แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1962
ครั้งที่ ๑๙๖๒
สาระสำคัญ
ความดีมีหลายระดับ
จุดประสงค์ของการอุทิศส่วนกุศล
กายวิญญัติและวจีวิญญัติ
มิคคสาราสูตร
เมถุนสูตร - ความละเอียดของกิเลส
ที่ห้องประชุมตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วันอาทิตย์ ๓๐ กันยายน ๒๕๓๓
สุ. เพียงการประพฤติดีเท่านั้น แต่ไม่ได้อบรมเจริญปัญญา เป็น พระปัจเจกพุทธเจ้าไม่ได้ เป็นพระอริยสาวกก็ไม่ได้ เพราะว่าความดีมีหลายระดับ มีหลายขั้น ความดีระดับศีลธรรม หรือความดีขั้นไม่ล่วงศีลเท่านั้นเอง แต่ในวันหนึ่งๆ ทุกคนคิดมากกว่าพูดและทำ ขณะนี้หรือตั้งแต่เช้าก็ได้ ทุกคนไม่ได้พูดตลอดเวลา และไม่มีการกระทำทางกายที่เป็นกุศลหรืออกุศลตลอดเวลาด้วย ยังมีการนั่งเฉยๆ บ้าง ทำอย่างอื่นบ้าง แต่ความคิดไม่หยุด เพราะเมื่อเห็นแล้ว หลังจากที่ จักขุวิญญาณดับหมด ก็คิดถึงเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตาด้วยความไม่รู้ ด้วย โลภะบ้าง ด้วยโทสะบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น จะเป็นข่าวสารการบ้านการเมือง ข่าวรัฐบาล ข่าวอุบัติเหตุ ไม่ได้พิจารณาจิตในขณะนั้นเลยว่า ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง คิดแต่ว่าตนเองไม่ได้กระทำผิดศีล เพราะฉะนั้น ก็เข้าใจว่าดีแล้ว ซึ่งนั่นเป็นความดีระดับขั้นศีล แต่ในขณะนั้นไม่รู้เลยว่า ระดับของจิตที่เป็นอกุศลก็ต้องขัดเกลาด้วย
เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่าดีแล้ว จะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม โดยเพียงเป็นคนดีเท่านั้นไม่ได้ เพราะถ้าเป็นคนดี ต้องศึกษาพระธรรมให้เข้าใจความละเอียดขึ้นว่า ความดีไม่ใช่มีเพียงขั้นไม่ล่วงทุจริตเท่านั้น แต่ต้องมีสติสัมปชัญญะที่จะระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้เข้าใจให้ถูกต้องด้วยว่า สภาพธรรมใดเป็นกุศล สภาพธรรมใดเป็นอกุศล และทั้งกุศลและอกุศลนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งต้องอาศัยการฟังอย่างมากจึงสามารถรู้ได้ เพราะบางท่านบอกว่า ตื่นมาไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล แต่เป็นกิริยา โดยที่ท่านไม่ได้เข้าใจความหมายของกิริยา คือ กุศล ก็ไม่ใช่ เพราะว่าไม่ได้ทำ อกุศลก็ไม่ใช่ เพราะว่าไม่ได้ทำ เพราะฉะนั้น ท่านก็นึก คำขึ้นเองว่า ท่านเป็นกิริยาตลอด ในขณะที่เพียงเห็น เพียงได้ยิน หรือกระทำกิจ ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น จึงต้องมีสติสัมปชัญญะแม้ในการฟังที่จะต้องพิจารณาจริงๆ ให้เข้าใจและรู้ว่า สภาพธรรมที่เป็นอกุศลต่างกับกุศล และทั้งอกุศลและกุศลนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน มิฉะนั้นแล้วไม่สามารถเห็นความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลของสภาพธรรมได้
แม้แต่เห็น ก็เป็นสภาพธรรมขณะหนึ่งซึ่งเป็นนามธรรม อาศัยเหตุปัจจัย เกิดแล้วดับ หลังจากนั้นจะมีความชอบหรือไม่ชอบเป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด ถ้าสติไม่เกิดขึ้นในขณะนั้น ธรรมฝ่ายกุศลไม่เกิดขึ้น ก็ต้องเป็นอกุศล
เพียงแค่นี้ก็ต้องมีความแยบคายในการพิจารณา ในการฟัง ในการสังเกต จนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าเพียงเป็นคนดี ไม่ล่วงศีล ๕ และจะถึงความเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าไม่ได้ หรือแม้แต่เพียงพระอริยสาวกก็เป็นไม่ได้
ถ. มีคนหนึ่งเขาไปทำบุญที่วัด เขาบอกว่าอุทิศส่วนกุศลให้คนตาย และอุทิศส่วนกุศลให้คนเป็นด้วย สงสัยว่า คนเป็นต้องอุทิศส่วนกุศลด้วยหรือ
สุ. จุดประสงค์ของการอุทิศส่วนกุศล ก็เพื่อให้ผู้ที่เราอุทิศส่วนกุศลให้นั้นเกิดกุศลจิตอนุโมทนา นี่คือจุดประสงค์ เพราะฉะนั้น ต้องพิจารณาว่า สำหรับคนตาย ไม่รู้ว่าเขาเกิดที่ไหน ภูมิใด และเราอุทิศส่วนกุศลให้เผื่อว่าเขาอยู่ในฐานะที่สามารถล่วงรู้ในกุศลที่ได้บำเพ็ญแล้ว และเกิดกุศลจิตที่จะอนุโมทนา
แต่สำหรับคนที่ยังไม่ตาย ไม่มีทางเลยที่เขาจะรู้ นอกจากจะบอกเขาเท่านั้น อย่างเมื่อสักครู่ที่ได้เรียนให้ท่านผู้ฟังทราบถึงคณะที่จะเดินทางไปนมัสการ สังเวชนียสถาน และมีโอกาสพิเศษที่จะได้นมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ได้ถวายภัตตาหาร ได้ถวายไตรจีวร ก็เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้เกิดกุศลจิตอนุโมทนา แต่ไม่ใช่ ท่านผู้ฟังเมื่อกลับไปที่บ้านแล้วก็บอกว่า ขอมวลมนุษย์จงทราบในกุศลนี้ ซึ่ง เป็นไปไม่ได้
เพราะฉะนั้น สำหรับคนที่ยังไม่สิ้นชีวิต ก็บอกกันตรงๆ ผู้ใดเกิดกุศลจิตอนุโมทนาก็เป็นกุศล ซึ่งกุศลก็เกิดยากจริงๆ แม้แต่จะอนุโมทนา เพราะว่าบางท่าน ไม่อนุโมทนา ไม่เกิดกุศล ก็เป็นได้
ด้วยเหตุนี้วันหนึ่งๆ ถ้าท่านได้ข่าวเรื่องอกุศลของบุคคลใด และสติสัมปชัญญะเกิด ควรพิจารณาจิตใจของท่านเองว่า ไม่ควรเศร้าหมองกับอกุศลของคนอื่น หรือแม้ว่าจะมีอุบัติเหตุ มีเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งไม่น่าพอใจเลย สติสัมปชัญญะก็ควรระลึกรู้สภาพของจิตขณะที่รู้ข่าวคราว เรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านั้นว่า จิตเศร้าหมอง ไปด้วยโลภะหรือด้วยโทสะหรือเปล่า นี่จึงเป็นประโยชน์ มิฉะนั้นแล้วแต่ละคน จะเพิ่มพูนอกุศลซึ่งกันและกัน
แสดงให้เห็นว่า กุศลเป็นสิ่งที่เกิดยาก เมื่อมีกุศลใดที่ผู้ใดจะอนุโมทนาได้ ก็อุทิศโดยการบอกให้ผู้นั้นทราบเพื่อจะได้อนุโมทนา นี่สำหรับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่
ถ. ผู้ตายไปแล้ว เราอุทิศส่วนกุศลให้เขา อยู่ภูมิไหนจึงจะได้รับ
สุ. ถ้าเป็นเปรต สามารถเกิดกุศลจิตอนุโมทนา และถ้าสิ้นอกุศลกรรมนั้น ก็เกิดในภพใหม่ได้ หรือถ้ายังไม่สิ้นอกุศลกรรม ก็มีโอกาสที่กุศลอันเกิดจากการอนุโมทนานั้นจะทำให้พ้นทุกข์ชั่วคราว โดยมีอาหารของเปรต พ้นจากการทรมานชั่วคราวตามกำลังของกุศลนั้นๆ
ถ้าเกิดในนรกก็ไม่ได้อนุโมทนา ไม่รู้ เพราะว่าไกลมาก เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ก็ไม่รู้ เกิดเป็นมนุษย์แล้ว ก็ไม่รู้เช่นเดียวกัน แต่ถ้าเกิดเป็นเทพอนุโมทนาได้ สำหรับ อมนุษย์นั้น จะรู้ หรือไม่รู้ และเมื่อรู้แล้วจะเกิดกุศลจิตหรือไม่เกิด คือ อนุโมทนาหรือไม่อนุโมทนา ถ้าอนุโมทนาก็เป็นกุศลจิต
เรื่องของกรรมที่จะให้ผล ไม่อยู่ในอำนาจของใครที่จะได้ช้าหรือได้เร็ว จะได้มากหรือได้น้อย ขึ้นอยู่กับกรรม
ถ. เรื่องของกรรม คือ เจตนาเจตสิก ขณะที่ยังไม่เป็นกรรมบถ แต่มีการเคลื่อนไหวทางกายหรือทางวาจา ขณะนั้นยังไม่ครบกรรมบถ เจตนานั้นเป็น ทุจริตกรรม ใช่ไหม
สุ. ใช่
ถ. เท่าที่ได้ยินได้ฟัง ขณะที่กรรมนั้นครบองค์ คือ กรรมบถครบองค์ สามารถให้ผลในปวัตติกาลและปฏิสนธิกาลได้ ใช่ไหม
สุ. ใช่
ถ. ถ้าเป็นเพียงทุจริตกรรม กรรมนั้นจะให้ผลแค่ไหน
สุ. ถ้าไม่ครบองค์ให้ผลในปวัตติกาล ถ้าครบองค์ให้ผลทั้งในปฏิสนธิกาลและปวัตติกาลได้
ถ. ถ้าเป็นเพียงทุจริตกรรมไม่ครบองค์ ให้ผลในปวัตติกาลได้ แต่ไม่ให้ผลในปฏิสนธิกาล
สุ. ไม่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น เพราะว่าไม่ครบองค์
ถ. เรื่องของกายวิญญัติและวจีวิญญัติ อรรถกถาแสดงว่า ขณะที่เป็นกายกรรมหรือวจีกรรมนั้น มีวิญญัติเกิดขึ้น สงสัยว่า ถ้าเป็นกายกรรมและวจีกรรมที่ ไม่มีวิญญัติเกิดขึ้น จะเป็นกรรมได้ไหม เช่น การเคลื่อนไหวจะกระทำกรรมทางกาย เป็นวิญญัติรูปหรือเปล่า
สุ. กายวิญญัติรูปเกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานตามที่จิตประสงค์ อย่างถลึงตา ขยิบตา กวักมือ โบกมือ เพราะฉะนั้น รูปนี้ไม่ใช่รูปต่างหากไปจากมหาภูตรูป
ถ. ตอนแรกเข้าใจเช่นนี้มาตลอด แต่ภายหลังอ่านในอรรถกถาท่านแสดงว่า กรรมที่กระทำทางกาย ท่านแสดงเป็นกายวิญญัติ และท่านกล่าวว่า ถ้าสัมมากัมมันตะ สัมมาวาจา และสัมมาอาชีวะไม่เกิดขึ้น การกระทำนั้นก็ไม่มีวิญญัติ แต่ถ้ามีกรรมซึ่งเป็นการวิรัติ เช่น สัมมากัมมันตะ งดเว้นการฆ่า เป็นต้น ขณะนั้น เป็นวิญญัติ ทำให้เข้าใจว่า ขณะกระทำกรรมแล้ว การเคลื่อนไหวของกายนั้น เป็นรูปที่เกิดจากจิต และมีวิญญัติด้วย
สุ. หมายความว่า กายวิญญัติ เป็นทางหนึ่งที่จะให้เกิดกรรม เช่น พยักหน้าให้ฆ่า ไม่ได้บอกด้วยวาจา แต่ใช้อาการพยักหน้า
ถ. ถ้าเอาไม้จะตีสุนัข และสุนัขรู้ว่าจะตี ขณะนั้นก็เป็นการมีวิญญัติเพื่อที่จะให้สุนัขรู้ว่าจะโดนตี
สุ. บุคคลนั้นเป็นผู้รู้เองว่ามีความประสงค์อย่างไร เพียงแต่ยกน้ำขึ้นดื่ม รับประทานอาหาร มีความหมายอะไร
ถ. ถ้าเป็นเช่นนั้น วิญญัติรูปก็ไม่ต้องแยกออกมาอีกรูปหนึ่ง
สุ. เป็นทางหนึ่งที่จะให้เกิดกรรมได้ ทั้งวจีวิญญัติและกายวิญญัติ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นกรรม เพราะเพียงแต่ถลึงตาหรือขยิบตา ไม่ได้เป็นอกุศลกรรมบถอะไร
ถ. ในมิคสาลาสูตรที่ว่า ผู้ทุศีล มีราคะกล้า โทสะกล้า และโมหะกล้า ก็สามารถบรรลุธรรมได้ ตัวอย่างเช่นเจ้าสรกานิเป็นต้น ที่ติดสุราก่อนจะบรรลุเป็น พระโสดาบันบุคคลในชาตินั้น ซึ่งการที่บุคคลจะบรรลุรู้แจ้งอริยสัจจธรรมนั้นจะต้องอาศัยการอบรมบารมีทั้ง ๑๐ อันมีทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมะบารมี ปัญญาบารมี เป็นต้น จนกว่าจะเต็มบริบูรณ์
สงสัยว่า ในชาติสุดท้ายก่อนที่จะบรรลุเป็นพระอริยบุคคล บารมีทั้ง ๑๐ ที่บำเพ็ญมาแล้วนั้น สำหรับพระอรหันต์ในชาติสุดท้าย การที่บุคคลนั้นเป็นผู้ทุศีลบ้าง ราคะกล้าบ้าง โทสะกล้าบ้าง จะเป็นเพราะการบำเพ็ญบารมีแต่ละบารมีนั้นมีกำลังอ่อนแก่ยิ่งหย่อนกว่ากัน หรือจะเป็นเพราะปัจจัยต่างๆ อันมีปกตูปนิสสยปัจจัย กัมมปัจจัย วิปากปัจจัย เป็นต้น ที่ทำให้บุคคลนั้นทำสิ่งที่เป็นโทษ เช่น ทุศีล ก่อนจะบรรลุรู้แจ้งเป็นพระอริยบุคคลในชาติสุดท้าย
สุ. ตราบใดที่กิเลสยังไม่ได้ดับ ก็มีปัจจัยให้อกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปใน วันหนึ่งๆ ตามการสะสมต่างๆ กัน แต่เมื่อปัญญาสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นพระอริยบุคคลแล้ว ดับกิเลสเหมือนกัน เท่ากัน คือ ถ้าเป็นพระโสดาบันบุคคล ก็ดับความเห็นผิดทั้งหมดไม่เกิดอีกเลย ดับวิจิกิจฉา ความสงสัย ความไม่ในรู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่มีอีกเลย
แต่ก่อนที่จะเป็นพระโสดาบันบุคคล เมื่อแต่ละท่านยังมีกิเลสอยู่ ก็ต้องมี เหตุปัจจัยที่ทำให้ชีวิตประจำวันเป็นไปตามกิเลสที่สะสมมาต่างๆ กัน เมื่อเจ้าสรกานิท่านเป็นพระโสดาบันแล้ว ท่านก็ต้องมีคุณธรรมของพระโสดาบันเสมอเท่าเทียมกับโสดาบันอื่นๆ ซึ่งก่อนที่จะเป็นพระโสดาบันชีวิตของแต่ละท่านก็ต่างกันไปตามการสะสม
ผู้ฟัง เมื่อวานผมอ่านเรื่องศีลมีอวิปปฏิสารเป็นอานิสงส์ ถ้าไม่มีศีล ไม่มีปัญญา ไม่มีทางได้ สละกิเลส สละการผิดศีล ทุศีลได้หรือเปล่า ก่อนที่จะมาฟัง อย่าประมาทในกุศลเล็กน้อย ฟังจากอาจารย์ ผมจำได้ ก็อยากบอกต่อให้คนรู้บ้าง
สุ. จิตเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะเดียว แล้วแต่ว่าเหตุปัจจัยจะทำให้เป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต ซึ่งทุกคนที่ยังไม่ได้ดับกิเลสบางกาลก็ต้องเป็นกุศลจิต บางกาลก็ต้องเป็นอกุศลจิต จึงต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ คือ ขณะที่จิตไม่ได้เป็นไปในทาน ไม่ได้เป็นไปในการวิรัติทุจริต ก็ควรอบรมความสงบของจิตจากอกุศล โดยสติสัมปชัญญะสามารถระลึกได้ ไม่ว่าจะเห็นสิ่งใด และมีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น สภาพของจิตหลังจากที่เห็นแล้วและก็รู้เหตุการณ์นั้นแล้ว จิตเป็นกุศลหรืออกุศล
นี่เป็นสิ่งที่จะทำให้ค่อยๆ เพิ่มการละคลายขัดเกลาอกุศล ซึ่งมีมากทีเดียว ถ้าเป็นผู้ไม่ละเอียด เพราะฉะนั้น สติสัมปชัญญะมีประโยชน์มากที่ทำให้สามารถรู้จักสภาพจิตใจของตนเอง
เพื่อแสดงให้เห็นความละเอียดของกิเลส ขอกล่าวถึงความขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์ของสมณพราหมณ์ใน เมถุนสูตร ที่ได้กล่าวถึงแล้ว แต่ขอกล่าวถึงเฉพาะประการที่ ๖ อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร พราหมณ์ อีกประการหนึ่ง สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ปฏิญาณตนว่าเป็นพรหมจารีโดยชอบ ไม่ร่วมความเป็นคู่ๆ กับมาตุคาม ไม่กระซิกกระซี้ เล่นหัว สัพยอกกับมาตุคาม ไม่เพ่งดู จ้องดูจักษุแห่งมาตุคามด้วยจักษุของตน ไม่ได้ฟังเสียงแห่งมาตุคามหัวเราะอยู่ก็ดี พูดอยู่ก็ดี ขับร้องอยู่ก็ดี ร้องไห้อยู่ก็ดี ข้างนอกฝาก็ดี ข้างนอกกำแพงก็ดี และไม่ได้ตามนึกถึงการหัวเราะ การพูด การเล่นหัวกับมาตุคามในกาลก่อน แต่ได้เห็นคฤหบดีก็ดี บุตรแห่งคฤหบดีก็ดี ผู้เอิบอิ่มพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕ บำเรอตนอยู่ พอใจ ชอบใจ ถึงความปลื้มใจด้วยการบำเรอนั้น แม้ข้อนี้ก็ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์
นี่คือความละเอียดของจิตใจที่จะต้องพิจารณาว่า สำหรับสมณพราหมณ์ ซึ่งเป็นเพศบรรพชิต เป็นผู้ที่สละความยินดีเพลิดเพลินในกามคุณ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะแล้ว ถ้าได้เห็นคฤหัสถ์บำเรอตนเอง เพราะว่าชีวิตของคฤหัสถ์จะต้องบำรุงบำเรอด้วยความสุขทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มากมายทีเดียว ถ้าสมณะหรือพราหมณ์นั้น เมื่อเห็นคฤหัสถ์บำเรอตนและเกิดความยินดีในการที่คฤหัสถ์นั้นบำเรอตนเอง ขณะที่ยินดีนั้นเอง ชื่อว่าขาด ทะลุ ด่าง พร้อย แห่งพรหมจรรย์
นี่คือสัจจะ ความจริง ความบริสุทธิ์ของเพศบรรพชิต ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระวินัยทั้งหมดเป็นเรื่องของสัจจะ ความจริงใจ แม้แต่ในเรื่องของเหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ใดที่เกิดขึ้น ถ้าไม่เห็นก็ต้องกล่าวว่าไม่เห็น ถ้าไม่ได้ยินก็ต้องกล่าวว่าไม่ได้ยิน จะกล่าวสลับกันไม่ได้ เป็นเรื่องความละเอียดของชีวิตประจำวัน ซึ่งการที่จะรู้จักตนเองและ ละคลายขัดเกลากิเลสของตนเอง ต้องเป็นไปในชีวิตประจำวันแต่ละขณะทุกภพชาติ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙๗ ตอนที่ ๑๙๖๑ – ๑๙๗๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1950
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1951
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1952
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1953
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1954
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1955
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1956
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1957
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1958
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1959
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1960
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1961
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1962
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1963
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1964
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1965
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1966
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1967
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1968
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1969
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1970
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1971
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1972
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1973
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1974
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1975
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1976
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1977
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1978
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1979
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1980
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1981
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1982
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1983
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1984
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1985
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1986
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1987
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1988
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1989
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1990
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1991
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1992
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1993
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1994
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1995
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1996
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1997
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1998
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1999
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2000
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2001
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2002
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2003
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2004
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2005
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2006
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2007
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2008
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2009
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2010
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2011
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2012
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2013
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2014
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2015