทสุภาษิตแล้วทำสาธุการ พรรณนาคุณของผู้มีคุณธรรม อดทนใน การทำความเสียหายของคนอื่น ระลึกถึงผู้ทำอุปการะ อนุโมทนาบุญ น้อมบุญของตนเพื่อสัมมาสัมโพธิญาณ อยู่ในความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลายตลอดกาล เมื่อมีโทษ เห็นโดยความเป็นโทษแล้วแจ้งแก่สหธรรมิกเช่นนั้นตามความเป็นจริง บำเพ็ญสัมมาปฏิบัติให้ยิ่งโดยชอบ
อนึ่ง เมื่อควรทำสิ่งเป็นประโยชน์อันสมควรของตนแก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน ถึงความเป็นสหาย
อนึ่ง เมื่อทุกข์มีความเจ็บป่วยเป็นต้นเกิดขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้จัดการช่วยเหลือตามสมควร เมื่อสัตว์ทั้งหลายตกอยู่ในความเสื่อม มีความเสื่อมจากญาติ และสมบัติเป็นต้น ก็ช่วยบรรเทาความเศร้าโศก เป็นผู้ตั้งอยู่ในสภาพที่จะช่วยเหลือ ข่มผู้ที่ควรข่มโดยถูกธรรม เพื่อให้พ้นจากอกุศล แล้วให้ตั้งอยู่ในกุศล ยกย่องผู้ที่ควรยกย่องโดยธรรม
อนึ่ง มหาบุรุษเป็นผู้ปกปิดความดี เปิดเผยโทษ มักน้อย สันโดษ สงัด ไม่คลุกคลี ทนต่อทุกข์ ไม่หวาดสะดุ้ง ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เย่อหยิ่ง ไม่หวั่นไหว ไม่ปากร้าย ไม่หาเรื่อง มีอินทรีย์สงบ ใจสงบปราศจากมิจฉาชีพมีการหลอกลวง เป็นต้น ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร เห็นภัยในโทษแม้มีประมาณน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบท ปรารภความเพียร มีตนมั่นคง ไม่คำนึงถึงกายและชีวิต ไม่ละบรรเทาการพิจารณาในกายและชีวิตแม้มีประมาณน้อย ไม่ต้องพูดถึงมีประมาณมากล่ะ ละบรรเทาอุปกิเลสมีโกรธและผูกโกรธเป็นต้น อันเป็นเหตุแห่งความเป็น ผู้ทุศีลแม้ทั้งปวง
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๖ ตอนที่ ๑๙๕๑ – ๑๙๖๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1950
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1951
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1952
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1953
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1954
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1955
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1956
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1957
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1958
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1959
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1960
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1961
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1962
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1963
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1964
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1965
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1966
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1967
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1968
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1969
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1970
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1971
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1972
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1973
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1974
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1975
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1976
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1977
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1978
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1979
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1980
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1981
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1982
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1983
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1984
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1985
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1986
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1987
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1988
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1989
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1990
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1991
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1992
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1993
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1994
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1995
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1996
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1997
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1998
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1999
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2000
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2001
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2002
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2003
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2004
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2005
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2006
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2007
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2008
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2009
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2010
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2011
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2012
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2013
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2014
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2015